วายร้ายสีแดง
กะเทาะโลกกีฬา นักกีฬายอดนิยม (ในกระแส)
แม้แต่เสียงข้างสนามแบบมี “ทางเลือก” ชวนขบคิด ปนขำๆ
เดือนกันยายนโบกมือลาเปลี่ยนผ่านสู่ไตรมาสสุดท้ายของปี…ต่อเนื่องเดือนมกราคมปีหน้า หมายถึงกิจกรรมวิ่ง ปั่น หรือกีฬากลางแจ้งอื่นๆ เข้าสู่ช่วงเวลาทอง เป็นฤดูแข่งขันอันเข้มข้น
ฝนซา ลมหนาวมาแผ่วๆ สนามกีฬาใกล้บ้านคล้ายตื่นจากจำศีล นักวิ่งลงซ้อมกันให้คึ่ก บ้างก็เข้ายิมเสริมสร้างกล้ามเนื้อ พีอาร์ของ “เดอะนอธเฟซ ๑๐๐” โทร.มาชวนสมัครวิ่งเทรลมาราธอนตั้งแต่ต้นเดือนกันยายน กว่างานจริงจะเริ่มก็ ๓๑ มกราคม ๒๕๕๘ โน่น
งานวิ่งใหญ่ๆ เดี๋ยวนี้ต้องสมัครล่วงหน้าข้ามปี ช้าอาจเต็ม นักวิ่งเองเมื่อตัดสินใจล่วงหน้าแบบ “นกตื่นเช้า” เท่ากับผูกมัดตัวเองกลายๆ ว่าต้องฟิตซ้อมร่างกายให้พร้อมสำหรับเส้นทางที่เลือก ไม่ว่า ๑๐, ๒๑ หรือ ๑๐๐ กิโลเมตร ซึ่งฝ่ายจัดการแข่งขันก็สมนาคุณนกตื่นเช้าเหล่านั้นด้วยค่าสมัครที่ถูกกว่าปรกติเล็กน้อย
คน (ในเมือง) วิ่งเยอะขึ้น ขี่จักรยานเยอะขึ้น ภาพรวมคนสนใจออกกำลังกายกันมากขึ้น-จริงไหม ? ไม่ต้องเอ่ยอ้างถึงกระแส/ความนิยม “วิ่งมาราธอน” ซึ่งเห็นรูปธรรมชัดเจนจากงาน “Human Run 2014” เมื่อวันที่ ๑ กันยายน ๒๕๕๗ หรือผู้หญิงนิยมฝึก “มวยไทย” เพื่อเผาผลาญไขมัน
ขวบปีที่ผ่านมาต่างประเทศเกิดกระแสสาวๆ นิยมเข้าฟิตเนสเสริมแกร่ง สลายไขมัน ตามคำเรียกขานว่า protein princesses ซึ่งหมายถึงหญิงสาวอายุเฉลี่ย ๒๐ กลางๆ ที่หมั่นเข้าฟิตเนสสัปดาห์ละ ๔-๕ วัน ฝั่งผู้ชายก็เกิดกระแสหมกมุ่นกับฟิตเนสเหมือนกัน แต่ช่วงวัยต่างไป เพราะกลุ่มที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเป็นกลุ่ม “Mamil” ซึ่งอายุนำหน้าด้วยเลข ๔ แล้ว
คำ mamil ย่อมาจาก middle aged men in lycra - ชายวัยกลางคนในชุดไลครา
ตรง “ไลครา” นั้นฟังคุ้นๆ เหมือนโฆษณาเสื้อผ้า ที่จริงมันเป็นทั้งยี่ห้อและชนิดเส้นใยสังเคราะห์ คุณสมบัติพิเศษคือยืดหยุ่นสูง น้ำหนักเบา นิยมใช้ผลิตชุดชั้นใน ชุดกีฬา โดยเฉพาะชุดแข่งจักรยาน วิ่ง ว่ายน้ำ ทีแรกผมคิดว่า “ไลครา” น่าจะเป็นสัญลักษณ์ของ “ชุดกีฬาใดๆ” ที่นักกีฬาสวมใส่มากกว่าผลิตด้วยเส้นใยชนิดนี้ยี่ห้อนี้จริงๆ แต่คิดอีกทีการเลือกคำซึ่งแสดงถึงชุดกีฬาที่ผลิตด้วยเส้นใยคุณภาพสูงและมักเป็นของแบรนด์เนมมีราคา หาใช่ชุดกีฬาทั่วไป คนที่ซื้อหามาใส่ต้องมีเงิน ไลคราจึงน่าจะเป็นตัวแทนชนชั้นกลางระดับสูงขึ้นไป ส่วนจะเล่นกีฬาประเภทใดนั้นต้องย้อนไปสืบสาวแต่ต้นทาง…
สารานุกรมออนไลน์-วิกิพีเดีย บอกว่า “มนุษย์ mamil” เริ่มใช้ครั้งแรกใน ค.ศ. ๒๐๑๐ โดยบริษัทวิจัยการตลาดของอังกฤษเพื่ออธิบายถึงชายวัยกลางคน (อายุ ๓๕-๔๕ ปี) ที่ขี่จักรยานแข่งราคาแพงเพื่อการพักผ่อน สวมเสื้อ-กางเกงขาสั้นกระชับกล้ามเนื้อของนักปั่นจักรยาน
ข้อสำคัญการซื้อจักรยานเสือหมอบราคาแพงนั้นอธิบายว่า “ตอบโจทย์เรื่องสุขภาพสำหรับช่วงวิกฤตวัยกลางคน” มากขึ้น แทนการซื้อรถสปอร์ตราคาแพง
