งานจากค่ายสารคดีครั้งที่ 10
เรื่อง… พงศธร  ธิติศรัณย์

ภาพ… ชัชวาล มีเพียร

“มันเกิดจาก เราอยากทำเป็นการส่วนตัวล้วนๆเลย…”

อาจารย์พีระ อารีศรีสม อาจารย์ภาควิชาเทคนิคการสัตวแพทย์ คณะเทคนิคการสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  ผู้หลงใหลในการเลี้ยงปลา ได้เน้นย้ำถึงประโยคดังกล่าวหลายครั้งในระหว่างการพูดคุย

 

1.

“ผมเลี้ยงปลาทะเล แล้วก็ไปซื้อชุดกำเนิดคลื่น(wave maker) เพื่อใช้ทำกระแสคลื่นในตู้เลี้ยงปลามา ปัญหาคือว่า เครื่องกำเนิดคลื่นมันกำเนิดคลื่นใหญ่เกินไป ไม่เหมาะสำหรับตู้นาโน(ตู้ขนาดเล็ก)  เวลาเราเลี้ยงปลาทะเลแล้วเอาเครื่องกำเนิดคลื่นใส่ในตู้ น้ำมันจะปั่นป่วนมาก ก็เลยคิดว่าจะทำยังไงดี ให้มีลักษณะของการกำเนิดคลื่นขึ้นในตู้ขนาดเล็ก แรกสุดก็คิดว่าจะทำเป็นแบบกระบอกไม้ไผ่รองรับน้ำ ที่เวลาน้ำเต็มก็จะกระดกเทลงมา คิดไปคิดมาก็รู้สึกว่าน้ำ-มันน่าจะกระฉอกหก  ก็เลยทำ‘เจ้าเครื่องนี้’ขึ้นมา มันเกิดจากเราอยากทำเป็นการส่วนตัวล้วนๆเลย”

อาจารย์พีระ เริ่มต้นบทสนทนา ในการเริ่มต้นผลิตชุดกำเนิดคลื่น และบำบัดน้ำในตู้ปลาขนาดเล็ก อาจารย์ได้เล่าย้อนให้ฟังถึงปัญหาที่เกิดขึ้น  และเริ่มกระบวนการคิดแก้ไข เพื่อหาทางออก สู่ปลายทางที่ดีกว่าเดิม

ขณะที่เรื่องราวกำลังหลั่งไหลออกมาทางคำพูด คอมพิวเตอร์ที่ตั้งอยู่เบื้องหน้า ก็เผยให้เห็นถึงโปรแกรมพาวเวอร์พอยท์ ที่บรรจุข้อมูลเกี่ยวกับชุดกำเนิดคลื่น และบำบัดน้ำไว้ให้ดูประกอบด้วย

2.

เนื่องด้วยมูลค่าของการเลี้ยงปลา มีประมาณสองพันล้านบาทต่อปี เรื่องการทำธุรกิจเกี่ยวกับปลาสวยงามจึงน่าสนใจ โดยเฉพาะในปัจจุบัน ปลาก็มีการพัฒนาสายพันธุ์หลากหลาย  อุปกรณ์ที่เลี้ยงปลาก็เริ่มมีการพัฒนาขึ้น

“ในอดีต ปลาทะเลเลี้ยงยากมาก เพราะมีแต่ตู้ แล้วก็ไปตักเอาน้ำทะเลมาใส่ตู้ เปลี่ยนถ่าย แล้วต้องทำเป็นประจำ ปัจจุบันเริ่มดีขึ้น เพราะมีการทำเกลือวิทยาศาสตร์ ละลายน้ำ วัดค่าความเค็ม วัดค่าPH  แล้วก็ตีน้ำไว้หนึ่งคืน พรุ่งนี้ก็เอามาเปลี่ยนได้ คุณสมบัติเหมือนน้ำทะเลเลย”

ถึงตรงนี้ ผมได้รับรู้ถึงปัญหาใหญ่ของคนเลี้ยงปลาทะเลที่จะต้องพบในหลายสาเหตุ ทว่านี่เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของบุคคลที่ชื่นชอบในการเลี้ยงปลาทะเล แต่บ้านไม่ได้อยู่ติดริมทะเลต้องเจอ เกลือวิทยาศาสตร์จึงแทบจะเป็นตัวเลือกเดียวในการสรรหาเข้ามาใช้งาน เพื่อทำให้น้ำเลี้ยงปลามีค่าความเค็มดั่งผืนน้ำทะเล และเป็นธรรมชาติ

