งานจากค่ายสารคดีครั้งที่ 10
เรื่อง วิภาดา แหวนเพชร
ภาพ อภินัยน์ ทรรศโนภาส
น้ำคือชีวิต…ไม้ต่อชีวิต
คนไทยเกี่ยวข้องและผูกพันกับสายน้ำตั้งแต่เกิดจนตายเพราะภูมิประเทศที่มีแม่น้ำหลายสายที่ลัดเลาะเซาะซึมไปทั่วผืนแผ่นดินไทย คนไทยนิยมตั้งรกรากถิ่นฐานใกล้แม่น้ำทำให้เราเกิดใกล้แม่น้ำ เราหาเลี้ยงชีพด้วยอาชีพประมงหรือการเกษตรที่ต้องพึ่งพาน้ำ และเถ้ากระดูกสุดท้ายของเราก็ต้องฝากไว้กับสายน้ำ แต่วิถีชีวิตที่ผูกพันกับวายน้ำทำให้มีสิ่งหนึ่งที่เราต้องพึ่งพาไปคู่กันคือไม้ ถ้าสายน้ำแทรกซึมในแผ่นดิน ไม้เองก็แทรกซึมในชีวิตประจำวันของคนไทยตั้งแต่เกิดจนตายเช่นกัน เราเกิดในบ้านไม้ เราเดินทางด้วยเรือไม้ และเราตายในโลง
ลมพัดเอื่อยเฉื่อย กลิ่นหนึ่งลอยมาแตะจมูก เป็นกลิ่นกึ่งหอมกึ่งเหม็นแต่มีเสน่ห์อย่างประหลาด เราเดินตามกลิ่นนั้นไปตามทางเชื่อมของชุมชนตลาดน้ำบางน้อยสู่วัดไทรและมาหยุดที่บ้านทรงไทยขนาดย่อมหลังหนึ่งตั้งอยู่ริมโค้งน้ำ ข้างๆเป็นโรงไม้เก่าหลังคาสังกะสีมีเฟอร์นิเจอร์แปลกตาวางอยู่ด้านหน้า ส่วนด้านข้างมีไม้กองพะเนินอยู่หลายกอง เราจึงรู้ว่ากลิ่นที่มีเสน่ห์นี้คือกลิ่นไม้ ภายในโรงไม้มืดสลัว เสียงรายการวิทยุและเสียงตอกตะปูก็ดังขึ้นพร้อมกันในโสตประสาท สายตาจึงเพ่งมองเข้าไปภายในและเห็นโลงไม้วางเรียงรายอยู่ในความมืด เหลือบไปเห็นป้าย THE LAST HOME ที่อยู่ด้านหน้าโรงไม้จึงเข้าใจได้ว่าที่นี่รับสร้างโลงศพหรือ “บ้านหลังสุดท้าย” ให้แก่ผู้คนนั่นเอง
ธีระพงษ์ วงศ์เจริญสถิตย์ หรือพี่หน่อยทายาทรุ่นที่สามเปิดประตูโรงไม้ต้อนรับเราด้วยชุดเสื้อกล้ามธรรมดา ขยับแว่นตาขึ้นไว้บนหัวก่อนจะเดินไปหยิบผ้ามาเช็ดคราบเหงื่อและปัดเศษไม้บนตัวออก เราวางสัมภาระไว้บนเก้าอี้ไม้ยาวที่ตอกติดกับพื้นไม้ในขณะที่พี่หน่อยขยับเฟอร์นิเจอร์ไม้ลักษณะแปลกตาพร้อมอุปกรณ์ต่างๆที่ตั้งขวางทางไปไว้ด้านข้าง มองไปรอบๆอู่นอกจากคุณลุงรุ่นกระทงที่กำลังต่อโลงอย่างขะมักเขม้นเห็นเพียงแต่บ้านไม้ เรือไม้ โลงไม้ และกองไม้
ราวกับไม้เป็นเจ้าของบ้าน และพี่หน่อยกับคุณลุงเป็นเพียงผู้อยู่อาศัยเท่านั้น
