เรื่อง : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ภาพ : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช
ปรี๊ด !
นุศรา ต้อมคำ จับลูกวอลเลย์บอลครั้งแรกเมื่ออายุ ๑๐ ขวบ
โรงเรียนวัดบ้านฆ้องน้อยในจังหวัดราชบุรี ซึ่งเธอเรียนอยู่ตั้งแต่ชั้นประถมฯ ถึงมัธยมฯ ๓ ตั้งอยู่ไม่ไกลบ้าน ทุกเย็นนุศราหรือซาร่า จะมานั่งดูพี่สาวอายุมากกว่า ๖ ปีซ้อมวอลเลย์บอล จนโค้ชชวนเธอให้ลองเล่นบ้าง
โค้ชคนนั้นคือ ครูชาติชาย ราศรีดี ผู้ชื่นชอบกีฬาวอลเลย์บอลเป็นชีวิตจิตใจ นุศราเล่าว่า สมัยก่อนครูโรงเรียนประถมฯ มีรายได้ไม่มากเท่าไร แต่ครูชาติชายก็ควักทุนตัวเองส่งทีมโรงเรียนร่วมแข่งขันกับกลุ่มโรงเรียนในบ้านโป่งที่เน้นกีฬาวอลเลย์บอลเป็นหลัก แม้ครูจะไม่ได้เป็นนักวอลเลย์ แต่ทำทีมขึ้นเพราะใจรัก อยากให้เด็กหันมาเล่นกีฬา และถือเป็นความภาคภูมิใจที่ได้ปลุกปั้นนักเรียนไปแข่งขันกับโรงเรียนอื่นจนได้เหรียญรางวัลติดมือกลับมาบ้าง
พ่อและแม่ของนุศราเมื่อเห็นลูกสาวหันมาเล่นกีฬาตามอย่างพี่สาวและพี่ชายซึ่งเป็นนักกีฬาฟุตบอลก็สนับสนุน ดีกว่ากลับบ้านไปนั่งเล่นเกมหรือดูทีวี
นุศราเล่าความรู้สึกที่ได้เล่นวอลเลย์บอลครั้งแรก ๆ ว่า “รู้เลยว่าการตีลูกวอลเลย์มันเจ็บมือแค่ไหน ถ้าจับมือไม่ถูก พอลูกมาโดนมือก็จะแตก แรก ๆ อยากกลับไปดูทีวี หรือไปเที่ยว แต่พอเล่นไปเล่นมาจากที่โค้ชบอกว่าอันเดอร์ยังไงก็ได้ให้ได้มากที่สุด อย่าให้ลูกตก ที่เคยอันเดอร์ได้แค่สองสามลูก ก็เริ่มเป็น เริ่มสนุกขึ้น ความสนุกอีกอย่างคือเล่นวอลเลย์บอลแล้วมีเพื่อน”
ชีวิตวัยเด็กที่บ้านเกิดในชนบทดำเนินไปพร้อมกับการฝึกซ้อมวอลเลย์บอล ทั้งช่วงหลังเลิกเรียนและวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ ลูกสาวคนสุดท้องในบรรดาพี่น้องสามคนกลายเป็นนักกีฬาโรงเรียน เป็นตัวแทนไปแข่งกับโรงเรียนต่างอำเภอ สู่ระดับจังหวัด ยกระดับมาเป็นเขต แล้วจากเขตก็เป็นระดับประเทศ นุศราจำได้แม่นว่าเมื่อตอนอายุ ๑๒ ปีมีแข่งรายการมินิวอลเลย์บอลของปุ้มปุ้ยปลายิ้ม ทีมโรงเรียนวัดบ้านฆ้องน้อยได้เป็นตัวแทนภาคกลางไปแข่งที่จังหวัดตรัง คว้าแชมป์จนได้สิทธิ์เดินทางไปไต้หวันครั้งแรก