อาจารย์พีระ เริ่มแผ้วทาง ปูพื้นฐานสู่การเลี้ยงปลาอย่างมืออาชีพให้ฟัง ก่อนที่จะบอกเล่าถึงเทคโนโลยีดังกล่าว

“เรื่องของตู้ปลาทะเลก็มีความน่าสนใจ จุดเด่นของปลาทะเลอยู่ที่สีสันที่สวยงาม เวลาเราเลี้ยงต้องมีการจัดธรรมชาติให้เหมือนกับท้องทะเล มีการเอาหินปะการังมาใส่ มีการทำให้เกิดกระแสคลื่นเหมือนธรรมชาติ ก็จะทำให้สิ่งมีชีวิตในตู้มีความสุข ระบบการเลี้ยงปลาทะเล เราต้องเข้าใจระบบของเค้าก่อน สิ่งที่สำคัญคือการกรองน้ำ คือการเอาของเสียที่เกิดจากการขับถ่ายของปลา หรืออาหารปลาออกไปจากระบบ ซึ่งถ้าเป็นขี้ปลา ก็จะมีใยกรองกรองออกไป แต่ในส่วนที่ละลายน้ำไม่สามารถขจัดออกไปจากระบบได้ เค้าก็ใช้ระบบแบคทีเรียเข้ามาช่วย ปัญหาอีกอย่างคือ พวกมูลปลาที่ถ่ายออกมาจะตกลงสู่พื้นข้างล่าง ถ้าเราไม่ทำให้เกิดกระแสคลื่น ตะกอนต่างๆที่ตกลงสู่พื้นตู้ แล้วก็เกิดการสะสมตามก้อนหิน ปะการัง ที่เราปูพื้นอยู่ การที่เราเอาตัวสร้างกระแสคลื่นมาใช้ ก็จะช่วยพัดพาตะกอนเหล่านี้ให้ฟุ้งกระจายตลอดเวลา ไม่ตกลงมาที่พื้นตู้”

นิ้วมือของอาจารย์พีระ ได้ชี้ให้ดูถึงการกระเพื่อมไหวของน้ำที่อยู่ในตู้ปลา ขณะที่เครื่องกำเนิดคลื่นตามท้องตลาดทำงาน ด้านข้างตู้ปลาทั้งสองด้านจะมีเครื่องคล้ายพัดลมเล็ก สีดำขลับ ปล่อยกระแสน้ำออกมาเป็นจังหวะ เมื่อเครื่องซ้ายได้พ่นน้ำออกมา เครื่องทางขวาก็จะหยุด และเมื่อเครื่องทางขวาพุ่งน้ำออกมา เครื่องซ้ายก็จะนิ่งเรียบ สลับกันไปมา เมื่อมองลงมาจากด้านบน จึงเห็นน้ำสั่นไหวตลอดเวลา คล้ายมีคนยกลมทะเลมาไว้แถวนี้

“มันจะกวนให้ฟุ้งตลอดเวลา เพราะชุดสร้างคลื่น จะทำให้เกิดคลื่นตลอดเวลา เหมือนฝุ่นที่กองก้นของแก้วน้ำ เราก็ไปจับเขย่าให้มันฟุ้งขึ้นมา  แล้วในระบบของตู้ปลามันจะมีตู้กรองอยู่ข้างๆ เรียกว่ากรองข้าง ส่วนตู้ทะเลจะเจาะตู้ลงมาแล้วใส่ไว้ข้างล่าง ก็เรียกว่ากรองล่าง ก็จะดูดน้ำที่มีฝุ่นพวกนี้ให้ลงไปกรองให้สะอาด”

