งานจากค่ายสารคดีครั้งที่ 10
เขียน ลภัสรดา ยศฐา
ภาพ วิชชุตา ลิมปณะวัสส์
คะเนว่าหากนำอะไหล่เก่าทุกชิ้นส่วนที่มีอยู่ในตลาดน้อยมากองรวมกัน มันคือภูเขาลูกย่อม ๆ นี่เอง
ตั้งแต่อะไหล่ชิ้นเล็กจิ๋วที่ต้องใช้กล้องส่องกระทั่งอะไหล่ชิ้นใหญ่โตมโหฬารถึงห้าหกเจ็ดคนแบก ที่นี่ ตลาดน้อย ก็มีให้เราเห็นจนเจนตาตามรายทาง แต่ใครจะรู้ถึงเบื้องหลังของย่านค้าเครื่องอะไหล่เก่าแห่งแรกของไทยนี้มากไปกว่า “กุลี” ในเซียงกง ผู้เป็นฟันเฟืองสำคัญที่ขับให้ตลาดน้อยเคลื่อนผ่านกาลเวลามาอย่างไม่ไหวหวั่น ตลอดกว่า 70 ปี ตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่2 เป็นต้นมา
อาจจะเป็นเพราะกลิ่นของน้ำมันเครื่องที่ผ่านการเผาไหม้ได้ลอยมากระทบจมูกตามจังหวะของลมที่พัดผ่าน หรือเพราะเสียงตอกของเหล็กที่ดัง โป๊ก โป๊ก ไม่ขาดสายจากร้านรวงที่มีอะไหล่เก่าวางอยู่เป็นกองพะเนินจากข้างในจนล้นออกมาข้างนอกลามไปจนถึงทางเดินเท้า และบางทีก็ถึงถนน อาจเป็นเพราะความระเกะระกะของกองอะไหล่เก่าที่สูงจนท่วมหัว อาจเป็นเพราะเสียงโหวกเหวกซึ่งดูคล้ายบทสนทนาของคนที่ทำงานคนละฝั่งถนน ถนนเล็ก ๆ ที่แทรกตัวอยู่อย่างสงบสุขในตลาดน้อย ที่เป็นเสน่ห์ของถิ่นย่านนี้จนทำให้มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติมาเยี่ยมเยือนอยู่บ่อยครั้ง
ย่านการค้าแห่งนี้มีขนาดกะทัดรัด เพียง 0.45 ตร.กม. ตั้งอยู่ในเขตสัมพันธวงศ์ใกล้กับวงเวียนโอเดียน ความกว้างไม่เกิน 300 เมตรจากถนนเจริญกรุงจรดแม่น้ำเจ้าพระยา ใช้เวลาเดินแบบเพลิน ๆ จากต้นทางยันปลายทางไม่ถึงครึ่งชั่วโมง ณ ถนนวานิช 2 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการค้าหนาแน่น ขนาดบางช่วงตอนของถนนแคบกระทั่งรถสวนกันไม่ได้
หากใครเคยย่างกรายผ่านย่านตลาดน้อย คงจะคุ้นเคยกับภาพบรรยากาศที่คงเอกลักษณ์ความเป็นย่านคนจีนได้เป็นอย่างดี และคงเป็นสถานที่คุ้นเคยสำหรับผู้ที่มีความสนใจด้านอะไหล่เก่ามาช้านาน เพราะที่นี่ นอกจากจะเป็นเซียงกงแห่งแรกของไทยแล้วยังมีรายนามตามสมาคมส่งเสริมผู้ค้าเครื่องยนต์และอะไหล่ใช้แล้ว (เขตตลาดน้อย) อยู่มากถึง 38 ร้านด้วยกัน ไม่นับรวมร้านเล็กร้านน้อยที่เพิ่งเปิดใหม่ แต่ละร้านก็มีทั้งอะไหล่รถเล็ก-ใหญ่ รถกระบะ รถบรรทุก สิบล้อ รถบัส ทั้งญี่ปุ่นทั้งยุโรปคละ ๆ กันไป รวมไปถึงสมอเรือ ก็ตามแต่ผู้ใช้บริการจะเลือกสรรกัน
