เรื่อง : วีระศักร จันทร์ส่งแสง
ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์

PAPERISTA เครื่องประดับของคนบ้ารัก (โลก)“งานของเราเป็นงานขายไอเดีย ขายฝีมือ ราคามันอยู่ที่ความใส่ใจ  เราทำแต่ละเม็ดต้องมีสมาธิ ถ้าไม่ใส่ใจลงไปก็หมุนออกมาเป็นเม็ดไม่ตรง”

เปรมวดี แก้วบุรี

“ไม่ชอบเลยพวกทำลายธรรมชาติ”

เจ้าของแบรนด์เปเปอร์ริสต้าสะท้อนเสียงของลูกค้ารายหนึ่งที่เคยเปรยใส่หูเธอ ด้วยสินค้าของเธอแลละม้ายเครื่องประดับที่ทำมาจากเปลือกหอย จนพาให้ลูกค้าสาวเจ้าของคำพูดเข้าใจผิด

“ขอโทษนะคะ อันนี้ไม่ได้ทำลายธรรมชาตินะคะ สินค้าเรารักสิ่งแวดล้อมค่ะ” เธอเสียใจที่ถูกเข้าใจผิด แต่เก็บอารมณ์และชี้แจงอย่างใจเย็น  “เครื่องประดับทั้งหมดนี้ไม่ใช่เปลือกหอยนะคะ เป็นกระดาษค่ะ เราเอากระดาษมาปั้นเป็นลูกปัด  เรารู้ว่าการเก็บหอยมาจากชายทะเลเป็นการรบกวนธรรมชาติ เราก็ไม่สนับสนุน จึงมีสิ่งมาทดแทน”

“แค่กระดาษแล้วทำไมแพงจัง”

ลูกค้าไฮโซรายเดิมยังไม่สิ้นความ

“เราก็บอก ขอโทษค่ะ งานเราเป็นงานขายไอเดีย ขายฝีมือ ขายความคิด  ราคามันอยู่ที่ความใส่ใจ  เราทำแต่ละเม็ดต้องมีสมาธิ ต้องใส่ใจ ถ้าไม่ใส่ใจลงไปก็หมุนออกมาเป็นเม็ดไม่ตรง  เราก็ทำให้เขาดู”

เปรมวดี แก้วบุรี เจ้าของเครื่องประดับจากกระดาษ เปเปอร์ ริสต้า เล่ารายละเอียดเหตุการณ์ที่เธอยังจดจำฝังใจ  “ตอนนั้นเราโมโหแล้ว แต่ต้องใจเย็นอธิบายว่า คุณค่าไม่ได้อยู่ที่กระดาษ ไม่ได้อยู่ที่วัตถุ แต่อยู่ที่การใช้มือคนทำ เราสอนเขาทำด้วย แนะนำจับมือเขาทำ จนเขาบอกขอโทษที่ไม่เข้าใจ มันทำยากจริง ๆ”

สองปีมาแล้วที่เปรมวดีขลุกอยู่กับกระดาษเหลือใช้ ตั้งแต่ออกแบบ ตัดกระดาษ ลงมือทำ สอนคนอื่นให้ทำ จนถึงการหาตลาด และนำผลิตภัณฑ์ออกไปขายด้วยตัวเอง ซึ่งเธอบอกว่าเปเปอร์ ริสต้าน่าจะเป็นลูกปัดกระดาษเจ้าเดียวในเมืองไทย

เธอเล่าย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นว่า ได้รู้จักกับลูกปัดกระดาษตั้งแต่ทำงานกับองค์กรเอ็นจีโอชื่อเฟรนดส์อินเตอร์เนชันแนล (Friends-International)

“เป็นองค์กรระหว่างประเทศที่ทำงานด้านเด็ก  เราได้ทำงานกับเด็กข้างถนนที่ไม่ได้ไปโรงเรียน ซึ่งองค์กรเฟรนดส์ฯ พบว่าสาเหตุมาจากผู้ปกครองไม่มีเงิน  เราก็เข้าไปช่วยฝึกให้เย็บผ้า  จากนั้นก็ทำเครื่องประดับ ซึ่งต่อมาหัวหน้าส่งให้ไปดูงานที่ต่างประเทศ”

