ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล : เรื่อง
ประเวช ตันตราภิรมย์ : ภาพ

กลางปีพุทธศักราช ๒๕๕๗ ราคาน้ำมันเบนซิน ๙๕ พุ่งขึ้นไปแตะหลัก “สองลิตรร้อย” หรือเกือบ ๕๐ บาทต่อลิตร ขณะที่น้ำมันชนิดอื่นมีราคาลดหลั่นกันไป อาทิ เบนซินแก๊สโซฮอล์ ๙๑ ลิตรละ ๓๗ บาท  ดีเซลลิตรละประมาณ ๓๐ บาท  เบนซินแก๊สโซฮอล์ อี ๒๐ ลิตรละประมาณ ๓๕ บาท  ขณะที่เบนซินแก๊สโซฮอล์ อี ๘๕ ยังราคาสูงถึง ๒๔ บาทต่อลิตร หรือร่วม “สี่ลิตรร้อย”ไม่มีใครปฏิเสธว่า การขยับตัวขึ้นหรือลงแต่ละครั้งของ “ทองคำสีดำ” ส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คนและราคาสินค้าแทบทุกอย่าง  บ่อยครั้งที่พ่อค้าแม่ค้าตัดสินใจขึ้นราคาข้าวราดแกงโดยให้เหตุผลว่าวัตถุดิบแพง น้ำมันขึ้นราคา…

แล้วราคาน้ำมันที่เป็นธรรมกับประชาชนจริง ๆ อยู่ตรงไหน

โดยทั่วไปโครงสร้างราคาน้ำมัน ทั้งของไทยและนานาประเทศ ประกอบขึ้นจากสี่ส่วนหลัก คือ

๑. เนื้อน้ำมัน ซึ่งความจริงแต่ละชนิดมีราคาไม่แตกต่างกันสักเท่าไหร่

๒. ภาษี บางประเทศเรียกเก็บในอัตราสูงมาก เช่นกลุ่มทวีปยุโรป  ส่วนประเทศผู้ผลิตและส่งออกน้ำมันรายใหญ่ของโลกอย่างกลุ่มประเทศโอเปก (OPEC) เก็บภาษีในอัตราที่ต่ำ

๓. ค่าการตลาด คือกำไรก่อนหักค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบธุรกิจโรงกลั่น และผู้ค้าปลีกน้ำมันรายย่อยหรือปั๊มน้ำมัน ถือว่ามีราคาไม่มากเมื่อเทียบสัดส่วนกับราคาน้ำมัน และ

๔. กองทุนน้ำมัน เป็นการเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนอุดหนุนระหว่างผู้ใช้น้ำมันต่างชนิดกัน อาทิ ในราคาน้ำมันเบนซิน ๙๕ ลิตรละ ๑๐ บาท เป็นเงินที่ต้องนำเข้ากองทุนเพื่อไปชดเชยให้แก่น้ำมันแก๊สโซฮอล์ อี ๘๕ หรือก๊าซหุงต้มเพื่อให้ขายก๊าซหุงต้มได้ในราคาตามที่กำหนดซึ่งมักเป็นราคาที่ต่ำ  การเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันถือเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ราคาน้ำมันสูงกว่าความเป็นจริง

สมการของราคาน้ำมันจึงมีหน้าตาเป็น ราคาน้ำมัน = เนื้อน้ำมัน + ภาษี + ค่าการตลาด + กองทุนน้ำมัน  โดยสองสามตัวแปรหลังของสมการทางฝั่งขวา แปรผันตามนโยบายรัฐในแต่ละช่วงว่าต้องการอุดหนุนราคามากแค่ไหน

ด้วยเหตุนี้การบิดเบือนกลไกตลาด รวมทั้งการตั้งราคาน้ำมันที่ไม่สะท้อนต้นทุนของน้ำมันแต่ละประเภทจึงเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา  ราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นยังถูกตั้งคำถามโยงไปถึงว่าเพื่อสนองผลประโยชน์ทางธุรกิจให้แก่ผู้ถือหุ้นของบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านธุรกิจพลังงานที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ มากกว่าคำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชนหรือไม่

อานิก อัมระนันทน์ เป็นผู้หนึ่งที่แสดงความเห็นว่าราคาน้ำมันในปัจจุบันนั้นมีความสมเหตุสมผลพอสมควรอยู่ และไม่ควรลดราคาน้ำมันลงต่ำจนขัดแย้งกับราคาตลาดโลก

อานิก ภริยาของ ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และกรรมการ ปตท. เคยทำงานกับบริษัทเชลล์ ยักษ์ใหญ่ด้านกิจการพลังงานของโลกมายาวนานถึง ๒๐ ปีในหลายตำแหน่ง รวมทั้งตำแหน่งผู้จัดการลงทุนสัมพันธ์ ประจำสำนักงานใหญ่ลอนดอน ประเทศอังกฤษ

เมื่อเข้าดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อของพรรคประชาธิปัตย์ ก็ทำหน้าที่ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาโครงสร้างราคาก๊าซ รวมทั้งเป็นสมาชิกคนสำคัญของ “กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน” ที่ตั้งขึ้นหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจการปกครองประเทศ ท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้ปฏิรูปกิจการพลังงานของประเทศ

ส่วน รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร มีความเห็นว่าราคาน้ำมันทุกวันนี้แพงเกินไป การตั้งราคาเป็นไปโดยไม่สะท้อนต้นทุน ควรปรับลดราคาลงเพื่อสร้างความเป็นธรรม

นับจากอดีตถึงปัจจุบัน รสนาเป็นนักรณรงค์ด้านสุขภาพและสิทธิผู้บริโภค  เมื่อปี ๒๕๔๑ สังคมไทยเริ่มรู้จักรสนาในฐานะผู้เปิดโปงขบวนการทุจริตกรณีการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์ในกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งส่งผลให้อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขถูกศาลสั่งยึดทรัพย์และจำคุก  ปี ๒๕๔๘ รสนาในฐานะแกนนำองค์กรผู้บริโภค ยื่นเรื่องฟ้องศาลปกครองกรณีรัฐบาลออกพระราชกฤษฎีกาแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ให้เป็นบริษัทมหาชน จนยับยั้งการกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ของ กฟผ. ได้สำเร็จ ท่ามกลางความยินดีจากประชาชนทั่วประเทศ  ปีถัดมาเธอเป็นหนึ่งในแกนนำฟ้องร้องขอให้ศาลเพิกถอนการแปรรูปเป็นบริษัทมหาชนของบริษัทปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย หรือ ปตท.  แม้ในท้ายที่สุดด้วยเวลาที่ล่วงเลยจากการแปรรูปมาแล้วถึง ๕ ปีจะทำให้การเพิกถอนไม่เป็นผลสำเร็จก็ตาม

นี่คือความคิดของสองคนที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว

ทั้ง ๆ ที่ต่างฝ่ายก็เชื่อมั่นว่าแนวคิดของตนคือการกำหนดราคาน้ำมันที่เป็นธรรมให้แก่ประชาชน

“คงราคา”

อานิก อัมระนันทน์ 

กลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน 
อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์

>>น้ำมันเป็นสินค้าโภคภัณฑ์
>>ราคาน้ำมันควรอิงกลไกตลาดโลก
>>กำกับ “ธุรกิจที่ผูกขาด” เพิ่ม “ธุรกิจที่แข่งขัน” ของ ปตท.
>>การลดราคาน้ำมันช่วยคนรวยมากกว่าคนจน

น้ำมันเป็นสินค้าโภคภัณฑ์

น้ำมันเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ (commodity) ที่มีลักษณะเฉพาะและเป็นสากล ไม่เหมือนอย่างโทรทัศน์ซึ่งประกอบจากชิ้นส่วนต่าง ๆ จนมีหลายคุณภาพหลายราคา  น้ำมันมีราคาตลาดโลกที่ซื้อขายกันข้ามพรมแดน ถูกกำหนดราคาโดยกลไกตลาดตามอุปสงค์-อุปทาน (demand-supply) เหมือนอย่างทองคำซึ่งคนไทยยอมรับเรื่องการขึ้นหรือลงของราคาตลาดโลก ผู้ขายหรือร้านทองจะตามดูราคาทองที่ฮ่องกงทุกวันเพราะเป็นตลาดใหญ่ที่ใกล้ที่สุด ถ้าฮ่องกงขึ้นเราก็ขึ้นตาม ถ้าลงก็ต้องลงตาม

ทำนองเดียวกันตลาดน้ำมันขนาดใหญ่ใกล้ประเทศไทยที่สุดคือสิงคโปร์  พื้นฐานราคาน้ำมันของไทยและประเทศในภูมิภาคนี้จึงใกล้เคียงตลาดสิงคโปร์  แต่ราคาที่ผู้บริโภคจ่ายจะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ขึ้นอยู่กับนโยบายของ
แต่ละประเทศว่ารัฐบาลเก็บภาษีมากหรือน้อย  ประเทศไทยยังเก็บเงินเข้าหรือจ่ายเงินอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันด้วย  มาเลเซียนอกจากไม่เก็บภาษีแล้ว รัฐยังจ่ายเงินอุดหนุนผู้ขายให้ขายน้ำมันที่หน้าปั๊มต่ำกว่าราคาตลาด

การบิดเบือนกลไกตลาดสร้างผลกระทบ คือ หนึ่ง สิ้นเปลืองงบประมาณในการอุดหนุนราคา รัฐเสียโอกาสนำเงินนั้นไปใช้พัฒนาประเทศในด้านอื่น  มาเลเซียก็เริ่มลดการอุดหนุนแล้วแม้ยังมีเงินมากจากการเป็นผู้ส่งออกสุทธิ (ส่งออกมากกว่านำเข้า) ของปิโตรเลียม แต่ไทยเป็นผู้นำเข้าสุทธิ (นำเข้ามากกว่าส่งออก) ไม่มีเงินมากเหมือนเขา  สอง เกิดการใช้น้ำมันผิดประเภท เกิดการลักลอบขาย  ในมาเลเซียมีการลักลอบเอาน้ำมันจากปั๊มไปขายให้ภาคอุตสาหกรรมและลักลอบไปขายในประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทย

 

ราคาน้ำมันควรอิงกลไกตลาด

ราคาน้ำมันควรอิงกลไกตลาด เพื่อประสิทธิภาพ เศรษฐกิจพอเพียง และความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ  หากราคาน้ำมันและก๊าซแอลพีจีเป็นไปตามกลไกตลาดอย่างแท้จริง จะได้ประโยชน์ในสี่มิติ  หนึ่ง คือ ประสิทธิภาพในการผลิต บังคับให้โรงกลั่นต้องปรับปรุงประสิทธิภาพให้แข่งขันได้ในตลาดภูมิภาค แต่กลไกตลาดที่ดีต้องมีการแข่งขันที่เข้มข้น เพื่อให้มั่นใจว่าผู้บริโภคได้ราคาที่เป็นธรรม

สอง ประสิทธิภาพในการใช้ หากราคาน้ำมันเปลี่ยนแปลงขึ้นลงตามกลไกตลาด ซึ่งมีผลต่อผู้ผลิตแต่ไม่เพิ่มหรือลดกำไรผู้ค้าปลีก ผู้บริโภคจะเรียนรู้ที่จะปรับตัวในการใช้น้ำมัน  ถ้าแพงขึ้นมาก็ต้องหาทางลดการใช้ เช่น อาจใช้รถร่วมกับเพื่อนบ้าน ฝากรับส่งลูกกัน หรือใช้ระบบขนส่งมวลชนมากขึ้น

สาม ประสิทธิภาพในระบบเศรษฐกิจโดยรวม จะเห็นภาพง่ายกว่าถ้ายกตัวอย่างประเทศเวเนซุเอลาที่มีนโยบายประชานิยมให้ราคาน้ำมันแก่ผู้บริโภคถูกที่สุดในโลก นอกจากคนใช้น้ำมันกันฟุ่มเฟือยแล้ว การจัดสรรทรัพยากรในระบบเศรษฐกิจก็ผิดเพี้ยนไปจนทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ ผลประกอบการธุรกิจน้ำมันไม่ดีทั้งที่ยังมีน้ำมันสำรองใต้ดินเหลือมากมาย ธุรกิจอื่นก็ไม่ดี  เวลานี้ประชากรเวเนซุเอลาหนึ่งในสามอยู่ในขั้นยากจนมาก  ไม่แปลกที่หลายประเทศทั้งที่เจริญแล้วและกำลังพัฒนา ใช้นโยบายกลไกตลาดควบกับภาษีที่ค่อนข้างสูง ตามที่งานวิจัยขององค์กร GIZ ประเทศเยอรมนีได้ทำไว้

สี่ คือประสิทธิภาพในการสร้างความเป็นธรรม  อาจฟังดูแปลก แต่เป็นความจริงถึงสองต่อ

 