จุดเริ่มต้นการค้าขายอะไหล่และเครื่องยนต์เก่าของตลาดน้อย เกิดจากความที่บรรพบุรุษชาวจีนมีคติในการดำเนินชีวิตที่ยึดถือความขยันและประหยัดอดออม คติเหล่านี้ทำให้เกิดการสรรสร้างเอาสิ่งของที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่าที่สุด เมื่อเห็นซากรถเก่าจอดทิ้งจอดขว้างตามที่ต่าง ๆ ก็เกิดเสียดาย ประกอบกับชาวจีนชอบการค้าขาย จึงเริ่มมีการรับซื้ออะไหล่จากซากรถเหล่านั้น นำมาแก้ไขซ่อมแซมแล้วจำหน่ายให้กับผู้ที่ต้องการในราคาประหยัด หรือไม่ก็นำไปหลอมรวมกับชิ้นส่วนหลากหลาย เป็นงานเหล็กเพื่อสร้างสินค้าอื่นต่อไป
ผู้ที่ถูกเรียกว่า “เถ้าแก่” หรือผู้ที่เป็นเจ้าของร้านค้าเครื่องยนต์และอะไหล่เก่าในเซียงกงปัจจุบัน ก็คือบรรดาลูกหลานของบรรพบุรุษชาวจีนที่ยึดถืออาชีพสืบต่อกันมานับหลายต่อหลายรุ่น ถึงแม้ความเฟื่องฟูของเซียงกงตลาดน้อยจะลดถอยไปตามกาลเวลาและคู่แข่งที่มีมากขึ้น แต่ตราบใดที่ชาวไทยเรายังนิยมใช้อะไหล่เก่า ยังยึดถือความประหยัดและมีจินตนาการสร้างสรรค์อย่างนักประดิษฐ์ ก็เชื่อว่าเซียงกงตลาดน้อยจะยังคงดำรงอยู่ต่อไปได้อีกเรื่อย ๆ
พระอาทิตย์เริ่มโรยตัวแล้วขณะที่ร้านรวงเซียงกงในตลาดน้อยเริ่มทยอยกันปิดบานประตูหน้าร้าน บรรยากาศที่มีผู้คนพลุกพล่านจอแจในตอนกลางวัน เริ่มเข้าสู่โหมดจำศีลชั่วคราวในยามกลางคืน
“ที่นี่ปกติเริ่มงานกัน 8 โมงเช้า เลิกก็ 5 โมงเย็น เมื่อก่อนเริ่มเช้ากว่านี้อีก แต่ตอนนี้งานไม่ค่อยมากเหมือนแต่ก่อน” พี่บอลซึ่งกำลังง่วนอยู่กับการซ่อมปั๊มไฮดรอลิคกล่าวขึ้นมา ร้านวีอะไหล่ที่เขาทำงาน ยังไม่มีทีท่าว่าจะปิดเหมือนร้านอื่น ๆ เฮียวีเถ้าแก่เจ้าของร้านเพิ่งขี่รถมอเตอร์ไซค์ออกไป เราจึงพอมีเวลาพูดคุยกับผู้ที่ทำงานหน้าร้านบ้าง
“พี่ทำมา 5 ปีแล้ว ทำตั้งแต่ติดตั้งกระดานไม้บอร์ด ยันซ่อมทีวี พี่มันเป็นสารพัดช่าง” ชายหนุ่มยิ้มกริ่มภูมิใจในอาชีพของตน เขาเป็นพนักงานบริษัทเอกชน ซึ่งมารับหน้าที่ช่วยเหลืองานที่นี่เป็นครั้งคราวเพื่อหารายได้พิเศษ และเป็นคนไทยเพียงไม่กี่คนที่ทำงานเป็นลูกจ้างร้านเซียงกงในตลาดน้อย ชายหนุ่มรูปร่างสันทัดแต่มีกล้ามเป็นมัด ๆ ผู้นี้ทำงานกระฉับกระเฉงทีเดียว
“คนทำงานที่นี่นับหัวคนไทยได้เลย ส่วนใหญ่เป็นลาวทั้งนั้นเพราะค่าแรงเขาถูกกว่า วันละ 300 เราคนไทยได้วันละ 550” เขาลดความดังของระดับเสียงลงเมื่อกล่าวถึงผู้ที่ถูกว่าจ้างให้ทำงานในละแวกนี้ ก่อนจะละมือจากอะไหล่เก่าตรงหน้าเพื่อมาสนทนากับเราโดยเฉพาะ
