งานจากค่ายสารคดีครั้งที่ 10
เขียน-ธันย์ชนก ธีรทรงธรรม
ภาพ-เมราณี สมัยวิจิตรกร
“ถ้าเราขึ้นไปยืนบนสะพานพระปกเกล้าแล้วมองมาตลาดน้อยจะเห็นว่าที่ตรงนี้เป็นเวิ้งเล็กๆที่ตึกไม่สูงมากขณะที่พื้นที่รอบๆมีแต่ตึกสูงระฟ้า พี่ข้ามไปมาทุกวันเห็นความเปลี่ยนแปลงของเมือง รู้สึกใจหายมากนะ”
พี่ที พี่ในโครงการย่านจีนถิ่นบางกอก ได้เล่าถึงภาพคุ้นชินจากการเดินทางไปมาฝั่งธนบุรีกับฝั่งพระนครแล้วพบว่าพื้นที่ส่วนหนึ่งที่มีอาณาเขตติดต่อย่านไชน่าทาวน์ทางด้านตะวันออก นามว่า “ตลาดน้อย” ยังคงความพิเศษไม่เหมือนกับที่อื่นๆ
วันนั้นวันที่ฉันได้เดินสำรวจพื้นที่ย่านตลาดน้อย จึงทราบว่าย่านนี้มีประวัติความเป็นมาและได้รับการยกย่องให้เป็นชุมชนเก่าแก่ของชาวจีนตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ไม่น่าเชื่อว่าที่แห่งนี้ยังคงพบร่องรอยภาพจริง อย่าง บ้านโซเฮงไถ่ บ้านสถาปัตยกรรมจีนโบราณอายุเป็นร้อยปี แหล่งค้าขายเหล็กเซียงกงแห่งแรกของประเทศไทย และอื่นๆอีกมากมายที่ชวนให้คนเก่าคนแก่นึกถึงชีวิตในห้วงอดีตและมีมนต์เสน่ห์ตราตรึงคนรุ่นปัจจุบันให้ย้อนดูประวัติศาสตร์ความเป็นมา ซึ่ง หาจากที่อื่นคงมีเพียงภาพถ่ายไว้ดูต่างหน้าเท่านั้น
เรียนตามตรงว่าชุมชนในเมืองกรุงอีกหลายร้อยหลายพันแห่งหรือพูดก็พูดเถอะว่าอีกหลายหมื่นแห่งในประเทศไทยไม่เหลืออะไรที่บ่งบอกพื้นเพเดิมของบรรพบุรุษผู้เคยจับจองพื้นที่มาก่อนหน้า สภาวะไร้รากนี้ยังคงเกิดขึ้นบริเวณรอบข้างพื้นที่ตลาดน้อยเพราะท่ามกลางกระแสอันเชี่ยวกรากของการผลิตัวทางธุรกิจในเขตเมืองเนื่องด้วยภูมิศาสตร์ที่ตั้งติดริมน้ำเจ้าพระยา นักลงทุนต่างแห่แหนกันเข้ามายื้อแย่งแข่งขันเพื่อจับจองพื้นที่อันดึงดูดเม็ดเงินจากนักท่องเที่ยว แต่ทว่าโชคชะตาหรือเหตุผลชักนำบางอย่างที่นำพากลุ่มคนกลุ่มหนึ่งที่มีชื่อว่า “อาศรมศิลป์” พวกเขาเข้ามาและเล็งเห็นสิ่งพิเศษในพื้นที่ย่านตลาดน้อยทำให้เกิดเป็นโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูย่านจีนที่ขนานนามว่า “ย่านจีนถิ่นบางกอก”
“งานไม่กระจอก ของ”คนนอก”พื้นที่”
มดตัวน้อยกว่าจะสร้างรังใหญ่ให้เกาะเกี่ยวบนกิ่งมะม่วงได้ฉันใด งานทุกชิ้นกว่าจะสำเร็จได้ล้วนมีคนเบื้องหลังคอยกำกับไว้ฉันนั้น”
