งานจากค่ายสารคดีครั้งที่ 10
เขียน : สุพิเศษ ศศิวิมล
ภาพ : กันต์ สันตินุตานนท์
มนุษย์เป็นสิ่งที่มีชีวิตเกิดมาเพื่อสร้างความสัมพันธ์ หลายครั้งที่เราดีใจ เสียใจ ล้วนมาจากความสัมพันธ์ทั้งสิ้น เพราะเรา ‘ผูก’ และ ‘พัน’ ตัวเองกับสิ่งเหล่านั้นเอาไว้ ไม่ว่าจะเป็น ผู้คน สิ่งของ หรือสถานที่ ความผูกพัน นำมาซึ่งความรัก เมื่อเรารักใครหรือรักสิ่งใดไปแล้ว จะให้เลิกก็คงยาก ห้ามยังไงก็คงไม่ฟัง
ตัวผมเอง ก็มีความผูกพันกับสถานที่แห่งหนึ่ง เป็นที่ที่มาครั้งใดก็ทำให้ร่างกายและหัวใจของเราพองโต กลับมามีชีวิตชีวา เหมือนหัวใจได้รับการกระตุ้นด้วยสิ่งที่เรารัก ผมเชื่อว่านักดูหนังหลายๆ คนคงจะผูกพันกับสถานที่แห่งนี้เหมือนกับผม สถานที่ที่เป็นมากกว่าที่ดูหนัง ที่พอหนังจบก็แยกย้ายกันกลับ แต่สำหรับที่นี่ ไม่ว่าจะดูหนังจบกี่เรื่องต่อกี่เรื่อง ตัวและหัวใจของเราก็มักจะกลับมาที่นี่เสมอ เหมือนเราพาหัวใจกลับบ้าน – บ้านที่ชื่อว่าสกาลา
โรงภาพยนตร์สกาลา ตั้งอยู่ที่สยามสแควร์ซอย 1 ตั้งอยู่ใจกลางสยามสแควร์ เดินทางสะดวก เพียงแค่ลงสถานีรถไฟฟ้าสยาม เดินเข้ามาอีกหน่อย ก็สามารถเข้ามาเสพบรรยากาศเก่าๆ ที่แสนจะคลาสสิค และชมภาพยนตร์คุณภาพจากที่นี่ได้แล้ว โรงหนังแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นโดยคุณพิสิฐ ตันสัจจา โชว์แมนคนสำคัญของเมืองไทย เมื่อปี พ.ศ. 2512 โดยทำสัญญาเช่าพื้นที่กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจากที่ท่านเสียชีวิต ก็ได้ส่งต่อให้กับคุณ นันทา ตันสัจจา บริหารดูแลกิจการต่อ
สิ่งที่โดดเด่นกว่าโรงภาพยนตร์อื่นๆ ก็คือความงดงามทางด้านสถาปัตยกรรม ซึ่งมีการผสมผสานระหว่างตะวันตกและตะวันออก ด้วยเอกลักษณ์และความวิจิตรของสถานที่ ทำให้สกาลาได้รับรางวัล “อนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่น ปี 2555” จากสมาคมสถาปนิกในพระบรมราชูปถัมภ์ เนื่องจากตัวอาคารได้รับการดูแลเป็นอย่างดี สวยงาม และมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ มานานับ 40 ปี
ในสมัยนั้นโรงภาพยนตร์สกาลาเรียกได้ว่าเป็นสถานที่ยอดนิยมเลยก็ว่าได้ ผู้คนหลั่งไหลเข้ามาชมเป็นจำนวนมาก แต่หลังจากที่วิดีโอ วีซีดีเข้ามา ก็ทำให้พฤติกรรมการดูหนังเปลี่ยนไป จากที่เคยมีผู้ชมล้นทะลัก กลายเป็นหายไปเกือบครึ่ง ทำให้โรงหนังได้รับผลกระทบมากพอสมควร แต่ถึงอย่างนั้น สกาล่าก็ยังคงยืนหยัดฉายหนังต่อไป โดยมีการออกโปรโมชั่นสะสมคะแนน เมื่อดูครบ 10 เรื่อง สามารถดูฟรีได้ 1 เรื่อง แม้จะช่วยทำให้ยอดขายดีขึ้น แต่ก็ใช่ว่าจะพลิกฟื้นภาพเก่าๆ กลับมาได้ดังเดิม
