งานจากค่ายสารคดีครั้งที่ 10
เขียน-สินีนาฎ คะมะคต

ภาพ-วริศรา แซ่จิว

ถ้ามีใครสักคนพูดถึงตลาดอะไหล่เครื่องยนต์มือสอง ทุกคนก็คงจะนึกถึง ‘เซียงกง’ แหล่งชุมชนเก่าแก่ของตลาดน้อย ที่ทำการค้าขายอะไหล่และชิ้นส่วนต่างๆของรถยนต์ทุกประเภท เช่นเดียวกันกับตัวฉัน

” มันคือเศษเหล็กมือสอง ” นั่นคือเสียงความคิดของฉันดังขึ้น ในครั้งแรกที่พาตัวเองมายืนในย่านตลาดน้อย ขณะที่เสียงความคิดผุดขึ้น สายตาก็ยังคงจับจ้อง อะไหล่เครื่องยนต์ที่ถูกวางกองกันเป็นเนินสูงอยู่ริมถนนเส้นเล็ก  น่าแปลกที่ฉันกลับรู้สึกสะดุดตา จนไม่สามารถละสายตาออกไปจากพวกมันได้ ยิ่งเมื่อได้เดินตามตรอกซอกซอยไปเรื่อยๆ ในย่านเซียงกง กลับรู้สึกว่ามันมีเสน่ห์บางอย่างที่น่าค้นหาถึงแหล่งที่มาของพวกมัน ร้านอะไหล่เครื่องยนต์มือสองที่เปิดเรียงกัน ชนิดที่กำแพงชนกำแพง ติดกันเป็นแนวยาวทั้งสองฝั่งถนนซอยวานิช 2 ซึ่งเหมาะ และสะดวกแก่คนที่ออกตามหาอะไหล่ที่ต้องการ แต่มันกลับสร้างความหนักใจให้แก่ฉัน ผู้ที่ต้องค้นหาความเป็นมาของมัน โดยการสัมภาษณ์เจ้าของร้านที่เป็นร้านดั่งเดิม ตั้งแต่ช่วงธุรกิจย่านนี้ขยายตัวขึ้นมา ในขณะที่ร้านอะไหล่เต็มสองข้างทาง จนเลือกไม่ถูกว่าจะเข้าไปสัมภาษณ์ร้านไหนดี

แดดเริ่มแผดเผาแรงขึ้นจากเดิมเป็นทวีคูณ เมื่อดวงอาทิตย์เคลื่อนย้ายตัวมาอยู่บนศรีษะเรา เวลาผ่านไป ในขณะที่ฉันยังคงหาคนสัมภาษณ์ไม่ได้ ฉันเดินเข้าไปในซอยที่เล็กขนาดรถจักรยานยนต์วิ่งสวนผ่าน มองร้านกึ่งบ้านพัก ที่มีกองอะไหล่ยนต์ถูกเก็บอยู่ในที่มุงสังกะสีหลังเล็กหน้าบ้าน กลิ่นน้ำมันเก่าที่ติดอยู่กับเหล็ก ก็พร้อมกันโชยออกมาแตะจมูกขณะเดินผ่าน แต่ก็ไม่ได้ทำให้เสน่ห์ของมันลดลงอย่างใด กลับเพิ่มเสน่ห์ให้มันด้วยซ้ำ ขณะที่ข้อมูลในสมองว่างเปล่า เท้าก็ยังทำหน้าที่เดินทอดน่องบนถนนสายนี้ต่อไป สายตาจับจ้องมองร้านอะไหล่ยนต์กึ่งบ้านพักที่เรียงรายอยู่เต็มฝั่งซ้ายถนนไปเรื่อยเปื่อย จนกระทั่งเดินออกมาจนถึงปากซอยโดยไม่รู้ตัว ทางเดินบังคับให้เลี้ยวขวา ในขณะที่มีชายมีอายุใส่เสื้อเชิ้ตแขนสั้นลายตารางสีน้ำเงินเดินสวนออกมาจาก ร้านอะไหล่เครื่องยนต์ที่ตั้งตรงหัวมุมซอยด้านซ้ายที่เป็นทางตันพอดี สายตาฉันเบนไปมองฉับพลัน คุณลุงมองจ้องตอบด้วยสายตาที่นิ่งสงบ ความเชื่อบางอย่างพุ่งขึ้นมา ในขณะที่ปากของฉันก็พูดออกไปเร็วเท่าใจคิด