เจ้าตัวยิ้มอีกครั้งเมื่อถูกถามถึงความสัมพันธ์ของเหล่าคนเซียงกง
“อยู่นี่รู้จักกันหมด ลูกจ้างนี่ยิ่งต้องรู้จักกันเลย ต้องโป๊วของกันตลอด ร้านเราไม่มีของก็ต้องไปโป๊วร้านเขา เขาไม่มีอะไรก็ต้องมาโป๊วของเรา อยู่นี่เหมือนญาติพี่น้อง ต้องถ้อยทีถ้อยอาศัย มีอะไรเราช่วยเหลือกัน”
“ลูกน้องกับลูกน้องคุยกันง่าย เถ้าแก่เขามีหน้าที่จ่ายตังค์อย่างเดียว” ลูกจ้างที่ร้านข้าง ๆ ช่วยเสริม ขณะเริ่มทยอยเก็บของ
“ยิ่งเวลาต้องยกของส่งของ ร้านใกล้ ๆ ก็ช่วยกัน ตาเขาเราก็ช่วยกลับ จะเห็นน้ำใจกัน เราชอบในน้ำใจคนที่นี่ตรงนี้” ชายหนุ่มเอามือเช็ดที่เสื้อยืดของตนลวก ๆ เสื้อที่เมื่อก่อนเคยเป็นสีขาวสะอาดแต่บัดนี้มีสีเทาเข้มเป็นด่างดวงและคราบน้ำมันเปรอะจนทั่ว ไม่นับกางเกงที่มีรอยขาดและคราบต่าง ๆ มากกว่าที่เสื้อเสียอีก คนทำงานคนอื่น ๆ ก็ดูสภาพไม่ต่างกันมากนัก
“พี่มาทำงานแรก ๆ ก็รู้สึกสกปรกนะ” ยิ้มเขิน ๆ เผยออกมาจากใบหน้าเปื้อนคราบน้ำมันเกียร์ พร้อมกวาดสายตาไปยังบรรดาอะไหล่เก่า เศษเหล็ก เครื่องไม้เครื่องมือและกระป๋องจาระบีที่อยู่กระจัดกระจายเต็มพื้น
“เพราะพี่ทำงานบริษัทเป็นหัวหน้าคน พอต้องมาทำงานแบบนี้แรก ๆ ก็ไม่ชิน พอทำมันนานเข้าก็เริ่มชินไปเรื่อย ๆเอง เดิมพี่อยู่ฝั่งธน อากาศดีกว่าเยอะ พอมาอยู่ฝั่งพระนครมันจอแจ แต่เมียพี่เป็นคนตลาดน้อยนี่ เลยต้องอยู่ช่วยเมียทำงานด้วย”
เมื่อพูดถึงการก้าวเคลื่อนไปของตลาดน้อย เขาถ่อมตัวด้วยการบอกว่าตัวเองเป็นเพียงฟันเฟืองชิ้นเล็ก ๆ เท่านั้น และคิดว่าฟันเฟืองชิ้นที่สำคัญกว่าตนนักคือ โหล่ยเกี๊ยะ
“ไปรอดูได้เลย ตั้งแต่ตี 5 ถึง 2 โมงเช้า พวกโหล่ยเกี๊ยะจะเอาของมาขายที่ท่าน้ำภาณุรังสีทั้งเส้น เขาจะหาของจากต่างจังหวัดเอาเข้ามา พวกเถ้าแก่เองก็ต้องไปรอซื้อของจากคนพวกนี้ ถ้าไม่มีพวกนี้เราก็ไม่รู้จะเอาอะไรมาขาย”
อีกพวกคือลูกค้าที่เข้ามายังตลาดน้อย “เมื่อก่อนลูกค้าหลักเราคือพวกแขกนะ แขกปากีสถาน อัฟกานิสถาน อินเดีย พวกนี้ ประเทศอื่นจะมองเขาเป็นผู้ก่อการร้าย ทำให้เข้าประเทศอื่นไม่ค่อยได้ เขาจึงนิยมมาบ้านเรา แต่เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมากแล้วล่ะ ลูกค้าจะเป็นคนไทยเรานี่เองมากกว่า”
