เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
“ทุกวันนี้พระไทยใช้จีวรกันกี่สีครับ ?”
ผมเรียนถามท่านเจ้าคุณพระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิล ธมฺมสากิโย) อดีตผู้ช่วยเลขานุการในสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฒฺฑโณ พ.ศ. ๒๔๕๖-๒๕๕๖) ที่ห้องทำงานในกุฏิของท่านที่วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ
“มันเยอะไปหมด” ท่านตอบ ก่อนจะแจกแจงให้ฟังว่าพระสงฆ์ทางเหนือจำนวนไม่น้อยนิยมครองจีวรสีแดงเข้ม อย่างที่เรียกว่า “สีน้ำหมาก” ตามธรรมเนียมพระสงฆ์พม่า ส่วนวัดในเมืองกรุงเองก็ยังใช้จีวรหลากสีต่าง ๆ กันไป เช่นวัดสระเกศฯ จะใช้จีวรสีเหลืองหม่น เช่นเดียวกันกับวัดเบญจมบพิตร “เขาเรียกเหลืองทอง” ท่านว่า
ส่วนคณะสงฆ์วัดพระธรรมกายนิยมใช้จีวรสีเหลืองสว่าง ซึ่งถือเป็นอีกสีหนึ่งต่างหาก ยังไม่นับวัดทางฝ่ายธรรมยุติกนิกายอย่างวัดบวรนิเวศฯ เช่นท่านเจ้าคุณเอง ซึ่งครองจีวรสีออกโทนน้ำตาล อย่างที่เรียกกันว่า “สีกรัก” หรือ “สีแก่นขนุน”
ท่านอธิบายว่าสีกรักหรือสีแก่นขนุนที่ว่านี้ ไม่ได้เป็นแค่ชื่อเรียก แต่ได้จากการต้มย้อมด้วยแก่นของต้นขนุนจริง ๆ แต่ทั้งนี้คง “ขึ้นอยู่กับเวลาย้อม เราเอาต้นขนุนที่ไหนมา ต้มนานเท่าไหร่ ต้นไม้แต่ละต้นสีก็คงไม่เท่ากัน แล้วแก่นขนุนนี่ต้องเคี่ยวก่อนตั้ง ๒-๓ วัน ถ้าย้อมครั้งเดียวสีจะอ่อนมาก ก็ต้องย้อมหลายครั้ง…แล้วยังมีพวกพระทางวัดป่า จีวรยิ่งเข้มขึ้นอีก เขาย้อมกันเองก็คงอยากให้เข้ม เพราะในแง่การดูแลจะได้ไม่สกปรกง่าย”
แม้แต่ในวัดบวรนิเวศฯ เอง ภายในระยะเวลาไม่กี่สิบปีมานี้ พระสงฆ์ในวัดก็ยังเปลี่ยนสีจีวรมาแล้วหลายครั้งหลายหน ท่านจำได้ว่าสมัยก่อนคณะสงฆ์วัดบวรนิเวศฯ มักนิยมย้อมจีวรให้สีเข้มมาก ถึงขนาดต้องผสมสีดำที่เป็นสีเคมีลงไปในน้ำย้อมแก่นขนุนด้วย “มันขึ้นอยู่กับว่าครูบาอาจารย์ใช้สีอะไร ลูกศิษย์ก็ใช้สีนั้น ทุกวันนี้เราชอบบอกกันว่านิกายนั้นสีนี้ วัดนี้สีนั้น มันบอกไม่ได้หรอก ขึ้นอยู่กับว่าครูบาอาจารย์ใช้สีอะไร ก็ว่ากันไปตามครูบาอาจารย์ หรือตามเจ้าอาวาสนั่นแหละ”
โต๊ะทำงานของท่านเจ้าคุณเต็มไปด้วยหนังสือหนังหากองอยู่มากมาย เช่นเดียวกันกับชั้นหนังสือสูงจดเพดานทางด้านหลังโต๊ะที่อัดแน่นด้วยหนังสือพุทธศาสนาภาษาต่าง ๆ ปัจจุบันต้องถือว่าท่านอนิลเป็นพระสงฆ์นักวิชาการรุ่นใหม่ของคณะธรรมยุต ท่านเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย จบปริญญาเอกสาขามานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยที่ประเทศอังกฤษ และยังเป็นหนึ่งในนักวิชาการด้านพระพุทธศาสนาเถรวาทระดับนานาชาติด้วย
สาเหตุที่นำผมมายังกุฏิของท่านเจ้าคุณ ณ คณะเหลืองรังษี ก็คือประเด็นร้อนในคณะสงฆ์ธรรมยุตเมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๕๗ เมื่อสมเด็จพระวันรัต รักษาการเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ในฐานะรักษาการเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุต ได้ลงนามในคำสั่งประกาศเรื่องการครองผ้าไตรจีวรสีพระราชนิยม ว่าให้พระสงฆ์ในคณะธรรมยุตทั้งหมดเปลี่ยนสีจีวรมาเป็นสีเหลืองทอง หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่า “สีพระราชนิยม” ตั้งแต่วันวิสาขบูชา ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เป็นต้นไป
ท่านเจ้าคุณเล่าเกริ่นความเป็นมาแต่แรกของจีวรสีพระราช-นิยมให้ผมฟังว่า เมื่อคราวงานพระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก เดือนกรกฎาคม ๒๕๓๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสังเกตเห็นสีจีวรของพระเถรานุเถระที่รับนิมนต์เข้ามาในงานพระราชพิธี ว่ามีหลายหลากสีต่าง ๆ กันไป จึงมีพระราชปรารภด้วยสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ว่าตามพุทธบัญญัตินั้น สีจีวรของพระสงฆ์ที่ถูกต้องควรเป็นเช่นไร เจ้าพระคุณสมเด็จฯ ถวายพระพรว่ามิได้มีกำหนดเด็ดขาดลงไป เพียงแต่มีข้อห้ามว่ามิให้ใช้สีอะไรบ้างเท่านั้น หลังจากนั้นเจ้าพระคุณสมเด็จฯ จึงทรงรวบรวมข้อมูลสีจีวรของพระภิกษุสงฆ์ตามที่ปรากฏในพระไตรปิฎกและคัมภีร์สำคัญ ๆ นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เพื่อทรงศึกษาประกอบพระราชดำริ
“หลังจากที่ได้ทรงศึกษาข้อมูลต่าง ๆ แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชกระแสให้กรมป่าไม้ทดลองผลิตสีธรรมชาติจากพันธุ์ไม้ต่าง ๆ จนได้สีมาเป็นจำนวนนับร้อยสี แล้วทรงพิจารณาเลือกไว้ห้าสี ตามที่ทรงพระราชดำริว่าถูกต้องตามพุทธบัญญัติ ที่เรียกว่า ‘กาสาวะ’ คือสีฝาดหรือสีกรัก แล้วทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังนำสีเหล่านั้นมาถวายเจ้าพระคุณสมเด็จฯ ให้ทรงวินิจฉัยประกอบพระราชดำริ ว่าสีใดถูกต้องหรือใกล้เคียงตามพุทธบัญญัติ”
เจ้าพระคุณสมเด็จฯ พิจารณาสีทั้งห้าสีที่ดูใกล้เคียงกันมากแล้ว จึงได้ถวายพระวินิจฉัยไปว่า สีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริเลือกไว้แล้วนั้นแหละ “ถูกต้องสมควรแล้ว” จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดทำจีวรซึ่งมีสีตามสีที่มีพระราชวินิจฉัยแล้วนั้น ถวายพระภิกษุสงฆ์ในงานพระราชพิธีต่าง ๆ และกลายเป็นที่มาของชื่อเรียกสีจีวรเช่นนั้นว่า “สีพระราชนิยม” นับแต่นั้นมา ทางคณะสงฆ์ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายมหานิกายหรือธรรมยุตก็จะฉลองพระราชศรัทธาด้วยการครองจีวรสีพระราชนิยมในงานพระราชพิธีต่าง ๆ จนทุกวันนี้ โดยไม่เคยต้องมีการประกาศใด ๆ
กลับมาที่ พ.ศ. ปัจจุบันอีกครั้งหนึ่ง ทันทีที่คำสั่งเรื่องให้คณะสงฆ์ธรรมยุตครองจีวรสีพระราชนิยมเผยแพร่ออกไปก็เกิดเสียงคัดค้านอย่างแข็งขัน พระสงฆ์ธรรมยุตในสายวิปัสสนากรรมฐาน หรือ “พระป่า” ยืนยันจะใช้ผ้าจีวรสีกรักหรือสีแก่นขนุนต่อไปดังเดิม โดยให้เหตุผลว่าต้องยึดตามหลักปฏิบัติของครูบาอาจารย์ที่ดำเนินสืบเนื่องกันมานับร้อยปี
อีกไม่กี่วันต่อมาสมเด็จพระวันรัตจึงให้สัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์ว่าประกาศดังกล่าวข้างต้นให้ใช้เฉพาะสำหรับพระในเมือง (คามวาสี) มิได้ใช้บังคับแก่พระป่า (อรัญวาสี) หรืออีกนัยหนึ่งก็คืออนุโลมให้แต่ละวัดแต่ละสำนักเลือกแนวทางปฏิบัติตามที่เห็นสมควร
