งานจากค่ายสารคดีครั้งที่ 10
เรื่อง วิภาดา แหวนเพชร
ภาพ อภินัยน์ ทรรศโนภาส
โลกหมุนเร็วจนทุกคนรู้สึกได้…
การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไปอย่างรวดเร็วของทุกสรรพสิ่งเป็นมาตรวัดความเร็วของโลกที่กำลังหมุน ความเร็วนี้ได้หมุนเอาองค์ความรู้และวิถีชีวิตที่ถูกส่งต่อผ่านรุ่นสู่รุ่นให้หลุดหายไปตามแรงเหวี่ยงของโลก วิถีชีวิตของคนไทยเชื้อสายจีนแถวย่านตลาดน้อย เขตสัมพันธวงศ์ก็เช่นกัน หลากหลายอาชีพที่ถูกส่งต่อกันมาจากรุ่นสู้รุ่นกำลังเดินมาถึงช่วงสุดท้าย
คำถามคือ ในช่วงสุดท้ายนี้ รุ่นสุดท้ายจะเลือกดำเนินชีวิตต่อไปอย่างไร
มีความหวัง หันหลังให้อดีต หรือทำปัจจุบันให้ดีที่สุด
ลิ้มฮะหลีมีดหมู…เพื่อนคู่เขียงกว่า 50 ปี
สายตาของฉันไปสะดุดที่ป้ายสีแดงเล็กๆโดยบังเอิญ
“ลิ้มฮะหลีมีดหมู”
หญิงวัยกลางคนนั่งหันหลังให้ป้ายนั้นราวกับกำลังหันหลังให้อดีต ฉันเข้าไปสอบถามด้วยคำถามง่ายๆว่า “ขายเฉพาะมีดหมูเหรอคะ” เลยได้คำตอบที่ทำให้ฉันอยากหยุดอยู่ที่นี่
“ใช่หนู ร้านนี้ขายเฉพาะมีดหมู ป้าเป็นรุ่นสุดท้ายที่ขาย เป็นร้านสุดท้ายในย่านตลาดน้อยแล้ว”
รุ่นสุดท้าย…ร้านสุดท้าย คนพูดอาจไม่คิดอะไร แต่คนฟังใจหายอยู่ตรงนั้น
คุณป้า ณัฎฐรัตน์ แซ่ลิ้ม เจ้าของร้านพาพวกเราเดินชมร้านบริเวณชั้นล่างของตึกสองชั้นเก่าๆ สิ่งที่ทักทายเราภายในร้านมีเพียงความเงียบและมีดที่วางเรียงรายในตู้กระจกขึ้นฝ้า มีดเหล็กกล้าสีดำหลายขนาดติดป้ายราคา 500-1000 บาท ข้างๆมีมีดสเตนเลสสมัยใหม่วางขายควบคู่กันเพื่อให้ทันยุคสมัย ข้างตู้กระจกมีลังๆใหญ่วางอยู่ คุณป้าบอกว่าภายในลังคือมีดล็อตสุดท้ายที่พ่อทำเอาไว้ก่อนตาย และเป็นล็อตสุดท้ายที่ร้านมี
“ ร้านเราเปิดกิจการมาสัก 50 ปี แล้ว คุณพ่อเป็นเจ้าของร้าน เดิมทำอาชีพนี้เป็นจากเมืองจีนแต่พอมาเมืองไทยพ่อมาเป็นลูกจ้าง พอแต่งเมียมีลูกก็เลยไปยืมเงินมาขยายทำเอง พ่อเล่าให้ฟังว่าสมัยก่อนลำบากมาก ไม่ได้ทำมีดที่บ้านหลังนี้ ช่วงแรกเช่าบ้านเดือนละ 40 บาทแล้วทำมีด หลังๆก็เช่าเฉพาะหลังบ้านไว้ทำ ป้าเองไม่เคยช่วยพ่อทำแต่เคยเห็นวิธีการทำ ก็เอาก็เหล็กเป็นแผ่นๆมาตัด เผาไฟแล้วตี ”