เข็มนาฬิกาชี้ไปใกล้เลข 5 เต็มทีแล้ว ก่อนที่พี่บอลจะปิดร้าน เราได้ถามไถ่ถึงสถานที่ที่เหล่าคนเซียงกงมักไปสังสรรค์กัน เนื่องจากสมัยก่อนมีโรงฝิ่น เดี๋ยวนี้ล่ะเขาไปไหนกัน
“จริง ๆ พวกเราก็มีกินเบียร์กันบ้างตามหน้าร้านนี่ล่ะ หรือไม่ก็ไปตามร้านขายของชำ ร้านเจ๊เล็กก็ขายเหล้า ตรงนู้นน่ะ” เขาโบ้ยมือข้างที่เพิ่งถอดถุงมือผ้าสีเทาขุ่น เต็มไปด้วยคราบน้ำมัน มีแถบสีขาวของถุงมือเดิมให้เห็นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ปลายนิ้วชี้ที่หมายไปยังสี่แยกเล็ก ๆ ของถนนวานิช2 เต็มไปด้วยฝุ่นเขม่าดำและคราบต่าง ๆ ตามนิ้วมือและซอกเล็บ ไม่ต่างไปจากถุงมือที่เพิ่งถอดมาเลย
“พวกลูกจ้างชอบไปกัน แต่เราจะไปต่างหากนะ ลูกจ้างไทย-ลาวคนละสังคมกัน ถ้าเราไปแล้วเขาพูดลาว เราก็ฟังไม่รู้เรื่อง แต่เรื่องงานเราคุยกัน ช่วยกันตลอด”
ไม่ทันขาดคำ เขากล่าวทักทายผู้ที่ขี่มอเตอร์ไซค์ผ่านหน้าร้านอย่างคนคุ้นเคย
“เถ้าแก่คู่เขยของเฮียวีน่ะ อยู่ร้านใกล้ ๆ นี่แหละ” เราได้แต่ยิ้ม เข้าใจในความหมายที่เขาบอกว่าคนที่นี่อยู่กันเหมือนญาติพี่น้อง
เดินออกมาอีกไม่ไกล เข้าไปในซอยข้าง ๆ ร้านขนมเปี๊ยะชื่อดังของย่านตลาดน้อย ‘ร้านเฮียงเตียง’ มีมุมทำงานของร้านกลึงเหล็กไม่ใหญ่โตนัก แต่ก็ไม่เล็กจนเกินไปอยู่ข้างใน เรารู้ว่ามีร้านนี้ได้เพราะเสียงตอกเหล็กดังออกมาชัดเจน ถึงแม้จะเป็นเวลา 5 โมงแล้ว แต่ดูเหมือนว่าทุกคนในร้านยังคงทำงานกันอย่างขะมักเขม้น ‘พี่ต้น’ ผู้ซึ่งกำลังใช้แท่งเหล็กยาวขนาดเหมาะมือ ไล่เกลี่ยเศษฝอยเหล็กในเครื่องจักรขนาดเขื่อง จนเกิดเสียงดัง สวบ สวบ อย่างดุดันและสม่ำเสมอ
“ผมมาจากอุบล เพิ่งมาทำที่นี่ได้ 2 ปี มีคนแนะนำมา เลยมากับเพื่อนอีกคน เช่าห้องพักอยู่ใกล้ ๆ ที่นี่ อยู่รวมกันกับคนงานคนอื่น ๆ”
ขณะที่พยายามบอกเล่าเรื่องราวของเขาด้วยเสียงสำเนียงไทยแปร่ง ๆ เขาก็มิได้ละมือจากงานที่ทำอยู่เลยแม้แต่น้อย บริเวณพื้นมีเศษเหล็กตกกระจายเต็มไปหมด ช่างทุกคนใส่บู๊ทหนา แต่ตอนเดินเข้ามากลับมองไม่เห็น ถ้าเดินไม่ระวังมีหวังรองเท้าผ้าใบบาง ๆ ที่ใส่เอาไม่อยู่แน่
“ไอ้นี่ มีสาวมาคุยด้วยถึงที่เลยเว้ยเฮ้ย” เสียงของเพื่อนคนงานช่างแซวดังแว่วขึ้นมาไม่ไกลนักจากที่เรายืนคุยกับพี่ต้น เราจึงเปลี่ยนเป้าหมายไปถามไถ่คนช่างแซวแทน ถือโอกาสเดินออกจากดงเศษเหล็กด้วย
“อยู่นี่ไม่ค่อยได้เจอหญิง มันก็ต้องแซวกันบ้าง ผู้หญิงที่ไหนเขาจะมาที่แบบนี้ มีแต่เจ๊มาสั่งของเท่านั้นแหละ” เพื่อนช่างแซวพูดจาติดตลก ทำให้เราอดขำไม่ได้