คุณลุงเริ่มเล่าความเป็นมาทันทีที่ฉันย่อตัวนั่งลงจดบันทึกที่โต๊ะหินอ่อนเยื้องหน้าร้าน ในบรรยากาศที่แดดเริ่มอ่อนแสง และถูกแทนที่ด้วยกลุ่มก้อนเมฆสีเทา ที่มาพร้อมกับลมที่พร้อมจะเกิดฝนได้ทุกเมื่อ คุณลุงเล่าในขณะที่สายตาก็ยังคงจับจ้องร้านของตนที่ตั้งอยู่เบื้องหน้า ด้วยสีหน้านิ่งเฉย มีเพียงสายตาเท่านั้นที่บ่งบอกได้ว่าภูมิใจกับสิ่งที่ตนสร้างมากับมือเพียงใด เรื่องราวประโยคยาวในอดีตที่คุณลุงกำลังเล่าขานอย่างรวดเร็ว ทำให้มือของฉันล้วงหยิบโทรศัพท์ขึ้นมาอัดเสียงโดยอัตโนมัติ คุณลุงโบกมือปฎิเสธทันควัน พลางพูดปฎิเสธซ้ำไปซ้ำมาอยู่หลายรอบ ดั่งเช่นคนที่ไม่คุ้นชินกับเทคโนโลยี ที่เน้นจด และจำมากกว่า และเมื่อจะซักถามชื่อเสียงเรียงนาม คุณลุงก็ได้แต่บอกว่า ” เอาเป็นว่า เป็นลุงแก่ๆอายุ 60 กว่าปีแล้วกัน ”

ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง ชาวจีนได้มีการอพยพมายังย่านตลาดน้อยเป็นจำนวนมาก เนื่องจากความเจริญรุ่งเรืองของ ‘ตะลัคเกียะ’ หรือในชื่อ ‘ตลาดน้อย’ ที่คนไทยรู้จักกันมาอย่างยาวนานนั่นเอง

ตลาดน้อยตั้งอยู่แถบถนนเจริญกรุง ในพระนคร ซึ่งเปรียบเสมือนศูนย์กลางการค้าขาย แลกเปลี่ยนทั้งทางน้ำและทางบกในสมัยนั้น แถมยังเป็นแหล่งงานสำคัญแห่งหนึ่งอีกด้วย แรงงานจีนหลายคนที่เข้ามาค้าขายจนมีเงินทอง ต่างก็ขยับฐานะมาเป็นเถ้าแก่ สร้างการค้าขายที่ดียิ่งขึ้น ทำให้สร้างชื่อเสียงแก่ย่านตลาดน้อย และมีการสร้างบ้านที่มีความเป็นจีนขึ้นในย่านนี้ ทำให้ในปัจจุบัน บ้านเหล่านั้นก็ยังคงเป็นสถาปัตยกรรมที่สวยงาม เก่าแก่ และน่ารักษาเพื่อให้เยาวชนรุ่นหลังได้ศึกษา ชมเชย