ท่านเจ้าคุณพระศากยวงศ์วิสุทธิ์ยังเล่าให้ฟังด้วยว่า ไม่นานมานี้ หลังจากที่สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สิ้นพระชนม์แล้ว ระหว่างการจัดเก็บรวบรวมเอกสารส่วนพระองค์ ได้ค้นพบเอกสารชุดประวัติศาสตร์ที่ทรงค้นคว้าเรื่องสีจีวรเพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายด้วย ท่านเปิดอ่านข้อความบางตอนที่คัดมาจาก พระวินัยปิฎก จีวรขันธกะ ให้ผมฟัง
“เว้นขมิ้นเสีย น้ำย้อมเกิดแต่หัว ควรทุกอย่าง. เว้นฝางกับแกแลเสีย น้ำย้อมเกิดแต่ลำต้น ควรทุกอย่าง. ต้นไม้มีหนามชนิดหนึ่ง ชื่อแกแล, น้ำย้อมเกิดแต่ลำต้น แห่งแกแลนั้น เป็นของมีสีคล้ายหรดาล เว้นโลดกับมะพูดเสีย น้ำย้อมเกิดแต่เปลือก ควรทุกอย่าง. เว้นใบมะเกลือกับใบครามเสีย น้ำย้อมเกิดแต่ใบไม้ ควรทุกอย่าง. แต่ผ้าที่คฤหัสถ์ใช้แล้ว สมควรย้อมด้วยใบมะเกลือครั้งหนึ่ง. เว้นดอกทองกวาวกับดอกคำเสีย น้ำย้อมเกิดแต่ดอก ควรทุกอย่าง ส่วนน้ำย้อมเกิดแต่ผล ผลอะไร ๆ จะไม่ควรหามิได้…”
ฟังแล้วผมก็ต้องคิดตามอยู่ไม่ใช่น้อย เพราะคำแปลนี้เขียนตามรูปไวยากรณ์ภาษาบาลี ซึ่งเข้าใจยาก แต่สุดท้ายก็พอสรุปให้เป็นภาษาชาวบ้านได้ว่า ผ้าจีวรครั้งพุทธกาลสามารถย้อมด้วยส่วนต่าง ๆ ของพืชได้หมดทุกอย่าง ทั้งราก (หัว) ลำต้น เปลือก ใบไม้ ดอกไม้ และผลไม้ เพียงแต่ห้ามย้อมเป็นสีเหลืองสด (เหมือนขมิ้น) สีดำ (เหมือนมะเกลือ) หรือสีน้ำเงิน (เหมือนคราม)
นับแต่โบราณมนุษย์ได้สั่งสมและสืบต่อความรู้เรื่องการแสวงหาสีที่ถูกใจจากธรรม-ชาติรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นแร่ธาตุ พืชพรรณ หรือสัตว์ เพื่อใช้ในกิจกรรมต่างๆ ทั้งการแต่งแต้มร่างกาย เขียนรูปภาพ ย้อมเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม รวมถึงเพิ่มสีสันแก่ข้าวปลาอาหาร
คนไทยเองก็คงใช้สีจากธรรมชาติในลักษณะอย่างที่ว่ามานี้มาแต่เก่าก่อน แต่เมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงทางสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจ และเทคโนโลยี เข้าสู่ยุคของความทันสมัย ก็ทำให้ดูเหมือนว่าภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ได้รับการเรียนรู้ ถ่ายทอด จากคนรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่งกำลังขาดช่วงไป ภารกิจการตามหา “สีไทย” ของผมจึงเริ่มขึ้น เพื่อลองติดตามดูว่ายังคงมีองค์ความรู้เรื่องสีแบบไทยหลงเหลืออยู่ที่ไหนหรือไม่ เพียงใด
สีไทยกลุ่มแรกที่ผมสนใจก็คือสีย้อม ซึ่งจากที่สอบถามท่านเจ้าคุณจึงทราบด้วยความแปลกใจว่าในคณะสงฆ์ไทย โดยเฉพาะคณะสงฆ์ธรรมยุต ยังคงรักษาธรรมเนียมการย้อมผ้าจีวรด้วยวัตถุดิบจากธรรมชาติอย่างแก่นขนุนอยู่เป็นประจำทุกวันโกน (คือ ๑ วันก่อนหน้าวันพระ ตามปฏิทินปักขคณนาที่ใช้ในคณะธรรมยุต) ไม่ว่าจะเป็นในวัดเมืองอย่างวัดบวรนิเวศฯ หรือวัดป่าที่มีอยู่ทั่วประเทศ แต่นอกจากนั้นล่ะ ?
“สีย้อมธรรมชาติส่วนใหญ่ได้มาจากพืช ที่จะได้จากสัตว์ก็มีครั่ง ที่เหลือส่วนใหญ่ก็มาจากพืช ตั้งแต่ใบ ราก ผล เปลือก แก่น ใบก็พวกคราม ห้อม ถ้าเป็นผลก็มะเกลือ ดอกก็อย่างคำเงาะ ถ้าเป็นเปลือกหรือแก่นไม้ ก็จะมีพวกเข ฝาง”
ผศ. ศิรินทร์ ใจเที่ยง อาจารย์สาวชุดดำ ตัดผมม้า สวมแว่นตากรอบกลม ปูพื้นให้ผมฟัง คล้าย ๆ กับที่กล่าวไว้ในพระวินัย ที่ทำงานของเธอคืออาคารปฏิบัติการคณะศิลปกรรมศาสตร์ สาขาวิชาศิลปะการออกแบบพัสตราภรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ปทุมธานี “ช็อป” แห่งนี้เต็มไปด้วยกี่ทอผ้าตั้งเรียงแถวกันจนดูเหมือนโรงงานทอผ้า จึงไม่แปลกที่นักศึกษาของเธอจะเรียกกันติดปากว่า “โรงทอ”
ผมเดินทางมาขอความรู้จากอาจารย์ศิรินทร์เรื่องสีย้อมจากธรรมชาติ ในฐานะที่เป็นนักวิชาการผู้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง
เธออธิบายต่ออีกว่า “สีพื้นฐานก็จะมีสีน้ำเงิน สีแดง สีเหลือง สีดำ สีหลัก ๆ ก็จะมาจากสี่สีนี้ อย่างเสื้อผ้าชนเผ่าในบ้านเรา อะข่า ม้ง เมี่ยน ไททรงดำ หลาย ๆ กลุ่ม สีพื้นฐานก็จะเป็นอย่างนี้ ไม่ได้มีลูกเล่นอะไรเยอะ หรือแม้แต่ที่อื่น อย่างกลุ่มคนไทในเวียดนาม ในลาว ในจีน สีเสื้อผ้าพื้นฐานก็จะเป็นสี่สีหลักอย่างนี้ทั้งหมด”
เมื่อผมถามว่า ทุกวันนี้การใช้สีธรรมชาติในงานผ้าพื้นเมืองของไทยมีที่ไหนบ้าง อาจารย์ศิรินทร์ไล่เรียงให้ฟังไปทีละภาค โดยออกตัวว่าที่จริงคงจะมีมากกว่านี้ แต่เท่าที่เคยพานักศึกษาในคณะออกภาคสนาม เธอพบเห็นมาดังนี้
“ภาคใต้ จริง ๆ แล้วส่วนใหญ่ก็เป็นใยสังเคราะห์ สีเคมีหมดแล้ว แต่อย่างที่คีรีวง (อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช) ก็มีกลุ่มสีธรรมชาติ ซึ่งเขาใช้ใบไม้ ด้วยถือหลักว่าจะไม่เอาชิ้นส่วนที่ให้สีมาแล้ว พืชจะตาย เพราะถ้าเอาเปลือกเอาแก่นมา มันต้องโค่นต้น ต้องถากเข้าไป เขาก็เลยดูของที่มีอยู่ในชุมชน เอาใบไม้มาต้มเพื่อให้สี หรือใช้พวกเปลือกมังคุด ช่วงหลังมาก็มีพวกเอ็นจีโอเข้าไปทำเรื่องสีย้อมธรรมชาติที่นาหมื่นศรี (อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง) ด้วย
“ทางเหนือ ที่แม่แจ่ม เชียงใหม่ พี่นุส-นุสรา เตียงเกต กับโรงเรียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา เขาก็จับเรื่องสีธรรมชาติเหมือนกัน เขาเคยปลูกห้อมแถว ๆ ทางไปสะเมิง ห้อมเป็นต้นไม้เล็ก ๆ หน้าตาเหมือนไม้ประดับ ดอกสีม่วง ๆ ชอบอยู่ใกล้น้ำ ทางเหนือถึงเรียกผ้าย้อมสีน้ำเงินว่า ‘หม้อห้อม’ เพราะแต่เดิมเขาย้อมด้วยใบห้อม แต่เดี๋ยวนี้ใช้ครามกันหมดแล้ว
“ทางอีสานยังทำย้อมสีธรรมชาติอยู่เยอะ อย่างถ้าขึ้นไปทางสกลนคร นครพนม จะมีชื่อเสียงเรื่องคราม เคยพาเด็กไปดูแหล่งครามแหล่งใหญ่ที่สกลนคร ที่บ้านถ้ำเต่า มีผู้ใหญ่บ้านผู้หญิง เขาให้ลูกบ้านปลูกครามในพื้นที่นา มีนาเท่าไหร่ เขาให้แบ่งมาปลูกครามเลย เขาส่งไปทั่วประเทศไทย รวมถึงครามที่ย้อมกันอยู่ที่เชียงใหม่ก็มาจากแหล่งนี้ เขาไม่ต้องรอตัดครามในธรรมชาติ เขาปลูกเอง หมักเสร็จ แล้วย้อมผ้าเองด้วย…”
เมื่อนักวิชาการสาขาพัสตราภรณ์ยืนยันว่าที่บ้านถ้ำเต่าคือแหล่งผลิตคราม-สีย้อมจากพืชสีเดียวที่ผลิตได้ถึงระดับเชิงพาณิชย์-แหล่งใหญ่ของประเทศ ผมจึงต้องมุ่งหน้าไปยังอีสานเหนือ
ผู้ใหญ่บ้านผู้หญิงที่อาจารย์สิรินทร์กล่าวถึงก็คือเธอคนนี้ “ผู้ใหญ่สุ่ม” สมคิด พรมจักร ผู้ใหญ่บ้านหมู่ ๑ บ้านถ้ำเต่า ตำบลสามัคคีพัฒนา อำเภออากาศอำนวย จังหวัดสกลนคร
ก่อนถึงบ้านผู้ใหญ่สุ่ม ผมเห็นขดด้ายย้อมครามแขวนตากเรียงเข้าแถวกันไว้ตามระเบียงบ้าน เมื่อแอบมองลอดรั้วเข้าไป ในบ้านบางหลังก็เห็นมีกี่ทอผ้าตั้งอยู่ - ผมมาไม่ผิดที่แน่แล้ว !
