งานจากค่ายสารคดีครั้งที่ 10
เรื่อง อนิตา ดาหลาย
ภาพ ลีนา นาคะวิโรจน์
แต่ไหนแต่ไรมาฉันเป็นคนในเมือง บ้านที่ต่างจังหวัดยังอยู่ในอำเภอเมือง ชีวิตมหา’ลัยรวมทั้งการทำงานก็ยังต้องดิ้นรนในเมืองหลวง ตื่นเช้าตรู่ทุกวัน รีบเร่ง แก่งแย่งที่นั่งบนรถเมล์ กลับเข้ามาด้วยแรงที่หมด และพลังชีวิตที่หล่นหาย เป็นอยู่อย่างนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก ท้องฟ้าในเมืองนั้นก็แคบ มีตึกมากมายราวกับงอกออกมาได้เอง ดวงดาวหลายล้านดวงถูกกลืนดับไปด้วยแสงไฟสว่างจ้าในทุกค่ำคืนที่ไม่เคยหลับ ฉันเพียงแค่อยากฟังเสียงนกร้อง และมองเห็นสีเขียว เป็นสีเขียวที่ไม่แข็งกระด้างของหมู่มวลไม้
หลังห้องเช่าของฉันมีแคคตัสสามสี่ต้น มะลิอีกหนึ่ง ทำตัวเสมือนได้ใกล้ชิดธรรมชาติ เพิ่มพลังให้กับชีวิตที่ถูกลดทอนจากสิ่งเร้าภายนอก แม้ว่ามันจะน้อยนิดอย่างมหาศาลก็ตาม ฉันพยายามปลูกผักไว้กินเองเพราะนิยมความเป็นออร์แกนิก ไม่ชอบแช่ผักผลไม้นานๆ และขี้เกียจล้างหลายๆ รอบ เคยลองเอาก้านโหระพาที่ได้จากการซื้อส้มตำ ริดใบออก ปักดิน รดน้ำ ผลปรากฏว่าไม่กี่วันมันก็เน่าและตาย แต่ฉันก็ไม่ท้อ ลองปลูกซ้ำๆ แบบเดิมอีก ผลที่ได้ก็เหมือนเก่า เมื่อใช้วิธีเดิมๆ บวกกับการใช้ความอดทนอย่างหลับหูหลับตา ยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการได้สำเร็จ ฉันจึงหาวิธีใหม่ โดยซื้อเมล็ดพันธุ์มาปลูกแทน คราวนี้นอกจากโหระพาแล้ว ยังมีคะน้ายอด พริกขี้หนู ปวยเล้ง บร็อกโคลี่ ทำราวกับว่าตัวเองเป็นคนมือเย็น ปลูกอะไรก็ขึ้น ด้วยความโหยกระหายธรรมชาติถึงเพียงนี้ ฉันเลยออกเดินทาง แต่ภาระหน้าที่การงานและเวลาที่มีอยู่อย่างจำกัด สถานที่นั้นจึงต้องไม่ไกลจากกรุงเทพฯ
ฉันเลือก “บางกะเจ้า” เพราะเป็นพื้นที่สีเขียวในคุ้งน้ำขนาดใหญ่ โดยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมและสวนผลไม้ดั้งเดิม ยังคงความเป็นธรรมชาติไว้ แม้ว่าจะถูกรายล้อมด้วยสังคมเมืองและอุตสาหกรรม คนทั่วไปรู้จักกันในความหมายว่าเป็นปอดของคนกรุงเทพฯ ปอดกลางเมืองที่ดีที่สุดในเอเชีย อย่างที่ฝรั่งเค้าเรียก The Best Urban Oasis of Asia โดยการยกย่องของนิตยสารไทม์ ฉบับ Best of Asia ปี พ.