เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช, ประเวช ตันตราภิรมย์

“โยมรู้ไหม เสากำแพงวัดทุกต้นที่เห็นเป็นเสาเข็มทนมาก มหาธรรมกายเจดีย์ก็สร้างโดยมีจุดหมายให้อยู่ได้เป็นพันปี สิ่งก่อสร้างต้องใหญ่โตเพื่อรองรับคนมาวัด เราต้องธำรงพระพุทธ-ศาสนาไว้ ถ้าตอนนี้มุสลิมมา กทม. ๑๐ ล้านคน เราก็อยู่ยากแล้ว นอกจากปรับตัว เราก็ต้องเผยแผ่ธรรมะให้ทันยุคทันสมัยด้วย”

กลางปี ๒๕๕๖ หลวงพี่จิรพัทธ์ กิติภทฺโท พระภิกษุฝ่ายประชาสัมพันธ์วัดพระธรรมกาย บรรยายประโยคข้างต้นระหว่างนำผมตระเวน “ทำความรู้จัก” วัดด้วยการเดินและนั่งรถยนต์ภายใน “วัดพระธรรมกาย” ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่ ๑๙๖ ไร่ ก่อนพาเข้าสู่โซนสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ อันประกอบด้วย “สภาธรรมกายสากล” “มหาธรรมกายเจดีย์” และที่ทำการฝ่ายอื่น ๆ ซึ่งสร้างไว้อย่างเป็นสัดส่วนบนพื้นที่กว่า ๒,๐๐๐ ไร่ที่อยู่ติดกัน

ความใหญ่โตของสถานที่ ปริมาณญาติโยม พระสงฆ์ อุบาสก อุบาสิกา ที่มาทำบุญในโอกาสต่าง ๆ ทำให้ผมไม่แปลกใจเลยกับคำกล่าวที่ว่า เวลานี้ธรรมกายคือวัดที่ใหญ่ที่สุด มีทุนทรัพย์และมีอิทธิพลมากที่สุดในประเทศไทย

ถึงตอนนี้ เป็นเวลากว่า ๔ ทศวรรษแล้วที่วัดพระธรรมกายสร้างปรากฏการณ์ให้สังคมไทยตะลึง

การขยายตัวอย่างรวดเร็วของสิ่งก่อสร้าง จำนวนผู้ศรัทธา กิจกรรมแต่ละครั้งที่มีผู้เข้าร่วมนับแสน รูปแบบการประชาสัมพันธ์เชิงรุกอันหวือหวา กระทั่งกรณีอื้อฉาวคือการตีความคำสอนในพระไตรปิฎกที่ผู้ไม่เห็นด้วยถึงกับขนานนามวัดนี้ว่า “ลัทธิจานบิน” กรณีถือครองที่ดินของพระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ ธมฺมชโย) เจ้าอาวาส ฯลฯ

น่าพิศวงว่า วัดพระธรรมกายผ่านมรสุมเหล่านี้มาได้ทั้งหมดอย่างอยู่ยั้งยืนยง  กิจกรรมยังดำเนินต่อไป ซ้ำขยายเครือข่ายไปอีกหลายเท่า และปัจจุบันดูเหมือนหลายอย่างได้รับการรับรองจากภาครัฐไปแล้ว

วางการตีความหลักคำสอน วางความพยายามค้นหาว่า “อะไรผิด-อะไรถูก”

ผมพยายามหาคำตอบของคำถามใหญ่ที่ว่า อะไรที่ทำให้วัดนี้ประสบความสำเร็จ

อะไรที่ทำให้วัดพระธรรมกายสามารถสร้าง “ปรากฏการณ์” ได้มากมายขนาดนี้

 

“คิดใหญ่” Thinking Big

“(คริสต์นิกาย) คาทอลิกเขามีวาติกัน มุสลิม (อิสลาม) มีมักกะฮ์  เราชาวพุทธต้องมีศูนย์กลางธรรมกายแห่งโลก”

พระภาวนาวิริยคุณ (เผด็จ ทตฺตชีโว)
รองเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย
มติชนสุดสัปดาห์, ๕ มกราคม ๒๕๔๒

พุทธศักราช ๒๕๕๖  คำกล่าวของพระราชภาวนาจารย์ หรือพระทัตตชีโว หนึ่งในผู้ก่อตั้งวัดพระธรรมกายเมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์พระภาวนาวิริยคุณในปี ๒๕๔๒ ยังได้รับการถ่ายทอดผ่านคนในวัด ไม่ว่าพระสงฆ์ อุบาสก อุบาสิกาใน “สำนักสื่อสารองค์กร” ของวัดและมูลนิธิธรรมกายอย่างไม่ขาดช่วง

เห็นได้จากผู้ทำหน้าที่ตอบคำถามสื่อมวลชนแต่เพียงผู้เดียวอย่างพระมหาสมชาย านวุฑฺโฒ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสด้านการศึกษาและเผยแผ่ มักเน้นย้ำประโยคทำนองนี้หลายครั้งเมื่อผมถามถึงหลักการบริหารวัด

พระมหาสมชาย คือหนึ่งใน “ผู้บริหารวัด” ที่พัฒนาวัดพระธรรมกายมาตั้งแต่ระยะตั้งไข่ ปัจจุบันอยู่ในวัย ๕๓ ปีกับสีหน้าและผิวพรรณผ่องใส ท่าทางกระฉับกระเฉง รวดเร็วในการตัดสินใจเรื่องต่าง ๆ  พระมหาสมชายให้ความเป็นกันเองและกระตือรือร้นที่จะตอบคำถาม โดยเรียกพระสงฆ์ผู้รับผิดชอบงานประชาสัมพันธ์อีกสองรูป เจ้าหน้าที่วัด รวมไปถึงสื่อมวลชนของวัดเองคือ DMC TV มาร่วมรับฟังการสนทนากับผมอย่างใกล้ชิด

นอกจากย้ำ พระมหาสมชายยังเล่ากำเนิดวัดว่ามีต้นตอจากวัดปากน้ำภาษีเจริญ เขตภาษีเจริญ กรุงเทพฯ

ก่อนที่ผมจะมาสนทนากับพระมหาสมชาย ผมได้ลองไปสำรวจวัดปากน้ำภาษีเจริญ แล้วก็พบว่าที่นี่เป็นพระอารามหลวงชั้นตรีเก่าแก่ สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในสมัยอยุธยาตอนกลาง (พ.ศ. ๒๐๓๑-๒๑๗๒) ก่อนจะโรยราและกลับมารุ่งเรืองอีกครั้งในทศวรรษ ๒๔๖๐ เมื่อพระสมุห์สด จนฺทสโร (หลวงพ่อสด) มาเป็นเจ้าอาวาส

หลวงพ่อสดได้ลงมือ “ผ่าตัด” ปรับปรุงวัดโดยกวดขันวินัยภิกษุสามเณร ที่สำคัญคือนำวิชาวิปัสสนากรรมฐาน (นั่งสมาธิ) เรียก “วิชชาธรรมกาย” ที่ท่านอ้างว่าค้นพบมาอบรมพระภิกษุและญาติโยมในวัด

หลักฐานจากวัดปากน้ำฯ หลายชิ้นชี้ว่าตลอด ๔๐ ปีในยุคหลวงพ่อสดเป็นเจ้าอาวาส วัดปากน้ำฯ พัฒนาไปไกล มีภิกษุสามเณรหลายร้อยรูป ก่อตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรม ทุกวันจัดเลี้ยงอาหารพระภิกษุและญาติโยมที่มาวัด ส่งพระสงฆ์ไปเผยแผ่วิชชาธรรมกายตามวัด  ที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้คือการสร้างหน่ออ่อนของวัดพระธรรมกาย โดยตั้ง “โรงงานทำวิชชา” อบรมสมาธิเป็นกะตลอด ๒๔ ชั่วโมง

พุทธศักราช ๒๕๕๖ ห้วงเวลาที่วัดพระธรรมกายรุ่งเรือง วัดปากน้ำฯ ก็ได้รับอานิสงส์  ผมพบว่ายังคงมีการสอนวิชานั่งสมาธิแบบธรรมกายในวัด  ที่พระมหาเจดีย์มหารัชมงคลซึ่งมีอีกสถานะคือพิพิธภัณฑ์แสดงสิ่งของสะสมของสมเด็จพระมหารัชมังคลา-จารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช (พระอุปัชฌาย์ของเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย) บริเวณชั้น ๒ ประดิษฐานรูปหล่อหลวงพ่อสดทองคำหนัก ๑ ตัน เป็นหลักฐานแสดงสายสัมพันธ์ระหว่างสองวัด

แต่ก็น่าเสียดายว่าไม่มีร่องรอยของ “โรงงานทำวิชชา” หลงเหลือให้เห็นแล้ว

หนังสือ ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จวัดธรรมกาย ระบุว่าโรงงานทำวิชชาเป็นที่ฝึกสมาธิชั้นสูงของศิษย์ที่หลวงพ่อสดคัดเลือกแล้วว่า “เห็นธรรมะชัดเจน”  ส่วนร่องรอยการ “คิดใหญ่” เผยแผ่วิชชาธรรมกายไปทั่วโลกปรากฏอยู่ในหนังสือหลายเล่มที่เขียนถึงหลวงพ่อสด อาทิ หนังสือ ยิ่งรู้จัก ยิ่งเคารพรักท่าน ซึ่งระบุว่าก่อนมรณภาพในปี ๒๕๐๒ หลวงพ่อสดฝากลูกศิษย์ใกล้ชิดให้ “ช่วยกันเผยแผ่วิชชาธรรมกายสู่ชาวโลก”

เมื่อหลวงพ่อสดมรณภาพ แม่ชีจันทร์ ขนนกยูง ลูกศิษย์คนสำคัญก็สืบสานวิชานี้ต่อด้วยการเปิดสำนัก “บ้านธรรมประสิทธิ์” ขึ้นในวัด  ช่วงนี้เองที่เธอได้ลูกศิษย์คนสำคัญคือ ไชยบูลย์ สุทธิ-ผล และ เผด็จ ผ่องสวัสดิ์ นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ซึ่งต่อมาร่วมกันตั้ง “ศูนย์พุทธจักรปฏิบัติธรรม” อันเป็นต้นกำเนิดของวัดพระธรรมกายบนที่ดิน ๑๙๖ ไร่ ในตำบลคลองสาม อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี เมื่อปี ๒๕๑๓ โดยที่ดินผืนนี้ได้รับบริจาคจากคุณหญิงประหยัด แพทยพงศาวิสุทธาธิบดี (มารดานายสมัคร สุนทรเวช) แล้ว ๕ ปีต่อมาแม่ชีจันทร์ก็ย้ายสำนักออกจากวัดปากน้ำฯ มาอยู่ที่นี่อย่างถาวร

