ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : สัมภาษณ์
บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช : ถ่ายภาพ
เหตุธรณีวิปโยคแผ่นดินไหวขนาด ๖.๓ ที่จังหวัดเชียงราย ถือเป็นแผ่นดินไหวขนาดสูงสุดเท่าที่มีจุดศูนย์กลางภายในประเทศในรอบ ๕๐ ปี เฉพาะอาฟเตอร์ช็อกยังติด ๓ จาก ๑๐ อันดับแรก ด้วยแรงสั่นสะเทือนขนาด ๕.๖ สองครั้ง และ ๕.๓ ฉุดให้คนไทยหันมาสนใจภัยพิบัติทางธรรมชาติที่ว่ากันว่ารุนแรงร้ายกาจที่สุดต่อมวลมนุษยชาติอีกครั้ง นับจากภัยสึนามิอันเกิดจากแผ่นดินไหวนอกชายฝั่งเกาะสุมาตราเมื่อ ๑๐ ปีที่แล้ว ระหว่างนั้นก็ยังเกิดแผ่นดินไหวในประเทศอีกหลายครั้ง แต่ดูเหมือนเสียงสะท้อนสะเทือนยังอาจเบาไป แม้คนไทยจะเริ่มรู้สึกว่าแผ่นดินไหวคือภัยใกล้ตัวอย่างหนึ่ง ทว่าส่วนใหญ่แล้วโดยเฉพาะผู้อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยก็ยังขาดความตระหนักถึงอันตรายของมันอย่างแท้จริง กระทั่งเหตุการณ์ที่เชียงรายครั้งล่าสุดนี้ น่าจะเป็นสัญญาณตอกยํ้าว่าคนไทยจะปล่อยปละละเลยไม่ปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกับแผ่นดินไหวอีกไม่ได้แล้ว
เหลียวมองกลับไปเมื่อ ๒๐ ปีก่อนขณะที่สังคมไทยแทบไม่สนใจเรื่องแผ่นดินไหวเลย ไพบูลย์ นวลนิล ผู้ที่เติบโตมาทางสายช่าง เรียนจบปริญญาตรีด้านวิศวกรรมไฟฟ้า กลับเลือกเดินทางไปศึกษาต่อปริญญาโทและเอกด้านธรณีฟิสิกส์ สาขาแผ่นดินไหว (Geophysics/Seismology) ที่มหาวิทยาลัยอุปซาลา (Uppsala University) ประเทศสวีเดน ดินแดนที่มีวิทยาการด้านแผ่นดินไหวก้าวหน้าที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
ตัวเขาเองบอกว่าวันนั้นแม้แต่เพื่อนร่วมรุ่นเดียวกันยังตั้งคำถาม ว่าเรียนด้านนี้ไปทำไม ไม่มีทางรุ่งได้ เพราะบ้านเราไม่ค่อยมีแผ่นดินไหว กลับมาไม่มีงานทำแน่
ถึงวันนี้ ดร. ไพบูลย์ นวลนิล มีตำแหน่งเป็นรองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา แต่ที่สำคัญกว่า คือเขาเป็นนักแผ่นดินไหววิทยาเพียงหนึ่งเดียวของไทย มีความรู้ด้านการตรวจวัดแผ่นดินไหว รวมทั้งการวิเคราะห์ แปลผลรูปคลื่นแผ่นดินไหวที่บันทึกเพื่อนำไปใช้ศึกษาวิจัย
เพื่อนำองค์ความรู้เรื่องแผ่นดินไหวมาช่วยให้มนุษย์ตัวจ้อย “อยู่ร่วม” และ “เอาตัวรอด” จากภัยธรรมชาติที่มนุษย์มิอาจเข้าแทรกแซงหรือควบคุม
อาจารย์เดินทางไปศึกษาต่อปริญญาเอกด้านแผ่นดินไหวที่สวีเดนตั้งแต่เมื่อ ๒๐ ปีก่อน หลักสูตรนี้สอนอะไร และเรียนไปเพื่ออะไรครับ
วิชาการทางแผ่นดินไหววิทยา (seismology) ทางฝั่งยุโรป อเมริกา ญี่ปุ่น จีน เขาเรียนกันมานานแล้ว ที่ญี่ปุ่นหรือจีนมีนักแผ่นดินไหวเป็นร้อย ๆ พัน ๆ คน แต่บ้านเราเมืองไทยในอดีตไม่มีใครสนใจ นึกว่ามันไม่เกิด นึกว่าประเทศไทยปลอดจากแผ่นดินไหว บางคนไปออกข่าวว่าอยู่ประเทศไทยไม่ต้องไปกลัว ไม่เกิดหรอก จนเจอสึนามิปี ๒๕๔๗ คราวนั้นทุกคนเริ่มรู้แล้วว่าแผ่นดินไหวมันทำลายทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นหายนะ หลังจากนั้นก็เกิดแผ่นดินไหวที่ภูเก็ตเมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๕๕ ขนาด ๔.๓ ที่เชียงใหม่ก็เกิดอยู่เป็นประจำ จนมาเกิดเที่ยวนี้ที่เชียงรายขนาด ๖.๓ คนเริ่มหวั่นไหว เริ่มรู้อันตรายจากแผ่นดินไหว เริ่มเรียนรู้การป้องกันหรือเตรียมตัวเมื่อเกิดสถานการณ์แผ่นดินไหวมากขึ้น
หากย้อนหลังไปเมื่อ ๑๐ หรือ ๑๕ ปีก่อน ถามว่าคนไทยเคยรู้จักสึนามิไหม ไม่เคย เรื่องแผ่นดินไหวยังอยู่ห่างไกลจากเรา แล้วการเรียนเรื่องธรรมชาติพวกนี้ไม่ได้สตางค์ คนก็เลยไม่เรียน แต่ที่ผมเรียนเนื่องจากเห็นว่าสมัยนั้นบ้านเรายังไม่มีใครเรียนเลย และเห็นว่าถึงแม้บ้านเราจะไม่มีแผ่นดินไหวรุนแรง ก็น่าจะเป็นประโยชน์ในการเรียนเรื่องแผ่นดินไหวมา
วิชาการทางแผ่นดินไหวเป็นเรื่องของการศึกษาคลื่นแผ่นดินไหว การแปลผลรูปคลื่น และการวิเคราะห์ข้อมูลแผ่นดินไหว เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการประเมินการเกิดแผ่นดินไหวในบริเวณที่สนใจจะศึกษา
ประโยชน์ของการศึกษาคลื่นแผ่นดินไหวคืออะไร
ความรู้ต่าง ๆ เกี่ยวกับโครงสร้างภายในของโลกเราได้จากการศึกษาคลื่นแผ่นดินไหวทั้งนั้น เรารู้ว่าเปลือกโลกหนา ๓๐ กิโลเมตรก็เพราะศึกษาคลื่นแผ่นดินไหว รัศมีของโลก ๖,๓๗๐ กิโลเมตร ถามว่ารู้ได้อย่างไร ในเมื่อเรามุดลงไปไม่ได้ เอาสายวัดไปวัดก็ไม่ได้ เรารู้อีกว่าแก่นโลก (core) มีสองชั้น คือ แก่นโลกชั้นนอกกับแก่นโลกชั้นใน เรายังรู้มากไปกว่านั้นอีกว่าแก่นโลกชั้นนอกเป็นของเหลว แก่นโลกชั้นในเป็นของแข็ง ทั้งที่เราดำดินลงไปดูไม่ได้ เราไม่สามารถขุดดินลึกลงไปเป็น ๑๐-๒๐ กิโลเมตร ความรู้เหล่านี้เราได้จากการศึกษาคลื่นแผ่นดินไหว
เมื่อเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ คลื่นแผ่นดินไหวสามารถเดินทางผ่านโครงสร้างชั้นต่าง ๆ ภายในโลก ข้อมูลการเดินทางของคลื่นแผ่นดินไหวทำให้เราทราบถึงความหนาหรือความลึกของโครงสร้างแต่ละชั้น หากไม่มีคลื่นแผ่นดินไหวเราก็ไม่สามารถที่จะทราบได้เลย เนื่องจากมนุษย์ไม่สามารถสร้างต้นกำเนิดคลื่นที่มีพลังงานส่งออกไปได้ไกลมากขนาดนี้ ไม่ว่าจะใช้คลื่นเสียง ออกแรงทุบพื้นดิน หรือถึงแม้จะใช้ระเบิดนิวเคลียร์ก็ตาม
ปัจจุบันมีการนำข้อมูลคลื่นแผ่นดินไหวที่เดินทางผ่านชั้นดินชั้นหินมาสร้างภาพทั้งสองมิติและสามมิติ แสดงโครงสร้างภายในของโลก ตั้งแต่เปลือกโลกลงไปถึงแก่นโลก เรียกว่า ไซสมิกโทโมกราฟี (seismic tomography) คล้าย ๆ กับการสร้างภาพโครงสร้างอวัยวะภายในที่ได้จากการฉายรังสีเอกซเรย์ (x-ray tomography) ดูว่าโครงสร้างลึกลงไปของโลกบริเวณนั้นเป็นอย่างไร หรือนำมาประยุกต์ใช้งานด้านต่าง ๆ หลายเรื่อง เช่น การตรวจสอบว่าสภาพใต้พื้นดินว่าเป็นอย่างไร ก่อนขุดเจาะอุโมงค์ลอด หรือสร้างที่เก็บกากกัมมันตรังสีหรือกากนิวเคลียร์ให้ปลอดภัยจากอุบัติเหตุ
จะเห็นว่าแม้แผ่นดินไหวจะเป็นภัยต่อมวลมนุษยชาติ แต่ขณะเดียวกันการศึกษาการเดินทางของคลื่นแผ่นดินไหว ก็มีคุณ-ประโยชน์ต่อการศึกษาวิจัยโครงสร้างของโลกได้อย่างละเอียด
ในทางวิชาการ เราอธิบายสาเหตุการเกิดแผ่นดินไหวว่าอย่างไร