ศ. 2549 เพราะเป็นแหล่งผลิตออกซิเจนให้แก่คนกรุง ต้นไม้ที่ปกคลุมช่วยรักษาอุณหภูมิของเมืองให้อยู่ในระดับต่ำ ป้องกันการพังทลายและไหวหนีของหน้าดินโค้งแม่น้ำเจ้าพระยา ช่วยชะลอความเร็วของน้ำและเป็นที่พักตะกอนต่างๆ สภาพพื้นดินมีการทับถมของตะกอนบริเวณปากแม่น้ำเจ้าพระยา ดินจึงมีความอุดมสมบูรณ์ จนครั้งหนึ่งเคยเป็นแหล่งไม้ผลที่มีชื่อเสียงแห่งหนึ่งของประเทศไทย บางกะเจ้าตั้งอยู่ที่อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ การเดินทางสะดวก สามารถเดินทางด้วยรถไฟฟ้าหรือรถไฟฟ้าใต้ดินมาลงแถวตลาดคลองเตย นั่งวินมอร์เตอร์ไซค์ราวๆ 20 บาท ลงตรงท่าเรือคลองเตยนอก ต่อเรือข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา นั่งมา 5 นาที ก็จะสัมผัสถึงความแตกต่างระหว่างเมืองกับป่าได้โดยทันที
บางกะเจ้า เป็นชื่อตำบลหนึ่งใน 6 ตำบล ที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติให้มีการอนุรักษ์พื้นที่สีเขียวซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรม เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2549 ซึ่งประกอบด้วย ตำบลบางกะเจ้า ตำบลทรงคะนอง ตำบลบางกระสอบ ตำบลบางน้ำผึ้ง ตำบลบางกอบัว และตำบลบางยอ คำว่า กะเจ้า มีความหมายว่า นกยาง หรือ นกกระยาง สันนิษฐานว่าสมัยก่อนมีนกกระยางมาอาศัยในพื้นที่จำนวนมาก คอยดักจับสัตว์น้ำตามริมป่าชายเลนซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์สูง จึงอาจตั้งชื่อตามคำๆ นี้ หรืออีกแง่หนึ่งซึ่งเล่าต่อกันมาว่าพื้นที่บางกะเจ้ามีสภาพดินฟ้าอากาศร่มเย็น เป็นธรรมชาติ ไม่ร้อนเหมือนฝั่งพระนคร เหมาะกับการตั้งบ้านเรือนเพื่ออยู่อาศัย ฝั่งตรงข้ามเป็นช่องนนทรีและพระโขนง (คลองเตย) ในอดีตมีเหล่าขุนนางชั้นสูง มียศถาบรรดาศักดิ์อาศัยอยู่มาก ผู้หญิงนิยมไว้ผมมวยสูงรัดเกล้าได้มีการอพยพหลบหนีข้ามฝั่งลำน้ำเจ้าพระยาโดยใช้ลำคลองสายหนึ่งมายังฝั่งบางกะเจ้าด้วยเหตุผลไม่แน่ชัด จนชาวบ้านมักเรียกว่า ช่องนางหนี ปัจจุบันถูกเปลี่ยนเป็น ช่องนนทรี ส่วนลำคลองอีกสายหนึ่งที่มาถึงฝั่งตรงข้ามก็เรียกว่า คลองรัดเกล้า แล้วเปลี่ยนเป็น คลองบ้านเจ้า เมื่อมาอยู่อาศัยกันมากขึ้นคนทั่วไปจึงเรียกและขนานนามพื้นที่นี้ว่า บางบ้านเจ้า หรือไม่ก็ บางรัดเกล้า ต่อมาเมื่อกาลเวลาเปลี่ยนแปลงไป จึงกลายมาเป็น บางกะเจ้า จนถึงทุกวันนี้