ในช่วงเริ่มต้น แนวคิด “ศูนย์กลางพุทธศาสนาโลก” ยังไม่ชัดนัก พระภาวนาวิริยคุณ “หลวงพ่อทัตตชีโว” รองเจ้าอาวาส เคยให้สัมภาษณ์ สารคดี เมื่อมิถุนายน ๒๕๒๙ ว่าที่ตั้งวัดก็เพื่อแก้ปัญหาวัดจำนวนมากไม่น่าเข้า คุณภาพพระตกต่ำ จึงหวังว่าวัดพระธรรมกายจะเป็น “สถานที่ที่ไม่ได้น้อยหน้ากว่ามหาวิทยาลัย…ก็ประกอบกับชอบฝึกสมาธิ เห็นว่ามีผลทำให้จิตใจผ่องใสชุ่มชื่น ก็ควรให้วัดเป็นเหมือนห้องแล็บที่ดีสำหรับการฝึกสมาธิด้วย”

พระมหาสมชายเล่าว่าเป้าหมายในยุคนั้นต้องการเป็นวัดป่า มีพระสงฆ์เพียง ๒๐ รูป สร้างกุฏิเท่าจำนวนพระ ทว่า “ปี ๒๕๒๘ ในวันสำคัญทางศาสนา ญาติโยมมาเป็นหมื่น” จึงเกิดสภาพ “คนล้นวัด” สถานที่ไม่เพียงพอ

จากเหตุการณ์นี้ทำให้มีคนตำหนิวัดว่า “ไม่มองการณ์ไกล” ประกอบกับแนวคิดที่ต้องการให้คนเข้าวัด หลัก “ปฏิรูปเทศ ๔” จึงถูกนำมาใช้ คือ จัดสถานที่ให้เรียบร้อยร่มรื่น ตั้งโรงทานเลี้ยงอาหารทุกคน ฝึกพระและฆราวาสให้มีกิริยาเป็นแบบอย่าง และตั้งเป้าว่าผู้ที่มาวัดต้องได้ธรรมะกลับไป

วัดเริ่มปรับตัวหลายด้าน ที่ชัดที่สุดคือด้านกายภาพ การสร้างสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ซึ่งพระมหาสมชายระบุว่าสร้างโดยยึดหลักประหยัดและคุ้มค่า “แต่คนภายนอกเขาไม่ได้เข้ามาเห็นภายใน เลยดูใหญ่โตจนแปลกประหลาด”

สิ่งที่พระสงฆ์หลายรูปในวัดกล่าวกับผมในหลายโอกาสและกล่าวตรงกันเกือบทุกครั้ง คือความกังวลเรื่องพระพุทธศาสนาที่เสื่อมความนิยม และสมาชิกวัดส่วนมากเห็นด้วยที่วัดพระธรรมกายแก้ปัญหานี้ด้วยการเผยแผ่พุทธศาสนา “เชิงรุก”

พระมหาสมชายยอมรับว่าเมื่อ “รุก” ก็มี “แรงเสียดทาน” และยกตัวอย่างว่า “ท่านพุทธทาสเป็นนักเผยแผ่เชิงรุก ทำหลายอย่างที่คณะสงฆ์ไทยไม่คุ้น เช่น ก่อนพระเทศน์ต้องขึ้นธรรมาสน์ ถือใบลาน ตามองตรงพูดไปเรื่อย แต่ท่านพุทธทาสพูดกับคนฟังก็โดนข้อหา ‘พระบ้า’ แต่เดี๋ยวนี้เรื่องแบบนี้คือเรื่องปรกติ” และยอมรับว่า เป้าหมายการเป็นศูนย์กลางพุทธศาสนานั้นเป็นเรื่องจริง เพราะ “คริสต์มีวาติกัน อิสลามมีมักกะฮ์  เราไม่กล้าพูดว่าจะทำได้ขนาดนั้น แต่ขอเป็นสถานที่หนึ่งที่ชาวพุทธทั่วโลกจะเข้ามาใช้ได้”

เรื่องนี้ยังปรากฏใน E-book ที่ชมรมพุทธศาสตร์สากล (ก่อตั้งจากการรวมตัวของสมาชิกและศิษย์เก่าชมรมพุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ) อัปโหลดขึ้นเว็บไซต์ www.ibsclub.net ช่วงกลางปี ๒๕๕๕ ในบทที่รวบรวมการเทศน์ของพระเทพญาณ-มหามุนี (หลวงพ่อธัมมชโย) หัวข้อ “ธรรมะหมวดอุดมการณ์” ในหลายวาระ

หากอ่านอย่างละเอียด จะพบได้บ่อยครั้งถึงความปรารถนาในการเผยแผ่วิชชาธรรมกายไปทั่วโลกของเจ้าอาวาส อาทิ ต้องการ “ให้ชาวโลกและผู้ใกล้ชิดเข้าถึงธรรมกาย” (หัวข้อ “ความปรารถนาของหลวงพ่อ”) หรือ “ต้องให้ชาวโลกเข้าถึงธรรม ให้เขาได้เข้าถึงพระธรรมกาย” (หัวข้อ “ที่สุดแห่งธรรม (ธรรมกายเจดีย์) สำหรับคนในองค์กร”)  และถ้าย้อนกลับไปอ่านสิ่งที่เจ้าอาวาสบันทึกไว้ในไดอะรีสมัยเรียนถึงทางเลือกของชีวิตในอนาคตคือ “…แต่ถ้าจะไปทางธรรม จะต้องให้ได้ธรรมะสูงสุดของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วจะเผยแผ่ธรรมะนั้นให้กว้างไกลไปทั่วโลก” ก็จะเห็นมโนปณิธานของเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายได้อย่างชัดเจน

ที่สำคัญคือการสร้าง “ความสืบเนื่อง” จากหลวงพ่อสด

ในงานวิจัยของ ดร. อภิญญา เฟื่องฟูสกุล เรื่อง “ศาสนทัศน์ของชุมชนเมืองสมัยใหม่ ศึกษากรณีวัดพระธรรมกาย” ในวารสาร พุทธศาสน์ศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปีที่ ๕ ฉบับที่ ๑ มกราคม-เมษายน ๒๕๔๑ ให้รายละเอียดไว้ว่า วัดพระธรรมกายนั้นอยู่ในฐานะ “ขบวนการเคลื่อนไหวใหม่ทางศาสนา” ที่แยกตัวจากต้นกำเนิดคือวัดปากน้ำภาษีเจริญ

ผู้ทำวิจัยระบุว่าได้พบร่องรอยความขัดแย้งระหว่างศิษย์สำนักวัดปากน้ำฯ สายแม่ชีจันทร์กับศิษย์สายอื่น ด้วยเหตุนี้เองทำให้วัดพระธรรมกายต้องนิยามตัวเองให้ชัด วางจุดเชื่อมวัดปากน้ำฯ ไว้ที่แม่ชีจันทร์ ซึ่งผู้วิจัยมองว่าเรื่องนี้ “สำคัญยิ่งสำหรับขบวนการที่แยกตัวออกจากกลุ่มที่เป็นต้นกำเนิด เพราะการสืบเนื่องจากต้นกำเนิดคือการสร้างความชอบธรรมให้แก่กลุ่มใหม่ในฐานะผู้สืบทอดมรดกทางธรรม”

จากนั้นสร้างภาพเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายให้ศักดิ์สิทธิ์ ด้วยการวาง “โครงเรื่อง” ที่เต็มไปด้วยอภินิหารตามธรรมเนียมประวัติพระเกจิอาจารย์ เพื่อสร้าง “ระยะห่าง” ของผู้นำวัดกับคนธรรมดา ยังมีการเล่าเรื่องการพบกันระหว่างเจ้าอาวาสกับรองเจ้าอาวาสสมัยเป็นนิสิตและ “ลองวิชา” กัน จนมาสู่การเป็น “มือขวา” ของวัดของรองเจ้าอาวาส ซึ่งมีภาพลักษณ์เป็น “นักบริหาร” และ “มนุษย์” มากกว่า  ลักษณะนี้สะท้อนภาพสองด้านของวัดคือ ด้านความเป็นองค์กรสมัยใหม่ที่อยู่ร่วมกันได้อย่างไม่ขัดเขินกับด้านความศักดิ์สิทธิ์

แนวคิดเหล่านี้เองที่ส่งผลต่อการจัดระบบ “องค์กรเผยแผ่พุทธศาสนา” ของวัดพระธรรมกาย และอาจเป็นคำตอบว่า ทำไมเจ้าอาวาสวัดนี้จึงเข้าถึงยาก และความใหญ่โตของมหาธรรมกายเจดีย์ เจดีย์ขนาดอภิมหายักษ์ หน้าตาคล้ายจานบิน รวมไปถึงระบบบริหารงานทั้งหมดของวัดพระธรรมกายที่ผมเห็นนั้น มีที่มาและเกิดขึ้นได้อย่างไร

บริหาร เข้าถึง ดึงทรัพยากรคน
Management, Reach Out and Human Resources

 

“จุดแข็งของวัดพระธรรมกาย คือคนที่มารวมกันตรงนี้มาด้วยอุดมการณ์  อุดมการณ์ทำให้เกิดการบริหารจัดการ ถ้าไม่มีอุดมการณ์ทำอย่างไรก็บริหารได้ไม่ดี”

พระมหาสมชาย ฐานวุฑฺโฒ
ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายด้านการศึกษาและเผยแผ่

 

ยากจะปฏิเสธว่า จุดเด่นของวัดพระธรรมกายคือความสามารถในการดึงดูดผู้ศรัทธาจำนวนมาก โดยเฉพาะนักเรียนนิสิตนักศึกษา รวมถึงการบริหารจัดการองค์กรและกิจกรรมที่คนเข้าร่วมจำนวนมากได้อย่างเป็นระบบ

ผมเห็นความสามารถนี้ชัดเจนเมื่อร่วมงานที่วัดในวันวิสาขบูชาปี ๒๕๕๖ ซึ่งมีการเวียนเทียนรอบ “มหาธรรมกายเจดีย์”

ผู้เข้าร่วมงานท่านหนึ่งเล่าว่า ทุกปีงานวันวิสาขบูชาของวัดพระธรรมกายมีคนเข้าร่วมอย่างน้อยหลักพัน  วันนี้ก็เช่นกัน ตั้งแต่ช่วงบ่ายผมเห็นมีรถบัสขนาดใหญ่ขนคนจากหลายจังหวัดมาจอดในลานจอดที่เตรียมไว้อย่างดี และทุกคนก็มาตามกลุ่มที่มีการจัดการชัดเจน

ที่ “มหารัตนวิหารคด” อาคารซึ่งแล่นล้อมมหาธรรมกายเจดีย์ทั้งสี่ด้าน ความยาวด้านละ ๑ กิโลเมตร  อุบาสิกาฝ่ายประชาสัมพันธ์บอกผมว่า อาคารแห่งนี้จุคนได้ราว ๑ ล้านคน และเป็นจุดรวมตัวกันก่อนจะเริ่มพิธีเวียนเทียน

อาคารโปร่งโล่ง มีเสาสูงนับร้อยต้น ตั้งจุดประชาสัมพันธ์ไว้เป็นระยะ ๆ  เสาวิหารแต่ละต้นระบุโซนเป็นภาษาอังกฤษ อาทิ A1 B1 คล้ายในลานจอดรถตามห้างสรรพสินค้า เพื่อป้องกันความสับสนในการติดต่อประสานงาน  นอกจากอุบาสก อุบาสิกา ยังมีอาสาสมัครจำนวนมากสวมชุดสีขาวทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์และประสานงานร่วมกับพระสงฆ์ที่พร้อมด้วยเครื่องมือสื่อสาร