กลไกตลาด ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม

ต่อแรก การอุดหนุนราคาพลังงานแบบ “ทุกลิตรทุกคน” (universal subsidy) นั้น ให้ประโยชน์คนรวยมากกว่าคนจน เพราะถ้าคิดดูดี ๆ คนมีเงินใช้น้ำมันและพลังงานทั้งทางตรงและทางอ้อมมากกว่าคนจน  ใครใช้น้ำมันมากก็เท่ากับได้รับเงินอุดหนุนมาก  องค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) พบว่า จากการอุดหนุนก๊าซแอลพีจีและน้ำมันดีเซลในประเทศไทย คนจนกลุ่มที่รายได้น้อยที่สุดซึ่งคิดเป็น ๒๐ เปอร์เซ็นต์ของคนไทยทั้งประเทศ ได้ประโยชน์จากเม็ดเงินเหล่านี้เพียง ๕-๖ เปอร์เซ็นต์

การอุดหนุนแบบนี้จึงขัดกับหลักความเป็นธรรม ใช้งบประมาณช่วยคนรวยแล้วยังส่งเสริมให้ใช้อย่างไม่ประหยัด สิ้นเปลืองงบประมาณอุดหนุนมากขึ้นไปอีก  ถ้าน้ำมันราคาถูกลงคนขึ้นรถเมล์คงเดินทางเท่าเดิม แต่คนมีรถยนต์คงจะเดินทางมากขึ้น  ถ้าน้ำมันแพงขึ้นคนใช้รถเมล์ก็เดินทางเท่า ๆ เดิม แต่คนใช้รถยนต์จะประหยัด ใช้น้ำมันน้อยลง

ต่อที่ ๒ นำเงินที่ได้จากการเลิกการอุดหนุนแบบ “ทุกคนทุกลิตร” มาใช้สร้างความเป็นธรรม บางส่วนอาจจ่ายเป็นเงินอุดหนุนโดยตรงให้เฉพาะกลุ่มคนจน เช่นโครงการไฟฟ้าฟรีสำหรับครัวเรือนที่ใช้ไม่เกิน ๕๐ หรือ ๙๐ หน่วย

ฉะนั้นถ้าอยากจะช่วยคนจนจริง ๆ อย่าไปหลงประชานิยมคนชั้นกลางที่ส่งเสริมให้คนรวยได้ใช้น้ำมันราคาถูก ๆ และเกิดการใช้มาก ๆ  แต่ควรใช้ประโยชน์จากกลไกตลาดและนำเงินที่ประหยัดได้นั้นมาลงทุนให้คนจนและให้ทุก ๆ คน ต้องไม่ลืมว่ารายได้รัฐมีจำกัด ยิ่งช่วงนี้จะเห็นข่าวว่าเงินไม่พอ รัฐบาลพยายามหาทางเก็บภาษีมากขึ้น

 

ราคาอ้างอิง ต่างจากราคาจริงซึ่งขึ้นอยู่กับสภาพตลาด

มีการโต้แย้งเรื่องโครงสร้างราคาอ้างอิง ณ โรงกลั่น ที่บวกพรีเมียม (premium) เสมือนนำเข้า (import parity) ว่าเป็น “ต้นทุนเทียม” แต่ในความเป็นจริง ค่าใช้จ่ายส่วนแรกคือ ค่าปรับคุณภาพน้ำมันเป็นยูโร-๔ (Euro-4) ๕๐ สตางค์ต่อลิตร เป็นสิ่งที่ลงทุนจริง และเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยที่เสี่ยงต่อมลพิษบนท้องถนนมากกว่าผู้มีรายได้สูง ซึ่งเท่ากับเป็นการช่วยประหยัดค่ารักษาพยาบาล  แทนที่จะประณามเรื่องนี้ควรให้เครดิตการริเริ่มของกรมควบคุมมลพิษและกระทรวงพลังงาน เพราะฝ่ายโรงกลั่นก็ไม่ได้อยากลงทุนตรงนี้ในตอนแรก

ในเมื่อปัจจุบันประเทศสิงคโปร์ก็เริ่มใช้ยูโร-๔ ไปแล้ว และกำลังจะเคลื่อนสู่ยูโร-๕ ภาครัฐก็ควรปรับวิธีอ้างอิงราคาโดยใช้ยูโร-๔ เป็นฐาน

ส่วนการสำรองน้ำมัน ๖ เปอร์เซ็นต์ของยอดขาย ซึ่งโรงกลั่นไทยรับภาระตามกฎหมายให้ต้องมีปริมาณน้ำมันสำรองเชิงพาณิชย์ ทำให้เกิดค่าใช้จ่ายจริงประมาณ ๑๔ สตางค์ต่อลิตร  ขณะที่สิงคโปร์ไม่มีการสำรองน้ำมันส่วนนี้  สำหรับเรื่องค่าขนส่งนั้น น้ำมันดิบจากตะวันออกกลางจะต้องขนผ่านสิงคโปร์เข้ามาโรงกลั่นไทย ฉะนั้นค่าระวางและอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องย่อมเกิดขึ้นจริง หากโรงกลั่นจะอ้างอิงค่าขนส่งน้ำมันใส (๓๘ สตางค์ต่อลิตร) มันสูงกว่า แต่ก็มีเหตุผลสำหรับระยะยาว มิฉะนั้นในอนาคตก็จะไม่มีใครมาลงทุนเพิ่มกำลังกลั่นในประเทศไทย

 

เงินค่าภาษีและกองทุนน้ำมันไม่ได้เข้ากระเป๋าบริษัทน้ำมันและผู้ถือหุ้น

ราคาน้ำมันที่แพงจากค่าภาษีและกองทุนน้ำมัน โดยในกรณีของเบนซิน ๙๕ ที่สูงถึงอย่างละประมาณ ๑๑-๑๒ บาทต่อลิตร  ไม่ได้เข้าบริษัทน้ำมันแต่อย่างใด

ภาษีนั้นเข้ารัฐบาล เป็นรายได้ให้แก่ประเทศโดยตรง  ส่วนเงินกองทุนน้ำมันเป็น cost subsidy ที่เก็บจากผู้ใช้น้ำมันบางชนิดเพื่อไปจ่ายชดเชยให้ผู้ใช้ก๊าซแอลพีจีได้ใช้ในราคาถูก  เงินเหล่านี้ของผู้บริโภคไม่ได้เข้ากระเป๋าบริษัทน้ำมันเลย

 

กำกับ “ธุรกิจที่ผูกขาด” เพิ่ม “ธุรกิจที่แข่งขัน” ของ ปตท.

กลุ่ม ปตท. ดำเนินกิจการพลังงานครอบคลุมทั้งในส่วนของต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ มีทั้งธุรกิจที่ผูกขาดโดยธรรมชาติ และธุรกิจที่มีการแข่งขัน  ปัญหาที่ผ่านมาคือ ธุรกิจที่ผูกขาดยังขาดการกำกับดูแลที่เข้มแข็งเพียงพอ  ส่วนธุรกิจที่แข่งขัน ตลาดยังไม่เสรีเท่าที่ควร

ในส่วนของธุรกิจต้นน้ำ คือ การสำรวจและขุดเจาะปิโตรเลียม ต้องเข้าใจว่าการให้สัมปทานเป็นอำนาจหน้าที่ของกรมเชื้อเพลิง-ธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน ไม่เกี่ยวกับ ปตท.  บริษัทลูกของ ปตท. คือ ปตท.สผ. เป็นเพียงหนึ่งในบริษัทที่เข้าแข่งขันประมูลสัมปทาน และเป็นหนึ่งในผู้ร่วมถือสัมปทานของแหล่งผลิตหลายแห่ง เพราะบริษัทน้ำมันอยากจะแบ่งความเสี่ยงและภาระการลงทุน

ส่วนธุรกิจกลางน้ำ คือระบบท่อก๊าซ โรงแยกก๊าซ คลังแอลเอ็นจี (LNG) และโรงกลั่น  ในส่วนของท่อก๊าซ ปตท. เป็นเจ้าของระบบท่อก๊าซแต่เพียงผู้เดียว เพราะระบบท่อต้องลงทุนสูงมาก ไม่มีใครเขาสร้างท่อมาแข่งกัน จึงเรียกว่าเป็นการผูกขาดโดยธรรมชาติ แม้จะไม่มีกฎหมายหรือมติ ครม. กำหนดให้ ปตท. ผูกขาดการซื้อก๊าซจากผู้ผลิต แต่ความเป็นเจ้าของท่อทำให้เขาเป็นผู้ซื้อรายเดียว (single buyer) เพราะฉะนั้นควรแยกระบบท่อก๊าซออกมาจาก ปตท. เพื่อสร้างความโปร่งใสและกำกับดูแลง่ายขึ้น และต้องเปิดเสรีการใช้ท่อก๊าซ (third party access) เพื่อให้เกิดการแข่งขันในการซื้อก๊าซจากปากหลุม และการนำไปขายกับผู้ใช้

ธุรกิจโรงแยกก๊าซและคลังแอลเอ็นจีมีลักษณะกึ่งผูกขาด ถ้าเปิดเสรีระบบท่อได้แล้วก็ควรจะพิจารณาว่า ปตท. ยังมีอำนาจเหนือตลาดกับผู้ซื้อผู้ขายอยู่หรือไม่ หน่วยงานกำกับดูแลคือ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะผู้ออกใบอนุญาต อาจจะกำหนดว่าเจ้าของระบบท่อไม่มีสิทธิ์สร้างคลังแอลเอ็นจี หรือสร้างโรงแยกก๊าซใหม่  ที่ผ่านมา กกพ. ค่อนข้างอ่อนแอ ไม่ใช้อำนาจที่มีอยู่อย่างเต็มที่  นอกจากนี้ ปตท. ต้องเพิ่มการชี้แจงเรื่องการคืนท่อก๊าซตามคำสั่งศาลปกครอง เพราะมีคนบางกลุ่มดูเหมือนจะไม่ยอมรับคำพิพากษาและคำยืนยันของศาล รวมทั้งสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ก็ตรวจและรับรองงบการเงินของ ปตท.

ในส่วนธุรกิจกลั่นน้ำมันที่ ปตท. มีหุ้นอยู่ในแทบทุกโรงกลั่น ถือว่าเสี่ยงต่อการทุจริตซื้อน้ำมันดิบในปริมาณมาก ๆ และเสี่ยงต่อการเป็นใจขายน้ำมันสำเร็จรูปในราคาแพงเกินควร ก็ควรให้ ปตท. ขายหุ้นในโรงกลั่นออกไปบ้าง

ส่วนของธุรกิจปลายน้ำ คือค้าปลีกหรือปั๊มน้ำมันที่การแข่งขันนับวันจะน้อยลงทุกที เพราะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งชอบแทรกแซงราคา และมักทำผ่าน ปตท. เช่นช่วงที่น้ำมันในตลาดโลกมีราคาสูงขึ้นก็สั่งให้ปั๊ม ปตท. ขึ้นราคาช้า ๆ  เมื่อน้ำมันในตลาดโลกลดราคาก็สั่งให้ปั๊ม ปตท. ลดราคาทันทีเลย  การที่ ปตท. สนองฝ่ายการเมืองได้ก็เพราะมีกำไรจากธุรกิจอื่นมาเกื้อหนุน แต่ทำให้ผู้ค้าที่ไม่มีกิจการต่อเนื่องต้องขาดทุนสะสมจนหลายรายปิดกิจการ ไม่ว่าจะเป็นปั๊มเจ็ต คิวเอต โมบิล บีพี  ฉะนั้นหากรัฐใช้ ปตท. แทรกแซงแบบนี้บ่อย ๆ ในระยะยาวอาจทำให้เหลือแต่ปั๊ม ปตท.  การผูกขาดจะลุกลามจากส่วนที่เป็นโดยธรรมชาติไปสู่ส่วนที่ควรจะมีการแข่งขันอย่างสมบูรณ์

ทั้งหมดทั้งปวงต้องทำให้ ปตท. มาอยู่ใต้ พ.ร.บ. การแข่งขันทางการค้า และทำให้หน่วยงานกำกับดูแลเข้มแข็ง เป็นอิสระ และเชื่อมโยงกับการคุ้มครองผู้บริโภค  รัฐต้องกำกับดูแล ปตท. และรัฐวิสาหกิจอื่น ๆ ให้มีธรรมาภิบาลสูงขึ้น

 

นำเข้า-ส่งออกน้ำมัน เป็นเรื่องธรรมดา

การนำเข้า-ส่งออกสินค้าประเภทเดียวกันเกิดขึ้นทั่วไป ตราบใดที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ ตัวอย่างเช่น สิ่งทอ เสื้อผ้า รองเท้า หรือแม้แต่ข้าว ไทยเราก็มีทั้งนำเข้าและส่งออก