เมื่อมาถึง ฉันเช่าจักรยานตรงท่าเรือบางกะเจ้า หรือที่ชาวบ้านเรียกกันอย่างคุ้นเคยว่า ท่าเรือกำนันขาว ในเช้าวันหยุดอย่างนี้ นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย ชาวต่างชาติ ต่างหลีกหนีมหานครแห่งความวุ่นวาย เพื่อมากอบโกยความสุขสีเขียว ฉันมองเห็นจักรยานที่ถูกขนขึ้นมาจากเรือพร้อมชุดทะมัดทะแมงเตรียมปั่นตะลุยบางกะเจ้าอย่างทะลุทะลวง ฉันปั่นเนิบๆ ไปตามทาง ผ่านสถานที่ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อนักท่องเที่ยว อย่างสวนศรีนครเขื่อนขันธ์ ซึ่งเป็นสวนสาธารณะที่ปรับปรุงจากพื้นที่สวน จัดทำเป็นสนามหญ้า ปลูกไม้ดอกไม้ประดับ มีสระน้ำขนาดใหญ่ และศาลาริมน้ำให้นั่งพักผ่อน มีพื้นที่เกษตรสาธิต อย่างสวนมะพร้าวและสวนหมากที่คงสภาพของสวนเดิม มีการยกร่องสวนซึ่งเป็นภูมิทัศน์วัฒนธรรมดั้งเดิมของไทยที่กำลังสูญหายไปจากการเติบโตและขยายตัวของชุมชนเมือง มีเสียงนกและได้มองเห็นนกตัวเป็นๆ ทั้งนกกระเต็นอกขาว ตะขาบทุ่ง กินปลีอกเหลือง แซงแซวสีเทา และอีกหลากหลายชนิด ที่เห็นจะพบบ่อยก็คือตัวเหี้ย มันชอบเดินราวกับตัวเองเป็นเจ้าถนน ซึ่งฉันก็เกรงใจ เจอทีไรต้องจอดรถและยอมหลีกทางให้ทุกที
พอออกจากสวนศรีนครเขื่อนขันธ์ก็ปั่นไปตามถนนแคบๆ ในซอยเล็กๆ ถนนนั้นทำด้วยปูนและถูกยกสูงจากพื้นดินที่เป็นโคลน เนื่องจากพื้นที่มีลักษณะเป็นเกาะ แม่น้ำเจ้าพระยาล้อมรอบ ได้รับอิทธิพลจากน้ำทะเลหนุน ทำให้ระบบนิเวศเป็นแบบผสมผสาน คือ บริเวณริมตลิ่ง ตามฝั่งแม่น้ำลำคลองที่มีน้ำเค็มจนถึงน้ำกร่อยท่วมถึงจะมีพันธุ์พืชของป่าชายเลนขึ้นกระจายโดยรอบ ทั้งต้นจาก ลำพู ปอทะเล โพทะเล ประสัก หรือพังกาหัวสุมดอกขาว หรือชาวบ้านเรียกกันว่า ต้นคลัก ส่วนพื้นที่ด้านในจะรับอิทธิพลของน้ำทะเลน้อยกว่า จึงมีลักษณะเป็นป่าบึงน้ำจืด มีพืชจำพวก กรวย หว้า คาง ข่อย จิกสวน ฯลฯ ฉันปั่นลัดเลาะไปตามสวนผลไม้อันร่มรื่น เงียบสงบ บ้านแต่ละหลังอยู่ห่างๆ กัน สิ่งที่สังเกตได้ชัดและเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของบางกะเจ้าคือ ร่องสวน
ร่องสวนเป็นวิถีชีวิตของชาวสวนไทยแต่โบราณ เพื่อปรับตัวให้อยู่ร่วมกับธรรมชาติได้โดยไม่กลัวน้ำท่วมหรือน้ำหลาก สามารถพบได้ในพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างที่มีการท่วมของน้ำทุกๆ ปี หรือได้รับอิทธิพลของน้ำขึ้นน้ำลง โดยจะขุดท้องร่องให้ขนานสลับไปกับเนินดินสูงสำหรับปลูกพืชสวน หน้าแล้งท้องร่องจะสามารถเก็บน้ำไว้สำหรับการเพาะปลูก หน้าน้ำก็เป็นช่องทางให้น้ำไหลผ่านไปได้สะดวก แถบไหนน้ำหลากหนักก็จะขุดท้องร่องให้ลึก คือจะปรับตัวตามลักษณะพื้นที่แต่ละแห่ง