พี่หน่อยเดินไปหรี่เสียงวิทยุลงก่อนจะหันมาเล่าด้วยท่าทีสบายๆว่าในขณะที่ทำงานไม้มักจะฟังรายการธรรมะอยู่เป็นประจำ เพราะช่วยให้จิตนิ่งและมีสมาธิเนื่องจากงานไม้เป็นงานที่ต้องใช้สมาธิสูงเพื่อให้ได้งานที่ประณีตสวยงาม ก่อนจะเล่าประวัติอันยาวนานเกือบร้อยปีของโรงไม้แห่งนี้ให้ฟัง
“โรงไม้นี้สมัยก่อนคืออู่ต่อเรือเก่าชื่อหน่ำเฮง เฮงคือชื่อก๋ง หน่ำชื่อเตี่ย ก๋งเป็นคนไหหลำโล้สำเภามาจากเมืองจีนมาอยู่ตรงนี้ เมื่อก่อนตลาดน้ำบางน้อยเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในภาคกลางเลยก็ว่าได้ จำความได้ก็เห็นเรือจอดฝั่งโน้นตั้งแต่วัดไทรมาตลอดแนวถึงแม่น้ำใหญ่โน่นเลย มีพ่อค้าแม่ค้ามาจากเพชรบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี มาขายกระบอกไม้ไผ่ขึ้นตาลมะพร้าว ขายพืชผลการเกษตร อาหารทะเล แล้วเมื่อก่อนก็ไม่มีสะพานเดินถึงกันแบบนี้ ไปมาหาสู่ก็ต้องพายเรือ ก๋งแกก็เห็นช่องทางว่าคนใช้เรือเยอะ ก็ไปเป็นลูกจ้างเก็บเงินเก็บทองจนเปิดอู่ต่อเรือเพราะมีความรู้เรื่องการต่อเรือมาจากเมืองจีนอยู่แล้ว”
วิถีชีวิตริมน้ำทำให้ความรู้ด้านช่างไม้ที่ก๋งมีต่อชีวิตให้ทุกคนในครอบครัวได้ พี่หน่อยชี้ให้ดูบล็อกเรือลำสุดท้ายที่ยกไว้บนนั่งร้านสูงและเรืออีกลำที่คว่ำไว้ตรงด้านริมสุดของโรงไม้ เรือทั้งสองลำล้วนตกอยู่ในสภาพเดียวกันคือเก่าฝุ่นเขรอะเพราะขาดการดูแลมานาน แม้ในวันวานมันทั้งคู่เหล่านี้จะเป็นพระเอกขี่ม้าขาวมาช่วยชีวิตทุกคนให้อยู่ดีกินดีก็ตาม
“ยุคโน้น ผมไม่ได้คุยนะ ที่นี่ดังสุด เราขายถึงตลาดน้ำดำเนินสะดวก ไปจนติดกรุงเทพฯ ที่เราดังเหตุผลหลักคือเราเน้นว่าไม้ต้องแห้ง ไม้ต้องเป็นของแท้ไม่มีการย้อมแมว เอาไปใช้จะได้ทนทาน”
กิจการของอู่ต่อเรือหน่ำเฮงเคยรุ่งเรืองถึงขีดสุดจนลูกค้าต้องสั่งเรือไว้ล่วงหน้าถึงสองปี เพราะมีการบอกต่อกันถึงความประณีตและทนทานของเรือจนมีลูกค้ามาว่าจ้างให้ต่อเรือจากหลายจังหวัดในภาคกลาง พี่หน่อยชี้ให้เราดูส่วนประกอบต่างๆของเรือที่พี่หน่อยเอามาตอกติดกันจนคล้ายปีกของนกยูงรำแพนและเล่าว่าที่นี่เคยต่อเรือหลายแบบตามความนิยมของยุคสมัย เริ่มจากเรือพายไปสู่เรือหางยาวขนาด 5 ที่นั่ง แต่เนื่องจากเตี่ยสมาน