แผ่นดินไหวเป็นเหตุการณ์ธรรมชาติที่ส่งผลให้พื้นดินเกิดการเขย่า สั่นสะเทือน โยกไหว เมื่อคลื่นแผ่นดินไหวเดินทางไปถึง ส่วนใหญ่เกิดจากการขยับตัวของเปลือกโลก เนื่องจากถูกบีบอัดและดึงในทิศทางต่าง ๆ ด้วยแรงขนาดมหาศาลอันเกิดจากการเคลื่อนตัวของแผ่นเปลือกโลกซึ่งเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลา ลักษณะคล้ายการลอยตัวของภูเขาน้ำแข็งในมหาสมุทร ด้วยความที่แผ่นเปลือกโลกมีขนาดใหญ่ เมื่อเคลื่อนที่แล้วก็ส่งผ่านแรงเค้นไปยังแผ่นเปลือกโลกอื่นที่ตั้งอยู่ติดกัน เกิดการสะสมพลังงานเรียกว่า ความเค้น ทำให้ปริมาตรและรูปทรงของหินเปลี่ยนแปลง ถึงจุดหนึ่งที่พื้นดินหรือหินที่เป็นเปลือกโลกไม่สามารถทนต่อแรงเค้นได้ ก็เกิดการแตกร้าว พังทลาย ขยับเขยื้อนอย่างรวดเร็วแล้วปลดปล่อยพลังงานที่สะสมไว้ออกมา ส่วนใหญ่เป็นคลื่นแผ่กระจายออกไปทุกทิศทาง เมื่อคลื่นเดินทางผ่านไปยังบริเวณใดก็จะทำให้บริเวณนั้นเกิดการสั่นสะเทือน คลื่นที่ว่านี้คือคลื่นแผ่นดินไหว
เปลือกโลกมีทั้งหมด ๑๕ แผ่น มีแผ่นหลักหรือแผ่นใหญ่ ๑๒ แผ่น และแผ่นย่อยเล็ก ๆ อีก ๓ แผ่น การขยับตัวตามแนวรอยต่อของแผ่นเปลือกโลกมีรูปแบบคือ หนึ่ง แผ่นเปลือกโลกแยกห่างออกจากกัน สอง แผ่นเปลือกโลกเคลื่อนที่เข้าหากัน และ สาม แผ่นเปลือกโลกเคลื่อนตัวตามแนวนอนในทิศทางตรงข้ามกัน เป็นผลทำให้เกิดแผ่นดินไหว โดยขนาดของแผ่นดินไหวจะมีความสัมพันธ์โดยตรงกับความยาวรอยต่อของแผ่นเปลือกโลกที่ขยับตัว
หากพลังงานถูกปลดปล่อยออกมาหมดภายในครั้งเดียวของเมนช็อก (main shock) ก็จะไม่มีแผ่นดินไหวตามหรืออาฟเตอร์ช็อก (aftershock) แต่หากยังมีพลังงานเหลืออยู่ก็จะเกิดขบวนอาฟเตอร์ช็อกจนกว่าพลังงานจะหมดไป ในเมนช็อกที่มีขนาดรุนแรงยังอาจมีแผ่นดินไหวนำหรือโฟร์ช็อก (foreshock) เกิดขึ้นก่อน พูดแบบภาษาชาวบ้าน การเกิดแผ่นดินไหวจึงเหมือนกับเราใช้มือหักกิ่งไม้ขนาดใหญ่ ไม้จะค่อย ๆ โค้งงอแล้วเริ่มแตกหัก เราจะได้ยินเสียงไม้ลั่นเปรี๊ยะ ๆ หลายครั้ง ก่อนที่จะหักดังโพละ แล้วเสียงจะค่อย ๆ เบาลงจนหายไปในที่สุด
มนุษย์ทำให้เกิดแผ่นดินไหวได้หรือไม่
ความจริงมนุษย์ไม่สามารถทำให้เกิดแผ่นดินไหว เพราะมนุษย์ไม่มีแรงจะไปขยับเปลือกโลก แต่ผลพวงจากการกระทำบางอย่างของมนุษย์กระตุ้นให้เกิดแผ่นดินไหวได้ อาทิ การสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำในปริมาณมาก ๆ น้ำหนักของน้ำ ๑ ลิตรเท่ากับ ๑ กิโลกรัม หากเขื่อนกักเก็บน้ำพันล้านลิตรก็เท่ากับมีน้ำหนักพันล้านกิโลกรัมกดลงบนเปลือกโลก ถ้าบริเวณนั้นมีรอยเลื่อนข้างล่าง เมื่อเขื่อนกักเก็บน้ำสูงสุดก็มีโอกาสที่เปลือกโลกหรือรอยเลื่อนบริเวณเขื่อนจะขยับตัว ทำให้เกิดแผ่นดินไหว
นอกจากนี้การทำเหมืองใต้ดิน การเจาะอุโมงค์ในภูเขา ก็อาจทำให้เกิดแผ่นดินไหว เพราะทำให้หินบริเวณนั้นขยับตัว การขุดเหมืองทอง เช่นที่แอฟริกาใต้ซึ่งต้องขุดลึกลงไป ๑-๓ กิโลเมตร ต้องเจาะโพรง ขุดเอาแร่และหินออกมา เกิดช่องว่างที่มีโอกาสทำให้ผนังถ้ำหรือผนังอุโมงค์ขยับ ก็เป็นแผ่นดินไหวรูปแบบหนึ่งจากการกระทำของมนุษย์ แต่แผ่นดินไหวเหล่านี้มีขนาดเล็กถึงเล็กมาก
หากการสร้างเขื่อนทำให้เกิดแผ่นดินไหว แล้วทะเลที่รองรับน้ำมากกว่าจะไม่เป็นเหตุให้เกิดแผ่นดินไหวหรือ
ทะเลหรือมหาสมุทรมีการปรับสมดุลตามธรรมชาติตั้งแต่กำเนิดโลก น้ำขึ้นน้ำลงจึงไม่สร้างความเสียหาย เพราะธรรมชาติใช้เวลาปรับสมดุลมานาน แต่เมื่อไรก็ตามที่เราสร้างเขื่อน นั่นหมายความว่าอยู่ดี ๆ มีน้ำจำนวนมหาศาลมากดทับเปลือกโลกไว้ และหากอยู่ในหรือใกล้แนวรอยเลื่อนก็อาจทำให้เปลือกโลกขยับตัว เกิดแผ่นดินไหวขึ้นได้
แล้วการทดลองระเบิดนิวเคลียร์
การทดลองระเบิดนิวเคลียร์ก็ทำให้เกิดการสั่นสะเทือนเหมือนแผ่นดินไหว แต่พลังงานอาจจะน้อยกว่าแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ
เมื่อปีที่ผ่านมาระเบิดนิวเคลียร์ที่ประเทศเกาหลีเหนือทดลองก็มีความรุนแรงใกล้เคียงกับแผ่นดินไหวขนาด ๕ เทียบกับระเบิดนิวเคลียร์ที่ถล่มฮิโระชิมะมีขนาดความแรงเท่ากับ ๖ พลังงานจากระเบิดนิวเคลียร์อาจทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนที่รู้สึกได้ในระยะทางไกลเหมือนกับคลื่นแผ่นดินไหว หรือเกิดหลุมยุบในบริเวณหนึ่ง แต่การทดลองระเบิดนิวเคลียร์ที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหวซึ่งสร้างความเสียหายในรัศมีไกล ๆ ยังไม่มี ยิ่งเมื่อเทียบกับระเบิดทีเอ็นทีแล้วต้องใช้ ๕-๑๕ กิโลตัน ถึงจะมีพลังงานเทียบเท่ากับแผ่นดินไหวขนาด ๕-๖
นักแผ่นดินไหววิทยาศึกษาพฤติกรรมแผ่นดินไหวอย่างไร
พลังงานที่ได้รับการปลดปล่อยออกมาหลังเกิดแผ่นดินไหวมีหลายรูปแบบ เช่น ความร้อน เสียง คลื่นแผ่นดินไหว โดยคลื่นแผ่นดินไหวถือเป็นพลังงานส่วนใหญ่ แผ่กระจายออกไปทุกทิศทางรอบจุดเกิดเหตุที่เรียกว่าจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว อยู่ลึกลงไปใต้พื้นดิน การระบุพิกัดตำแหน่งของจุดเหนือศูนย์กลางแผ่นดินไหวบนผิวโลก ทำได้โดยลากเส้นตรงจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวขึ้นมาให้ตั้งฉากกับพื้นผิวโลก
โดยธรรมชาติของคลื่นแผ่นดินไหวเมื่อเคลื่อนที่ไปถึงที่ใดก็จะทำให้เกิดการสั่นสะเทือน สร้างความเสียหายต่อสิ่งก่อสร้าง บริเวณที่อยู่ใกล้จุดเหนือศูนย์กลางแผ่นดินไหวมากจะมีแรงสั่นสะเทือนรุนแรง แล้วลดลงอย่างรวดเร็วตามระยะทางที่ห่างออกไป ยิ่งจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ตื้นจากพื้นผิวโลกก็ยิ่งสร้างความเสียหายมากเท่านั้น
นักแผ่นดินไหววิทยาแบ่งคลื่นแผ่นดินไหวเป็นสองชนิด คือ คลื่นในตัวกลาง (body wave) และคลื่นพื้นผิว (surface wave) คลื่นพื้นผิวอาจเดินทางไปรอบโลกได้หลายรอบ คลื่นในตัวกลางเดินทางทะลุผ่านแก่นโลกไปอีกซีกโลกหนึ่งได้ คลื่นในตัวกลางมีสองชนิด คือ คลื่นพี (P-wave) และคลื่นเอส (S-wave) ส่วนคลื่นพื้นผิวแบ่งเป็นสองชนิด คือ คลื่นเลิฟ (Love wave) และคลื่นเรย์ลีห์ (Rayleigh wave)