แม้เราผลิตน้ำมันดิบได้เอง ๑๕๐,๐๐๐ บาร์เรลต่อวันในปี ๒๕๕๖ แต่การใช้น้ำมันในประเทศของเราสูงกว่ามาก ทำให้ต้องนำเข้าน้ำมันดิบถึง ๘๖๘,๐๐๐ บาร์เรลต่อวัน (๕๐,๓๗๔ ล้านลิตรต่อปี) เพื่อมากลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูป และส่งออกน้ำมันดิบบ้างราว ๒๖,๐๐๐ บาร์เรลต่อวัน  เพราะน้ำมันดิบจากอ่าวไทยมักมีปรอทปน โรงกลั่นไทยในอดีตไม่มีกระบวนการจัดการสารพิษนี้จึงต้องส่งออกไปยังโรงกลั่นที่จัดการได้เช่นในสหรัฐ (ฮาวาย) ซึ่งเคยเป็นข่าว  ช่วงหลังโรงกลั่นไทยเริ่มสร้างหน่วยจัดการปรอทแล้วจึงส่งออกน้อยลง

ปัจจุบันประเทศไทยมีกำลังการกลั่นที่สูงกว่าความต้องการโดยรวม  ในปี ๒๕๕๖ ส่งออกน้ำมันสำเร็จรูป ๑๑,๘๕๐ ล้านลิตร หรือ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ของการผลิตจากโรงกลั่น  เนื่องจากน้ำมันที่ส่งออกไม่มีการเก็บภาษีและเงินกองทุน ราคาส่งออกจึงย่อมต่ำกว่าที่ผู้บริโภคซื้อในประเทศมาก  แต่ต้องไม่ลืมว่าผู้บริโภคในประเทศที่นำเข้าน้ำมันไปก็จะจ่ายราคาที่บวกด้วยภาษีในประเทศของเขา  ส่วนราคาเนื้อน้ำมันที่ส่งออกนั้นบางกรณีต่ำกว่าที่ขายในประเทศเล็กน้อย เพราะต้องแข่งขันกับภายนอก ทำนองเดียวกับที่ราคาข้าวส่งออกก็ต่ำกว่าราคาที่ขายในประเทศ  ทั้งนี้การส่งออกน้ำมันไปยังสิงคโปร์นั้น ส่วนใหญ่เป็นน้ำมันกึ่งสำเร็จรูปเพื่อนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการกลั่นหรือผสมต่อเป็นน้ำมันสำเร็จรูปสำหรับจำหน่าย  ไทยก็นำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปมาจำหน่าย ๔,๓๕๓ ล้านลิตรในปีเดียวกัน

 

ระบบสัมปทานปิโตรเลียมไม่ได้ทำให้เราเสียเปรียบ

รัฐบาลไทยเคยสำรวจและพยายามผลิตปิโตรเลียมเองหลายสิบปีแต่ไม่สำเร็จเท่าที่ควร จึงหันไปเปิดสัมปทานในปี ๒๕๑๑  มีการพูดว่าระบบสัมปทาน (concession system) ทำให้ประเทศเสียเปรียบ ต้องเปลี่ยนเป็นระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC : Production Sharing Contract)  ความจริงสัมปทานหรือ PSC เป็นเพียงรูปแบบ ทั้งคู่สามารถกำหนดให้ส่วนแบ่งรัฐสูงเท่าไรก็ได้ แต่ต้องไม่เกินศักยภาพปิโตรเลียมของประเทศ มิฉะนั้นจะไม่สามารถจูงใจให้คนมาเสี่ยงลงทุน  ตัวอย่างประเทศเขมรตั้งไว้ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ แต่เก็บได้จริงเท่ากับศูนย์เพราะไม่เกิดการพัฒนา ประเทศนิการากัว รัฐได้เพียง ๔๐ เปอร์เซ็นต์ทั้งที่ใช้ PSC เพราะ
ศักยภาพต่ำ แต่นอร์เวย์รัฐได้ส่วนแบ่งกว่า ๘๐ เปอร์เซ็นต์ แม้จะใช้สัมปทานเพราะศักยภาพสูง  ประเทศไทยใช้ PSC ในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (MTJDA) ซึ่งที่ผ่านมาให้ผลตอบแทน รัฐ : เอกชน เท่ากับ ๕๙ : ๔๑  เทียบกับระบบสัมปทานปัจจุบัน Thailand III (พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๕๓๒) ที่ ๗๒ : ๒๘  หากคิดค่าเฉลี่ยรวมระบบสัมปทานเก่าแล้ว สัดส่วนจะอยู่ที่ ๕๘ : ๔๒  มีคนเปรียบเทียบเรื่องสัมปทานว่าเหมือนมีลูกสาวสวยก็เรียกค่าสินสอดแพงได้ แต่ถ้าไม่สวยแล้วเรียกแพงก็จะไม่มีใครมาสู่ขอ PSC ก็เช่นเดียวกัน

นอกจากนี้ประเด็นเรื่องปิโตรเลียมเป็นของรัฐ ทรัพย์สินเป็นของรัฐ และการได้ข้อมูลของรัฐ ก็พอ ๆ กันทั้งสองระบบในแง่ของข้อกฎหมายและในทางปฏิบัติ

จุดแข็งที่แท้จริงของระบบ PSC คือ รัฐจะเข้าไปควบคุมเอกชนอย่างใกล้ชิด ทำให้รัฐต้องมีหน่วยงานขนาดใหญ่มาก แต่ก็เป็นดาบสองคม เพราะ PSC มีแนวโน้มจะทำให้การพัฒนาล่าช้าและมีความเสี่ยงด้านธรรมาภิบาล ตามสูตรสากลที่บอกว่า คอร์รัปชันเท่ากับอำนาจบวกดุลพินิจ ลบด้วยความรับผิดชอบ

จุดอ่อนของ PSC อีกอย่างคือ PSC มักเป็นการเจรจาแต่ละสัญญา  เอกชนต้องขออนุมัติเจ้าหน้าที่อย่างถี่ยิบ เปิดโอกาสให้มีการเรียกสินบน เปิดช่องให้ผู้มีอำนาจแทรกแซงการจัดซื้อจัดจ้าง และเป็นสาเหตุของความล่าช้า ในขณะที่ระบบสัมปทานเป็นการประมูล ตรงไปตรงมา มีสัญญามาตรฐาน

ทั้งนี้เรื่องสัมปทานที่ต้นน้ำกับราคาน้ำมันที่ประชาชนจ่ายปลายน้ำนั้นเป็นคนละเรื่องกัน เพราะราคาน้ำมันที่ปลายน้ำเป็นเรื่องของภาษีและเงินกองทุนตามที่อธิบายไปแล้ว

 

น้ำมันไม่ใช่ต้นทุนพื้นฐานเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

การอุดหนุนราคาน้ำมันมีต้นทุนสูงสำหรับประเทศ แต่หลายคนกลัวว่าหากเลิกตรึงราคาดีเซลที่ ๓๐ บาท จะทำให้ค่าครองชีพพุ่งสูง แต่ถ้าย้อนไปดูการตรึงราคาดีเซล ๓ ปีที่ผ่านมา ซึ่งทำให้รัฐสูญเสียภาษีถึงปีละ ๑๐๔,๐๐๐ ล้านบาท จะเห็นว่าไม่สามารถป้องกันเงินเฟ้อของค่าครองชีพได้เพราะยังมีอีกหลายองค์ประกอบ ดีเซลคิดเป็นเพียง ๒.๕ เปอร์เซ็นต์ของค่าครองชีพ  พลังงานทุกชนิดเป็น ๑๑.๔ เปอร์เซ็นต์ แล้วยังมีเรื่องของอาหารสดอาหารแห้ง ที่อยู่ พาหนะ การรักษาพยาบาล เป็นต้น  จริงอยู่ที่ราคาดีเซลมีผลต่อค่าขนส่งซึ่งเป็นต้นทุนของสินค้าหลายอย่าง จึงควรดูผลการวิเคราะห์แบบจำลองเศรษฐศาสตร์ ซึ่งปรากฏว่า หากน้ำมันดีเซลแพงขึ้นไป ๑ บาท จะมีผลให้ดัชนีค่าครองชีพ (CPI) เพิ่มขึ้นเพียง ๐.๑๓ เปอร์เซ็นต์

ฉะนั้นการตรึงราคาดีเซลดูจะมีประโยชน์โดยรวมน้อยกว่าการใช้กลไกตลาดซึ่งจะสร้างประสิทธิภาพและการเจริญเติบโต ทำให้ได้ขนมก้อนโตขึ้นเพื่อนำมาแบ่งกัน ดีกว่าได้ขนมก้อนเล็กซึ่งคนจนก็พลอยได้ส่วนแบ่งน้อยลงด้วย

 

การให้ภาคปิโตรเคมี ใช้ก๊าซแอลพีจีจากโรงแยกก๊าซถือว่ามีความคุ้มค่าในเชิงเศรษฐกิจ

ก๊าซแอลพีจีถูกใช้ในสองแบบ หนึ่งเป็นเชื้อเพลิงที่เราคุ้นเคย อีกแบบหนึ่งคือใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ที่เปลี่ยนก๊าซเป็นเม็ดพลาสติก เพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปหลากหลายชนิด เช่น ภาชนะ กันชนรถ เบาะ แบตเตอรี่รถยนต์ พัดลม ตู้เย็น เป็นการนำไปต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มและจ้างงานในโรงงานผลิตและประกอบสินค้าที่ทำจากพลาสติกขนาดกลางและเล็ก  รัฐสามารถเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนของราคาสินค้าที่
เพิ่มขึ้นตลอดสายการผลิต รวมประมาณ ๕-๖ บาทต่อกิโลกรัมของแอลพีจีที่เป็นวัตถุดิบ ไม่นับภาษีเงินได้ตลอดสาย

โครงสร้างราคาของการใช้สองแบบนี้ต่างกัน ราคาก๊าซแอลพีจีเชื้อเพลิงจะอิงต้นทุนโรงแยกก๊าซในระยะแรก แต่ต่อมาก็ตรึงราคาไว้แม้ราคาต้นทุนเนื้อก๊าซธรรมชาติปากหลุมเพิ่มขึ้นตามสูตรราคาที่มีบางส่วนแปรผันตามอัตราเงินเฟ้อและราคาน้ำมันในตลาดโลก ราคาหน้าโรงแยกก๊าซที่ตรึงไว้ ๓๓๓ ดอลลาร์สหรัฐต่อตันนั้น มาจากราคาก๊าซปากหลุมที่ ๒๓๖ ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน บวกค่าใช้จ่ายในการแยกก๊าซ ๙๗ ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ปัจจุบันราคาก๊าซปากหลุมขึ้นไปถึง ๓๖๐ ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ราคาขายเป็นเชื้อเพลิงจึงไม่พอแม้แต่จะซื้อก๊าซธรรมชาติมาผลิต

นอกจากนี้การใช้กลไกของกองทุนน้ำมันก็ทำให้ราคาขายปลีกต่างกันระหว่างภาคครัวเรือน ภาคขนส่ง และภาคอุตสาหกรรม ทำให้เกิดการลักลอบเอาของถูกจากภาคครัวเรือนไปใช้ในรถยนต์และอุตสาหกรรมที่ควรจะซื้อในราคาแพงกว่ามาก และลักลอบไปขายประเทศเพื่อนบ้านที่ราคาเขาตั้งไว้สูงกว่ามาก ทำให้ยอดการใช้ก๊าซแอลพีจีเชื้อเพลิงสูงมาก โตเฉลี่ย ๑๐.๑ เปอร์เซ็นต์ต่อปี เทียบกับค่าจีดีพีเฉลี่ย ๓.๖ เปอร์เซ็นต์ในช่วงปี ๒๕๔๗-๒๕๕๕  ก๊าซแอลพีจีที่ผลิตในประเทศไม่เพียงพอ ต้องนำเข้า ซึ่งราคาตลาดโลกสูงมาก ๘๐๐-๑,๑๐๐ ดอลลาร์สหรัฐต่อตันแล้วแต่ฤดูกาล  ต้องเก็บเงินเข้ากองทุนจากผู้ใช้น้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ไปอุดหนุนให้สามารถนำเข้าของแพงมาขายในราคาถูกที่ตรึงไว้ ทั้งต้องอุดหนุนโรงกลั่นด้วยไม่งั้นเขาจะเอาน้ำมันไว้เผาใช้เองหรือขายปิโตรเคมี ดีกว่าขายเป็นเชื้อเพลิงในราคาควบคุม  ยิ่งราคามีความแตกต่างก็ยิ่งเกิดการลักลอบ และก็ยิ่งต้องนำเข้ามากขึ้น ทำให้ต้องเก็บเงินกองทุนมาก เดือดร้อนผู้ใช้น้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์มากขึ้น เป็นวงจรอุบาทว์ ทำให้รัฐบาลก่อนหน้านี้จำต้องฝืนกระแสประชานิยมขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีครัวเรือน โดยมีระบบช่วยเหลือคนจนให้ได้ใช้ในราคาเดิม แต่กระบวนการก็มาชะงักรอการตัดสินใจของ คสช. อยู่  ทั้งนี้ราคาครัวเรือนที่ขึ้นเดือนละ ๕๐ สตางค์ก่อนหน้านี้ รัฐบาลเอาไปลดภาระเงินกองทุน ยังไม่มีการปรับราคาหน้าโรงแยกก๊าซ