เจ้าของบ้านเป็นสตรีอีสานร่างใหญ่ พูดจาฉะฉานเสียงดังฟังชัด มีบุคลิกผู้นำเต็มเปี่ยม ในฐานะผู้ใหญ่บ้าน เขตปกครองของผู้ใหญ่สุ่มครอบคลุมลูกบ้าน ๒๒๒ หลังคาเรือน แต่ในฐานะประธานกลุ่มผ้าย้อมครามนครถ้ำเต่า เครือข่ายสมาชิก ๓๒๗ รายในกลุ่มของเธอยังข้ามเขตไปถึงหมู่บ้านใกล้เคียงอีกสามหมู่ที่เกี่ยวดองเป็นญาติพี่น้องกันด้วย
เธอประกาศกับผมอย่างภาคภูมิว่าหมู่บ้านนี้เศรษฐกิจดีที่สุดในอำเภออากาศอำนวย “ฉันอยากจะพูดว่าในสกลนครด้วยซ้ำ !” และที่มาของรายได้หลักในปัจจุบันก็คือคราม
ข้อบังคับในกลุ่มของเธอก็คือสมาชิกทุกคนต้องมีพื้นที่ปลูกต้นครามเองอย่างน้อยที่สุด ๑ ไร่ เพื่อลดต้นทุนการผลิต ชาวบ้านที่ถ้ำเต่าจะปลูกครามกันปีละสองครั้ง เรียกว่า “ครามปี” และ “ครามแล้ง” ไม้พุ่มเล็ก ๆ ในตระกูลถั่วชนิดนี้จะใช้เวลา ๓ เดือนนับจากเริ่มปลูกจนสามารถเก็บเกี่ยวได้
“เวลาที่ครามแก่เต็มที่ ใต้ใบของมันจะเหมือนมีน้ำค้างเกาะอยู่ แต่มันไม่หล่น หนูเข้าใจไหม ? แล้วเวลาเราเดินผ่าน เสียงมันจะดังก๊อก ๆๆๆ เป็นเสียงใบไม้เปียกที่มันกระทบกัน นั่นคือการที่เราจะตัดได้ แล้วก็แช่ ไม่อย่างนั้นใบมันจะร่วงหล่นไป ไม่ได้น้ำครามเลย”
หนทางที่จะได้น้ำย้อมสีน้ำเงินจากใบครามก็คือวิธีการนี้ที่ใช้กันมาแต่ดึกดำบรรพ์ แต่เช้าตรู่ ชาวบ้านจะเก็บเกี่ยวครามแก่ที่ยังเปียกน้ำค้างทั้งกิ่งก้านใบ มาม้วนขดหมักแช่ไว้ในน้ำอีกเป็นวัน ๆ
“ตอนที่เกี่ยวคราม หมู่บ้านลาวถ้ำเต่า…เหม็นทั้งหมู่บ้าน” ผู้ใหญ่สุ่มบรรยายต่อ
หลังจากกรองแยกกากแล้ว น้ำครามที่ได้จะต้องนำไปกวนกับปูนขาวให้เป็นเนื้อคราม หรือ “ครามเปียก” ที่ใช้เป็นวัตถุดิบในกระบวนการย้อม ซึ่งจะมีอายุใช้งานนานถึง ๒ ปี หากเก็บรักษาอย่างถูกวิธี คือไม่ให้ถูกแสงและอย่าปล่อยให้แห้ง
ผมขอดูตัวอย่าง ผู้ใหญ่สุ่มจึงให้แม่ ๆ สมาชิกกลุ่มฯ ไปยกมาให้ดู
ในถังใบใหญ่นั้นมีถุงพลาสติกบรรจุเนื้อครามอยู่เต็มถุง
เมื่อประธานกลุ่มฯ มีบัญชาให้เปิดปากถุงออกมาให้ช่างภาพถ่ายรูป ผมถือโอกาสเอานิ้วจิ้มลงไปควักเนื้อครามขึ้นมา เลยถูกเธอดุให้รีบไปล้างมือเสียก่อนที่จะล้างไม่ออก
สัมผัสของเนื้อครามเมื่อลองบี้ ๆ ดู ให้ความรู้สึกใกล้เคียงกับโคลนเหลว ๆ
ส่วนกลิ่นครามเป็นกลิ่นเฉพาะตัว ที่จะว่าเหม็นก็ไม่ใช่ จะว่าหอมก็ไม่เชิง สำหรับคนนอกอย่างผม ผมว่ากลิ่นเนื้อครามเป็นกลิ่นเค็ม ๆ เหมือนของจากทะเลอย่างไรชอบกล
ผลผลิตเนื้อครามของที่นี่อยู่ที่ราวปีละ ๕๐ ตัน ซึ่งนั่นก็มากพอที่จะทำให้กลุ่มของผู้ใหญ่สุ่มมีฐานะเป็นผู้ผลิตครามรายใหญ่ที่สุดของประเทศ ในจำนวนนี้ ๓๐ ตันจะถูกจำหน่ายออกไปเป็นสีย้อมสำหรับกลุ่มผู้ผลิตผ้าย้อมคราม ทั้งในภาคอีสาน และข้ามไปถึงกิจการเสื้อผ้าหม้อห้อมในจังหวัดแพร่และเชียงใหม่
ส่วนที่เหลืออีก ๒๐ ตันคือวัตถุดิบสำหรับย้อมเส้นฝ้ายเพื่อการผลิตของทางกลุ่ม ธุรกิจสำคัญอีกอย่างหนึ่งของที่นี่คือการผลิตผ้าผืนตาม “ออร์เดอร์” หรือการสั่งซื้อจากต่างประเทศ ซึ่งในแต่ละปีสร้างรายได้เข้าหมู่บ้านปีละหลายสิบล้านบาท ผู้ใหญ่สุ่มคิดถัวเฉลี่ยให้เสร็จสรรพว่า “ณ เวลานี้ในหมู่บ้านของเราการันตีเดือนหนึ่ง ต่อคนนะ…ประมาณ ๒๕,๐๐๐ บาทต่อคนต่อเดือน”
ผมถามถึงแปลงนาที่เห็นอยู่สองข้างถนนทางเข้าหมู่บ้านถ้ำเต่า ผู้ใหญ่สุ่มหัวเราะ “นาทำกันแค่วันสองวัน แต่ก่อนต้องไปนอนนา นอนขนำ แต่เดี๋ยวนี้ไม่ วันเดียวก็จบ รีบทำ…เพราะจะได้ไปทำคราม ครามได้เงินมากกว่า ข้าวกิโลฯ ละไม่ถึงร้อย แต่ครามกิโลฯ ละร้อย ผ้าทอเป็นเมตรแล้วก็อยู่ที่เมตรละ ๔๐๐
“มันไม่อยากทำนากันแล้วลูกเอ๊ย !” คือข้อสรุป
ราคาขายส่งครามออกจากหมู่บ้านอยู่ที่กิโลกรัมละ ๑๐๐ บาท หรือถ้าจะต้องเดินทางไปไกลกว่านั้น ราคาก็จะสูงขึ้นตามระยะทาง เช่นกิโลฯ ละ ๑๕๐ บาทสำหรับระยะทางสกลนคร-แพร่ หรือ ๑๓๐ บาท ถ้าต้องไปส่งที่สุรินทร์
ครามเป็นสีย้อมเก่าแก่ที่มนุษย์รู้จักใช้มาเนิ่นนาน เฉพาะในเมืองไทยเอง มีหลักฐานลายลักษณ์อักษรในศิลาจารึกสมัยสุโขทัย เช่นศิลาจารึกวัดช้างล้อม พ.ศ. ๑๙๒๗ กล่าวถึงพระบรมสารีริกธาตุกระทำปาฏิหาริย์ ว่ามีแสงสีเปรียบได้ดั่งผ้าย้อมคราม “ใสงามดังผลึกรัตนแก้วเขียวในกลาง ดังผ้าอันท่านชุบครามครั้น”
ความในศิลาจารึกนี้ยังทำให้เห็นด้วยว่าในคำไทยโบราณนั้น “เขียว” มีความหมายเดียวกับสีคราม คือสีน้ำเงิน ในลายพระหัตถ์ (จดหมาย) ของสมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (พ.ศ. ๒๔๐๖-๒๔๙๐) ที่ทรงมีไปยังพระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ พ.ศ. ๒๔๓๑-๒๕๑๒) อดีตอธิบดีกรมศิลปากร เมื่อปี ๒๔๘๒ ก็มีพระวินิจฉัยในทำนองเดียวกันนั้นว่า “เขียวนั้นหมายถึงคราม ดุจมีคำเปนพยานอยู่ว่า เขียวคราม และ สุดหล้าฟ้าเขียว”