พี่ปนาฬี มังกรศักดิ์สิทธิ์ นักวิชาการป่าไม้ปฏิบัติการ ศูนย์จัดการพื้นที่สีเขียวเชิงนิเวศนครเขื่อนขันธ์ได้ให้ข้อมูลว่า ถ้าไม่ทำร่องสวน น้ำจะท่วมหมดเลย พื้นที่แบบนี้จะมีแถวนครชัยศรี แถวอัมพวา ตรงบริเวณที่เป็นปากแม่น้ำที่มีการท่วมของน้ำ คือมันเป็นภูมิปัญญาในการปรับตัว ไม่อย่างนั้นก็ปลูกอะไรไม่ได้ จึงต้องยกร่อง การยกร่องมันจะมีผลดีตรงที่ว่า นอกจากจะปลูกต้นไม้ได้แล้ว การขุดเอาดินขึ้นมาโดยการลอกร่องก็เป็นการเพิ่มธาตุอาหารให้ดินด้วย
“ตอนนี้น้ำไม่ท่วมแล้ว แต่ก็ยังมีร่องสวนเหมือนเดิม ถึงแม้ว่าเดี๋ยวนี้จะไม่ได้ทำสวนเหมือนเมื่อก่อน ไม่ได้ทำเป็นรายได้หลัก จึงเห็นว่าสวนมันรก ไม่ค่อยทำความสะอาด ไม่มีการกำจัดวัชพืช วิถีมันเปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่ไม่ทำสวน พ่อแม่ส่งให้เรียนสูงๆ เด็กรุ่นหลังไม่ได้ทำแล้ว งานร่องสวนมันเป็นงานหนัก แล้วมันต้องขยัน ที่มีทำสวนอยู่นี่คือเป็นรุ่นพ่อรุ่นแม่”
แม้พี่ปนาฬีจะไม่ได้เป็นคนในท้องที่ แต่การได้ทำงานที่นี่มานาน จึงเข้าใจความเป็นมา และเล่าข้อมูลให้ฟังด้วยน้ำเสียงที่บ่งบอกถึงความเป็นห่วง เพราะเมื่อไม่มีน้ำท่วมในพื้นที่แล้วก็มีผลต่อวิถีชุมชนอย่างหนึ่งคือ มีคนมากว้านซื้อที่ สังเกตได้จากป้ายประกาศขายที่ดินระหว่างสองข้างทางถนน แต่ที่ยังคงความเป็นพื้นที่สีเขียวอยู่ได้ เพราะมีกฎหมายควบคุมอาคาร สิ่งก่อสร้าง ห้ามสร้างตึกสูงเกิน 3 ชั้น ไม่อย่างนั้นที่ดินริมแม่น้ำก็กลายเป็นคอนโดไปหมดแล้ว มีโครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ และคนในพื้นที่ส่วนใหญ่ยังปลูกต้นไม้อยู่ แต่ตอนนี้มันก็เปลี่ยน บางคนขายที่แล้วก็ถมเลย ถมร่องสวน ตัดต้นไม้ออก สร้างบ้านบ้าง ซื้อเก็งกำไรบ้าง
ระหว่างที่ฉันปั่นจักรยาน สองข้างทางคือสวน เป็นลักษณะแบบสวนบ้าน ปลูกพืชผสมผสานระหว่างไม้ยืนต้น เช่น ทองหลางกินใบ หมาก มะหร้าวน้ำหอม และไม้พื้นถิ่นดั้งเดิมในพื้นที่อย่าง ปอทะเล โพทะเล ตีนเป็ดน้ำ มีไม้ผล เช่น มะม่วงน้ำดอกไม้ ชมพู่มะเหมี่ยว ขนุน กล้วยน้ำว้า มีพืชผักสวนครัวอย่าง มะนาว ตะไคร้ พริกขี้หนูสวน แถมยังมีพืชตัดใบทนร่มอย่าง หมากผู้หมากเมีย และชะพลู