หนังเรื่องแรกที่เข้าฉายกับสกาลาคือเรื่อง “สองสิงห์ตะลุยศึก” ในตอนแรกที่สกาลาจะเน้นการฉายภาพยนตร์กระแส ที่ได้รับรางวัล แต่ในช่วงหลังก็จะมีการเปิดโอกาสให้คนทำหนังหน้าใหม่ ได้มีโอกาสแสดงฝีมือบ้าง โดยมีการเปิดฉายหนังทางเลือก ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมาก สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นนักเรียน นักศึกษาได้เป็นอย่างดี แต่ปัจจุบัน ทางสกาล่าไม่ได้ฉายภาพยนตร์ทางเลือกแล้ว กลับมาฉายหนังฟอร์มยักษ์ หนังกระแสเหมือนเดิม ส่วนหนังทางเลือก สามารถหาดูได้ที่โรงภาพยนตร์ลิโด้ ในเครือ APEX เช่นเดียวกัน
ผมชอบความคลาสสิคและความเก่าแต่ไม่แก่ของสกาล่า มันเป็นเอกลักษณ์และเป็นสิ่งที่ใครก็เลียนแบบไม่ได้ จะมีสักกี่โรงที่ตั๋วหนังราคาถูกแบบนี้ (100 และ 120 บาท) ป๊อบคอร์นก็ถูกแสนถูกแต่อิ่มยันหนังจบด้วยราคาเพียง 30 บาท แถมยังใช้ระบบการจองตั๋วผ่านผังกระดาษ การฉีกตั๋วด้วยมือ ตั๋วหนังน่าถ่ายรูปไปอวดเพื่อนในสังคมออนไลน์ได้อีก รวมไปถึงพนักงานเสื้อเหลืองที่แทบจะเป็นมาสค็อตของที่นี่ไปแล้ว – เราสามารถหาสิ่งเหล่านี้ได้จากโรงหนังทั่วไปได้จริงหรือ?
แน่นอน คงไม่ได้มีแค่ผมคนเดียวที่ผูกพันกับสถานที่แห่งนี้ ต่างคนก็ต่างเรื่องเล่า ต่างความประทับใจ แตกต่างกันออกไปของแต่ละคน เราลองมาฟัง ‘เสียงในหัวใจ’ ของคนที่รักและผูกพันที่นี่ไปพร้อมกันดีกว่า อ้อ! อย่าลืมปิดเครื่องมือสื่อสารด้วยนะครับ
‘พี่เสื้อเหลือง’ คนนำบัตรประจำโรงหนังสกาลา มาสค็อตที่ทุกคนต้องจดจำ
ก่อนเข้าชมภาพยนตร์ ต้องได้รับการตรวจและฉีกบัตรจากพนักงานสูทสีเหลืองเสียก่อน ถึงจะสามารถเข้าไปในโรงหนังได้ ด้วยความเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่น เป็นเอกลักษณ์ ทำให้ ‘พี่เสื้อเหลือง’ เป็นสัญลักษณ์ของที่นี่ไม่แพ้กับโคมไฟระย้าสวยงามเลยทีเดียว
“ผมทำงานที่นี่มาเกือบ 20 ปีแล้ว ผูกพันมาก ไม่อยากไปทำงานที่ไหนนอกจากที่นี่แล้วล่ะ” พี่นพดล ภูมิโคกรักษ์พนักงานตรวจตั๋ว หรือที่เรียกว่า ‘คนนำบัตร’ ซึ่งทำหน้าที่ในการตรวจตั๋วหน้าโรงภาพยนตร์ เล่าให้ฟังถึงความผูกพันของเขาที่มีต่อโรงภาพยนตร์แห่งนี้
ด้วยความที่เขาอยู่กับที่นี่มานาน ทำให้เกิดความรัก ความผูกพัน กับเพื่อนร่วมงาน เจ้านาย รวมไปถึงลูกค้าที่แวะเวียนกันเข้ามาใช้บริการที่นี่กันอย่างไม่ขาดสาย
