พระไพศาล วิสาโล
แง่คิดจากชีวิตและปรากฏการณ์สังคม
เพื่ออยู่ในโลกอย่างรู้เท่าทันด้วยใจที่เบิกบาน
ย้อนไปปลายศตวรรษที่ ๑๙ หลังการค้นพบรังสีเอกซ์ อิเล็กตรอน กัมมันตภาพรังสี ซึ่งเปิดพรมแดนแห่งความรู้เกี่ยวกับอะตอมอย่างไม่เคยมีมาก่อน นักฟิสิกส์จำนวนมากมั่นใจว่าไม่มีเรื่องใหญ่ๆ ให้ค้นพบอีกต่อไป ค.ศ. ๑๘๙๙ อัลเบิร์ต ไมเคิลสัน (Albert Abraham Michelson) นักฟิสิกส์ชาวอเมริกัน ถึงกับประกาศว่า “กฎพื้นฐานและข้อเท็จจริงของวิทยาศาสตร์กายภาพที่สำคัญๆ ถูกค้นพบหมดสิ้นแล้ว ทั้งหมดนี้ได้รับการยืนยันมั่นคงจนกล่าวได้ว่าโอกาสที่มันจะถูกแทนที่ด้วยการค้นพบใหม่ๆ มีน้อยนัก” นักวิทยาศาสตร์ชั้นนำหลายคนในเวลานั้นเชื่อว่าแม้มีปัญหามากมายที่ยังไม่พบคำตอบ แต่ไม่ใช่ปัญหาใหญ่ที่ท้าทายความรู้ทางฟิสิกส์ตอนนั้นเลย
ทว่าความเชื่อมั่นนี้มลายไปเมื่อไอน์สไตน์ (Albert Einstein) เปิดเผยทฤษฎีสัมพัทธภาพ และ มักซ์ พลังก์ (Max Karl Ernst Ludwig Planck) ประกาศทฤษฎีควอนตัมซึ่งต่อยอดโดย นีลส์ บอร์
(Niels Hendrik David Bohr) การค้นพบดังกล่าวรวมทั้งความก้าวหน้าหลากหลายที่ตามมาทำให้ฟิสิกส์แบบเก่าถึงกาลอวสานและเป็นจุดเริ่มต้นของฟิสิกส์แบบใหม่ ขณะเดียวกันก็ก่อให้เกิดคำถามใหม่ๆ ที่สำคัญ ตั้งแต่ระดับอะตอมถึงเอกภพ (หรือพหุภพ ?) ซึ่งจนบัดนี้ก็ยังไขได้ไม่หมด กล่าวอีกนัยหนึ่งแม้มันจะขยายพรมแดนแห่งความรู้ให้กว้างขึ้น แต่ก็ทำให้เห็นว่าพรมแดนแห่งความไม่รู้ของมนุษย์นั้นใหญ่โตมโหฬารกว่าที่คิดนัก
หลังการค้นพบยาปฏิชีวนะและวัคซีนนานาชนิด โรคติดเชื้อซึ่งเคยคร่าชีวิตมนุษย์นับล้านถูกกำราบจนบางชนิดสูญพันธุ์ ค.ศ. ๑๙๕๔ ดร. ที. พี. แมกิลล์ (Thomas Pleines Magill) แพทย์อเมริกันประกาศกลางที่ประชุมประจำปีของสมาคมนักวิทยาศาสตร์ภูมิคุ้มกันอเมริกัน (The American Association of Immunologists) ว่า “เรามีความยินดีที่สามารถหลุดพ้นอย่างสิ้นเชิงจากความคิดเรื่องวิญญาณชั่วร้าย เราภูมิใจที่จะอวดอ้างความรู้ของเราเรื่องเชื้อโรค ทั้งมั่นใจว่าความหลุดพ้นและความรู้ดังกล่าวจะช่วยให้กำจัดโรคติดเชื้อได้อย่างสิ้นเชิง”