ครั้งเวลายังเป็นเด็ก พ่อ ผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวจีนแต้จิ๋ว ก็ได้พาสมาชิกครอบครัวย้ายเข้ามาในย่านตลาดน้อย ที่อยู่ที่ดีที่สุด ณ ตอนนั้นคงจะเป็นการเช่าอยู่ในกุฎิวัด เพื่อให้เงินแต่ละสตางค์ เลี้ยงคนในครอบครัวให้ได้มากที่สุด พอเริ่มมีเงินเก็บ พ่อก็ได้เช่าร้านเพื่อทำการค้าขายอะไหล่เครื่องยนต์ คุณลุงในวัยประถมศึกษาที่ 1 ในสมัยนั้นสามารถเลือกเรียนได้ ว่าใครสะดวกเรียนในช่วงใด การเรียนการสอนของวัยประถมศึกษาที่ 1 – 4 จะแบ่งออกเป็นสองรอบ คือรอบเช้า และรอบบ่าย เนื่องจากเด็กสมัยนั้นมักต้องคอยช่วยเหลือพ่อแม่ หยิบจับเล็กๆน้อยๆเพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระ หรือการทำงานเพื่อช่วยเหลือครอบครัว ดังนั้นคุณลุงจึงเลือกที่จะเรียนแต่เช้าตรู่จนถึงสามโมงครึ่ง เพื่อที่เวลาหลังเลิกเรียน จะกลับมาช่วยพ่อทำงานที่ร้าน เมื่อเริ่มเติบโตมากขึ้น แววในด้านการทำงานเกี่ยวกับอะไหล่เครื่องยนต์ของคุณลุง ก็เริ่มฉายออกมาให้พ่อได้เห็นมากที่สุด ในบรรดาพี่ๆน้องๆหลายคนในครอบครัว ซ้ำยังมีความขยันขันแข็ง มุ่งมั่น และสนใจเรื่องเครื่องยนต์เป็นพิเศษ พ่อจึงเริ่มสอนงานซ่อมแซมชิ้นส่วนประกอบต่างๆของเครื่องยนต์ให้แก่คุณลุง ในวัยเพียง 14 ปี จนกระทั่งเริ่มมีความชำนาญในการซ่อมแซม และมีความรู้ด้านอะไหล่ยนต์มากขึ้น คุณพ่อของคุณลุงจึงได้ชักชวนให้เริ่มมาทำงานที่ร้าน โดยเป็นลูกจ้างภายในร้านของพ่อ คุณลุงตกลงทันที ถึงแม้การทำงานจะเป็นไปอย่างหนักหน่วง สำหรับเด็กที่อายุกำลังย่างเข้าสู่วัยรุ่น ที่ต้องเริ่มงานตั้งแต่ หกโมงเช้า ยันเลิกงานตอนหนึ่งทุ่ม หรือสองทุ่ม พร้อมกับรับค่าแรง 1-2 บาทในสมัยนั้น ที่ถือว่าเยอะสำหรับเด็กวัย 14 ปี

ช่วงวัยรุ่น ไม่ว่าจะเป็นปัจจุบันหรือในอดีต ก็มักจะมีการไปเที่ยว พบปะสังสรรค์กันตามประสา พร้อมความท้าทาย อยากรู้อยากลองท้ังสิ่งที่ดีและสิ่งที่ไม่ดี คุณลุงเล่าว่า ในสมัยนั้นความเจริญรุ่งเรืองเริ่มมาก อบายมุขก็เริ่มมากขึ้น บางสิ่งบางอย่าง ลุงก็ลอง เพื่อให้ได้รู้ และเมื่อรู้ผลก็ถอยตัวกลับมา ไม่ได้จมปรักอยู่กับมัน

” ลุงเลือกจะจมปรักกับงานมากกว่า ” นี่คือคำพูดที่สะท้อนถึงตัวตนของคุณลุงได้ดีที่สุด คนขยัน และคนประหยัด มักจะได้เปรียบกว่าคนอื่นๆ คุณลุงขยายความ คุณลุงเลือกที่จะเป็นลูกจ้างในร้านของพ่อ เพื่อเก็บเงินไปซื้อรถจักรยานยนต์คันเก่าราคาถูก ” อย่างนี้แสดงว่าคุณลุงก็แทบไม่ได้ออกไปเที่ยวกับเพื่อนๆเลยหรอค่ะ ในขณะที่ทำงานเก็บเงิน ” ฉันถามออกไปด้วยความสงสัย ” ไปสิ ” คุณลุงตอบทันควัน เป็นไปไม่ได้หรอกที่จะไม่พบปะ หรือไปเที่ยวกับเพื่อนฝูง คนเราต้องมีสังคม ไม่ว่าจะสังคมเล็กหรือสังคมใหญ่ก็ตาม หรือต่อให้เรามุ่งมั่นในการเก็บเงินเท่าไหร่ ก็ไม่จำเป็นต้องเคร่งครัดขนาดที่จะต้องตัดสังคมออกไปจากชีวิตเรา เพียงเพราะการพบปะนั้นจะต้องใช้เงินเพื่อใช้จ่ายก็ตาม