เมื่อถามถึงความประทับใจที่มีต่อคนดูหนัง เขาบอกว่า “ลูกค้าของเราส่วนมากจะเป็นคนรักหนัง มีมารยาทในการดูหนังมาก คือดูแบบตั้งใจจริงๆ ไม่คุยกัน เคารพหนังและโรงภาพยนตร์มากๆ ผมดีใจนะ บางครั้งพวกลูกค้าประจำก็เอาของมาฝากบ้างตามโอกาส แค่นี้ผมก็ดีใจแล้วล่ะ” พี่เสื้อเหลืองขวัญใจชาวสกาล่าเล่าให้ฟังด้วยรอยยิ้ม แม้ว่ารายได้ของอาชีพนี้จะไม่ได้เยอะ แต่ก็ไม่ได้น้อยจนอยู่ไม่ได้ บวกกับรอยยิ้ม และความรู้สึกดีๆ ที่เขาได้รับจากผู้คนที่มาดูหนัง ที่ทำให้หัวใจพองโต ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่ง ที่ทำให้ให้พี่เสื้อเหลืองคนนี้จะทำหน้าที่ ‘คนนำบัตร’ ประจำโรงหนังสกาล่าต่อไป
เพื่อนำรอยยิ้มและความสุขมาให้คนดูหนังที่เขารักนั่นเอง
ผมเชื่อว่าความสุขนั้นส่งต่อกันได้ ถ้าหากพนักงานมีความสุข ได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสม รวมไปถึงการยอมรับจากเพื่อนร่วมงานและผู้บังคับบัญชา ก็ยิ่งทำให้พวกเขาส่งต่อความสุขให้กับผู้เข้ามาใช้บริการต่อไป เป็นการส่งต่อรอยยิ้มให้กันต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด
สกาล่าในอินสตาแกรมของคุณแม่วัยสาว ความทรงจำที่บันทึกผ่านโลกออนไลน์
ผมเห็นหญิงสาวอายุประมาณสามสิบกว่าๆ คนหนึ่ง จูงมือลูกชายมาที่นี่ เด็กน้อยชี้มือไปยังป๊อบคอร์นที่เพิ่งปะทุในตู้ คนเป็นแม่ยิ้มขำเล็กๆ ก่อนที่จะซื้อมันให้กับลูกของเธอ ป๊อบคอร์นที่นี่ขึ้นชื่อเรื่องความคุ้มค่า เพราะว่าราคาไม่แพง และให้เยอะมาก เด็กชายหยิบกินอย่างเอร็ดอร่อย ทั้งคู่นั่งพักที่เก้าอี้เพื่อรอชมภาพยนตร์รอบสองทุ่มครึ่ง ยังพอมีเวลา ผมจึงเดินเข้าไปพูดคุยกับเธอ
“พี่ดูหนังที่นี่บ่อยนะ มาตั้งแต่ที่บอกว่าจะปิดตัวแล้ว รู้สึกเสียดาย ก็เลยพยายามมาดูอยู่ตลอด มาได้ปีกว่าๆ แล้ว ชอบมาก โรงใหญ่ จุคนได้เยอะ มาสายยังไงก็ยังมีที่นั่งแน่นอน” พี่เอม คณิสสา บูรณเบญญา คุณแม่วัยสามสิบหก บอกกับผมด้วยรอยยิ้ม แม้ว่าเธอจะเพิ่งมาดูหนังที่นี่ แต่ก็มีความผูกพันอย่างแนบแน่น
ในสมัยนี้ การบันทึกความทรงจำ สามารถทำได้ง่าย แค่ยกโทรศัพท์มือถือขึ้นมาถ่าย ก็สามารถเก็บความทรงจำเอาไว้ได้แล้ว แถมยังสามารถส่งต่อมันให้กับคนอื่นได้อีกด้วย พี่เอมเปิดอินสตาแกรมส่วนตัวของเธอให้ผมดู รูปถ่ายส่วนมากจะเป็นที่สกาล่าในหลายมุม หลายช่วงเวลา รวมไปถึงตั๋วหนังที่เธอได้ไปดูมากอีกด้วย
“พี่รู้สึกว่าที่นี่มันมีความเก่า คลาสิค มีสไตล์เป็นของตัวเอง ยิ่งพี่เป็นคนชอบอะไรวินเทจอยู่แล้ว ที่นี่ยิ่งตอบโจทย์เลย สกาล่าเป็นสถานที่ร่วมสมัย มีความคาบเกี่ยวระหว่างความใหม่กับความเก่า โรงหนังแบบนี้หาที่ไหนไม่ได้อีกแล้วล่ะ”