ส่วนราคาก๊าซแอลพีจีที่เป็นวัตถุดิบของปิโตรเคมีจะอิงกับราคาตลาดโลกของแอลพีจีและแนฟทา (naphtha) ซึ่งเป็นวัตถุดิบทางเลือก มีสูตรซับซ้อนผันแปรหลายรูปแบบ  โดยทั่วไปราคาเนื้อก๊าซที่ขายปิโตรเคมีจะสูงกว่าราคาเนื้อก๊าซที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงมาก แต่โครงสร้างภาษีที่ต่างกันทำให้เกิดความสับสนเข้าใจผิดว่าราคาขายแอลพีจีให้ปิโตรเคมีนั้นถูกกว่าขายเป็นเชื้อเพลิง  ปิโตรเคมีไม่ต้องจ่ายภาษีสรรพสามิต เพราะไม่ได้ใช้เผาเป็นเชื้อเพลิง แต่ช่วงหลังมีการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเล็กน้อย ซึ่งในหลักการไม่ควรไปเก็บ ยิ่งเปรียบเทียบแล้วยิ่งทำให้เกิดภาพความไม่เป็นธรรม

ราคาจริงเฉลี่ย ๖ เดือนแรกของปี ๒๕๕๗ จากตัวเลขของกระทรวงพลังงาน ภาคครัวเรือนกับยานยนต์อยู่ที่ ๒๑.๘ กับ ๒๑.๓๘ บาทต่อกิโลกรัม  ไม่นับคนจนที่ได้สิทธิ์ใช้อยู่ที่ ๑๘.๑๓ บาทต่อกิโลกรัม  ภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ ๓๐.๑๓ บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นเงินกองทุนเสียกว่า ๑๒ บาท เทียบกับราคาขายเป็นวัตถุดิบให้ปิโตรเคมีที่ ๒๗.๙๕ บาทต่อกิโลกรัม ทั้งหมดเป็นราคาที่รวมภาษีและเงินกองทุนแล้ว แต่หากเทียบเฉพาะราคาที่จ่ายให้โรงแยกก๊าซ ก๊าซแอลพีจีเชื้อเพลิงจ่ายเพียง ๑๐.๗๓ บาทต่อกิโลกรัม ในขณะที่ให้ปิโตรเคมีจ่าย ๒๑-๒๕ บาทต่อกิโลกรัม

การเรียกร้องให้ปิโตรเคมีจ่ายในราคานำเข้าเพื่อจัดสรรของถูกในประเทศให้แก่ภาคครัวเรือนและรถยนต์ นอกจากจะไม่แก้ปัญหาวงจรอุบาทว์แล้ว ยังไม่ทำให้เกิดความยั่งยืน  การที่เขาลงทุนสร้างโรงแยกก๊าซตั้งแต่ต้นเพื่อสกัดวัตถุดิบสำหรับปิโตรเคมี แล้วบังคับให้เขาขายถูก ๆ เป็นเชื้อเพลิงทั้งหมดคงไม่เหมาะสมและกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจปิโตรเคมี มีผลต่อกิจการต่อเนื่องและการจ้างงาน ในที่สุดก็จะส่งผลถึงภาษีที่รัฐจัดเก็บ เพราะปิโตรเคมีสร้างรายได้ให้ประเทศสูงถึง ๖๘๐,๐๐๐ ล้านบาท (๖ เปอร์เซ็นต์ของจีดีพี) ในปี ๒๕๕๖ และสร้างรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มให้รัฐเป็นเงิน ๓๑,๐๐๐ ล้านบาท  แล้วที่เรียกร้องให้สร้างโรงแยกก๊าซเพิ่มเพื่อใช้ก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้จากอ่าวไทยทั้งหมดจะมีใครมาลงทุนหรือไม่

ที่พูดนี้ไม่ได้แปลว่าห้ามประชาชนใช้แก๊สแอลพีจีทำอาหาร แต่เราต้องรู้จักใช้ประโยชน์ทั้งสองอย่าง  ผู้บริหารประเทศต้องรับผิดชอบต่อเศรษฐกิจโดยรวมต่อความเป็นอยู่ของคนทั้งหมด  ต้องหาความสมดุลว่าจะกำหนดนโยบายอย่างไรให้เกิดความเป็นธรรมและสร้างประโยชน์สูงสุดให้ประเทศ

 

ควรให้ ปตท. พ้นจากการครอบงำของรัฐ ให้ปลอดการแทรกแซง 

หลายคนรู้สึกว่าการแปรรูป ปตท. นั้นเป็นการขายหุ้นราคา “ถูก ๆ” ให้พรรคพวกของนักการเมือง คุณบรรยงค์ พงษ์พานิช ได้เขียนบทความตอบข้อสงสัยต่าง ๆ อย่างละเอียด รวมทั้งการที่หุ้นขายหมดในเวลานาทีเศษซึ่งเป็นความเจ็บแค้นที่ส่งต่อกันมาจนทุกวันนี้  ใครสนใจหาอ่านทางอินเทอร์เน็ตได้

ในการตั้งราคาหุ้นมีกระบวนการหลายอย่าง อย่างหนึ่งคือทำแบบจำลองพยากรณ์ว่าหลังการเพิ่มทุนแล้วกิจการในอนาคตจะมีการลงทุนอะไร มีรายจ่ายอย่างไร จะมีรายได้เข้ามาอย่างไร และช่วงไหนในอนาคต แล้วก็ทอนมาเป็นเงินปัจจุบัน หักกลบลบกันได้เป็นมูลค่าสุทธิของกิจการ นำมาหารด้วยจำนวนหุ้นทั้งหมดก็จะได้ราคาต่อหุ้นที่จะพึงขาย การขายหุ้นเป็นเสมือนการรับเงินล่วงหน้าจากอนาคตของผู้ถือหุ้นเก่า แลกกับการเข้ามามีส่วนได้เสียของผู้ถือหุ้นใหม่  ส่วนอนาคตที่จะเกิดขึ้นจริง รายได้จะดีหรือเลวกว่าที่พยากรณ์ไว้ก็ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการและสถานการณ์ภายนอกต่าง ๆ  มันเป็นความเสี่ยงของทั้งสองฝ่าย ที่รัฐทำก็เพราะต้องการเงินเพื่อมาลงทุนขยายกิจการ สร้างมูลค่าเพิ่ม

เวลาผ่านไปการแปรรูปช่วยให้การบริหารคล่องตัวมีประสิทธิ-ภาพมากขึ้น มีการกู้เงินมาลงทุนขยายให้กิจการเติบโต มีกำไรมากขึ้นก็จ่ายภาษีต่าง ๆ ให้รัฐมากขึ้น กำไรหลังหักภาษีก็จัดสรรเป็นเงินปันผลหลังจากวางแผนลงทุนหรือใช้หนี้แล้ว แบ่งกันตามการถือหุ้น เอกชน ประชาชน ก็ได้ส่วนของเขา รัฐก็ได้ส่วนของรัฐ  ถ้ารวมทั้งภาษีและปันผล รัฐได้จากกลุ่ม ปตท. ปีละประมาณ ๕-๖ หมื่นล้านบาทเข้าระบบงบประมาณไปพัฒนาประเทศ  ตรงข้ามกับบางรัฐวิสาหกิจที่ต้องดึงเงินออกจากระบบมาเพื่อลงทุนหรือใช้หนี้ เอกชนมีสิทธิ์ได้ปันผลส่วนของเขา เพราะเขาจ่ายเงินลงทุนซื้อหุ้นมา  ทั้งนี้อำนาจรัฐในรัฐวิสาหกิจที่แปรรูปต้องถูกโอนให้หน่วยกำกับดูแลภายนอก เพราะเอกชนที่เข้าถือหุ้นไม่ควรได้อำนาจรัฐ

นอกจากได้ปันผลทุกปีแล้ว มูลค่าของหุ้นที่รัฐยังถืออยู่ที่เติบโตขึ้นก็เป็นทรัพย์สินของรัฐ ถ้าคิด ๕๑ เปอร์เซ็นต์ที่รัฐถือตรงจากตอนเข้าตลาด ๖๖,๘๔๗ ล้านบาท วันนี้ ดู ณ ปลายปี ๒๕๕๖ มูลค่าเป็น ๔๑๗,๕๓๗ ล้านบาท  ถ้าคิดรวมที่รัฐถือผ่านกองทุนวายุภักษ์เป็น ๖๗ เปอร์เซ็นต์ด้วยแล้ว มูลค่าก็จะเป็น ๕๔๘,๕๒๙ ล้านบาท

ปตท. เป็นเสมือนห่านที่ออกไข่เป็นทองคำ ควรกำกับดูแลให้ได้ไข่ใบโต ๆ ที่ออกบ่อย ๆ เพื่อเอาไปใช้เป็นประโยชน์ส่วนรวม และป้องกันไม่ให้รั่วไหลไปนอกระบบ  แนวคิดให้เอากำไร ปตท. มาลดราคาน้ำมันนั้น จะลดจริงได้เพียงไม่กี่เดือนก็หมด อาจจะหมดเแค่ครึ่งทางเพราะผู้บริโภคจะหันมาเติมน้ำมันถูก ทำให้ผู้ค้าปลีกอื่น ๆ อีกครึ่งของตลาดแข่งลดราคาสู้ไม่ไหวก็จะเจ๊งกันไปหมด  การลดราคาให้ประโยชน์คนรวยที่ใช้น้ำมันมาก ไม่ได้ช่วยคนจน เท่ากับแบ่งไข่ทองออกไปให้กลุ่มผู้มีอันจะกินเสียมากกว่า นอกจากจะเหลือเงินเข้ากองกลางน้อยลง ซึ่งจะมาช่วยคนจนและสร้างพื้นฐานดี ๆ ให้ทุกคนแล้ว ยังเป็นการทำลายห่านด้วย เพราะการรีดกำไรออกไปจะกระทบความสามารถในการลงทุน  ต่อไปไข่ที่ออกมาจะใบเล็กลงและมีน้อยลงจนในที่สุดห่านอาจจะกลายเป็นเป็ดง่อย ต้องหางบประมาณส่งเข้าไปเลี้ยงประทังชีวิต แทนที่จะได้เก็บไข่ทองคำออกมาใช้ประโยชน์

การเอา ปตท. กลับไปเป็นของรัฐ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์เป็นเรื่องอันตราย หากยึดคืนมาเฉย ๆ อย่างที่หลายคนคิดก็จะทำให้ตลาดทุนและความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจพังพินาศ  ถ้าจะซื้อคืนก็ต้องใช้งบประมาณมหาศาลแล้วคุ้มกันไหม  เมื่อเป็นรัฐวิสาหกิจเต็มตัวแล้วจะบริหารดีขึ้นหรือเลวลง แนวโน้มชัดเจนว่าธรรมาภิบาลจะลดลง และจะเปิดทางให้การเมืองเข้ามาแทรกแซงยิ่งกว่าที่ผ่านมา

การแทรกแซงมีสองแบบ แทรกแซงเพื่อเอาผลประโยชน์ เช่นการจัดซื้อจัดจ้าง กับแทรกแซงในการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ เอาคนในระบบอุปถัมภ์ของตนมาทำงานทั้งที่ไม่เก่ง และอาจเข้ามาเพื่อหาผลประโยชน์  ทำให้องค์กรอ่อนแอ รั่วไหล  สุดท้ายก็แข่งขันกับบริษัทอื่นไม่ได้ ลงทุนอะไรก็จะผิดพลาด เพราะคิดไม่เป็นหรือไม่ได้คิดเพื่อองค์กรจริง ๆ ไม่ใช่มืออาชีพ  ภาษีและกำไรที่รัฐเคยได้ก็หดหาย มูลค่าทรัพย์สินไม่เติบโตหรืออาจจะหดลงด้วยซ้ำ

การเป็นรัฐวิสาหกิจทำให้การเมืองเข้ามาใช้อิทธิพลแทรกแซง ยกตัวอย่างการบินไทยที่กำลังมีปัญหา ต้องแข่งขันกับทั่วโลก แต่องค์กรไม่เข้มแข็ง ถ้าระบบไม่มีธรรมาภิบาล ไม่ทำงานอย่างมืออาชีพ มันก็เละเทะ หรืออย่างการรถไฟ ขสมก. สามทหารในอดีต ผู้บริโภคได้บริการที่แย่ลง รัฐบาลแทนที่จะมีรายได้ กลับต้องเอาภาษีจากส่วนอื่นไปจุนเจือรัฐวิสาหกิจที่ขาดทุน