วงศ์เจริญสถิตย์ คุณพ่อของพี่หน่อยมีนิสัยชอบคิดค้นและพัฒนาสิ่งใหม่ๆอยู่ตลอดเวลาจึงต่อเรือหางยาวแบบ 13 ที่นั่งขึ้นมาและเอาไปลงแข่งในเทศกาลแข่งเรือยาวประจำจังหวัดจนชนะ ทำให้กิจการดีขึ้นเรื่อยๆจนมารุ่งเรืองถึงขีดสุดเมื่อเตี่ยสมานพัฒนาเรืออีป๊าบ เรือบรรทุกสินค้าทางการเกษตรที่มีลักษณะหัวเรือท้ายเรือแคบแต่ตรงกลางป่อง โดยลดความป่องกลางเรือให้เพรียวขึ้นและสูงขึ้นเพื่อสะดวกเมื่อพายในลำคลองเล็กๆ กลายเป็นที่นิยมไปทั่วคุ้งแควจนมีการซื้อตัวช่างไม้ในอู่ต่อเรือหน่ำเฮงเพื่อลอกสูตรเรือ
“เรืออีป๊าบแบบใหม่มันก็มีผลต่อวิถีชีวิตคนแถวนี้ พอทรงมันเริ่มเปลี่ยนเหมือนเสื้อผ้า เรือมันก็วิ่งได้เร็ว เพรียวกว่าเก่าแต่การใช้งานบรรทุกมันก็ไม่ได้เยอะ เรือนี้ก็กลายเป็นวิ่งโชว์ เท่ห์กว่า คนก็ชอบ หลังจากนั้นเรืออีป๊าบแบบเก่าก็ไม่ทำเลย”
แต่การเปลี่ยนสูตรเรือใหม่สำหรับอู่ต่อเรือร้อยปีอย่างหน่ำเฮงก็ใช่ว่าจะเป็นไปอย่างง่ายดาย พี่หน่อยเล่าให้ฟังว่าหลังจากเตี่ยสมานต่อเรืออีป๊าบทรงใหม่เสร็จ ก๋งผู้บุกเบิกกิจการก็เอาขวานสับเรือจนขาดเนื่องจากความจริงจัง เข้มงวด และมีระเบียบอย่างมากของก๋งที่คิดว่าเตี่ยสมานทำเรือขึ้นมาเล่นๆ ใช้ไม้ไปอย่างไร้ประโยชน์
“เราเคารพอุปกรณ์ต่อเรือทุกชิ้นมากเพราะก๋งกับเตี่ยจะสอนว่านี่คือครู เวลาเขาสอนเราต่อเรือมันไม่มีใบสูตรแบบทุกวันนี้ เวลาสอนกันก็หยิบไม้ออกมาวาง ชี้ให้เห็นว่าทำตรงไหนได้ตรงไหนไม่ได้ สอนให้เห็นกันผ่านการลงมือทำเนื่องจากขนาดไม้มันไม่เท่ากัน เราต้องหัดประยุกต์เอาหน้างาน ”
จนกระทั่งถนนเริ่มตัดผ่านเข้ามาแถวตลาดน้ำบางน้อยประมาณปี พ.ศ. 2530 ผู้คนเริ่มใช้รถใช้ถนนและเดินทางเข้าไปตั้งรกรากถิ่นฐานในเมืองเพื่อเปิดกิจการร้านค้า ตลาดน้ำบางน้อยที่เคยเจริญรุ่งเรืองในอดีตกลายเป็นตลาดเล็กๆของชุมชน ถนนได้พาเรือหลายลำให้หายไปจากตลาดน้ำบางน้อย ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเหมือนกระแสน้ำเชี่ยวกรากที่พัดพากิจการอู่ต่อเรือหน่ำเฮงให้หายไปกับสายธารแห่งกาลเวลา แต่ทว่าเตี่ยสมานกับพี่หน่อยยังมี “ไม้” และ “วิชาช่างไม้” เป็นเหมือนเรือให้พายไปในกระแสน้ำแห่งความเปลี่ยนแปลงนี้ พายไปสู่หนทางใหม่ของอาชีพช่างไม้นั่นคือ กิจการทำฝาบ้านทรงไทย