เมื่อเข้าสู่ช่วงโพล้เพล้ พระสงฆ์ ๒,๐๐๐ รูปที่จำพรรษาในวัดก็มาถึงบริเวณพิธีพร้อมกัน ก่อนที่ทุกคนจะสงบนิ่งเมื่อเจ้าอาวาสมาถึงปะรำพิธีด้วยขบวนรถยนต์ โดยมีอุบาสก อุบาสิกา และพระสงฆ์ ยืนเรียงแถวต้อนรับเจ้าอาวาสอย่างเป็นระเบียบไม่ต่างกับการต้อนรับบุคคลสำคัญระดับชาติ  จากนั้นเจ้าอาวาสก็นำสวดมนต์บูชาพระ ทำสมาธิตามสูตรวิชชาธรรมกาย ก่อนจะขอพร “ให้เข้าถึงธรรมกายในกาลปัจจุบัน”

แล้วพิธีเวียนเทียนก็เริ่มขึ้น ริ้วขบวนตั้งต้นจากคนใส่ชุดขาวสวมสายสะพาย ผู้ถือธงฉัพพรรณรังสี (ธงศาสนาพุทธมีหกสี) ธงวัดพระธรรมกาย จากนั้นจึงเป็นขบวนแถวญาติโยมที่ถือเทียนและรูปหลวงพ่อสดขนาดใหญ่น้อย ทั้งหมดเดินประทักษิณรอบเจดีย์หนึ่งรอบ (ไม่อาจเดินสามรอบซึ่งเท่ากับ ๑๒ กิโลเมตร เพราะเกินกำลังญาติโยม)

พอจบพิธีก็มีการประชาสัมพันธ์ให้ผู้เข้าร่วมงานไปยังจุดนัดพบเพื่อขึ้นรถกลับอย่างเป็นระเบียบ โดยมีเจ้าหน้าที่วัดถือโทรโข่งอำนวยความสะดวกตามจุดต่าง ๆ คอยบอกทางและแยกย้ายคนขึ้นรถ

ภาพสุดท้ายในช่วงค่ำ คือการจราจรบนถนนทุกสายในวัดติดขัดตั้งแต่หลังวัดจนถึงประตูหน้าติดกับถนนคลองหลวง กระแสรถยนต์ที่หลั่งไหลออกจากวัดนั้นทำให้การจราจรบนถนนสายหลักติดขัดไปพักใหญ่ ๆ

ผู้มาร่วมงานท่านหนึ่งเล่าว่าวันวิสาขบูชาปี ๒๕๕๖ ตรงกับวันศุกร์ คนจำนวนมากติดเรียนและทำงาน ปริมาณที่เห็นวันนี้ถือเป็นจำนวนที่น้อยมาก

จะมีสักกี่วัดในไทยที่จะมีญาติโยมเข้ามากมายและทางวัดสามารถบริหารจัดการคนนับแสนได้

อะไรที่ทำให้ภารกิจที่ “หิน” สำหรับวัดแห่งอื่นทั่วประเทศกลายเป็น “ขนมหวาน” สำหรับวัดพระธรรมกาย

เรื่องนี้อาจตอบได้ง่ายที่สุดว่ามาจากการให้ความสำคัญแก่การบริหาร “ทรัพยากรมนุษย์”

 

……………………………………………..

 

จากการสืบค้น ผมพบว่าช่วงก่อตั้งวัด แม้แม่ชีจันทร์ ขนนกยูง อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ แต่ผู้ร่วมก่อตั้งวัดคือเจ้าอาวาสและรองเจ้าอาวาสนั้นเป็นอดีตนิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จบการศึกษาระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยที่มีระบบโซตัส (SOTUS) ซึ่งให้ความสำคัญแก่เรื่อง “อาวุโส” เข้มแข็ง และส่งผลต่อการวางพื้นฐานผู้ศรัทธาในยุคต้น

ปี ๒๕๒๙ หลวงพ่อทัตตชีโว รองเจ้าอาวาส พูดถึงความสำเร็จในการดึงคนหนุ่มสาวว่ามาจาก “…บังเอิญไปถูกเป้าเข้า…อย่างท่านเจ้าอาวาส-หลวงพ่อธัมมชโย จบการศึกษาปุ๊บก็บวช อาตมาตอนบวชก็ยังอายุไม่ครบ ๓๐ เวลาจะเทศน์จะสอนก็เอาเรื่องชีวิตวัยหนุ่มสาวที่เพิ่งผ่านมาหยก ๆ …ทีนี้พวกน้อง ๆ ที่เคยไปวัดด้วยกันสมัยเรียนก็ตามมา  การเทศน์ของเราก็เลยเป็นแบบพี่สอนน้อง ไม่ใช่แบบครูอาจารย์ เขาก็รับได้ดี  เทศน์ไปแต่ละเรื่องก็เจาะใจของเขาทุกที…ควักจากใจถึงใจ มันก็เลยเข้าใจ อีกอย่างหนึ่งเขาก็ได้ฝึกสมาธิ เกิดความชุ่มเย็นจิตใจ การศึกษาก็ดีขึ้น เขาก็ชวน ๆ กันมา”

นิสิตกลุ่มแรกที่เข้าวัดจึงมาจาก ม. เกษตรฯ คนเหล่านี้ต่อมากลายเป็นกำลังหลักของวัดโดยแบ่งงานกันตามความถนัด ทางวัดยังคัดคนที่โดดเด่นมา “อบรมพิเศษ” เพื่อให้เป็นผู้นำและให้กำลังใจคนอื่น  รองเจ้าอาวาสเคยอธิบายเรื่องนี้ว่า “ปกครองกันด้วยความเคารพกับคุณธรรมที่เหนือกว่า ถ้าคุณมีคุณธรรมเหนือกว่าเด่นชัด คนเขาก็ต้องเคารพ ถ้าใครไม่เคารพคนเหนือกว่าแบบนี้ก็ต้องคัดออกไปเลย อยู่ด้วยกันไม่ได้ ต้องรักษา seniority” ในส่วนพระสงฆ์ ทางวัดคัดเลือกผู้ที่จะบวชอย่างเข้มงวด มีข้อกำหนดว่าต้องทำงานและถือศีล ๘ ที่วัดไม่ต่ำกว่า ๕ ปี

ต่อมาปี ๒๕๒๗ การบริหารงานวัดแยกเป็นสามส่วน คือ บริหารงานบุคคล ฝ่ายจัดหากองทุน และฝ่ายเผยแผ่ธรรมะ ภายใต้การกำกับดูแลของ “มูลนิธิธรรมกาย” และ “สำนักงานกัลยาณมิตร” โดยสำนักงานกัลยาณมิตรมีคณะกรรมการบริหารจากหลายฝ่าย รวมทั้งบุคคลภายนอก  ต่อมาก็มีการปรับการบริหารงานของวัดเป็นคณะกรรมการบริหารงานกลาง ที่ปรึกษา งานวิทยากร ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กองบรรณาธิการวารสารกัลยาณมิตร และฝ่ายย่อยอีกแปดฝ่าย อาทิ จราจร อาหาร

โครงการที่ทำให้วัดได้กำลังคนเพิ่มมากที่สุดคือ “ธรรม-ทายาท” เริ่มต้นขึ้นในปี ๒๕๑๕ โดยนำนิสิตนักศึกษามาปฏิบัติธรรมภาคฤดูร้อน  นายแพทย์มโน เลาหวณิช อาจารย์ภาควิชาการแพทย์บูรณาการ วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีต “พระมโน เมตตานฺนโท” ซึ่งเข้าวัดตั้งแต่เรียนชั้นมัธยมศึกษา เขียนถึงโครงการนี้ในบทความ “Esoteric Teaching of Wat Phra Dhammakaya” ในวารสาร Journal of Buddhist Ethics (Volume 19, 2012) ว่าเป็น “ความสำเร็จแรก” ของวัด ด้วยผู้ที่ผ่านโครงการกลายเป็น “สมาชิกถาวร” ในฐานะอุบาสก อุบาสิกา และพระที่บวชตลอดชีวิต

ยิ่งเมื่อลงรายละเอียด ผมยังพบว่าโครงการธรรมทายาทมีการฝึกหนักราวกับการฝึกทหาร คือต้องตื่นตี ๔ สวดมนต์ ปักกลดอบรมธรรมะถึง ๔ ทุ่ม  ในยุคหลังมีคำบอกเล่าว่ามีการนำทหารมาฝึกวินัยให้ผู้ปฏิบัติด้วย  กิจกรรมนี้ส่งผลโดยตรงให้เกิดความสามัคคีและความผูกพันในหมู่คณะ  ปัจจุบันโครงการธรรมทายาทได้ขยายสู่ระดับมัธยมศึกษา รวมไปถึงมีโปรแกรมอบรมสำหรับสตรีด้วย

ยุทธศาสตร์เรื่องกำลังคนของวัดที่น่าสนใจอีกเรื่อง คือการขยายบทบาทไปในสถาบันการศึกษาผ่านชมรมพุทธศาสนา โดยแห่งแรกที่เป็น “กระดานหก” นำไปสู่การขยายเครือข่ายกว้างขวาง คือ “ชมรมพุทธศาสตร์และประเพณี จุฬาฯ” ที่

นายแพทย์มโนเกี่ยวข้องในฐานะผู้วางรากฐานและเครือข่ายนี้ด้วยตนเอง นายแพทย์มโนเล่าให้ผมฟังว่าเริ่มเข้าวัดพระธรรมกายเพราะตามเพื่อนไปนั่งสมาธิเมื่อปี ๒๕๑๖ หลังจากนั้นก็ติดใจคำสอนรองเจ้าอาวาส “ตอนนั้นท่านอายุ ๓๐ บวชมา ๓ พรรษา อธิบายหลักธรรมได้เป็นวิทยาศาสตร์ ประทับใจทั้งที่ไปอยู่ลำบาก ผมกลับไปรักษาศีล ๘ อาทิตย์ละวันจนรู้จักคนสำคัญไม่ว่าแม่ชีจันทร์ เจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส” โดยในช่วงนั้น “ความสัมพันธ์ในวัดยังเป็นแบบครอบครัว ยังพบเจ้าอาวาสได้ง่าย พอผมเข้าแพทย์ จุฬาฯ ก็เป็นสมาชิกชมรมพุทธฯ ซึ่งสมัยนั้นในชมรมฯ มีทั้งคนเล่นพระเครื่อง ท่องพุทโธเพ่งลมหายใจ แต่ตอนนั้นธรรมกายก็มาแล้ว ทุกวันอาทิตย์มีรถรับส่งระหว่างมหาวิทยาลัยกับวัด เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยแห่งอื่น ๆ คือ มหิดลและเกษตรฯ”

ช่วงนี้เองที่แม่ชีจันทร์อนุญาตให้เขาสอนการนั่งสมาธิแบบธรรมกายกับเพื่อนจนเกิดเป็นกลุ่มก้อนในชมรมฯ พอถึงปี ๒๕๒๑ เขาก็กลายเป็นประธานชมรมฯ หลังผ่านการเลือกตั้งภายในอันดุเดือดซึ่งทำให้อีกฝ่ายถอนตัวจากชมรมฯ ทันทีหลังการเลือกตั้ง “ผมต้องเริ่มใหม่ ชวนน้องเข้าชมรมฯ เปลี่ยนอาจารย์ที่ปรึกษา จัดกิจกรรมไปวัดพระธรรมกายจริงจัง ทุกเย็นสอนสมาธิ คุยกับน้อง ๆ ปลูกฝังให้มีความคิดแบบเดียวกันได้ห้าคน บอกว่าทำไมสำนักอื่นสอนผิด ให้เข้าแต่วัดพระธรรมกายอย่างเดียว”