คุณป้าแนะนำให้รู้จักมีดหมูล๊อตสุดท้ายของร้าน มีดปลายแหลมหน้ากว้างคือมีดแล่โดยมี 3 ขนาด แล้วแต่คนถือว่าเป็นผู้หญิงผู้ชาย มีดปลายแหลมยาวคือมีดเชือด มีดเล่มใหญ่ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าสั้นคือมีดสับใช้สับกระดูก และมีดเล่มใหญ่รูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้ายาวคือมีดหั่นเส้นก๋วยเตี๋ยว มีดทุกเล่มมีด้ามเป็นไม้กลมหนา คุณป้าบอกว่าร้านลิ้มฮะหลีเคยเป็นจ้าวแห่งมีดหมู ร้านขายหมูทุกเขียงต้องมาซื้อมีดที่นี่
“เมื่อก่อนขายดีได้วันละหนึ่งหมื่นบาทยังมี แต่เดี๋ยวนี้เงียบเพราะคนรุ่นใหม่เค้าใช้ใบเลื่อยหมู ตอนนี้ลูกค้าก็มีแต่คนรุ่นเก่าหรือคนที่ชอบของเก่าเพราะมีดนี่มันใช้แรงคนงานทำ ค่าแรงมันก็สูง เมื่อก่อนมีขายกันอยู่สี่เจ้าแต่เค้ากลับบ้านเกิดกันไปหมดแล้วเพราะสู้ไม่ได้ ตอนนี้เราก็รอขายให้มันหมด เพราะของมันไม่เน่าไม่เสีย ถ้าหมดก็หมดไป”
ได้ยินคำว่าหมดก็หมดไปเราเลยอดไม่ได้ที่จะถามคุณป้าว่าเสียดายมั้ย คุณป้าตอบว่าตนเองทำอะไรไม่ได้เพราะงานทำมีดมันเหนื่อย ร้อน ลำบาก จึงไม่มีคนอยากทำต่อ มันไม่เข้ากับวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ ป้าเองก็เข้าใจและแค่รอขายมีดให้หมดเท่านั้น
ป้าพูดจบก็ขอตัวไปขายน้ำที่หน้าบ้าน เรากล่าวขอบคุณและเดินออกมาจากร้านด้วยความรู้สึกที่บอกไม่ถูก มันเป็นความเสียดายองค์ความรู้สมัยก่อนปะปนกับความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลง ฉันเดินออกมากสักพักก็มองกลับไปที่ร้าน สิ่งที่เห็นจากระยะไกลคือผู้หญิงคนหนึ่งนั่งหันหลังให้อดีต และหันหน้ารับปัจจุบันด้วยสีหน้าวางเฉย ไม่เจ็บปวด
แล้วฉันก็เข้าใจเพลงๆหนึ่งที่ร้องว่า “อยู่ที่เรียนรู้ อยู่ที่ยอมรับมัน”
เฮียบเตียง…70 ปีแห่งความอร่อย
“นี่คือสถาน แห่งบ้านทรายทอง ที่ฉันปองมาสู่”
เสียงเพลงจากวิทยุในร้าน “เฮียบเตียง” ร้านขายขนมเก่าแก่ของตลาดน้อยทำให้ฉันอดยิ้มไม่ได้ เพราะบ้านหลังนี้ที่ฉันกำลังก้าวเข้าไปช่างต่างจากบ้านทรายทองของพจมาน สว่างวงศ์ลิบลับ ไม่ใช่คฤหาสน์สีขาวใหญ่โต เป็นเพียงห้องแถวเก่าๆสองชั้นที่ไม่กว้างมาก ทว่ามีกลิ่นขนมหอมอบอวนรัญจวนใจไปทั่วบ้าน
ป้านี้ แซ่อึ้งเจ้าของบ้านกล่าวทักทายเราอย่างเป็นมิตรขณะที่เชื้อเชิญให้เราเข้าไปดูการทำขนมของแปะปั้กเสี้ยม แซ่เตียง ผู้เป็นสามี เรากลับมาที่ร้านเฮียบเตียงเป็นรอบที่สองเนื่องจากรอบแรกเป็นเวลาพักของแปะ ครั้งแรกนั้นเราเห็นเพียงชายชรานอนหลับอย่างหมดสภาพ ต่างจากครั้งนี้ที่ชายชราคนเดียวกันสลัดความชรามาทำขนมอย่างกระฉับกระเฉง
“สวัสดีค่ะแปะ แปะทำขนมมากี่ปีแล้วคะ”
“หา?”
“ทำขนมมากี่ปีแล้วคะ”
“หา?”
