บันทึกชีวิตชะนีใน ๑ วัน ๔๑ ปีของงานวิจัยในเขาใหญ่
ชะนีอาจเป็นสัตว์ป่าที่หลายคนคุ้นชื่อ แต่เมื่อถามว่ารู้จักชะนีไหม คงได้รับคำตอบเป็นเสียงเดียวว่า มันร้อง ผัว ผัว แต่อันที่จริงแล้ว ชะนีไม่ได้ร้องผัว ผัว มันร้อง ว่ะ ว่ะ ต่างหาก
ชะนีพบกระจายอยู่เฉพาะในทวีปเอเชีย และเชื่อว่าถิ่นกำเนิดแรกเริ่มของชะนีอาจอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บ้านเรานี่เอง ก่อนจะแพร่กระจายไปในบริเวณอื่น ๆ
เรื่องเศร้าก็คือ คนไทยเหมือนจะคุ้นเคยกับชะนี แต่เอาเข้าจริงเราแทบจะไม่รู้จักมันเลย ซ้ำยังเข้าใจชะนีผิด ๆ เสียด้วย
กว่า ๔๐ ปีแล้วที่การศึกษาวิจัยชะนีมือขาวหรือชะนีธรรมดาในผืนป่าของอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยศาสตราจารย์ ดร. วรเรณ บรอคเคลแมน เป็นผู้เริ่มต้นบุกเบิกและยังคงทำการศึกษาวิจัยมาตลอด งานวิจัยชะนีของอาจารย์วรเรณได้มีส่วนสร้างลูกศิษย์นักวิจัยสัตว์ป่ามาแล้วหลายต่อหลายรุ่น ไม่นับว่าการศึกษาวิจัยชะนีได้พบข้อมูลสำคัญที่ทำให้อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ได้รับเลือกเป็นมรดกโลก
สารคดีพิเศษที่บันทึกชีวิตของชะนีใน ๑ วันเรื่องนี้ จึงนับเป็นเพียงหน้ากระดาษสั้น ๆ เมื่อเทียบกับข้อมูลงานวิจัยที่ได้ผ่านความวิริยอุตสาหะมาหลายสิบปีกับการติดตามครอบครัวชะนีอยู่วันแล้ววันเล่า
เรื่องราวความผูกพันของนักวิจัยชะนีและครอบครัวชะนีที่มีสมาชิกทั้งพ่อ แม่ ลูกวัยรุ่น ลูกวัยทารก ไม่ต่างจากครอบครัวของมนุษย์เรานัก กำลังรอคุณผู้อ่านร่วมเดินทางไปติดตามชีวิตของพวกเขาแล้ว
จาดเดือนสิบ ขบวนแห่บุญของคนกระบี่
กระบี่ไม่ได้มีแต่ทะเลสวย หากใครไปเยือนในช่วงปลายเดือน ๑๐ ก็จะได้เห็นงานบุญใหญ่อันตระการตาไม่ต่างจากตามหัวเมืองอื่นใดในแถบภาคใต้
ต่างแต่งานบุญเดือน ๑๐ ของกระบี่มีเอกลักษณ์อันโดดเด่นอยู่ที่ “จาด” ซึ่งกล่าวกันว่ามีเพียงที่เดียวในปักษ์ใต้ หรือในโลกก็ว่าได้
เป็นงานหัตถกรรมที่ชาวบ้านทำกันเองในท้องถิ่น มีการประดับประดาด้วยลวดลายและสีสันอย่างเพริศแพร้วแวววาว ด้วยคติความเชื่อว่า นี้เป็นโอกาสเดียวในรอบปีที่จะได้ทำบุญให้แก่วิญญาณบรรพบุรุษที่ได้รับการปล่อยตัวมาจากปรโลก
สิ่งสื่อแทนความรักเทิดทูนต่อบรรพชนผู้ล่วงลับ จึงต้องทำอย่างประณีตงดงามที่สุด
ถึงขนาดที่ว่า ยามยกจาดหามแห่ขึ้นทาบฟ้าที่มีทิวเมฆขาวเป็นฉากหลัง จะแลราวปราสาทราชวังลอยเลื่อนขึ้นสู่สรวงสวรรค์…