คลื่นแต่ละชนิดมีความถี่ ความเร็ว ทิศทางที่คลื่นทำให้อนุภาคของตัวกลางเคลื่อนตัวแตกต่างกัน เช่น คลื่นพีเดินทางในตัวกลางคือชั้นต่าง ๆ ของโลกด้วยความเร็วระหว่าง ๕-๘ กิโลเมตรต่อวินาที ทิศทางการเคลื่อนที่ของอนุภาคของตัวกลางจะอยู่ในทิศทางเดียวกับทิศการเคลื่อนที่ของคลื่น คลื่นเอสมีความเร็ว ๓.๕-๔.๕ กิโลเมตรต่อวินาที ทิศทางการเคลื่อนที่ของอนุภาคของตัวกลางจะอยู่ในทิศทางตั้งฉากกับทิศการเคลื่อนที่ของคลื่น หรือคลื่นเรย์ลีห์เป็นคลื่นที่เคลื่อนที่ช้าที่สุด มีความเร็ว ๒-๔.๒ กิโลเมตรต่อวินาที
การที่คลื่นแผ่นดินไหวแต่ละชนิดมีคุณสมบัติแตกต่างกัน มนุษย์จึงนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการหาระยะทางที่คลื่นเดินทางจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวมาถึงสถานีตรวจแผ่นดินไหว หากมีสามสถานีขึ้นไปบันทึกข้อมูลรูปคลื่นได้ก็สามารถคำนวณหาตำแหน่งจุดเหนือศูนย์กลางแผ่นดินไหวบนผิวโลก เวลาที่เกิดแผ่นดินไหว ยิ่งมีสถานีที่บันทึกรูปคลื่นหลายสถานี การคำนวณก็ยิ่งมีความถูกต้อง
แผ่นดินไหวในอดีตมีจุดศูนย์กลางตื้นสุดเท่าไร
กรณีรอยเลื่อนที่อยู่บนผิวดินเกิดการขยับตัว จุดศูนย์กลางอาจลึกลงไปเพียง ๑๐๐ เมตร ๒๐๐ เมตร หรืออยู่ที่ผิวดินเลยก็ได้ โดยปรกติความลึกของจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ตั้งแต่ ๐ ถึง ๗๐๐ กิโลเมตร ที่ระยะ ๗๐๐ กิโลเมตรคือลึกสุดแล้ว
เรื่องนี้ต้องอธิบายว่าแผ่นเปลือกโลกหรือส่วนนอกสุดที่มนุษย์เราอาศัยอยู่มีความหนาประมาณ ๓๐ กิโลเมตร เฉพาะส่วนที่เป็นทะเลหรือมหาสมุทรหนา ๑๐ กิโลเมตร ลึกลงไปจากนั้นเป็นชั้นแมนเทิลหนาประมาณ ๒,๙๐๐ กิโลเมตร ชั้นแก่นโลกชั้นนอกและแก่นโลกชั้นในหนารวมกันประมาณ ๓,๔๘๐ กิโลเมตร สาเหตุที่จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวมีระยะลึกสุดถึง ๗๐๐ กิโลเมตร ทั้งที่เปลือกโลกมีความหนาสูงสุด ๓๐ กิโลเมตรเท่านั้น เนื่องจากในการเคลื่อนที่ชนกันของแผ่นเปลือกโลก อาจทำให้แผ่นหนึ่งมุดตัวซุกลงไปอยู่ใต้อีกแผ่นหนึ่ง เช่น แผ่นอินเดีย-ออสเตรเลียมุดไปใต้แผ่นยูเรเซีย เป็นต้น เมื่อมุดลงไปถึงระยะ ๗๐๐ กิโลเมตรแล้วจะมุดต่ำลงไปอีกไม่ได้ เพราะจะเจอหินหลอมเหลวอุณหภูมิสูงหลอมละลายให้แผ่นทวีปที่เป็นของแข็งกลายเป็นของเหลว จึงไม่สามารถสะสมความเค้นได้อีกต่อไป ศูนย์กลางแผ่นดินไหวลึกสุดเท่าที่มีการบันทึกจึงเป็น ๗๐๐ กิโลเมตร
ทั้งนี้ความลึกของศูนย์กลางแผ่นดินไหวจะแบ่งเป็นสามระดับ คือ แผ่นดินไหวตื้นมีความลึกจากผิวโลก ๗๐ กิโลเมตร แผ่นดินไหวลึกปานกลาง ลึกจากผิวโลกระหว่าง ๗๐ ถึง ๓๐๐ กิโลเมตร และแผ่นดินไหวลึกมาก ลึกมากกว่า ๓๐๐ กิโลเมตรลงไป
โดยทั่วไปแผ่นดินไหวที่มีความลึกมากกว่า ๕๐ กิโลเมตรขึ้นไปจะสร้างความเสียหายไม่มากนัก ขณะที่แผ่นดินไหวซึ่งสร้างความเสียหายต่อสิ่งก่อสร้าง หรือสภาพทางธรณีวิทยา เช่นทำให้แผ่นดินแยก แผ่นดินทรุด แผ่นดินยก พวกนี้ส่วนใหญ่จะมีศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ในระดับตื้น คือไม่เกิน ๕๐ กิโลเมตร
แผ่นดินไหวในมหาสมุทรอินเดียที่เป็นสาเหตุของการเกิดสึนามิเมื่อ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๔๗ มีจุดศูนย์กลางลึกประมาณ ๒๐ กิโลเมตร แผ่นดินไหวในมหาสมุทรแปซิฟิกเกิดสึนามิที่ญี่ปุ่นเมื่อ ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๔ ก็ลึกประมาณ ๑๕ กิโลเมตรเท่านั้น
เหตุใดวันนี้มนุษย์จึงไม่สามารถทำนายหรือพยากรณ์แผ่นดินไหวได้สำเร็จ ทั้งที่สุริยุปราคา ปรากฏการณ์บนท้องฟ้า หรือน้ำขึ้นน้ำลงเรารู้ล่วงหน้าระดับวินาที
การเคลื่อนที่ของดวงดาวเกิดซ้ำตามช่วงเวลา เป็นสูตรแน่นอน เหมือนน้ำขึ้นน้ำลงที่เขาพยากรณ์ว่าวันนี้น้ำจะขึ้นกี่โมง ลงต่ำสุดเมื่อไหร่ พระอาทิตย์ขึ้นเวลาใด พวกนี้มีช่วงเวลาเป็นพีเรียดหรือคาบที่มันเกิดซ้ำ คนเราก็มีการบันทึก สังเกต คำนวณ เรียนรู้กันไปหมดแล้ว
การที่นักแผ่นดินไหววิทยาหรือนักวิทยาศาสตร์ไม่สามารถทำนายแผ่นดินไหวได้ เพราะเรายังไม่เข้าใจกลไกการเกิดแผ่นดินไหวดีพอ ยังไม่สามารถประเมินว่าวันนี้มันจะเกิดที่ไหน เวลาใด
การทำนายแผ่นดินไหวที่นำไปใช้ประโยชน์ได้ต้องประกอบด้วยองค์ประกอบสามอย่าง คือ ๑) ขนาด ๒) เวลา และ ๓) สถานที่ หากไม่ครบทั้งสามองค์ประกอบนี้ก็เอาไปใช้ประโยชน์ไม่ได้
ผมยกตัวอย่าง ถ้าบอกว่าตอนนี้เกิดแผ่นดินไหวขึ้นบนโลก ผมพูดถูก เพราะแผ่นดินไหวขนาด ๓ ลงไปมันเกิดนาทีละ ๒ ครั้ง หรือถ้าผมบอกว่าวันนี้แผ่นดินไหวทั่วโลกจะเกิด ๑๕ ครั้ง ผมพูดถูก เพราะแผ่นดินไหวขนาด ๔-๖ มันเกิด ๑๕-๒๐ ครั้งในแต่ละวัน แต่ถามว่าข้อมูลแค่นี้มันใช้ประโยชน์ได้ไหม มันใช้ประโยชน์ไม่ได้ เพราะผมแค่รู้ว่ามันเกิดแผ่นดินไหวทุกวัน แต่ไม่รู้ว่ามันไหวที่ไหน ตำแหน่งไหน ใช้ประโยชน์ในการอพยพผู้คนหรือป้องกันความเสียหายไม่ได้
การทำนายแผ่นดินไหวจึงต้องครบถ้วนทั้งขนาด เวลา สถานที่ สามอย่างนี้เมื่อหารแล้วจะมีสัดส่วนละ ๓๓ เปอร์เซ็นต์ สมมุติผมทายถูกสองอย่าง คือขนาดกับสถานที่ รวมกันก็แค่ ๖๖ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น เรายังไม่รู้ว่าเกิดเวลาไหน แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าแผ่นดินจะไหวในปีนี้หรือเปล่า หรือเราต้องอพยพผู้คนไปทั้งปี หรือว่าอพยพเฉพาะช่วงนั้นช่วงนี้ จะเห็นว่าในทางปฏิบัติถ้ายังไม่ได้ทายถูก ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์หรือใกล้เคียง มันยังใช้ประโยชน์อะไรไม่ได้ ฉะนั้นถ้าขาดองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งในสามองค์ประกอบนี้ ถือว่ายังทำนายไม่สำเร็จ เป้าหมายคือต้องทำนายได้เป๊ะ ๆ อาจจะคลาดเคลื่อนเป็นชั่วโมงยังพอยอมรับได้ จะบวกลบ ๑ หรือ ๒ วันก็ว่ากันไปในทางสถิติ
ในสามอย่างนี้ เราทำนายอะไรได้ยากที่สุด
ตอนนี้เรารู้ว่าเกิดที่ไหน แต่เป็นบริเวณกว้างมาก บอกว่าแผ่นดินไหวจะเกิดที่ญี่ปุ่นมันก็ถูก เพราะที่ญี่ปุ่นไหวทุกวัน แผ่นดินไหวที่สุมาตราก็ไหวทุกวัน คือเรารู้บริเวณคร่าว ๆ ขนาดเราก็รู้คร่าว ๆ ประเมินได้แค่ว่าขนาด ๔-๖ ในอันดามันซึ่งเกิดทุกวัน แต่เราไม่สามารถบอกเวลาที่แน่นอนได้เลย