อาจารย์ศรินพร พุ่มมณี หรือ อาจารย์แอ้ด ผู้รับตำแหน่งหัวหน้านักวิจัยโครงการย่านจีนถิ่นบางกอก กว่า 3 ปีที่กำกับหางเสือเรือลำนี้ไม่ให้ล่มและประคองเรือให้เดินหน้าต่อไป
อาจารย์เล่าถึงเป้าหมายสำคัญของการเข้ามาในพื้นที่นี้เพราะต้องการฟื้นชีวิตให้กับย่านเก่าและทำให้คนในพื้นที่เดิมได้ทำมาหากิน ไม่ต้องอพยพเพื่อหนีความเจริญจากการมีนายทุนบุกรุก
“เราจะเห็นว่าหากพื้นที่ใดเจริญคนในพื้นที่เดิมจะอยู่ไม่ได้ต้องขายที่ออกไปเพราะมีนายทุนใหญ่มาขอซื้อเพื่อทำธุรกิจมีกำไร นี่เป็นสาเหตุแท้จริงที่เบี่ยงขับ…
“คนใน” พื้นถิ่นให้กลายเป็น “คนนอก”
“แต่เราระมัดระวังอย่างมากว่าจะทำอย่างไรให้คนในท้องถิ่น คนในตลาดน้อยได้ค่อยๆปรับตัว ปรับธุรกิจของเขาเองให้สอดคล้องกับธุรกิจของสังคมเมืองที่มันเปลี่ยนผ่าน”
การปรับตัวของชาวบ้านให้อยู่รอดในสังคมที่เปลี่ยนแปลง ธุรกิจที่น่าจะเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในชุมชมนี้ คงหนีไม่พ้นการเปิดพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว
“การท่องเที่ยวเป็นผลพลอยได้จากการอนุรักษ์ฟื้นฟูย่านเก่าที่ตามมา เราใช้เครื่องมือการทำงานร่วมกันกับชาวบ้านในพื้นที่ ถามเขาว่าอยากเห็นอะไร จริงๆเขาอยากอยู่ที่นี่ อยู่บ้านของเขา แต่เขาไม่รู้ว่ามีโอกาส เราในฐานะคนนอกก็ไปช่วยชี้จุดให้ว่าทำอย่างไรได้บ้าง”
“เสียงใหญ่ใหญ่”จาก”คนใน”พื้นที่
“พี่ยังคิดเลยนะว่า ถ้าเกิดว่าที่นี่เป็นแหล่งท่องเที่ยว มีบ้านเก่า มีทางลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา พี่จะหามุมปลูกต้นไม้เยอะๆ ทำธุรกิจร้านอาหารแบบย้อนยุค หาของโบราณมาประดับตกแต่ง เอาเก้าอี้มาตั้งและให้คนมานั่งพักผ่อน”
นี่เป็นภาพความฝันของพี่อุ้ย แม่ค้าขายอาหารตรงปากซอยดวงตะวันผู้ที่เติบโตมากับย่านนี้และเป็นหนึ่งในผู้ยืนหยัดพัฒนาชุมชนร่วมกับอาศรมศิลป์ พี่อุ้ยเล่าถึงจุดพลิกผันความเชื่อที่ว่าตลาดน้อยแห่งนี้มีของดีไม่แพ้ที่อื่นๆ เมื่อได้เดินทางไปเยี่ยมชมบ้านโบราณบนเกาะปีนังหรือจอร์จทาวน์ (George Town) ประเทศมาเลเซีย สถานที่ที่กลายเป็นเมืองมรดกโลกเนื่องจากความโดดเด่นด้านสถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมที่ไม่ซ้ำใครในละแวกภูมิภาคนี้