ผลการวิจัยตลาดกล่าวด้วยว่า เมื่อสัก ๓๐-๔๐ ปีที่แล้ว ผู้คนขี่จักรยานด้วยเหตุผลทางเศรษฐกิจ แต่ทุกวันนี้จักรยานเป็นเครื่องบ่งบอกไลฟ์สไตล์และแสดงว่าคุณมีฐานะ
เวลาต่อมามนุษย์ดังกล่าวแตกไลน์ขยายเผ่าพันธุ์ครอบคลุมกีฬากลางแจ้งอื่นๆ อย่างวิ่งมาราธอน มาราธอนวิบาก รวมถึงไตรกีฬาหรือคนเหล็ก เพราะโดยพื้นฐานกีฬากลุ่มนี้มีสมาชิกเหลื่อมซ้อนกันอยู่แล้ว ชายวัยกลางคนและผองเพื่อนต้องการหลีกลี้เมืองที่วุ่นวาย มลพิษในอากาศ เส้นทางวิ่ง-ปั่นเดิมๆ ที่ชาชิน ไปใช้ชีวิตท่ามกลางธรรมชาติ สูดอากาศท้องไร่ท้องนาในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์
พอถึง ค.ศ. ๒๐๑๔ ก็เกิดกลุ่มชายวัยกลางคนในชุดไลครา (อย่างน้อยก็ในอเมริกา) ที่สนใจเล่นฟิตเนสอย่างมุ่งมั่น อาจถึงขั้นหมกมุ่น
บิอันคา ลอนดอน (Bianca London) เขียนในเว็บไซต์เดลิเมลว่า ปรากฏการณ์ชายอเมริกันวัยกลางคนเป็น gym goers หรือคนเข้ายิม ฟิตหุ่นให้หล่อล่ำ ส่วนใหญ่เพราะเห็นภาพดาราสวมบทบาทในหนังดังของฮอลลีวูด เลยอยากมีหุ่นอย่างนั้นบ้าง
คนรุ่นอายุ ๔๐ ปีมีจำนวนมากกว่า ๑๐ เปอร์เซ็นต์ของคนเข้ายิมทั้งหมดในสหรัฐฯ และแรงบันดาลใจของพวกเขาคือดาราหล่อล่ำอย่าง ฮิว แจ็กแมน (Hugh Jackman ๔๖ ปี) ผู้โด่งดังจากบทวูล์ฟเวอรีน, เจอราร์ด บัตเลอร์ (Gerard Butler ๔๔ ปี) หรือพระเอกเฮอร์คิวลีส คนล่าสุด เจ้าของฉายา “เดอะร็อก” ดเวย์น จอห์นสัน (Dwayne Johnson ๔๒ ปี) ซึ่งจากข้อเท็จจริงดารารุ่นอายุ ๔๐ ปีเหล่านี้ก็เข้ายิมฟิตหุ่นกันสัปดาห์ละหลายวันเป็นปรกติ
ลอนดอนอ้างผลการสำรวจล่าสุดจากกลุ่มผู้ชาย ๒,๐๐๐ คนที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พบว่า ชายช่วงวัย ๔๐ ปีที่เข้ายิมเสริมสร้างกล้ามเนื้อเป็นกลุ่มที่เติบโตอย่างรวดเร็วในรอบปีที่ผ่านมา มามิลกลุ่มนี้ (๗๖ เปอร์เซ็นต์) เสริมสร้าง (หรืออาจเรียกว่า “คืน”) ความแข็งแรงให้ร่างกายเพราะเป็นส่วนหนึ่งของแผนรับมือ “วิกฤตวัยกลางคน” ที่เริ่มมาเยือน แต่ก็เป็นหนทางรักษาสุขภาพระยะยาวด้วย (๖๖ เปอร์เซ็นต์)
มีเพียงไม่ถึงหนึ่งในสี่ที่บอกว่ามาเล่นเวตบริหารร่างกายเพื่อเสริมสมรรถภาพให้เล่นกีฬาชนิดอื่นได้ดี
และผลสำรวจยังพบว่า เกินกว่าหนึ่งในสาม (๓๖ เปอร์เซ็นต์) ของกลุ่มดังกล่าวกินยาบำรุง อาหารเสริม เพื่อให้การออกกำลังได้ประสิทธิผลสูงสุด
จากการสอบถาม ริช สเตอร์ลา (Rich Sturla) ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพและการออกกำลังกาย ลอนดอนได้รับการยืนยันว่า ปัจจุบันมีกลุ่มชายวัย ๔๐ อัป ซึ่งมีความสุขที่จะทำให้ตัวเองดูดี คล่องแคล่ว และทำหน้าที่การงานได้ดี ด้วยการออกกำลังกายสม่ำเสมอ ประโยชน์ของการออกกำลังกายที่ได้รับการยอมรับทางวิทยาศาสตร์นั้นมีมากหลาย ในมุมมองของสเตอร์ลาข้อดีสี่ประการของการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอสำหรับชายวัยนี้คือ
ข้อแรก-เพิ่มระดับความต้องการทางเพศ การมีกิจกรรมทางเพศ และความพึงใจจากเพศสัมพันธ์ ความอึดและกล้ามเนื้อที่กระชับช่วยให้ทำกิจกรรมอย่างว่าได้ดียิ่งขึ้น เนื่องจากระบบประสาทที่ควบคุมเรื่องความตื่นตัวได้รับการกระตุ้น เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงอวัยวะเพศทำให้ใช้การได้ดี การออกกำลังกายอย่างหนักเป็นเวลาสั้นๆ จะเพิ่มฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนซึ่งกระตุ้นความปรารถนาทางเพศ เช่น ผู้ชายอายุเกิน ๕๐ ปีที่ออกกำลังกายเป็นประจำ มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคเสื่อมสมรรถภาพทางเพศต่ำกว่าคนที่ไม่ออกกำลังกายถึง ๓๐ เปอร์เซ็นต์
ข้อสอง-ชายที่ออกกำลังกายเป็นประจำจะมีพลังงาน ความแข็งแรง และความอึดมากกว่าคนที่ไม่ออกกำลังกาย เพราะความสามารถใช้ออกซิเจน (aerobic capacity) ในร่างกายคนส่วนใหญ่จะลดลงประมาณ ๑๐ เปอร์เซ็นต์ต่อปีเมื่ออายุเกิน ๓๐ ปี
ข้อสาม-ลดความเครียดและความกังวล การออกกำลังกายช่วยลดคลื่นไฟฟ้าในกล้ามเนื้อที่เขม็งตึง จึงรู้สึกแอกทิฟทั้งกระสับกระส่ายน้อยลง นอกจากนี้สารเอนดอร์ฟินส์ที่ร่างกายสร้างขึ้นหลังการออกกำลังยังทำให้อารมณ์ดีและผ่อนคลาย
และสุดท้ายเหตุผลที่ดีที่สุดของการออกกำลังกายสม่ำเสมอของคนวัยนี้ คือช่วยลดความเสี่ยงของโรคร้ายแรงมากมาย เช่น โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง กระดูกพรุน เบาหวาน โรคอ้วน คอเลสเตอรอลสูง มะเร็งลำไส้ใหญ่ เส้นเลือดสมองตีบ หัวใจวายเฉียบพลัน ข้ออักเสบ ฯลฯ
สำหรับเมืองไทย มนุษย์มามิลคนแรกที่ผมนึกถึงและน่าจะเป็นไอดอลของคนรักการออกกำลังทั้งหลาย คือ นาวิน ต้าร์ (มีใครไม่รู้จักอาชีพเขาบ้าง ?) แม้เพิ่งก้าวผ่านปลายวัยหนุ่ม (ย่าง ๓๖ ปี) เขาเป็น gym goer ตัวจริง อีกทั้งวิ่งมาราธอน มาราธอนวิบาก ปั่นจักรยาน และเริ่มลงแข่งไตรกีฬาช่วงปีนี้
คนต่อมาคือ ภาณุ บุรุษรัตนพันธุ์ บรรณาธิการบริหารนิตยสาร Esquire (Thailand) วัยล่วงเลย ๕๐ ไปบ้างแต่สังขารยังแกร่ง น่าจะจัดอยู่ในวัยกลางคนได้ เขาชอบกีฬาหมวดไลครา ทั้งปั่นจักรยาน มาราธอนวิบาก ว่ายน้ำ และไตรกีฬาซึ่งเป็นคำตอบสุดท้ายของหลายคน
คราวเจอกันล่าสุดในสนาม “เดอะนอธเฟซ ๑๐๐” ภาณุบอกผมว่า “ไตรกีฬาจะกลายเป็นกอล์ฟในศตวรรษที่ ๒๑” แปลความว่า หญิงชายวัยกลางคนที่มีฐานะหรือผู้ประสบความสำเร็จทางธุรกิจจะหันมาเป็นมนุษย์ไลคราตามป่าเขามากขึ้น แทนการเดินถือไม้กอล์ฟบนกรีน (และขี่รถสปอร์ต) ดังเช่นศตวรรษที่ผ่านมา
ที่มารูป
- http://thegigglegroup.co.uk/wp-content/uploads/2014/02/RM3.jpg
- http://www.bloomberg.com/news/2013-11-15/in-the-land-of-the-mamils-where-men-are-men-and-bikes-are-a-semester-at-yale.html
- http://www.lfitness.net/the-importance-of-mens-fitness-workout/