เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
“เชียร์ลีดดิ้ง” (cheerleading) เป็นกีฬาเพียงชนิดเดียวที่ทีมจากเมืองไทยไป “เขย่าวงการ” ด้วยการ “ล้มบัลลังก์แชมป์ตลอดกาล” ของทีมสหรัฐอเมริกาอย่างที่ทีมจากประเทศอื่นทำไม่ได้
คนไทยมักเรียกกีฬาชนิดนี้ว่า “ปอมปอมเชียร์” แต่ที่จริงแล้ว “ปอมปอม” (PomPom) เป็นเพียงเสี้ยวหนึ่งของ “เชียร์ลีดดิ้ง” ซึ่งมีกำเนิดที่สหรัฐอเมริกา เริ่มพัฒนามาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ ๑๙ ก่อนจะแพร่หลายไปทั่วโลก ทุกปีจะมีรายการแข่งขันที่ใหญ่ที่สุดคือ World Cheerleading Championships จัดโดย International All Star Federation (IASF) และ United State All Star Federation (USASF) ซึ่งเริ่มตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ โดยจัดการแข่งขันที่เมืองออร์แลนโด รัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกา
ส่วนในไทยกีฬาชนิดนี้เริ่มได้รับความนิยมนับแต่มีการแข่งขัน “ซีคอนสแควร์ เชียร์ลีดเดอร์แห่งประเทศไทย” (Seacon Square Cheerleading Thailand Championships) ตั้งแต่ปี ๒๕๓๘ โดยแชมป์รายการนี้ถือเป็นแชมป์ประเทศไทยและเป็นตัวแทนไปแข่งขันในระดับโลก ทีม Bangkok University Cheerleading จากมหาวิทยาลัยกรุงเทพชนะรายการนี้มาแล้ว ๑๓ ครั้ง และไปคว้าแชมป์รายการ World Cheerleading Championships สองครั้ง คือปี ๒๕๕๔ และปี ๒๕๕๗ ในรุ่น International Coed Level 6
สราวุฒิ สำเนียงดี ผู้ฝึกสอนทีม BU Cheerleading เล่าว่า เขารักกีฬาชนิดนี้มาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย เริ่มความชอบจากการเห็นท่วงท่าคนซ้อมเชียร์ลีดเดอร์ ทำให้เขาตัดสินใจร่วมทีมกับเพื่อนลงแข่งรายการซีคอนสแควร์ที่จัดขึ้นครั้งแรกในปี ๒๕๓๘ และกลายเป็นจุดเริ่มต้นของทีม BU Cheerleading ในปี ๒๕๓๙ โดยเขาทำหน้าที่เป็นทั้งผู้เล่นและผู้ฝึกสอน ก่อนผันมาเป็นโค้ชเต็มตัว ใช้ประสบการณ์ทั้งหมดทำทีมร่วมกับคนรุ่นใหม่ไล่ล่าความสำเร็จมาให้มหาวิทยาลัย
สราวุฒิอธิบายว่า กีฬาชนิดนี้ไม่ใช่การเต้น “ปอมปอม” อย่างที่หลายคนเข้าใจ
“คนเล่นต้องฝึกหนัก เพราะใช้ศักยภาพของร่างกายแทบทุกส่วน ต้องฟิตซ้อมอย่างต่ำ ๓ เดือน เข้าเวตเทรนนิง ฝึกพื้นฐานยิมนาสติก ก่อนใส่ท่า ฝึกควบคุมร่างกาย การทรงตัวบนพื้น บนขา บนหลัง บนไหล่ ไต่ระดับสูงขึ้นเรื่อย ๆ เรื่องพวกนี้สำคัญเพราะแค่ยืนบนพื้นแล้วล้มก็เจ็บแล้ว นับประสาอะไรกับการยืนบนตัวคนอื่น ถ้ากล้ามเนื้อไม่แข็งแรง เวลาล้มจัดท่าไม่เป็นจะยิ่งเจ็บมากขึ้นหลายเท่า แต่ ๓ เดือนก็ไม่เต็มร้อยแค่พื้นฐานเท่านั้น”
ผู้เล่นเชียร์ลีดดิ้งแบ่งเป็นสามตำแหน่ง คือ “ยอด” (flyer) ซึ่งอยู่บนจุดสูงสุดของการต่อตัว “ฐาน” (base) ที่คอยรองรับยอด และ “สปอร์ตสเตอร์” (sportster) ที่คอยส่งและรับเพื่อนขึ้นไปต่อตัวชั้นบน สามตำแหน่งนี้ผู้เล่นมีรูปร่างแตกต่างกัน ยอดต้องตัวเล็ก คล่องตัว ฐานต้องแข็งแรงกว่าและหนักกว่า สปอร์ตสเตอร์ต้องแข็งแรงและคล่องตัว ผู้ฝึกสอนจะวางตำแหน่งของผู้เล่นและให้ฝึกหนักตามตาราง