กิจการต่อฝาบ้านทรงไทยช่วงแรกเริ่มจากการต่อฝาศาลาหอฉันท์ให้วัดวาอารามในพื้นที่เพราะเจ้าอาวาสเชื่อในฝีมืองานไม้ของอู่ต่อเรือหน่ำเฮง เตี่ยสมานกับพี่หน่อยจึงยึดฝาบ้านทรงไทยของตนเองไว้เป็นต้นแบบและอาศัยประสบการณ์ที่สั่งสมกันมานานทดลองต่อฝาศาลาหอฉันท์จนประสบผลสำเร็จ ทำให้วัดอื่นๆในพื้นที่ใกล้เคียงเช่นวัดโกรกกราก วัดบางน้อยในและวัดภุมรินทร์ ต่างมาว่าจ้างให้ช่วยบูรณะฝาโบสถ์และศาลาวัด แต่เนื่องจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นทำให้ลูกค้าลดน้อยลงในเวลาไม่นาน เตี่ยสมานจึงเริ่มต่อโลงควบคู่กันไปเพราะเชื่อว่าเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องใช้ในวาระสุดท้ายของชีวิต ในขณะที่พี่หน่อยก็รับทำฐานชุกชีสำหรับวางพระประธานให้วัดต่างๆ โดยถอดแบบฐานชุกชีมาจากหนังสือของกรมศิลปากร ซึ่งพี่หน่อยย้ำกับเราหลายครั้งเลยว่า “ตาแตก” เพราะพี่หน่อยต้องดูจากภาพและถอดออกมาทีละด้าน หัดประกอบทีละชั้นเป็นเวลาสามวันสามคืนกว่าจะสำเร็จ
“สมัยก่อนเขาบอกว่าคนรวยอยู่ตึก คนจนอยู่บ้านไม้ แต่ตอนนี้กลับกัน สุดท้ายคนรวยก็ต้องมีพื้นที่ส่วนตัว ค้าขายได้เงินมาก็ปลูกบ้านไม้อยู่ริมคลองเพื่อพักผ่อน กลุ่มลูกค้าเราเลยต้องเป็นคนรวยจริงๆ ซึ่งหาได้ยากมากเพราะไม้มันแพงขึ้นทุกวัน สุดท้ายปี 2540 ก็ต้องปิดกิจการอีกรอบ หลังจากนั้นเราก็คิดว่าจะทำอะไรต่อ ตอนแรกก็คิดจะทำเฟอร์นิเจอร์ขายแต่ก็ไม่ทำเพราะผมคิดว่าผมไม่ได้เรียนด้านนี้มา การดีไซน์สู้เค้าไม่ได้ อีกอย่างคือมันมีการแข่งขันค่อนข้างสูงเรื่องราคานอกจากเราฉีกแนว ดูแล้วไปได้ยาก เราเลยเอาโลงเป็นหลักแล้วค่อยทำอะไรเติม”
ในที่สุดพี่หน่อยซึ่งเป็นทายาทรุ่นที่สามผู้ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในโรงไม้แห่งนี้มาตั้งแต่จำความได้ก็ก้าวเข้ามารับผิดชอบกิจการต่อโลงต่อจากเตี่ยสมาน ในขณะที่พี่น้องอีกสี่คนที่เหลือของพี่หน่อยต่างออกไปประกอบอาชีพของตนเอง