แต่กลับมาสร้างกลุ่มทำกันได้ไม่นานโครงการก็สิ้นสุดลงเมื่อต้นปี ๒๕๕๕  เธอถูกเลิกจ้าง ชาวบ้านก็ไม่มีงานทำ

“เราก็คุยกับคนในชุมชนสะพานศิริ แถวประตูน้ำจุฬาลงกรณ์ คลองรังสิต ว่ามาร่วมกันทำงานเพื่อเดินหน้าต่อด้วยตัวเอง  เราบริหารจัดการเองหมด ออกแบบ หาตลาด สอนเขาทำ ให้เขาทำตามออร์เดอร์  แต่ใช้เงื่อนไขเดิมว่าคนที่เข้ามาร่วมทำงาน เงินรายได้ต้องไม่นำไปเล่นการพนัน ไม่เอาไปซื้อยาเสพติด ต้องใช้เพื่อครอบครัว สำหรับให้ลูกหลานไปโรงเรียน  ถ้าเรารู้ว่านำไปใช้ในทางอบายมุขเราจะไม่ให้ทำต่อ”

รวมกลุ่มชาวบ้านได้แล้วเธอสมัครขอรับทุนจากสำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ (สกส.) ได้สำเร็จ ก็เริ่มดำเนินกิจการมาตั้งแต่วันที่ ๑ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ โดยตั้งชื่อกลุ่มว่า ชุมชนพิทักษ์โลก

“คิดมาจากว่า สินค้าของเราช่วยลดโลกร้อน เก็บสิ่งที่ไม่ได้ใช้แล้วเอามาทำ  กระดาษ ซองผงซักฟอก กระสอบ ซองน้ำยาปรับผ้านุ่ม  จากที่เขาว่าพลาสติกพวกนี้ต้องใช้เวลานับ ๔๐๐ ปีถึงจะย่อยสลาย  ของที่จะสร้างมลภาวะให้กับโลกเหล่านี้เราก็เอามาใช้ใหม่  ไม่ใช่รีไซเคิล แต่เป็นรียูส คือเอามาใช้เลยไม่ต้องผ่านการแปรรูปใหม่  ขั้นตอนการผลิตทั้งหมดก็เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่มีมลพิษ ไม่มีควันพิษ เพราะไม่ได้ใช้เครื่องจักรอย่างใดเลย ใช้แรงคนอย่างเดียว”

ตั้งกลุ่มผลิตสินค้าเครื่องประดับขึ้นมาแล้ว ก็ต้องตั้งชื่อแบรนด์ด้วย  เปรมวดีเล่าว่าชื่อเก๋ ๆ PAPERISTA นี้เพื่อนฝรั่งของลูกสาวเป็นคนคิดให้

“เพื่อนลูกสาวที่เป็นชาวอิตาลี เห็นว่าเราทำผลิตภัณฑ์จากกระดาษก็บอกว่าเอาชื่อเปเปอร์ ริสต้า คือคนบ้ากระดาษ”

เป็นที่มาของ “เปเปอร์ ริสต้า” เครื่องประดับจากคนบ้ากระดาษที่ช่วยโอบอุ้มโลก ซึ่งคนที่ซื้อไปสวมใส่ก็คงเช่นกัน

ดังที่เปรมวดีเล่าว่า ลูกค้ากลุ่มหลักเป็นคนที่รักสิ่งแวดล้อม  “คนที่ใส่ใจเรื่องนี้เขาจะไม่สนใจด้วยว่าราคาเท่าใด เลือก ๆ แล้วให้เราคิดสตางค์  และไม่ได้คิดมากว่าวัสดุแค่กระดาษ  แต่เป็นกลุ่มที่ทึ่งว่าเราทำมาได้อย่างไร จากกระดาษเป็นแผ่น ๆ เอามาทำได้อย่างนี้ เจ๋งนะ”

