วายร้ายสีแดง
กะเทาะโลกกีฬา นักกีฬายอดนิยม (ในกระแส)
แม้แต่เสียงข้างสนามแบบมี “ทางเลือก”
ชวนขบคิด ปนขำๆ
เพิ่งสังเกตว่าวันเริ่มต้นของเดือนรอมฎอนแต่ละปีอาจคลาดเคลื่อนกันมากหากนับตามปฏิทินสุริยคติ แม้ส่วนใหญ่จะเริ่มต้นช่วงคาบเกี่ยวเดือนสิงหาคมถึงต้นกันยายน แต่บางปีก็เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม บางปีเริ่มปลายเดือนกันยายน เฉพาะปีนี้ตรงกับวันที่ ๒๙ มิถุนายน (เวลาไทย) ถือว่าเร็วสุดในความรับรู้ของผม
เดือนรอมฎอนซึ่งตรงกับเดือนที่ ๙ ของปฏิทินอิสลาม ชาวมุสลิมถือศีลอดหรือ “ถือบวช” โดยงดอาหาร น้ำ รวมทั้งการตอบสนองความใคร่ทางเพศกับคู่ครองตั้งแต่ตะวันขึ้นกระทั่งตะวันลับฟ้า เหตุผลหนึ่งของการถือบวชก็เพื่อให้ชาวมุสลิมรับรู้ความลำบากของผู้ยากไร้และอยากช่วยเหลือคนเหล่านั้น
แต่จะเริ่มต้นช้าหรือเร็ว ศีลอดก็ไม่น่าส่งผลกระทบต่อผู้ปฏิบัติต่างกันนัก ชาวมุสลิมที่อดอาหารยังต้องทำงานตามปรกติโดยไม่นำการอดมาเป็นข้ออ้างว่าทำงานไม่ได้หรือทำได้ไม่เต็มที่ แม้ถือศีลอดตรงช่วงปิดเทอม นักเรียน นักศึกษา ครูอาจารย์ อาจสะดวกขึ้น หรือผู้ทำงานหนักอย่างนักกีฬาอาชีพอาจได้รับผลกระทบน้อยลงหากถือศีลอดช่วงปิดฤดูกาลก็ตาม
-๑-
ฟุตบอลลีกภูมิภาคโซนภาคใต้ของไทยไม่หยุดพักแข้งหลังจบเลกแรกช่วงปลายเดือนมิถุนายนเหมือนลีกโซนอื่น ระดับอื่น เนื่องจากจะหยุดพักในเดือนรอมฎอนเพื่อให้นักเตะมุสลิมในพื้นที่ภาคใต้ทั้ง ๑๓ ทีมได้ถือศีลอดและปฏิบัติศาสนกิจ ขณะเดียวกันก็ยังฝึกซ้อมตามโปรแกรม
ในศึกฟุตบอลโลกบราซิล ๒๐๑๔ ที่เพิ่งจบ ศีลอดกลายเป็นประเด็นฮอตเมื่อวันเริ่มต้นของศีลอดตรงกับวันแรกของรอบที่ ๒ (รอบ ๑๖ ทีม) นับเป็นครั้งแรกตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๘๖ ที่เดือนศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิมเหลื่อมกับฟุตบอลโลกถึงครึ่งทัวร์นาเมนต์
ทีมที่ผ่านเข้ารอบ ๒ หลายทีมมีนักเตะมุสลิมด้วย เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี เบลเยียม สวิตเซอร์แลนด์ สหรัฐฯ ส่วนทีมชาติแอลจีเรียและไนจีเรียนักเตะเป็นมุสลิมแทบทั้งนั้น
เทรนเนอร์ของแต่ละชาติเห็นคล้ายๆ กันคือให้ผู้เล่นตัดสินใจว่าจะถือศีลอดหรือเลื่อนไปจนกว่าจะจบเส้นทางแข่งขันของทีม โดยโค้ชไม่ขัดขวาง