“ขนาดใหญ่เล็กของตู้ก็มีความสำคัญ เปรียบเทียบว่า ตู้เล็กเมื่อเทสีลงไปหนึ่งขวด ก็จะมีความเข้มระดับหนึ่ง แต่ถ้าเรามีตู้ใหญ่หน่อยแต่ขวดสีขนาดเท่าเดิม เมื่อเทลงไป ความเข้มของสีก็จะจางกว่า เพราะปริมาตรน้ำมากกว่า ก็คล้ายกับของเสียที่เกิดขึ้น ถ้าตู้เล็กของเสียเกิดขึ้น ในปริมาณเท่าเดิม ก็จะเกิดความเข้มข้นกว่าตู้ที่มีขนาดใหญ่กว่า”

ชุดความรู้เหล่านี้ของอาจารย์ เกิดจากการสังเกต ตั้งคำถาม และศึกษาด้วยตัวเอง เพราะจากการที่ผมรู้มาว่าอาจารย์จบปริญาตรีจากคณะเทคนิคการสัตวแพทย์ จึงไม่ใช่เรื่องราวที่จะศึกษาได้ในคณะดังกล่าว หรืออาจจะน้อยมาก

“เป็นเรื่องของคณะประมงที่จะศึกษามากกว่า” อาจารย์พูดปิดท้าย

ผมอดที่จะคิดในใจอีกครั้งไม่ได้ว่า “มันเกิดจากการที่อาจารย์อยากทำเป็นการส่วนตัวล้วนๆเลย”

 

3.

อาจารย์เริ่มเปรียบเทียบให้เห็นถึง ข้อดีของการผลิตชุดกำเนิดคลื่นและบำบัดน้ำขึ้นมาเอง ที่นอกจากจะช่วยลดต้นทุนที่สูงถึงหนึ่งพันห้าร้อยบาทต่อเครื่องแบบตามท้องตลาด จึงเป็นเครื่องที่กลั่นมาจากลิ้นชักความคิดของอาจารย์ และการถางทางเพื่อพัฒนาต่อยอดขึ้นมา จนเป็นเครื่องที่เหมาะกับตู้ขนาดเล็ก ซึ่งต้นทุนอยู่แค่สามร้อยบาทเท่านั้น

“ตรงนี้จะเป็นระบบกรองของเค้า” อาจารย์ชี้ไปที่เครื่องกำเนิดคลื่นตามท้องตลาด ที่ติดอยู่ในตู้ปลาขนาดใหญ่ของอาจารย์ทั้งสองด้าน

“สองตัวนี้คือเครื่องทำกระแสคลื่น คล้ายเปิดพัดลม ปิดพัดลม จังหวะที่เปิดพัดลม เค้าก็จะเป่ากระแสน้ำออกมา ก็เป็นกระแสคลื่นเกิดขึ้น อาศัยการเป่าหยุด เป่าหยุด ก็จะเป็นกระแสน้ำออกไป จะเป็นกระแสคลื่นเกิดขึ้น เมื่อเครื่องทางขวาเป่า เครื่องซ้ายก็จะหยุด เครื่องซ้ายเป่า เครื่องขวาก็จะหยุด สลับกันไปมา ตะกอนที่ล่องลอยอยู่ก็จะตกลงในช่อง ซึ่งในช่องก็จะมีใยกรอง มีปะการัง มีระบบกรองอยู่ข้างล่าง ก็จะช่วยดักขี้ปลาไว้ได้ จะทำให้ตะกอนไม่หมักหมม ถ้าตะกอนหมักหมมอยู่ข้างล่าง เลี้ยงไปสักพักนึง มักจะเรียกว่า‘ภาวะตู้ล่ม’ เพราะมีของเสียสูงกว่าปกติ ตัวนี้ก็ช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะตู้ล่มได้”

“อันนี้คือตัวปั๊มที่เค้ามีขายในท้องตลาด ชุดนึงข้างเดียว ราคาหนึ่งพันห้าร้อยบาท รวมกับตัวคอนโทรล ที่จะกำหนดว่าจะให้กระแสคลื่นแรงแค่ไหน แม้จะอยู่ในระดับเบาสุด ทว่าอยู่ในตู้ขนาดสามสิบหกนิ้ว ก็ยังให้คลื่นน้ำที่แรงมาก”

ผมไล่สายตาผ่านสายไฟที่โยงออกมาจากชุดกำเนิดคลื่นทั้งสองฝั่งตู้ ที่โยงทอดสายเข้าไปจับอยู่กับตัวควบคุมระดับความแรงของคลื่นน้ำ ที่แปะติดอยู่บนฝาผนัง ใกล้บริเวณที่ตู้ปลาชิดอยู่