“ทำให้เรารู้สึกว่าเล่นวอลเลย์บอลแล้วสนุก ภูมิใจ อายุแค่ ๑๒ เองแต่ได้นั่งเครื่องบิน เริ่มคิดว่าเล่นวอลเลย์บอลก็ดีเหมือนกัน”
การที่ครูจับให้เธอเล่นเกมอันเดอร์ลูกวอลเลย์บอลแข่งกับเพื่อน ดูว่าใครอันเดอร์ได้มากที่สุดนั้นมีความหมาย “การที่เราอันเดอร์ได้มากทำให้โค้ชจับเรามาเล่นเป็นตัวเซต สมัยเด็ก ๆ เรารู้ว่าการเซตบอลนั้นยากที่สุด เราจะอยากตบเพราะว่ามันง่าย แต่การเซตจะฟาล์วได้ บางครั้งบอลหล่นใส่หน้าบ้าง บางครั้งเซตเบี้ยวบ้าง เลยไม่ค่อยมีคนอยากเป็นตัวเซต ถ้าตอนนั้นรู้ว่าอันเดอร์ได้มากแล้วจะถูกจับเป็นตัวเซตคงไม่อันเดอร์ อยากเป็นตัวตบตัวตีหรือตัวทำแต้มให้ทีมมากกว่า”
รูปเกมการเล่นวอลเลย์บอลนั้น เมื่อทีมคู่ต่อสู้โต้ลูกกลับมา การโต้ลูกกลับไปยังฝั่งตรงข้ามต้องใช้แค่สามจังหวะหรือน้อยกว่าเริ่มต้นลูกแรกด้วยการรับ ลูกสองคือการเซต และลูกสามคือตบกลับไปยังฝั่งตรงข้ามเพื่อทำแต้มตำแหน่งของคนรับลูกในจังหวะที่ ๑
ตำแหน่งของ “ตัวเซต” ในจังหวะที่ ๒ ซึ่งต่างก็ต้อง “ปั้น-ชง” ลูกให้เพื่อนตบทำแต้ม จึงเป็นตำแหน่งของผู้ปิดทองหลังพระ เช่นเดียวกับตำแหน่งอื่น ๆ ในสนามอย่างลิเบอโรที่คอยตั้งรับอยู่แถวหลัง
นุศราเล่นวอลเลย์บอลมาตั้งแต่อายุ ๑๐ ขวบ และไม่เคยห่างจากลูกยางอีกเลย
นักกีฬาจากบ้านโป่งติดทีมชาติชุดใหญ่ครั้งแรกเมื่ออยู่ชั้น ม. ๕ ในตำแหน่งตัวเซตที่เธอถนัด
“เราเรียนไปซ้อมไปจนจบมหาวิทยาลัยที่ RBAC (รัตน-บัณฑิต) ไม่มีช่วงพัก ไม่มีช่วงหยุดเล่น”
บนสนามในนามทีมชาตินี่เองที่นุศราผสานพลังกับเพื่อนร่วมทีมที่รู้ใจ สร้างดรีมทีมวอลเลย์บอลชุดประวัติศาสตร์ โดยมีตัวเธอรับบทบาทตัวเซตมือ ๑ ภายใต้การผลักดันของโค้ชอ๊อด-เกียรติพงษ์ รัชตเกรียงไกร ผู้มีปรัชญาการสร้างทีมวอลเลย์บอลคือ หนึ่ง ให้ผู้เล่นเกิดความรักในกีฬา สอง ให้ซ้อมอย่างถูกวิธี และ สาม ต้องพัฒนาคุณภาพชีวิตให้สูงสุด