ทีมชาติฝรั่งเศสมีนักเตะแกนหลักนับถือศาสนาอิสลามอย่างเด่นชัด ทั้ง กะรีม เบนเซมา (Karim Mostafa Benzema), มามาดู ซาโก (Mamadou Sakho), บาการี ซาญา (Bacary Sagna), มุสซา ซิสโซโก (Moussa Sissoko) ฯลฯ พวกเขาจึงต้องขอทางเจ้าภาพเตรียมอาหารฮาลาลให้ทุกมื้อ ดีดีเย เดชอง (Didier Claude Deschamps) เทรนเนอร์ก็พร้อมสนับสนุนหากนักเตะจะปฏิบัติศาสนกิจตามศรัทธาของตน เขาบอกว่า “ทีมงานเราไม่ได้สนับสนุนหรือคัดค้านอะไรเป็นพิเศษ สิ่งสำคัญคือเราต้องเปิดกว้างและยอมรับซึ่งกันและกัน ผู้เล่นทุกคนมีอิสระที่จะเลือกถือศีลอดหรือไม่ก็ได้”
เมื่อทีมแอลจีเรียแพ้เยอรมนีช่วงต่อเวลาพิเศษ มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าในเวลาปรกตินักเตะแอลจีเรียสามารถสู้เยอรมนีได้สนุกสูสี แต่พอต้องเตะเกิน ๙๐ นาทีพวกเขาดูอ่อนล้าอย่างเห็นได้ชัด แอลจีเรียเป็นอีกทีมที่ปล่อยให้การปฏิบัติศาสนกิจในช่วงเดือนสำคัญของลูกทีม “เป็นเรื่องส่วนตัว” และเมื่อทีมแพ้ วาฮิด ฮาลิลฮอดซิก (Vahid Halilhodžić) ผู้จัดการทีมก็แสดงสปิริตว่า “การถือศีลอดไม่ได้ทำให้นักเตะแอลจีเรียเสียเปรียบเยอรมนีแต่อย่างใด” ความเห็นเช่นนี้ว่าไปก็สอดคล้องกับผลการศึกษาจากฟีฟาซึ่งระบุว่า ภายใต้การควบคุมดูแลอย่างเหมาะสม ผู้เล่นสามารถถือศีลอดและลงแข่งขันได้โดยประสิทธิภาพร่างกายไม่ลดลง
ส่วนเทรนเนอร์ทีมเยอรมนี โยอาคิม เลิฟ (Joachim Löw) บอกไว้ชัดเจนแต่แรกว่าขอให้นักเตะมุสลิมในทีมเลื่อนการถือศีลอดไปจนกว่าจะจบฟุตบอลโลก
ช่วงเวลาถือศีลอดในบราซิลปีนี้ตกราว ๑๓ ชั่วโมงครึ่งต่อวัน (ถือว่าสั้นกว่าในยุโรปมาก ขณะไทยอยู่ที่ราว ๑๔ ชั่วโมง) แม้ทีมจากชาติอิสลามหลายทีมจะตกรอบแรก แต่แฟนบอลส่วนหนึ่งยังคงอยู่ต่อถึงเดือนรอมฎอน มีรายงานว่าองค์กรด้านศาสนาในบราซิลเตรียมตัวต้อนรับทีมฟุตบอลและแฟนบอลจากชาติอิสลามได้น่าพอใจ สหพันธ์สมาคมอิสลามแห่งบราซิล (Federation of Muslims Associations in Brazil - Fambras) ได้จัดพิมพ์คู่มือสำหรับแฟนฟุตบอลมุสลิมที่เดินทางไปร่วมมหกรรมฟุตบอลโลก ชื่อว่า Salam Brazil หนา ๓๒ หน้า โดยให้ข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับศูนย์อิสลามทั้งหลายในประเทศ ที่ตั้งของมัสยิด ร้านอาหารฮาลาล และสถานที่พักผ่อนหย่อนใจซึ่งไม่มีกิจกรรมละเมิดหลักการศาสนา ทั้งยังมีประวัติศาสตร์ศาสนาอิสลามโดยย่อและอิทธิพลของศาสนาอิสลามที่มีต่อวัฒนธรรมของผู้คนบราซิล
-๒-
“ศีลอด” เคยเป็นกรณีในฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษ รวมถึงลีกต่างๆ ในยุโรป และยังคงเกิดขึ้นต่อไป
