คนเหล็กไตรกีฬา ว่าย ปั่น วิ่ง
ตำนานกล่าวไว้ว่า ต้นกำเนิดของไตรกีฬามีที่มาจากเพื่อนรักสามคนหลงใหลกีฬาประเภทจอมอึด
คนหนึ่งชอบว่ายน้ำ ว่ายเป็นระยะทางไกลร่วมสิบกิโลเมตร
คนหนึ่งชอบขี่จักรยาน ขี่เป็นระยะทางไกลข้ามรัฐข้ามแดน
อีกคนหนึ่งชอบวิ่งระยะไกล
สหายทั้งสามท้าทายกันว่าใครที่เหนือกว่า เพราะถนัดต่างกีฬา จึงมีคนกลางเสนอกติกาการแข่งขัน ให้ทั้งสามไปฝึกกีฬาสามชนิดแล้วมาประลองกัน ผู้ชนะคือผู้แข็งแกร่งที่สุด
จากตำนานลึกลับของชายนิรนาม ถึงสังเวียนทรหดของนักไตรกีฬานับสิบล้านคนทั่วโลก
ผู้เข้าแข่งขันจะออกจากจุดปล่อยตัวด้วยการว่ายน้ำ ตามด้วยขี่จักรยาน และวิ่งผ่านแถบแพรปลายทางเข้าสู่เส้นชัย ทั้งหมดเกิดขึ้นบนระยะทางที่คนทั่วไปยากจะพิชิตสำเร็จ
นี่คือกีฬาคนเหล็กที่ร่างกายแข็งแกร่งเป็นยอดมนุษย์ ไหนจะหัวจิตหัวใจที่ห้าวหาญ
เพชรอีสาน หนังบักตื้อ คลื่นลูกใหม่หนังตะลุงอีสาน
หนังตะลุงที่รู้กันทั่วไปว่าเป็นมหรสพคู่ท้องถิ่นใต้นั้น ในแดนอีสานก็มีเล่นกันมาเป็นร้อยปี โดยมีการประยุกต์ปรับเปลี่ยนจนกลมกลืนเข้ากับสังคมวัฒนธรรมอีสาน
อาจไม่หวือหวาเปรี้ยงปร้างอย่างมหรสพที่ขายความวับแวม แต่หนังตะลุงอีสานก็มีที่ยืนอยู่ยงมาจนปัจจุบัน มีการสืบสานต่อจาก “พ่อครูแม่ครู” ศิลปินพื้นบ้านสู่ลูกหลานเยาวชนรุ่นใหม่
เสน่ห์ใดกันที่ดึงดูดผู้คนให้อยู่กับรูปเงาบนจอผ้าได้เป็นค่อนคืน-ในยุคสมัยที่โลกของความบันเทิงมีทางเลือกใหม่ ๆ มากมาย สารคดี ประมวลเรื่องราวของหนังประโมทัยจากหลายคณะ หลายท้องถิ่น หลายเวทีการแสดง นำเสนอสู่ผู้อ่านร่วมหาคำตอบ
เจ้าแห่งป่า-ภูบรรทัด ในศตวรรษที่ ๒๑
สารคดี เปิดตัวนักเขียน-ช่างภาพรุ่นใหม่ จากค่ายสารคดีครั้งที่ ๑๐ ที่พากันดั้นด้นเข้าไปกลางป่าของเทือกเขาบรรทัด สำรวจชีวิตชนเผ่าเก่าแก่ที่สุดกลุ่มหนึ่งของคาบสมุทรภาคใต้ ว่าพวกเขามีชีวิตอยู่อย่างไรกันแล้วใน พ.ศ. นี้
โลกรายรอบเปลี่ยนแปลงไปและส่งผลกระทบถึงสังคมชาวป่า พวกเขารู้จักใช้ลิปสติก ติดละครทีวีวันสุดสัปดาห์ ฯลฯ แต่พวกเขายังเป็น “คนในป่า” คลอดและตัดสายดือเด็กเองไม่ต้องพึ่งแพทย์-พยาบาล วิ่งเล่น ปีนต้นไม้ ขุดเผือก
มัน กินอยู่เยี่ยงลูกป่า อยู่ “ทับ” ที่สร้างอย่างง่ายด้วยใบไม้ แต่เป็นทุกอย่างในขอบข่ายของคำว่าที่อยู่อาศัย
นี่คือ ซาไก ชนพื้นเมืองของถิ่นใต้ “เจ้าแห่งป่า-ภูบรรทัด ในศตวรรษที่ ๒๑”