ไกรวุฒิ จุลพงศธร
teandyou@hotmail.com
ต้นปีที่ผ่านมา เมื่อ มิยะซะกิ ฮะยะโอะ (Miyazaki Hayao) แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนระดับโลกว่าจะวางมือจากการทำแอนิเมชัน โดยที่ The Wind Rises จะเป็นผลงานเรื่องสุดท้ายของเขา นั่นกลายเป็นข่าวเกรียวกราวที่สร้างความอาลัยอาวรณ์แก่แฟนหนังอย่างมาก เพราะมิยะซะกิคือคนทำหนังที่สำคัญที่สุดของ “จิบลิ” สตูดิโอผลิตแอนิเมชันแถวหน้าสุดของประเทศญี่ปุ่น ถึงแม้หนังของจิบลิจะไม่ได้ฉายโรงอย่างเป็นทางการในไทยบ่อยนัก แต่หนังของสตูดิโอนี้ก็ได้รับการเผยแพร่ผ่านช่องทางต่างๆ จนได้รับความนิยมอย่างสูงในบรรดาคอหนัง
มิยะซะกิและผองเพื่อนก่อตั้งสตูดิโอในปี ๒๕๒๘ มีผลงานที่ได้รับความนิยมมากในบ้านเรา เช่น Grave of the Fireflies (หรือ สุสานหิ่งห้อย ปี ๒๕๓๑) กำกับโดย ทะกะฮะตะ อิซะโอะ (Takahata Isao) แต่ที่จริงแล้วผลงานเรื่องดังๆ ของจิบลิล้วนเป็นฝีมือการกำกับของมิยะซะกิทั้งสิ้น เช่น My Neighbor Totoro (๒๕๓๑) มีผลให้ตัวการ์ตูน “โทะโตะโระ” โด่งดังไปทั่ว Princess Mononoke (๒๕๔๐) ที่ทำให้โลกตะวันตกสนใจจิบลิอย่างจริงจัง Spirited Away (๒๕๔๔) ที่คว้ารางวัลออสการ์สาขาแอนิเมชันยอดเยี่ยม และรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมที่เทศกาลหนังเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี
แม้สตูดิโอจิบลิยังคงอยู่และปีที่ผ่านมาก็มีหนังใหม่อีกเรื่องคือ The Tale of Princess Kaguya โดยทะกะฮะตะ แต่การวางมือของมิยะซะกิถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของภาพยนตร์แอนิเมชันในญี่ปุ่น ด้วยเหตุนี้ข้อมูลรายรอบในการโปรโมต The Wind Rises จึงเต็มไปด้วยการเน้นย้ำว่านี่คือภาพยนตร์แห่งความอาลัย งานชิ้นสุดท้ายของปรมาจารย์ระดับโลก ราวกับภาพยนตร์เรื่องนี้คือภาพฝันสุดวิเศษที่จะสร้างรอยยิ้มให้ทุกคนเช่นเคย แต่เอาเข้าจริงหนังกลับให้อารมณ์แตกต่างจากงานก่อนๆ อย่างมาก เพราะมีความเป็นผู้ใหญ่สูง “ไม่” แฟนตาซีเหมือนเคย และมีนัยทางการเมืองล่อแหลมที่สุดนับตั้งแต่มิยะซะกิสร้างแอนิเมชันมาก็ว่าได้
มิยะซะกิสร้าง The Wind Rises จากหนังสือชีวประวัติของ โฮะริโกะชิ จิโร (Horikoshi Jiro-) นักออกแบบเครื่องบินผู้ตรากตรำมานานแสนนานจนสามารถทำให้กองทัพญี่ปุ่นทัดเทียมประเทศอารยะด้วยการมีเครื่องบินรบประจำชาติรุ่น Mitsubishi A6M Zero fighter ทว่าเครื่องบินอันเลื่องชื่อที่โฮะริโกะชิออกแบบนั้นได้กลายเป็นเครื่องบินรบในสงครามโลกครั้งที่ ๒ ซึ่งบินไปทิ้งระเบิดประเทศต่างๆ ในทวีปเอเชียนั่นเอง