ถ้าเรียกด้วยภาษาสมัยนี้ สมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงเป็น “ศิลปิน” คนสำคัญตั้งแต่ยุครัชกาลที่ ๕ ถึงรัชกาลที่ ๗ ผลงานฝีพระหัตถ์ที่รู้จักกันไปทั่วโลกก็คือการออกแบบพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตร กรุงเทพฯ เป็นต้น ดังนั้นในแวดวงช่างไทยจึงมักเรียกแทนพระนามกันว่า “สมเด็จครู” ด้วยฝีมือเชิงช่างของพระองค์นั้นต้องถือเป็นแบบอย่างของงานช่างอย่างไทย อีกทั้งยังได้ประทานความรู้ทางงานช่างมากมาย ทิ้งไว้ในลายพระหัตถ์ซึ่งพิมพ์รวมอยู่ในหนังสือชุด สาส์นสมเด็จ และ บันทึกเรื่องความรู้ต่าง ๆ
ในลายพระหัตถ์หลายฉบับยังทรงกล่าวถึงเรื่องสีไทยโบราณไว้ด้วย โดยเฉพาะสีสำหรับการวาดภาพ หรือสีของช่างเขียน “สมเด็จครู” ทรงชี้ให้เห็นด้วยว่า ชื่อของสีที่เรียกกันว่า “สีน้ำเงิน” นั้น “ฉันสังเกตความในคำ เห็นมันเปนสีอ่อนอยู่แล้ว อ่อนยิ่งกว่าสีฟ้าไปเสียอีก” ดังนั้นแต่เดิมคำว่า “สีน้ำเงิน” ย่อมหมายถึงสีฟ้าอ่อนที่เกือบขาว เพราะคำนี้บ่งว่าเป็นสีเดียวกับโลหะเงินเมื่อหลอมละลาย
การใช้คำว่าสีน้ำเงินตามนัยความหมายนี้ พบหลักฐานยืนยันในกาพย์บทหนึ่งของ “ครูเทพ” หรือเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี (สนั่น เทพหัสดิน ณ อยุธยา พ.ศ. ๒๔๑๙-๒๔๘๖) ที่ชื่อ “แม้เมฆดำยังแรขอบน้ำเงิน” ว่า
เห็นเมฆหนาตั้งมาเป็นก้อนก้อน
บดบังแสงทินกรเกือบสนิท
จวบโพล้เพล้เวลามาประชิด
ดวงอาทิตย์ทอแสงแทงสอดไว้
อนิจจาเมฆคล้ำดำแท้แท้
อุตส่าห์แรขอบน้ำเงินเพลิดเพลินได้
อันคนเราถึงเศร้าโศกเพียงไร
ก็เบาใจเมื่อเขารู้เท่าทุกข์
อุปมานี้คงมาจากสำนวนในภาษาอังกฤษที่ว่า every cloud has a silver lining ในความหมายว่า แม้ยามที่ดูอับจนหนทางก็ยังมีความหวัง เปรียบประดุจก้อนเมฆใหญ่สีดำแต่ก็ยังมีขอบสีเงิน ซึ่งจะเห็นได้ว่าในบทกวีนี้ ท่านใช้คำว่า “ขอบน้ำเงิน” ตามความหมายดั้งเดิมของคำเลยทีเดียว
ถ้าเช่นนั้น แต่เดิมคนไทยเรียกสีน้ำเงินว่าอะไร
“สมเด็จครู” ประทานความรู้ไว้เป็นมรดกแก่เราว่า “สีน้ำเงินและสีฟ้า พวกช่างเขาไม่เรียกกัน เขาเรียกว่า สีมอคราม” และในอีกแห่งหนึ่งทรงขยายความไว้ว่า “สีมอ ของพวกช่างเขาใช้เรียกกันอยู่ ๒ อย่างคือ มอหมึกกับมอคราม มอหมึกก็คือผสมด้วยหมึก มอครามก็คือผสมด้วยคราม เขาไม่ได้นึกถึงฟ้าถึงเงินอะไรเลย”
ชื่อเรียกสีโบราณอย่างเช่นมอหมึก มอครามเหล่านี้ คงกลายเป็นชื่อที่ไม่มีใครรู้จักเสียแล้วในปัจจุบัน ยังไม่ต้องพูดถึงเรื่องกรรมวิธีการทำการใช้สีแบบช่างโบราณ ที่ดูเหมือนจะสาบสูญไปจากโลกสมัยใหม่โดยสิ้นเชิง
กระบวนการเสื่อมถอยขององค์ความรู้เรื่องสีไทยค่อย ๆ เกิดขึ้นมาอย่างช้า ๆ นับศตวรรษแล้ว
เมื่อหลายปีก่อนอาจารย์ชมพูนุท ประศาสน์เศรษฐ แห่งคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร เคยศึกษาตัวอย่างผงสีจากจิตรกรรมฝาผนังตามวัดวาอารามต่าง ๆ อาจารย์พบว่าเริ่มมีสีเคมีที่เป็นสีสังเคราะห์ปรากฏมากขึ้นนับแต่ราวต้นพุทธศตวรรษที่ ๒๕ หรือราวต้นสมัยรัชกาลที่ ๔ เป็นต้นมา โดยเฉพาะกลุ่มสีน้ำเงิน
ในช่วงแรกคือสีน้ำเงินเข้มที่เรียกว่าปรัสเซียนบลู (Prussian Blue) ซึ่งมีกำหนดเวลาแน่ชัดว่าสังเคราะห์ขึ้นได้ครั้งแรกในเยอรมนีเมื่อปี ๒๒๔๗ (แต่กว่าจะเข้ามาถึงเมืองไทยก็คงต้องใช้เวลาหลังจากนั้นอีกนาน) ความนิยมใช้สีปรัสเซียนบลูนี้ นอกจากจะพบในจิตรกรรมฝาผนังแล้ว คงใช้ย้อมผ้า หรือแม้แต่ใช้ผสมทาสีอาคารบ้านเรือนด้วย จนมีเอกสารทางฝรั่งเศสระบุว่าผงสีปรัสเซียนบลู (Bleu de Prusse) ติดอันดับสินค้านำเข้าจากฝรั่งเศสของสยามยุครัชกาลที่ ๔
เมื่อถึงช่วงรัชกาลที่ ๕ สีน้ำเงินที่ช่างไทยนิยมนำมาเขียนภาพ เปลี่ยนจากน้ำเงินเข้มของปรัสเซียนบลู มาเป็นสีฟ้าสดที่เรียกกันว่า “อัลตรามารีน” (Ultramarine Blue) ซึ่งสังเคราะห์ขึ้นได้เป็นครั้งแรกในโลกเมื่อปี ๒๓๗๓
สีฟ้าสดอย่างใหม่นี้ช่างไทยเรียกกันทั่วไปว่า “ครามฝรั่ง”
นับแต่นั้นมาสีสังเคราะห์นานาสีก็เข้ามาท่วมตลาดในเมืองไทย และกลายเป็นที่นิยมเพราะใช้งานสะดวกและให้สีที่สดใสกว่าสีไทยแบบเดิม ทว่าช่างรุ่นเก่าอย่าง “สมเด็จครู” สมเด็จฯ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงเรียกสีเหล่านี้ด้วยน้ำเสียงไม่เชื่อถือว่าเป็น “สีสวรรค์” ดังที่ทรงเล่าไว้ใน สาส์นสมเด็จ ตอนหนึ่งว่าในสมัยรัชกาลที่ ๕ โปรดให้มีการซ่อมจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถวัดราชบุรณะ (วัดเลียบ)
“วิมานเสียไปช่องหนึ่ง เอาสีที่ขายในตลาดทาก็เข้ากับอีกสองช่องซึ่งยังดีอยู่ไม่ได้ เพราะชาดที่ขายในตลาดนั้นปนสีสวรรค์ ต้องค้นก้นร้านซึ่งเคยขายน้ำยาในตลาด ได้ชาดอย่างเก่ามาจึงเอาทาพอเข้ากันไปได้ ที่เรียกว่าสีสวรรค์นั้นก็ดีแล้ว เพราะสองสามวันก็ไปสวรรค์หมด…”
แต่แล้วผมก็ได้ข่าวที่แทบไม่น่าเชื่อว่า ๑ ศตวรรษให้หลัง ยังคงมีผู้ที่สามารถ “ปรุง” สีแบบไทยโบราณได้อยู่ ผู้รู้หลายท่านลงมติเป็นเอกฉันท์ว่า ณ ปัจจุบันนี้เรื่องสีไทยโบราณ “ต้องถามอาจารย์วีรธรรม” ดังนั้นจากอีสานเหนือผมจึงมุ่งหน้าเลาะเลียบน้ำโขงลงสู่อีสานใต้ ตัดข้ามทุ่งกุลาร้องไห้ไปที่บ้านท่าสว่าง อำเภอเมือง จังหวัดสุรินทร์
สีย้อมไหม – ในเมืองไทยมีการใช้สีธรรมชาติจากวัสดุหลายชนิดเพื่อย้อมเส้นด้ายฝ้ายไหม เช่นสีแดง มีทั้งที่ย้อมด้วยครั่ง ไม้ฝาง และรากยอป่า สีน้ำเงิน ใช้ครามและห้อม ส่วนสีเหลือง ใช้ขมิ้น ขนุน เข ประโหด และเปลือกทับทิม