ในการเล่นเชียร์ลีดดิ้งทั้งสามตำแหน่งต้องร่วมกันแสดงท่าที่ผาดโผน สราวุฒิชี้ว่าความท้าทายนั้นแฝงอยู่ในทุกท่า ไม่ว่าจะเป็นการต่อตัวแบบกลุ่ม (group stunt) แบบเดี่ยวที่ผู้หญิงยืนบนตัวผู้ชาย (coed partner stunt) แบบแผงพีระมิด (pyramid) การกระโดด (jump) การจัดลักษณะแขน (arm motion) การโยนตัวผู้เล่นไปยังจุดรับ (basket toss) การตีลังกาและยืนหกหัว (tumbling, standing) การเชียร์และตะโกน (cheer & chants) การเต้น (dance) ยังไม่นับเรื่องชุดแต่งกาย เพลงประกอบ การแต่งหน้าทำผม ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญที่คณะกรรมการจะให้คะแนน
ดังนั้นผู้เล่นซึ่งมีได้มากที่สุดคือ ๒๔ คน (ต่ำสุด ๑๘ คน) ต้องเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ผ่านการฝึกซ้อมทุกวัน วันละไม่ต่ำกว่า ๕ ชั่วโมงและนานหลายเดือนก่อนจะพร้อมเข้าแข่งขัน ผู้ฝึกสอนจะแก้ไขจุดบกพร่อง พร้อมกับคิดท่าใหม่ ๆ ทุกคนต้องเสียสละชีวิตส่วนตัวเพื่ออยู่กับทีมตลอดเวลาก่อนการแข่งขัน
เรื่องสำคัญที่สุดคือ “จิตใจ”
สราวุฒิกล่าวว่าหัวใจของกีฬาชนิดนี้คือความสามัคคี “ระหว่างซ้อม ผมให้น้อง ๆ ในทีมเปิดใจกันบ่อย พวกเขาต้องไว้ใจกัน ยอดต้องไว้ใจว่าฐานรับได้แน่ ฐานต้องไว้ใจว่ายอดต่อตัวขึ้นไปได้แน่ สปอร์ตสเตอร์ต้องมั่นใจว่าส่งเพื่อนขึ้นไปได้แน่”
ความแตกต่างจากกีฬาชนิดอื่นคือ ไม่มีตัวสำรอง ไม่มีใครแทนตำแหน่งใครได้ “เราเปลี่ยนตัวระหว่างการแข่งไม่ได้ เปลี่ยนตำแหน่งก็ไม่ได้ น้ำหนักทุกกิโลกรัมมีผลทั้งหมด ใครบาดเจ็บก่อนแข่งก็จะไม่มีคนแทน ทั้งทีมแข่งไม่ได้หรือต้องเว้นตำแหน่งนั้นไว้ นี่คือความยากของกีฬาชนิดนี้ เราต้องซ้อมนานกว่าจะคุ้นเคยกัน”
การคว้าแชมป์โลกครั้งล่าสุดมิใช่เรื่องบังเอิญ สราวุฒิบอกว่าเกิดจากการวิเคราะห์จุดอ่อนจุดแข็งของทีมและคู่แข่งขันทีมอื่น ๆ “ทีมคนไทยเสียเปรียบเรื่องรูปร่าง มีพื้นฐานยิมนาสติกน้อย ทำให้เราต่อตัวแบบคู่ได้ไม่ดีนัก แต่เรามีจุดแข็งคือการต่อตัวแบบแผงพีระมิด ตรงข้ามกับทีมฝรั่งซึ่งเด่นเรื่อง coed partner stunt เพราะมีพื้นฐานยิมนาสติกดี เราจึงเน้นปิดจุดอ่อนของเราเพื่อเก็บคะแนนตรงนี้ให้มากขึ้น เพราะต่อให้เราทำท่าพีระมิดได้ดีแค่ไหน เพดานคะแนนก็จะตัน ปี ๒๕๕๒ เราแพ้สหรัฐฯ ได้แค่เหรียญเงินเพราะเหตุนี้ ก่อนจะกลับไปเอาชนะเขาได้ในที่สุด”
เสาวลักษณ์ ณ พัทลุง หรือ “นาน่า” ๑ ในสมาชิก ๒๔ คนของทีมชุดคว้าแชมป์โลกสมัยล่าสุดเล่าว่า เธอเล่นกีฬาชนิดนี้ตั้งแต่ชั้นประถมฯ “สมัยนั้นมีทีมปอมปอมเกิดขึ้นตามโรงเรียนหลายแห่ง นาน่าเป็นคนตัวเล็กคล่องตัว เลยคิดว่าน่าจะเล่นกีฬาชนิดนี้ได้ดี” แต่เด็กสาวก็ต้องหยุดเล่นไปโดยปริยายเมื่อเกิดข่าวอุบัติเหตุขณะซ้อมของทีมเชียร์ลีดดิ้งมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่ฝึกซ้อมไม่ถูกหลัก ทำให้โรงเรียนหลายแห่งสั่งงดการเล่นกีฬาชนิดนี้ เธอมีโอกาสเล่นอีกครั้งเมื่อเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ที่วิทยาลัยเทคโนโลยีสยามบริหารธุรกิจ (SBAC)