สรุปแล้วเรายังรู้ไม่หมด จึงไม่สามารถทำนายแผ่นดินไหว ในการพยากรณ์หรือทำนายถ้าเราศึกษาเฉพาะที่ก็พอประเมินได้ว่ามีโอกาสเกิดขนาดสูงสุดเท่าไหร่ เกิดขนาดเท่าไหร่ในรอบกี่ปี แต่เราไม่รู้เวลาที่แน่นอน ยังไม่มีข้อมูลมากพอบอกว่าแผ่นดินไหวจะไปเกิดซ้ำตามช่วงเวลานั้นเวลานี้
ด้วยเทคโนโลยีปัจจุบัน เราก็เพิ่งเริ่มบันทึกข้อมูลแผ่นดินไหวโดยใช้อุปกรณ์หรือเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ช่วย นี่เพิ่งประมาณ ๕๐-๖๐ ปีนี้เอง หรืออย่างเก่งก็ ๑๐๐ กว่าปี แต่แผ่นดินไหวมีมาตั้งแต่สร้างโลก เราเพิ่งมาเรียนรู้ในช่วงเวลาที่สั้นมาก ๆ
ที่สำคัญคือแผ่นดินไหวนั้นมีสาเหตุจากใต้ดิน เกิดขึ้นในที่ที่เรามองไม่เห็น อยากติดตามดูว่ารอยเลื่อนขยับตัวเท่าไหร่เราก็ทำไม่ได้ ไม่เหมือนดวงดาวที่อยู่บนฟ้า เรารู้ได้ เรามองเห็น ตั้งกล้องส่องเดี๋ยวก็เห็นว่าเคลื่อนที่ไปทางไหน
อีกนานแค่ไหนเราถึงจะทำนายแผ่นดินไหวได้แม่นยำ
ในอนาคตถ้าเราเรียนรู้มากขึ้น เก็บข้อมูลแผ่นดินไหวต่อเนื่องก็ไม่แน่เหมือนกัน วันหนึ่งเราอาจทำนายได้ถูกต้อง อาจเป็น ๒๐ ปี ๕๐ ปี หรือ ๑๐๐ ปีในอนาคต องค์ความรู้แผ่นดินไหวเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาศึกษา ที่สำคัญคือพื้นที่มันกระจายวงกว้าง ตามแนวรอยต่อของแผ่นเปลือกโลก รวมทั้งตามรอยเลื่อนที่แตกแขนงออกไปจากขอบของแผ่นเปลือกโลกใหญ่
ผมยกตัวอย่างแนวรอยต่อของเปลือกโลก จากเกาะสุมาตราถึงอันดามัน มีความยาวประมาณ ๑,๕๐๐ กิโลเมตร แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวจะเกิดตรงไหนตามแนวรอยเลื่อนนี้เพราะว่ามันมีโอกาสเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น ในการศึกษาเราจะไปศึกษาความเค้นในแนวรอยต่อนี้ตลอดทั้งระยะ ๑,๕๐๐ กิโลเมตรได้หรือ พูดง่าย ๆ คือมันเกินขีดความสามารถของมนุษย์ที่จะไปติดตาม
ตอนนี้มีคำสองคำที่คล้ายกันอยู่ คือคำว่าทำนายกับพยากรณ์
การทำนายต้องบอกได้ว่าเกิดที่ไหน เมื่อไหร่ ขนาดเท่าไหร่ แต่พยากรณ์เน้นบอกว่ามีโอกาสหรือความน่าจะเป็นที่จะเกิดแผ่นดินไหว ซึ่งมีค่า ๐ ถึง ๑ หรืออาจระบุเป็นเปอร์เซ็นต์จาก ๐ ถึง ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ก็ได้ สมมุติผมบอกแผ่นดินไหวจะเกิดที่เชียงใหม่ ผมพูดว่ามีโอกาสเกิดกี่เปอร์เซ็นต์ นั่นคือการพยากรณ์ เหมือนกรมอุตุฯ บอกว่าฝนจะตกเป็นหย่อม ๆ หรือฝนตกกี่เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ วันนี้ ช่วงเวลาเท่านั้นเท่านี้ มีโอกาสเกิดฝนตก ๑๐ เปอร์เซ็นต์ในกรุงเทพฯ แต่กรมอุตุฯ เองก็ไม่รู้ว่า ๑๐ เปอร์เซ็นต์นั้นอยู่ตรงไหน ไม่เหมือนคำว่าทำนายที่ต้องบอกให้ชัด องค์ประกอบต้องครบ
ในระดับโลกมีหน่วยงานใดเป็นหน่วยงานหลักในการเฝ้าระวังเรื่องแผ่นดินไหว
แผ่นดินไหวเป็นภัยพิบัติที่เกิดขึ้นทั่วโลก แม้มีการตั้งสถานีเครือข่ายตรวจวัดแผ่นดินไหวในหลายประเทศ แต่เครือข่ายของแต่ละประเทศก็ไม่สามารถตรวจวัดแผ่นดินไหวได้ทั้งหมด ยิ่งถ้าระยะทางระหว่างสถานีกับจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ไกลเกินไป หรือเป็นแผ่นดินไหวขนาดเล็ก ก็ยิ่งทำให้ตรวจวัดได้ยาก การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันจะช่วยทำให้แต่ละเครือข่ายเฝ้าระวังแผ่นดินไหวมีข้อมูลแผ่นดินไหวมากพอสำหรับการคำนวณพิกัดตำแหน่ง ความลึก ขนาด ไม่ว่าจะเกิดแผ่นดินไหวขึ้นที่ไหน
ปัจจุบันเครือข่ายสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหวที่ได้รับการยอมรับในคุณภาพ ความน่าเชื่อถือของข้อมูลมีหลายหน่วยงาน เช่น ยูเอสจีเอส (United State Geological Survey - USGS) และไอริส(Incorporated Research Institutions for Seismo-logy - IRIS) ของสหรัฐอเมริกา ไอเอสซี (International Seismological Centre - ISC) ของอังกฤษ อีเอ็มเอสซี (European-Mediterranean Seismological Centre - EMSC) ของสหภาพยุโรป มีเครือข่ายสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหวทั่วโลกรวมกันเป็นร้อยสถานี หน่วยงานเหล่านี้เป็นหน่วยงานที่ไม่ค้ากำไร รวบรวมข้อมูลแผ่นดินไหวเพื่อนำไปใช้ในการวิจัย ศึกษา นำข้อมูลจากสถานีต่าง ๆ มาทำการแปลผล คำนวณขนาดและจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว อีกทั้งยังเป็นหน่วยงานหลักในการเผยแพร่ข้อมูลแผ่นดินไหวให้นักวิจัยหรือผู้สนใจสืบค้น ดาวน์โหลดข้อมูลไปใช้งานโดยไม่คิดมูลค่า
ประเทศไทยมีหน่วยงานใดเป็นหน่วยงานหลักในการเฝ้าระวังแผ่นดินไหว
ประเทศไทยติดตั้งสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหวครั้งแรกที่จังหวัดเชียงใหม่และสงขลา โดยสำนักสำรวจธรณีวิทยาสหรัฐ-อเมริกา (ยูเอสจีเอส) มาติดตั้งให้เมื่อปี ๒๕๐๖ และ ๒๕๐๘ ตามลำดับ ต่อมาปี ๒๕๓๑ ติดตั้งเพิ่มอีกเป็น ๑๐ สถานี แล้วหลังสึนามิเมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๔๗ ก็ได้รับงบประมาณเพิ่มจำนวนเป็น ๔๐ สถานี และปรับปรุงเปลี่ยนจากระบบอะนาล็อกแบบเดิมมาเป็นระบบดิจิทัล
ปัจจุบันเครือข่ายสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหวประเทศไทยดำเนินการโดยสำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา สังกัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับแผ่นดินไหว เช่น กรมทรัพยากรธรณี ทำหน้าที่สำรวจแนวรอยเลื่อนทั่วประเทศว่าตั้งอยู่ในพื้นที่ใดบ้าง กรมชลประทานติดตามการเกิดแผ่นดินไหวบริเวณเขื่อน
ขณะที่ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติทำหน้าที่นำข้อมูลการตรวจวัดแผ่นดินไหวจากสำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหวมาแจ้งให้ประชาชนทราบ โดยตัวเองไม่มีเครื่องมือตรวจวัดแผ่นดินไหว พูดง่าย ๆ ว่าศูนย์เตือนภัยฯ บ้านเราต้องนำข้อมูลของสำนักเฝ้าระวังฯ มาใช้
วันนี้สิ่งที่ต้องยอมรับคือบ้านเรายังไม่มีหน่วยงานที่มีความสามารถในการเตือนภัยแผ่นดินไหวได้ ขณะที่ภัยน้ำท่วม พายุ หรือสึนามิ เราอาจจะเตือนได้แล้ว แต่แผ่นดินไหวเรายังเตือนไม่ได้นะครับ เพราะการ “เตือน” หรือ warning หมายถึงการแจ้งให้ทราบก่อนเกิดเหตุการณ์ที่ไม่ดีหรือเป็นอันตรายในเวลาต่อมา สิ่งที่เราทำอยู่ตอนนี้คือ “รายงาน” หรือ report เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วเท่านั้น การแจ้งเหตุแผ่นดินไหวของสำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหวและศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติในวันนี้เป็นการรายงานตามหลังเสมอ ซึ่งไม่ใช่การเตือนอย่างที่เข้าใจกัน
