ไทยแชมป์ – ร้อยเส้นทางแชมป์ไทยไปแชมป์โลก
ยังจำกันได้ไหม
เด็กชายหม่อง ทองดี ชนะการแข่งพับกระดาษเป็นเครื่องบินแล้วร่อนได้นานที่สุด
แต่เด็กน้อยก็เผชิญอุปสรรคว่าไม่อาจเดินทางออกนอกประเทศไปเป็นตัวแทนประเทศไทยแข่งระดับนานาชาติที่ญี่ปุ่น เพราะเขาเป็นเด็กชาวไทยใหญ่ไร้สัญชาติ แต่ในที่สุดเขาก็ไปคว้าแชมป์โลกกลับมาได้สำเร็จ
ผ่านไปหลายปี วันนี้ หม่อง ทองดี ทำอะไรอยู่
หลายคนอาจไม่รู้ว่าเมืองไทยมีคนไทยที่ไปแข่งขันในเวทีต่าง ๆ จนเป็นแชมป์โลกอยู่จำนวนไม่น้อย
ไม่ใช่เราจะมีแต่นักมวย นักกีฬา หรือเด็กสมองเลิศที่ได้เหรียญโอลิมปิกวิชาการเพียงเท่านั้น
ยิ่งกว่านั้นหลายคนที่เคยสบประมาทว่าคนไทยเก่งแต่กีฬาเล่นเดี่ยว แต่ไม่เคยได้ชัยชนะในระดับทีม ก็ต้องเปลี่ยนความคิด เมื่อวอลเลย์บอลหญิงทีมชาติไทยแสดงศักยภาพสูสีกับทีมประเทศอันดับต้น ๆ ของโลกมาหลายปี
ยังมีทีมเยาวชนไทยอีกมากที่คว้าแชมป์โลกประกาศความสามารถในอีกหลายวิถีทางและหลายเวที
ในท่ามกลางกระแสข่าวคุณภาพการศึกษาไทยตกต่ำจนแพ้แม้แต่เพื่อนบ้านในกลุ่มอาเซียน
เด็กไทยโง่ หรือระบบการศึกษาไร้ประสิทธิภาพ
เราเรียนรู้อะไรได้บ้างไหม จากแชมป์คนไทยที่ไปคว้าแชมป์โลกมาแล้ว
มาบุ๊โคะ บุญปีใหม่พิทักษ์โลก
ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง ไม่ได้มีแต่ต้นไม้และสัตว์ป่า
ยังมีกลุ่มกะเหรี่ยงปกาเกอะญอและโปว์อาศัยอยู่กินทำไร่ทำนาปีมานานนับ ๒ ศตวรรษ
เมื่อหมดฤดูกาลเก็บเกี่ยวผลผลิตก็ถือว่าหมดรอบปี ก่อนเข้าสู่ปีใหม่พี่น้องกะเหรี่ยงจะจัดงานบุญเจดีย์ “มาบุ๊โคะ” ๗ วัน ๗ คืน ด้วยเครื่องประกอบพิธีกว่า ๕,๐๐๐ สิ่งอย่าง และด้วยความเคร่งครัดในพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ ที่คนต่างถิ่นอาจรู้สึกคล้ายกับร่วมอยู่ในพิธีกรรมเปี่ยมมนต์ขลังของเผ่าชนโบราณ
สิ่งที่ทำไม่ใช่เพื่อตัวเอง พวกพ้องชาติพันธุ์ แต่เผื่อแผ่ประโยชน์ถึงสรรพชีวิตทั้งโลกที่มีส่วนใช้ทรัพยากรยังชีพ
เพราะรู้ว่าการสำนึกบุญคุณธรรมชาติเป็นเรื่องยิ่งใหญ่ ก่อนจะเริ่มต้นฤดูเพาะปลูกรอบต่อไปจึงต้องขอขมา ขอบคุณ และขอพรต่อเทวดาผู้รักษาดิน น้ำ ป่า เสียก่อน
นี่คือหนึ่งในวิธีรักษาธรรมชาติของพวกเขา
ที่สำคัญในความเชื่อว่าหากขาดเสียซึ่งพิธีมาบุ๊โคะ สิ่งมีชีวิตบนโลกก็ไม่อาจอยู่รอด