นานวันผ่านไป เงินที่ทำงานเก็บไว้ก็เริ่มเพิ่มพูน จนถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้ คุณลุงก็นำเงินไปซื้อรถจักรยานยนต์ออกมาขับตระเวนหารับซื้ออะไหล่เครื่องยนต์ต่างๆตามร้านขายของเก่า ในงบวันละ 300 – 400 บาทต่อวัน แล้วนำของเหล่านั้น ยัดใส่กล่องลังพลาสติกที่ถูกเชือกมัดขึงไว้ติดท้ายรถจักรยานยนต์ของตนตระเวนไปยังที่ต่างๆ ชิ้นส่วนประกอบไม่ว่าจะเป็น อะไหล่รถเก๋ง ยันอะไหล่รถสิบล้อ โลหะ หรืออโลหะ คุณลุงก็รับซื้อหมด เพื่อนำเอาไปขายต่อยังร้านอะไหล่เครื่องยนต์หลากหลายร้าน ที่พร้อมจะรับซื้อไปซ่อมขายต่อ นี่คือชีวิตประจำวันของคุณลุงในสมัยนั้นที่ทำเป็นประจำทุกวัน จนกระทั่งอายุย่างเข้า 18 ปี เงินที่เก็บได้ทั้งหมดของตนก็เริ่มมีมากขึ้น คุณลุงฉุกคิดได้ว่า มันสมควรในการซื้อกิจการเป็นของตนได้แล้ว ถึงแม้จะดูค่อนข้างเสี่ยงกับการลงทุนใหญ่ในขณะที่อายุยังน้อย แต่คุณลุงก็คิดว่ามันดูจะคุ้มค่ากับการเสี่ยงลงทุน ลงมือทำกิจการนี้ คุณลุงเลือกหาร้านที่ให้เช่าในราคาถูก และก็ได้พบสถานที่ที่หนึ่ง ที่เหมาะสมแก่การเช่าเปิดร้านทำอะไหล่ ในราคาหนึ่งถึงสองแสนบาท ขณะที่ในพระนคร ทองบาทละสี่ร้อย

” ในอดีต ดูเหมือนจะหาเงินได้ง่ายกว่าในสมัยนี้ “ คุณลุงรับฟัง พลางขยายความให้ฟังอย่างน่าประทับใจ ” เงินหาง่ายมากในสมัยนั้น แต่สิ่งยั่วยุก็มีมากเช่นกัน “ ขณะที่คุณลุงหันมามองหน้าและพูดประโยคนั้นให้ฉันฟัง คุณลุงก็ยกมือกำ แล้วกางนิ้วโป้งชี้ไปทางด้านหลังของคุณลุง พลางพูดเสียงเบาอย่างกระซิบว่า ปัจจุบันนี้ก็ยังมี บ่อนการพนัน …แบบนั้นไง ฉันจึงได้แต่เอี้ยวตัวหลบคุณลุง เพื่อให้มองเห็นสถานการณ์ด้านหลังคุณลุง ภาพที่ปรากฎในสายตาฉัน เป็นศาลเล็กๆที่ถูกตั้งไว้บูชาประจำซอยนี้ มีชายวัยกลางคนนั่งจดอะไรยุกยิกลงไปบนปึกกระดาษปึกเล็กๆหลายเล่ม ที่ถูกวางไว้บนโต๊ะ กางตั้งไว้หน้าศาล คุณลุงพูดขยายความต่อโดยไม่ยืดเยื้อ  การหาเงินง่าย ก็ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าเราโตขึ้นไปจะรวย และมีชีวิตมั่นคงได้นะ ‘เงิน’ มันมีได้ และมันก็หมดได้เช่นกัน เพราะฉะนั้น ” ถ้าอยากได้เงินเยอะ ก็ต้องขยันมากกว่าคนอื่น และทุกๆอย่างต้องสร้างมาด้วยตัวเอง “ ทัศนคตินี้ของคุณลุงนั่นเองที่ทำให้คุณลุงตัดสินใจเปิดร้านอะไหล่เครื่องยนต์ ในวัยเพียงแค่ 18 ปี ลองผิด ลองถูกในการบริหาร ควบคู่ด้วยความรู้ และความสามารถต่างๆที่คุณพ่อได้ถ่ายทอดให้ติดตัว