เรายังไม่มีเทคโนโลยีเตือนภัยแผ่นดินไหวล่วงหน้า แต่เรารู้ว่าเมื่อเกิดแผ่นดินไหวที่เชียงราย คลื่นแผ่นดินไหวจะเดินทางมาถึงกรุงเทพฯ ภายในกี่นาที
ยกตัวอย่างเหตุการณ์เมื่อวันที่ ๒๔ มีนาคม ๒๕๕๔ เกิดแผ่นดินไหวที่พม่าขนาด ๖.๘ นักท่องเที่ยวที่อาศัยอยู่บนตึกสูงของกรุงเทพฯ พากันหนีลงจากตัวอาคาร มายืนจับกลุ่มกันหน้าโรงแรม ต่อมาจึงมีประกาศจากสำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหวแจ้งว่าเกิดแผ่นดินไหว ลองคิดดูว่าถ้าเหตุการณ์ก่อนหน้านั้นคือโรงแรมถล่มลงมา เพราะได้รับแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว บรรดานักท่องเที่ยวก็คงไม่ได้มายืนอยู่หน้าโรงแรมแบบนี้ เหตุการณ์นี้เป็นตัวอย่างบอกว่าเรายังไม่มีระบบแจ้งเตือนแผ่นดินไหวก่อนคลื่นแผ่นดินไหวเดินทางมาถึง
เปรียบเทียบกับญี่ปุ่น เขาก็ไม่สามารถแจ้งเตือนการเกิดแผ่นดินไหวล่วงหน้าได้ก่อนแผ่นดินไหวจะเกิดขึ้นจริง เพราะเราไม่สามารถทำนายการเกิดแผ่นดินไหวได้แม่นยำ
ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า การแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า กับ การแจ้งเตือนการเกิดล่วงหน้า นั้นแตกต่างกัน การแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าเป็นการแจ้งให้ประชาชนทราบว่าได้เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขึ้นแล้ว และอาจก่อให้เกิดอันตรายจากแรงสั่นสะเทือนของพื้นดินเนื่องจากแผ่นดินไหว วิธีการคือเมื่อญี่ปุ่นตรวจพบการเกิดแผ่นดินไหว ก่อนที่คลื่นจะเดินทางจากเมืองหนึ่งไปสู่อีกเมืองหนึ่ง ในช่วงสั้น ๆ เจ้าหน้าที่อาจโทรศัพท์หรือกำหนดให้ระบบส่งสัญญาณไปแจ้งยังอีกสถานที่หนึ่งว่าตอนนี้มีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นนะ ขอให้หยุดการเดินรถไฟใต้ดิน ปิดทางด่วน ขอให้ผู้คนลงมาจากตึกสูง ก่อนที่คลื่นแผ่นดินไหวจะเดินทางไปถึง เราอาจมีเวลาเพียง ๑ นาที หรือไม่ก็แค่ไม่กี่วินาทีแต่ก็นับว่ามีค่า
เพราะคลื่นแผ่นดินไหวต้องใช้เวลาเดินทาง สมมุติระยะห่างระหว่างสองเมืองเท่ากับ ๑๐๐ กิโลเมตร คลื่นพีที่เร็วที่สุดใช้เวลาเดินทางประมาณ ๘ กิโลเมตรต่อวินาที เราก็จะมีเวลาเป็น ๑๐ วินาทีในการเตรียมรับมือ
สมมุติแผ่นดินไหวที่เชียงใหม่ ประมาณว่าห่างจากกรุงเทพฯ ๗๐๐ กิโลเมตร ความเร็ว ๘ กิโลเมตรต่อวินาที กว่าจะมาถึงกรุงเทพฯ ก็นาทีครึ่ง ซึ่งคลื่นพีเป็นคลื่นที่ไม่สร้างความเสียหาย ลูกคลื่นจะต่ำกว่าคลื่นพื้นผิวที่ลูกใหญ่ แต่มีความเร็วแค่ ๓.๔ กิโลเมตรต่อวินาทีเท่านั้น กว่าคลื่นพื้นผิวจะมาถึงกรุงเทพฯ ใช้เวลาเป็นสองเท่าของคลื่นพี ใช้ ๒๐๐ กว่าวินาที กว่าจะมา กว่าที่เราจะรู้สึก กว่าที่จะสร้างความเสียหาย ฉะนั้นช่วง ๒๐๐ กว่าวินาทีถ้าเราตรวจจับได้ที่เชียงใหม่ ภายใน ๑๐ วินาทีก็สามารถโทร.แจ้งที่กรุงเทพฯ บอกว่าคลื่นกำลังจะมา ให้คนหลบอยู่ในที่ปลอดภัย อย่างนี้คือการแจ้งเตือนภัยแผ่นดินไหว ไม่ใช่พอถึงเวลารายงาน ผู้คนลงมาอยู่บนถนนหมดแล้ว นั่นไม่ใช่การเตือนภัย เป็นแค่รายงาน
แผ่นดินไหวที่มีจุดศูนย์กลางอยู่ภายในประเทศของเรา ไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่ไหน จังหวัดไหน คลื่นจะเดินทางไปทั่วประเทศได้ภายใน ๔ นาที หากพื้นที่ใดอยู่ใกล้ศูนย์กลางแผ่นดินไหวก็ใช้เวลาน้อยกว่านี้ ฉะนั้นถ้าสำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหวและศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติไม่สามารถรายงานหรือแจ้งเตือนได้เร็วกว่า ๔ นาที ก็หมายความว่าเราไม่ได้ประโยชน์อะไร แค่รู้จากการรายงานข่าวว่ามีแผ่นดินไหวเกิดขึ้นที่ไหนเท่านั้นเอง
จำนวนสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหว ๔๐ สถานี ถือว่าน้อยเกินไปหรือไม่
ประเทศไทยมีรอยเลื่อนมากมายกระจายตัวอยู่ทางภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ ข้อมูลจากการขุดร่องสำรวจของกรมทรัพยากรธรณีพบว่ามีรอยเลื่อนมีพลังอยู่ ๑๕ รอยเลื่อน (ปัจจุบันกรมทรัพยากรธรณีกำหนดรอยเลื่อนมีพลังไว้ ๑๔ กลุ่ม โดยยังไม่รวมรอยเลื่อนองครักษ์) แผ่นดินไหวที่มีศูนย์กลางภายในประเทศล้วนเป็นผลมาจากรอยเลื่อนมีพลังเหล่านี้เกิดการขยับตัว
โดยทั่วไปยอมรับกันในทางวิชาการว่าการศึกษารอยเลื่อนใดรอยเลื่อนหนึ่ง ต้องติดตั้งสถานีตรวจวัดอย่างน้อย ๘ สถานีที่รอยเลื่อนนั้น ถึงจะมากพอต่อการเก็บสถิติแผ่นดินไหวขนาดเล็ก ๆ
ประเทศญี่ปุ่นมีสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหวเกือบ ๒,๐๐๐ สถานี เทียบสัดส่วนกับร้านสะดวกซื้อ 7-eleven ที่มีอยู่ราว ๑๔,๐๐๐ กว่าแห่งแล้วเท่ากับ ๑ ต่อ ๗ หมายความว่าถ้าคุณเจอเซเว่นฯ ๗ ร้านจะเจอ ๑ สถานีตรวจวัดแผ่นดินไหว ทำให้ตรวจวัดแผ่นดินไหวขนาดเล็กได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก
สำหรับประเทศไทย สำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหวมี ๔๐ สถานีตรวจวัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ ที่ตั้งของสถานีเหล่านี้ส่วนใหญ่อยู่ภายในหน่วยงานของกรมอุตุฯ ซึ่งไม่ค่อยถูกต้องเท่าไหร่ตามหลักการออกแบบเครือข่าย เนื่องจากมีข้อจำกัดหลายอย่าง เพราะการเลือกสถานที่ตรวจวัดแผ่นดินไหวต้องเลือกสถานที่ที่นิ่ง ต้องพิจารณาว่าตรงนั้นมีหินแข็งอยู่ข้างล่างไหม อยู่ใกล้สิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่เกินไปหรือเปล่า หรือถ้าอยู่ใกล้น้ำตก คลอง ถนนใหญ่ ก็จะทำให้มีสัญญาณรบกวนอยู่ตลอดเวลา
ยกตัวอย่างที่ภูเก็ต เรามีสถานีตรวจวัดอยู่ใกล้ ๆ กับสนามบิน พอเครื่องบินลงจอดกระแทกพื้นทีเครื่องก็ตรวจวัดทีหนึ่ง พูดง่าย ๆ ว่ามันมีสัญญาณรบกวนที่เกิดจากพฤติกรรมของมนุษย์เยอะมาก คุณภาพของการบันทึกก็ไม่ดี
