ภัควดี วีระภาสพงษ์
มันฝรั่งที่เราพบเจอในอาหารจานฝรั่งจนคิดว่ามันเป็นพืชกินได้ที่มีต้นตอมาจากฝรั่งนั้นแท้ที่จริงไม่ใช่
ต้นกำเนิดของมันฝรั่งไม่ได้มาจากยุโรป เช่นเดียวกับข้าวโพด พริก พริกไทย โกโก้ สับปะรด มะละกอ ฯลฯ ล้วนแต่มีถิ่นกำเนิดและผ่านการคัดผสมสายพันธุ์มานานนับพันปีด้วยฝีมือของเกษตรกรชาวอินเดียนแดงในอารยธรรมอันเคยรุ่งเรืองของทวีปอเมริกาใต้
ตอนที่พวกสเปนเข้ารุกราน ชาวอินคาพัฒนามันฝรั่งที่แตกต่างกันถึง ๓,๐๐๐ ชนิด ซึ่งเหมาะต่อการเพาะปลูกทุกสภาพแวดล้อม นี่คือความยั่งยืนทางเกษตรกรรมรูปแบบหนึ่ง พืชอาหารเหล่านี้สามารถปกป้องตัวเองจากโรคหลายชนิดทั้งมีความทนทานต่อเนื้อดินและภูมิอากาศที่แตกต่างกัน หลังจากชาวสเปนทำลายล้างอารยธรรมอินคาและขนทองคำกลับ สิ่งที่พวกสแปเนียร์ด (Spaniard) ขนกลับไปด้วยและอาจมีคุณค่ายิ่งกว่าทองคำก็คือมันฝรั่ง
มันฝรั่งกลายเป็นพืชอาหารสำคัญของยุโรป ช่วยแก้ปัญหาความอดอยากและเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ประชากรยุโรปขยายตัวอย่างก้าวกระโดดในช่วงศตวรรษที่ ๑๙ แต่เนื่องจากมันฝรั่งที่นำกลับมามีเพียงสายพันธุ์เดียว การขาดความหลากหลายทางพันธุกรรมทำให้มันฝรั่งอ่อนแอต่อโรค เมื่อเกิดโรคระบาดโศกนาฏกรรมที่ตามมาคือทุพภิกขภัยครั้งร้ายแรงดังเช่นที่เกิดขึ้นในไอร์แลนด์เมื่อ ค.ศ. ๑๘๔๕-๑๘๕๒
หากเราเดินทางรอนแรมกลับไปยังถิ่นกำเนิดมันฝรั่งในประเทศเปรู จะพบเจอชาวอินเดียนแดงพื้นเมืองที่มุ่งมั่นรักษาสายพันธุ์มันฝรั่งอันหลากหลายไว้ด้วยภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ผสมผสานกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์สมัยใหม่
สวนมันฝรั่ง
ในหุบเขากุสโก (Cusco) กลางเทือกเขาแอนดีส มีประชากรชาวพื้นเมืองอาศัยอยู่ราว ๖,๐๐๐ คนบนพื้นที่ประมาณ ๕๘,๐๐๐ ไร่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของ Parque de la Papa แปลว่า potato park หรือสวนมันฝรั่ง
สวนมันฝรั่งหรือไร่มันฝรั่งเป็นการริเริ่มของชาวพื้นเมืองเกชัว (Quechua) หกชุมชนที่รวมตัวกันก่อตั้งองค์กร Asociación ANDES ด้วยวัตถุประสงค์ต้องการรักษาภูมิปัญญาชาวพื้นเมืองและความหลากหลายทางชีวภาพ โครงการสำคัญขององค์กรคือเขตอนุรักษ์ไร่มันฝรั่งซึ่งเพาะปลูกเพื่อเก็บรักษาสายพันธุ์มันฝรั่งพื้นเมืองของเปรู ๒,๓๐๐ ชนิด ความหลากหลายทางพันธุกรรมที่พบในแปลงเพาะปลูกเพียงแปลงเดียวอาจมีมากถึง ๑๕๐ สายพันธุ์ นอกจากมันฝรั่งยังเพาะปลูกพืชพันธุ์พื้นเมืองอย่างถั่ว ข้าวโพด ข้าวสาลี เมล็ดควินหวา (quinoa พืชตระกูลข้าวของชาวอินคา)
กสิกรรมในไร่มันฝรั่งประกอบด้วยการเกษตรและปศุสัตว์ มีการปลูกพืชหมุนเวียนทุก ๓-๙ ปี หลังเกษตรกรเพาะปลูกมันฝรั่งระยะหนึ่งจะพักที่ดินเพาะปลูกส่วนนั้น ระหว่างรอให้ผืนดินฟื้นตัวพบว่ามีพืชสมุนไพรงอกขึ้นมากมายในแปลง การเลือกพันธุ์เพาะปลูกจะแบ่งสัดส่วนตามการใช้งานและคุณภาพมัน เช่น เพาะปลูกเพื่อการบริโภค เก็บเมล็ดพันธุ์ ขาย เป็นอาหารสัตว์ แลกเปลี่ยนสินค้า
ในระดับครัวเรือนใช้การแลกเปลี่ยนสินค้ากันเป็นหลัก ผู้หญิงมีบทบาทสำคัญต่อการจัดระบบแลกเปลี่ยน เนื่องจากมีความรู้เรื่องปริมาณและคุณภาพของผลผลิตเป็นอย่างดี ทั้งยังมีบทบาทเด่นในกระบวนการคัดเลือกมันฝรั่งเพื่อการใช้งานแต่ละประเภทด้วย