จากกระดาษสีเป็นแผ่น ๆ กลายเป็นสร้อยลูกปัดได้อย่างไร  เปรมวดีเล่ารายละเอียดทุกขั้นตอน ตั้งแต่ที่มาของกระดาษ จนกลายเป็นเครื่องประดับหลากแบบหลายลาย

แหล่งหลักเธอใช้กระดาษนิตยสาร และแผ่นพับที่เป็นกระดาษอาร์ตหน้าสี ซึ่งนอกจากหาเก็บหนังสือเก่าแล้ว เธอยังขอไปตามสำนักพิมพ์ด้วย บางแห่งให้ฉบับเก่าที่ไม่ใช้แล้ว บางหัวให้กระดาษปรู๊ฟสีมาเป็นแผ่นใหญ่  ถ้าได้หน้าซ้ำ ๆ เหมือนกันหลาย ๆ แผ่น เม็ดลูกปัดที่สำเร็จออกมาก็จะมีลายเดียวกันทั้งเส้น

เลือกกระดาษได้แล้วก็นำมากรีดตัดเป็นเส้น กำหนดขนาดแน่นอนที่ขอบกระดาษด้านหนึ่ง แล้วกรีดไปสุดปลายแหลมที่ขอบกระดาษอีกด้าน  ฐานด้านกว้างของเส้นกระดาษคือตัวกำหนดความยาวของเม็ดลูกปัดเมื่อนำมาม้วนรอบแกนไม้ไผ่ที่อาจเป็นไม้เสียบลูกชิ้นหรือตะเกียบเหลาปลายแหลม พันม้วนจนสุดเส้นกระดาษก็ป้ายกาวลาเทกซ์ที่ปลายสุด ยึดกระดาษที่ขดพันกันเป็นก้อนกลมให้คงรูป  ขนาดของเม็ดลูกปัดจะพองออกจากแกนตามจำนวนชั้นกระดาษที่พันซ้อนกัน ตั้งแต่แผ่นเดียวไปจนถึง ๓๕ แผ่น และความยากในการพันก็จะเพิ่มตามจำนวนแผ่นกระดาษ

ที่ซ้อนแผ่นกระดาษมากชั้นลูกปัดจะเป็นเม็ดใหญ่คล้ายล้อเกวียน  ชาวบ้านเรียกจานบิน  ที่ซ้อนน้อยชั้นจะเป็นเม็ดยาว ๆ ชาวบ้านเรียกตัวหนอน  แต่ส่วนใหญ่ที่สุดจะเป็นรูปลูกทุ่น ชาวบ้านก็เรียกตามขนาดว่าเม็ดเล็ก เม็ดใหญ่

ม้วนได้ ๑๐๐-๒๐๐ เม็ด ก็ถอดจากไม้นำมาร้อยเป็นพวงเอาลงชุบในน้ำยาเคลือบเงา ซึ่งเปรมวดีก็เน้นว่า เธอเจาะจงใช้ชนิดที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  ชุบแล้วนำขึ้นมาตากแดดให้แห้งแล้วนำลงชุบซ้ำรวมสามรอบ ก็เป็นเม็ดลูกปัดพร้อมให้ประดิษฐ์เป็นเครื่องประดับที่คงทนไม่เปื่อยยุ่ยหรือหลุดล่อนเมื่อโดนน้ำ

ตอนนี้เครื่องประดับเปเปอร์ ริสต้ามี ๑๗ แบบ เป็นสร้อยคอ สร้อยข้อมือ แหวน ต่างหู ฯลฯ โดยการออกแบบของเปรมวดีเองทั้งหมด

“ส่วนใหญ่หาดูแบบในเว็บไซต์แล้วเอามาปรับ  เทรนด์เครื่องประดับในช่วงนี้วัยรุ่นจะไม่ชอบใส่อะไรยั้วเยี้ย และยิ่งเราใส่เข้าไปเยอะราคาก็สูง ขายยากขึ้น ต้องดูความนิยมของตลาดด้วย”