ฉันพูดเสียงดังขึ้นอีก
“ทำขนมมากี่ปีแล้วคะ”
“อ้อ ทำตั้งแต่ 10 ขวบ ตอนนี้ 84 ก็ 70 กว่าปีแล้ว”
เพียงแค่ไม่กี่ประโยคที่คุยกันก็รู้ว่าแปะหูไม่ดี เราต้องตะโกนคุยกับแปะสียงดังไปทั้งร้าน ป้านี้ผู้เป็นภรรยาจึงอาสาเล่าเรื่องราวต่างๆแทนแปะ
“แปะเขาทำขนมมานานแล้วตั้งแต่เขาอยู่เมืองจีน ก็ทำกับอาเจ็กแล้วมาเมืองไทย มาเมืองไทยก็ทำโน่นทำนี่หลายปีอาเจ็กเปิดร้านชื่อร้านเฮียบเตียงเป็นชื่ออาเจ็ก แปะก็มาทำจนเจ็กเสียก็กลายเป็นร้านของแปะเอง ก็ทำขนมเลี้ยงลูกห้าคน สมัยก่อนขายดีมีคนมาซื้อเยอะ ต้องตื่นมาทำตั้งแต่ตีสอง อั๊วะก็ช่วยขายช่วยไปส่ง เดี๋ยวนี้ทำๆนอนๆ ไม่ไหวแล้ว ขายก็ไม่ดี บางวันก็ไม่พอกิน แต่แปะมันก็ยังตื่นตีสามมาทำ มันได้ออกกำลังกายของมัน”
ป้านี้เล่าให้ฟังในขณะที่แปะเดินเตาะแตะไปหยิบกะด้งใส่แป้งมาร่อนอย่างชำนาญ ป้านี้บอกว่าแปะกำลังทำกะหรี่ปั๊บ กะหรี่ปั๊บที่นี่ขึ้นชื่อเพราะเป็นกะหรี่ปั๊บเจและมีเพียงสองไส้ แต่ละไส้แปะไม่ใช้การแต้มสีระบุไส้แต่ใช้รูปทรง โดยไส้ถั่วจะปั้นจับกลีบตามแบบทั่วไป แต่ไส้เผือกปั้นเป็นแท่งสี่เหลี่ยม
ป้านี้ลุกขึ้นมาแนะนำขนมที่วางอยู่ในตู้กระจก ส่วนใหญ่เป็นขนมที่ใช้ในเทศกาลสำคัญของจีน จันทร์อับ ซึ่งประกอบไปด้วยขนม 5 อย่างด้วยกัน คือ ฟักเชื่อม ถั่วตัด งาตัด ถั่วเคลือบน้ำตาล และข้าวพอง ส่วนขนมอย่างอื่นนั้นก็มี ขนมเปี๊ยะ ซึ่งที่ร้านนี้จะทำทั้งหมด 3 ไส้ คือ ไส้ถั่วเหลือง ถั่วแดง และฟัก ฉันอดไม่ได้ที่จะซื้อกะหรี่ปั๊บไส้เผือกและไส้ถั่วเหลืองมาลองชิม รสชาติของมันไม่หวานและไม่มันมาก สำหรับฉันมันอร่อยกำลังดี
ป้านี้พยายามชี้ให้ฉันดูรูปถ่ายที่ติดอยู่ตรงข้างฝาบ้านแต่ฉันเข้าใจว่านั่นเป็นรูปสิงโตธรรมดาจึงไม่ได้ไถ่ถามอะไรมากมาย ฉันตามแปะเข้าไปในครัว แปะเอาอุปกรณ์ที่ใช้เสร็จแล้วมาล้างอย่างคล่องแคล่ว ทำทุกอย่างเป็นขั้นเป็นตอนไม่หลงลืม ยิ่งมองดูแปะทำงานยิ่งรู้สึกถึงคำว่า “เป็นหนึ่งเดียวกันกับงาน” ความชำนาญในการทำขนมของแปะเหมือนถูกฝังอยู่ในเลือดเนื้อและจิตวิญญาณจริงๆ
ฉันถามแปะเรื่องสูตรขนมว่ามีใครทำเป็นบ้าง แปะเล่าให้ฟังอย่างติดๆขัดๆว่าตนเองมีลูกห้าคน แต่ลูกทุกคนก็ออกไปทำงานสบาย เปิดร้านขายอะไหล่และค้าขายในกรุงเทพฯ ลูกๆหลานไม่มีใครทำขนมเป็น เคยจ้างคนมาช่วยทำแต่พอเขาทำเป็นก็เอาสูตรไปทำเอง ช่วงหลังๆหลานๆเคยมาขอเรียนแต่แปะก็แก่เกินกว่าจะสอนแล้ว