ฉะนั้นหากทำให้รัฐวิสาหกิจพ้นเงื้อมมือนักการเมืองได้ องค์กรก็จะเข้มแข็งมากขึ้น  นอกจากข้อเสนอในการปฏิรูป ปตท. และการกำกับดูแลที่เล่าไปแล้ว การให้รัฐลดการถือหุ้นลงต่ำกว่า ๕๐ เปอร์เซ็นต์ ให้พ้นจากความเป็นรัฐวิสาหกิจ จะเพิ่มโอกาสของการบริหารอย่างมืออาชีพมากขึ้น  การมีกำไรให้ผู้ถือหุ้นก็เป็นการตอบแทนความเสี่ยงที่มาลงทุน ไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือเอกชน  และตราบใดที่รัฐยังดูแลโครงสร้างของกลไกตลาดให้มีการแข่งขันมากเพียงพอ ผู้บริโภคก็จะได้ราคาที่เป็นธรรม

ต้องแยกการใช้ ปตท. เป็นเครื่องมือสร้างรายได้รัฐ และสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้ประเทศออกจากเรื่องนโยบายราคาน้ำมันหรือก๊าซที่ควรส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และถ้าจะอุดหนุนก็ควรให้เฉพาะกลุ่มที่จำเป็น ควรทำแต่ละส่วนให้ดีที่สุด แล้วประเทศจะได้ประโยชน์สูงสุดอย่างยั่งยืน ไม่ใช่ประโยชน์ระยะสั้นแบบประชานิยมซึ่งนำไปสู่ความเสียหายในที่สุด

“ลดราคา”

รสนา โตสิตระกูล  

อดีตประธานคณะอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงาน 
อดีตสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร

>>น้ำมันเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐาน 
>>ราคาควรสะท้อนต้นทุน
>>ปตท. ผูกขาดกิจการพลังงานตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำทำให้น้ำมันแพง
>>คนไทยซื้อน้ำมันแพงกว่าราคาส่งออก 

 

น้ำมันเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐาน

น้ำมันเป็นต้นทุนภาคการผลิต เป็นต้นทุนค่าครองชีพของประชาชน  ในอดีตกิจการน้ำมันเป็นกิจการสาธารณูปโภคพื้นฐาน  การที่รัฐตั้งรัฐวิสาหกิจขึ้นมาก็เพื่อดำเนินกิจการสาธารณูปโภคพื้นฐานต่าง ๆ เช่น การไฟฟ้า รถประจำทาง หรือเรื่องยาในองค์การเภสัชกรรม จะเห็นว่ามีกิจการหลายอย่างที่รัฐเข้ามาเกี่ยวข้อง เข้ามาทำเอง เพื่อช่วยรักษาระดับราคาให้ต่ำ เพราะถ้าเราเอากิจการพวกนี้ไปทำเป็นธุรกิจเก็งกำไรก็จะทำให้สินค้ามีราคาแพง เมื่อราคาแพงแล้วต้นทุนอื่น ๆ ก็จะแพงตามไปด้วย ฉะนั้นกิจการของรัฐวิสาหกิจจึงมีจุดมุ่งหมายคือทำบริการสาธารณะให้มีต้นทุนต่ำเพื่อให้บริการประชาชน

ปัญหาคือเมื่อเราพูดถึงกิจการน้ำมัน วัตถุประสงค์ตอนนี้เปลี่ยนไปแล้ว จากที่เคยเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานของรัฐ  น้ำมันกลายเป็นสินค้าที่ใช้หากำไรจนทำให้มีราคาสูงขึ้น

 

การตั้งราคาควรสะท้อนต้นทุน

น้ำมันสำเร็จรูปที่กลั่นได้ในประเทศเพื่อทดแทนการนำเข้าควรมีราคาถูกกว่าสินค้านำเข้าใช่ไหม  ดูตัวอย่างสินค้าอื่น อะไรที่ผลิตได้ในประเทศราคามักถูกกว่าของนำเข้าเสมอ มีแต่น้ำมันที่มักอ้างว่าต้องสะท้อนราคาตลาดโลกเพราะนี่คือวิธีที่บริษัทเอกชนหากำไร  เมื่อกรรมสิทธิ์น้ำมันดิบเป็นของเอกชน ต่อให้ขุดได้ในประเทศ กลั่นได้เองในประเทศ คนไทยก็ต้องซื้อในราคานำเข้า  ฉะนั้นไม่ว่าเราจะมีแหล่งน้ำมันในประเทศหรือไม่มีก็ตาม เราก็ต้องใช้น้ำมันในราคานำเข้าจากสิงคโปร์ ทั้งน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป

ข้อที่น่าสังเกตคือเมื่อก่อนเวลาพูดถึงราคาน้ำมัน เราจะได้ยินคำว่า “อิงราคา” สิงคโปร์  ถามว่าเพราะอะไร ทำไมต้องอิง เขาก็จะตอบว่าเพราะสิงคโปร์เป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีการซื้อขายน้ำมันมากที่สุดในภูมิภาคแถบนี้  ราคาน้ำมันที่สิงคโปร์จึงเป็นราคาที่สะท้อนกลไกตลาด สะท้อนดีมานด์และซัปพลาย  แต่ปรากฏว่าไป ๆ มา ๆ มันไม่ได้แค่อิงราคาเฉย ๆ เพราะคำว่าอิงราคา หมายความว่าถ้าตอนนี้ราคาน้ำมันที่สิงคโปร์ราคาลิตรละ ๒๔ บาท น้ำมันที่บ้านเราก็น่าจะ ๒๔ บาทด้วย  แต่ความจริงคือเขาใช้ราคานำเข้าจากสิงคโปร์ต่างหาก ทั้งน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปที่เรากลั่นเองจากโรงกลั่นในประเทศก็จะต้องบวก “ค่าพรีเมียม” เข้าไป  ค่าพรีเมียมประกอบด้วยค่าขนส่ง ค่าประกันภัย ค่าการสูญเสียระหว่างการขนส่ง ทั้งที่ตัวเลขพวกนี้ไม่ได้มีอยู่จริง เป็น “ต้นทุนเทียม” เพราะไทยไม่ได้นำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากสิงคโปร์  การอ้างราคาน้ำมันนำเข้าจากสิงคโปร์เป็นวิธีหากำไรของโรงกลั่นน้ำมัน เพราะตลาดน้ำมันในประเทศไม่มีการแข่งขัน ถ้ามีการแข่งขันอาจมีโรงกลั่นที่ขายถูกกว่าราคากลางของสิงคโปร์ก็ได้

 

ปตท. ผูกขาดกิจการพลังงานตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำทำให้น้ำมันแพง

เมื่อพูดถึงน้ำมันก็คงต้องพูดถึง ปตท.  การแปรรูป ปตท. เมื่อปี ๒๕๔๔ ได้เปลี่ยน ปตท. จากการเป็นรัฐวิสาหกิจมาเป็นบริษัทเอกชนมหาชน เพื่อให้เอกชนเข้ามาถือหุ้นในกิจการ ทำให้วัตถุประสงค์ของกิจการน้ำมันเปลี่ยนไป คือเปลี่ยนจากกิจการสาธารณูปโภคพื้นฐานที่รัฐจะต้องควบคุมราคาให้เหมาะสมกับสภาพทางเศรษฐกิจ กลายเป็นสินค้าที่เอาไปหากำไรเพื่อประโยชน์ของผู้ถือหุ้น

ปตท. มีบริษัทลูกอยู่ในตลาดหลักทรัพย์รวมกันห้าบริษัท แต่ละบริษัทดำเนินกิจการพลังงานตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เช่น บริษัทสำรวจและขุดเจาะน้ำมัน บริษัทโรงกลั่น บริษัทปิโตรเคมี เมื่อบริษัทลูกของ ปตท. คือบริษัทขุดเจาะน้ำมันได้น้ำมันและก๊าซธรรมชาติมาด้วยราคาหนึ่ง สมมุติว่าเท่ากับ ๑๐๐ บาท แล้วขายสินค้าให้บริษัทแม่ก็ต้องบวกกำไรเข้าไป สมมุติว่า ๒๐ บาท ต้นทุนที่บริษัทแม่รับมาจึงไม่ใช่ ๑๐๐ บาทแล้ว แต่กลายเป็น ๑๒๐ บาท  หลังจากนั้นบริษัทแม่ก็ต้องหากำไรอีกต่อเมื่อขายสินค้าให้บริษัทโรงกลั่นในเครือของตัวเองก็บวกกำไรเข้าไปอีก ๒๐ บาท ตอนนี้บริษัทโรงกลั่นจะมีต้นทุนอยู่ที่ ๑๔๐ บาท

ตัวเลข ๑๔๐ บาทนี้เมื่อถึงเวลาขายก็ต้องบวกกำไรเข้าไปอีกต่อหนึ่ง เพราะบริษัทในตลาดหลักทรัพย์จำเป็นต้องหากำไรเพื่อตอบสนองต่อผู้ถือหุ้น ทำให้หุ้นของตัวเองน่าสนใจ มีคนอยากได้  ราคาหุ้นพลังงานในตลาดจะมีมูลค่ามากขึ้นก็ต่อเมื่อกิจการได้กำไรมากขึ้น  นี่คือคำตอบว่าทำไมเมื่อราคาหุ้นของบริษัทน้ำมันเพิ่มขึ้น ประชาชนจึงต้องรับภาระต้นทุนราคาน้ำมันที่แพงขึ้น  ปตท. อาจบอกว่าการขายน้ำมันได้กำไรน้อยแค่ ๔ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น  ก็ต้องถามว่า ๔ เปอร์เซ็นต์นั้นเริ่มนับจากจุดไหน เพราะว่าความจริงเขาได้กำไรแบบทบต้น  ยิ่งมีบริษัทลูกมากก็ยิ่งมีกำไรในเครือบริษัทรวมกันมากขึ้น แต่กำไรอาจถูกจัดสรรไปที่บริษัทลูกเพื่อให้บางกิจการดูมีกำไรต่ำก็ได้ แต่ถ้าดูทั้งห้าบริษัทจะมีกำไรรวมกันมากกว่า ๒ แสนล้านบาทในปี ๒๕๕๖

สมัยที่ ปตท. ยังเป็นรัฐวิสาหกิจที่รวมกิจการขุดเจาะ จัดหา จัดจำหน่ายปิโตรเลียม ทั้งก๊าซและน้ำมัน ต้นทุน ๑๐๐ ก็ไม่ต้องขายต่อให้กิจการลูกไปเอากำไรกันหลายต่อแบบปัจจุบัน  ราคาน้ำมันและก๊าซที่ประชาชนต้องแบกรับทุกวันนี้เพื่อให้เขาได้กำไรในเครือ ปตท. ปีละ ๒ แสนกว่าล้านบาท คือภาระบนหลังของประชาชน และบริษัทก็ต้องการกำไรมากขึ้นทุกปี  ถ้ากิจการพลังงานถูกกำหนดนโยบายให้เป็นกิจการสาธารณูปโภค ไม่ใช่การหากำไรแบบไม่สิ้นสุดแบบนี้ ราคาพลังงานจะลดลงได้ทันที  สิ่งนี้คือหลักการพื้นฐานที่ผู้บริหารบ้านเมืองต้องคิดพิจารณาว่าน้ำมันและก๊าซซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐาน ควรเป็นกิจการสาธารณูปโภคหรือเป็นธุรกิจหากำไรให้กลุ่มทุนและผู้ถือหุ้นในตลาดหลักทรัพย์อย่างไม่มีขีดจำกัด ทั้งที่เป็นกิจการผูกขาด

ธุรกิจพลังงานวันนี้ต้องบอกว่าไม่มีคู่แข่งขัน ไม่ต้องกลัวว่าขายแพงแล้วจะไม่มีคนซื้อ ดังนั้นต้นทุนอะไรต่อมิอะไรที่ไม่มีประสิทธิภาพ ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ บวกกำไรที่ต้องการสามารถอัดเข้ามาอยู่ในราคาน้ำมันได้หมด  ราคาน้ำมันไม่เหมือนกับน้ำปลาที่มีการแข่งขัน  ถ้ามีน้ำปลายี่ห้อหนึ่งขายขวดละ ๑๐๐ บาท ก็ไม่มีใครว่าเพราะมีน้ำปลาขวดละ ๑๐ บาทขายอยู่ คนสามารถเลือกได้ แต่น้ำมันคุณไม่มีทางเลือก ขายแพงเท่าไรก็ต้องจ่าย หรืออย่าง
ถนนเรามีโทลล์เวย์ ทางด่วน และก็ทางธรรมดา คนไม่มีเงินก็ไปทางธรรมดา ยอมเจอรถติด  ถ้ามีเงินเขาก็ยินดีจะจ่ายขึ้นทางด่วน แต่น้ำมันไม่มีทางเลือก ไม่มีการแข่งขัน จึงไม่ใช่กลไกตลาดอย่างที่อ้าง แต่เป็นกลไกผูกขาด  ธุรกิจพลังงานที่ผูกขาดเหมือนคนไม่ได้ออกกำลังกาย ไม่ต้องวิ่งแข่งกับใคร เอาแต่กินสบาย ไขมันที่พอกพูนก็ถูกผลักมาให้ประชาชนเต็มที่เพราะไม่มีคู่แข่ง  การผูกขาดคือสาเหตุของราคาน้ำมันที่แพงขึ้น