คนในพื้นที่แต่เดิมอย่างพี่ณกัญญา ชุ่มสมบัติ ตั้งแต่เด็กถูกส่งไปเรียนฝั่งพระนคร ต้องข้ามเรือทุกวัน ชีวิตส่วนใหญ่จึงอยู่ข้างนอก ตอนนี้เป็นอาจารย์สอนอยู่มหา’ลัยชื่อดังแห่งหนึ่ง บ้านที่นี่จึงมีแต่คนแก่ เสาร์-อาทิตย์จะกลับมาเยี่ยมแม่ บริเวณรอบๆ บ้านมีสวน ปลูกพืชหลายอย่าง ปลูกไว้แบบไม่ต้องคอยดูแล ใบไม้ที่เห็นอย่างหมากผู้หมากเมียจะมีคนมารับซื้อ มะพร้าวเค้าก็มารับไปขาย
“เราอยู่แล้วเราก็ทำงานข้างนอก เพราะฉะนั้นเราไม่ได้ต้องการรายได้มากมายเพื่อที่จะให้รวย หรือต้องการให้คนเข้ามาเที่ยวมากขนาดนั้น เพราะเรามองว่าพื้นดินที่ไหนมันมีความเจริญมาก มันก็จะมีความอันตรายสูง มีอาชญากรรม พี่จึงอยู่แบบพอเพียง ไม่ต้องดิ้นรนมาก ฉะนั้นเวลาคนมาซื้อที่ดินเราก็จะไม่ขาย แถวนี้เราจะคุยกันเลยว่าถ้าคนมาขอเช่าเพื่อทำหอพักหรือมาเช่าบ้านอยู่ เราไม่ให้อยู่หรอก เราปลูกไว้ให้มันแล้งไปอย่างนั้นแหละ เพราะเราไม่ได้ need ขนาดนั้น เราแค่ต้องการอยู่แบบสบาย”
ฉันรู้สึกว่าคนที่นี่มีอัธยาศัยดี การพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ ข้อคิดเห็นต่างๆ สามารถทำได้อย่างเป็นกันเอง ราวกับย้อนเวลากลับไปในสมัยที่ผู้คนต่างมีเวลาเหลือเฟือสำหรับการมีปฏิสัมพันธ์แบบ Face to Face หรือการสื่อสารแบบเผชิญหน้า มากกว่าการคุยกันผ่านระบบ Social พี่ณกัญญายังบอกอีกว่า คนเราถ้าไม่คุยกันจะไม่รู้ เดิมทีคนในพื้นที่ส่วนใหญ่มีฐานะที่ไม่ได้ปากกัดตีนถีบมากนัก พอคนที่นี่ไม่ต้องปากกัดตีนถีบมาก ทัศนคติจะเป็นเชิงบวก แต่ถ้าคนที่ปากกัดตีนถีบ อดอยาก มีความเป็นอยู่แร้นแค้น ทัศนคติจะเป็นเชิงลบ จะคำนึงถึงแต่สิทธิที่ตัวเองควรจะมี ควรจะได้ เพราะคิดว่าทำไมคนอื่นเขามีแล้วเราไม่มี แต่ถ้าเราอยู่ในคนชนชั้นกลาง ความคิดนั้นมันก็จะไม่ค่อยมีมาก…นี่คือมนุษย์ คนเราจะต้องได้รับการตอบสนองขั้นพื้นฐานที่เรียกว่า ปัจจัย 4 ก่อน ถึงจะมีความต้องการในระดับถัดไป จนกระทั่งถึงการยกย่อง แล้วก็ประสบความสำเร็จสูงสุดในชีวิต แต่คนที่นี่พื้นฐานเขาได้แล้ว เพราะฉะนั้นการเคารพยกย่องมันก็ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลแล้วว่า โดยพื้นฐานของอุปนิสัยเดิมเป็นคนแบบไหน ถ้าอุปนิสัยเดิมไม่ดี มันก็จะส่งผลถึงทัศนคติที่ไม่ดีตามมาด้วย