เราคงไม่ต้องถามอะไรกันอีกมาก เพราะว่าภาพถ่ายในอินสตาแกรมของพี่เอมได้บอกเอาไว้ทุกอย่างแล้ว ความผูกพัน ความประทับใจ ถูกบันทึกไว้ด้วยสายตา เมื่อเรากดชัตเตอร์ หมายความว่าเราอยากหยุดเวลาตรงนั้นเอาไว้ให้อยู่ในภาพถ่าย และเมื่อใดที่เราส่งต่อมันให้กับคนอื่นในวงกว้างอย่างเช่นโลกออนไลน์ ผมว่าสิ่งเหล่านั้นคงมีความสำคัญมากแน่ๆ
อย่างน้อยก็สำหรับคุณแม่ลูกอ่อนคนนี้
ภาพจำแห่งอดีต กับตัวตนในปัจจุบัน
ชายแก่คนหนึ่งเดินผ่านเข้ามาในเฟรมสายตา ผมปรับโฟกัสและเพิ่งมองไปที่ลุงคนนั้น ลักษณะการเดินของแกยังคงแข็งแรงเหมือนคนหนุ่ม ท่าทางและอากัปกิริยาเหมือนคนเจนสนาม ดูแล้วน่าจะคุ้นเคยกับสถานที่แห่งนี้เป็นอย่างดี
“โอ๊ย ผมดูหนังที่นี่มานานแล้ว เกือบ 20 ปีได้มั้ง” โชคดี ผมเลือกคุยถูกคน คุณลุงสมเกียรติ ภวนานันท์ ข้าราชการเกษียณ วัย 63 พูดกับผมในท่าทางสบายๆ เหมือนกำลังเล่าเรื่องราวในอดีตให้ลูกหลานฟัง
เมื่อก่อนนี้ คนมาดูหนังที่นี่กันเยอะมาก เพราะว่าตอนนั้นวิดีโอหรือวีซีดียังไม่เข้ามา ทำให้ในแต่ละรอบจะมีคนเข้าชมจนเต็มโรงเลยทีเดียว “เมื่อก่อนนะ คุณเชื่อมั้ย คนนี่ต่อคิวกันยาวมากเลยนะ ถึงกับต้องมีตั๋วผีขายเลย จ่ายแพงหน่อย แต่ไม่ต้องเสียเวลารอ ซื้อแล้วได้ดูเลย” คุณลุงชี้มือให้ผมดูการแต่งกายของวัยรุ่นกลุ่มหนึ่งที่รอชมหนังรอบเดียวกับแก แล้วเล่าให้ฟังอีกว่า “ตอนผมหนุ่มๆ แต่งตัวแบบนี้ไม่ได้นะ ใส่ขาสั้น องเท้าแตะไม่ได้เลย คุณต้องสุภาพ ให้เกียรติสถานที่ด้วย”
เราคุยกันต่ออีกหลายเรื่อง ได้ฟังเรื่องเล่าเกี่ยวกับโรงหนังแห่งนี้อีกมาก เวลาฉายหนังเริ่มใกล้เข้ามา คุณลุงเหลือบมองนาฬิกาข้อมือ เป็นสัญญาณบอกให้ผมรีบจบการสนนทนาโดยเร็ว
“ทำไมลุงถึงมาดูหนังที่นี่ล่ะครับ ทั้งๆ ที่ตอนนี้ก็มีดีวีดี มีอินเทอร์เน็ต ดูอยู่ที่บ้านก็ได้นี่ครับ”
“จริงของคุณที่เราสามารถนอนดูดีวีดีที่บ้านได้ หรือจะดูในอินเทอร์เน็ตแบบที่เด็กสมัยนี้ชอบดูกัน มันก็สบายเหมือนกัน แต่มันจะได้บรรยากาศเท่าดูที่โรงหรอ เราไม่มีทางหาจอที่ใหญ่ขนาดนี้ ระบบเสียงที่ดี กระหึ่ม และมีคุณภาพแบบนี้ได้หรอก ถ้าจะดูหนัง ก็ต้องดูที่โรงหนังเท่านั้นสิ”
คุณลุงลุกไปจากเก้าอี้ เดินไปรวมกับฝูงคนหน้าโรงหนัง เพื่อเตรียมเสพรับอรรถรสจากภาพยนตร์ต่างประเทศฟอร์มยักษ์ ปล่อยให้ผมนั่งใช้ความคิด ทบทวนประโยคสุดท้ายที่ลุงฝากเอาไว้
การปิดตัวของสกาลา ความจริงหรือแค่ข่าวลือ?