คำพูดข้างต้นสะท้อนความมั่นใจของแพทย์จำนวนไม่น้อยเมื่อครึ่งศตวรรษที่แล้วว่า อวสานของโรคติดเชื้อใกล้จะมาถึง ไม่นานจะไม่มีใครตายเพราะโรคเหล่านั้น แต่ ณ วันนี้ไม่มีนักวิทยาศาสตร์การแพทย์คนใดกล้าพูดเช่นนี้อีก เพราะนอกจากผู้คนมากมายยังคงล้มตายด้วยเชื้อโรคใหม่ๆ ที่ไม่มีทางรักษา เช่น เอดส์ อีโบลา โรคเก่าๆ ที่ฝ่อลงก็กลับมาระบาดซ้ำยังดื้อยา เช่น วัณโรค มาลาเรีย ขณะยาปฏิชีวนะปัจจุบันก็ทำอะไรแบคทีเรียชนิดใหม่ (super bug) ไม่ได้ ทั้งที่มันกำลังคร่าชีวิตผู้ป่วยในโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วโลก
เมื่อ ค.ศ. ๑๙๖๘ ปีเตอร์ เบอร์เกอร์ (Peter Ludwig Berger) นักสังคมวิทยาชื่อก้องโลกได้ทำนายว่า “เมื่อถึงศตวรรษที่ ๒๑ มีแนวโน้มว่าพวกที่เชื่อเรื่องศาสนาจะพบเห็นได้ตามลัทธินิกายเล็กๆ ซึ่งกระจุกอยู่ด้วยกันเพื่อต่อต้านวัฒนธรรมแบบโลกย์ๆ ที่แพร่ไปทั่วโลก” ความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับ แอนโทนี วัลเลซ (Anthony Francis Clarke Wallace) นักมานุษยวิทยาศาสนา ซึ่งกล่าวอย่างมั่นใจว่า “อนาคตของศาสนากำลังวิวัฒน์สู่ความดับสูญ ความเชื่อเรื่องสิ่งศักดิ์สิทธิ์และอำนาจเหนือธรรมชาติซึ่งฝืนกฎธรรมชาติจะเสื่อมถอยและกลายเป็นเพียงความทรงจำทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจเท่านั้น… ความเชื่อเรื่องอำนาจเหนือธรรมชาติมีแต่จะสาบสูญทั่วโลก อันเป็นผลจากความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่แพร่หลายและพอเหมาะพอสมขึ้นทุกที… กระบวนการนี้เกิดขึ้นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้”
แต่ถึงวันนี้เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า ศาสนานอกจากจะไม่มีแนวโน้มสาบสูญหรือแม้แต่จะเสื่อมถอย กลับมีบทบาทอย่างยิ่งในโลกปัจจุบันโดยเฉพาะทางการเมือง บางประเทศถูกปกครองด้วยแนวทางศาสนาอย่างอิหร่านหรืออัฟกานิสถานสมัยหนึ่ง ขณะบางประเทศกลุ่มศาสนามีพลังมากพอจะตัดสินผลการเลือกตั้งผู้นำประเทศได้เช่นสหรัฐอเมริกา ไม่จำเป็นต้องพูดถึงการก่อการร้ายอันมีศาสนาเป็นแรงบันดาลใจซึ่งสร้างผลสะเทือนไปทั่วโลกมานานกว่า ๒ ทศวรรษ