 

คนไทยใช้น้ำมันแพงกว่าราคาส่งออก

ทุกวันนี้ไทยส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปหรือน้ำมันที่ผ่านกระบวนการกลั่นแล้วเป็นสินค้าส่งออกอันดับ ๑ ในอาเซียน  และเป็นสินค้าส่งออกของประเทศเป็นอันดับ ๔ เรียงตามลำดับมูลค่าที่ทำรายได้เข้าประเทศ คือ ๑. รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ๒. เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ๓. อัญมณีและเครื่องประดับ และ ๔. น้ำมันสำเร็จรูป  โดยมีน้ำมันดิบอยู่ที่ ๔  ส่วนข้าว ยางพารา อยู่อันดับ ๑๐ นี่เป็นรายงานล่าสุดของปี ๒๕๕๗

สมัยก่อนที่ไทยต้องนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูป รัฐบาลต้องการชักชวนโรงกลั่นมาตั้งในประเทศเพื่อกลั่นน้ำมันทดแทนการนำเข้า จึงเสนอโรงกลั่นว่า แม้กลั่นน้ำมันในไทยแต่ก็ให้ขายได้ในราคาเท่ากับนำเข้าจากสิงคโปร์ โดยให้บวกค่าพรีเมียมเพื่อเป็นแรงจูงใจ  แต่ปัจจุบันโรงกลั่นผลิตล้นเกินจนสามารถส่งออกเป็นสินค้าอันดับ ๑ ในอาเซียน และเป็นสินค้าส่งออกมีมูลค่าเป็นอันดับ ๔ ของประเทศ จึงสมควรตัดค่าพรีเมียมที่เป็นค่าใช้จ่ายเทียม (ค่าขนส่งจากสิงคโปร์มาไทย ค่าประกันภัย ค่าสูญเสียระหว่างทาง) ที่รัฐบาลในอดีตให้เป็นแรงจูงใจออกไป

ขณะที่ราคาน้ำมันที่ขายอยู่ในประเทศเป็นราคานำเข้าจากสิงคโปร์ ราคาส่งออกของเรากลับมีราคาถูกกว่า  พูดง่าย ๆ ว่าน้ำมันสำเร็จรูปที่เรากลั่นได้เองในประเทศ ขายให้คนในประเทศแพงกว่าราคาส่งออก  ถามว่าทำไมไม่ดูแลคนไทยก่อน ทำไมคนต่างชาติที่ซื้อน้ำมันของเราไปใช้ถึงซื้อได้ในราคาถูกกว่าคนไทยซื้อเอง  ทางโรงกลั่นเขาก็จะมีวิธีอธิบายว่าเขาก็ลำบาก ได้กำไรนิดเดียวเองแค่ ๔ เปอร์เซ็นต์  ถ้าให้โรงกลั่นลดราคาลงมาโรงกลั่นก็ต้องขาดทุน โรงกลั่นไม่สามารถอยู่ได้ แล้วโรงกลั่นก็จะไม่ขายในประเทศไทยแต่จะส่งออกไปขายที่อื่น

เวลาส่งออกน้ำมันไปขายต่างประเทศต้องเจอการแข่งขันจริงในตลาด ไม่ได้ผูกขาดเหมือนขายในประเทศ  ถ้าขายแพง ลาว พม่า เขมร เขาก็ไม่ซื้อจากเรา จะไปซื้อจากเจ้าอื่นที่ถูกกว่า ทำให้ต้องลดราคาเพื่อให้สามารถแข่งขันกับคนอื่นได้

ไป ๆ มา ๆ กลายเป็นว่าตอนนี้ประเทศเราอุดหนุนราคา (cost subsidy) ให้แก่ประเทศทั่วอาเซียน เพราะเราขายน้ำมันคนไทยแพง แต่ขายคนอื่นถูก  โรงกลั่นอ้างว่าน้ำมันที่ขายคนอื่นเป็นของเหลือ คงจะใช้เหตุผลเหมือนกับเราจัดคอนเสิร์ตราคาตั๋วใบละ ๑,๐๐๐ บาท พอคอนเสิร์ตใกล้แสดงเหลือตั๋วอีก ๑๐๐ ใบ เราไม่ขาย ๑,๐๐๐ บาท ขายแค่ใบละ ๒๐๐ บาทเลย ดีกว่าทิ้งตั๋วไปเปล่า ๆ  เขาคงคิดว่าน้ำมันเป็นอย่างนั้น คือขายเอากำไรอย่างเต็มที่จากคนในประเทศแล้ว ส่วนที่เหลือเป็นส่วนเกินจะขายเท่าไรก็ได้

ตามปรกติสิ่งของทั่วไปถ้าผลิตได้มากจนเหลือใช้ ราคาต้องถูกลง แต่น้ำมันที่ขายให้คนในประเทศไม่ได้ขายถูก กลับเอาส่วนที่เหลือไปขายถูกให้แก่คนข้างนอก  คุณต้องไม่ลืมนะที่บอกว่าส่วนเกินนั้นมันมากถึง ๓๐ เปอร์เซ็นต์ เพราะคุณนำเข้าวันละ ๑,๐๐๐,๐๐๐ ลิตรแล้วมีเหลือส่งออกวันละ ๓๐๐,๐๐๐ ลิตร

 

สัมปทานพลังงานในอ่าวไทยทำให้ไทยเสียเปรียบ

ประเทศไทยมีทรัพยากรพลังงาน คือ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ condensate (ก๊าซธรรมชาติเหลว) ที่เราให้เอกชนต่างประเทศลงทุนสำรวจ ผลิตปิโตรเลียมเป็นระบบสัมปทาน จากที่มีใช้กันทั่วโลกสามระบบใหญ่ ๆ คือ สัมปทาน แบ่งปันผลผลิต และจ้างผลิต

ความหมายของระบบสัมปทานคือการยกกรรมสิทธิ์ให้เอกชน แล้วกำหนดให้เอกชนต้องจ่ายเงินเหมือนจ่ายค่าเช่าเรียกว่าค่าภาคหลวงให้เรา  เหมือนเราให้เขาเช่าที่ทำนาหรือให้เขามาเช่าบ่อจับปลาในบ้านเรา  คุณจ่ายค่าเช่าแล้วคุณปลูกข้าวได้เท่าไรก็เป็นกรรมสิทธิ์ของคุณ ข้าวจะราคาดีหรือไม่ก็ไม่เกี่ยวกับเรา จะขายข้าวที่ไหนก็เรื่องของเขา  ยิ่งกว่านั้นข้าวที่เขาปลูกในนาของเราก็เอามาขายเราในราคาตลาดโลก เพราะเขาถือว่าจ่ายค่าเช่าให้เราแล้ว กรรมสิทธิ์ทั้งหมดเป็นของเขา เขาต้องการขายให้ได้กำไรในราคาตลาดที่สูงที่สุด

ในระบบสัมปทานปิโตรเลียม เขาต้องจ่ายค่าภาคหลวงให้เราปีละเท่าไรขึ้นอยู่กับปริมาณปิโตรเลียมที่ถูกขุดขึ้นมาขาย  ยุค Thailand I (พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔) เราคิดค่าภาคหลวง ๑๒.๕ เปอร์เซ็นต์ ยุค Thailand III  (พระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. ๒๕๑๔ แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. ๒๕๓๒) คิดแบบอัตราก้าวหน้า ๕-๑๕ เปอร์เซ็นต์ เพิ่มเป็นลักษณะขั้นบันไดคล้ายการเสียภาษี ยกตัวอย่างถ้าผลิตปริมาณ ๖๐,๐๐๐ บาร์เรลแรก คุณเสีย ๕ เปอร์เซ็นต์ อีก ๖๐,๐๐๐ บาร์เรลต่อมา เสียเพิ่มเป็น ๖.๒๕ เปอร์เซ็นต์ แล้วก็เสียเพิ่มเป็นขั้น ๆ แต่สูงสุดจะไม่เกิน ๑๕ เปอร์เซ็นต์

ระบบสัมปทานสนใจแค่ปริมาณ แต่ไม่ได้ดูเรื่องราคา สมัยก่อนน้ำมัน ๑๘ ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เอกชนก็กำไรอยู่แล้ว  แต่ตอนนี้ราคาน้ำมันสูงถึง ๑๐๐-๑๒๐ ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล เอกชนมีต้นทุนเท่าเดิม กำไรก็มากขึ้น  ระบบสัมปทานในปัจจุบันจึงเป็นระบบที่ประเทศเจ้าของทรัพยากรได้ผลตอบแทนน้อยเกินไป ประเทศอาเซียนเขาเลิกระบบสัมปทานเปลี่ยนไปใช้ระบบแบ่งปันผลผลิตกันหมดแล้ว

ส่วนระบบแบ่งปันผลผลิตเป็นระบบที่ประเทศเจ้าของทรัพยากรยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ปิโตรเลียมเหมือนเราเป็นเจ้าของที่ดิน ให้เขามาลงทุนปลูกข้าว ได้ข้าวเท่าไรหักค่าใช้จ่ายให้คนปลูก ส่วนที่เหลือคือกำไรเอามาแบ่งกัน  ปิโตรเลียมก็เหมือนกัน ระบบแบ่งปันผลผลิตทำให้รัฐเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในผลผลิตปิโตรเลียม  เอกชนที่ทำสัญญาเป็นผู้ลงทุน เมื่อขุดได้ปิโตรเลียมขึ้นมารัฐก็ให้หักค่าใช้จ่ายไปก่อน เหลือเท่าไรก็มาแบ่งส่วนกัน  ระบบนี้ใช้การประมูล ใครเสนอว่าขอแบ่งผลกำไรน้อยกว่าเจ้าอื่น รัฐจะให้เอกชนรายนั้นได้ไป รัฐก็จะได้ปิโตรเลียมเป็นของตนเอง จะขายแพงเงินก็เข้ารัฐ ถ้าขายประชาชนถูก ค่าครองชีพและต้นทุนสินค้าก็ต่ำลง เป็นประโยชน์กับประชาชน  ในหลายประเทศเขาทำข้อตกลงกับบริษัทต่างชาติไว้ดี  สมมุติว่าถ้าราคาน้ำมันสูงขึ้นจนเกิน ๒๕ ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ราคาส่วนที่เกินจาก ๒๕ ดอลลาร์สหรัฐ รัฐขอเอาส่วนแบ่ง ๘๐ เปอร์เซ็นต์ ผลประโยชน์ของรัฐจึงสัมพันธ์กับมูลค่าของปิโตรเลียม  ขณะที่ประเทศไทยไม่ได้เอาเรื่องมูลค่าปิโตรเลียมมาคำนวณส่วนแบ่ง  เราคิดแค่เรื่องปริมาณ  ถึงแม้จะมีข้อกำหนดที่เรียกว่า SRB ซึ่งเป็นผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษก็ตาม แต่ก็คิดในรูปแบบที่ซับซ้อนมาก เช่น คำนวณตามความยาวของท่อขุดเจาะลึกลงไปใต้ดินว่าเท่าไร แล้วใครจะไปวัด ทำไมไม่คิดในรูปแบบง่าย ๆ ที่ไม่ซับซ้อน

เมื่อการลงทุนเรื่องน้ำมันของไทยใช้ระบบสัมปทาน ฉะนั้นเอกชนจากต่างชาติก็กลายเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ปิโตรเลียมที่ขุดขึ้นมา  เมื่อเขาเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ จะเอาไปขายที่ไหนมันก็เป็นสิทธิ์ของเขา เพราะเขาจ่ายค่าเช่าเราครบตามจำนวนที่ตกลงกันไว้แล้ว ผลผลิตทั้งหมดก็ตกเป็นของเขาไป  ใน พ.ร.บ. ปิโตรเลียมยังเขียนว่าถ้าขายในประเทศไทยก็ให้ขายได้ในราคานำเข้า ก็ยิ่งเข้าทางว่าเขาจะขายให้ใครก็ได้ที่ทำให้เขาได้รับกำไรมากที่สุด