“ พี่น้องคนอื่นเรียนได้ดิบได้ดีกันหมด ส่วนเราถูกวางตัวให้รับช่วงต่อมาตั้งแต่เด็ก คิดว่าคงเป็นเพราะเตี่ยเขาเห็นลักษณะของเรา เห็นสิ่งที่เราทำผ่านๆตา ช่วงตอนประถมทำงานไม้ไปประกวดตามเขตการศึกษา ผมได้ที่สอง ตอนที่ทำงานฝีมือส่งครู ครูก็ด่าว่าผมให้พ่อทำให้ทั้งที่ผมทำเอง ผมก็ต้องทำใหม่อีกชิ้นซึ่งมันก็เหมือนเดิม คิดว่าเป็นตรงนี้ ลักษณะของเราดูจะไปได้”
แม้ว่ากิจการโลงศพในช่วงแรกยังไม่เป็นที่รู้จักแต่ด้วยฝีมือช่างที่ขัดเกลาอย่างประณีตจากรุ่นสู่รุ่นทำให้ลูกค้าเรือเก่าและคนในพื้นที่ไว้วางใจให้พี่หน่อยสร้างบ้านหลังสุดท้ายให้พวกเขา จากกิจการโลงช่วงแรกที่ต้องมีหน้าร้านเพื่อให้คนรู้จักกลายเป็นกิจการต่อโลงขายส่งอย่างเดียวเพราะลูกค้าสามารถโทรมาสั่งได้โดยตรงเมื่อสูญเสียคนในครอบครัว นอกจากนี้พี่หน่อยยังส่งโลงศพให้ร้านโลงในจังหวัดใกล้เคียงเช่นเพชรบุรีและราชบุรี ซึ่งบางเจ้าเป็นลูกค้าเรือเก่าที่รู้กิตติศัพท์ของความประณีตในงานช่างไม้ของอดีตอู่ต่อเรือหน่ำเฮงเป็นอย่างดี
พี่หน่อยพาเราเดินเข้าไปในพื้นที่สำหรับทำโลงศพ บนพื้นไม้ที่ยกสูงขึ้นมามีโลงสีขาวที่เพิ่งประกอบเสร็จใหม่ๆสามสี่ใบวางอยู่ ใกล้กันเป็นม้าเตี้ย 2 ม้า สำหรับวางโลงที่กำลังประกอบขึ้นมาใหม่ ช่างสูงวัยท่านหนึ่งกำลังวัดขนาดโลงและเตรียมเลื่อย อากาศภายในร้อนอบอ้าวจนเหงื่ออาบร่างกายช่างแต่ทว่าช่างสูงวัยยังคงมีสมาธิกับงานไม้ตรงหน้า พี่หน่อยชี้ให้ดูไม้สักที่ตากอยู่ด้านนอกเพื่อเอามาทำโลงไม้สักแท้ ซึ่งพี่หน่อยจะเป็นผู้รับผิดชอบเองทุกขั้นตอน
“ จริงๆต่อโลงง่ายกว่าต่อเรือหรือฝาบ้านมาก มันจะแตกต่างตรงขาโลงซึ่งแล้วแต่หัวเราว่าจะประยุกต์ยังไง อย่างที่เห็นโลงไม้สักเราทำเป็นขาสิงห์ซึ่งที่อื่นไม่มีทำ ก็หัดทำมานานแล้ว จริงๆขาสิงห์มันก็ไม่ได้ยากมากแต่มันช้า เราก็ต้องมากล่อมให้ได้ทรงมัน ฟักนี่ต้องฟักด้วยตา โลงเรายังลงเดือย ทรงก็เป็นทรงโบราณแต่มีการปรับปรุงนิดหน่อย ให้ข้างล่างเล็กข้างบนกว้าง เพราะโลงเวลาเราประกอบฐานฐานมันจะใหญ่กว่า เวลาเรามองด้วยตาเปล่าถ้าสมมติเราทำตั้งโลงขึ้นไปคุณจะมองว่าโลงข้างบนปากเล็ก มันหลอกตาเรา”