บ้านโบราณที่ปีนังนั้นได้รับการอนุรักษ์และฟื้นฟูให้เข้ากับสังคมและเศรษฐกิจดังตัวอย่างที่พี่อุ้ยได้นำเสนอ “บลูแมนชั่น” (Blue Mansion) คฤหาสน์จีนโบราณสีน้ำเงินดอกอัญชันที่มีกลุ่มผู้บูรณะได้พยายามติดต่อขอซื้อเพื่อจะอนุรักษ์และฟื้นฟูบ้านให้สมบูรณ์คงเดิมที่สุดหลังจากทายาทคนสุดท้ายของตระกูลจบชีวิตลง ปัจจุบันได้เปิดเป็นห้องพักให้นักท่องเที่ยวรวมถึงให้ผู้สนใจประวัติศาสตร์เข้ามาศึกษาโดยผลจากการบูรณะกว่า 5 ปี(ค.ศ.1991-1995)ทำให้สถานที่นี้ได้รับรางวัลที่สำคัญจากยูเนสโก(UNESCO) รางวัลโครงการบูรณะสถานที่ยอดเยี่ยมในปี ค.ศ.2000
พี่อุ้ยกล่าวว่า แม้ว่าตลาดน้อยจะเป็นชุมชนเล็กๆแต่ความโดดเด่นของชุมชนนี้มีทั้งประวัติศาสตร์ที่ตกทอดมา มีบ้านตระกูลขุนนางเก่าแก่ อาชีพของอาแปะอากงที่อาจเห็นเป็นรุ่นสุดท้ายแล้ว
“พี่อยากให้มีคนมาอนุรักษ์ที่นี่และเปิดพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว มองในมุมของแม่ค้าก็อยากให้เศรษฐกิจในพื้นที่ดีขึ้น ตลาดน้อยอยู่ใจกลางเมือง ถ้ามีนายทุนมาเปิดเกสต์เฮาส์โดยใช้บ้านเก่าที่มีอยู่ปรับตกแต่งให้ดูเหมือนใหม่และเปิดบางส่วนให้คนเข้าไปศึกษาได้เช่นที่ต่างประเทศเขาทำ นักท่องเที่ยวก็จะเข้ามาที่นี่ พี่ว่าคนในชุมชนต้องร่วมมือเพราะใครๆก็อยากทำธุรกิจอยู่ที่บ้านของตัวเองทั้งนั้น”
การพูดคุยกับพี่หลายๆคนในวันนั้นทำให้ฉันนึกถึงตอนเด็กๆ สถานที่โปรดแห่งหนึ่งในบ้านเป็นที่ที่ฉันไปยืนประจำ “หน้าต่างห้องแม่”
มองออกไปจะเห็นท้องฟ้าเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้างใหญ่
โตขึ้นมาฉันยังชอบมองท้องฟ้าอยู่ แต่ ณ ที่เดิม คราวนี้กลับเห็นสี่เหลี่ยมด้านเท่าแทน
จนตอนนี้ฉันโตพอที่จะสรุปและเข้าใจว่าหน้าต่างห้องแม่ไม่ได้เล็กลงแต่ที่ที่ฉันอยู่มันเป็นเขตเมืองที่ความเจริญเข้าถึง มีตึกสูงสร้างใหม่เต็มไปหมดจนมันกินพื้นที่ท้องฟ้าในสายตาของเราไป
เหมือนกันกับที่ฉันเข้าใจชุมชนตลาดน้อยที่มีเป้าหมายพัฒนาเป็นแหล่งอนุรักษ์บ้านจีนโบราณและกำลังพัฒนาให้การฟื้นฟูที่จะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้ส่งผลไปยังเป้าหมายใหม่ที่คนในชุมชนต่างหวังให้ย่านนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเพื่อตอบโจทย์ปัจจัยพื้นฐานของการมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี
ฉันเข้าใจ…ทุกสถานที่มีเอกลักษณ์เฉพาะในแบบของตัวเอง