ในการติดตั้งหัววัดคลื่นแผ่นดินไหว หากเราเลือกสถานที่ที่ไม่มีคนอยู่อาศัย ก็สามารถติดตั้งบนผิวดินได้เลย แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามเลือกที่มีคนอยู่ มีรถวิ่งผ่าน หากอยากให้เครื่องมีประสิทธิภาพ เราต้องเจาะพื้นนำหัววัดลงไปฝังใต้ดิน อย่างที่เชียงใหม่เจาะแล้วหย่อนลงไปเป็นร้อยเมตร จะปลอดจากแรงสั่นที่เกิดจากรถวิ่ง แรงกระแทกผิวดิน หรืออะไรก็ตาม มันจะทำให้ความสามารถในการตรวจวัดคลื่นแผ่นดินไหวที่มีขนาดเล็กมากหรือมาจากระยะไกล ๆ ได้ดี การจะติดตั้งหัววัดที่ผิวดิน หรือขุดลึกลงไป ๒ เมตร หรือลึกลงไปเป็นร้อยเมตรจึงขึ้นอยู่กับสถานที่ตั้งของสถานี
บ้านเรายังมีข้อจำกัดในการเลือกสถานที่ คือจะเอาหัววัดคลื่นแผ่นดินไหวไปติดตั้งในที่นิ่งจริง ๆ ไม่มีคน เขาก็กลัวเครื่องจะหาย บางที่ติดไม่ได้เพราะแถวนั้นไม่มีไฟฟ้า แล้วสถานีก็ไม่ได้ตั้งอยู่ตามแนวรอยเลื่อนมีพลัง แต่เลือกติดตั้งกันตามสะดวก
สำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหวกับกรมทรัพยากรธรณีเขาทำหน้าที่กันคนละอย่าง หน้าที่ของกรมทรัพยากรธรณีคือสำรวจศึกษาแนวรอยเลื่อน ไม่ต้องรายงานการเกิดแผ่นดินไหว ไม่ได้มาแจ้งอพยพผู้คน ส่วนสำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหวทำหน้าที่รายงาน ดูการเกิดแผ่นดินไหวในภาพรวมทั่วประเทศเพื่อเตือนภัย สถานีตรวจวัดของสำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหวจึงไม่ได้ตั้งอยู่ตามแนวรอยเลื่อน เช่น ไปตั้งสถานีที่ปากช่อง ขอนแก่น อุดรธานี เป็นต้น วันนี้สถานีซึ่งตั้งอยู่แถวอีสานก็คอยตรวจวัดแผ่นดินไหวที่เกิดจากทางเวียดนาม ฟิลิปปินส์ เป็นส่วนใหญ่ สถานีทางใต้ก็วัดแถวสุมาตรา อันดามัน ทางตะวันตกก็วัดจากพม่า
การตรวจวัดแผ่นดินไหวบ้านเรายังมีข้อจำกัดอะไรอีก
คุณภาพของการตรวจวัดคลื่นแผ่นดินไหวขึ้นอยู่กับ ๑) พื้นที่ตั้งสถานีตรวจวัดมีสัญญาณรบกวนหรือเปล่า ๒) ตัวสถานีตั้งอยู่ใกล้จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวมากแค่ไหน ๓) ประสิทธิภาพหรืออัตราขยาย หรือความไวของหัววัดแผ่นดินไหว เช่น หัววัดของเรามีความไวต่ำสัญญาณคลื่นต่ำ ๆ มาก็วัดไม่ค่อยได้
หากหัววัดคลื่นแผ่นดินไหวที่เราติดตั้งใช้งานเป็นชนิดที่มีอัตราการขยายต่ำถึงปานกลาง แล้วจำนวนสถานียังไม่มากพอ แถมอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวเข้าไปอีกก็ยิ่งทำให้ความสามารถในการตรวจวัดแผ่นดินไหวไม่ดี ขณะที่เรารายงานว่าไม่มีแผ่นดินไหว ความจริงแล้วมันอาจจะไหวอยู่ก็ได้ แต่เราวัดไม่ได้เอง
จากการวิเคราะห์ข้อมูล เราพบว่าแผ่นดินไหวทางภาคเหนือสามารถวัดค่าได้สมบูรณ์ที่ขนาด ML (local magnitude) เท่ากับ ๒.๘ ส่วนทางภาคใต้วัดได้สมบูรณ์ที่ขนาด ML เท่ากับ ๔.๕ ค่าต่ำกว่านี้วัดได้บ้างไม่ได้บ้าง ที่เป็นเช่นนี้เพราะทางภาคเหนือเรามีสถานีตั้งอยู่เป็นกลุ่ม และอยู่ใกล้ศูนย์กลางแผ่นดินไหว ขณะที่ทางภาคใต้ช่องว่างของสถานีจากประจวบคีรีขันธ์ถึงระนองและสุราษฎร์ธานีระยะทางห่างกันค่อนข้างยาว ทำให้ไม่สามารถวัดขนาดแผ่นดินไหวขนาดเล็กที่เกิดตามแนวรอยเลื่อนระนองและคลองมะรุ่ยได้ ถามว่าต้องทำอย่างไร ก็ต้องเปลี่ยนหัววัดคลื่นแผ่นดินไหวให้ไวกว่านี้ แล้วก็ต้องตั้งสถานีเพิ่มขึ้น
ที่ประเทศสวีเดน เขาวัดแผ่นดินไหวได้ถึงขนาดศูนย์หรือติดลบ หลังเกิดแผ่นดินไหวเขาวัดอาฟเตอร์ช็อกได้เป็นหมื่นครั้ง จากเมื่อก่อนแผ่นดินไหว ๖.๕ ถึงจะรายงานได้ วันนี้เครือข่ายตรวจวัดแผ่นดินไหวของสวีเดนสามารถวัดขนาดแผ่นดินไหวขนาด -๒.๕
ความหมายของแผ่นดินไหวขนาดศูนย์หรือติดลบคืออะไร
ก่อนอื่นต้องอธิบายว่าคนทั่วไปคิดว่ามาตราขนาดแผ่นดินไหวคือมาตราริกเตอร์เพียงอย่างเดียว แต่ความจริงแล้วมีมาตราอื่น ๆ อีกไม่ต่ำกว่า ๑๐ มาตรา
เมื่อ ๗๙ ปีที่แล้ว คือ ค.ศ. ๑๙๓๕ หรือ พ.ศ. ๒๔๗๘ ชาร์ลส์ ริกเตอร์ (Charles F. Richter) ได้พัฒนาวิธีวัดขนาดแผ่นดินไหวในแคลิฟอร์เนีย โดยคำนวณจากขนาดรูปคลื่นเอสซึ่งเป็นคลื่นสูงสุดที่บันทึกได้ด้วยเครื่องตรวจวัดแผ่นดินไหว จากนั้นจึงรายงานขนาดแผ่นดินไหวในมาตรา ML โดย L เป็นตัวย่อจากคำ local เพื่อระบุให้รู้ว่าเป็นแผ่นดินไหวท้องถิ่น (local magnitude) หรือแผ่นดินไหวที่บันทึกได้ในระยะใกล้ ห่างจากสถานีวัดไม่เกิน ๑,๐๐๐ กิโลเมตร ริกเตอร์กำหนดสูตรคณิตศาสตร์เพื่อคำนวณขนาดแผ่นดินไหว ในสูตรมีการใส่ค่าปรับแก้เพื่อให้ขนาดที่คำนวณได้มีค่าเท่ากันที่ทุกระยะทางใน ๑,๐๐๐ กิโลเมตร โดยดูจากสภาพทางธรณีวิทยาของแคลิฟอร์เนีย
ข้อจำกัดของมาตราริกเตอร์ คือใช้ได้กับแผ่นดินไหวที่มีขนาดสูงสุด ML เท่ากับ ๗ เท่านั้น และการคำนวณต้องอยู่ในระยะทางไม่เกิน ๑,๐๐๐ กิโลเมตร ดังนั้นหากรายงานว่าแผ่นดินไหว ๘.๖ ริกเตอร์ (หรือใช้คำว่า “ตามมาตราริกเตอร์” ก็ตาม) ก็ยังเป็นรายงานที่ไม่ถูกต้อง เพียงแต่อนุโลมให้ใช้กันในการรายงานข่าว ในทางวิชาการหรืองานวิจัยแล้วถือว่าผิด
ต่อมาจึงมีการพัฒนามาตราวัดขนาดแผ่นดินไหวขึ้นมาอีกหลายมาตรา เช่น MW, MB, MS เพื่อแก้ไขข้อจำกัดของมาตราริกเตอร์ ซึ่งในทางทฤษฎีแล้วเหตุการณ์แผ่นดินไหวเดียวกันควรจะมีขนาดเท่ากันในทุกมาตราด้วย
เมื่อเราดูสูตรการคำนวณขนาดแผ่นดินไหวแล้วจะเห็นว่าไม่มีหน่วย ค่าที่ได้เป็นตัวเลขมากน้อยที่ทุกคนต่างเข้าใจ ไม่มีค่าสูงสุดหรือต่ำสุด รวมทั้งมีโอกาสออกมาเป็นศูนย์หรือติดลบ ขึ้นอยู่กับเรามีเครื่องมือที่ไวพอจะวัดมันได้หรือเปล่าเท่านั้น ค่าต่ำ ๆ นั้นคนไม่รู้สึกก็จริงแต่วัดได้ถ้ามีเครื่องมือที่ดี มีคลื่นอยู่แต่มันน้อย เช่นแผ่นดินไหวที่เกิดจากการทำเหมืองใต้ดิน หรือบริเวณที่ค่อนข้างจะปลอดแผ่นดินไหว
ถามว่าการรู้ขนาดแผ่นดินไหวต่ำ ๆ มีประโยชน์อะไร มันมีประโยชน์ว่าถ้าเราเก็บข้อมูลเอาไว้ สักระยะหนึ่งจะประเมินได้ว่ารอยเลื่อนนั้น ๆ สามารถเกิดแผ่นดินไหวขนาดสูงสุดได้เท่าไหร่ สมมุติว่าขนาด ๒ เกิดเดือนละเป็นหมื่นครั้ง ขนาด ๓ เกิดเดือนละเป็นพัน ขนาด ๔ เกิดเดือนละเป็นร้อย ขนาด ๕ ควรจะเกิดเท่าไหร่ ขนาด ๖ ล่ะควรจะเกิดในรอบกี่ปี การมีข้อมูลมหาศาลทำให้เอามาประเมินทางสถิติได้ว่าขนาดของแผ่นดินไหวบริเวณนั้นควรจะมีขนาดสูงสุดเท่าไหร่