จากนั้นอาจารย์พาผมเดินมายังจุดที่เป็นสาเหตุ ที่ทำให้อาจารย์กับผมเข้ามาพบกันในวันนี้

ตู้ปลาขนาดเล็ก-ขนาดจุน้ำยี่สิบลิตร ชุดกำเนิดคลื่นและบำบัดน้ำ วางอวดสายตาอยู่เบื้องหน้าแล้ว รูปร่างไม่ได้แปลกตา ทว่าออกแนวไปในทางเรียบง่ายด้วยซ้ำ ท่อพีวีซีที่โยงขึ้นมาจากตู้ปลาและต่อเข้าสู่แท็งก์น้ำเล็กๆที่วางอยู่บนขอบตู้ปลา ในนั้นมีระดับน้ำที่ไม่คงที่ เพราะท่อพีวีซีที่ต่อขึ้นมานั้นจะช่วยสูบน้ำขึ้นมาจากบ่อปลา เข้าสู่แท็งก์ กักเก็บจนได้ระดับน้ำที่สูงจนเกือบเต็ม เพื่อที่จะปล่อยลงมาสู่ตู้ปลา ที่ควบคุมการทำงานโดยระดับที่ตั้งไว้ เพื่อให้กำเนิดคลื่นน้ำที่เหมาะกับตู้ปลาขนาดเล็ก

“ตัวที่ผมทำขึ้นมาลักษณะของชุดนี้ จะประกอบไปด้วยตัวปั๊ม แล้วก็มีตัวแท็งก์สำหรับปล่อยน้ำออกมา มีท่อสำหรับปล่อยน้ำลงมาในตู้ ลักษณะของการทำงานก็คือ เราจะปั๊มน้ำจากข้างล่างในตู้เลี้ยงปลาไปพักไว้ด้านบน เมื่อระดับน้ำสูงระดับหนึ่ง ก็จะมีน้ำไหลคล้ายๆกาลักน้ำไหลลงมาตามท่อ เมื่อระดับน้ำข้างบนลดลงมาจนถึงจุดหนึ่ง น้ำก็จะหยุดไหล ปลายทางจะไม่มีน้ำออกมา แต่ปั๊มก็ยังทำงานปั๊มน้ำอยู่เรื่อยๆ เมื่อน้ำเพิ่มระดับถึงจุดหนึ่ง น้ำจะไหลมาตามท่ออีก เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ”

“อันนี้คือตัวที่เอาไปโชว์ที่งานเกษตรแฟร์ เป็นตู้ขนาดยี่สิบลิตร ด้านหน้าเป็นตู้ปกติ แล้วก็จะมีตัวกั้นกรองอยู่ข้างหลัง น้ำที่ไหลลงไปทางซี่กรอง ไหลลงไปผ่านระบบใยกรอง แล้วก็จะออกมาอีกท่อหนึ่ง นี่คือระบบปกติของตู้ แต่ว่าปั๊มตัวนี้ก็อาศัยปั๊มในระบบกรองเข้ามาช่วยในการส่งน้ำแทน ก็ส่งน้ำผ่านท่อด้านบน ตกลงมาในแท็งก์กรอง เมื่อระดับน้ำสูงในระดับหนึ่ง ก็จะไหลออกมาตามท่อ พ่นออกมาสู่ระบบตู้ของเรา และเมื่อระดับน้ำลดลงไปถึงระดับต่ำกว่าท่อ น้ำก็จะหยุดไหล อาศัยการทำงานแบบนี้เป็นจังหวะ จังหวะ ก่อให้เกิดเป็นกระแสคลื่นเกิดขึ้น ส่วนจะนานจะไวแค่ไหนขึ้นอยู่กับเรากำหนด จะมีตัวควบคุมการปล่อยน้ำ”

ผมได้ฟังคำอธิบาย และได้เห็นการทำงานของชุดกำเนิดคลื่นฝีมืออาจารย์ ก็อดที่จะชื่นชมไม่ได้

เพราะมันเกิดจากการที่อาจารย์ อยากทำเป็นการส่วนตัวล้วนๆเลย

 

4.