“ที่นั่นมีทีมปอมปอมเลยตัดสินใจกลับมาเล่นอีก พอเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพก็สมัครเข้าทีมปอมปอมของมหาวิทยาลัย จำได้ว่าเวลาคัดตัวจะถูกสัมภาษณ์และดูว่าทำงานร่วมกับคนอื่นได้หรือไม่ สิ่งที่ยากคือการปรับพื้นฐานยิมนาสติกใหม่ทั้งหมดเพราะที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพเล่นในระดับที่ยากกว่า SBAC มาก ปัญหาการแบ่งเวลาเรียนกับการซ้อมให้ลงตัวก็สำคัญ เรื่องนี้โค้ชก็ทราบ เราจะเอาตารางเรียนมากางกันว่าใครเรียนอะไรเวลาไหน จะได้ไม่มีข้ออ้างโดดซ้อม (หัวเราะ) พอใกล้สอบ โค้ชจะลดเวลาซ้อมลงให้อ่านหนังสือ คนในทีมที่จบเกียรตินิยมอันดับ ๒ ก็มี เป็นเรื่องของการจัดการล้วน ๆ”
เธอบอกว่ากีฬาเชียร์ลีดดิ้งฝึกให้เธอเป็นนักกีฬาและได้รับหลายสิ่งหลายอย่าง “นอกจากสนุกกับการเล่น รูปธรรมชัดเจนคือกำไรชีวิต ได้ทุนจากมหาวิทยาลัย มีงานเข้าคือไปแสดงตามที่ต่าง ๆ จนมีรายได้ไม่ต้องขอเงินที่บ้าน ฝึกการทำงานเป็นทีม ฝึกประสานบริษัทออร์แกไนเซอร์”
ทว่าสิ่งที่เธอภูมิใจที่สุดคือการสร้างชื่อเสียงให้ประเทศ “ทุกครั้งคนดูจะถามว่ามาจาก ‘บางกอก’ ประเทศไทยใช่ไหม เขาชื่นชมเรามาก ที่สำคัญเราเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการคิดค้นท่าใหม่ ๆ ของวงการเชียร์ลีดดิ้งโลก”
สราวุฒิบอกเราว่า ถึงนาทีนี้เขาลบความเชื่อที่ว่าคนไทยเล่นกีฬาเป็นทีมไม่รอดไปแล้ว
“BU Cheerleading เป็นทีมต่างประเทศทีมแรกที่นำถ้วยแชมป์ออกจากแผ่นดินสหรัฐฯ ในสนามแข่งที่เราได้แชมป์โลกครั้งล่าสุด คนดูในสนามยืนขึ้นปรบมือ ตะโกน ‘บางกอก ไทย-แลนด์’ นานมาก ผมดีใจยิ่งกว่าได้แชมป์ เขาทำถ้วยรางวัลขนาดใหญ่มากเพราะคงไม่คิดว่าจะต้องยกไปประเทศอื่น ทั้งหมดคือบทพิสูจน์ว่าคนไทยเล่นกีฬาประเภททีมได้ถึงระดับโลก และสร้างสรรค์สิ่งใหม่ได้ ช่วงหลังฝรั่งต้องมาดูด้วยซ้ำว่าเราทำได้อย่างไร”
ต่อเป้าหมายข้างหน้า ความยากและท้าทายคือการหาตัวผู้เล่นรุ่นใหม่ทดแทนผู้ที่เรียนจบไป ต้องทำให้นักกีฬาใหม่ประสานเข้ากันได้กับผู้เล่นเดิมจนเป็นเนื้อเดียวกัน “ปีนี้เราต้องฝึกนักกีฬารุ่นใหม่ทดแทนรุ่นเก่า ผมต้องคิดตลอดเวลาว่าแต่ละรุ่นมีจุดเด่นอะไร ประสบการณ์ของนักกีฬาในทีมก็สำคัญมาก ปีนี้เรามีเด็กใหม่เยอะ ดังนั้นงานก็จะยากขึ้นไปอีก”
สราวุฒิทิ้งท้ายว่า แม้จะทำทีมได้แชมป์โลกมาแล้วสองครั้ง แต่ตนก็ยังไม่หมดไฟ “พอน้อง ๆ รุ่นใหม่ที่เข้ามาในทีมบอกว่าอยากเป็นแชมป์ ผมก็มีแรง ผมสร้างนักกีฬาได้ถ้าเขามีไฟและรักกีฬาชนิดนี้ ดังนั้นเราจะมุ่งมั่นกลับไปคว้าแชมป์โลกอีกครั้ง”