ส่วนค่าแรงของคนทำก็คำนวณจากทุกขั้นตอนการทำ

“ชิ้นตัวอย่างเราจะจับเวลา ตั้งแต่เลือกกระดาษ ตัดกระดาษ สร้อยเส้นหนึ่งใช้กี่เม็ด ม้วนเม็ดละกี่นาที ชุบ ตากและร้อยกี่ชั่วโมง  เราเอามาสอนให้คนทำ แล้วตกลงเรื่องค่าแรงโดยเอาเวลาที่ทำ หารด้วยค่าแรง ๓๐๐ บาทต่อวัน  สมมุติใน ๘ ชั่วโมงทำได้ ๕ เส้น ค่าแรงก็ตกเส้นละ ๖๐ บาท  ทำเสร็จเราก็จ่ายค่าแรงเลย  ชาวบ้านเขาไม่มีเงินสำรอง เขาหากินวันต่อวัน เราติดค้างเขาไม่ได้  ดังนั้นลูกค้าสั่งงานมา เราจะขอมัดจำ ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ซึ่งต้องเอามาเป็นค่าแรงประมาณ ๓๐ เปอร์เซ็นต์”

ทำเสร็จก็เป็นขั้นตอนการตลาด  แรกสุดเปรมวดีจะประชาสัมพันธ์สินค้าใหม่ ๆ ของเธอผ่านทางเฟซบุ๊กและเว็บไซต์ รวมทั้งทำแค็ตตาล็อกส่งลูกค้า

ในต่างประเทศ มีลูกค้ารับเปเปอร์ ริสต้าไปวางขายในสิงคโปร์ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ออสเตรเลีย  ในเมืองไทยเธอผลิตให้โรงแรมใหญ่บางแห่ง รวมทั้งส่งเป็นสินค้าหัตถกรรมในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ  ลูกค้ารายใหญ่เหล่านี้จะสั่งสินค้าของเธอคราวละเป็นหมื่นหรือเป็นแสนบาท  แต่ก็เป็นแบบนาน ๆ ครั้ง ปีละไม่กี่ครั้ง  รายได้หลักจึงต้องพึ่งจากการขายปลีก ซึ่งเธอฝากวางขายในร้านของเพื่อนที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร  ราคาขายปลีกอยู่ที่ชิ้นละ ๒๐๐-๕๐๐ บาท

“หักค่าฝากขาย ๓๕ เปอร์เซ็นต์ให้ทางร้าน เรามีรายได้ตกเดือนละ ๒ หมื่นบาท  ตอนขายดีก็อาจถึง ๕ หมื่น ให้ได้เดือนละ ๓ หมื่นก็อยู่ได้  แต่นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว จนถึงมกราคมปีนี้  สามเดือนนี้มีรายได้ไม่ถึงหมื่นบาทต่อเดือน  และกุมภาพันธ์ทั้งเดือนไม่ได้เปิดขายเลยเพราะแยกปทุมวันปิด  ไปขายตามงานก็ได้สัก ๔,๐๐๐-๕,๐๐๐ บาท  บางงานได้แต่ค่ารถ”

ทางออกเฉพาะหน้าเธอคิดว่าคงเดินเข้าไปหากลุ่มเป้าหมายแบบเจาะจงให้มากขึ้น อย่างลูกค้าตามโรงแรม และตามเมืองท่องเที่ยว รวมทั้งการเปิดตลาดออนไลน์ ให้กว้างขึ้น

ด้วยเป็นสินค้าทำมือที่ไม่มีการพึ่งพาเครื่องจักรอย่างใด เมื่อถูกถามว่าเกิดมีลูกค้าสั่งเข้ามาเยอะ ๆ จะผลิตทันไหม

เจ้าของแบรนด์เปเปอร์ ริสต้ายืนยันด้วยกังวานเสียงสดใส ดวงตาเป็นประกายด้วยความมั่นใจ

“ขอให้มาเถอะค่ะ มีคนในชุมชนอีกเยอะที่ยังไม่มีงานทำ”

ประสาคนคอเดียวกัน ใครรักชอบลูกปัดกระดาษและรักโลก ติดต่อเธอได้ที่ โทร. ๐๘-๗๖๙๑-๑๖๘๖ หรือ www.facebook.com/PaperistaRecycles