ในช่วง ๑๐ กว่าปีก่อน ชื่อ “วีรธรรม ตระกูลเงินไทย” แทบจะเป็นสิ่งเดียวกันกับคำว่า “ชุดผู้นำเอเปก” เพราะในปี ๒๕๔๖ เมื่อประเทศไทยได้ รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียแปซิฟิก (APEC 2003) เสื้อผ้าชุดที่ผู้นำ ๒๑ ประเทศสวมใส่ถ่ายภาพร่วมกัน ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม คือผลิตผลจากการที่อาจารย์วีรธรรมพัฒนาการทอผ้าไหมยกทองที่บ้านเกิดของท่าน
แต่มาวันนี้หากสืบค้นชื่อเดียวกันนี้ในเครือข่ายอินเทอร์เน็ต จะพบว่าผลงานที่ทำให้อาจารย์เป็นที่รู้จักและกล่าวขวัญกันแพร่หลายคือการฟื้นฟูเครื่องแต่งกายแบบราชสำนักสยามมาใช้เป็นชุดเจ้าสาว ชนิดที่เรียกได้ว่าชุดไทยฝีมืออาจารย์วีรธรรมและเหล่าลูกศิษย์ลูกหากลายเป็นหนึ่งในองค์ประกอบของ “งานแต่งงานในฝัน” ของเจ้าสาวชาวไทยไฮโซนับไม่ถ้วน
แต่ยังมีอีกด้านหนึ่งที่คนไม่ค่อยทราบกัน อาจารย์วีรธรรมคือผู้ค้นคว้าความรู้เกี่ยวกับสีไทยโบราณมากว่า ๓๐ ปี หลักคิดของอาจารย์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผ้าไหม ชุดไทย หรือสีไทย ก็คือสิ่งเดียวกัน อย่างที่เจ้าตัวยืนยันกับผมว่า “อะไรที่คนโบราณทำได้ เราคนสมัยใหม่ก็ต้องทำได้ และควรจะทำได้ดีกว่าด้วยซ้ำ !”
เรือนไทยของอาจารย์ในหมู่บ้านท่าสว่างนอกตัวเมืองสุรินทร์ไปทางเหนือ ร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่มากมาย หลังคากระเบื้องดินเผาปกคลุมด้วยเถาไม้เลื้อยที่หยัดรากแทงทะลุลงมาห้อยอยู่เหนือหัว เรานั่งกันอยู่บนพื้นกระดานแผ่นใหญ่เรียบลื่น ล้อมรอบด้วยมวลหมาท่าทางเป็นมิตร กับวัตถุดิบ ขวดสี และภาพวาดที่อาจารย์ให้ลูกศิษย์ช่วยกันขนออกมาวางกองให้ผมดู
อาจารย์วีรธรรมออกตัวกับผมว่า “ไม่ค่อยได้คุยกับใคร” เรื่องสีไทย ก่อนจะเท้าความว่าได้เริ่มสนใจความรู้เรื่องนี้มาตั้งแต่ครั้งยังเป็นนักเรียนศิลปะ “มันเป็นความรู้ที่ต้องปะติดปะต่อ ทั้งของไทยเรา ที่ผมไต่ถามจากครูบาอาจารย์ ไม่ว่าจะเป็นที่เพาะช่าง ครูช่างรุ่นเก่า ๆ ที่เพชรบุรี ช่างพื้นเมืองอีสาน แล้วก็ช่างเขมร เพราะผมเคยไปอยู่กัมพูชามาระยะเวลาหนึ่ง ได้รู้จักกับช่างที่นั่น ซึ่งก็คล้ายกับช่างโบราณของเรา ผมศึกษาไปทั่ว แต่สรุปแล้วก็จะมีสูตรวัสดุที่นำมาผลิตสีคล้าย ๆ กัน”
แล้วความรู้ที่อาจารย์สั่งสมไว้ก็หลั่งไหลออกมาราวกับเปิดตำราวิชาช่างไทย
สีแดงสดที่ช่างไทยใช้กันมาแต่โบราณ ทำมาจากชาด เรียกว่า “ชาดก้อน” คือแร่ซินนาบาร์ (Cinnabar) ไทยเรานำเข้าจากเมืองจีนบ้าง พม่าบ้าง ตั้งแต่ยุคโบราณ ชาดก้อนมีลักษณะเป็นหินสีน้ำตาลอมแดง ผิวเรียบมันวาว หยิบจับดูจะรู้สึกได้ว่าหนักกว่าหินทั่ว ๆ ไปในก้อนขนาดพอ ๆ กัน
อาจารย์อธิบายว่าการ “ปรุงสี” ของช่างไทยโบราณ ส่วนมากจะใช้วิธีการอย่างเดียวกัน คือที่ช่างไทยโบราณเรียกว่า “เกรอะน้ำ” คือนำวัตถุดิบมาบดให้ละเอียด นำไปกวนในน้ำ ทิ้งให้ตกตะกอน แล้วรินน้ำทิ้ง วันรุ่งขึ้นก็ทำซ้ำไปอีกเรื่อย ๆ ทำเช่นนี้อยู่เป็นเดือน ๆ จนได้เนื้อสี ชาดก็เช่นกัน เมื่อได้มาแล้วต้องบดให้ละเอียด จนสีออกแดงอมส้ม จากนั้นก็นำไปเกรอะน้ำ จน “จืด” และเมื่อทำเสร็จแล้วจะได้ผงชาดหรคุณสีแดงสดฉ่ำที่ไม่กลับมาดำอีก
สีแดงอีกสีหนึ่ง คือสีดินแดง เป็นแร่ฮีมาไทต์ (Hematite) คือเป็นออกไซด์ของเหล็กซึ่งอยู่ในดิน บางท้องถิ่นจะมีสีแดงจัด ส่วนสีดินเทศ หรือดินแดงเทศ เป็นแร่ฮีมาไทต์เช่นเดียวกัน แต่มีสีเข้มฉ่ำกว่าสีดินแดงไทย ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นของ “เทศ” คือนำเข้ามาจากต่างประเทศ
สีโทนแดงอื่น ๆ ก็มีสีลิ้นจี่ ซึ่งดั้งเดิมได้จากแมลงชนิดหนึ่งที่เติบโตในต้นกระบองเพชรของทวีปอเมริกา ฝรั่งเรียกว่า โคชินีล (Cochineal) เมื่อนำตัวแมลงไปบี้ ๆ จะได้สีแดงอมม่วง คนจีนเรียกสีชนิดนี้ว่า “อินจี่” หูคนไทยฟังแล้วคล้าย ๆ ลิ้นจี่ ขณะที่สีของมันก็ดูเหมือนเปลือกลิ้นจี่จริง ๆ จึงมักเรียกกันว่าสีลิ้นจี่ อาจารย์อธิบายเพิ่มเติมว่าจีนโบราณอาจได้แมลงโคชินีลจริง ๆ มาขาย แต่ต่อมาก็กลายเป็นสีสังเคราะห์ ซึ่งก็นำเข้าจากเมืองจีนเช่นกัน
อีกสีหนึ่งที่อาจจัดอยู่ในกลุ่มสีแดงได้คือสีส้ม ที่ช่างไทยเรียกว่าสีเสน ซึ่งเป็นออกไซด์ของแร่ดีบุก
จากกลุ่มสีแดงนี้ เมื่อนำไปผสมกับสีขาว จะได้เป็นกลุ่มสีที่เรียกตามภาษาจีนว่า “หง” ซึ่งในภาษาจีนโบราณหมายถึงสีชมพู
สีชาดผสมขาวจะได้เป็นสีโทนชมพู เรียกว่า “หงชาด”
สีดินแดงหรือดินเทศผสมขาว คือ “หงดิน”
สีลิ้นจี่ผสมขาวจะเกิดเป็นสีแดงอมชมพู ช่างไทยโบราณอาจเห็นว่าดูคล้ายกับตีนนกพิราบ ตีนหงส์ หรือตีนนก จึงเรียกกันว่าสีตีนนก หรือสี “หงสบาท” (ช่างยุคเก่าเรียกกันในภาษาปากว่า “หงสิบบาท”)
ส่วนสีเสนผสมขาว ก็จะได้เป็น “หงเสน”
ทว่าหากผสมสีชาดหรือดินแดงให้เข้มขึ้นด้วยเขม่า (สีดำ) ก็จะมีชื่อเรียกเฉพาะตามศัพท์ช่างไทยว่า “แดงตัด”