พี่หน่อยเดินลงบันไดลงมาพื้นดินด้านล่างของโรงไม้ มีโลงสีขาวประมาณ 10 ใบวางไว้บนม้าเตี้ย ด้านริมสุดเป็นโลงไม้สำหรับประกอบพิธีในศาสนาคริสต์มีพลาสติกหุ้มรอบๆ ส่วนด้านหลังเป็นโลงไม้สักหุ้มพลาสติกประมาณสิบใบวางกองกันเป็นระเบียบแต่ทว่ามีฝุ่นจับเขรอะบ่งบอกถึงระยะเวลาที่วางไว้นาน พี่หน่อยบอกว่าโลงนี้ไม่ใช่โลงที่ไม่มีคนซื้อ แต่เป็นโลงที่ญาติๆและลูกค้าเรือเก่ามาสั่งต่อไว้ล่วงหน้าเพราะอยากเลือกบ้านให้ตัวเองในวาระสุดท้ายของชีวิต
“เรื่องโลงศพ สมัยก่อนมีคำอยู่คำ คนซื้อไม่ได้ใช้ คนใช้ไม่ได้ซื้อ แต่โลงศพที่นี่คนซื้อได้ใช้เพราะว่าซื้อไว้ล่วงหน้าได้เห็นได้เลือกว่าจะเอาผ้าสีอะไรแบบไหน คือเขาเชื่อเรื่องงานของเราว่าละเอียดเพราะเราต่อเรือมาก่อน”
พี่หน่อยพาเราไปทางหลังโรงไม้เพื่อไหว้ศาลพระวิษณุซึ่งเป็นครูของช่างทุกคนและเดินนำไปชมต้นสักข้างโรงไม้ที่พี่หน่อยปลูกไว้ 17 ปี บริเวณใกล้กันมีกองไม้กองใหญ่ที่พี่หน่อยเตรียมเผาทำเป็นถ่าน และมีราวตากไม้สักยาวจนถึงตัวบ้านเรือนไทย ใต้บ้านมีกองไม้รูปร่างแปลกตาที่พี่หน่อยสะสมไว้ทำงานอดิเรกคืองานประดิษฐ์จากไม้ พี่หน่อยเชิญเราเข้าชมบ้านเรือนไทย เราถึงกับต้องอุทานออกมาเพราะภายในบ้านเหมือนแกลลอรี่แสดงผลงานศิลปะ มีภาพวาดบุคคลที่สวยไม่แพ้ศิลปินเก่งๆแขวนไว้เต็มผนังทั้งสี่ด้าน พี่หน่อยเล่าให้ฟังว่าเป็นภาพผลงานของพี่น้องทั้ง 5 คนเอาไว้ดูต่างหน้าเพราะทุกคนวาดรูปเก่งมาก อีกทั้งภายในบ้านมีงานไม้ที่แปลกสะดุดตาอยู่หลายชิ้นเช่นโต๊ะไม้ขาเดียว โต๊ะไม้ขาจักร โคมไฟไม้และฐานพระประธาน ทำให้เราเผลอคิดว่านี่คือแกลลอรี่แสดงผลงานศิลปะมากกว่าจะเป็นบ้านคน
“เวลาว่างเราชอบทำงานไม้ เราอยากรู้ว่าไม้มันทำอะไรได้บ้างแล้วคนเขาไม่ทำอะไรกัน เราก็สนุก ก็ลองทำหมดนะ ป้ายทะเบียนรถไม้ กระจกรถไม้ เกียร์ไม้ ถอดออกมาดูเลย มีอะไรอีก โกฏิไม้ก็ทำ แล้วก็พวกเฟอร์นิเจอร์ข้างล่างอย่างที่เห็น ทุกอย่างไม่เคยดูไม่เคยอ่านไม่ลอก มันเกิดจากอารมณ์ตอนนั้น พวกเฟอร์นิเจอร์ไม้ข้างล่างวิธีทำก็หยิบมาแล้วเอามาคิด มาจากความรู้สึกล้วนๆ เราชอบงานดิบ ชอบอะไรที่มีอายุ ตามธรรมชาติ มันสวยของมัน แค่จับมันมารวม เป็นชิ้นงาน มันก็สวยของมันอย่างนี้ ไม้มันมีเสน่ห์ตรงนี้ ”