สถานการณ์นี้ยังเกิดขึ้นกับชมรมพุทธศาสนาของมหาวิทยาลัยแห่งอื่นที่นายแพทย์มโนมีส่วนเข้าไปวางเครือข่าย อาทิ รามคำแหง ธรรมศาสตร์ “เราใช้ระบบหนึ่งแตกห้า ผมวางระบบนี้โดยใช้หลักหนึ่งคน เข้าหาทายาทห้าคน ทุ่มเทถ่ายทอดอุดมการณ์ สร้างกลุ่มจนเป็นเสียงส่วนมากของชมรมฯ จากนั้นคนชมรมฯ จะเป็นคนของเรา  ชมรมพุทธฯ หลายแห่งตอนนี้เป็นธรรมกาย เพราะเขากลัวว่าถ้าแยกออกไปจะเป็นแกะดำ คล้ายพระเทวทัตที่ทำให้คณะสงฆ์แตกแยก”

จากการสำรวจ ผมพบว่าปัจจุบันชมรมพุทธศาสนาในมหาวิทยาลัยหลายแห่งกลายเป็นชมรมที่มีวัตรปฏิบัติแบบธรรมกาย และมีองค์กรร่วมคือ “ชมรมพุทธศาสตร์สากล” (ตั้งในปี ๒๕๓๔) เรื่องนี้อาจเกี่ยวพันถึงที่มาของอาสาสมัครส่วนใหญ่ของวัดพระธรรมกาย

อาสาสมัครของวัดรายหนึ่งบอกว่าตอนนี้วัดพระธรรมกายมีอาสาสมัครราว ๕,๐๐๐ คน ส่วนมากจะมาช่วยงานในวันอาทิตย์แรกของเดือน และจะมีเพิ่มถึงหลักหมื่นเมื่อมีงานขนาดใหญ่  อาสาสมัครที่เป็นนักศึกษาจะมีทั้งมาจากชมรมพุทธฯ และที่มาด้วยตนเอง  พระมหาสมชายยังให้ข้อมูลว่า อุบาสกอุบาสิกาที่ทำงานให้วัดส่วนมากจบการศึกษาระดับปริญญาตรี กลุ่มอยู่ประจำมีราว ๑,๐๐๐ คน มีค่าตอบแทนเดือนละ ๓,๐๐๐ บาท มีที่พักรวมให้ โดยทุกคนมีโอกาส “เข้าเงียบ” ๓ เดือนเพื่อนั่งสมาธิและปฏิบัติธรรมโดยไม่ต้องทำงานอื่น

ปัจจุบันการบริหารวัดพระธรรมกายต่างจากในอดีต คือแบ่งเป็น ๑๐ สำนักที่ทำงานเฉพาะด้าน อาทิ สื่อสารองค์กร การศึกษา (ดูรายละเอียดใน “ผังบริหารวัดพระธรรมกาย”) ทั้งหมดขึ้นตรงต่อเจ้าอาวาส และรูปแบบการบริหารนี้เกิดจากประสบการณ์ตลอดหลายสิบปีของวัดที่เผชิญกับปัญหาระดับใหญ่โตหลายครั้ง

จุดเปลี่ยนสำคัญ คือความขัดแย้งกับชาวนา ๖๔ รายที่เช่าที่ดินทำนาในพื้นที่ ๒,๐๐๐ ไร่ของตระกูลสนิทวงศ์ซึ่งมูลนิธิธรรมกายซื้อมาในปี ๒๕๒๘ โดยวัดเสนอค่าชดเชยและผ่อนผันให้ทำกินจนถึงปี ๒๕๓๐  อย่างไรก็ตามชาวนาบางส่วนเชื่อว่าที่ดินผืนนี้มีความน่าสงสัยในการได้มาด้วยน่าจะเป็นที่ดินในเขตปฏิรูปซึ่งห้ามซื้อขาย  ซ้ำร้ายวัดยังไม่แจ้งเรื่องการซื้อขายแก่ผู้เช่าที่ดินก่อน จึงเกิดการประท้วงหลายครั้ง ที่รุนแรงที่สุดคือชาวนารวมตัวกันบุกเข้าพื้นที่ซึ่งเคยเป็นที่ดินทำกินจนเกิดเหตุกระทบกระทั่งกับเจ้าหน้าที่วัด  เหตุการณ์นี้แม้จะจบลงแล้ว แต่ก็ทำให้นายแพทย์มโนซึ่งขณะนั้นบวชเป็น “พระเมตตานนฺโท” เสนอให้วัดปฏิรูปโครงสร้างการบริหารแบบ “ยกเครื่อง” ในปี ๒๕๓๒

นายแพทย์มโนเล่าว่า “ปัญหามาจากการบริหารแบบเดิมไม่มีประสิทธิภาพ ใช้วิธีเชื่อใจ พระรูปไหนมีบารมีก็มีลูกศิษย์มาก เกิดเขตใครเขตมัน บางทีผู้บริหารวัดนั่งสมาธิอยู่ออกมารับเรื่องไม่ได้ ปัญหาก็ถูกดอง ไม่มีกฎระเบียบ เบิกจ่ายตรวจสอบไม่ได้ เหรัญญิกไม่ชอบหน้าใครก็ดึงเรื่อง  ถ้าอยู่แบบนี้ตายตั้งแต่เริ่มโตไม่ต่างจากวัดอื่น”  การปฏิรูปจึงเกิดขึ้น “ผมชนเจ้าอาวาสแรงมากเพราะเขียนจดหมายเปิดผนึก  ท่านตั้งผมเป็นประธานปฏิรูป ตั้งกรรมการโดยมีผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ นอกวัดมาช่วย เราประชุมกันอย่างหนักให้ทุกคนในวัดมีส่วนร่วม”

ผมได้ข้อมูลระบบบริหารบุคลากรวัดก่อนหน้าการปฏิรูปจากเว็บไซต์ book.dou.us (หนังสือเรียน+สื่อประกอบการเรียน ของมหาวิทยาลัยธรรมกาย แคลิฟอร์เนีย) ว่าการจัดโครงสร้างเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่าง ๆ ของวัดแบ่งตามสถานภาพและการรักษาศีล โดยคร่าว ๆ คือมี

“เจ้าหน้าที่สามัญ” ประกอบด้วยพระภิกษุ เณร อุบาสก อุบาสิกา ที่ผ่านการอบรม มีการนับรุ่นและอยู่ประจำที่วัด

“เจ้าหน้าที่ประเภทวิสามัญ” คือกลุ่มที่อยู่ระหว่างการอบรมบุคลากรใหม่และทดลองงาน เช่น พระภิกษุที่อยู่ปีแรก มีการเรียกรุ่นว่า “นวกะ ๑” เป็นต้น (นวกะ หมายถึงพระบวชใหม่)

ระบบปกครองมีสองระบบคือ “ระบบวัด” มีเจ้าอาวาส รองเจ้าอาวาส และผู้ช่วยเจ้าอาวาสหกรูปทำหน้าที่บริหาร และ “ระบบมูลนิธิ” มีเจ้าอาวาสเป็นประธาน รองเจ้าอาวาสเป็นรองประธาน และมีกรรมการมูลนิธิ

ส่วนระบบใหม่ นายแพทย์มโนเล่าว่ามีการสร้าง “ธรรมบัญญัติ” หรือรัฐธรรมนูญขององค์กรขึ้นมา มี “อนุบัญญัติ” หรือกฎหมายลูก วาดภาพวัดว่าในอีก ๒๐ ปีข้างหน้าเมื่อมีสาขาทั่วโลกจะเป็นอย่างไร บริหารอย่างไร  “ผมได้แนวคิดมาจากการบริหารมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด และนำพระวินัยในพระไตรปิฎกมาประยุกต์”

ผลการปฏิรูปคือ “สภาธรรมกายสากล” ที่มีการแบ่งโครงสร้างหน้าที่ชัดเจน

นายแพทย์มโนระบุว่า “ในโครงสร้างนี้เจ้าอาวาสมีอำนาจสูงมาก แต่จะโดนถ่วงดุลโดยที่ประชุม ‘กรรมการอาวุโสชั้นสูงสภาธรรมกายสากล’ มีการวางค่านิยมร่วมว่าคืออะไร อะไรที่ทุกคนต้องรู้และตอบได้ ใครอยู่ตรงไหนกับใคร คิดถึงขั้นถ้าใครเสื่อมศรัทธาจะมีหน่วยศรัทธาภิบาลดูแล  อนุบัญญัติมีสามด้านคือ ศาสนชุมชน ปฏิบัติการ การศึกษา  ไม่ว่าวัดขยายสาขาไปไหนต้องมีคนสามส่วนงานนี้ไปด้วย  เราวางระบบสื่อสารทั่ววัดให้ติดต่อได้ตลอดเวลา รู้ว่าใครโทร.เข้าโทร.ออก  มีขั้นตอนจัดการปัญหาต่าง ๆ ชัดเจน  ถ้าคุณนั่งในที่ประชุมผู้บริหารวัดคุณจะไม่มีทางทราบว่าเขาคุยอะไร เพราะใช้ศัพท์เฉพาะที่เกิดจากการนำภาษาบาลีและพระธรรมวินัยมาผสมกันในการประชุม”

ในโครงสร้างใหม่มี “คณะกรรมการบริหารสภาธรรมกายสากล” ประกอบด้วยประธานคณะกรรมการ ที่ปรึกษาอาวุโส คณะกรรมการที่ประกอบด้วยผู้อำนวยการสำนักต่าง ๆ ทำงานควบคู่กับบอร์ดบริหารวัด (ประธานสภา คือเจ้าอาวาส)

ในส่วนของการจัดระเบียบญาติโยม เท่าที่ผมสอบถามผู้มาทำบุญ หลายคนบอกว่ามีการแบ่งพื้นที่รับผิดชอบโดยมี “หัวหน้า” จากอาสาสมัครที่อยู่ประจำวัดดูแลเป็นกลุ่ม ๆ  ใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ติดต่อประสานงานส่งข่าวงานบุญเพื่อไม่ให้สมาชิก “ตกบุญ” กันเป็นระยะ ๆ  อย่างไรก็ตามนี่เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นที่ผมหาได้เท่านั้น

นายแพทย์มโนอธิบายว่า ปรัชญาบริหารวัดและโครงสร้างที่เห็นส่วนหนึ่งได้แรงบันดาลใจจากรัฐธรรมนูญสหรัฐอเมริกา และระบบอาณาจักรไรช์ที่ ๓ ของฮิตเลอร์ ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญที่เจ้าอาวาสชื่นชอบ