นี่ละความอื้อฉาว-มิยะซะกิผู้โด่งดังจากการ์ตูนรักสันติภาพเลือกสร้างผลงานสุดท้ายว่าด้วยอัจฉริยะผู้ผลิตเครื่องจักรสังหาร และด้วยท่าทีของหนังที่อยู่กลางๆ ทำให้ได้รับก้อนอิฐจากแต่ละฝ่ายพอสมควร ฝ่ายชาตินิยมสุดขั้วในญี่ปุ่นก็กล่าวโทษมิยะซะกิว่าทรยศที่ด่าชาติตัวเอง อีกด้านก็มีชาวเกาหลีเขียนโจมตีทางอินเทอร์เน็ตจนเป็นข่าวฉาวโฉ่ โดยกล่าวหาว่าเขาสร้างหนังเกี่ยวกับสัญลักษณ์ของสงคราม รวมทั้งมิยะซะกิต้องไม่ลืมด้วยว่าแรงงานผู้สร้างเครื่องบินรบญี่ปุ่นเป็นหมื่นๆ ลำนั้นคือแรงงานเกาหลีที่ถูกเกณฑ์มา
แม้จะได้รับก้อนอิฐ แต่ก็ยังมีดอกไม้ The Wind Rises ได้รับการยอมรับจากชาวตะวันตกอย่างมาก ในอเมริกาหนังเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาแอนิเมชันยอดเยี่ยม ในอังกฤษได้ขึ้นปกวารสารภาพยนตร์ Sight & Sound ซึ่งน้อยครั้งนักที่หนังเอเชียจะได้รับเลือก ทั้งยังได้รับเสียงวิจารณ์อย่างดีเยี่ยมในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศที่เคยเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น ส่วนหนึ่งนั้นอาจมาจากการที่หนังให้บทบาทแก่ประเทศเยอรมนีและคนอิตาลีพอสมควร (หนังมิขวยเขินเลยที่เล่าว่า เพื่อจะสร้างเครื่องบินรบ โฮะริโกะชิตัวละครเอกได้ไปดูงานที่เยอรมนีและมีนักออกแบบเครื่องบินชาวอิตาลีเป็นฮีโร่) กระแสตอบรับจากหลายประเทศและหลากเกณฑ์การประเมินคุณค่าทำให้หนังเรื่องนี้มิใช่เพียงการโบกมือลาอย่างสงบๆ ของมิยะซะกิ หากแต่เป็นการปลดปล่อยผลงานชิ้นสุดท้ายซึ่งมีความเป็นผู้ใหญ่ที่สุดและส่วนตัวที่สุด
จุดเด่นอีกประการคือ The Wind Rises เป็นหนังที่สมจริง (realism) ที่สุดของเขา กล่าวคือ ขณะหนังเรื่องก่อนๆ ของมิยะซะกินั้นพาคนดูเข้าสู่โลกแฟนตาซีเต็มที่ แต่หนังเรื่องนี้เลือกเน้นโลกปรกติธรรมดา โดยฉากแฟนตาซีต่างๆ แทรกอยู่เพียงบางช่วงอย่างมีเหตุผลในฐานะจินตนาการของตัวละครเอก มิใช่โลกทั้งโลกที่ความสมจริงและความฟุ้งฝันผสมกันเหมือนเรื่องก่อนๆ
มิยะซะกิเล่าชีวิตของโฮะริโกะชิเหมือนหนังชีวประวัติ (biopic) คือเริ่มต้นในวัยเด็กที่เด็กชายตัวน้อยนอนอยู่บนหลังคาบ้านแล้วจ้องมองเมฆมองนก หวังว่าวันหนึ่งจะประดิษฐ์เครื่องบินได้ จากความฝันของเด็กกลายเป็นความฝันของชาติ เมื่อการสร้างเครื่องบินรบที่ทัดเทียมกับประเทศตะวันตกคือโจทย์สำคัญของแสนยานุภาพญี่ปุ่น แต่ขณะเล่าถึงความพยายามของโฮะริโกะชิในการออกแบบเครื่องบิน ทดลองสร้าง และล้มเหลวครั้งแล้วครั้งเล่า หนังก็หันเหออกจากเรื่องการงานแล้วให้ความสำคัญเนื้อหาอีกกลุ่ม นั่นคือหญิงสาวที่เขาพบรัก มีเรื่องราวการพบเจอ การตกหลุมรักซึ่งผสมผสานกับเครื่องบินกระดาษและสายลมแสงแดด ตลอดจนเงื่อนไขความรักที่ทั้งคู่ต้องร่วมฝ่าฟัน แล้วจบท้ายตรงวันที่โฮะริโกะชิประดิษฐ์เครื่องบินสำเร็จ แต่ก็ตระหนักรู้ว่าสิ่งประดิษฐ์ของตนกลายเป็นเครื่องจักรสังหารมนุษย์