เป้าหมายประการหนึ่งของไร่มันฝรั่งคือสร้างโมเดลการพัฒนาที่คำนึงถึงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและการอนุรักษ์มรดกด้านชีวเกษตรเพื่อให้ชุมชนเลี้ยงตัวเองได้ ชาวพื้นเมืองจึงพยายามใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนผสมผสานระบบเศรษฐกิจแนวสร้างสรรค์ อย่างการผลิตพืชสมุนไพรเพื่อลดต้นทุนค่ารักษาพยาบาลแก่สมาชิกครอบครัวไร่มันฝรั่ง ขณะเดียวกันก็ผสานความรู้ทางการแพทย์แบบตะวันตก นอกจากนี้ยังผลิตพืชสมุนไพรขายนักท่องเที่ยว รวมทั้งจัดการท่องเที่ยวเชิงเกษตรเพื่อเพิ่มรายได้ให้ครัวเรือน องค์กร Asociación ANDES เป็นหนึ่งในไม่กี่องค์กรที่ดำเนินการบริหารโดยชาวพื้นเมืองและสมาชิกทุกคนมีส่วนร่วมตัดสินใจ
ภูมิปัญญาโบราณกับวิทยาศาสตร์ทันสมัย
การเก็บรักษาความหลากหลายทางชีวภาพเป็นที่สนใจของนักวิทยาศาสตร์สมัยใหม่เช่นกัน องค์กรหนึ่งที่ทำงานด้านนี้คือศูนย์วิจัยมันฝรั่งนานาชาติ (International Potato Center - CIP) ซึ่งตั้งอยู่ในประเทศเอกวาดอร์ มีธนาคารพันธุกรรมที่เก็บรักษาสายพันธุ์มันฝรั่งหลายชนิดจากทั่วโลก แม้สายพันธุ์มันฝรั่งในศูนย์วิจัยจะปลอดเชื้อไวรัส แต่ปลูกในแปลงทดลองที่มีการควบคุมสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวด จึงไม่สอดคล้องกับสภาพการเพาะปลูกจริง มีตัวอย่างจำนวนไม่น้อยที่พันธุ์พืชจากศูนย์วิทยาศาสตร์ไม่สามารถอยู่รอดในสภาพธรรมชาติอันเต็มไปด้วยความแปรปรวน
ตอนแรกชาวพื้นเมืองไม่ค่อยไว้วางใจและไม่อยากร่วมมือกับศูนย์วิจัยเพราะเกรงจะถูกปล้นชิงทางชีวภาพ (biopiracy) แต่ในที่สุดโครงการไร่มันฝรั่งก็จับมือทำสัญญากับ CIP ในเดือนธันวาคมปี ๒๕๔๗ ปัจจุบัน CIP มอบสายพันธุ์มันฝรั่งปลอดไวรัส ๔๑๐ ชนิดให้แก่ไร่มันฝรั่งเพาะปลูก แลกเปลี่ยนกับเมล็ดพันธุ์พื้นเมืองที่ชาวเกชัวเก็บรักษาไว้ ชาวพื้นเมืองเองก็ได้เรียนรู้วิธีเพาะปลูกสมัยใหม่เพื่อเพิ่มผลผลิต ดังที่เกษตรกรเกชัวกล่าวว่า “เมื่อก่อนนักวิทยาศาสตร์มักนำเมล็ดพันธุ์ไปจากเรา แต่ไม่ยอมรับภูมิปัญญาของเรา เดี๋ยวนี้นักวิทยาศาสตร์เรียนรู้ที่จะร่วมมือกับเรา พวกเขาต้องเคารพความรู้ของเรา ถึงเวลาแล้วที่ความรู้ดั้งเดิมกับวิทยาศาสตร์จะทำงานร่วมกัน”
ความร่วมมือข้ามทวีป
ช่วงปลายเดือนเมษายนถึงต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ไร่มันฝรั่งจัดการประชุมพบปะระหว่างเกษตรกรท้องถิ่นผู้เพาะปลูกในพื้นที่สูงจากคนละซีกโลก หลายคนรอนแรมข้ามทวีปมาจากจีนและภูฏาน กระนั้นวัฒนธรรมของพวกเขาก็มีความคล้ายคลึงกันมากกว่าที่คาดไว้ ในที่ประชุมพูดคุยกันด้วยความหวั่นเกรงการคุกคามแผ่นดินบรรพบุรุษอันเนื่องมาจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
เกษตรกรเล่าว่า เขาสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงในระยะเวลา ๑๕ ปีที่ผ่านมาและเด่นชัดมากช่วง ๓ ปีหลัง บางคนต้องเพาะปลูกในพื้นที่ต่ำลงไป ขณะบางคนต้องเพาะปลูกพืชจำพวกถั่วและข้าวโพดในพื้นที่ที่สูงกว่าเดิม ฝนก็ไม่ตกต้องตามฤดูกาลและมักตกหนักกว่าปรกติ
ตัวแทนเกษตรกรชาวเกชัวสรุปว่า “ชุมชนไม่สามารถแก้ปัญหาตามลำพังเพราะนี่เป็นปัญหาร่วมกัน (ของเราทุกคน) …เราสามารถ
เรียนรู้เทคโนโลยีที่อาจมีประโยชน์ยิ่งขึ้นจากคนอื่นที่ประสบปัญหาคล้ายคลึงกัน”
ที่มารูป
- http://www.flickr.com/photos/iied/5217539752 by The International Institute for Environment and Development
- http://nkxms1019hx1xmtstxk3k9sko.wpengine.netdna-cdn.com/wp-content/uploads/2014/03/4-potato-park-community.jpg
- http://www.yesmagazine.org/planet/indigenous-seed-savers?utm_source=YTW&utm_medium=Email&utm_campaign=20140801