“การมีสภาธรรมกายสากลในมูลนิธิธรรมกายเพื่อรองรับสถานการณ์เจ้าอาวาสถูกถอดถอน ลำดับไว้หมดว่าถ้าไม่มีเจ้าอาวาสใครจะดูแลวัดพระธรรมกาย คือวิสุงคามสีมาพื้นที่ ๑๙๖ ไร่ ไม่รวม ๒,๐๐๐ กว่าไร่ของมูลนิธิธรรมกาย  ระบบเดียวกับรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ที่กำหนดว่าหากประธานาธิบดีเป็นอะไร ใครจะขึ้นแทน  ถ้าเจ้าอาวาสโดนปลด ประธานมูลนิธิธรรมกายยังเป็นคนเดิม สาขาทั่วโลกอยู่ใต้สภาธรรมกายสากล ต่อให้ไม่มีเจ้าอาวาสอีก ๑๐ ปี องค์กรนี้ก็เดินต่อได้ด้วยตัวเอง  การขยายสาขาไปทั่วโลกก็เป็นแผนของเจ้าอาวาส  เจ้าอาวาสชอบบุคคลสำคัญสองคนคือ ฮิตเลอร์และนายพลแมกอาเทอร์  ฮิตเลอร์สร้างตัวเองจากศูนย์ ทำให้พรรคนาซีได้รับการสนับสนุนจากนักศึกษา มีคำตอบให้คนเยอรมันรุ่นใหม่ช่วงก่อนสงครามโลก
ครั้งที่ ๒ ซึ่งตั้งคำถามกับประเทศที่ตกอยู่ใต้เงื่อนไขฝ่ายชนะสงครามโลกครั้งที่ ๑

“ในตอนนั้นราชวงศ์เยอรมันล่มสลาย เยอรมนีถูกฝรั่งเศสกดขี่  เรื่องนี้ผมยืนยันได้เพราะเจ้าอาวาสเคยไปเยี่ยมผมสมัยเรียนออกซฟอร์ด ผมพาท่านไปห้องสมุด ท่านเห็นรูปฮิตเลอร์ตรวจแถวทหาร  ถ้าคุณดูการตั้งแถวญาติโยมที่วัดพระธรรมกายจะเหมือนการจัดแถวของพรรคนาซีไม่มีผิด  ความท้าทายคือการทำอย่างไรให้คนที่ไม่ได้ฝึกวิชาทหารยืนเรียงแถวได้แบบนั้น”

อย่างไรก็ตามข้อมูลนี้ไม่ปรากฏในเอกสารอื่นใดนอกจากคำบอกเล่าของนายแพทย์มโนนี้เท่านั้น ขณะที่พระมหาสมชายอธิบายเรื่องนี้แก่ผมเพียงว่า โครงสร้างที่เห็นในปัจจุบันเกิดจาก “ประสบการณ์” ที่ต่อยอดกันมา และมีที่มาจาก “ทรัพยากรคน” ซึ่งมีอุดมการณ์ร่วมกัน

นายแพทย์มโนสรุปการปกครองและบริหารวัดพระธรรมกายว่า “นี่คือการบริหาร ‘ศาสนชุมชน’ ที่ขยายได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด”

ธรรมะมาร์เกตติง
Dhamma Marketing

“พุทธศาสนาเป็นบริษัท…ผลิตสินค้ายอดเยี่ยม แต่มาร์เกตติงไม่ดี”

พระภาวนาวิริยคุณ (เผด็จ ทตฺตชีโว)
รองเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย
นิตยสาร สารคดี, มิถุนายน ๒๕๒๙

 

เป็นที่รู้กันว่าวัดพระธรรมกายโดดเด่นในการใช้วิธีทางการตลาดชักจูงคนเข้าวัดและเรี่ยไรเงินบริจาค

กิจกรรมของวัดที่ผมเห็นตลอดปี ๒๕๕๖ อาทิ “ธุดงค์ธรรมชัย” ที่นำพระจำนวนมากมาเดินธุดงค์ในเมือง การตักบาตรพระหมื่นรูปตามเมืองใหญ่ ระบบทำบุญออนไลน์ที่ “ทำบุญง่าย ๆ แค่ปลายนิ้ว” ผ่านเครื่องรับบริจาคอัตโนมัติด้วยบัตรเดบิตธนาคารกรุงไทย หรือผ่านระบบอินเทอร์เน็ตที่โฆษณาว่า “ง่าย สะดวก ปลอดภัย ไม่ตกบุญ” ฯลฯ ล้วนเป็นการเผยแผ่แนวใหม่ที่สังคมไทยไม่คุ้นชิน

ผมได้รับคำปฏิเสธจากนักวิชาการด้านการตลาดถึงสามท่าน เมื่อขอให้ช่วยวิเคราะห์วิธีเผยแผ่ธรรมะและเรี่ยไรเงินของวัดพระธรรมกาย ทุกคนให้เหตุผลว่า “ไม่อยากยุ่ง” และ “เรื่องนี้ละเอียดอ่อน” ทั้งยังไม่มีการตอบรับจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติเรื่องการขอความเห็นถึงวิธีการเผยแผ่ของวัดพระธรรมกายแต่อย่างใด

ผมจึงยังไม่ได้คำอธิบายอย่างเป็นระบบจากผู้เชี่ยวชาญด้านนี้โดยตรง

อย่างไรก็ดีสิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ถ้าสืบสาวจากเอกสารหลักฐาน ครั้งแรกที่วัดพระธรรมกายแสดงแนวคิดการใช้วิธีทางการตลาดมาดำเนินกิจการอย่างชัดเจน คือการส่งแผนการตลาดในนาม “ศูนย์ประชาสัมพันธ์ มูลนิธิธรรมกาย” เข้าแข่งขันโครงการ “ประกวดผลงานการตลาดดีเด่น” ครั้งที่ ๓ ที่คณะพาณิชย-ศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย จัดขึ้นเมื่อปี ๒๕๒๙-๒๕๓๐ โดยผลการประกวด วัดพระธรรมกายคว้ารางวัล “๑ ใน ๑๙ แผนสุดยอดการตลาด” ไปครอง

พระมหาสมชายอธิบายกรณีนี้ว่า วัดตั้งใจให้เป็น “สีสัน” แต่เมื่ออ่านแผนจะพบ “ความจริงจัง” ที่ประกาศว่าทำเพื่อ “การฟื้นฟูพระพุทธศาสนา ด้วยเจตนาที่จะทำให้ประชาชนเห็นคุณค่าของการปฏิบัติธรรมอันจะนำมาซึ่งความสุขที่แท้จริงของสังคม” และเปิดเผยมุมมองว่า “พระพุทธศาสนาคือคำตอบทั้งหมด” ที่ทำให้ไทยเป็นชาติมานานและแก้ปัญหาสังคมได้

ในแผนการตลาดระบุว่า “คู่แข่ง” ของวัด คือ “อบายมุข” ผลิตภัณฑ์คือ “ธรรมะ” ซึ่ง “เป็นสินค้าประเภทหนึ่ง  ส่วน “ลูกค้า” มีสองกลุ่ม คือ “บุคคลทั่วไป” และ “วัยรุ่น” เปิดเผยการวางกลยุทธ์ว่าจะดำเนินการผ่านสถานที่ เนื้อหาคำสอน การประชาสัมพันธ์ และกิจกรรมต่าง ๆ  ในแผนยกตัวอย่างว่า “สถานที่” จะเน้นความสะอาดร่มรื่น คนเข้าวัดแต่งชุดขาว จัดบริการพาหนะรับ-ส่ง อาหาร การรักษาพยาบาล และให้บริการยืมสื่อธรรมะฟรี

ส่วน “สินค้า” แบ่งเป็น “คำสอนด้านปฏิบัติสมาธิ” สอนโดยเจ้าอาวาส “คำสอนหลักธรรมทั่วไป” สอนโดยรองเจ้าอาวาส แผนงานนี้ยังยกตัวอย่างการชวนคนมาวัดวันอาทิตย์และวันสำคัญ โปรแกรมอบรมธรรมะสำหรับเยาวชน ชวนสาธุชนในต่างจังหวัดให้ปักกลดธุดงค์ในจังหวัด ชวนพระภิกษุสงฆ์วัดอื่นมาร่วมในวันสำคัญต่าง ๆ ฯลฯ

วิธีจัดกิจกรรมเริ่มจากวางนโยบาย วางแผนและกระจายหน้าที่ ขั้นที่ ๒ ทำให้คน “ซาบซึ้งและประทับใจในการมาร่วมงาน”  เมื่อมีพิธีกรรมต้อง “เกิดบรรยากาศศักดิ์สิทธิ์” ให้ทุกคนมีส่วนร่วม ก่อนจะปิดด้วยการเทศน์ที่มุ่งให้นำคำสอนไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ จบงานจะจัดประเมินผลงานทุกครั้ง

สรุปรวมคือใช้กลยุทธ์การตลาด 3P สถานที่ (place) สินค้า (product) และจัดรายการส่งเสริมการขายและประชาสัมพันธ์ (promotion)

มติชนสุดสัปดาห์ ปักษ์แรก เดือนมกราคม ๒๕๔๒ วิเคราะห์และมองพัฒนาการด้านการตลาดของวัดในทศวรรษ ๒๕๔๐ ว่า หากวัดเป็นบริษัทจะมีสัญลักษณ์คือ “ลูกแก้ว” กับคำขวัญ “เราเกิดมาเพื่อสร้างบารมี” ขาย “บุญ” ด้วยระบบขายตรง กำหนดยอดบุญว่าใครควรขายได้เท่าไร โดยจัดตั้งทีมขายย่อย ๆ ขึ้นหลายทีม  ยอดขายของลูกทีมจะกลายเป็นยอดของหัวหน้าแต่ละทีม จัดประชุมกลุ่มให้กำลังใจกันและกัน ปรับความคิดว่าการบอกบุญไม่ใช่ “เรี่ยไร” แต่เป็นการ “ให้”

แผนการตลาดของวัดสร้างความสนใจให้สังคมไทยมาตลอด ที่โดดเด่นในยุคแรกคืออัลบัม “เมื่อตะวันเรือง” ของ “กลุ่มศิลปินบัตเตอร์ฟลาย” ที่วางตลาดในปี ๒๕๓๑ โดยมีเพลงเด่นคือ “ตะวันเรือง” เนื้อหาเน้น “ดวงธรรม” เปรียบดั่งดวงตะวันนำพาชีวิตให้พ้นความมืด  ปกเทปเพลงเป็นรูปตะวันบนพื้นขาว ปกในเป็นนักดนตรีแต่งชุดขาว

นัยทั้งหมดของอัลบัมนี้สื่อถึง “วิชชาธรรมกาย” โดยวงบัตเตอร์ฟลายทำดนตรี เกษมสุข ภมรสถิต เขียนเนื้อร้อง ใช้แนวคิดการเผยแผ่ธรรมะผ่านเพลงซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่มากสำหรับสังคมไทยยุคทศวรรษ ๒๕๓๐  ในระยะเดียวกันยังผลิตสื่ออื่น อาทิ “วารสาร กัลยาณมิตร” รายเดือน รายการวิทยุ สปอตโฆษณาในวันสำคัญต่าง ๆ ตามวาระ