พื้นที่ที่สำรวจแล้วว่ามีค่าแผ่นดินไหวศูนย์หรือติดลบ เวลาใช้สร้างถนนนี่ไม่มีพลาด ถนนยุบ ถนนพัง ถนนแยกเหมือนบ้านเราไม่มี ที่สวีเดนมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เป็นสิบโรงแต่ว่าปลอดภัย เพราะเขาศึกษาโครงสร้างชั้นล่างไว้หมดแล้ว
เหตุใดรายงานแผ่นดินไหวล่าสุดขนาด ๖.๓ ที่เชียงราย จึงมีการเปลี่ยนแปลงจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวในเวลาต่อมา
ในการหาจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว เราคำนวณจากเวลาที่คลื่นเดินทางมาถึงสถานี แล้วคิดย้อนกลับไปหาจุดเริ่มต้น สมมุติว่ามีคนขับมอเตอร์ไซค์ออกมาจากจุดหนึ่ง ใช้ความเร็ว ๕๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง ถ้ารู้ว่าเขาใช้เวลากี่นาที ก็คำนวณย้อนกลับไปได้ว่าจุดเริ่มต้นควรอยู่ห่างกี่กิโลเมตร
แต่ทีนี้เนื่องจากข้อมูลที่ใช้คำนวณตามสูตรของสำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว เขาใช้ค่าความเร็วของคลื่นที่เป็นความเร็วเฉลี่ยจากทั่วโลก ไม่ได้ใช้ค่าเฉพาะของพื้นที่ทางภาคเหนือของประเทศไทย สภาพทางธรณีวิทยาของทั่วโลกกับของไทยนั้นไม่เหมือนกัน ความเร็วที่ใช้คำนวณก็เลยไม่ตรงตามความเป็นจริง เมื่อนำมาใส่ในสูตรเพื่อคำนวณหาจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวจึงได้ผลไม่ตรง ตำแหน่งของศูนย์กลางแผ่นดินไหวจึงขัดแย้งกับความเสียหายที่เกิดขึ้น คือจากที่ตอนแรกสำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหวรายงานว่าศูนย์กลางอยู่ที่ตำบลทรายขาว อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย มาเป็นจุดที่เกิดความเสียหายมากที่สุดคือ ตำบลดงมะดะ อำเภอแม่ลาว คลาดเคลื่อนกันเป็นสิบกิโลเมตร
เหตุการณ์อย่างนี้เคยเกิดขึ้นแล้วที่จังหวัดตรัง คำนวณคลาดเคลื่อนกันเป็นอำเภอเลย เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๔ เกิดแผ่นดินไหวขนาด ๓.๕ ครั้งแรกสำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหวรายงานว่าเกิดแผ่นดินไหวระดับตื้นที่ตำบลบ้าหวี อำเภอหาด-สำราญ โดยมีประชาชนในพื้นที่อำเภอกันตัง อำเภอย่านตาขาว และอำเภอเมือง โทร.มาแจ้งว่ารู้สึกถึงแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหว แต่ยังไม่มีรายงานความเสียหายเกิดขึ้น ต่อมาผู้สื่อข่าวลงพื้นที่อำเภอเมืองตรัง พบว่าบ้านเรือนหลายหลังเกิดรอยร้าว วันนั้นผมอยู่สวีเดนได้อ่านข่าวแล้วยังสงสัยว่าแผ่นดินไหวจุดศูนย์กลางอยู่ที่อำเภอหาดสำราญ ทำไมความเสียหายมาอยู่อำเภอเมือง จึงสอบถามทางเจ้าหน้าที่ คุยกันไปคุยกันมาเขาก็คำนวณได้ตำแหน่งใหม่เป็นที่อำเภอย่านตาขาว
ผมเองยังติดใจเรื่องนี้ ถ้าไม่ได้คำตอบก็คงคาใจ กลับจากสวีเดนจึงพานักศึกษาไปลงภาคสนามสำรวจความเสียหาย จุดแรกที่ไปคืออำเภอย่านตาขาว ถามคนที่นั่นก็บอกว่าแค่รู้สึกไหว บ้านเรือนไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด ตามต่อไปถึงได้พบว่าบ้านเรือนที่เสียหายมากอยู่ในอำเภอกันตัง เมื่อนำข้อมูลความรู้สึกสั่นไหวและความเสียหายของบ้านเรือนมาพลอตกราฟ ก็พบว่าจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ในอำเภอกันตัง ห่างจากอำเภอหาดสำราญที่ถูกรายงานในครั้งแรกถึง ๒๐ กิโลเมตร ยืนยันได้ว่าการคำนวณจากรูปคลื่นแผ่นดินไหวคลาดเคลื่อน สอดคล้องกับทฤษฎีที่ว่าความเสียหายจะมากที่สุดตรงบริเวณใกล้จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว ที่ผิดพลาดไปเพราะ ข้อหนึ่ง เราใช้ค่าเฉลี่ยของความเร็วที่ไม่ถูก ข้อสอง สถานีที่อยู่รอบ ๆ แผ่นดินไหวเรามีน้อย เมื่อจำนวนข้อมูลน้อย ความคลาดเคลื่อนก็มาก
เบื้องต้นผมแนะนำให้กรมทรัพยากรธรณีทำโมเดลความเร็วคลื่นของเราเอง โดยใช้ข้อมูลอาฟเตอร์ช็อกของเหตุแผ่นดินไหวที่เชียงราย
มีโอกาสหรือไม่ที่จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวจะเกิดในกรุงเทพฯ
ไม่มี อธิบายตามหลักวิทยาศาสตร์ได้เลยว่าเพราะกรุงเทพฯ ไม่มีแนวรอยเลื่อนมีพลัง แล้วจะเป็นจุดเกิดแผ่นดินไหวได้อย่างไร กรุงเทพฯ ไม่มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวรุนแรงหรือขนาดใหญ่ แต่กรุงเทพฯ จะได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวที่มีจุดศูนย์กลางอยู่ในระยะไกลเมื่อคลื่นแผ่นดินไหวเดินทางมาถึงกรุงเทพฯ เช่นเดียวกับหาดใหญ่ก็ไม่มีทางเป็นจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหว จะมีแต่แผ่นดินไหวจากสุมาตรา อันดามัน ที่อาจส่งแรงสั่นสะเทือนมาถึงอาคารสูงในหาดใหญ่ ซึ่งก็ไม่ถึงกับว่าอาคารจะพัง เพราะเรารอดจากแผ่นดินไหวขนาด ๙.๑ เมื่อครั้งเกิดสึนามิปี ๒๕๔๗ มาแล้ว
ขนาดของแผ่นดินไหวที่เพิ่มขึ้น ๑ หน่วยจะมีพลังงานแตกต่างกันถึง ๓๐ เท่า นั่นหมายความว่าแผ่นดินไหวขนาด ๙ จะมีพลังงานกว่า ๘ ประมาณ ๓๐ เท่า ขนาด ๙ มีพลังงานกว่า ๗ ถึง ๑,๐๐๐ เท่า และขนาด ๙ มีพลังงานกว่า ๖ ถึง ๑๐,๐๐๐ เท่าเลยทีเดียว ดังนั้นเมื่อเรารอดจากแผ่นดินไหวขนาด ๙ มาแล้ว จะกลัวอะไรกับขนาด ๖
แผ่นดินไหวที่เชียงรายขนาด ๖.๓ อาจไม่ได้ส่งผลเสียหายต่ออาคารสถานที่ในกรุงเทพฯ แต่หากไหวใหญ่ขนาด ๗ หรือ ๘ อะไรจะเกิดขึ้น
ขนาด ๖.๓ กรุงเทพฯ ไม่เสียหาย ถ้าขนาดเพิ่มขึ้นจะเสียหายหรือไม่ มันไม่เสียหายหรอกเพราะคลื่นเดินทางมาเป็นระยะทางไกล ๆ ขนาดรูปคลื่นแผ่นดินไหวลดลงเหลือนิดเดียว ถึงแม้กรุงเทพฯ จะตั้งอยู่บนดินตะกอน เมื่อแรงสั่นสะเทือนเดินทางมาถึงอาจขยายเพิ่มขึ้น ๒-๓ เท่า แต่ไม่ได้หมายความว่าถ้ามีแผ่นดินไหวที่เมืองกาญจน์ขนาด ๕ มาถึงกรุงเทพฯ แล้วจะกลายเป็น ๑๐ หรือ ๑๕ เพราะแรงสั่นสะเทือนจากทางโน้นพอมาถึงกรุงเทพฯ มันเหลือนิดเดียว สมมุติพม่าไหวขนาด ๗ มาถึงกรุงเทพฯ อาจมีแรงสั่นสะเทือนพื้นดินสูงสุดเพียง ๐.๐๑ g (๑ g = ๙.๘๐ m/s2) เมื่อขยาย ๓ เท่าก็แค่ ๐.๐๓ g
เรื่องที่มีบางคนไปพูดเป็นตุเป็นตะว่าเกิดที่โน่นขนาด ๔ มาถึงตรงนี้มันขึ้นเป็น ๘ มันไม่ใช่ เข้าใจผิดแล้ว
ประเด็นของผมคือ ๑) แผ่นดินไหวขนาดรุนแรงไม่เกิดในกรุงเทพฯ ๒) เมื่อได้รับแรงสะเทือนจากแผ่นดินไหวระยะไกล