ออกมาอีกครั้งป้านี้ยังชี้รูปถ่ายสิงโตให้เราดูและบอกว่าแปะปั้นเอง ฉันเริ่มงง ป้านี้เลยอธิบายว่าสิงโตที่เราเห็นเป็นขนมชื่อว่าขนมสิงห์น้ำตาล ทำมาจากแป้งและถั่วเหลือง ใช้สีผสมอาหารวาดลวดลาย แปะจะเป็นคนปั้นและลงสีทุกขึ้นตอน ฉันมองสิงโตตัวสวยสลับกับแปะที่เดินง่กๆเงิ่นๆอยู่ในครัวด้วยความรู้สึกอัศจรรย์ใจ แปะทำสิ่งนี้ได้อย่างไร? ป้านี้เล่าว่าแปะเรียนรู้เรื่องพวกนี้เอง ฝึกเอง หัดเอง จนคนรู้ก็มาจ้างให้ทำในงานเทศกาลสำคัญของจีน
“มันเป็นคนเก่ง เก่งมากๆ” ป้านี้ชมสามีอย่างภาคภูมิใจ
ด้วยความรู้สึกเสียดายในวิชาที่แปะมี ฉันอดไม่ได้ที่จะกลับไปถามแปะว่าถ้าแปะไม่อยู่ ไม่มีใครทำต่อ แปะไม่เสียดายหรือ แปะตอบมาด้วยคำสั้นๆว่า “ ไม่เป็นไร “ ยิ้มน้อยๆให้ฉันแล้วทำขนมต่อไป
ฉันลาแปะและป้านี้พร้อมซื้อขนมออกมาหลายชิ้น แม้ในใจจะรู้สึกเสียดายสูตรขนมแสนอร่อยของร้านเฮียบเตียงแต่ก็ดีใจที่วันนี้ฉันยังมีขนมอร่อยๆให้กินอีกหลายชิ้น
อย่างน้อยในวันที่มีแปะ ขนมอร่อยเหล่านี้ก็ยังอยู่แน่นอน
เฮงเสง…หมอนไหว้เจ้าร้อยปี
ผู้หญิงสามคนสองรุ่นนั่งเย็บหมอนด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม เป็นความประทับใจแรกพบ
“อ้าวคนแก่ ยิ้มหน่อย” พี่เจี๊ยบ วิมล เหลืองอรุณ เจ้าของร้านเฮงเสง รุ่นสามแซวมาราดาของตน
“คนแก่ไม่มี ฉันยังหนุ่มๆสาวๆ” อาม่าเมี่ยวลั้ง แซ่อิ๊ว เจ้าของร้านรุ่นที่สองรับมุกทันควัน ในขณะที่คุณป้านิภา พุทธังกุล ช่างเย็บเบาะที่อยู่ในร้านมายาวนานกำลังจับริมเบาะไหว้เจ้าและฮัมเพลงจีนอย่างอารมณ์ดี
เมื่อรู้ว่าพวกเรามาทำอะไร อาม่าเมี้ยวลั้งก็ไม่รอช้ารีบเล่าถึงกิจการอายุกว่าร้อยปีของตนอย่างภาคภูมิใจ กิจการเย็บเบาะเริ่มทำในรุ่นพ่อของพ่อ โดยสมัยก่อนจะทำเบาะรองนั่งและที่นอนซึ่งลูกๆทุกคนต้องช่วยกันทำ ตัวอาม่าเองต้องทำตั้งแต่เป็นเด็กตัวเล็กๆขาเหยียบจักรไม่ถึง
“สมัยไม่มีโซฟามีแต่ใช้เก้าอี้หวาย ก็เลยต้องทำเบาะรองนั่ง สมัยก่อนขายดี พ่อฉันทำส่งวันนึงร้อยลูก เราก็ระดมคนแถวนี้มาช่วย แต่ช่วงหลังพอมีโซฟามันเริ่มขายไม่ดีเราก็เลยเปลี่ยน เมื่อก่อนเค้าไหว้เจ้าคุกเข่ากับพื้น เรามองเห็นตรงนั้นเราเลยคิดว่าควรมีเบาะรองแล้วก็ทำขาย คนก็เอามาใช้”
อาม่าเล่าถึงจุดเริ่มต้นของกิจการ พี่เจี๊ยบทายาทรุ่นสามก็เล่าต่อว่าลูกค้าส่วนใหญ่ในตอนนี้เป็นคนจากศาลเจ้าที่ยังคงมาสั่งทำ โดยจะสั่งขนาดและจำนวนเสร็จสรรพ พี่เจี๊ยบ อาม่า และป้านิภาก็จะชวยกันตัดผ้าดิบ แล้วเอาไปเย็บ หลังจากนั้นมาสู่ขั้นตอนที่ยากและต้องมีเทคนิคเฉพาะของทางร้านคือการยัดใยมะพร้าวและนุ่น เมื่อเสร็จก็เอาไปจับริมแล้วใส่ปลอกหุ้มพลาสติกส่งขายที่เยาวราช