พี่หน่อยเดินนำเรามาสู่หน้าโรงไม้อีกครั้งเพื่อแสดงให้เห็น “ความรักในงานไม้” ของพี่หน่อย ตรงขื่อคานหน้าบ้านพี่หน่อยตีระแนงไม้ยาวลงมาเพื่อเก็บรักษาอุปกรณ์ช่างไม้เก่าๆที่ใช้มาตลอดสามรุ่นผ่านการตอกติดไว้กับระแนงไม้ ทั้งกบไสไม้ เลื่อยอก เลื่อยฉลุ เตาฟู่ และเดือยไม้เก่าๆเอามาแขวนเรียงกันเป็นโมบายสวยงาม แต่สิ่งที่สะดุดตาเราอย่างมากคือคันเบ็ดรูปร่างประหลาดตรงหน้าบ้าน
“นี่เป็นงานประดิษฐ์อีกชิ้น เพิ่งทำไม่นาน มันเป็นเรื่องที่ต้องอธิบายหน่อย เครื่องมือช่างสามอย่างที่มีความจำเป็นที่เขาเรียกว่าเป็นครู คือเต๊าหรือรางประทัดไว้ดึงเชือกแล้วตีเส้นโค้ง แล้วก็จะมีฉากและไม้ศอก คือสามอย่างนี้คือเครื่องยึดเหนี่ยวของช่างไม้ เราก็เอากาฝากไม้สักมาทำเป็นคันเบ็ดเพราะที่จริงเราทำอาชีพหากินกับไม้สัก กาฝากไม้สักแปลว่าเราอาศัยไม้สัก เราพึ่งพาไม้สัก โดยที่มีเครื่องมือสามชิ้นคือรางประทัด ไม้ศอก และฉากมาร้อยไว้กับด้ายเป็นคันเบ็ด เปรียบเหมือนให้เหยื่อมาติด มาซื้อผลงานของเรา”
เมื่อถามถึงอนาคตของกิจการต่อโลงพี่หน่อยก็ยิ้มน้อยๆและเล่าว่าตนเองมีลูกชายและลูกสาว แต่จะไม่บังคับให้ใครทำอะไร ให้ลูกเลือกทำในสิ่งที่ชอบ ส่วนตนเองชอบงานไม้ก็จะทำงานไม้ต่อไปแม้ว่าทุกวันนี้กิจการจะไม่รุ่งเรืองเหมือนแต่ก่อนก็ตาม เราหันมองไปรอบๆอดีตอู่ต่อเรือหน่ำเฮง อนาคตของไม้ที่กองพะเนินอยู่ไม่รู้ว่าจะลงเอยในทิศทางไหน จะฝ่าคลื่นลมแห่งความเปลี่ยนแปลงได้นานเท่าไหร่ แต่เราก็มั่นใจในฝีมือของนายช่างใหญ่รุ่นที่สามของอดีตอู่ต่อเรือแห่งนี้ว่าต้องสร้างสรรค์งานไม้ที่แข็งแรงทนทานพอจะสู้เกลียวคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยนั้นได้แน่นอน
เสียงรายการธรรมะในวิทยุดังขึ้นคลอๆกับเสียงตอกตะปู เมื่อตั้งใจฟังเราจึงคลายข้อกังวลใจโดยสิ้นเชิง
“อดีตก็ผ่านไปแล้ว อนาคตยังมาไม่ถึง พระพุทธองค์ทรงสอน ไม่ให้โหยหาอดีต ไม่ให้วาดหวังอนาคต และจงอยู่กับปัจจุบัน จะทำอะไรก็ว่าไปไม่ต้องใส่ใจกับอดีต”
ภาพสุดท้ายที่เราเห็นจากโรงต่อโลง The Last home คือชายวัยกลางคนสวมแว่นตาหยิบค้อนกับตะปูมาตอกลงบนไม้สักรูปร่างแปลกตาด้วยความตั้งใจ
เราจึงเข้าใจว่าเขากำลังทำปัจจุบันให้ดีที่สุด