ก็ไม่ถึงกับว่าตึกที่สร้างในรูปแบบอาคารคอนกรีตเสริมเหล็กจะพังได้ เพราะจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ไกลจากกรุงเทพฯ มาก แผ่นดินไหวที่พม่าขนาด ๗ เราก็ผ่านมาแล้ว ถามว่าตึกที่กรุงเทพฯ พังไหมล่ะ ที่ร้าวอาจจะเป็นไปได้ แต่ว่าพังถล่มเลยไม่มี แล้วอย่างนี้จะไปกลัวอะไร พวกที่กลัวจนเกินไปผมบอกเลยว่าผลประโยชน์แอบแฝง
อะไรคือผลประโยชน์แอบแฝง
โจเซฟ แอดดิสัน (Joseph Addison) นักเขียน กวี นักการเมืองชาวอังกฤษ ที่มีชีวิตอยู่ในช่วง ค.ศ. ๑๖๗๒-๑๗๑๙ เคยเขียนประโยคหนึ่งไว้ใน Tatler ว่า “เมื่อไม่กี่ปีมานี้จำได้ว่าเมื่อเกาะของเราสั่นสะเทือนเพราะแผ่นดินไหว มีพวกสิบแปดมงกุฎเอายามาขาย โดยบอกกับชาวบ้านว่ายานี้ใช้ป้องกันแผ่นดินไหวได้ดีมาก”
เมื่อ ๒๐๐ กว่าปีก่อนที่ผู้คนยังไม่ค่อยรู้จักแผ่นดินไหวกัน หลังเกิดแผ่นดินไหวมีคนเจ้าเล่ห์กลุ่มหนึ่งหัวไว เอายาไปขายชาวบ้าน หลอกว่ายาตัวนี้ใช้ป้องกันแผ่นดินไหวได้ เวลาแผ่นดินไหวที่รู้สึกสะเทือน โยกเยก ก็บอกให้กินยานี้ นี่คือวิธีของพวกสิบแปดมงกุฎ เป็นอุทาหรณ์ว่าถ้าเราไม่มีความรู้ พวกสิบแปดมงกุฎก็จะเข้ามาทำงานได้ เหมือนกับบ้านเรา หลายครั้งที่มีหมอดูออกมาทำนายเรื่องแผ่นดินไหว เช่นบอกว่าสึนามิจะถล่มสองฝั่งทะเลพร้อมกันทั้งอันดามันและอ่าวไทยเมื่อ ๓๐ ธันวาคม ๒๕๓๓ ข่าวลือเรื่องเกาะภูเก็ตจะจมเพราะแผ่นดินไหว หรืออย่างเด็กชายปลาบู่ผู้ระลึกชาติได้บอกว่าเขื่อนภูมิพลจะแตกเมื่อช่วงปีใหม่ ๒๕๕๕ ทำให้ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ใต้เขื่อนขวัญหนีดีฝ่อ ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องจัดงานนับถอยหลังรับปีใหม่กันบนสันเขื่อนเรียกความมั่นใจ
การทำนายเรื่องแผ่นดินไหวของหมอดูเหล่านี้ไม่เคยถูกต้องเลยแม้แต่ครั้งเดียว แต่ก็ยังทำเอาคนไทยแตกตื่นกับคำทำนายว่าจะเกิดแผ่นดินไหว เขื่อนพัง คลื่นยักษ์ แล้วเมื่อผลออกมาว่าไม่ได้เกิด เขื่อนยังไม่พัง แต่ได้ทำให้ธุรกิจการท่องเที่ยวพัง สิ่งที่พังกลายเป็นเศรษฐกิจ โดยไม่มีใครต้องรับผิดชอบกับความเสียหายนี้ รัฐบาลก็ไม่ได้เยียวยาให้คนที่ได้รับผลกระทบดังกล่าวเพราะไม่เข้าเกณฑ์ภัยพิบัติธรรมชาติคำว่าไม่เชื่ออย่าลบหลู่ยังเป็นจุดอ่อนของคนไทยที่ทำให้เราไม่สามารถสลัดคำทำนายและข่าวลือ
อาจารย์เองไม่กลัวแผ่นดินไหวบ้างหรือ
ไม่ใช่ว่าไม่กลัว แต่ผมรู้ว่าข้อดีของแผ่นดินไหวอย่างหนึ่งคือมันไม่ได้เกิดอย่างสะเปะสะปะ มันเกิดในที่ที่มันควรจะเกิด ฉะนั้นเมื่อเรารู้ว่ามันจะเกิดตรงไหน เราก็เลี่ยงได้ว่าเราจะทำกิจกรรมอะไร อย่างถ้าผมจะไปญี่ปุ่น ผมก็ต้องเช็กก่อนว่าตอนนี้ญี่ปุ่นมีแผ่นดินไหวอยู่แถวไหนบ้าง ผมจะได้ระวัง หรือว่าเราจะไปอินโดนีเซีย จะมีแผ่นดินไหวหรือสึนามิหรือเปล่า เราก็เช็กข้อมูลพวกนี้คร่าว ๆ ได้
แต่ในเมืองไทยผมว่าให้เราเช็กความดัน เบาหวานไว้เถอะ มันจะตายก่อน ไม่ตายกับแผ่นดินไหวหรอก แต่จะตายกับความดันเยอะกว่าตายจากแผ่นดินไหว เพราะอะไร เพราะเราพยายามไปสร้างให้คนเข้าใจผิด เป็นมายาคติ คือคิดว่ามันถูก แต่มันไม่ถูก สืบทอดกันมา เขาว่าอย่างนี้ต่อ ๆ กันมาแล้วไปเชื่อ เชื่อในสิ่งผิด ๆ กันมาเรื่อย มายาคติพวกนี้มีเยอะ
มีข้อสังเกตว่าระยะหลังมานี้ประเทศไทยเกิดแผ่นดินไหวบ่อยครั้งขึ้น
แผ่นดินไหวเกิดตามธรรมชาติตั้งแต่มีโลก เพียงแต่ตอนนี้ที่เรารู้สึกว่ามันเกิดบ่อยเพราะเราวัดได้มากขึ้น จากเมื่อก่อนแผ่นดินไหวทั่วโลกต้องมีขนาดตั้งแต่ ๖ หรือ ๖.๕ ขึ้นไปถึงจะรายงานได้ แต่เดี๋ยวนี้ขนาด ๑ หรือ ๒ หรือ ๓ ก็รายงานได้หมด หมายความว่าเมื่อก่อนแผ่นดินไหวก็เกิด แต่เราวัดมันไม่ได้เพราะเครื่องมือไม่ทันสมัย เครื่องมือมีน้อย ทั่วโลกอาจมีสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหวแค่ ๑๐๐ แห่ง เดี๋ยวนี้เฉพาะที่ญี่ปุ่นประเทศเดียวมี ๒,๐๐๐ กว่าแห่ง ที่ยุโรปก็มีเครือข่ายเป็นร้อย ๆ พัน ๆ ไม่ว่าแผ่นดินไหวที่ไหนขนาดไหนก็วัดได้หมด
อีกข้อหนึ่งที่ทำให้รู้สึกว่าช่วงนี้มีแผ่นดินไหวมากขึ้นเพราะสื่อมวลชนรายงานเร็ว จากเมื่อก่อนไม่ค่อยมีสื่อ ฉะนั้นจริง ๆ แล้วแผ่นดินก็ไหวอยู่อย่างนี้ ไม่ได้ผิดปรกติแต่อย่างใด
เหตุการณ์แผ่นดินไหวหลายครั้งที่ผ่านมามอบบทเรียนอะไรให้เราบ้าง
หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด ๖.๓ ที่เชียงราย หน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งชาวบ้านรู้แล้วว่าแผ่นดินไหวสร้างความเสียหายได้เป็นวงกว้าง แล้วก็เสียหายมากในช่วงเวลาแค่พริบตา เพราะฉะนั้นมันก็เป็นบทเรียนให้เราได้เรียนรู้ว่าถ้ามีการสร้างบ้านหรืออาคารใกล้แนวรอยเลื่อน หรือใกล้จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวที่เคยเกิดในอดีต ต้องออกแบบให้โครงสร้างแข็งแรงขึ้น ไม่ใช่สร้างไม่ได้นะครับ ไม่อย่างนั้นเราจะไม่มีที่อยู่ แต่สร้างให้แข็งแรงขึ้นเพื่อต้านแรงแผ่นดินไหว
อีกกรณีหนึ่งเมื่อมีการไหวขึ้นมา เราก็ต้องรู้จักวิธีรับมือกับสถานการณ์ระหว่างเกิดแผ่นดินไหว ต้องหาที่ที่ปลอดภัยอยู่ ถ้าอยู่กลางห้องต้องมุดใต้โต๊ะ ไม่ให้ของหล่นมาทับ ถ้าไม่มีโต๊ะผมจะเลือกโครงสร้างที่แข็งแรงที่สุดคือเสา ถึงแม้ส่วนอื่นยุบลงมา แต่ที่เสาค้ำยันอยู่ ผมรอด
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างกรมทรัพยากรธรณีก็ได้บทเรียนว่าแผ่นดินไหวขนาดนี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้ คำถามอยู่ที่ว่า ครั้งนี้เกิดที่รอยเลื่อนพะเยา แล้วรอยเลื่อนอื่น ๆ ล่ะมีโอกาสเกิดแค่ไหน จะเกิดอีกเมื่อไหร่ ก็ต้องไปติดตาม เอาเครื่องมือวัดไปวาง สำนักเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา ก็ต้องออกแบบเครือข่ายให้มีความไวในการวัดแผ่นดินไหวมากขึ้น เพิ่มสถานีเพื่อรายงานการเกิดแผ่นดินไหวในประเทศได้ละเอียด ถูกต้องแม่นยำขึ้น
มีตัวอย่างแล้วว่าครั้งนี้เรารายงานแผ่นดินไหวขนาด ๖.๓ คลาดเคลื่อนไปคนละตำบล ก่อนนี้ปี ๒๕๕๔ รายงานแผ่นดินไหวที่ตรังผิดพลาดไปคนละอำเภอ แล้วชาวบ้านจะเชื่อถืออย่างไรเวลามีรายงาน ฉะนั้นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ต้องพัฒนาเพื่อรองรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต มันก็เรียนรู้กันทุกฝ่าย