ส่วนสีน้ำเงินดั้งเดิมมาจากคราม ช่างไทยมีชื่อเรียกสีน้ำเงินผสมขาวโดยเฉพาะ คล้องจองกันเป็นชุด ตามลำดับอ่อนแก่ คือ ผ่านคราม-น้ำไหล-ไข่ครุฑ ผ่านครามคือสีครามผสมขาว น้ำไหลคือสีครามที่ผสมขาวมากขึ้นให้อ่อนลงแล้วเจือด้วยสีเหลือง จะได้เป็นสีฟ้าอมเขียว และหากเพิ่มสีเหลืองให้มากขึ้นอีก ก็จะได้เป็นสีไข่นก หรือที่ช่างไทยเรียกว่า “ไข่ครุฑ”
“ดูไข่นกกิ้งโครงเป็นหลัก สีจะออกฟ้าอมเขียว เหมือนพลอยสีขี้นกการเวก หรือ turquoise บางทีเรียกสีไข่ครุฑ” อาจารย์วีรธรรมขยายความ
แต่หากนำสีครามมาผสมเขม่าจะเรียกว่าสีมอคราม หรือที่คนปัจจุบันคงเรียกว่า “น้ำเงินเข้ม” แต่หากเป็นสีครามเหลือบม่วง จะมีชื่อเรียกเฉพาะว่าสีขาบ
ส่วนสีเหลืองมาจากยางรงซึ่งเป็นยางไม้ชนิดหนึ่ง ไม่เช่นนั้นก็จะมาจากดินเหลือง ถ้าผสมสีขาวก็จะได้เป็นสีจันทร์ สีนวลจันทร์ สีนวล อ่อนลงมาเรื่อย ๆ
สีเขียวเป็นสีผสมระหว่างรงกับคราม หรือไม่ก็เป็นสนิมโลหะ อย่างสนิมทองแดง ที่ช่างไทยเรียกว่าเขียวตังแช หรือเขียวตั้งแช แต่จากประสบการณ์ อาจารย์วีรธรรมยืนยันว่าใช้สำริด (โลหะผสมระหว่างทองแดงกับดีบุก) แช่ไว้ในน้ำส้มสายชูที่หมักจากสับปะรดตามกรรมวิธีโบราณ จะได้สีเขียวที่สวยเป็นพิเศษ
สีเขียวตั้งแชนี้เป็นสีที่สดใสมาก ช่างไทยโบราณจึงจะทำให้แลดูนุ่มนวลลงด้วยการ “โฉบ” คือระบายทับด้วยสีเขียวใส ที่เรียกว่าสีเขียวใบแค โดยนำใบแคมาหมัก หรือไม่เช่นนั้นก็อาจใช้ยางรงผสมสีเขม่า
ส่วนสีขาวก็ทำจากเปลือกหอยน้ำจืดที่ทิ้งไว้จนผุ แล้วนำมาบดให้เป็นผง ไม่เช่นนั้นก็เป็นสนิมโลหะ เช่นตะกั่ว
สุดท้ายคือสีดำ อาจารย์วีรธรรมปรุงขึ้นเองจากเขม่าตามวิธีการดั้งเดิม ด้วยการนำใบไม้มาคลุกน้ำมันยาง จุดเผาให้ลุกเป็นไฟ แล้วนำแผ่นโลหะเรียบ ๆ มาอังรับเขม่าไฟไว้ ได้มาแล้วก็นำมาขูดเก็บรวบรวมใช้เป็นผงสีดำ
เหล่านี้คือสีดั้งเดิมที่ช่างเขียนไทยรู้จักใช้กันมาแต่โบราณ และเป็นสีที่อาจารย์วีรธรรมศึกษาค้นคว้ากรรมวิธีมาจนสามารถผลิตสีใช้เขียนภาพไทยด้วยตัวเองมาร่วม ๓๐ ปี แต่ด้วยวัยที่สูงขึ้น ปัญหาด้านสายตาที่กลายเป็นอุปสรรค และภาระหน้าที่ด้านงานผ้าทอที่เพิ่มขึ้นตลอดเวลา ทำให้ในระยะหลังมานี้ อาจารย์จึงไม่ค่อยได้วาดภาพและไม่ค่อยได้ปรุงสีแบบนี้อีก อย่างไรก็ดีนับเป็นข่าวน่ายินดีสำหรับผู้ใฝ่ใจในงานช่าง เพราะอาจารย์วีรธรรมกำลังเริ่มต้นกระบวนการผลิตสีไทยโบราณเหล่านี้อีกครั้งหนึ่ง เพื่อใช้ในโครงการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนังพระอุโบสถวัดราชบุรณะ กรุงเทพฯ
พระอุโบสถหลังนี้สร้างขึ้นทดแทนหลังเดิม (หลังเดียวกับที่ “สมเด็จครู” ทรงเล่าเรื่องการซ่อมภาพ) ซึ่งถูกทิ้งระเบิดทำลายลงจนราบโดยฝ่ายสัมพันธมิตรในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ และจนถึงบัดนี้ก็ยังไม่มีจิตรกรรมฝาผนังภายใน
โครงการดังกล่าวมีอาจารย์สุดสาคร ชายเสม จากเพาะช่าง เป็นแม่งาน ด้วยความมุ่งมั่นว่าจะรื้อฟื้นการเขียนภาพด้วยเทคนิคช่างไทยโบราณขึ้นใหม่อีกครั้ง รวมถึงสีที่ใช้ด้วย โดยอาจารย์วีรธรรมเข้ามารับหน้าที่ควบคุมการผลิตสีให้เพียงพอแก่การใช้งาน
สีไทยที่จะต้องปรุงขึ้นใหม่มีกว่า ๒๐ สี และแต่ละสีต้องใช้ในปริมาณมากเพราะต้องใช้เขียนเต็มพื้นที่ผนังพระอุโบสถจัตุรมุขทั้งหลัง อาจารย์ยกตัวอย่างว่าสีแดงชาดอย่างเดียวก็ต้องเตรียมไว้ให้ได้ถึง ๑๐๐ กิโลกรัม ซึ่งจนถึงขณะนี้ก็เพิ่งเตรียมทำชาดหรคุณไว้ได้เพียง ๒๐-๓๐ กิโลกรัมเท่านั้น
งานนี้เป็น “งานใหญ่” ที่อาจจะต้องใช้เวลาอีกนับสิบปี อีกทั้งยังต้องใช้งบประมาณมหาศาล เช่นชาดก้อน ปัจจุบันราคาขายในเมืองไทย (มีจำหน่ายตามร้านขายยาจีน เพราะถือเป็นเครื่องยาชนิดหนึ่ง) อยู่ที่กิโลกรัมละไม่ต่ำกว่า ๒,๐๐๐ บาท แต่พร้อมกันนั้น นี่เองอาจเป็นโอกาสให้องค์ความรู้ของช่างโบราณได้รับการสืบทอด ทั้งเรื่องการปรุงสี และเทคนิคจิตรกรรม
อาจารย์วีรธรรมปรารภว่า “งานใหญ่ ๆ ต้องใช้คนเยอะ ถ้าจะทำให้ดีจริง ๆ เดี๋ยวนี้ทำยากแล้ว อย่างจิตรกรรมฝาผนัง คนโบราณเขามีครูช่างควบคุม เขาเรียนกันเป็นสกุลช่าง อยู่กันเป็นสำนักช่าง ช่างเขียน ๑๐-๒๐ คน ทุกคนต้องมือเดียวกันหมด ดูไม่ออกว่าใครเป็นใคร เขาไม่ได้เป็นปัจเจกเอกเทศเหมือนช่างปัจจุบัน”
ดังนั้นเพียงขั้นตอนในการฝึกหัดให้ศิลปินนับสิบกลายเป็นช่างเขียนที่มีฝีมือเป็นหนึ่งเดียวกันนี้ ก็คงเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ใช้กำลังแรงกายแรงใจมหาศาล แต่หากทำสำเร็จก็ย่อมเป็นการก่อกำเนิดใหม่ของสำนักช่างเขียนโบราณในยุครัชกาลปัจจุบัน
นอกจากการหวนคืนสู่องค์ความรู้และเทคนิคดั้งเดิมในการปรุงสีไทยอย่างที่อาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย กำลังดำเนินการอยู่แล้ว ก็ยังมีความพยายามในการคืนชีวิตให้แก่โทนสีไทยอีกครั้งผ่านเทคโนโลยีสมัยใหม่ด้วย
ห้องแล็บของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม เป็นอาคารที่ตั้งอยู่แยกเป็นเอกเทศ ภายในตึกหลังนี้มีห้องแล็บสารพัด แต่จุดหมายของผมก็คือ “โครงการผลิตสีคุณภาพราคาประหยัดสำหรับงานศิลปะ มหาวิทยาลัยศิลปากร” หรือที่รู้จักกันทั่วทั้งมหาวิทยาลัยในนาม “โครงการสี”