“ไปคุยกับคนนั้นเถอะ คนนั้นเขาอยู่มานานกว่าผม” ไม่พูดเปล่า เขาชี้มือไปที่ชายคนหนึ่งซึ่งอยู่ในมุมเล็ก ๆลักษณะคล้ายห้องใต้บันได
‘พี่เขมเมือง’ ที่ใส่หน้ากากสีดำสนิทกำลังใช้เครื่องอ๊อกเหล็กจี้ไปที่อะไหล่ชิ้นหนึ่ง ผ้าคลุมหน้าที่ถูกใช้ป้องกันผิวจากสะเก็ดไฟลดเลื่อนลงมาพอให้เจ้าของใบหน้าได้สูดเอาอากาศหายใจ
“ผมทำมาจะ 6 ปีแล้ว ถือว่ายังใหม่นะ คนเก่าแก่เขาทำกันมา 30-40 ปีโน่น” คราวนี้ผ้าคลุมหน้าถูกลดลงมาจนถึงที่คอ
“แต่คนเก่าแก่จริงก็ทยอยเป็นมะเร็งตายกันไปหมดแล้วล่ะ ไอ้เรามันเลือกไมได้ ทำได้แค่ป้องกันตัวเอง ใส่ผ้าใส่แว่นไป ไอ้ที่ทำนี่มันยิ่งกว่าดูดบุหรี่เสียอีก ควันที่อ๊อกเหล็กเนี่ยอันตรายจะตาย”
เมื่อเราแสดงความเห็นใจ พี่เขมเมืองได้แต่บอกว่าต้องทำใจ
“ทั้งแสงทั้งควันที่อ๊อกมันมีผลกระทบหมด ทำให้แสบตาด้วย อายุ 40 นี่ไม่รู้ว่าจะยังมองเห็นอะไรอยู่รึเปล่า ทุกวันนี้ก็ชินแล้ว ต้องทำใจ”
เพื่อผ่อนคลายบทสนทนา เราเลยลองพูดไปเล่น ๆ ว่าน่าจะมีผู้หญิงมาทำงานที่นี่บ้าง เขาก็ระเบิดเสียงหัวเราะ
“ผู้หญิงจะไปทำไหวได้ยังไง งานประเภทนี้ ใช่ไหมลูกพี่ รับไหมผู้หญิงน่ะ” ชายหนุ่มคนหน้าตะโกนถามบุคคลที่ถูกเรียกว่า ลูกพี่ เจ้าตัวเองก็ส่ายหน้าพร้อมกับหัวเราะไปด้วย
“เออ แต่มีนะโว้ย ช่างประกอบเกียร์ไง บางงานก็เป็นผู้หญิงนะโว้ย” ลูกพี่ ตะโกนตอบกลับมาเหมือนเพิ่งนึกขึ้นได้ ไม่น่าเชื่อว่าพูดไปเล่น ๆ แต่กลับมีจริง ๆ
เรายืนกันตรงนั้นได้สักพัก ก็รู้สึกถึงความร้อนจากหลอดไฟฮาโลเจนสีเหลืองที่ส่องตรงลงมายังบริเวณด้านบนของศีรษะของชายหนุ่มพอดิบพอดี สว่างมากพอสำหรับการลงรายละเอียดในชิ้นงาน แต่คงร้อนเกินไปสำหรับเราผู้ไม่คุ้นชิน มีแต่เพียงหมวกแก๊ปบาง ๆ เท่านั้นที่ช่วยปกคลุมหนังศีรษะของเขาไว้ เหงื่อเม็ดเป้งผุดพรายตามใบหน้าส่วนที่สามารถมองเห็นได้ ร่างกายส่วนที่เหลือถูกปกคลุมไว้อย่างดี เขากระชับหน้ากากสีดำวาวทาบทับใบหน้าก่อนจะใช้เครื่อง
มืออ๊อกเหล็กจี้ไปที่อะไหล่ชิ้นเขื่อง แสงประกายไฟสว่างจ้าจนต้องหยีตา ก่อนเราจะลาเขาตะโกนทิ้งท้ายมาว่า
“เดี๋ยวจะไปสังสรรค์กันที่ร้านยาดอง ไปด้วยกันไหมล่ะ”
ถ้าหากว่าไม่มืดค่ำเสียก่อน อาจจะได้สนองคำชวนเสียแล้ว ทว่า เราตอบปฏิเสธไปอย่างนุ่มนวล
ร้านรวงต่าง ๆ ที่ตลาดน้อยกำลังเข้าสู่โหมดจำศีล เตรียมพร้อมเปิดใหม่ในเช้าตรู่ของวันต่อมา