ทุกปีศึกพรีเมียร์ลีกเปิดฤดูกาลช่วงสุดสัปดาห์กลางเดือนสิงหาคม ตกระหว่างวันที่ ๑๗-๑๙ สิงหาคม ซึ่งบางปีศีลอดสิ้นสุดแล้ว บางปีเพิ่งเริ่มต้น
ในบรรดานักฟุตบอลพรีเมียร์ลีกราว ๓๐ คนที่นับถือศาสนาอิสลาม เมซุท เออซิล (Mesut Özil) ชาวเยอรมันเชื้อสายตุรกี และ โรบิน ฟัน แปร์ซี (Robin van Persie) ซึ่งเปลี่ยนศาสนาตามภรรยา ไม่ถือศีลอด ซามีร์ นัสรี (Samir Nasri) แห่งทีมแมนเชสเตอร์ซิตี และเพื่อนนักเตะมุสลิมบางคนไม่ได้ถือศีลอดหากช่วงรอมฎอนตรงกับฤดูกาลแข่งขัน แต่นักเตะมุสลิมจำนวนมากถือศีลอด รวมทั้ง เดมบา บา (Demba Ba) ของเชลซี ยายา ตูเร (Gnégnéri Touré Yaya) ของแมนเชสเตอร์ซิตี และ โกโล ตูเร (Kolo Habib Touré) ของลิเวอร์พูล
อับเดลกาเดอร์ เกซซัล (Abdelkader Mohamed Ghezzal) ผู้เล่นของทีมปาร์มาในอิตาลี ยอมรับว่าเขาไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดศาสนาในช่วงเดือนรอมฎอนเพราะตรงกับฤดูร้อนในทวีปยุโรป ซึ่งเวลากลางวันยาวกว่ากลางคืนมาก รวมทั้งความชื้น อุณหภูมิที่พุ่งสูง ทำให้การปฏิบัติยากลำบาก
“ช่วงกลางวันอุณหภูมิสูง ๓๕-๔๐ องศาเซลเซียส พระอาทิตย์กว่าจะตกก็ร่วม ๒ ทุ่ม หมายถึงต้องถือศีลอด ๑๔-๑๕ ชั่วโมง” เขาบอก และยอมรับว่าหากถือศีลอดย่อมไม่สามารถเล่นได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นเขาจึงถือศีลอดในช่วงวันหยุดที่ไม่มีการแข่งหรือซ้อม แล้วไปชดเชยหลังจากหมดเดือนรอมฎอน
-๓-
พวกท่านคิดว่า แท้จริงเราได้ให้พวกท่านเกิดมาโดยปราศจากเป้าหมาย และแท้จริงพวกท่านจะไม่กลับคืนไปหาเรากระนั้นหรือ ?*
คัมภีร์อัลกุรอาน ๒๓ : ๑๑๕
คัมภีร์อัลกุรอาน ในส่วน “วันพิพากษา” จากพระผู้เป็นเจ้าบทนี้ได้รับการอ้างในบทความซึ่งนิตยสาร Taqwa (ออนไลน์) นำเสนอ “เดมบา บา” ในฐานะนักฟุตบอลมุสลิมที่เคร่ง ตรงนี้เราน่าจะได้รับฟังเรื่อง “นักฟุตบอลกับศีลอด” จากอีกมุมซึ่งเป็นมุมมองของผู้เคร่งครัดหลักคำสอนของศาสนาอิสลาม…
ในเดือนรอมฎอนปีที่แล้ว บาพูดคุยถึงบทบาทของศาสนาอิสลามในชีวิตนักกีฬาของเขาว่า เขาละหมาดวันละห้าครั้ง และถือศีลอดช่วงเดือนรอมฎอน
ทางสโมสรไม่สนับสนุนให้เขาถือศีลอดเพราะเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อการเล่น แต่บาเชื่อว่า ถ้าเราทำอะไรเพื่ออัลลอฮ์ ท่านจะไม่ทอดทิ้งเราและจะทำให้เราทำได้ดียิ่งขึ้น เขาจึงบอกผู้จัดการทีมว่า การถือศีลอดมีความสำคัญต่อเขามากและขอโอกาสให้ได้ลงแข่งในช่วงเวลานี้ หากเล่นได้ไม่ดีจริงๆ ก็ให้นั่งเป็นตัวสำรอง