ที่ฮือฮาในยุคต่อมาคือโครงการ “มหาธรรมกายเจดีย์” ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี ๒๕๓๗ ก่อนสร้างจริงในทศวรรษ ๒๕๔๐ สร้างเสร็จเมื่อเดือนเมษายน ๒๕๕๔  คนจำนวนมากมองว่าเจดีย์นี้มีรูปทรงคล้าย “จานบิน” แต่เอกสาร “เจาะลึกวัดพระธรรมกาย” ที่วัดจัดทำเพื่อชี้แจงข้อสงสัยต่าง ๆ ระบุว่าการออกแบบนำแนวคิดมาจาก “สาญจี” สถูปโบราณของอินเดีย และอธิบายว่ามหาธรรมกายเจดีย์มีขนาดเล็กกว่าพระปฐมเจดีย์ แต่มีจุดเด่นเรื่องพื้นที่ใช้สอยและลานโดยรอบที่จุได้ ๑ ล้านคน

อย่างไรก็ตามการสร้างเจดีย์องค์นี้ต้องใช้เงินมหาศาล โดยการระดมรับบริจาคหลายรูปแบบ ที่เป็นที่กล่าวขานมากที่สุดคือการชักชวนให้สร้างพระประจำตัว ๑ ล้านองค์ องค์ละ ๑ หมื่นบาทบรรจุในเจดีย์ ส่งผลให้วัดตกเป็นข่าวตั้งแต่ปลายปี ๒๕๔๑ ถึงกลางปี ๒๕๔๒ หลังลงโฆษณาปาฏิหาริย์ “อัศจรรย์ตะวันแก้ว” โดยเล่าเหตุการณ์เหนือธรรมชาติในงานสถาปนาเจดีย์จนวัดถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ส่งผลให้ทางการเข้ามาตรวจสอบโครงการและทรัพย์สินเจ้าอาวาส รวมถึงวิธีเรี่ยไรบุญทั้งหมด สื่อมวลชนหลายสำนักรายงานข่าวเปิดเผยว่าเจ้าอาวาสมีธุรกิจอื่นอีกหลายแขนง มีความไม่ชอบมาพากลในการถือครองทรัพย์สิน และหยิบยกเรื่องคนทำบุญจนหมดตัวหลายกรณีขึ้นมา

ปัจจุบันแม้เหตุการณ์จะผ่านมาถึง ๑๖ ปี พระมหาสมชายยังคงยืนยันว่าปาฏิหาริย์ “อัศจรรย์ตะวันแก้ว” เป็นเรื่องที่วิทยาศาสตร์อธิบายไม่ได้  ส่วนข้อหาเรี่ยไรเงินเกินพอดีเป็นการโจมตีวัดเฉพาะจุด “ถ้าวัดสอน คนมาวัดต้องจนหมด แต่นี่มาแล้วรวย เหมือนมีโรงเรียนแห่งหนึ่งมีเด็กป่วย จะบอกว่าเด็กป่วยเพราะโรงเรียนสอนจนป่วยก็ไม่ได้ จะได้ภาพที่ไม่ตรง โยมรู้ไหมว่าในซองทำบุญมีธนบัตร ๒๐ และ ๕๐ บาทมากที่สุด คนทำบุญเป็นล้านมีไม่ถึง ๑ เปอร์เซ็นต์  เรื่องระดมทุนก็ต้องยอมรับว่าเมื่อขยายงานก็มีค่าใช้จ่าย ตรงนี้ก็มาจากญาติโยม วัดเป็นของญาติโยม สร้างแล้วใช้ พระสงฆ์ดูแลให้มีกองบุญประเภทต่าง ๆ  การมีระบบบัตรเครดิตเป็นท่าทีวัดที่เปิดกว้างเรื่องเทคโนโลยี  สิ่งเหล่านี้เป็นของกลาง อยู่ที่จะใช้ไปทางให้คุณหรือโทษ”

คัคกิ่งรักส์ คิคคิคสะระณัง (เมจิ) ดาราสาวผู้มาวัดพระธรรมกายเป็นประจำโดยสังกัด “สายธรรมภาค ๘” เล่าว่าส่วนใหญ่วัดพระธรรมกายสามารถบริหารจัดการได้ดี และตัวเธอเองได้ประโยชน์จากการนั่งสมาธิมาก “เราได้เรียนรู้ตัวเราเอง เมื่อไรที่นิ่งจะเกิดการตื่นรู้ขึ้นมา  ที่นี่มีพี่เลี้ยงประกบหลังปฏิบัติธรรม เขาถามเมตลอดว่ารู้สึกอย่างไร ทำให้เราคิดและตัดสินใจอะไรที่เป็นบวกมากขึ้น  เราเริ่มมีระเบียบ เกร็งบ้างในระยะแรกที่มาวัด แต่พอมาดูภาพจากมุมสูงเราก็เข้าใจ  บางครั้งเราต้องการสิ่งสวยงามให้คนได้ดูและอยากมาวัด  ถ้าไม่เข้าใจจะไม่ชอบเรื่องพวกนี้  อยากให้มาสัมผัส อย่าคิดไปเอง เราทำอะไรต้องตัดสินใจว่าโอเคไหม ทำบุญแล้วไม่มีจะกินไปเครียด คงไม่ได้  หลักคำสอนที่คนไม่เห็นด้วย เราเข้าใจ แต่อยากให้มองภาพรวมว่าวัดสอนให้คนยึดศาสนาดีกว่าทำอย่างอื่น  ตอนนี้ธรรมกายต่างจากเดิมมาก มีเครือข่าย มีคนมีความรู้ที่คอยอธิบาย เมคิดว่านี่ไม่ธรรมดาเลย”

อย่างไรก็ตามก่อนลากัน เธอยอมรับว่าเคยพบพฤติกรรมเรี่ยไรเกินพอดีบ้างกับ “หัวหน้ากลุ่ม” บางคน “เมจิเคยไม่ไปวัดช่วงหนึ่งเพราะโดน ‘หัวหน้าภาค’ ขอบริจาคเท่านั้นเท่านี้ซึ่งเราไม่ชอบ  เมื่อเรารายงานวัด ตอนหลังก็ไม่เกิดขึ้นอีก  เรื่องนี้ขึ้นกับแต่ละคนมากกว่า สบายใจก็ห้ามไม่ได้  หลายคนก็เทหมดหน้าตัก ทำงานให้วัดอยู่กับวัดก็มี”

ปี ๒๕๕๖ กิจกรรมนอกวัดที่เริ่มจัดมาตั้งแต่ปี ๒๕๕๕ และสร้างเสียงวิจารณ์พอสมควร คืองาน “ธุดงค์ธรรมชัย” ที่นำพระเข้ามาธุดงค์ในเมืองนับพันรูป โดยมีญาติโยมนำดอกไม้มาโปรยต้อนรับจนต้องปิดถนนหลายสาย

พระมหาสมชายระบุเหตุผลที่ต้องจัดกิจกรรมลักษณะนี้ว่าเป็นงานเชิงรุก “วัดไม่รอญาติโยมมาวัด จะก้าวไปหา แนวคิดนี้มาจากพระพุทธเจ้าเมื่อทรงเริ่มเผยแผ่ศาสนา คนรู้จักน้อยมาก ๕ เดือนหลังตรัสรู้เพิ่งมีพระอรหันต์ในโลก ๖๑ รูป ทรงประชุมอรหันต์ชุดแรกตรัสให้ไปประกาศธรรม” และอธิบายต่อว่า “กิจกรรมนี้ปลุกจิตสำนึกคน รถติดมีแน่ แต่การแข่งฟุตบอล รถก็ติดเช่นกัน จะห้ามกิจกรรมทางธรรมเลยหรือ  พระเดินผ่าน ๒ ชั่วโมง คนมา ๑ ล้านคน บางบ้านพาลูกมาไหว้ เด็กเห็นพระ ที่ตามมาคือกระตุ้นจิตสำนึกเรื่องพุทธศาสนา นึกถึงการปฏิบัติธรรมและทำความดี”

ขณะที่นายแพทย์มโนให้มุมมองอีกด้านว่านี่คือ “การเคลื่อนคน เมื่อมีมวลชนต้องเคลื่อนย้าย เหมือนทหารที่ต้องฝึก  หลักบริหารชุมชนง่าย ๆ คือต้องมีกิจกรรมร่วมกัน การเคลื่อนในเมืองศูนย์กลางการปกครองคุณต้องรู้เส้นทาง รู้สภาพแสง ประสานงาน ถ่ายรูปอย่างไรให้ยิ่งใหญ่  กิจการนี้สร้างความปลอดภัยให้วัดเพราะเป็นการแสดงพลัง กำราบศัตรู ทำให้นักการเมืองต้องยอมร่วมงานโดยไม่กล้าขัดขืน”

ดูในเว็บไซต์ dmc.tv ซึ่งเป็นช่องทางหลักของการประกาศกิจกรรมต่าง ๆ จะพบว่าตอนนี้มีโครงการทั้งในและนอกวัดตลอดทั้งปี โดยปรับเนื้อหาของโครงการไปตามวาระ  ล่าสุดเมื่อเกิดกระแสอาเซียนฟีเวอร์ วัดก็มีโครงการ “บรรพชาสามเณรมัธยมปลาย ต้นแบบสู่ AEC” เพื่อตอบรับอย่างทันท่วงที

แผนการตลาดยังนำมาใช้กับงานประชาสัมพันธ์  ปัจจุบันวัดพระธรรมกายมีสื่อหลายแขนง ทั้งทีวีดาวเทียม วิทยุ นิตยสาร เว็บไซต์ เฟซบุ๊ก และกิจกรรมนอกวัดที่จัดร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ นายแพทย์มโนเล่าว่าช่วงแรกเรื่องนี้ได้รับการวางรากฐานโดยสร้าง “ธรรมกายมีเดียเซ็นเตอร์” (DMC) เป็นหน่วยงานหลัก ก่อนเปลี่ยนเป็น “ธรรมะมีเดียเซ็นเตอร์” หลังเริ่มปรากฏข่าวไม่ค่อยดี อาทิ เรื่องการเรี่ยไรเงิน โดยมีบัณฑิตคณะครุศาสตร์ด้านไอทีและจัดการศึกษาทางไกลเป็นผู้บุกเบิก

“ความประสงค์คือต้องเผยแผ่วิชชาธรรมกายไปทั่วโลก ครั้งแรกเราถ่ายทอดสดเสียงหลวงพ่อธัมมชโยในงานบูชาข้าวพระไปสหรัฐอเมริกา ด้วยงบประมาณ ๕,๐๐๐ บาท ใช้เวลา ๕ ชั่วโมง” อย่างไรก็ตามต่อมาความขัดแย้งกับเจ้าอาวาสทำให้นายแพทย์มโนต้องออกจากวัดและไม่ได้จับงานด้านนี้อีก

ผมตามหาจิ๊กซอว์ที่หายไปโดยสอบถามพระมหาสมชายก็ได้รับข้อมูลว่า งานสื่อพัฒนาอย่างค่อยเป็นค่อยไปตั้งแต่เรื่องพื้นฐาน เช่น โปสเตอร์ วารสาร ฯลฯ  มีจุดเปลี่ยนใหญ่ในปี ๒๕๔๕ หลังเกิดเสียงเรียกร้องว่าการปฏิบัติธรรมวันอาทิตย์ไม่เพียงพอ  ขั้นต่อมาจึงเริ่มถ่ายทอดเสียงเจ้าอาวาสขณะเทศน์ตอน ๑๙.๓๐ น. ผ่านโทรศัพท์