หน้าที่ของโค้ชอ๊อดผู้เป็น “ครู” ในเกมกีฬาจึงไม่อยู่ที่เพียงการฝึกซ้อมเทคนิคและแท็กติก แต่ยังรวมถึงการดูแลการใช้ชีวิตของเหล่าสมาชิกทีมชาติ เพื่อให้นักกีฬาได้กิน เรียน นอน ซ้อม อย่างสบายอกสบายใจ ไม่ต้องมีพันธะกังวลเรื่องใด ๆ
ผลงานชิ้นโบแดงของทีมนักวอลเลย์บอลหญิงชุดนี้ คือการคว้าแชมป์การแข่งขันวอลเลย์บอลชิงแชมป์เอเชียเมื่อ ค.ศ. ๒๐๐๙ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ แล้วสานต่อด้วยการคว้าแชมป์วอลเลย์บอลชิงแชมป์เอเชียนคัป ค.ศ. ๒๐๑๒ ปีถัดมาคว้าแชมป์วอลเลย์บอลชิงแชมป์เอเชียอีกเป็นครั้งที่ ๒ ส่วนผลการจัดอันดับโลกนั้น ทีมวอลเลย์บอลหญิงไทยเคยทะยานขึ้นสูงถึงอันดับ ๑๐ ของโลกมาแล้ว
ความสำเร็จอันน่าประทับใจปลุกกระแสวอลเลย์บอลหญิงฟีเวอร์ขึ้นทั่วประเทศ โดยมีนุศราเป็นซูเปอร์สตาร์อันดับต้น ๆ
การมีโอกาสเดินทางไปเล่นวอลเลย์บอลอาชีพในทวีปยุโรป ทำให้ทักษะฝีมือของนุศราพัฒนาขึ้นอย่างก้าวกระโดด เธอคว้ารางวัลเกียรติยศส่วนตัวระดับโลกมาแล้วหลายรางวัล อาทิ วอลเลย์บอลโกลบ ๒๐๑๒ ตำแหน่งเซตยอดเยี่ยมจากการเปิดโหวตของเว็บไซต์ www.volleyball.it ให้แฟนวอลเลย์บอลทั่วโลกลงคะแนน ตำแหน่งเซตยอดเยี่ยมในการแข่งขันวอลเลย์บอล เวิลด์กรังค์ปรีซ์ ๒๐๑๒ ตำแหน่งเซตยอดเยี่ยมการแข่งขันวอลเลย์บอลหญิงชิงแชมป์เอเชีย ๒๐๑๓ ตำแหน่งเซตยอดเยี่ยมในศึกชิงแชมป์สโมสรยุโรป ๒๐๑๔
“ตอนประถมฯ มัธยมฯ สอบได้ที่ ๑ ที่ ๒ ตลอด”
ที่ผ่านมาการมีสถานะเป็นนักกีฬาอาชีพ ติดทีมชาติ ต้องเก็บตัวร่วมเดินทางไปแข่งขันตามต่างจังหวัดและต่างประเทศ ได้พรากเวลาในชั้นเรียนของเธอไปไม่น้อย
แต่เธอกลับมองอีกด้าน เพราะพี่น้องทั้งสามคนของครอบครัวต้อมคำเรียนหนังสือเก่งทุกคน
“พี่สาวที่เล่นวอลเลย์บอลจะสอบได้ที่ ๑ เสมอ พี่ชายก็เรียนเก่ง จบบริหารคอมฯ เราเองก็เรียนจบบริหารคอมฯ มาเหมือนกัน”
เธอตั้งข้อสังเกตว่าการเล่นกีฬาทำให้เป็นคนฉลาด
“เพราะนักกีฬาทุกคนต้องมีความคิดความอ่าน รู้จักสังเกต ต้องพลิกแพลง มีปฏิภาณ มีไหวพริบ คือเราต้องคิดอยู่ตลอดว่าจะแก้เกมอย่างไร จะทำอย่างไรให้สถานการณ์ของทีมดีขึ้น”