“สมัยนี้ก็ขายได้เรื่อยๆไม่ถึงกับขายดี ก็ต้องขายหมอนยัดนุ่นคู่ไปด้วย จริงๆทุกวันนี้ก็ไม่พอกิน ที่ทำก็เพื่ออนุรักษ์ไว้ หาอะไรให้คนแก่ทำแก้เซ็ง” พี่เจี๊ยบแซวอาม่าจนอาม่ายิ้มเขินๆ
พี่เจี๊ยบพาฉันเยี่ยมชมร้าน อุปกรณ์การทำล้วนถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น จักรเย็บผ้าอายุกว่าร้อยปี โต๊ไม้ยาวน้ำตาลคล้ำ ตู้กระจกโบราณ ทุกอย่างเป็นเสมือนสมาชิกคนหนึ่งในบ้านที่พี่เจี๊ยบพยายามดูแลให้ดีที่สุด พี่เจี๊ยบเล่าเพิ่มเติมว่าความจริงแล้วในพี่น้องทั้งห้าคนของพี่เจี๊ยบเย็บหมอนเป็นทุกคน แต่งานเย็บหมอนมันร้อน ลำบากและได้กำไรน้อยเลยไม่มีคนทำ พี่เจี๊ยบเคยพยายามจะสอนลูกค้าเพื่อช่วยกันอนุรักษ์แต่ลูกค้าก็ไม่เอา ส่วนลูกหลานในตระกูลก็ไม่มีใครทำเป็น ฉันได้ยินก็อดถามคำถามเดิมๆที่ถามมาแล้วถึงสองครั้งในวันนี้ไม่ได้
พี่เจี๊ยบเสียดายมั้ย
“เสียดาย แต่ทำไง”
อาม่าเมี่ยวลั้งที่เข้ามาได้ยินบทสนทนาระหว่างเราพอดีก็แทรกขึ้นมาอย่างอารมณ์ดีว่า
“ โอ๊ย ไม่ได้เงินจะไปเสียดายทำไม มันไม่พอกิน พูดตรงๆทำก็เพราะปากท้อง ทำแล้วไม่พอกินก็ต้องเปลี่ยนอาชีพ มันจำเป็น มันไม่พอกินนี่ ”
พี่เจี๊ยบและฉันยิ้มให้อาม่า พออาม่าออกไปพี่เจี๊ยบก็บอกฉันว่าความภูมิใจในงานนี้คือการได้อนุรักษ์สิ่งที่ บรรพบุรุษให้มาให้คงอยู่ คนรุ่นหลังจะได้เห็น พร้อมทิ้งท้ายประโยคที่เป็นแสงสว่างเล็กๆสำหรับคนรุ่นหลังอย่างฉัน
“พี่อาจไม่ใช่รุ่นสุดท้ายก็ได้ อนาคตยังไม่แน่นะ”
ฉันก็หวังอย่างนั้นเช่นกัน หวังว่าเข็มกับด้ายและวิชาความรู้ในการทำเบาะที่ส่งต่อกันมากว่าร้อยปี พี่เจี๊ยบจะได้ส่งมันให้ใครสักคนที่เห็นความสำคัญ อย่างที่พี่เจี๊ยบเห็น
…
ก็เหมือนตอนจบของหนัง เมื่อบางสิ่งมันเดินทางมาถึงช่วงสุดท้าย ตัวละครบางตัวอาจจะเลือกหันหลังให้อดีตและอยู่กับปัจจุบัน บางตัวอาจจะเลือกทำปัจจุบันให้ดีที่สุด และบางตัวอาจฝากความหวังไว้กับอนาคตที่ยังมาไม่ถึง แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตามเราในฐานะของคนดูไม่มีสิทธิ์ไปตัดสินใจแทนตัวละครนั้นๆ เราทำได้แค่เพียงเข้าใจในความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและยอมรับมัน
เท่านั้นใจเราก็เป็นสุข
และจงเชื่อมั่นว่าตัวละครทุกตัว เลือกทางที่ดีที่สุดของตนเองเสมอ