จากที่ปั่นจักรยานผ่านๆ มา น้อยนักที่จะเห็นคนทำสวนเป็นอาชีพหลัก จนมาเจอพี่รเนศ กุระธารสายชล เจ้าของสวนพื้นที่ 6 ไร่ พี่รเนศดูหนุ่มกว่าอายุมาก เป็นคนผิวขาวเหลืองที่ผ่านการกรำแดดกรำฝน ลักษณะการแต่งตัวบ่งบอกให้รู้ในทันทีว่าเป็นชาวสวนตัวจริง ด้วยการสวมเสื้อเชิ้ตแขนสั้นสีชมพูเข้ม จริงๆ เสื้อตัวนี้อาจเคยเป็นสีแดงด้วยซ้ำ ข้างหลังมีรอยขาดเป็นหย่อมๆ สวมกางสามส่วนสีฟ้า เดินแนะนำสวนด้วยเท้าเปลือยเปล่า พี่รเนศเล่าว่า ครอบครัวทำสวนตั้งแต่รุ่นปู่ ทุกวันนี้ปลูกมะม่วง มะนาว หมาก กล้วย หมากผู้หมากเมีย ดูแลคนเดียว บางทีจ้างเขากำจัดวัชพืชบ้าง ต้องกระจายเงินออกไปให้เขาใช้บ้าง เวลาเข้าสวนต้องดูสภาพแดด เมื่อก่อนบ่ายๆ ก็ออกมาทำงาน เดี๋ยวนี้ไม่ได้แล้ว มันร้อนมาก แต่ต้นไม้มันทนได้ ที่ทำสวนเป็นเพราะพ่อแม่เคยทำ แต่เค้าไม่ได้สอนอะไรมากมาย จำๆ เอา แล้วก็ดูดินฟ้าอากาศ อย่างกล้วยต้องรู้ว่าเดือนนั้นเดือนนี้จะออกแล้ว อย่างน้อยๆ ประมาณสักตุลา กล้วยจะต้องตกเครือแล้ว อย่างมะนาว ถ้าฝนตกเก็บไม่ได้ ผิวจะเสีย มันจะช้ำ ถ้าฝนตกอย่าไปเก็บ มะนาวโดนน้ำ มะนาวจะกินน้ำ เหมือนมันบำรุงผิว มะนาวจะเป่ง คนที่เก็บมาก่อนเคยพูดไว้ว่าฝนตกอย่าเก็บมะนาว การดูแลก็ให้น้ำ ให้ปุ๋ยบำรุง น้ำใช้สปริงเกอร์ ถ้าสมัยก่อนใช้เรือรดน้ำ ตอนนี้ที่นี่ไม่มีใครทำสวนแบบนี้แล้วพอมีเขื่อน การทำสวนต้องมีเวลา ถ้าทำจริงๆ ต้องเข้าทุกวัน เข้าไม่ทุกวันก็ได้ ถ้าเราทำใหม่ๆ ทำยังไงก็ได้ให้มันงามไว้ก่อน พองามแล้วมันก็จะอยู่เองตามธรรมชาติ หาไม้ใหญ่มาทำเป็นร่มเงาบ้าง ต้นไหนตายก็ต้องขยันหามาซ่อม
“ทำสวนเป็นอาชีพหลักแล้ว เอาไปทิ้งไม่ได้ มันทำเป็นแล้ว ชอบด้วย สบายใจ บางทีว่างๆ เดินๆ เห็นต้นไม้ มันเขียวดีนะ พอปลูกอะไรแล้วมันงาม มันมีความสุข มองเห็นต้นไม้แล้วมันสบายใจ อารมณ์ไม่ดี อะไรไม่ดี ไปเดินที่สวน เออ…มันสบายใจ ถ้าเราไปทะเลาะกับใคร โมโหใครมา แล้วมาเดินในสวน มันจะสบาย เราไปทำสวนดีกว่า เดี๋ยวแป๊บเดียวมันจะลืม เวลามีลูกมีหลานแล้วโมโหอะไร อย่าไปทะเลาะกับใคร ไปบอกมันให้มาดูต้นไม้ มองเห็นสีเชียวๆ งามๆ แล้วมันก็เจริญตา”
จริงๆ อาชีพสวนนั้นมีเกียรติพอๆ กับอาชีพแพทย์ ทหาร หรือวิศวะ แถมยังได้รับความสุขมากกว่า แม้ผลตอบแทนเป็นตัวเงินจะเล็กน้อย บางครั้งอาจไม่พอสำหรับการใช้จ่ายในครัวเรือน แต่พี่อำนวย เวทสูตร พนักงานบริษัทที่จะต้องทำงานประจำตั้งแต่วันจันทร์-ศุกร์ ก็ยังมาเป็นชาวสวนเฉพาะวันเสาร์กับวันอาทิตย์ และยืนยันว่า