ถึงห้องเพดานสูงแห่งนี้จะเต็มไปด้วยอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ แต่ตอนบนสุดก็ยังมีภาพเขียนมากมายแขวนประดับไว้โดยรอบ สมกับที่เป็นห้องแล็บอันเนื่องด้วยงานศิลปะ ผมนัดพบกับ รศ. ดร. สุพรรณี ฉายะบุตร ในฐานะประธานคณะทำงานฝ่ายดำเนินการวิจัย พัฒนาและผลิตสี หรืออาจเรียกง่าย ๆ ได้ว่าเป็นหัวหน้า “โครงการสี” มหาวิทยาลัยศิลปากร แต่พร้อมกันนั้น อาจารย์ยังเป็นนักเคมีที่จบการศึกษาตั้งแต่ปริญญาตรีถึงปริญญาเอกในสาขานี้
“โครงการสี เราทำมา ๑๐ ปีแล้ว จนเราขาย know-how สีอะคริลิก สีน้ำมัน สีน้ำ ให้บริษัทเอกชนนำไปผลิตจำหน่าย เมื่อปีที่แล้ว ๒๕๕๖ มหาวิทยาลัยครบรอบ ๗๐ ปี ทางอาจารย์ถาวร (ผศ. ถาวร โกอุดมวิทย์ รองอธิการบดีฝ่ายศิลปวัฒนธรรม) กับอาจารย์ไพโรจน์ (อาจารย์ไพโรจน์ พิทยเมธี) เขาก็สนใจ ว่าเราน่าจะมีอะไรที่เป็นอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นการเฉลิมฉลอง ก็เลยคิดทำโครงการสีไทยโทน หรือสีไทยศิลปากร คือเป็นเฉดสีของไทยเอง เป็นชื่อไทยเลย ไม่ใช่เขียวเวอริเดียน (Viridian -สีเขียวอมน้ำเงิน) เหลืองแกมบอช (Gamboge) อันนั้นเป็นโทนฝรั่ง เป็น international tone แต่เรามีสีของเราสมัยโบราณ ที่ใช้เขียนจิตรกรรมฝาผนัง มีชื่อของเราเอง อย่างเช่นหงสบาทหรือเขียวตั้งแช อาจารย์ไพโรจน์กับอาจารย์ถาวรเขาก็คิดว่าเราน่าจะ revise ตรงนี้ วิจัยดูสิว่าตัวจริงของมันคืออะไร วัสดุของมันคืออะไร”
“ยากไหมครับ งานนี้ ?” ผมสงสัย
“ก็ไม่ได้ยากอะไร เรามีประสบการณ์การวิจัยตั้งแต่เรื่องหมึกพิมพ์ เรื่องอิงก์เจ็ต เรื่องสีหัตถกรรม ยาทำเล็บ ทำมาเยอะแยะ สมัยก่อนสีก็ต้องเป็นวัสดุธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ เราก็ไปเอามาจากธรรมชาติ เช่นสีครามมาจากต้นคราม เราทำวิจัยโครงการนี้ก็ทำสีย้อม เอาต้นไม้เอาอะไรต่ออะไรมาสกัดเป็นสีน้ำ-สีละลายน้ำ แล้วก็ตกตะกอนผงสีด้วยเทคนิคของเรา ก็เอามาผลิตเป็นสีไทยโทนได้”
อาจารย์สุพรรณีย้ำว่า สิ่งสำคัญของโครงการสีไทยโทนก็คือพยายามรักษาองค์ความรู้ดั้งเดิมไว้
“อย่างสีคราม เราก็ใช้ผงคราม เป็นสีจากต้นไม้ สกัดจากต้นครามแล้วเอามาทำเป็นผง หรือสีเขียว ก็เอาใบหูกวาง ใบมะม่วง มาต้ม สกัดสีออกมา คิดถึงเวลาต้มผัก น้ำก็จะออกมาเขียว ๆ เหลือง ๆ แล้วเราก็เอามาตกตะกอน”
แต่ขณะเดียวกันเมื่อประเด็นของโลกยุคปัจจุบันคือเรื่องสิ่งแวดล้อม ทางโครงการสีก็ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นอันดับต้น ๆ ด้วย
“แต่อย่างชาดนี่ เนื่องจากมันเป็นปรอทซัลไฟด์ อันตราย เราก็ไม่เอา เราก็เปลี่ยนไปใช้สารเคมีตัวอื่นที่ให้สีเดียวกันแทน…คือบางตัวถ้าไม่มี เราก็ต้องใช้สารเคมี แต่เราก็พยายามหลีกเลี่ยง หาสีในธรรมชาติให้ได้ก่อน สีที่เราวิจัยต้องผ่านการการันตีว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”
ปัจจุบันโครงการสีไทยโทนหรือสีไทยศิลปากรของอาจารย์สุพรรณีและคณะนักวิจัยถือได้ว่าสำเร็จเสร็จสิ้นไปแล้ว มีผลงานออกมาเป็นต้นแบบชุดสีอะคริลิกจำนวน ๒๖ สี ได้แก่ สีขาวผ่อง ขาวกะบัง รง นวลจันทร์ เสน ลิ้นจี่ ชาด หงสบาท ม่วงเม็ดมะปราง ลูกหว้า ม่วงดอกผักตบ ม่วงดอกตะแบก ฟ้า น้ำไหล คราม เขียวตอง เขียวใบแค เขียวไพล เขียวดิน เขียวตั้งแช เหลืองดิน น้ำตาลไหม้ ดินแดง แดงตัด ดำเขม่า และสีทอง
สิบปีที่ผ่านมาโครงการวิจัยสีของอาจารย์สุพรรณีซึ่งมีแล็บห้องเดียวกับเจ้าหน้าที่เพียงไม่กี่คน สามารถทำรายได้ให้แก่มหาวิทยาลัยศิลปากรถึงปีละล้านบาท จากค่า royalty fee (ค่าสิทธิ) ของชุดสีน้ำ สีอะคริลิก และสีน้ำมัน ในชื่อชุด “สีศิลปากรประดิษฐ์” และ “สีวิจิตรรงค์” มาแล้ว
ทว่าความมุ่งหวังสำคัญสำหรับโครงการสีไทยศิลปากรนี้อาจไม่ใช่ความสำเร็จในทางการตลาด มากเท่ากับประโยชน์ทางสังคม ที่ว่าชุดสีไทยที่เป็นสีอะคริลิกอาจมีส่วนช่วยสืบต่อขนบงานช่างโบราณของไทยอย่างการเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง ซึ่งจะทำให้กระบวนการเขียนภาพทำได้ง่ายขึ้น ต้นทุนต่ำลง และมีความทนทานยาวนาน
“สีอะคริลิกเหมาะกับเมืองไทย ไม่ขึ้นราง่าย เมืองไทยเชื้อราเยอะ ตั้ง ๒๐๐ กว่าสายพันธุ์” เป็นมุมมองในสายตาของนักวิทยาศาสตร์หญิงคนนี้
จนถึงขณะนี้งานวิจัยเรื่องสีไทยศิลปากรก็ยังคงเป็นงานต้นแบบ เมื่อผมสอบถามถึงความเป็นไปได้ในการผลิตเชิงพาณิชย์ คำตอบของอาจารย์สุพรรณีก็ยังคงยืนยันในพันธกิจของท่านว่า “เราทำแค่ต้นแบบ เพราะเรามีหน้าที่วิจัย เราไม่ได้ผลิตขายเอง เรื่องนั้นต้องแล้วแต่ทางมหาวิทยาลัย”
อีกหนึ่งในทีมของมหาวิทยาลัยศิลปากรผู้อยู่เบื้องหลังโครงการสีที่ ดร. สุพรรณีออกนามไว้ข้างต้นแล้ว ก็คืออาจารย์ไพโรจน์ พิทยเมธี