“พยายามคิดอะไรที่มันง่ายๆ แล้วไม่ต้องใช้ปั๊มเพิ่ม อย่างตัวตามท้องตลาดถ้าใส่เข้าไป หนึ่ง-ก็จะมีความร้อนเกิดขึ้น สอง-คือเราก็ไม่ต้องจ่ายค่าไฟสำหรับตัวนั้น เพราะเราใช้แรงดันน้ำจากข้างบน เปรียบเสมือนแท็งก์ที่จ่ายน้ำประปาให้เรา เค้าอาศัยอยู่ที่สูงแล้วไหลลงมาสู่ที่ต่ำ อาศัยกฎแรงดึงดูดของโลก”

เหมือนอาจารย์จะกำลังให้ข้อคิดเก็บกลับมา นั่นคือ พยายามคิดอะไรให้มันง่ายเข้าไว้ และใช้สิ่งที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุด

อาจารย์พีระบอกหลักการง่ายๆว่า ถ้าเราไม่มีปั๊มทำคลื่น ตู้จะมีระบบปั๊มกรองอยู่ข้างหลังอยู่แล้วทุกตู้ เราจะใส่น้ำในตู้ให้สูงกว่าซี่กรอง พอสูงกกว่า น้ำก็จะไหลล้นลงไปทางซี่กรองด้านหลัง แล้วก็จะมีปั๊มพ่นน้ำออกมา และเกิดระบบหมุนเวียน พอน้ำไหลออกมา ก็จะเข้ามาอยู่ในระบบ แล้วก็ล้นตกลงไปใหม่ ผ่านระบบกรอง ตัวปั๊มก็ปั๊มขึ้นมา แล้วลงระบบกรองใหม่  เราไม่ใช้ปั๊มเพิ่ม เราอาศัยน้ำที่พ่นออกมา เป็นตัวส่งน้ำแทน  แทนที่จะพ่นน้ำออกมาเปล่าๆเราเอาน้ำขึ้นไปเติมข้างบน เมื่อน้ำสูงขึ้น ก็จะไหลออกมาตามท่อ แล้วก็ลงมาเป็นจังหวะ น้ำที่พ่นไหลออกมาก็จะพุ่งไปกระทบกับผนังตู้ปลาอีกด้าน แล้วก็กระทบกันไปมา พุ่งกระทบเป็นจังหวะซ้ำไปมา ถ้าเราไม่มีชุดบำบัดน้ำ น้ำที่ไหลออกมาจากเครื่องกรองก็จะไหลออกมาแบบธรรมดา แต่ถ้าเอามาผ่านชุดบำบัดน้ำนี้ แทนที่น้ำจะหมุนเป็นปกติ ก็จะมีจังหวะของการหมุน เป็นระยะๆ

นอกจากอาจารย์จะอธิบายเกี่ยวก็ชุดกำเนิดคลื่น และบำบัดน้ำแล้ว เมื่อเกิดความสงสัยอะไรเกิดขึ้น อาจารย์ก็พร้อมที่จะขยับขยายชุดความรู้ให้ทันที

“เครื่องกรองน้ำมักมีทุกตู้ที่เป็นตู้กรองข้าง กรองหลัง กรองมุม แต่ก่อนตู้ปลาก็จะเป็นแบบธรรมดา มีเครื่องกรองน้ำ มีตะแกรงด้านล่าง ใส่กรวดทับลงไป สายออกซิเจนต่อออกมา เพื่อเป่าฟองขึ้น พอฟองลอยขึ้นน้ำก็จะม้วนพลิกตัวลงข้างล่าง ก็จะทำให้ตะกอนถูกกักเก็บอยู่ตามก้นตู้จำนวนมาก เวลาเราทำการเปลี่ยนน้ำ ก็ต้องขนของออกทั้งหมด เพื่อที่จะยกตะแกรงออกมาล้าง เมื่อเรายกออกมาก็จะมีขี้ปลาสะสมอยู่เยอะ เมื่อเราขี้เกียจ ก็จะหมักหมมอยู่ในตู้ รุ่นใหม่ก็จะมีการทำการกั้นผนังตู้ มีลักษณะเป็นหวีน้ำ มีวัสดุกรอง ใยกรอง ปะการัง อะไรก็ตามที่เป็นรูพรุน เพื่อกำจัดไนไตรท์ ไนเตรต เราก็ใช้ประโยชน์จากปั๊มตรงนี้ที่พ่นน้ำ จากการใส่ชุดกำเนิดคลื่นลงไป ก็ต่อเติมน้ำ ก็จะทำงานตามปกติ”