ความจริง พ.ร.บ. ปิโตรเลียมปี ๒๕๑๔ มีการแก้ไขอยู่เป็นระยะ แต่มาถึงปี ๒๕๕๐ ที่ราคาน้ำมันขึ้นมาเยอะแล้ว เขาก็ไม่แก้กฎหมายเพื่อให้รัฐได้ส่วนแบ่งมากขึ้น ฉะนั้นตรงนี้ต้องตั้งคำถามว่า คนที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับการออกแบบหลักเกณฑ์ต่าง ๆ มีส่วนได้ส่วนเสียกับผลประโยชน์ของพลังงานหรือเปล่า ทำไมถึงไม่แก้กฎระเบียบเพื่อให้ประเทศชาติได้ประโยชน์มากขึ้น

 

เราพึ่งพาตนเองด้านพลังงานได้พอสมควร แต่มีปัญหาเรื่องการนำเข้า-ส่งออกน้ำมัน

สมัยรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตร บอกว่าปริมาณปิโตรเลียมซึ่งหมายถึงน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่เราสามารถขุดได้ในประเทศอยู่ที่ ๔๕ เปอร์เซ็นต์ของความต้องการใช้ในประเทศ แสดงว่าเราต้องการใช้ ๑๐๐ เรามีของตัวเอง ๔๕  หรือประมาณว่าเราต้องนำเข้าเพื่อการใช้เอง ๖๐ เปอร์เซ็นต์

ขณะเดียวกันโรงกลั่นของเราก็มีความสามารถในการกลั่นได้วันละ ๑,๐๐๐,๐๐๐ บาร์เรล เมื่อกลั่นแล้วคนไทยใช้ในประเทศประมาณ ๖๐๐,๐๐๐ กว่าบาร์เรล  ส่วนที่เหลืออีกประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ กว่าบาร์เรลส่งออกไปขายต่างประเทศ  ตัวเลขที่บอกว่าเรามีน้ำมันของเราเองอยู่ ๔๐ เปอร์เซ็นต์ของความต้องการก็หมายถึง ๔๐ เปอร์เซ็นต์ของ ๖๐๐,๐๐๐ กว่าบาร์เรล

จะเห็นว่าทั้งน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป เรามีทั้งส่งออกและนำเข้า  ในส่วนของน้ำมันดิบที่ถูกขุดขึ้นมาในระบบสัมปทาน กรรมสิทธิ์เป็นของเอกชน ฉะนั้นเอกชนจะขายให้คนไทยหรือจะส่งออกก็ได้เป็นสิทธิ์ของเขา ทำให้น้ำมันดิบที่ถูกขุดขึ้นมาไม่ถูกใช้ในการผลิตในประเทศ โดยอ้างว่าน้ำมันดิบที่ถูกขุดขึ้นในประเทศกลั่นแล้วได้เบนซินมาก ดีเซลน้อย  เขาอ้างว่าน้ำมันชนิดนี้ไม่เหมาะกับโรงกลั่นของเขา เพราะโรงกลั่นอยากได้น้ำมันดิบที่กลั่นออกมาแล้วได้ดีเซลมากกว่า  ที่จริงน้ำมันในประเทศเป็นน้ำมันดิบคุณภาพดี เป็นน้ำมันเบา (light sweet) มีราคาแพง บางทีก็อ้างว่าน้ำมันจากในประเทศมีสารปรอท  ความจริงน้ำมันทุกประเทศก็มีสารปรอททั้งนั้น การเอาสารปรอทออกเป็นเรื่องที่ทำได้ง่าย การติดตั้งเครื่องมือเพื่อกำจัดปรอทไม่ได้เป็นเทคโนโลยีที่ซับซ้อนหรือยุ่งยาก

ที่จริงคือทางโรงกลั่นไม่อยากซื้อของแพง คือน้ำมันคุณภาพที่กลั่นออกมาแล้วได้เบนซินเยอะ อยากซื้อน้ำมันดิบจากตะวันออกกลางที่กลั่นแล้วได้ดีเซลมากกว่า อีกทั้งราคาก็ถูกกว่าด้วย

ขณะเดียวกันบริษัทเอกชนที่ได้รับสัมปทานในอ่าวไทย จำหน่ายน้ำมันเบามีกำมะถันต่ำให้ต่างประเทศได้เงินเยอะกว่า เพราะน้ำมันจากแหล่งทาปิสในอ่าวไทยมีราคาแพงกว่าน้ำมันดิบจากดูไบ

ถ้าเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต รัฐได้ปิโตรเลียมเป็นส่วนแบ่ง ถ้าไม่ใช้เอง ขายไปก็ได้เงินมาเอาไปซื้อน้ำมันคุณภาพรองลงมาก็จะได้ปริมาณมากขึ้น แม้เราจะมีปิโตรเลียมเพียง ๔๕ เปอร์เซ็นต์ของความต้องการใช้ แต่ถ้าเป็นของมีราคาแพง อุปมาเหมือนเราปลูกข้าวหอมมะลิขาย แล้วซื้อข้าวเสาไห้มากิน แม้เราอาจผลิตข้าวหอมมะลิได้ ๔๕ เปอร์เซ็นต์ของความต้องการบริโภค แต่ถ้าขายได้ราคาดี เราสามารถเอาเงินจากการขายข้าวหอมมะลิมาซื้อข้าวเสาไห้ปริมาณ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ของความต้องการบริโภคก็ได้  แต่ระบบสัมปทานเป็นเรื่องของคนละกระเป๋ากัน เอกชนได้น้ำมันดิบคุณภาพดี ขายไปเงินก็เป็นของเอกชน  ส่วนประเทศเราก็ต้องเสียเงินเพื่อนำเข้าน้ำมันดิบด้วยเงินตัวเอง

ถ้าเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต ส่วนแบ่งปิโตรเลียมที่รัฐได้สามารถขายเพื่อเอาเงินมาซื้อปิโตรเลียมคุณภาพปานกลางซึ่งราคาต่ำกว่า ก็จะได้ปริมาณปิโตรเลียมเพียงพอใช้ในประเทศ  ส่วนระบบสัมปทาน รัฐกับเอกชนเป็นคนละกระเป๋ากัน เป็นต้นเหตุที่ประชาชนไม่ได้รับประโยชน์จากทรัพยากรของตัวเอง

 

แก๊สโซฮอล์มีราคาแพงเกินไปเพราะคิดค่าการตลาดสูง

วันนี้เรามีน้ำมันทั้งหมดหกชนิด คือ เบนซิน ๙๕ เก็บเข้ากองทุนน้ำมันลิตรละ ๑๐ บาท แก๊สโซฮอล์ ๙๕ เก็บลิตรละ ๓.๕๐ บาท แก๊สโซฮอล์ ๙๑ เก็บลิตรละ ๑.๒๐ บาท ดีเซลเก็บลิตรละ ๐.๘๐ บาท  ส่วนอีกสองตัว คือ แก๊สโซฮอล์ อี ๘๕ กับแก๊สโซฮอล์อี ๒๐ เป็นตัวที่รัฐเอาเงินจากกองทุนน้ำมันไปชดเชยให้ โดยอี ๘๕ ชดเชยลิตรละ ๑๑.๖๐ บาท อี ๒๐ ชดเชยลิตรละ ๑.๒๐ บาท

จะเห็นว่าน้ำมันที่มีอยู่ทั้งหมดหกชนิด มีสี่ชนิดที่ใช้วิธีรีดเงินจากประชาชนเอามาเข้ากองทุนน้ำมัน ส่วนอีกสองชนิดจ่ายออกจากกองทุนน้ำมันเพื่อชดเชยราคาให้ต่ำ

ทีนี้ในตัวที่จ่ายออกคือแก๊สโซฮอล์ อี ๘๕ นั้นมีสิ่งที่น่าสนใจคือเอทานอลที่ผลิตจากกากน้ำตาลและมันสำปะหลังมีราคาแพงกว่าเบนซิน ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นอี ๘๕ ที่มีเบนซินเพียง ๑๕ เปอร์เซ็นต์ และมีเอทานอลมากถึง ๘๕ เปอร์เซ็นต์  แต่ “ราคาหน้าโรงกลั่น” ซึ่งยังไม่รวมค่าการตลาด ภาษี กองทุนน้ำมัน กลับแพงกว่าเบนซิน (สถิติวันที่ ๕ มิถุนายน ๒๕๕๗ ราคาที่หน้าโรงกลั่น น้ำมันเบนซิน ๙๕ ราคา ๒๕.๖๒๕๙ บาท น้ำมันอี ๘๕ ราคา ๒๖.๖๕๗๙ บาท) ทั้งที่น้ำมันเบนซินกว่าคุณจะไปขุดขึ้นมา กว่าจะมาเข้ากระบวนการกลั่น ต้องใช้เทคโนโลยีขนาดไหน  แต่ก็ยังมีราคาถูกกว่าน้ำมันที่มาจากกากน้ำตาล มันเป็นไปได้อย่างไร

ราคาอี ๘๕ แพงก็เพราะเขามาคิดเอากำไรในตัวเอทานอลและค่าการตลาดของเอทานอล คือคิดค่าการตลาดถึง ๖.๕๐ บาท  ขณะที่เบนซิน ๙๕ คิดค่าการตลาด ๑.๙๘๔๘ บาท  แล้วเอาเงินจากกองทุนน้ำมันมาชดเชยให้เอทานอล ๑๑.๖๐ บาท  ถามว่าการชดเชยแบบนี้จำเป็นแค่ไหน  การอ้างว่าจำเป็นต้องชดเชยเพราะจะได้เอาเงินไปช่วยชาวนาชาวไร่ที่ปลูกมันสำปะหลัง  แล้วจริงหรือเปล่าที่ความจริงราคาของพลังงานที่ต้องการให้มีราคาถูกควรมาจากต้นทุนที่มีการแข่งขัน มากกว่าเอาเงินไปชดเชยให้มีราคาถูกแบบหลอก ๆ เพราะถ้าชดเชยอี ๘๕ ลิตรละ ๑๑.๖๐ บาทแล้วคนหันมาใช้กันมากขึ้นก็ต้องชดเชยกันไม่สิ้นสุด

วันนี้ราคาเอทานอลบ้านเราอยู่ที่ประมาณ ๒๖ บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่สหรัฐอเมริกาที่แข่งกันเต็มที่และค่าแรงก็สูงกว่าบ้านเรายังมีราคาอยู่ที่ ๑๕ บาทเท่านั้น  การกำหนดราคาพวกนี้จึงทำให้เกิดปัญหา กลายเป็นว่ายิ่งคุณเติมเอทานอลมากเท่าไรก็ยิ่งทำให้เนื้อน้ำมันแพงขึ้น เป็นการส่งเสริมพลังงานทดแทนที่ไม่ถูกทิศถูกทาง

ข้อเสนอของเราคือรัฐบาลควรมีนโยบายให้ตั้งปั๊มเอทานอลมาแข่งกับเบนซิน แทนที่จะต้องขายเอทานอลให้โรงกลั่นนำไปผสมเป็นอี ๘๕ อี ๒๐ หรืออี ๑๐  ตั้งปั๊มเอทานอลขึ้นมาให้ประชาชนผสมเองได้เลย  เดี๋ยวนี้มีรถที่เรียกว่า เฟลกซ์คาร์ (Flex Car) เป็นรถที่ใช้เอทานอล ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ หรือเบนซิน ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ได้  สมมุติเราเติมเบนซิน ๑๕ เปอร์เซ็นต์ เติมเอทานอลเข้าไป ๘๕ เปอร์เซ็นต์ก็กลายเป็นอี ๘๕  รถปัจจุบันที่ใช้น้ำมันอี ๘๕ สามารถใช้อี ๑๐๐ ได้  ส่วนรถรุ่นเก่าถ้าติดตั้งเครื่องปรับจูนให้ใช้น้ำมันเอทานอล ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ได้ การเปิดปั๊มเอทานอลมาแข่งก็จะเป็นไปได้

เคยถามคนที่ผลิตเอทานอล เขาบอกจริง ๆ แล้วราคาลิตรละ ๑๘ บาท แต่ราคาที่ ปตท. กำหนดเพิ่มขึ้นเป็น ๒๖ บาท  ถามเขาว่าเป็นไปได้ไหมถ้าคิดจะทำปั๊มเอทานอลขึ้นมาขายลิตรละประมาณ ๒๐ บาท เขาบอกเป็นไปได้

เสนอให้ลดหรือยกเลิกกองทุนน้ำมัน

รัฐบาลถือหุ้น ปตท. อยู่ ๕๑ เปอร์เซ็นต์ เหมือนจะสามารถแทรกแซงราคาน้ำมันได้ แต่จริง ๆ แล้วรัฐบาลก็แทบจะไม่ได้ทำอะไร เพียงแต่ใช้วิธีล้วงเงินจากคนใช้น้ำมันเอามาใส่กองทุน แล้วเอาเงินกองทุนน้ำมันไปโปะอุดหนุนน้ำมันอี ๘๕ กับอี ๒๐ รวมทั้งอุดหนุนราคาก๊าซแอลพีจีที่ปิโตรเคมีใช้