มือเซตระดับโลกยังตั้งคำถามต่อการศึกษาว่า “เราต้องคิดเหมือนกันว่าการศึกษาที่ให้เด็กอยู่แต่ในห้องสี่เหลี่ยมมันอาจจะเป็นโลกที่คับแคบ ถ้าคุณไม่ยอมเปิดโลกกว้าง เพราะสิ่งที่เราเรียนมาอาจจะไม่ได้ใช้ในชีวิตประจำวัน ประสบการณ์ในการเรียนกับประสบการณ์ในชีวิตจริงไม่เหมือนกัน ถ้าได้ใช้ทั้งสองสิ่งควบคู่กันก็น่าจะประสบความสำเร็จในชีวิต”
เธอเห็นว่าบางคนอาจหัวไม่ดีเรื่องเรียน แต่ทักษะกิจกรรมด้านต่าง ๆ อาจจะทำดีก็ได้
“อย่างแรกคือต้องหาตัวเองให้ได้ก่อนว่าเราอยากเป็นอะไร อยากทำอะไร ถ้าลองเปิดโลกกว้างออกมาจากห้องสี่เหลี่ยมแคบ ๆ มาเจอผู้คน มาทำสิ่งต่าง ๆ เราอาจจะได้วิชาอื่นที่มากกว่าในห้องเรียน”
สำหรับการซ้อมทุกวันในฐานะตัวเซตประจำทีม เธอจะต้องเล่นกับลูกวอลเลย์บอลที่ผู้ช่วยโค้ชโยนเข้ามาจากทุกทิศทาง ไม่ว่าบอลสูง บอลต่ำ บอลใกล้ บอลไกล หน้าที่ของเธอมีเพียงการเซตลูก
ค่าเฉลี่ยที่นุศราต้องซ้อมเซตคือเกือบ ๑,๐๐๐ ลูกต่อวัน
มีหลายครั้งที่เธอรู้สึกท้อแท้ และเบื่อหน่ายต่อตารางการฝึกซ้อมอันหนักหน่วงและครอบครองช่วงเวลาพักผ่อนไปจนเกือบหมดสิ้น
แต่สำหรับมืออาชีพแล้ว เธอยืนยันว่าคำว่าพรสวรรค์อย่างเดียวนั้นไม่พอ
“ต่อให้มีพรสวรรค์แต่ไม่ฝึกซ้อม มันเป็นไปไม่ได้ ต้องมีความตั้งใจ ทุกคนต้องซ้อมหนัก คนที่มีพรสวรรค์ แต่ไม่มีพรแสวงจะไปไม่ถึงขีดสุดในอาชีพ นักกีฬาที่จะก้าวขึ้นไปถึงระดับโลกต้องอาศัยทั้งพรแสวงและพรสวรรค์”
เส้นทางสู่ดวงดาวไม่ได้ก้าวถึงโดยง่าย ไม่เพียงความรักความคลั่งไคล้ในกีฬาวอลเลย์บอลของครูพละที่ปลูกฝังให้เธอตั้งแต่วัยเด็ก ยังต้องอาศัยความมุมานะบากบั่นของเจ้าตัวมาตลอดเวลา ๑๙ ปี ชื่อของเธอจึงไม่เคยหลุดจากทำเนียบทีมชาติ
ถึงวันนี้งานสานต่อความสำเร็จของนักวอลเลย์บอลรุ่นพี่ คือการสร้างสายเลือดใหม่ขึ้นมาผลัดเปลี่ยน ทำอย่างไรจึงจะดึงดูดเด็ก ๆ ให้หันมาเล่นกีฬาวอลเลย์บอล และทำให้ทีมชาติไทยมีทางเลือกมากขึ้น
คำตอบหนึ่งจากมือเซตยอดเยี่ยม คือลีกวอลเลย์บอลอาชีพ ที่จริงจังกับการปั้นเยาวชนให้มีฝีมือ มีค่าตัว มีเงินเดือนเหมือนลีกอาชีพในทวีปยุโรปที่เธอเคยสัมผัสมาแล้ว