เนื่องจากสถานการณ์การเมื่องที่ร้อนเป็นไฟ ในปี 2553 ทำให้เกิดเหตุการณืไฟไหม้ที่โรงหนังสยาม ซึ่งเป็นโรงหนังเครือเดียวกันกับ สกาล่า และ ลิโด้ ทำให้ทางจุฬาลงกรณ์ต้องนำที่กลับคืน และสร้างใหม่เป็นศูนย์การค้า Siam Square 1 (SQ-1) ตอนนั้นทางโรงหนังสยามเพิ่งจะปรับปรุงและพัฒนาใหม่ แต่ไฟไหม้ ไม่สามารถเปิดให้บริการได้ ทำให้สูญเสียเงินไปเกือบร้อยล้านบาท จนมีข่าวออกมาว่า ทางสกาลาจะปิดตัวลง
เป็นประเด็นพูดคุยกันในหมู่นักดูหนังมาสักพักหนึ่ง ว่าสกาลาจ่ายค่าเช่าไม่ไหว หรือจุฬาจะขอที่คืน ความจริงเป็นอย่างไร ยังไม่มีใครรู้ แต่สำหรับคนที่รักโรงหนังนี้ พวกเขามีความรู้สึก เมื่อผมถามคำถามนี้กับแหล่งข้อมูลทุกคน จากที่เล่าความประทับใจให้ฟังอย่างไม่รู้เหนื่อย สีหน้าแววตาของพวกเขาก็เปลี่ยนไป น้ำเสียงร่าเริงก่อนหน้านั้นก็หายไป กลายเป็นความเซื่องซึมและความเศร้าสร้อยเข้ามาแทน
“เสียดายมาก เมื่อก่อนพ่อแม่พี่ก็มาดูหนังที่นี่กันนะ ตัวพี่เองเองก็ไม่อยากให้สกาลาปิดตัวลงไป แต่เราก็ไม่สามารถห้ามได้ การที่เจ้าของสู้มาถึงตอนนี้พี่นับถือใจเขามากนะ ไม่ง่ายเลยที่จะดูแลธุรกิจโรงภาพยนตร์ให้อยู่ได้ถึงตอนนี้ ถ้าหากปิดไป พี่เชื่อว่าที่นี่ต้องเป็นตำนานเหมือนอย่างโรงหนังเฉลิมกรุงแน่นอน พี่ว่าทุกอย่างไม่มีอะไรอยู่ยั้งยืนยังหรอก เมื่อถึงเวลาก็ต้องปล่อยมันไป” พี่ขวัญ ทักษอร สานติธนณ พนักงานออฟฟิศวัยสามสิบ บอกกับผมเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้อย่างน่าประทับใจ และผมเชื่อว่าแฟนนานุแฟนของสกาล่าก็คงจะคิดแบบเดียวกันกับเธอ
สกาลาจะปิดตัวหรือไม่ จะเป็นแค่ข่าวลือที่สร้างชึ้นมา ความจริงจะเป็นอย่างไรไม่มีใครรู้ ผมจึงได้นัดพบกับพี่เหมียว จุไรรัตน์ ศิลปอุไร ผู้จัดการฝ่ายบัญชี เพื่อสอบถามถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับประเด็นนี้ ว่าความจริงคืออะไรกันแน่
“ยังไม่คอนเฟิร์มเรื่องการปิดตัว เพียงแค่มีการขึ้นค่าเช่าในราคาขึ้นเป็น 75% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูง ในปี 2557 นี้เพิ่งจะทำสัญญาต่อไปอีก 3 ปี แม้ว่าราคาจะแพง แต่เราก็ยังเดินหน้าเปิดให้บริการต่อไป จนกว่าจะทำไม่ไหวค่ะ” เธอตอบด้วยน้ำเสียงมุ่งมั่น สายตาของเธอยังคงเป็นประกาย สิ่งเหล่านี้สามารถยืนยันได้ดี
ผมเชื่อว่านี่คงเป็นข่าวดีของแฟนๆ สกาลารวมถึงผมด้วย ที่โรงหนังแห่งนี้จะยังคงยืนเด่น ตั้งตระหง่านอยู่ใจกลางย่านสยามสแควร์ต่อไป อย่างน้อยก็ในระยะเวลาสามปีนับจากนี้ ส่วนเรื่องในอนาคต เรายังไม่รู้ และไม่สามารถคาดเดาได้ สิ่งที่เราจะทำได้คือการสนับสนับสนุนที่นี่ เพื่อต่อลมหายใจให้สกาล่าได้อยู่ต่อไป
ความผูกพัน = ผู้คน + กาลเวลา ผมว่าสมาการนี้เหมาะกับสกาลาทีเดียว ไม่ว่าเราจะแทนค่าใดลงไป
ความผูกพันก็ไม่มีวันเปลี่ยน