วันนี้คนที่ใช้ก๊าซแอลพีจีมีอยู่สี่กลุ่มด้วยกัน คือ ครัวเรือน ยานยนต์ ปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมอื่น ๆ

ในสี่กลุ่มมีอยู่สามกลุ่มที่ใช้แอลพีจีเป็นเชื้อเพลิง มีเพียงปิโตรเคมีเท่านั้นที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการทำเม็ดพลาสติก  ปัญหาคือกระทรวงพลังงานอ้างว่ามีหน้าที่ดูแลก๊าซแอลพีจีสำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงเท่านั้น ไม่มีหน้าที่ดูแลการใช้แอลพีจีในส่วนของปิโตรเคมี  ปิโตรเคมีจึงไม่อยู่ในสารบบที่กระทรวงพลังงานจะดูแลกำกับราคา  แต่กระทรวงพลังงานสมัยคุณสมชาย วงสวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ชงมติคณะรัฐมนตรีหนึ่งขึ้นมา กำหนดให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีเข้ามาใช้ก๊าซแอลพีจีจากโรงแยกก๊าซที่ราคา ๓๓๓ ดอลลาร์สหรัฐร่วมกับครัวเรือน หากเหลือจึงจัดสรรให้อีกสองกลุ่มใช้ ถ้าไม่พอให้นำเข้ามาจากต่างประเทศโดยเอาเงินกองทุนน้ำมันมาชดเชย

นี่คือมายากลทางคณิตศาสตร์ที่ดึงปิโตรเคมีเข้ามาใช้ก๊าซจากอ่าวไทยก่อนคนอื่น เพราะผู้ซื้อผู้ขายคือกิจการของ ปตท.  คนของกระทรวงพลังงานได้ตั้งแท่นเพื่อให้เกิดพื้นที่อิสระที่ ปตท.  แม่กับลูกตกลงราคาซื้อขายกันเองโดยไม่มีหน่วยงานใดไปกำกับเรื่องราคา ลองคิดว่าถ้าเป็นแม่ลูกกัน เขาจะให้ใครใช้ก่อนระหว่างปิโตรเคมีกับภาคครัวเรือน เขาก็ต้องให้ลูกเขาใช้ก่อน  มีธุรกิจใดบ้างที่จะเลือกใช้วัตถุดิบต้นทุนสูง ถ้าตัวเองมีสิทธิ์เลือกใช้ของถูกที่สุดก่อน  เหลือเท่าไรจึงให้ประชาชนใช้ เพราะเมื่อไม่พอก็นำเข้า รัฐบาลก็อนุญาตให้เอากองทุนน้ำมันมาชดเชย

การนำเงินกองทุนน้ำมันไปชดเชยค่าก๊าซแอลพีจีนำเข้านั้น มักอ้างว่าไปชดเชยให้ประชาชนกลุ่มครัวเรือนกับยานยนต์ได้ใช้แอลพีจีในราคาถูก แต่แท้จริงแล้วเป็นการผลักให้ภาคประชาชนใช้แอลพีจีในราคาตลาดโลก โดยเอากองทุนน้ำมันมาจ่ายแทนในขณะที่ยังไม่สามารถขึ้นราคากับประชาชนโดยตรง

พวกนี้เป็นนักคณิตศาสตร์ที่ทำให้ราคาดูซับซ้อน เช่นเขาจะพูดอยู่ตลอดว่าเพราะรัฐมีนโยบายตรึงราคาแอลพีจีที่โรงแยกก๊าซไว้ที่ ๓๓๓ ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ประชาชนได้ใช้ก๊าซหุงต้ม (LPG) ถูกแค่กิโลละ ๑๐ บาท แต่จริง ๆ แล้วเวลาประชาชนซื้อก๊าซหุงต้มเราไม่ได้ซื้อที่ ๑๐ บาท เราซื้อที่ ๑๘ บาทต่อกิโลกรัม ตอนนี้ขึ้นราคาเป็น ๒๒ บาท ๓๘ สตางค์ ขณะที่ปิโตรเคมีเขาได้ใช้ในราคาไม่เกิน ๑๘ บาท  ปตท. จะพูดว่าประชาชนใช้ในราคาที่ ๑๐ บาทนะ โดยไม่พูดว่า ปตท. ได้รับเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันอีกส่วนหนึ่ง ทำให้ราคาที่ประชาชนจ่ายจริงเป็นราคาของโรงกลั่นและราคานำเข้าแอลพีจี  ปตท. ผูกขาดธุรกิจก๊าซตั้งแต่ต้นน้ำคือการผลิตและรับซื้อ ส่วนกลางน้ำคือโรงแยกก๊าซ และปลายน้ำคือการขายปลีก  และ ปตท. ยังเป็นผู้นำเข้าก๊าซแอลพีจีอีกด้วย  ที่อ้างว่าประชาชนซื้อก๊าซแอลพีจีถูกที่สุดที่ราคาโรงแยก ๑๐ บาทต่อกิโลกรัม (๓๓๓ ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน) นั้น ในความเป็นจริงแล้ว ปตท. ก็รับเงิน
จากโรงแยกก๊าซในราคาที่ประชาชนใช้ ๓๓๓ ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน แล้วก็ไปรับเงินจากกองทุนน้ำมันมาอีกกระเป๋าหนึ่ง รวมสองก้อนนี้เข้าไปก็คือราคาจากโรงกลั่นที่ ๒๔ บาทต่อกิโลกรัม และ ๒๗ บาทต่อกิโลกรัมจากการนำเข้า ดังนั้นประชาชนจึงต้องใช้ในราคาแพงกว่าปิโตรเคมี

ถ้าตัดกองทุนน้ำมันได้จะช่วยลดภาระที่ต้องไปชดเชย แต่ก่อนจะลดกองทุนน้ำมันได้คุณต้องแก้ปัญหาแอลพีจี เพราะปัญหาตอนนี้คือรัฐบาลและ ปตท. ให้ปิโตรเคมีใช้แอลพีจีก่อน  ต่อไปต้องบอกว่า-ไม่ได้ แอลพีจีต้องให้ประชาชนใช้ก่อน ส่วนของปิโตรเคมีคุณต้องไปนำเข้าเอง ซึ่งที่ผ่านมาเขาก็ไม่ยอม อ้างว่าก๊าซในอ่าวไทยเป็นของดี เป็นไม้สัก ต้องให้ปิโตรเคมีทำเป็นเม็ดพลาสติกแทนที่จะใช้เป็นเชื้อเพลิงทำกับข้าวหรือเป็นก๊าซรถยนต์

นี่ก็เป็นวิธีการมองที่ต่างกัน คือเขามองว่าการเอาแอลพีจีจากอ่าวไทยมาให้ชาวบ้านใช้เป็นการเผาทิ้ง  คำนวณแล้วสร้างมูลค่าเพิ่มแค่สองเท่า ไม่เหมือนเอาไปทำปิโตรเคมี สร้างมูลค่าเพิ่มเป็น ๒๐ เท่า ไม่รู้เขาคิดได้อย่างไร เวลาเราเอาก๊าซมาหุงข้าว เรากินอาหารแล้วมีแรงไปทำงาน เป็นนักข่าว เป็นคนขับแท็กซี่ เป็นหมอ เป็นวิศวกร เป็นนักธุรกิจ  แต่เขาประเมินว่าการเอาก๊าซไปทำเชื้อเพลิงสร้างมูลค่าเพิ่มแค่สองเท่า  เขาไม่ได้มองว่าเมื่อคนใช้เชื้อเพลิงทำอาหารแล้วมีแรงมีสมองไปทำงาน ไม่ถูกนำมาคิดเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่ม หรือสร้าง GDP ให้ประเทศ นี่ก็เป็นทัศนะที่ต่างกัน

แต่การจะตัดกองทุนน้ำมันได้ก็ต้องแก้ปัญหาโดยการยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีที่ให้ปิโตรเคมีใช้แอลพีจีจากโรงแยกก๊าซพร้อมกับครัวเรือน  รัฐถือหุ้นใหญ่ใน ปตท. ย่อมกำหนดนโยบายได้ แต่ ปตท. เขาคุมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ  เมื่อเขาคุมหมด รัฐไปสั่ง รัฐตั้งใจสั่งจริงหรือเปล่า

เราเสนอให้ คสช. จัดการในส่วนของกองทุนน้ำมัน โดยออกมติว่าให้ครัวเรือนได้ใช้แอลพีจีจากโรงแยกก๊าซก่อน เพราะถือว่าทรัพยากรเหล่านี้เป็นของประชาชน เหลือแล้วค่อยจัดสรรให้กลุ่มอื่นใช้  ถ้าไม่พอ พวกปิโตรเคมีกับอุตสาหกรรมก็ต้องไปรับผิดชอบราคานำเข้าเองเพราะเป็นธุรกิจเอกชนที่ทำกำไรได้ แต่กลุ่มทุน ปตท. ก็บอกว่าไม่ยอมเด็ดขาด พอเขาไม่ยอมก็ทำให้กองทุนน้ำมันต้องคงอยู่ต่อไป

 

น้ำมันถูกดีกว่าน้ำมันแพง

เวลานี้เราต้องยอมรับว่าต้นทุนทางเศรษฐกิจของเรามีปัญหา ค่าขนส่งของเราเท่ากับ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีซึ่งสูงมาก  เมื่อเรามีต้นทุนค่าขนส่งสูงก็บั่นทอนศักยภาพที่จะแข่งขันกับคนอื่น  สมมุติเรามีต้นทุนในกิจการหนึ่งเท่ากับ ๑๐๐ บาท ค่าขนส่งเอาไปแล้ว ๒๐ บาท เท่ากับคุณมีต้นทุนเหลือ ๘๐ บาท ทำให้เป็นเรื่องยากมากถ้าคุณจะไปเพิ่มค่าแรงคนงานให้สูงขึ้น

แต่ถ้ามีต้นทุนพลังงานสัก ๑๐ เปอร์เซ็นต์ คุณก็มีพื้นที่เพิ่มสำหรับขึ้นค่าแรงได้  ดังนั้นเมื่อมีต้นทุนที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คุณก็ต้องกดค่าแรง  เมื่อลูกจ้างได้ค่าแรงต่ำ ทุกอย่างก็เกี่ยวพันกันเป็นลูกโซ่  ต้นทุนพลังงานแพงส่งผลกระทบให้ค่าครองชีพสูง แล้วเมื่อไม่มีพื้นที่ให้ได้ค่าแรงหรือเงินเดือนเพิ่ม คนก็ลำบาก

แทนการเพิ่มรายได้ซึ่งมีผลกระทบหลายอย่าง ควรพิจารณาการลดรายจ่าย เพราะการลดรายจ่ายก็ถือเป็นการเพิ่มรายได้วิธีหนึ่ง ซึ่งอาจจะดีกว่าด้วยซ้ำ เพราะถ้าคุณมีรายได้เพิ่ม ราคาข้าวของเครื่องใช้ก็อาจจะเพิ่มขึ้นด้วย  แต่ถ้าลดรายจ่ายลง ให้ประชาชนมีเงินในกระเป๋ามากขึ้น การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนก็เป็นตัวเพิ่มจีดีพีด้วย  ลองดูตัวเลขจีดีพีของประเทศ จะพบว่าการบริโภคภายในประเทศสร้างจีดีพีถึง ๕๕ เปอร์เซ็นต์  การลดรายจ่ายจึงเป็นส่วนที่รัฐควรใส่ใจ และราคาพลังงานเป็นปัจจัยที่จะช่วยลดรายจ่ายให้ประชาชนและระบบเศรษฐกิจได้ถ้าจัดการให้เป็นธรรม

ราคาพลังงานจึงควรจะเหมาะสมในแง่ที่ว่า หนึ่ง ดูตามกำลังซื้อของประชาชน ดูว่าประชาชนที่จนที่สุดซื้อได้ในราคาเท่าไร  สอง ถ้าคุณคิดจะปล่อยให้น้ำมันแพงเพื่อให้คนรู้จักประหยัด รายได้ก็ควรจะเข้ารัฐ  ถ้ารายได้ไม่ตกเป็นของเอกชนก็ไม่มีปัญหา  รัฐจะมีรายได้นำมาใช้พัฒนาบริการสาธารณะอื่น ๆ เพราะมาตรการที่จะให้คนประหยัดก็ต้องให้เขามีทางเลือก เช่น การมีระบบขนส่งมวลชนที่ดี ที่ทำให้คนไม่ต้องใช้รถยนต์ส่วนตัว  แต่ดูเหมือนเวลานี้สิ่งที่เกิดขึ้นคือน้ำมันแพง รายได้ส่วนเกินจากค่าน้ำมันที่เพิ่มขึ้นกำลังเข้ากระเป๋ากลุ่มทุนพลังงาน

.