“ต่อมามีคนเสนอให้ใช้อินเทอร์เน็ตดาวเทียมที่ได้ทั้งภาพและเสียง ผู้รับต้องเสียค่าติดตั้งจาน ๒ หมื่นบาท จ่ายเดือนละ ๑,๐๐๐ บาท ญาติโยมก็ใช้วิธีรวมกันดู  ต่อมาก็ทำผ่านจานเคยู-แบนด์ที่มีขนาดเล็กลง ทางวัดสั่งมาหมื่นจาน ราคาถูกลงเหลือจานละ ๙,๕๐๐ บาท ไม่ต้องจ่ายรายเดือน การตอบรับดีมาก ไม่นานยอดถึงแสนจาน  ต่อมาเราได้จานดาวเทียมเกาหลีใต้จานละ ๔,๐๐๐ บาท  ส่วนงานแอนิเมชันธรรมะก็มีคนมาสอนผลิต และเราก็ฝึกคนของเราเอง พระและโยมนี่แหละเป็นคนทำ เรื่องสื่อเรามีสำนักสื่อสารองค์กรรับผิดชอบหน่วยงานเดียว แต่ช่วยกันด้วยหัวใจ ถ้าจ้างคนนอกวัดคงมีค่าใช้จ่ายสูงมาก นี่มีแค่พระและอาสาสมัครที่รับหัวละ ๓,๐๐๐ บาทต่อเดือนเท่านั้น”

เรื่องที่พระมหาสมชายเล่ามานี้ คือกำเนิดของ DMC TV “ทีวีช่องคุณธรรม” ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี ๒๕๔๔ ออกอากาศตลอด ๒๔ ชั่วโมงโดยมีเว็บไซต์ dmc.tv เป็นอีกช่องทางในการสื่อสารและเผยแพร่กิจกรรมของวัดร่วมกับสื่ออื่น ๆ

หากติดตามเนื้อหาที่ส่งผ่านสื่อส่วนมากของวัด จะพบว่าเน้นและให้ความสำคัญเรื่องการสะสมบุญ รวมถึงวันสำคัญทางพุทธศาสนา  สิ่งที่ต่างจากวัดอื่น คือมีวันเกี่ยวกับ “มหาปูชนียาจารย์” ผู้ค้นพบวิชชาธรรมกาย คือหลวงพ่อสด และ “ผู้สืบทอด” อย่างแม่ชีจันทร์ ขนนกยูง ซึ่งยกสถานะเป็นบุคคลสำคัญของวัดที่ญาติโยมควรรู้จัก

นายแพทย์มโนวิเคราะห์ว่า ล่าสุดงานประชาสัมพันธ์ของวัดก้าวหน้าไปอีกขั้น เพราะ “ส่วนหนึ่งไม่เผยแผ่ด้วยงบประมาณวัด แต่ทำผ่านงบประมาณราชการ คือผ่านสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติและหน่วยงานต่าง ๆ ที่เข้ามาร่วมจัดงานกับวัดพระ-ธรรมกาย”

ทีมงาน DMC TV ทีวีดาวเทียมของวัดมีลักษณะการทำงานและเครื่องมือไม่แตกต่างจากสื่อมวลชนอาชีพนอกวัด

ธรรมกายสยายปีก

 

“ปัจจุบันวัดพระธรรมกายเป็นองค์กรที่เข้มแข็งที่สุดในประเทศ ไม่มีใครหยุดยั้งได้ เป็นองค์กรศาสนาระดับนานาชาติที่ไม่แพ้สำนักวาติกัน คือมีอิทธิพลกับรัฐบาลด้วย”

 

นายแพทย์มโน เลาหวณิช
อาจารย์ภาควิชาการแพทย์บูรณาการ
วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
อดีต “พระมโน เมตตานนฺโท” แห่งวัดพระธรรมกาย

www.dhammakaya.net ของมูลนิธิธรรมกายระบุว่า มกราคม ๒๕๕๗ วัดมีศูนย์ปฏิบัติธรรมและสาขา ๕๐ แห่งทั่วประเทศ  ในต่างประเทศ ศูนย์แห่งแรกตั้งที่รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เปิดในปี ๒๕๓๕ ก่อนขยายเป็น ๖๖ แห่งใน ๒๐ ประเทศทั่วโลก ครอบคลุมทุกทวีป ยกเว้นอเมริกาใต้ ขั้วโลกเหนือ และขั้วโลกใต้

วัดยังมี “สถานที่ปฏิบัติธรรมนอกสถานที่” สามแห่งซึ่ง www.dokmaiban ของ “โครงการปฏิบัติธรรมพิเศษดอกไม้บาน” ระบุว่าอยู่ที่ สวนพนาวัฒน์ จังหวัดเชียงใหม่ สวนป่าหิมวันต์ จังหวัดเลย และสุดท้ายคือที่ World Peace Valley เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา

“การขยายไปต่างประเทศถือว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้น สาขาแต่ละแห่งเกิดด้วยความบังเอิญ ญาติโยมขอเราก็ตั้ง”

พระมหาสมชายอธิบายก่อนระบุว่า ในยุคแรกเมื่อไปนอกประเทศจะเน้นกลุ่มเป้าหมายคนไทยเป็นหลักก่อนที่คนประเทศนั้น ๆ จะสนใจจึงสร้างกิจกรรมรองรับ อาทิ อบรมธรรมทายาทนานาชาติสี่ภาษา อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น และฝรั่งเศส  “เราจะให้พระและบุคลากรที่ไปประจำเรียนภาษาด้วย ผ่านมา ๒๐ ปี ตอนนี้เรามีบุคลากรอบรมธรรมะเป็นภาษาต่างประเทศมากพอสมควร”

สำหรับงานในประเทศ จากการสังเกตงานแถลงข่าวและงานนอกสถานที่ของวัดหลายครั้ง ผมพบว่ามีหน่วยงานรัฐและเอกชนจำนวนมากสนับสนุนการจัด อาทิ “โครงการตักบาตรพระ ๑ หมื่นรูป Central World ปีที่ ๓ ถวายเป็นพุทธบูชา เข้าพรรษา ๒๕๕๖” เมื่อ ๘ กันยายน ๒๕๕๖ มีกองบัญชาการตำรวจนครบาล สำนักงานเขตปทุมวัน และสำนักงานเขตลุมพินี เป็นองค์กรร่วมจัด  ตำแหน่งที่ปรึกษาปรากฏเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐ คือ ประธานคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร  ยังไม่นับแรงหนุนจากภาคเอกชนหลายบริษัท นักธุรกิจใหญ่ อาทิ อนันต์ อัศวโภคิน ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ บริษัทแลนด์แอนด์เฮาส์ จำกัด (มหาชน) บุญชัย เบญจรงคกุล นักธุรกิจสื่อสารชื่อดัง

นอกจากนี้วัดยังมีสายสัมพันธ์กับพรรคการเมืองใหญ่อย่างพรรคเพื่อไทย  ในวงการสงฆ์ก็มีสายสัมพันธ์อันแนบแน่นเป็นพิเศษกับกรรมการมหาเถรสมาคมหลายรูป  สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระ-สังฆราชองค์ปัจจุบันก็เป็นพระอุปัชฌาย์หลวงพ่อธัมมชโย โดยสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์เคยกล่าวถึงความสัมพันธ์ระหว่างวัดปากน้ำภาษีเจริญกับวัดพระธรรมกายในพิธีประดิษฐานรูปหล่อทองคำพระมงคลเทพมุนี (สด จนฺทสโร) ซึ่งอัญเชิญจากวัดพระ-ธรรมกายมาวัดปากน้ำฯ ว่า “วัดปากน้ำกับวัดพระธรรมกายเป็นวัดพี่วัดน้อง หรือเสมือนหนึ่งว่าเป็นวัดเดียวกัน มีอะไรก็ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน” (บทความ “ทบทวนบุญ ๔”, วารสาร อยู่ในบุญ ฉบับเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๕)

ช่วงทศวรรษที่ ๒๕๓๐ และ ๒๕๔๐ ที่วัดถูกตรวจสอบเข้มข้น ก็มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าสายสัมพันธ์ที่วัดมีกับกรรมการมหาเถรสมาคม ส่งผลให้วัดไม่ถูกมหาเถรสมาคมดำเนินมาตรการลงโทษหนัก เป็นแต่เพียงออก “คำแนะนำสี่ข้อ” ให้วัดปฏิบัติตาม ทั้งที่สมเด็จพระสังฆราชเคยมีพระลิขิตวินิจฉัยว่าเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายนั้นอาบัติปาราชิก  ส่วนการดำเนินคดีต่าง ๆ (ดูล้อมกรอบ “คดีเด็ดธรรมกาย”) มาจบลงในปี ๒๕๔๙ เมื่อสำนักงานอัยการสูงสุดถอนฟ้องทั้งหมด และคดีที่วัดฟ้องสื่อนั้น สุดท้ายสื่อที่ลงข่าวเชิงลบก็ต้องลงประกาศขอโทษกับเรื่องที่เกิดขึ้น

ไม่กี่ปีที่ผ่านมา การจัดกิจกรรมของวัดร่วมกับหน่วยงานของรัฐยังปรากฏเป็นระยะ อาทิ กลางปี ๒๕๕๖ สุลักษณ์ ศิวรักษ์ นักวิชาการอาวุโสออกมาวิจารณ์โครงการ “สัมมนาเชิงปฏิบัติธรรมโรงเรียนดีศรีตำบลกับโรงเรียนในฝัน” ของสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ที่นำครู ๗ แสนคนมาเข้าอบรม โดยหนึ่งในวิทยากรคือ พระมหาสมชาย  สุลักษณ์ชี้ว่าวัดยังคงมีปัญหาเรื่องบิดเบือนคำสอนทางพุทธศาสนา แต่เรื่องนี้ก็ดูเหมือนจะเงียบหายไปในที่สุด

พระมหาสมชายอธิบายว่าเกิดจากวัด “อ่อนประชาสัมพันธ์ ทำให้สื่อสารได้ไม่เต็มที่ สิ่งที่วัดทำเป็นสิ่งที่สังคมต้องการ เราห่วงลูกหลานที่ตกอยู่ในสภาพศีลธรรมเสื่อม ถ้ามีคนช่วยทำให้ดีขึ้น ทุกคนต้องพอใจ” และเสนอว่า “อย่าเสียเวลามาบั่นทอนกันเองแล้วทำให้ข้าศึกตัวจริง คืออบายมุขรุกเข้ามา ตอนนั้นหันมาดูอีกที พุทธศาสนาอาจเหลือที่ยืนน้อยมากในสังคมไทย”

นายแพทย์มโนชี้ว่านี่คือความสำเร็จของการมีอิทธิพลต่อภาครัฐ “ยุทธศาสตร์นี้เจ้าอาวาสเป็นผู้คิดขึ้น ตอนผมอยู่วัด ผมเคยบอกเจ้าอาวาสว่าเราต้องยุ่งการเมือง ไม่อย่างนั้นการเมืองจะยุ่งกับเรา เพราะเรามีมวลชน  ผมเชื่อว่าตอนนี้ไม่มีจังหวัดใดที่วัดพระธรรมกายไม่มีที่ดิน  วัดมีทุนและคนมหาศาล ชอบพรรคการเมืองไหน พรรคนั้นมีสิทธิ์เป็นรัฐบาล  นี่เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่วัดแห่งหนึ่งมีอิทธิพลกับทิศทางของประเทศได้”