ถึงแม้ตัวละครเอกจะเป็นผู้ออกแบบเครื่องบินรบ แต่ในมุมมองของมิยะซะกินั้นนำเสนอโฮะริโกะชิในฐานะนักฝัน ผู้ไล่ตามความฝันและทำให้ฝันเป็นจริง เพียงแต่สิ่งที่เขาฝันกลับกลายเป็นสิ่งที่คาดไม่ถึง ฉากสำคัญฉากหนึ่งอยู่ที่บทสนทนาระหว่างโฮะริโกะชิกับ จีโอวันนี บาตติสตา กาโปรนี (Giovanni Battista Caproni) นักออกแบบชาวอิตาลีผู้เป็นฮีโร่ของโฮะริโกะชิ “มนุษยชาติฝันที่จะบิน แต่ความฝันนั้นต้องสาป” ผิดไหมที่มนุษย์ฝันที่จะบิน หากการบินได้ของมนุษย์นั้นกลับนำไปสู่สิ่งเลวร้ายอย่างการทิ้งระเบิด กาโปรนีถามโฮะริโกะชิว่า “คุณจะเลือกอะไรระหว่างโลกที่มีพีระมิดกับโลกที่ไร้พีระมิด” พีระมิดในที่นี้เปรียบเทียบกับเครื่องบินและความศิวิไลซ์ที่มนุษย์ฝันใฝ่ แต่ต้องอย่าลืมว่าความศิวิไลซ์นั้นมีราคาที่ต้องจ่าย กว่าจะได้สักพีระมิดก็ต้องแลกด้วยการกดขี่และความสูญเสีย
หนังปกป้องโฮะริโกะชิด้วยการให้เขายืนกรานว่าตนเป็นนักฝัน ไม่ได้เป็นนักทำลาย แล้วเขาจำเป็นต้องรับผิดชอบความฝันสวยงามของเขาด้วยหรือ ? และพยายามแก้ต่างให้โฮะริโกะชิ เช่นฉากที่เขาแสดงความเห็นแง่ลบต่อฮิตเลอร์ หรือการทักท้วงกองทัพโดยกล่าวว่า “เครื่องบินหนักเกินไป มันจะบินได้แน่นอนหากเอาปืนออก” แต่สิ่งเหล่านี้ก็ใส่เป็นรายละเอียดเล็กน้อย เพราะหนังไม่ได้ต้องการให้โฮะริโกะชิเป็นตัวแทนของสันติภาพอย่างสมบูรณ์ หากแต่สื่อว่าเขามีความเห็นทางการเมืองกลางๆ ถึงไม่ได้ต้องการสงคราม แต่ก็ไม่ได้ต่อต้าน อย่างไรก็ดีหนังมีช่วงเวลาเศร้าสร้อยเพื่อนำเสนอภาวะครุ่นคิดของโฮะริโกะชิว่าตัวเองผิดหรือไม่ ความฝันของเขาเป็นภาพสวยงาม แต่มีภาพหนึ่งเป็นสิ่งตรงข้ามกับความฝันอย่างสุดขั้ว ซึ่งอาจเป็นภาพน่าหวาดกลัวที่สุดภาพหนึ่งของแอนิเมชันจิบลิก็ว่าได้ ความน่ากลัวนั้นทรงพลังเพียงพอแม้จะปรากฏแค่ฉากเดียว แต่สามารถคานน้ำหนักกับภาพสวยๆ หวานๆ ที่เล่ามาตลอดเรื่องได้
อย่างไรก็ตามหากมองข้ามบทบาทของหนังในฐานะภาพสะท้อนประวัติศาสตร์ แล้วเพ่งลึกลงไปในฐานะภาพสะท้อนของคนทำหนัง จะพบว่าการนำเสนอชีวิตรักและวินัยในการงานของโฮะริโกะชินั้นน่าสนใจมาก แถมเป็นไปได้ว่าตัวละครเอกนั้นมีความเป็น “อัตชีวประวัติ” ของมิยะซะกิกลายๆ ด้วยการบ้างานของโฮะริโกะชิคลับคล้ายกับคนอย่างมิยะซะกิที่บ้าการทำแอนิเมชัน ซึ่งเมื่อโฮะริโกะชิบ้างาน ภรรยาผู้เจ็บออดๆ แอดๆ ของเขาก็ต้องยอมรับและเข้าใจ รวมถึงอุทิศตนยอมให้การงานของเขามีความสำคัญเท่าๆ หรือมากกว่าการเป็นสามีของเธอ เบื้องหลังการอุทิศชีวิตให้การตามหาฝันของโฮะริโกะชิย่อมมีชีวิตของภรรยาที่เสียสละพร้อมยอมเข้าใจ หนังเรื่องนี้อาจเป็นจดหมายรักที่มิยะซะกิส่งให้บุคคลในครอบครัวว่าเขาตระหนักดีว่าคนรอบข้างต้องทำความเข้าใจกับคนพิเศษอย่างเขา และเมื่อเนื้อหาดังกล่าวขึ้นบนจอหนัง มันก็บอกแฟนๆ เป็นนัยว่าเบื้องหลังของภาพสวยๆ ที่เราเห็นนั้นย่อมเกิดจากความเข้าใจและความเสียสละของคนรอบตัวนักทำแอนิเมชันเช่นกัน
หมายเหตุ : The Wind Rises มีกำหนดเข้าฉายในไทยช่วงกลางปีนี้