การคาดการณ์อนาคตนั้นย่อมมีโอกาสผิดพลาดเสมอ เพราะอนาคตเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าความผิดพลาดทั้งสามกรณีมีสาเหตุสำคัญจากความมั่นใจในความรู้ของตนมากเกินไป เนื่องจากเชื่อมั่นว่าตนรู้เห็นความจริงอย่างถี่ถ้วนและทั่วถึง จึงสามารถ “ฟันธง” ได้อย่างเต็มปากเต็มคำโดยไม่ตระหนักว่าความจริงนั้นมีความซับซ้อนและลึกซึ้งกว่าที่ตนเข้าใจ เมื่อกาลเวลาผ่านไปและความจริงคลี่คลาย กลับกลายเป็นว่าการคาดการณ์ดังกล่าวสะท้อนถึงความรู้อันจำกัดของผู้พยากรณ์ยิ่งกว่าสิ่งอื่นใด ถึงวันนี้คงไม่มีใครคิดว่าครั้งหนึ่งนักวิชาการชั้นนำจะหาญกล้าคาดการณ์เช่นนั้น
ทั้งสามกรณีชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญรู้นั้นนับว่าเล็กน้อยนักเมื่อเทียบกับความไม่รู้ของตน ผู้รู้ที่แท้จริงจะตระหนักเสมอว่าความรู้ที่ตนมีเป็นเพียงส่วนเสี้ยวของความจริงที่มีพรมแดนกว้างไกล ยังมีสิ่งที่ไม่รู้อีกมากมายหลายเท่าตัว ดังนั้นจึงมีความถ่อมตนและเปิดใจเรียนรู้เสมอ นอกจากจะไม่คาดคะเนอนาคตด้วยความมั่นอกมั่นใจยังต้องไม่ด่วนสรุปว่าสิ่งที่ตนรู้เท่านั้นที่เป็นจริง เพราะสิ่งที่คนอื่นรับรู้แม้จะต่างจากตนก็อาจจริงเช่นกัน
ยุคนี้ถือว่าเป็นยุคสารสนเทศ ใครๆ ก็เข้าถึงความรู้และข้อมูลข่าวสารได้ไม่ยาก ดังนั้นจึงง่ายที่ใครต่อใครจะเข้าใจว่าตนเองรู้ จนลืมไปว่าความรู้ของคนเรานั้นถึงอย่างไรก็มีน้อยกว่าความไม่รู้เสมอ หากเราตระหนักถึงความข้อนี้ก็จะฟังคนอื่นมากขึ้น ไม่ด่วนปฏิเสธข้อมูลหรือความเห็นของผู้คิดต่างจากตนว่าผิดหรือไม่ถูกต้อง
เป็นเพราะมนุษย์มีความรับรู้จำกัด พระพุทธองค์จึงทรงแนะนำให้เรามีท่าทีที่เรียกว่า “สัจจานุรักษ์” กล่าวคือ เมื่อเชื่อหรือรับรู้อะไรมาก็ไม่ควรปักใจว่าความจริงต้องเป็นอย่างที่ตนเชื่อหรือรับรู้เท่านั้น ดังพุทธพจน์ว่า “บุรุษผู้เป็นวิญญู เมื่อจะคุ้มครองสัจจะ ไม่ควรลงความเห็นในเรื่องนั้นเด็ดขาดลงไปอย่างเดียวว่า ‘อย่างนี้เท่านั้นจริง อย่างอื่นเหลวไหล’”
สาเหตุที่ผู้คนมีความขัดแย้งกันทุกวันนี้ ส่วนหนึ่งเพราะมั่นใจในความถูกต้องของตนจนกลายเป็นการผูกขาดความจริงไป ใครคิดต่างจากตนก็สรุปทันทีว่าเหลวไหล โง่เขลา จึงเกิดการทะเลาะวิวาทได้ง่าย หากเพียงแต่คนเราตระหนักว่าสิ่งที่ตนไม่รู้นั้นมีนับอนันต์แม้เป็นเรื่องที่ศึกษามาก็ตาม ความเห็นต่างนอกจากจะไม่นำมาซึ่งการวิวาทบาดหมาง ยังอาจเพิ่มพูนสติปัญญาและขยายพรมแดนแห่งความรู้ของตนให้กว้างขวางขึ้นด้วยแม้นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง เราจึงควรเผื่อใจไว้เสมอว่าสิ่งที่เรารู้หรือเชื่ออาจผิดได้