 

อนาคต “พุทธประชานิยม”

 

“…วัดพระธรรมกายกำลังเป็นปัจจัยก่อความเปลี่ยนแปลงในวงการสงฆ์ไทย ไม่น่าแปลกใจเลยที่ชาววัดหลายคนมองว่าสิ่งที่ทำกำลังนำพุทธแบบไทย ๆ ไปสู่ศตวรรษที่ ๒๑”

รศ. ดร. รอรี แมกเคนซี (Rory Mackenzie)
นักวิชาการด้านศาสนา
ข้อความจาก “New Buddhist movements in Thailand”
วิทยานิพนธ์ปริญญาเอก University of Sunderland

หอพระมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ปลายปี ๒๕๕๖

ชมรมพุทธศาสนาสองชมรม คือ “กลุ่มพุทธธรรมกรรมฐาน” กับ “ชุมนุมศึกษาพุทธศาสตร์และประเพณี” ตั้งอยู่คนละปีกของหอพระ ในห้องตกแต่งต่างกันราวอยู่คนละโลก นับเป็นภาพที่แปลกตาสำหรับอดีตนักกิจกรรมอย่างผมซึ่งสมัยเรียนมหาวิทยาลัยรับรู้มาตลอดว่าในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งจะมีชมรมพุทธเพียงชมรมเดียว

บนหิ้งพระในห้องกลุ่มพุทธธรรมกรรมฐานประดิษฐานพระพุทธรูปที่มีพุทธศิลป์ซึ่งพบเห็นได้ทั่วไปเป็นพระประธาน ผนังห้องประดับภาพเกจิอาจารย์สำคัญ อาทิ หลวงปู่มั่น หลวงปู่ชา มีชั้นหนังสือธรรมะอยู่หลังห้อง  ส่วนห้องชุมนุมศึกษาพุทธศาสตร์และประเพณีประดิษฐานพระพุทธรูปลักษณะเดียวกับพระประธานในพระอุโบสถวัดพระธรรมกายซึ่งลดทอนรายละเอียดด้านพุทธศิลป์ลงจนดูแปลกตา มี “ลูกแก้ว” วางอยู่ตรงมุมหนึ่งของห้อง บนผนังห้องประดับภาพแม่ชีจันทร์ ขนนกยูง และหลวงพ่อสดวัดปากน้ำฯ “มหาปูชนียาจารย์” ของวัดพระธรรมกาย

ทิพวรรณ กานต์เจนภพ นักศึกษาชั้นปีที่ ๓ คณะนิติศาสตร์ ประธานกลุ่มพุทธธรรมกรรมฐานบอกว่า กลุ่มของเธอตั้งมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ “ปีนี้เป็นปีที่ ๘ เรานับถือพระสงฆ์สายพระป่า สายธรรมยุต สถานะคือกลุ่มอิสระ กลุ่มพุทธธรรมกรรมฐานในมหาวิทยาลัยแยกตัวออกมาหลังถูกวัดพระธรรมกายครอบงำ เรามีเครือข่ายกลุ่มพุทธธรรมกรรมฐานระหว่างมหาวิทยาลัยที่เริ่มงานมาได้ ๔ ปี พวกเราต้องการเปิดพื้นที่”

“พื้นที่” ที่ทิพวรรณพูดถึง คือพื้นที่การทำกิจกรรมสำหรับผู้นิยมแนวปฏิบัติอื่นนอกเหนือจากของธรรมกายที่ยึดครองชมรมพุทธหลักไว้  เธอเล่าว่าในธรรมศาสตร์ ชุมนุมศึกษาพุทธศาสตร์ฯ ซึ่งเป็นชมรมหลักได้รับงบประมาณจากมหาวิทยาลัยทุกปี กิจกรรมของสองชมรมจะต่างกันอย่างสิ้นเชิง อาทิ พระสงฆ์ที่นิมนต์จะมาจากคนละวัด คนละสาย “กิจกรรมหลักของมหาวิทยาลัยอย่างงานไหว้ครู ชุมนุมศึกษาพุทธศาสตร์ฯ จะผูกขาดทำ แต่เราไม่ใช่ศัตรูกัน เคยร่วมกิจกรรมด้วยกัน แต่เป็นคนละส่วนงานที่เอื้อกันได้และไม่ขัดกับแนวปฏิบัติของแต่ละฝ่าย เรามีกำลังคนและงบประมาณน้อยกว่า ซึ่งต่างจากชุมนุมศึกษาพุทธศาสตร์ฯ ที่มีปัจจัยสนับสนุนจากวัดพระธรรมกาย”

ขณะที่ประธานชุมนุมศึกษาพุทธศาสตร์ฯ ศุภฤกษ์ ชุมแวง-วาปี นักศึกษาชั้นปีที่ ๔ คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา เล่าว่า ชมรมฯ มีสมาชิกตามทะเบียนราว ๒๐๐ คน  การรับกิจกรรมจากวัดพระธรรมกายมาทำเพราะเป็นกิจกรรมที่ดี “เรื่องงบประมาณวัดก็อุดหนุนบ้าง แต่เงินส่วนมากได้จากมหาวิทยาลัยและสมาชิก  ที่คนมาเข้าชมรมนี้เพราะรู้สึกเหมือนบ้านอีกหลัง เราไม่บังคับว่าคุณต้องมา เราไปมาหาสู่กับกลุ่มพุทธธรรมกรรม-ฐาน อยากให้มองว่าชุมนุมศึกษาพุทธศาสตร์ฯ เป็นแสงสว่างในมหาวิทยาลัย ถ้าไม่มีจะเป็นอย่างไร สุดท้ายก็คือศาสนาพุทธด้วยกันทั้งนั้น”

ประธานทั้งสองกลุ่มกิจกรรมพูดตรงกันว่าธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยที่พุทธศาสนิกชนคนละสายอยู่ร่วมกันได้ ขณะที่มหาวิทยาลัยอื่นดูเหมือนมีปัญหาแย่งชิงการนำระหว่างพุทธสองกลุ่ม

ภาพในธรรมศาสตร์อาจจำลองภาพสังคมไทยที่มีการตีความศาสนาขึ้นมาหลายสำนักได้ส่วนหนึ่ง

ช่วงที่เข้าออกวัดพระธรรมกายและสัมภาษณ์ผู้เกี่ยวข้อง เบื้องหน้าสิ่งก่อสร้างขนาดยักษ์หลากหลายประเภท  ผมพยายามหาคำตอบว่าปรากฏการณ์ธรรมกายมีที่มาอย่างไร และเราควรมองสถานการณ์นี้อย่างไร

ความเห็นที่น่าสนใจหนึ่งมาจาก วิจักขณ์ พานิช นักเขียนผู้สนใจศึกษาประวัติศาสตร์ศาสนา เขาสรุปปรากฏการณ์นี้ว่า “ไม่เคยมีในสังคมไทย ธรรมกายเป็นองค์กรแรกที่ใช้เครื่องมือทุกอย่างของโลกสมัยใหม่เผยแผ่ความเชื่อ  ปัญหาอยู่ที่ว่าอะไรมีปัญหามาก่อน เปรียบเหมือนการนับถือ ‘ผี’ ที่แทรกซึมจิตสำนึกคนไทยอยู่ก่อนแล้ว  ‘โครงสร้างคณะสงฆ์รัฐ’ ก็ครอบงำเสรีภาพในการเชื่อและตีความพุทธศาสนามาตลอด  เราเรียนมาและไม่เคยตั้งคำถามกับสิ่งนี้  สักพักคนรุ่นใหม่ก็ตั้งคำถามว่ามันมีแบบเดียวหรือ อยากไม่มีศาสนาและมีอิสระในการเชื่อและใช้ชีวิต  เมื่อเป็นแบบนี้ธรรมกายก็เข้ามาเป็นพันธมิตรกับโครงสร้างเก่าที่กำลังหมดสมัย เอาคำตอบของเขาเข้ามาผนวกกับคำตอบเดิม ประจวบกับโครงสร้างเก่าก็รู้ว่าสื่อสารกับคนรุ่นใหม่ไม่ได้ ผีตัวเก่ากับผีตัวใหม่ก็สร้างนวัตกรรมร่วมกันขึ้นมาอย่างที่เราเห็น”

ส่วนสังคมไทยจะวางตัว วางท่าที กระทั่งจัดการกับวัดพระธรรมกายอย่างไร

ผู้พิจารณาเรื่องนี้คือพลเมืองไทยทุกคนนั่นเอง

เอกสารประกอบการเขียน
กองบรรณาธิการมติชน. ผ่าอาณาจักร ๗๐,๐๐๐ ล้าน ธรรมกายธรรมโกย. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๔๒.
คณะกรรมาธิการ การศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร. รายงานกรณีวัดพระธรรมกาย. กรุงเทพฯ : สมาคมศิษย์เก่ามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๔๒.
ถวิล (บุญทรง) วัติรางกูล. ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จวัดพระธรรมกาย. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : ประดิพัทธ์, ๒๕๔๐.
นักรบกล้า [นามแฝง], ผู้เรียบเรียง. รู้จักวัดพระธรรมกาย. กรุงเทพฯ : บริษัท โอ. เอส. พริ้นติ้ง เฮ้าส์ จำกัด, ๒๕๕๓.
พระธรรมปิฎก (ป. อ. ปยุตฺโต). กรณีธรรมกาย บทเรียนเพื่อการศึกษาพระพุทธศาสนา และสร้างสรรค์สังคมไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๒๓. ม.ป.ท., ๒๕๔๒.
พระมหาวรัญญู วรญฺญู. จดหมายเหตุวัดปากน้ำ ค้นคว้าหามาได้จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์. กรุงเทพฯ : สมาคมศิษย์หลวงพ่อปากน้ำ ม.ส.จ., ๒๕๔๖.
มูลนิธิธรรมกาย. เจาะลึกวัดพระธรรมกาย. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : ประดิพัทธ์, ๒๕๔๑.
ระพีพรรณ ใจภักดี, ผู้เรียบเรียง. ยิ่งรู้จัก ยิ่งเคารพรักท่าน. พิมพ์ครั้งที่ ๓. ปทุมธานี : มูลนิธิธรรมกาย, ๒๕๔๙.
อภิญญา เฟื่องฟูสกุล. “ศาสนทัศน์ของชุมชนเมืองสมัยใหม่ ศึกษากรณีวัดพระธรรมกาย.” พุทธศาสน์ศึกษา ๕, ๑ (มกราคม-เมษายน ๒๕๔๑) : ๔-๘๘.
Mackenzie, Rory. New Buddhist movements in Thailand: toward an understanding of Wat Phra Dhammakaya and Santi Asoke. Routledge : Oxford, 2012.
Mano Mettanando Laohavanich. “Esoteric Teaching of Wat Phra Dhammakaya.” Journal of Bhuddhist Ethics, no. 19 (2012) : 482-513.