อาจารย์พีระ อธิบายแทบจะทันที หลังจากผมสงสัย และตั้งคำถามเรื่องปั๊มน้ำที่ติดมากับทุกตู้ ว่าอาจารย์เอามาใช้ประโยชน์ร่วมกันกับชุดกำเนิดคลื่น และบำบัดน้ำอย่างไร

แม้จะมีความสามารถในการคิดและประดิษฐ์ อาจารย์ก็ยังมีเสื้อคลุมของความเป็นครูสวมใส่อยู่ตลอดเวลา

 

5.

การผลิตอะไรออกมาสักอย่างหนึ่ง มักเป็นเรื่องที่ยากพอสมควร-ยากในแง่ของการวางอยู่ในจุดเริ่มต้นของความว่างเปล่า ค่อยๆลงมือถางทางและต่อเติมสถาปัตยกรรมทางความคิดลงไปทีละนิด ตัดออก ต่อเติม ถอยห่างออกมาพิจารณา จนเริ่มกลายเป็นรูปร่าง แก้ไขซ้ำแล้วซ้ำเล่า จนกระทั่งคลอดผลงานออกมาเป็นรูปธรรม

ชุดกำเนิดคลื่น และบำบัดน้ำก็เป็นเช่นกัน

ก็ใช่, ดูไปคล้ายจะง่าย เพราะเป็นการเรียบเรียงขึ้นมาใหม่ จากปัญหาเดิมที่มีอยู่

แต่หากเราลองไปยืนอยู่ในจุดเริ่มต้นแบบนั้น บางทีเราอาจเปลี่ยนวิธีคิด

“คิดวางแผนห้าหกเดือน  เริ่มต้นจากการคิดแบบกระบอกบรรจุน้ำ  แบบใบพัดกังหันชัยพัฒนา บางทีกังหันก็อาจไม่เกิดเป็นคลื่นแบบที่เราต้องการ ที่เป็นกระบอกน้ำพุ่งลงไป เวลาเครื่องทำงานก็อาจทำให้เกิดน้ำกระเด็นออกมาข้างนอก เพราะน้ำเค็มไม่เหมือนกับน้ำจืด พอกระเด็นออกมา คราบเกลือก็จะเกิดขึ้น  ก็คิดตั้งนาน พอดีไปเห็นอะไรมาหลายๆอย่าง เช่นแท็งก์น้ำประปา ที่จ่ายน้ำประปา  ก็เลยมาประยุกต์ได้มาเป็นสูตรนี้  ส่วนปัญหาและอุปสรรค ก็มีตอนที่ทำขึ้นมาใหม่ๆ ทีแรกท่อไม่ได้คดเคี้ยว เป็นท่อแบบตรง ปรากฏว่าพอน้ำไหลมาระดับหนึ่งก็จะไหลออกมาเรื่อยๆ ไม่มีการออกมาเป็นจังหวะกระเพื่อม  ก็เลยกลับไปคิดต่อ  เลยมีชุดจ่ายน้ำเกิดขึ้นเป็นตัวปิดกั้น และตัวทุ่นจ่ายน้ำออกมา พอน้ำเยอะขึ้นก็จะเปิดให้น้ำออก พอน้ำลดลงก็จะปิด เลยได้เป็นชุดนี้ออกมา ควบคุมการจ่ายน้ำออกมาเป็นจังหวะๆ กว่าจะเป็นรูปร่างก็ประมาณแปดเก้าเดือน คิดมาตั้งแต่มกราคม กว่าจะมาสำเร็จก็ช่วงกันยายน ก็ยังมีปัญหา และนำไปพัฒนาใหม่จนได้ในช่วงเดือนตุลาคม ที่ผ่านมามีประกวดนวัตกรรม เลยส่งชุดนี้เข้าไปประกวดด้วย”

อาจารย์ยิ้มกว้าง เมื่อเล่าถึงความว่างเปล่า และกระบวนการใช้มือคลำหาหนทางแก้ไขปัญหาได้