“ทำสวนมันไม่เครียด เหนื่อยเราก็พัก พอเดินออกมาแล้วสักพักมันร้อน ไม่ไหว เหนื่อย ธรรมชาติสมัยก่อนกับสมัยนี้ต่างกันมาก เมื่อก่อนอากาศจะดีกว่านี้เยอะ แบกไอ้โน่นเข้ามา แบกไอนี่เข้ามา เข้าบ้าน อาบน้ำ นอนหลับสักตื่น สามโมงสี่โมงเย็นก็ออกมาทำสวนต่อจนถึงทุ่มกว่าๆ
“ทำสวนเป็นอาชีพเก่าของพ่อแม่ พี่ทำสวนเป็นอาชีพเสริม ถ้าเขาไม่ได้จ้างงานแล้วก็เอาอาชีพนี้เป็นหลัก ถ้าเราเลิกไอเงินน้อยอย่างนี้ แล้วทางโน้นเขาก็เลิก เลิกจ้างเรา เงินน้อยมันก็ยังมีเงินอยู่ คือยังมีหลักประกันอยู่ เพราะเราลงทุนมานานแล้วไง มันก็คุ้มแล้วล่ะ คุ้มทุนแล้ว”
ที่ดินของพี่อำนวยเป็นพื้นที่ของกรมป่าไม้ แต่ป่าไม้ให้ใช้พื้นที่เพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ให้เกิดความสวยงาม เพราะเมื่อก่อนมีการปล่อยทิ้งร้าง ดูแล้วไม่สวยงาม ชาวบ้านจึงรวมกลุ่มขอใช้พื้นที่ โดยทำเป็นสวน ซึ่งพื้นที่ที่ราชการดูแลมีเพียง 10.8 เปอร์เซ็นต์ ของพื้นที่ในบางกะเจ้า ส่วนอีกประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ เป็นพื้นที่ของประชาชนทั่วไป ความเป็นสีเขียวอย่างยั่งยืนของพื้นที่นี้จึงต้องอาศัยความร่วมมือของคนในชุมชนทั้ง 6 ตำบล อาจจะต้องดำเนินการปรับปรุงพื้นที่สวนผลไม้เดิมที่เสื่อมโทรม รกร้าง ให้กลับคืนสู่สภาพดี ส่งเสริมการกลับมาทำอาชีพเกษตรกร สร้างแรงกระตุ้นในการหาตลาดรองรับผลผลิต ให้ความรู้เกษตรทฤษฎีใหม่ การทำเกษตรแบบผสมผสาน ให้คนในพื้นที่สามารถประกอบกิจกรรมเลี้ยงชีพได้บนพื้นที่ของตนเอง และนำความเป็นภูมิทัศน์วัฒนธรรมดั้งเดิมของไทยที่กำลังสูญหายกลับคืนมา
ระหว่างเดินทางกลับด้วยเรือ เป็นเรือลำเล็กๆ คล้ายๆ เรือพาย ดูบอบบาง มีเครื่องยนต์ช่วยทุ่นแรง ฉันพบว่าสายน้ำที่กั้นกลางบางกะเจ้ากับมหานครแห่งความเร่งรีบอย่างกรุงเทพฯ เป็นสิ่งเชื่อมต่อของคนที่มีความต้องการที่มีจุดร่วมกันคือ ธรรมชาติและความเจริญทางอุตสาหกรรม เราไม่มีทางย้อนกลับไปให้บางกะเจ้าสมบูรณ์อย่างในอดีต และไม่สามารถหยุดกรุงเทพฯ ไม่ให้เติบโตได้ เพราะการเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมชาติของกาลเวลา ซึ่งนั่นไม่ได้แปลว่าเราจะยอมรับโดยไม่ทำอะไรเลย แต่เราจะต้องเรียนรู้ ปรับตัว และตระหนักถึงความสำคัญในคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่ เพื่อรักษาบางกะเจ้าให้ยังคงความเป็นเอกลักษณ์อันงดงามทางด้านทรัพยากรธรรมชาติและมรดกทางวัฒนธรรม