บาพูดอย่างน่าคิดว่า “การถือศีลอดไม่ได้ส่งผลกระทบต่อคุณ บางครั้งคุณจะเริ่มรู้สึกเหนื่อยบ้าง แต่เรื่องนี้ไม่ได้เป็นสิ่งใหม่สำหรับผม-ผมได้ทำอย่างนี้มานาน”
เมื่อยิงประตูได้บาจะทำท่า “คุกเข่า ก้มจูบพื้นดิน” ซึ่งเด็กอังกฤษจำนวนมากเลียนแบบโดยไม่รู้ว่ามีความหมายอย่างไร
มุสลิมทุกคนรู้ดีว่า เวลาที่บาก้มลงจูบพื้นเขาไม่ได้จูบสนามฉลองชัยอย่างที่คนอื่นเข้าใจ แต่เขากำลังทำ “ซัจดะฮ์” (sajdah) สรรเสริญอัลลอฮ์
“เมื่อใดเรา ‘กราบ’ เมื่อนั้นเราอยู่ใกล้ชิดกับอัลลอฮ์” บาตอบเมื่อถูกถามถึงการแสดงความดีใจดังกล่าว “ผมรู้เสมอว่าอัลลอฮ์ให้อะไรเรา และเราพึงขอบคุณท่าน วิธีการขอบคุณอย่างหนึ่งก็คือการทำซัจดะฮ์ หมายถึงก้มลงแนบหน้าผากแตะพื้น ผมทำซัจดะฮ์เพราะที่ผมทำประตูได้นั้นเป็นพระประสงค์ของอัลลอฮ์ และผมอยากจะขอบคุณพระองค์สำหรับทุกอย่างที่ท่านมอบแก่ชีวิตผม”
ในตอนท้ายของบทความ อัลดิน ฮัดซิก (Aldin Hadzic) ผู้เขียนสรุปไว้อย่างน่าใคร่ครวญว่า
“นักกีฬามุสลิมรุ่นใหม่หลายคนรู้สึกว่าต้องเลือกระหว่างการเป็นนักกีฬากับการปฏิบัติศาสนกิจ พวกเขามีข้ออ้างที่จะไม่ถือศีลอดช่วงเดือนรอมฎอน ไม่ทำละหมาดระหว่างวันถ้าต้องฝึกซ้อมหรือลงแข่ง แต่หัวใจสำคัญของเรื่องนี้อยู่ที่ว่าเรามีชีวิตอยู่บนโลกด้วยภารกิจหลักเพียงหนึ่งเดียว ซึ่งไม่ใช่การเป็นนักกีฬาอาชีพ ทว่ามีชีวิตอยู่เพื่อสดุดีอัลลอฮ์และเชื่อฟังท่าน
“อัลลอฮ์ไม่ได้บอกให้เราใช้ชีวิตอย่างโดดเดี่ยวแล้วเอาแต่สรรเสริญท่าน อัลลอฮ์ให้เราทำมาหาเลี้ยงชีพและเลี้ยงดูครอบครัว นอกจากนี้ยังบัญชาให้เราดูแลร่างกายให้สมบูรณ์แข็งแรง กระฉับ-กระเฉง ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การเล่นกีฬา แต่อยู่ที่เราให้ความสำคัญต่อการแข่งขันมากกว่า (อัลลอฮ์)”
…
ทั้งในฟุตบอลโลก ฟุตบอลลีก นอกจากนักเตะต้องแข่งขันกับฝ่ายตรงข้าม พวกเขายังต้องต่อสู้เพื่อความศรัทธาในหลักศาสนาของตัวเองด้วย
ศรัทธาซึ่งจะมอบความแข็งแกร่งย้อนคืนมาตามความเชื่อของชาวมุสลิม โกโล ตูเร กองหลังไอวอรีโคสต์ของสโมสรลิเวอร์พูล พูดไว้ตั้งแต่ก่อนฟุตบอลโลกเริ่มต้น
“ศีลอดไม่ใช่แค่เรื่องศรัทธา แต่คือการชำระร่างกายด้วย หลังผ่านพ้นรอมฎอนไปคุณจะรู้สึกแข็งแกร่งขึ้น นี่คือความมหัศจรรย์ของรอมฎอน”
* แปลจากภาษาอังกฤษ “Did you think that We had created you in play (without any purpose), and that you would not be brought back to Us ?” อาจมีรายละเอียดแตกต่างจากคำแปลพระคัมภีร์ดั้งเดิมบ้าง