จะว่าไปแล้วทุกอย่างที่เกิดขึ้นมาบนโลก ก็ไม่ได้มีด้านที่สวยงามไว้ให้เชยชมเพียงด้านเดียว สิ่งที่เรียกว่าปัญหา ก็ยังคงอยู่คู่กับทุกสิ่ง เพียงแต่เราจะใส่ใจมองมากแค่ไหน แม้ผลงานได้ออกมาสู่สายตาแล้ว อาจารย์ก็ยังไม่นับว่าจะสมบูรณ์แบบร้อยเปอร์เซ็น ยังคงต้องพัฒนาและออกแบบอยู่เรื่อยๆ เท่าที่ปัญหาจะมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยที่สุด

“ความแรงของการปล่อยน้ำเป็นจังหวะ ขึ้นอยู่กับเราจะปรับในทีแรก ขนาดแท็งก์ ขนาดท่อ ก็แล้วแต่เราจะออกแบบในช่วงติดตั้ง ปรับได้ครั้งแรกครั้งเดียวเท่านั้น  จึงคิดว่า ก็อาจจะต้องไปพัฒนาตรงนี้ต่อ”

อาจารย์เล่าปัญหาแบบเปิดใจให้ฟัง แต่ยังไม่หมดเพียงเท่านี้

“จุดด้อยของชุดกำเนิดคลื่น และบำบัดน้ำอันนี้ คือต้องอาศัยพื้นที่วางอยู่เหนือตู้ เวลาวางอยู่บนตู้ น้ำหนักก็จะเทมาข้างใดข้างหนึ่ง มีแรงกดมากกว่าบริเวณอื่น เพราะเป็นตู้เล็ก อยู่ไปนานๆตู้ก็อาจจะร้าวได้”

 

6.

ปลายทางของความสำเร็จในชุดกำเนิดคลื่นและบำบัดน้ำนี้ อาจมีที่มาจากบางสิ่งที่อาจารย์ไม่ได้เล่าถึง ผมจึงตั้งคำถาม เพื่อเปิดพื้นที่ให้อาจารย์ได้นึกย้อนช่วงวัยกลับไป ทบทวนความหลงใหลในวัยเด็ก ในวัยที่ความสนุกสนานมาก่อนสิ่งใด จนกระทั่งอดีตได้ปั้นเด็กคนนั้นขึ้นมาเป็นอาจารย์พีระ อารีศรีสม เช่นทุกวันนี้

“มันเริ่มจากความชอบ เลี้ยงแบบชอบ เลี้ยงมาตั้งแต่เด็กเลย ตายบ้าง ก่อกรรมทำเข็ญมันเรื่อยมา ตั้งแต่เด็กเลย ตั้งแต่ยังไม่เข้าอนุบาล ผมอยู่ต่างจังหวัด ก็จะไม่ค่อยมีแหล่งซื้อ อยู่อ่างทองก็มีวีถีชีวิตของเด็กต่างจังหวัด ช่วงปิดเทอมก็จะไปช้อนลูกปลากัด เล่นแมลงทับ คือเค้าจะมีอะไรให้เล่นเป็นช่วง หน้าหนาวก็มีแมงกว่าง ก็เริ่มจากการช้อนปลากัดมาใส่น้ำ แล้วก็เลี้ยงๆๆๆ ทั้งหางใบโพธิ์ หางพัด ไปช้อนปลาเข็มบ้าง ต่างจังหวัดพอมีปลาหางนกยูงขาย ก็ไปซื้อหางนกยูงมาเลี้ยง พอโตหน่อย เดินทางไปเยอะ ก็เลี้ยงปลาคาร์ฟ ปลาทอง ที่บ้านเห็นชอบก็ซื้อตู้มาให้ ซื้อปลาทองมาให้ ก็เลี้ยงไปได้สักเดือนกว่าๆได้ เปลี่ยนน้ำทำตู้แตก ก็อดไป ก็กลับไปเลี้ยงหางนกยูงเหมือนเดิม บางทีก็รู้สึกสงสารเหมือนกัน เอาเค้ามาเลี้ยงแล้วเค้าก็ตาย เลยเริ่มศึกษาว่าเพราะอะไรเค้าถึงตาย  สาเหตุที่ทำเค้าตาย หนึ่ง-เราขาดความรู้ ตอนเราเปลี่ยนน้ำ เราเอาน้ำออกหมดเลย เอาหินไปล้าง แล้วก็เอามาใส่ในตู้ด้วยความขี้เกียจเราก็เปิดน้ำจากสายยางมาใส่ตู้เลย แล้วเราก็เอาปลาใส่ลงไปทันที หนึ่ง-น้ำมีคลอรีน ปลาก็ช็อคตาย สอง-คือเราไม่รู้จักคำว่าปรับน้ำ ก็เอาน้ำใส่ลงไปเลย น้ำเก่าสิ่งสกปรกเต็มเลย น้ำใหม่สะอาดเกินไป ปรับตัวไม่ทัน ปลาก็ตาย ด้วยสาเหตุนี้เราก็รู้ละ หนึ่ง-เราจะไม่เอาสายยางจุ่มลงมาเปิดน้ำใส่ตู้ สอง-ก่อนเราเอาปลาลง เราก็เอาปลาใส่ถุง แล้วเอาไปแช่ในตู้สักสิบห้านาที แล้วเราก็เปิดปากถุง ตักน้ำใส่ ทีละแก้ว ทีละแก้ว จนน้ำใหม่มากกว่าน้ำเดิม จึงค่อยปล่อยปลาลงไปในตู้”