อาจารย์เป็นดีไซเนอร์หนุ่มไฟแรงที่สนใจเรื่องความเป็นไทยในงานออกแบบ หัวข้อวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทของอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยศิลปากรในปี ๒๕๕๑ ก็คือ การวิเคราะห์องค์ประกอบการออกแบบเลขนศิลป์ที่แสดงเอกลักษณ์ไทย ซึ่งศึกษาตัวอย่างงานออกแบบนับพันรายการ นำไปสู่การจัดหมวดหมู่ว่าเอกลักษณ์ความเป็นไทยสามารถนำเสนอได้ผ่านรูปภาพ ตัวอักษร และสี
งานวิทยานิพนธ์เล่มนั้นมิได้จบลงเพียงในรูปเล่มหนาเตอะที่ถูกจับขึ้นชั้นเข้าตู้ในห้องสมุด แต่ได้ถูกนำไปต่อยอดขยายผลอย่างน่าสนใจ
ขณะนี้อาจารย์ไพโรจน์มีสถานะเป็นนักศึกษาปริญญาเอกสาขาทัศนศิลป์ที่คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่กำลังพัฒนางานสร้างสรรค์ศิลปนิพนธ์ที่เกี่ยวเนื่องกับเรื่องสีไทย พร้อมกันนั้นด้วยหน้าที่การงานของอาจารย์พิเศษสาขานิเทศศิลป์ คณะมัณฑนศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร อาจารย์ไพโรจน์ทดลองเอาเรื่องโทนสีไทยนี้ไปใช้ในการเรียนการสอนนักออกแบบรุ่นใหม่ ด้วยเล็งเห็นว่ามีโอกาสที่จะนำสีไทยไปใช้ในงานออกแบบได้หลากหลายตั้งแต่สิ่งพิมพ์ ไปจนถึงการออกแบบเครื่องประดับจิวเอลรี เฟอร์นิเจอร์ แม้กระทั่งสีทาอาคาร ซึ่งอาจารย์ก็บอกผมว่า ผลที่ได้รับนั้นน่าพอใจยิ่ง
นักออกแบบหนุ่มคนนี้ยังยืนยันหนักแน่นด้วยว่า “ถ้าเรากระตุ้นกันจริง ๆ สื่อให้ความสำคัญ มีหนังสือออกมา คนใช้พร้อมเพรียงกัน ผมว่าสีไทยน่าจะเป็นเอกลักษณ์ไทยอย่างใหม่”
ในฐานะนักวิชาการรุ่นใหม่ อาจารย์ไพโรจน์เริ่มต้นค้นคว้าเรื่องสีไทยด้วยการทำงานวิจัย โดยได้รับทุนจากมหาวิทยาลัยศิลปากร งานนี้เริ่มต้นด้วยการรวบรวมชื่อสีไทยที่หลาย ๆ ชื่อก็ถูกลืมเลือนไปแล้ว เช่น สีควายเผือก สีบัวโรย สีฟ้าแลบ ฯลฯ พร้อมกับสืบค้นกรรมวิธีการผลิต จากนั้นก็หาตัวอย่างสีต่าง ๆ ไปให้ครูบาอาจารย์ในฝ่ายศิลปะไทย เช่น อาจารย์จุลทัศน์ พยาฆรานนท์ อาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต อาจารย์ปรีชา เถาทอง รวมถึงอาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย ช่วยเทียบสีว่าแต่ละสีควรมีโทนสีแก่อ่อนอย่างไร แล้วจึงคัดเลือกสีสำคัญ ๆ เป็นชุด ส่งต่อให้ทีมของ ดร. สุพรรณีวิจัยกระบวนการผลิตนั่นเอง
ยิ่งไปกว่านั้นการวิจัยเรื่องสีไทยนี้ยังมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อใช้ในการปรับเปลี่ยนอัตลักษณ์สถาบัน (corporate identity) ของมหาวิทยาลัยศิลปากร กระทั่งล่าสุดนำไปสู่การปรับเปลี่ยนตั้งแต่สีประจำมหาวิทยาลัย ไปจนถึงสีประจำคณะวิชาต่าง ๆ ให้เป็นโทนสีและชื่อสีไทยทั้งหมด เช่น สีประจำมหาวิทยาลัย แต่เดิมกำหนดให้เป็น “สีเขียวเวอริเดียน” แต่ขณะนี้เปลี่ยนใหม่เป็น “สีเขียวตั้งแช” แล้ว หรือสีประจำคณะโบราณคดี แต่เดิมรับรู้กันว่าคือสีม่วง แต่ปัจจุบันนี้ใช้ว่า “สีม่วงเม็ดมะปราง” เช่นเดียวกับคณะมัณฑนศิลป์ ซึ่งแต่เดิมใช้ “สีส้ม” เป็นสีประจำคณะ แต่มาตอนนี้ก็ต้องเรียกว่า “สีเสน” แทน
สีเหล่านี้เองจะถูกย้อมประดับเป็นแถบบนขอบฮูด (hood) ชุดครุยวิทยฐานะของมหาวิทยาลัยที่บัณฑิต มหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิตทุกคนจะต้องสวมใส่ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรด้วย
จากความรู้ของช่างไทยโบราณที่ดูเหมือนจะสาบสูญไปแล้ว วันนี้สีไทยกำลังมีโอกาสได้ผงาดประกาศศักดิ์ศรีอีกครั้ง !
กราบขอบพระคุณ
พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (พระภิกษุ ดร. อนิลมาน ธมฺมสากิโย) วัดบวรนิเวศวิหาร
ขอขอบคุณ
ผศ. ศิรินทร์ ใจเที่ยง (คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์), “ผู้ใหญ่สุ่ม” คุณสมคิด พรมจักร และสมาชิกกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านถ้ำเต่า จังหวัดสกลนคร, อาจารย์วีรธรรม ตระกูลเงินไทย คุณนิรันดร์ ไทรเล็กทิม และคุณวรรณา โสฬส (บ้านท่าสว่าง จังหวัดสุรินทร์), รศ. ดร. สุพรรณี ฉายะบุตร คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และคุณศริณยา ปานมณี (โครงการสี มหาวิทยาลัยศิลปากร)
รวมทั้งต้องขอขอบคุณอาจารย์ไพโรจน์ พิทยเมธี เป็นพิเศษที่ได้เอื้อเฟื้อทั้งข้อมูลและผลงานภาพประกอบสำหรับบทความเรื่องนี้
อ้างอิง
จารึกสมัยสุโขทัย. กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร, ๒๕๒๗.
ชมพูนุท ประศาสน์เศรษฐ. “เทคนิคและวัสดุของจิตรกรรมฝาผนังไทยแบบดั้งเดิม” เมืองโบราณ. ปีที่ ๒๔ ฉบับที่ ๔ (ตุลาคม-ธันวาคม ๒๕๔๓) ; ๙๓-๑๐๒.
ชลธิรา กลัดอยู่, บรรณาธิการ ครูเทพ. กรุงเทพมหานคร : โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, ๒๕๑๘.
นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จฯ เจ้าฟ้า กรมพระยา และดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา. สาส์นสมเด็จ เล่ม ๒๕. พระนคร : องค์การค้าของคุรุสภา, ๒๕๐๕.
นริศรานุวัดติวงศ์, สมเด็จฯ เจ้าฟ้า กรมพระยา และอนุมานราชธน, พระยา. บันทึกเรื่องความรู้ต่าง ๆ เล่ม ๓. พระนคร : สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, ๒๕๐๖.
สยามธรานุรักษ์, พระ (แอ็ม อา เดอ เกรฮัง). ราชอาณาจักรสยาม. นนทบุรี : ต้นฉบับ, ๒๕๔๓.