ในแต่ละวัน คุณลุงจะเป็นคนดูแลงานทุกด้านภายในร้าน ทั้งการซื้อขาย และการดูแลควบคุมการทำงานของลูกน้อง คุณลุงได้นำเงินก้อนที่เหลือ จ้างชายหนุ่มแรงงานอีสาน ซึ่งดูแตกต่างกับร้านประเภทอื่นๆในระแวกเดียวกัน ที่มักจะจ้างแรงงานชาวจีนที่อพยพมาค้าแรงงาน ณ ตลาดน้อยแห่งนี้ คุณลุงได้ให้เหตุผลว่า คนจีน เป็นคนขยันขันแข็งทำมาหากิน ถ้าเขามาเป็นลูกน้องเรา เราสอนงานเขาไปหมดแล้ว เมื่อถึงวันหนึ่งที่เขามีทุนมากพอ ที่จะใช้ในการสร้างร้านอะไหล่ยนต์เช่นเดียวกันกับลุง เมื่อนั้นเขาก็จะลาออก แล้วไปซื้อ เช่าร้าน เพื่อเปิดกิจการเป็นของตัวเอง เป็นเถ้าแก่คนใหม่ ในขณะที่ลุงต้องการคนงานที่จะสามารถอยู่กับร้านลุงไปได้นานๆ ไม่ต้องคอยสอนงานใหม่ให้บ่อยๆ

เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยที่สามารถรับผิดชอบหน้าที่การงานได้อย่างเต็มตัว คุณพ่อก็ยกร้านอะไหล่เครื่องยนต์ของตัวเองให้แก่คุณลุง เพื่อปลดเกษียณตัวเองในวัยที่เริ่มแก่ชรา และในวันที่ลูกๆทุกคน สามารถยืนได้ด้วยลำแข้งของตัวเองเช่นกัน ที่แหล่งนี้จึงเป็นความทรงจำอันล้ำค่าของคุณลุง ไม่ใช่เพราะความเก่าแก่ ดั่งเดิมของที่นี้ เพียงแต่ที่นี่ช่วยสร้างจุดยืนที่มั่นคงในชีวิตให้ครอบครัวคุณลุงให้มีรายได้ได้แล้ว ยังเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงเยาวชนที่ต้องการความรู้ ความสามารถในการฝึกซ้อมฝีมือ ให้เก่งกาจในวันข้างหน้าได้อีกด้วย ก็คงเปรียบได้ดั่งโรงเรียนอนุบาลที่ได้ทำการเพาะปลูก อบรมเด็กน้อย เพื่อให้เติบใหญ่เป็นเถ้าแก่ได้ดีทีเดียว

การที่เราอยากจะอยู่จุดที่สูงที่สุด ดั่งเช่นปลายยอดเขา ในขณะที่เราใช้ชีวิตอยู่บนพื้นดินทางเรียบ ได้แต่เงยหน้ามองไปวันๆ ความฝันที่จะอยู่ในจุดนั้นคงยากเอาการ หากไม่ลองก้าวขาเข้าไปในเขตตีนเขา ลองนำฝ่าเท้าก้าวย่างเข้าไปในกลางดงพงไพรที่สูงใหญ่ ที่บ้างก็มีกิ่งแหลมยื่นเกี่ยว บ้างก็มีเส้นทางขรุขระ ที่ต้องใช้พลังงานร่างกายและพลังงานจิตใจไปเข้าสู้ กับความสูงชันในการเดินขึ้นเขา ความฝันมักต้องแลกด้วยการลงมือทำและก้าวขาเดินไปข้างหน้า เพราะคงไม่มีนวัตกรรม หรือเทคโนโลยีใด ที่จะสามารถโอบอุ้มเราขึ้นไปสู่บนจุดยอดเขาได้ โดยไม่มีการเสียค่าใช้จ่าย.