คำอธิบายยาวเหยียดนี้ บอกเป็นอย่างดีว่า ทุกสิ่งที่ทำมาที่เกี่ยวกับปลา ตู้ปลา กระทั่งการเลี้ยงปลา มันเริ่มมาจากความชอบ สนองความต้องการของตัวเองมากกว่าที่จะคิดอย่างอื่น

 

7.

ถึงตอนนี้ชุดกำเนิดคลื่นและบำบัดน้ำ ของอาจารย์พีระ อารีศรีสม ก็ยังไม่มีวางจำหน่ายออกสู่ท้องตลาด อาจารย์ยังอยากพัฒนาต่อไปเรื่อยๆ แต่ไม่แน่เมื่อถึงเวลานั้น ในวันที่ฟ้าฝนและความพยายามม้วนรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เราอาจจะได้เห็นชุดนวัตกรรมของอาจารย์ชุดนี้ ตั้งอวดสายตาอยู่ในร้านใดร้านหนึ่งก็ได้

“ทำเพื่อสนองความต้องการของตัวเองเท่านั้น” ประโยคนี้ ยังคงดังก้องในความคิดของผม

แม้ความสำเร็จของชุดกำเนิดคลื่นและบำบัดน้ำในตู้ขนาดเล็ก จะยังไม่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายให้กับสังคมและคนหมู่มาก แต่ผมได้เรียนรู้ถึง กระบวนการเริ่มต้นลงมือกระทำบางสิ่งบางอย่าง จนกระทั่งถึงปลายทางในจุดพอใจที่ได้วางหมุดเอาไว้ข้างหน้า ทั้งสังเกตเห็นแววตาที่มุ่งมั่น และน้ำเสียงที่เอาจริงเอาจัง กับบางคำพูดที่ไม่ได้เปล่งออกมาจากลำคอ

ใช่, ผมได้เรียนรู้จากการเฝ้ามองความคิดของอาจารย์ผู้นั้น

อาจารย์ผู้ใช้ความชอบขับเคลื่อนการลงมือทำ และความหลงใหลในการดำเนินชีวิต

ด้วยคำบางพูดนั้น ที่ผมดันเข้าไปรู้สึก และเก็บรับกลับมาขบคิด…

“เน้นความชอบเป็นส่วนใหญ่ พอเล็งเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ก็จึงนำมาพัฒนาต่อยอด”

ถูกต้องอย่างที่ว่า,

…สิ่งไหนที่ผลิตออกมาจากความชอบ สิ่งนั้นมักถูกผูกติดกับใจออกมาด้วยเสมอ.

12  มิถุนายน 2557
พญาไท

 

ขอบคุณครับ…

  • อาจารย์พีระ อารีศรีสม อาจารย์ภาควิชาเทคนิคการสัตวแพทย์ คณะเทคนิคการสัตวแพทย์   มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ .