เรื่อง : สุเจน กรรพฤทธิ์
ภาพถ่ายปัจจุบัน : บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช, ประเวช ตันตราภิรมย์

ร้อยตรี แปลก พิบูลสงคราม ขณะศึกษาวิชาทหารปืนใหญ่

 

๑๖ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๐๐
ตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล

๒๒.๐๐ น. เศษ เสียงโทรศัพท์ดังลั่นขณะที่บุรุษผมสีดอกเลารับสาย

“ทหารกำลังจะมาล้อมทำเนียบครับท่าน” เสียงปลายสายร้อนรน

เขาวางสาย รีบลงมาชั้นล่าง ฟอร์ดทันเดอร์เบิร์ดติดเครื่องรออยู่แล้วพร้อมเลขาส่วนตัว นายตำรวจติดตาม และนายทหารอีกคนหนึ่ง  เขาเข้าไปนั่งในที่คนขับ บึ่งรถกลับไปที่บ้าน เก็บสัมภาระ เปลี่ยนเสื้อผ้าแล้วเปลี่ยนรถเป็นซีตรอง DS19 ที่ลุยทางทุรกันดารได้ดี  หลังจากนั้นแวะซอยชิดลมยืมเงินลูกเขยแล้วมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันออก

รุ่งขึ้น เขาไปถึงชายหาดแห่งหนึ่งของจังหวัดตราด จ้างเรือหาปลาออกทะเลมุ่งหน้าสู่ชายฝั่งกัมพูชา

“โดยเรือยนต์ลำเล็ก ๆ ลำหนึ่งเป็นระยะทาง ๒๐ ไมล์ กว่าจะถึงฝั่งกัมพูชา…ต่อจากชายแดนกัมพูชา ข้าพเจ้าได้ว่าจ้างเรือยนต์ของชาวประมงเดินทางมายังเกาะเล็ก ๆ เกาะหนึ่งอันติดกันกับเกาะกงของเขมร ณ ที่นั่น ได้รับการต้อนรับอย่างดีจากเจ้าหน้าที่ของเขมร เจ้าหน้าที่ได้โทรเลขแจ้ง…ไปยังกรุงพนมเปญ…รัฐบาลกัมพูชาก็ได้จัดเรือรบไปรับข้าพเจ้า”

ใครจะคาดคิดว่า นี่คือฉากสุดท้ายทางการเมืองของ “จอมพล ป. พิบูลสงคราม” หนึ่งในแกนนำคณะราษฎร “ผู้อภิวัฒน์” เปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อปี ๒๔๗๕ “นายกรัฐมนตรี” ซึ่งดำรงตำแหน่งยาวนานถึง ๑๔ ปี ๑๑ เดือน ๑๘ วัน และเคยรอดจากการลอบสังหารมาครั้งแล้วครั้งเล่า

การตกจากอำนาจของจอมพลครานี้ยังหมายถึง “คณะราษฎร” ตกเวทีการเมืองไทยโดยสมบูรณ์ ประเทศเข้าสู่ยุคเผด็จการเต็มใบนานนับทศวรรษ  ในที่สุดความทรงจำเรื่องจอมพล ป. ก็ “ขาดวิ่น” คนไทยสมัยหลังจำจอมพลว่าเป็น “เผด็จการ” “นักฉวยโอกาส” ที่ร่วมกับญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกแล้วจะเข้ากับสัมพันธมิตรในบั้นปลาย เป็นผู้ที่ “ยุ่มย่ามชีวิตพลเมือง” บังคับ “เลิกกินหมาก” “เคารพธงชาติ” “ใส่หมวก” “ใส่รองเท้า” จน “หอมภรรยาก่อนออกจากบ้าน”

ในวงวิชาการ จอมพล ป. เป็น “ปีศาจ” ขั้วตรงข้ามกับ “ปรีดี พนมยงค์” รัฐบุรุษอาวุโส แกนนำคณะราษฎรสายพลเรือนที่ได้รับการฟื้นฟูเกียรติประวัติในทศวรรษ ๒๕๔๐

หากนับว่าจอมพล ป. ถึงแก่อสัญกรรมที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ในเดือนมิถุนายน ๒๕๐๗  ขณะนี้ (มิถุนายน ๒๕๕๗) เวลาผ่านมาแล้วครึ่งศตวรรษ ฝุ่นควันประวัติศาสตร์อาจจางพอที่เราจะกลับมาทบทวนชีวิตจอมพลซึ่งนักประวัติศาสตร์ท่านหนึ่งอธิบายว่า “ก่อให้เกิดการถกเถียงและโต้แย้ง (controversy) มากที่สุด” อีกครั้ง

ในฐานะ “มนุษย์ที่มีชีวิตจิตใจ” ซึ่งครั้งหนึ่งโลดแล่นอยู่บนเวทีการเมืองไทยอย่างมีสีสัน

 

เด็กสวนทุเรียน

วันนี้ถ้าเจ้าของสวนทุเรียนนนทบุรีรุ่นทวดยังมีชีวิต และเราพาท่านกลับไป “บ้านเกิด” จอมพล ป. อีกครั้ง คุณทวดคงจำย่านปากคลองบางเขนเก่า จังหวัดนนทบุรี บ้านเกิดของ “จอมพลกระดูกเหล็ก” แทบไม่ได้

ปัจจุบันไม่อาจระบุจุดของ “บ้านเรือนแพ” ที่เด็กชายแปลกถือกำเนิดได้อีกแล้ว เพราะในแม่น้ำเจ้าพระยาไม่มีแพเหลืออยู่ ปากคลองบางเขนเก่าก็เต็มไปด้วยคนกลุ่มใหม่ซึ่งเข้ามาตั้งถิ่นฐานในยุคหลัง  ริมตลิ่งตลอดแนวยังกลายเป็นเขื่อนคอนกรีตป้องกันน้ำท่วม ร่องรอยเกี่ยวกับบ้านจอมพลซึ่งยังปรากฏในแถบนี้ คือ “ถนนพิบูลสงคราม” ถนนหลวงหมายเลข ๓๐๖ อันเก่าแก่ของจังหวัดนนทบุรี ถนนกว้างหกเลน ยาวกว่า ๓ กิโลเมตรเชื่อมเขตบางซื่อ-เมืองนนทบุรี และ “โรงเรียนวัดเขมาภิรตาราม” ก็ตั้งอยู่บนหัวโค้งหักศอกของถนนสายนี้

ภายในโรงเรียน ผมพบสวนหย่อมเล็ก ๆ ริมรั้วด้านติดกับถนนเป็นที่ตั้งอนุสาวรีย์จอมพล ป.  เว็บไซต์ของโรงเรียนบอกว่าอนุสาวรีย์นี้สร้างเมื่อปี ๒๕๓๒  และวันที่ ๑๔ กรกฎาคมถือเป็น “วันที่ระลึก ฯพณฯ จอมพล ป.” มีพิธีวางพวงมาลา มอบทุนการศึกษา (บางปีอาจจัดไม่ตรงวัน) และโรงเรียนยกย่องจอมพลในฐานะศิษย์รุ่นแรกและอดีตนายกรัฐมนตรี

ใกล้โรงเรียนวัดเขมาฯ คือ “โรงเรียนวัดปากน้ำ (พิบูลสงคราม)” ที่ตั้งอยู่ติด “วัดปากน้ำ (นนทบุรี)”

เมื่อ ๑๑๗ ปีที่แล้ว อดีตสมภารวัดนี้รับอุปการะ “เด็กชายแปลก” ทารกเพศชายซึ่งเกิดในช่วงใกล้รุ่งวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๔๔๐ จากครอบครัวขีตตะสังคะ บุตรคนที่ ๒ ของนายขีตและนางสำอางค์  ว่ากันว่าเขา “แปลก” ตามชื่อ นางสำอางค์กล่าวถึงลูกคนนี้ว่า “ร้องไห้ไม่หยุดถึง ๓ เดือน” จนต้องนำไปให้สมภารเลี้ยง  หนังสือบางเล่มที่เขียนถึงทารกแปลกยังเอ่ยถึง “ใบหูซึ่งยาวรีนั้นมีระดับต่ำกว่าดวงตาจนผิดสังเกต”  อย่างไรก็ตามเรื่องใบหูไม่ว่าจะเขียนตามธรรมเนียมผู้มีวาสนาหรือไม่ แต่ก็ทำให้เราอนุมานได้ว่า เด็กชายแปลกมีสุขภาพแข็งแรงดี

ต่อมาเขาถูกส่งเข้าเรียนที่วัดเขมาฯ จนถึง ป. ๔ พออายุได้ ๑๒ ปี บิดาก็ฝากเข้าโรงเรียนนายร้อยทหารบกซึ่งเป็นที่ฝึกผู้บังคับบัญชากองทัพพร้อมกับพี่ชาย

ช่วงนี้เองมีเรื่องเล่าว่าครั้งหนึ่งนักเรียนนายร้อยแปลกเที่ยวเยาวราชโดยไม่แต่งเครื่องแบบ พบคนจีนขายของก็เข้าไปถามราคา ปรากฏว่าคนจีนนั้นเห็นแปลกตัวเล็ก ผิวคล้ำก็ดูหมิ่น

“(แปลก) ก็โกรธและเกิดความคิดชาตินิยมขึ้นตั้งแต่บัดนั้น”

นายร้อยปืน ๗ กับ “ยอดรัก” ที่เมืองสองแคว

“นักเรียนทำการนายร้อยแปลก” สำเร็จการศึกษาเป็นนักเรียนนายร้อยรุ่นที่ ๑๒ พร้อมเพื่อนร่วมรุ่น ๖๐ คนเมื่ออายุ ๑๘ ปี (๒๔๕๗) ตามระบบราชการ เขาต้องเลือกเหล่าและหน่วยที่จะไปประจำ แปลกตัดสินใจเลือก “เหล่าทหารปืนใหญ่” หน่วยประจำการแรกที่เขียนไว้แพร่หลายในหนังสือชีวประวัติของเขา คือกรมทหารปืนใหญ่ที่ ๗ แห่งกองทัพน้อยที่ ๒ มณฑลพิษณุโลก ซึ่งเรียกขานในหมู่ทหารปืนใหญ่ยุคนั้นว่า “ปืน ๗”

การไปประจำหน่วยนี้เกิดจาก “อุบัติเหตุ” ด้วยแปลกกับเพื่อนร่วมรุ่นคือ บัตร พึ่งพระคุณ (ภายหลังคือ พลตำรวจเอก อดุล อดุลเดชจรัส) นัดว่าจะเลือกไปอยู่หน่วยเดียวกัน แต่พอเลือกจริงในปีถัดมา ผู้ที่ได้คะแนนเรียนสูงจะมีสิทธิ์เลือกหน่วยก่อน หน่วยในเมืองจึงเป็นที่นิยม  พอแปลกเห็นอย่างนั้นก็ลืมว่าตนเลือก “เหล่าทหารปืนใหญ่” ไว้แล้ว กลับจิ้มเลือกหน่วยทหารราบ คือกองพันทหารราบที่ ๑ รักษาพระองค์ ก่อนจะได้รับคำตอบว่าไปไม่ได้ ซึ่งเขาก็ยังไม่ละความพยายาม ขอสมัครไปอยู่หน่วยทหารม้ารักษาพระองค์ (หน่วยรถรบ)

ผู้บังคับบัญชาเจอไม้นี้ก็เอ็ดเอาว่า “ตาแปลก ฉันบอกแกต้องอยู่เหล่าทหารปืนใหญ่ จะไปอยู่เหล่าอื่นไม่ได้ ถ้ายังขืนดื้อฉันจะไม่ให้ออกเป็นนายทหาร”

ถึงตอนนี้ อดุลเพื่อนรักเลือกปืน ๓ (ลพบุรี) ไปแล้ว แปลกจึง “ตกลงใจไปอยู่ปืน ๗” ที่นี่เขาพบนางสาวละเอียด พันธุ์กระวี วัย ๑๔ ปี กำลังเรียนและเป็นครูช่วยสอนที่โรงเรียนของมิชชันนารี บุตรีคนโตของนายเจริญและนางแช่ม พันธุ์กระวี เกิดที่จังหวัดนครปฐม ครอบครัวมีภูมิลำเนาอยู่พิษณุโลก เคยถูกส่งมาเรียนในกรุงเทพฯ ระยะหนึ่งที่โรงเรียนสตรีวิทยา ก่อนจะกลับมาเรียนต่อที่พิษณุโลกในโรงเรียนผดุงนารีซึ่งคณะมิชชันนารีอเมริกันตั้งขึ้นเป็นโรงเรียนสตรีแห่งแรกของจังหวัด

แปลกรับหน้าที่ฝึกทหารใหม่ ทุกวันเขาจะพาพลทหารฝึกหัดเดินผ่านหน้าโรงเรียน  วิธีจีบของเขาคือฝาก “จดหมายน้อย” ส่งข้อความเกี้ยวพาราสีผ่านลูกศิษย์ไปให้ครูสาว เนื้อความขึ้นต้นว่า “น้องยอดรัก” มีประโยคอาทิ “ถ้าควักหัวใจมาได้จะควักให้ดู” หรือถ้าไม่ได้เห็นหน้าก็ “ขอให้เห็นหลังคาบ้านทุกวัน” เล่นเอาครูสาว “ตกใจ เหงื่อแตกใจหาย” ตัดสินใจนำไปให้บิดาอ่านทุกฉบับและไม่ยอมตอบไม่ว่าจะถูกเร่งรัดผ่านคนนำสารอย่างไรก็ตาม

จนเช้าวันหนึ่งในฤดูหนาว แปลกใส่เสื้อคลุมคอสีเหลือง สวมหมวกพันผ้าสีเหลือง กางเสื้อเดินยิ้มแต้เข้าไปหาครูสาวที่ยืนอยู่กับเพื่อน ทำนองว่ากั้นไม่ให้หนีไปไหน

ครูสาววิ่งลอดใต้เสื้อแล้วชูกำปั้น ก่อนจะพูดใส่ “เดี๋ยวฉันต่อยหน้าเลย”

นายร้อยหนุ่มจึง “อับจนปัญญา ถึงกับต้องรีบเลี่ยงออกจากทางเดิน ปล่อยให้นางสาวละเอียดผ่านไป แต่ก็มีหวังเพราะเลยไปแล้วยังหันมายิ้มตอบตามควรแก่กรณี”

๑๔ มกราคม ๒๔๕๙ (นับแบบปัจจุบันคือปี ๒๔๖๐) ทั้งคู่ก็เข้าพิธีวิวาห์

เขามาเฉลยภายหลังว่าตอนที่สาวขู่จะต่อยนั้นเองที่เขาคิดว่าผู้หญิงคนนี้

“ชะรอยจะเป็นนักรบแท้คนหนึ่งเสียแล้ว”

 

นักเรียนทุน

หลังแต่งงาน ๓ เดือน ประจำปืน ๗ ครบ ๒ ปี ร้อยตรีแปลกก็ย้ายกลับพระนคร เรียนต่อในโรงเรียนเหล่าทหารปืนใหญ่ในกรมทหารปืนใหญ่ที่ ๑ รักษาพระองค์ (ปืน ๑) เขตบางซื่อ มีกำหนด ๒ ปี เมื่อเรียนจบก็ถูกส่งกลับปืน ๗ ก่อนโดนย้ายกลับพระนครอีกครั้งเพื่อประจำที่ปืน ๑ และเรียนในโรงเรียนเสนาธิการทหารบก

ที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบกนี้เอง ร้อยตรีแปลกได้ฉายความโดดเด่นทางการเรียน โดย “คิดต่าง” ทางวิชาการกับหลวงชาตินักรบเพื่อนร่วมชั้นเสมอ เช่น ในการสอบแก้ปัญหายุทธวิธีครั้งหนึ่ง หลวงชาตินักรบตกลงกับเพื่อน ๆ ว่าจะตอบเหมือนกันโดยชูกำปั้นเป็นสัญญาณเข้าตี ลดกำปั้นลงหมายถึงตั้งรับ แต่เมื่อหลวงชาตินักรบและเพื่อน ๆ “เข้าตี” ร้อยตรีแปลกกลับเลือก “ตั้งรับ” และแก้สถานการณ์ไปตามความเป็นจริง

ผลสอบออกมาว่าพวกเตี๊ยมตกหมด ร้อยตรีแปลกสอบได้ และการ “ตั้งรับ” ก่อนจะ “โต้กลับ” ก็กลายเป็นจุดเด่นของร้อยตรีแปลกมาตั้งแต่ตอนนั้น

ปี ๒๔๖๗ ร้อยตรีแปลกสอบได้ที่ ๑ และได้ทุนศึกษาต่อที่ฝรั่งเศส ตอนนั้นเขาอายุ ๒๐ ปี มีลูกสามคนและติดยศร้อยโท ก่อนเดินทางต้องปลอบภรรยาที่ “ร้องไห้เสียหลายวัน” ขณะที่บิดามารดามองว่าการไปเรียนเมืองนอกของลูกถือว่า “โก้” เพราะคนธรรมดาไม่ได้ไปกัน

หลายปีต่อมาท่านผู้หญิงละเอียดเล่าให้ลูกฟังว่าร้อยโทแปลกไปเมืองนอกโดย “นั่งเรือจ้างจากบางเขนแต่เช้ามืดแล้วไปจับเรือที่จะเดินทางโดยสารต่อไป”  สัมภาระติดตัวมีเพียงกระเป๋าเสื้อผ้า เมื่อเรือโดยสารแวะท่าเรือสำคัญทีหนึ่ง ร้อยโทหนุ่มก็ส่งจดหมายทีหนึ่ง จดหมายจะถึงบ้านเดือนละครั้งและเธอก็จะมานั่งคอยอยู่ที่หัวแพ

ส่วนข้อความในจดหมายนั้นก็ไม่ต่างจากตอนที่เริ่มจีบกัน

“เวลานี้ได้เห็นพระจันทร์ดวงเดียวกับเธอ อยากเห็นเธอก็ได้เห็นพระจันทร์ดวงเดียวกับเธอ”

 

นักเรียนฝรั่งเศสผู้อภิวัฒน์ ๒๔๗๕

ร้อยโทแปลกถึงฝรั่งเศสในเดือนมีนาคม ๒๔๖๗ เรียนภาษา วิชาคำนวณ และวิชาทหารปืนใหญ่ตามลำดับ โดยวิชาทหารปืนใหญ่เข้าเรียนที่โรงเรียนประจำเหล่าทหารปืนใหญ่ (Ecole d’application de l’artillerie - EAA) เมืองฟองเตนโบล (Fontainebleau) ช่วงนี้เองเขาพบกับร้อยโท ประยูร ภมรมนตรี และ ปรีดี พนมยงค์ นักเรียนไทยในฝรั่งเศสซึ่งกำลังคิดเปลี่ยนแปลงการปกครองสยาม

ร้อยโทประยูรเล่าว่าแรงบันดาลใจที่ทำให้ร้อยโทแปลกเข้าร่วมกลุ่มผู้ก่อการคือ หลังกลับจากเที่ยวเยอรมนีด้วยกัน ทั้งคู่ถูกตำรวจตรวจคนเข้าเมืองฝรั่งเศสตรวจแล้ว “เหยียดหยาม หาว่าเป็นประเทศที่อยู่ในเครือการปกครองของฝรั่งเศสในอินโดจีน…” แม้ภายหลังทราบว่าไม่ใช่ เจ้าหน้าที่ก็ยังบอกว่า “(สยาม) เป็น ‘เมืองเหาเมืองเลน’ จะรู้จักได้อย่างไร ควรจะมาอยู่เป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสเสียจะได้รุ่งเรือง”

ทำเอาร้อยโทแปลกของขึ้นสวนว่า “สักวันหนึ่ง ‘ไอ้หมัดไอ้เหา’ จะกัดให้ประเทศฝรั่งเศสเน่าไปทั้งชาติ”

ร้อยโทแปลกวัย ๒๙ ปี เป็นหนึ่งในแกนนำคณะราษฎรเจ็ดคนแรก ร่วมกับ ปรีดี พนมยงค์ ร้อยโท ประยูร ภมรมนตรี ร้อยตรี ทัศนัย มิตรภักดี ตั้ว ลพานุกรม หลวงสิริราชไมตรี และแนบ พหลโยธิน  เจ็ดคนนี้ประชุมปรึกษาหารือที่หอพักถนน Rue du Sommerard กรุงปารีส ในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๔๖๙ หลายครั้ง ทั้งนี้หลักการที่ตกลงกันคือต้องยึดอำนาจฉับพลัน เปลี่ยนระบอบเป็นประชาธิปไตยและหาแนวร่วมเพิ่ม  ช่วงนั้นร้อยโทแปลกได้หนังสือว่าด้วยการปฏิวัติมาเล่มหนึ่ง แต่ไม่ได้นำติดตัวกลับสยามเมื่อสำเร็จการศึกษา “เพราะกลัวมีพิรุธ”

ต้นปี ๒๔๗๐ สยามที่ร้อยโทหนุ่มนักเรียนนอกกลับมาเจอ มีประชากร ๑๑ ล้านคน รัฐบาลรัชกาลที่ ๗ กำลังเผชิญปัญหาเศรษฐกิจต้องตัดงบประมาณและปลดข้าราชการจำนวนมาก ซ้ำความพยายามปฏิรูปการปกครองก็ล้มเหลว

ร้อยโทแปลกก้าวหน้าในชีวิตราชการอย่างรวดเร็ว เข้าประจำการกรมยุทธการทหารบก กรมเสนาธิการทหารบก และจเรทหารบกตามลำดับ และสอนวิชาปืนใหญ่ให้นายทหารชั้นสูง ปลายปี ๒๔๗๐ ติดยศร้อยเอก ปีถัดมาได้บรรดาศักดิ์และราชทินนาม “หลวงพิบูลสงคราม” อีก ๒ ปีต่อมา (๒๔๗๓) ก็ติดยศพันตรี และนางละเอียดก็ได้มีชื่อในทางราชการว่า “นางพิบูลสงคราม” ไปด้วย

“หลวงพิบูลสงคราม” มีชื่อเสียงจากการเป็นครูวิชาทหารปืนใหญ่มากความสามารถ เห็นได้จากขณะสอนครั้งหนึ่ง รัชกาลที่ ๗ เสด็จพระราชดำเนินผ่านสนพระทัยถึงกับเจ้าหน้าที่ต้องถวายเก้าอี้ให้ประทับฟังจนจบชั่วโมง

หลวงพิบูลฯ ประสบความสำเร็จในการชวนนายทหารที่จบโรงเรียนนายร้อยรุ่นเดียวกัน อาทิ หลวงอำนวยสงคราม (ถม เกษะโกมล) หลวงอดุลเดชจรัส (บัตร พึ่งพระคุณ) เข้าร่วม  การเสี่ยงตายครั้งนี้ เขายังเตรียมแผนเผื่อผิดพลาดเอาไว้ด้วย  ท่านผู้หญิงละเอียดบันทึกว่าหลวงพิบูลฯ ให้ “คุณลมัย ภรรยาหลวงอำนวยสงครามมาสอนปักจักรและเย็บจักร” ที่บ้านเช่าย่านแพร่งสรรพศาสตร์เพื่อเตรียมอาชีพสำรอง และยังสังเกตเห็นเพื่อนบางคนมาเยี่ยมบ่อยจนผิดสังเกต อาทิ ร้อยโท ประยูร ภมรมนตรี หลวงอดุลเดชจรัส เป็นต้น

เช้ามืดวันศุกร์ที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ หลวงพิบูลฯ แต่งเครื่องแบบ ก่อนออกจากบ้านปลอบภรรยาที่เก็บงำความสงสัยมานานและกำลังตกใจท่าทางของสามีว่า “พรุ่งนี้เป็นวันที่เขาจะทำการเชิญรัฐธรรมนูญมาให้พี่น้องชาวไทย” ก่อนจะไปที่กรมทหารม้าบางซื่อสมทบกับพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนาและคนอื่น ๆ  หลังจากนั้นก็สั่งรวมพลเคลื่อนรถรบไปบนถนนพระราม ๕ เข้าร่วมกับกำลังจากกรมทหารปืนใหญ่ที่ ๑ รักษาพระองค์และทหารช่าง ก่อนจะไปยังจุดนัดพบที่ลานพระบรมรูปทรงม้า

ย่ำรุ่งพันเอกพระยาพหลฯ ก็ก้าวมาหน้าแถวทหารประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากนั้นทหารก็แยกย้ายอารักขาสถานที่สำคัญและเชิญเจ้านายในรัฐบาลเก่ามาคุมตัวที่พระที่นั่งอนันต-สมาคม  หลวงพิบูลฯ ร่วมกับพระประศาสน์พิทยายุทธ และเรืออากาศตรี หลวงนิเทศกลกิจ นำรถเกราะสองคันไปที่วังบางขุนพรหม (ธนาคารแห่งประเทศไทยปัจจุบัน) เชิญจอมพลเรือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์รัชกาลที่ ๗ (ซึ่งแปรพระราชฐานอยู่ที่หัวหิน) โดยไปกับรถเกราะคันที่ ๒

ที่วังบางขุนพรหมขณะนั้นกรมพระนครสวรรค์ฯ อยู่กับอธิบดีตำรวจและกำลังตำรวจภูบาล (สันติบาล) และเตรียมป้องกันตัวเต็มที่  เมื่อหลวงพิบูลฯ ไปถึง ขณะกำลังส่วนแรกล้อมวัง เสียงปืนกลหนักชุดแรก (จากการยิงขู่) ดังขึ้นแล้ว “รถรบที่หลวงพิบูลฯ ควบมาเป็นแนวหนุนก็ปราดมาถึงวังและปิดล้อมประตูวังไว้ พร้อมที่จะเปิดการยิงช่วยหากมีการต่อสู้ตอบโต้…” ก่อนที่พระประศาสน์ฯ จะเผชิญหน้ากรมพระนครสวรรค์ฯ และเชิญพระองค์ไปคุมที่พระที่นั่งอนันตสมาคมทั้งชุดนอน

เมื่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองประสบความสำเร็จ เวลา ๐๑.๐๐ น. วันที่ ๒๕ มิถุนายน ๒๔๗๕ หลวงพิบูลฯ ก็กลับบ้าน พอมาถึงก็กอดรัชนิบูล (ลูกคนที่ ๔) ซึ่งยังเป็นทารกแล้วเปรยว่า

“พ่อคิดว่าจะไม่ได้กลับมาเห็นหน้าลูกแล้ว”

“อนุสาวรีย์ปราบกบฎ” หรือ “อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ” ซึ่งปัจจุบันถูกทำให้ลืมโดยเรียกว่า “อนุสาวรีย์หลักสี่”

ปราบกบฏบวรเดช

หลังวันแห่งความเป็นความตายผ่านไป หลวงพิบูลฯ ได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ชั่วคราว (แบบสรรหา) ควบตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารปืนใหญ่และรัฐมนตรีลอย (เทียบได้กับรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ) ใน “คณะกรรมการราษฎร” (คณะรัฐมนตรี) ชุดแรกของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา (นายกรัฐมนตรีคนแรก)

อย่างไรก็ตามความวุ่นวายทางการเมืองก็เริ่มขึ้นในช่วงปลายปี ๒๔๗๕ ต่อต้นปี ๒๔๗๖ เมื่อเค้าโครงการเศรษฐกิจ “สมุดปกเหลือง” ของ ปรีดี พนมยงค์ ที่พยายามปรับปรุงโครงสร้างเศรษฐกิจ ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ คณะรัฐมนตรีแตกเป็นสองฝ่าย เกิดความขัดแย้งในกลุ่ม “สี่ทหารเสือ” แกนนำคณะราษฎร คือ พันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา พันเอก พระยาทรงสุรเดช พันโท พระประศาสน์ฯ และพันเอก พระยาฤทธิ์อัคเนย์

๑ เมษายน ๒๔๗๖ พระยามโนฯ ประกาศพระราชกฤษฎีกางดใช้รัฐธรรมนูญเกือบทั้งฉบับ ปิดสภา วันต่อมาก็ประกาศพระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ และกดดันให้นายปรีดีออกนอกประเทศไปอยู่ที่ฝรั่งเศส

ขณะนั้นหลวงพิบูลฯ ย้ายครอบครัวมาอยู่บ้านริมคลองที่กรมทหารปืนใหญ่บางซื่อ มียศพันโท เป็นรัฐมนตรีลอย  ตำแหน่งทางทหารคือผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกฝ่ายยุทธการ เป็นคณะราษฎรคนเดียวที่ยังถือกำลังทหารอยู่ในมือขณะนั้นหลังจากสี่ทหารเสือลาออกจากคณะรัฐมนตรีและกองทัพเนื่องจากวิกฤตทางการเมือง

เขาซุ่มเงียบ

หลังเตรียมการระยะหนึ่ง เช้าวันที่ ๒๐ มิถุนายน ๒๔๗๖ หลวงพิบูลฯ ก็ “ลุกขึ้นจากเตียงนอนตั้งแต่ฟ้ายังไม่สว่างลุกลน สวมเครื่องแบบทหาร หยิบปืนพกประจำตัวได้ก็ขึ้นรถยนต์อย่างรีบร้อน…ไม่ลืมหันหน้ามากล่าวกับนางพิบูลสงครามด้วยเสียงหนักแน่นแต่สีหน้ายิ้มแย้มว่า ‘ฉันจะต้องไปทำงานใหญ่’”

“งานใหญ่” ที่ว่าคือยึดอำนาจพระยามโนฯ และแถลงว่า “พระยามโนฯ ได้บริหารราชการแผ่นดินไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ” ถือเป็นรัฐประหารครั้งแรกหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง ส่งผลให้มีการเปิดสภาผู้แทนราษฎรขึ้นอีกครั้งหลังถูกปิดไป ๒ เดือน ๒๑ วัน เกิด “รัฐบาลคณะราษฎร” มีพันเอกพระยาพหลฯ เป็นนายกฯ และเรียกตัวปรีดีกลับ

ในวัย ๓๖ ปี บทบาททางทหารของหลวงพิบูลฯ เด่นขึ้นเรื่อย ๆ ตุลาคมปีเดียวกันเขารับหน้าที่ “ผู้บังคับกองกำลังผสม” รบกับพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหมที่นำ “คณะกู้บ้านกู้เมือง” และทหารภาคอีสานลงมาล้อมกรุงเทพฯ ยื่นคำขาดให้รัฐบาลลาออก  สนามรบสำคัญคือทางรถไฟสายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา สนามบินดอนเมือง และสถานีรถไฟบางซื่อ ซึ่งเป็น “แนวหน้า” ของฝ่ายกบฏที่จัดวางกำลังทหารไว้ตลอดสองข้างทางรถไฟเพื่อรอคำตอบจากรัฐบาล

หลวงพิบูลฯ ปราบกบฏด้วยวิชาที่เขาเชี่ยวชาญ ระดมยิงปืนใหญ่และปืนต่อสู้อากาศยานใส่ก่อนเคลื่อนกองบัญชาการไปเรื่อย ๆ ตามทางรถไฟ บีบให้พระองค์เจ้าบวรเดชถอยกำลังไปจนถึงอำเภอปากช่อง นครราชสีมาและพ่ายแพ้ในที่สุด  จากนั้นเดินทางไปจัดการกำลังทหารจากราชบุรีซึ่งก็ยอมแพ้เมื่อทราบว่าแนวรบทางเหนือแตกแล้ว

ศึกครั้งนี้หลวงพิบูลฯ เสียพันโท หลวงอำนวยสงคราม เพื่อนร่วมรุ่นนักเรียนนายร้อยทหารบกจากการรบ

เหตุการณ์นี้รับรู้ในเวลาต่อมาว่า “กบฏบวรเดช” สิ่งที่หลงเหลือจากการปราบกบฏ คือ “อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ” และ “เหรียญพิทักษ์รัฐธรรมนูญ” ซึ่งจัดทำแจกทหารผ่านศึกเพื่อรำลึกถึงการปกป้องมิให้ประเทศถอยหลังกลับสู่ระบอบเก่า ทุกวันนี้กลายเป็นเหรียญหายากที่กระจายอยู่ในความครอบครองของนักสะสม

เสื้อเปื้อนคราบเลือดและมีรอยกระสุนของ พันเอก หลวงพิบูลสงครามทั้งชั้นในและนอกในวันที่ถูกลอบยิงที่ท้องสนามหลวง ปัจจุบันได้รับการเก็บรักษาที่มุม “จอมพล ป.พิบูลสงคราม” พิพิธภัณฑ์ อาคาร รร.จปร. ๑๐๐ ปี โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า

“มือปืน” และ “ยาพิษ”

หลังปราบกบฏ หลวงพิบูลฯ ได้รับยศเป็นพันเอก ได้ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมและรองผู้บัญชาการทหารบกในรัฐบาลของพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา  ช่วงนี้เขาเผชิญการลอบสังหารถึงสามครั้ง

ครั้งที่เสี่ยงที่สุดเกิดขึ้นในวันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๗๗ เมื่อปฏิบัติหน้าที่ประธานปิดงานแข่งขันฟุตบอลของกระทรวงกลาโหมที่สนามหลวงเสร็จสิ้น หลวงพิบูลฯ กลับมาขึ้นรถยนต์ที่จอดอยู่ใกล้กระโจมพิธี พอเข้ารถก็ก้มหยิบกระบี่ส่งให้นายทหารติดตามซึ่งยืนอยู่นอกรถ “เสียงปืนปังปังก็ดังระเบิดขึ้น ๒ นัด น.ต. หลวงสุนาวินวิวัฒน์ เหลียวไปเห็นชายคนหนึ่งในระยะใกล้ชิด กำลังถือปืนพกจ้องปากกระบอกปืนตรงไปที่ร่างของ พ.อ. หลวงพิบูลฯ ปากกระบอกปืนยังปรากฏมีควันกรุ่นอยู่…น.ต. หลวงสุนาวินฯ กระโดดปัดมือชายผู้นั้นจนปืนพกตกกระเด็นจากมือ พร้อมกับกระสุนได้หลุดออกไปจากลำกล้องเป็นนัดที่ ๓ ทหารหลายคนตรูกันเข้ารวบตัวชายผู้นั้นไว้ได้ ร.อ. ทวน วิชัยขัทคะ รีบประคอง
ร่างท่านรัฐมนตรีไว้ด้วยความตกใจสุดขีดเมื่อมองเห็นเลือดสีแดงเข้มไหลรินออกจากรูกระสุนปืนตรงต้นคอ ทำให้เสื้อสีกากีที่ท่านสวมเกิดรอยเปื้อนเป็นทางด้วยเลือดที่ยังไหลจากลำคอของท่านโดยไม่หยุด”

นางพิบูลสงครามซึ่งอยู่ที่บ้านบางซื่ออุ้มพัชรบูล (ลูกคนที่ ๕) อยู่ พอรับโทรศัพท์แจ้งข่าวก็ “เป็นลมไปชั่วครู่”

แพทย์พบว่าหลวงพิบูลฯ ถูกยิงสองแห่ง แห่งแรกกระสุนเข้าแก้มซ้ายทะลุออกต้นคอ แห่งที่ ๒ กระสุนเข้าไหล่ขวาทะลุด้านหลัง โชคดีไม่โดนอวัยวะสำคัญทำให้รอด  อย่างไรก็ตาม หลวงพิบูลฯ ต้องรักษาตัวอยู่ ๑ เดือน  นายพุ่ม ทับสายทอง มือปืนถูกจับไปสอบสวนและดำเนินคดี

ครั้งที่ ๒ เกิดในวันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๔๘๑ (ก่อนการเลือกตั้งทั่วไป) ที่บ้านบางซื่อ เวลา ๑๙.๐๐ น. ขณะหลวงพิบูลฯ แต่งตัวจะไปงานเลี้ยงที่กระทรวงกลาโหม นายลี คนสวน บุกเข้าไปไล่ยิงถึงห้อง แต่นายทหารติดตามขึ้นไปช่วยได้ก่อนจะจับนายลีส่งตำรวจ โดยนายลีเป็นคนสวนที่หลวงพิบูลฯ อุปการะและไว้เนื้อเชื่อใจมานาน

ครั้งที่ ๓ เกิดในวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๔๘๑ (ก่อนการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในสภาฯ ๙ วัน) ขณะหลวงพิบูลฯ รับประทานอาหารที่บ้าน จอมพลเรือ หลวงยุทธศาสตร์โกศล อดีตผู้บัญชาการทหารเรือซึ่งตอนนั้นมียศนาวาโทและอยู่ในวงอาหาร เล่าว่าหลวงพิบูลฯ รู้ตัวก่อนแล้วอุทานว่า “ผมท่าจะกินยาพิษ” และ “เนื้อตัวสั่น หน้าซีด เหงื่อไหลโซม” แล้วทั้งคณะก็ต้องรีบไปโรงพยาบาล ก่อนที่แพทย์จะล้างท้องจนรอดมาได้อย่างหวุดหวิด

การลอบสังหารสามครั้ง ทำให้ต่อมารัฐบาลคณะราษฎรชุดหลวงพิบูลฯ ตั้ง “ศาลพิเศษ” จับกุมผู้ต้องหา ๕๒ คนดำเนินคดีโดยพบว่าทำงานกันอย่างเป็นขบวนการ ผล ๑๘ คนถูกตัดสินประหารชีวิต มีการถวายฎีกาเพื่อขอลดหย่อนโทษ ทว่ามีเพียงสามคนเท่านั้นที่ได้รับการลดหย่อน ส่วนอีก ๑๕ คนถูกประหาร

เรื่อง “ศาลพิเศษ” นี้ผู้ที่ไม่เห็นด้วยมองว่าหลวงพิบูลฯ ถือโอกาสกำจัดศัตรูทางการเมืองและจับบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้อง แต่อีกมุมหนึ่งก็มีผู้มองว่าหลวงพิบูลฯ จำเป็นต้องทำเพื่อความปลอดภัยของคณะราษฎรเอง

ปัจจุบันเสื้อเปื้อนเลือดมีรอยกระสุนและผ้าที่ใช้ซับเลือดจากเหตุการณ์ลอบสังหารครั้งแรก เก็บรักษาอยู่ที่ “มุมจอมพล ป. พิบูลสงคราม” ใน “พิพิธภัณฑ์ อาคาร รร.จปร. ๑๐๐ ปี” โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จังหวัดนครนายก

ผลพลอยได้หลังจากเหตุการณ์นั้นคือ ท่านผู้หญิงละเอียดตัดสินใจทำอาหารให้จอมพลแทบทุกมื้อ  เธอเล่าให้ลูกฟังภายหลังว่า “แม่ซาวข้าวเสียเล็บไม่เคยยาวเลย”

 

ผู้นำยุค “สร้างชาติ” 

หลวงพิบูลฯ ขึ้นสู่ตำแหน่งสูงสุดทางการเมืองในวันที่ ๑๖ ธันวาคม ๒๔๘๑ ขณะอายุ ๔๑ ปี

ขณะนั้นสถานการณ์รอบประเทศอยู่ในภาวะวิกฤต เค้าลางสงครามก่อตัวขึ้นในยุโรปจากการคุกคามของเยอรมนี ในเอเชียญี่ปุ่นกำลังแผ่แสนยานุภาพโดยยึดอินโดจีนของฝรั่งเศส (ลาว กัมพูชา เวียดนาม) ไว้ได้

งานที่เด่นชัดของหลวงพิบูลฯ ในสภาวะนี้ คือการเปลี่ยนประเทศสู่ “สมัยใหม่” สร้างชาติบนฐาน “ระบอบประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ” สร้าง “สำนึกความเป็นไทย” ผ่านสิ่งก่อสร้างเชิงสัญลักษณ์ รณรงค์ด้านวัฒนธรรม  ที่สำคัญคือการประกาศ “รัฐนิยม” ๑๒ ฉบับ ทั้งช่วงก่อนและระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒

พันเอกหลวงพิบูลฯ ปราศรัยในงานฉลอง “วันชาติ” (๒๔ มิถุนายน ๒๔๘๓) ว่าไทยเป็นอารยชนแล้ว “การสร้างชาติก็คือการสร้างตัวของคนทุกคนในบรรดาประชากรของชาติให้ดี ถ้าเราทุกคนมีร่างกายแข็งแรง มีวัฒนธรรมดี มีศีลธรรมงาม และมีอารยธรรมดี-ดีอย่างไทยซึ่งไม่มีใครจะดีกว่าอยู่แล้ว ประกอบอาชีพให้รุ่มรวยดังนี้ ชาติไทยก็จะดีตามไปด้วยโดยมิต้องสงสัยเลย…”

โดยเน้นให้คนไทยมี

“วัธนธัมดี      มีศีลธัมดี
มีอนามัยดี      มีการแต่งกาย
อันเรียบร้อยดี       มีที่พักอาศัยดี
และมีที่ทำมากินดี…”

รัฐนิยมเจ็ดฉบับถูกประกาศในปี ๒๔๘๒ หลวงวิจิตรวาทการ (กิมเหลียง วัฒนปรีดา) เป็นกำลังสำคัญในการร่างและทำนโยบาย ฉบับที่ ๑ “ชื่อประเทศ ประชาชน และสัญชาติ” และฉบับที่ ๓ ส่งผลให้เกิดคำเรียก “คนไทย” ชื่อประเทศเปลี่ยนจาก “สยาม” เป็น “ไทย” ชื่อภาษาอังกฤษเปลี่ยนจาก “Siam” เป็น “Thailand” รัฐนิยมฉบับที่ ๔ และ ๖ ให้ “ยืนตรงเคารพธงชาติ” เปลี่ยนเนื้อเพลงชาติจาก “ประเทศสยามนามประเทืองว่าเมืองทอง…” เป็น “ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย”  รัฐนิยมฉบับที่ ๘ ซึ่งออกในปี ๒๔๘๓ ว่าด้วยเรื่องเพลงสรรเสริญพระบารมีซึ่งส่งผลให้เพลงสรรเสริญฯ ถูกย่อและเปลี่ยนคำว่า “สยาม” ในเพลงเป็น “ไทย”

เรื่องนี้ยังส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนชื่อสิ่งของและสถานที่ที่มีคำว่า “สยาม” อาทิ ธนาคาร “สยามกัมมาจล” เป็นธนาคาร “ไทยพาณิชย์” หรือ “พระสยามเทวาธิราช” เป็น “พระไทยเทวาธิราช”

รัฐนิยมฉบับที่ ๑๐ กำหนดให้คนไทยแต่งกายแบบ “ไทยอารยะ” แผ่นโฆษณาวัฒนธรรมไทยแผ่นหนึ่งระบุว่า คนไทยไม่ควรนุ่งโสร่ง เปลือยกายท่อนบน ใส่หมวกแขก โพกหัว ทูนของบนศีรษะ ผู้ชายควรแต่ง “ตามแบบสากล หรือสรวมกางเกงตามแบบไทยขาสั้น สรวมเสื้อกลัดรังดุมเรียบร้อย” ผู้หญิงควร “ไว้ผมยาวสรวมเสื้อชั้นนอกให้สอาดเรียบร้อยและนุ่งผ้าสิ้น (ผ้าถุง) จงทุกคน” และรณรงค์ให้ใส่หมวกชี้ว่า “มาลานำไทยไปสู่มหาอำนาจ”

ถึงขั้นที่ครั้งหนึ่งรัฐบาลส่งเจ้าหน้าที่ไปเฝ้าสมเด็จฯ พระพัน-วัสสาอัยยิกาเจ้า ขอพระราชทานให้พระองค์สวมพระมาลา และขอประทานฉายพระรูป จนถูกกริ้วว่า

“…ทุกวันนี้ จนจะไม่เป็นตัวของตัวอยู่แล้ว  นี่ยังจะมายุ่งกับหัวกับหูอีก…ไม่ใส่ อยากจะให้ใส่ก็มาตัดหัวเอาไปตั้งแล้วใส่เอาเองก็แล้วกัน…”

การที่รัฐยุ่งกับหัวหูของผู้คนยังปรากฏในคำสั่งอื่น ๆ อีก เรื่องที่คนจำได้ดีเช่น “ห้ามกินหมาก” ซึ่งรัฐบาลมองว่าเป็น “ประเพณีเสื่อมเกียรติอย่างร้ายแรง” บ้วนน้ำหมากเลอะเทอะเป็นผู้ “ไม่มีวัฒนธรรม” กระทรวงมหาดไทยจึงห้ามประชาชนที่กินหมากติดต่อราชการและกวดขันเรื่องนี้อย่างเข้มงวด

สรศัลย์ แพ่งสภา สถาปนิก-นักเขียนซึ่งผ่านยุคนั้นมาเล่าว่า “วันดีคืนดีท่านสั่งให้หยุดเคี้ยวหยุดขาย (หมาก) ราวกับปิดสวิตช์ไฟฟ้าปั๊บเดียวดับมืดทั้งบ้าน คนที่ติดมาก ๆ ยิ่งคนแก่ด้วยแล้วนั่งหาวหวอด ๆ จนขากรรไกรค้าง…ทีนี้ซิครับ เหล่าสมุนที่ว่าจะสอพลอเจ้านาย…แต่ไม่รู้ว่าได้รับมอบอำนาจมาจากไหนสั่งตัดโค่นสวนหมากพลูพินาศไป” ยังไม่นับคนยากคนจนที่ต้องหาเสื้อผ้าสากลมาใส่ตามคำสั่ง “ท่านผู้นำ”

ยังมีประกาศให้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่จากวันที่ ๑ เมษายนเป็นวันที่ ๑ มกราคม และประกาศอีกหลายฉบับที่เปลี่ยนธรรมเนียมและวัฒนธรรมดั้งเดิมให้เข้ากับสากล  ช่วงนี้รัฐบาลยังโอนกิจการค้าชาวต่างประเทศเข้ามาดำเนินการเอง อาทิ โรงงานยาสูบ สัมปทานป่าไม้ เหมืองแร่ และตั้งกิจการค้าของไทย เช่น บริษัทไทยเดินเรือทะเล จำกัด

 

สงครามอินโดจีน 

ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ จะมาถึงเมืองไทยไม่นาน พันเอก หลวงพิบูลฯ เลื่อนยศเป็นพลตรี และกลายเป็น “จอมพล” เมื่อการเรียกร้องดินแดนอินโดจีนประสบความสำเร็จ

กรณี “สงครามอินโดจีน” ระหว่างไทยกับฝรั่งเศส (เกิดก่อน “สงครามมหาเอเชียบูรพา” อันเป็นส่วนหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่ ๒)  เรื่องเล่ากระแสหลักตามที่ทราบกันคือ เกิดจากความต้องการ “ปรับปรุงเส้นเขตแดน” ของไทยหลังแพ้ฝรั่งเศสในการชิงดินแดนที่เป็นประเทศลาวและกัมพูชาในสมัยรัชกาลที่ ๕ อย่างราบคาบ

ช่วงที่รัฐบาลไทยยึดนโยบายนี้ สงครามโลกครั้งที่ ๒ ระเบิดแล้วในยุโรป เยอรมนีชนะฝรั่งเศสตั้งแต่ ๒๒ มิถุนายน ๒๔๘๓ รัฐบาลไทยทำ “สนธิสัญญาไม่รุกรานกันและกัน” กับมหาอำนาจตะวันตกหลายประเทศเพื่อประกันความเป็นกลาง ดังนั้นเมื่อฝรั่งเศสขอให้ไทยรับสัตยาบันพลตรี หลวงพิบูลฯ จึงเห็นโอกาส ปฏิเสธสัตยาบัน และขอปรับปรุงเส้นเขตแดน ขอไชยบุรีและจำปาศักดิ์คืน ให้ถือแม่น้ำโขงเป็นเส้นเขตแดน และสุดท้ายหากมีการโอนอธิปไตยในอินโดจีน ขอให้ลาวและกัมพูชาเป็นของไทย ซึ่งรัฐบาลฝรั่งเศส (ภายใต้การยึดครองของเยอรมนี) ไม่ยินยอม

“สงครามอินโดจีน” จึงเกิดขึ้นในช่วงปลายปี ๒๔๘๓  ตลอดเดือนตุลาคมปีนั้น มีการปลุกกระแสเรียกร้องดินแดนคืน  นิสิตจุฬาฯ นักศึกษามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง (มธก.) ออกมาเดินขบวนอย่างคึกคัก

ในที่สุดญี่ปุ่นก็เข้ามาไกล่เกลี่ย เกิด “อนุสัญญากรุงโตเกียว พ.ศ. ๒๔๘๔” ทำให้ไทยได้ไชยบุรี จำปาศักดิ์ เสียมราฐ (เสียม-เรียบ) และพระตะบอง  พลตรีหลวงพิบูลฯ มีความชอบ รับพระราชทานยศ “จอมพล” เป็น “จอมพล หลวงพิบูลสงคราม” มีการสร้างอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิจารึกชื่อทหารผู้เสียชีวิตในสงครามอินโดจีน เกิดจังหวัด “พิบูลสงคราม” ในดินแดนที่ได้มาใหม่โดยรวมท้องที่เมืองเสียมราฐและอุดรมีชัยเข้าไว้ด้วยกันเพื่อเป็นเกียรติแก่จอมพล

แน่นอน หลักฐานจำนวนมากโดยเฉพาะฝ่าย ปรีดี พนมยงค์ ที่คัดค้านการทำสงคราม มองว่านี่คือการเดินนโยบายผิดพลาดของจอมพลซึ่งทำให้หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ไทยต้องคืนดินแดนไปทั้งหมด แต่หลักฐานฝ่ายจอมพล ป. ก็อ้างว่าสงครามครั้งนี้นอกจากต้องการกู้เกียรติยศ ยังมีเจตนา “ขยายแนวตั้งรับ” เพื่อเตรียมรับมือญี่ปุ่นด้วย  ตัวอย่างหลักฐานหนึ่งซึ่งถูกยกขึ้นมา คือโทรเลขของจอมพลที่ส่งถึงพันโท ไชย ประทีปเสน ที่เดินทางไปไซ่ง่อน (โฮจิมินห์ซิตี) กับคณะกรรมการเจรจาปรับปรุงเขตแดนกับฝรั่งเศสในเดือนกันยายน ๒๔๘๔ ระบุว่า “…ขอแต่เส้นเขตแดนให้เสร็จไปแล้วกัน ดินแดนที่ได้มาเรามีความมุ่งหมายในการป้องกันชาติในภายหน้า ยิ่งกว่าจะได้ดินแดนมา…”  ด้วยการได้ดินแดนเพิ่มส่วนนี้ ทำให้ญี่ปุ่นใช้เวลาบุกนานขึ้น “ต้องลำบากตั้งแต่สวายดอนแก้ว พระตะบอง…ไกลนครหลวงออกไปหลายสิบกิโลเมตร”

เรื่องนี้ยังถกเถียงกันถึงปัจจุบัน

หลังชนะสงครามอินโดจีน คณะรัฐมนตรีส่วนหนึ่งถวายบังคมลาออกจากบรรดาศักดิ์ตามนโยบายจอมพลที่ต้องการยกเลิกบรรดาศักดิ์ทั้งหมด บ้างเปลี่ยนไปใช้ชื่อเดิม บ้างก็นำบรรดาศักดิ์มาเป็นนามสกุล

โดย “จอมพล หลวงพิบูลสงคราม” เลือกใช้ชื่อ “จอมพล แปลก พิบูลสงคราม” เขียนย่อว่า “จอมพล ป. พิบูลสงคราม” ตั้งแต่บัดนั้น

 

เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย 

จุดชี้เป็นชี้ตายที่กำหนดบทบาทประเทศไทยในสงครามโลกครั้งที่ ๒ อยู่ในช่วงรอยต่อคืนวันที่ ๗ ถึงเช้าวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ เมื่อญี่ปุ่นยกพลขึ้นบก

ขณะนั้นจอมพลกำลังตรวจราชการที่ชายแดนภาคตะวันออก คณะรัฐมนตรีไม่กล้าตัดสินใจตอบทูตญี่ปุ่นที่มายื่นคำขาดขอเดินทัพผ่าน  ขณะที่เกิดการต่อสู้ทุกแนวเขตแดนที่ญี่ปุ่นบุกเข้ามา

การที่จอมพลกลับถึงที่ประชุมคณะรัฐมนตรีช้าเป็นที่มาของข้อกังขาว่าจอมพลมี “ข้อตกลงลับ” กับญี่ปุ่นหรือไม่

ในจดหมายที่ส่งให้หนังสือพิมพ์ฉบับต่าง ๆ หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ จอมพลเล่าว่าไปตรวจราชการที่ปราจีนบุรี ดูแนวตั้งรับที่ศรีโสภณ เดินทางไปจังหวัดพระตะบองก่อนกลับมาอรัญประเทศตอนค่ำและได้โทรเลขด่วน “ผมจึงได้เดินทางกลับกรุงเทพฯ เมื่อเวลา ๑ นาฬิกาของวันที่ ๘”

พอใกล้รุ่งสางก็พบกับรถของพลอากาศตรี มุนี มหาสันทนะ เวชยันตรังสฤษฏ์ (พระเวชยันตรังสฤษฏ์) ที่คณะรัฐมนตรีส่งมาตามจอมพลที่สระบุรี จอมพล ป. ตัดสินใจไม่ขึ้นเครื่องบินกลับทันที และจะ “เข้าไปดูท่วงที (ในกรุงเทพฯ) ส่วนการรบก็คงให้รบกันต่อไปตามแผนและตามคำสั่ง…”

ตอนเช้าเมื่อถึงวังสวนกุหลาบ (ทำเนียบรัฐบาลสมัยนั้น) จึงเจรจากับทูตญี่ปุ่น โดยญี่ปุ่นเสนอระหว่าง ๑. ให้เดินทัพผ่าน ๒. ร่วมรบ  ๓. เข้าร่วมสัญญาไตรภาคี  ๔. ไม่รับข้อเสนอ

จอมพลขอว่าต้องประชุมกับคณะรัฐมนตรีเพื่อตัดสินใจ

ขณะนั้นสถานการณ์ตึงเครียด ในห้องนายกรัฐมนตรีมีคนไทยเพียงสองคน คือ จอมพล ป. กับ วณิช ปานะนนท์ ซึ่ง “เผชิญคำขู่เข็ญ…จากฝ่ายญี่ปุ่นซึ่งมีทั้งคณะทูตพลเรือน ทูตทหาร และนายทหารชั้นนายพล นายพัน ถือดาบอยู่เกะกะ นับจำนวนได้ประมาณตั้ง ๒๐ คน นายวณิช…ได้ขอร้องให้ฝ่ายญี่ปุ่นให้เกียรติแก่นายกรัฐมนตรีไทยให้ได้ออกจากห้องเพื่อไปหารือคณะรัฐมนตรีบ้าง พูดกันอยู่นาน ญี่ปุ่นจึงได้ยอม…”

ในที่สุดคณะรัฐมนตรีก็ “ลงมติเป็นเอกฉันท์ไม่รบกับญี่ปุ่น” ให้เดินทัพผ่านโดยขอให้เคารพอธิปไตยของประเทศไทย

สิบโมงเช้า รัฐบาลประกาศให้ “ยุติการสู้รบ” วันเดียวกันยังมีประชุมคณะรัฐมนตรีรอบเย็น ซึ่งจอมพลออกอาการ “ท้อ” ให้เห็น กล่าวกับคณะรัฐมนตรีว่า “ไม่มีอะไรจะพูด…เก่งมาหลายปี ๓-๔ ปี วันนี้หมดภูมิ เราลองพิจารณาดูซิว่าจะมีทางอะไรที่จะเอาตัวรอดได้…”  ที่น่าสังเกตคือจอมพลถามถึงความเป็นไปได้ในการ “อพยพ (รัฐบาล) ไปทางเหนือ”

ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันที่ ๑๑ ธันวาคม สถานการณ์แย่ลงอีกเมื่อญี่ปุ่นต้องการให้ร่วมมือมากกว่ายอมให้เดินทัพผ่าน จอมพลกล่าวว่า “ไม่รู้ที่จะแก้อย่างไร…จะเป็นการที่ผมขายชาติทั้งขึ้นทั้งล่อง อ้ายไม่รับเดี๋ยวเขาก็จะปลดอาวุธทหาร เราก็หมดเสียง อ้ายจะสู้หรือ ก็ฉิบหายมาก…ในใจของผมเห็นว่า เมื่อเราจะเข้ากับเขาแล้วก็เข้าเสียให้เต็ม ๑๐๐% เขาก็คงเห็นอกเห็นใจเรา ส่วนการข้างหน้าจะเป็นอย่างไรผมทายไม่ถูก…”

ตอนนี้เอง ปรีดี พนมยงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ค้านว่าเมื่อตกลงแค่ให้เดินทัพผ่านก็ควรทำเท่านั้น หากร่วมเต็มตัวแล้วกลับลำภายหลัง “ถ้าประเด็นอยู่ที่จะกู้เกียรติยศของชาติ ก็จะเสียเกียรติทั้งขึ้นทั้งล่อง” โดยเสนอว่าให้หาทางให้ญี่ปุ่นปฏิบัติตามสัญญาจะดีกว่า ซึ่งการโต้เถียงครั้งนี้เป็นรอยร้าวแรกที่เห็นชัดระหว่างแกนนำฝ่ายบุ๋นและบู๊ของคณะราษฎร

ในที่สุดปรีดีถูกปรับออกจากคณะรัฐมนตรีไปรับตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ด้วยเหตุว่า “เป็นที่รังเกียจของญี่ปุ่น” ก่อนที่ไทยจะเซ็นสัญญาร่วมรบกับญี่ปุ่นและประกาศสงครามกับสัมพันธมิตรในวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๔๘๕

ความจริงเบื้องหลัง ตอนนั้นปรีดี “คิดต่าง” ก่อตั้งขบวนการเสรีไทย” (Free Thai Movement) ตั้งแต่วันที่ไทยยอมให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่าน  ขณะที่จอมพล ป. ดำเนินนโยบายอีกแบบ ซึ่งต้องบันทึกในที่นี้ว่าเป็นการตัดสินใจขณะที่ลูกสาวคนหนึ่งของเขากำลังเรียนต่ออยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส

จอมพลบอกประชาชนว่าขอให้ “เชื่อผู้นำ” และ “ชาติ (จะ) พ้นภัย” เพราะ “ญี่ปุ่นมีเครื่องยึดมั่นอยู่คือพระเจ้าแผ่นดินของเขา ของเราไม่มีอะไรเป็นเครื่องยึดแน่นอน…ชาติก็ยังไม่มีตัวตน ศาสนาก็ไม่ทำให้คนเลื่อมใส ถึงยึดมั่น พระมหากษัตริย์ก็ยังเป็นเด็กเห็นแต่รูป รัฐธรรมนูญก็เป็นสมุดหนังสือ…ผมจึงให้ตามนายรัฐมนตรี”

 

“ชาตินิยม” และ “เมกะโปรเจกต์” ในไฟสงคราม

ระหว่างสงคราม เราเข้าถึงวิธีคิดและวิธีทำงานของจอมพลได้จากการอ่าน “สมุดสั่งงาน”

ผมพบว่าสมุดสั่งงานทุกเล่มได้รับการเก็บรักษาไว้ในตู้ไม้ ในพิพิธภัณฑ์ อาคาร รร.จปร. ๑๐๐ ปี โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า จังหวัดนครนายก ทั้งหมดเป็นสมุดปกแข็งสีเขียว บางเล่มก็ถูกห่อด้วยกระดาษสีอื่น ทั้งหมดมี ๑๒ เล่ม แบ่งเป็น “สมุดสั่งการฝ่ายทหาร” “สมุดสั่งงานฝ่ายพลเรือน” “สมุดสั่งงานฝ่ายสภาวัฒนธรรม” และ “สมุดสั่งการเพ็ชร์บูรน์” สมุดเหล่านี้บันทึกคำสั่งของจอมพล ป. ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ๒๔๘๔ (ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ เริ่ม ๑ เดือน) ถึงเดือนสิงหาคม ๒๔๘๗ (ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติ ๑ ปี)

ภารกิจสำคัญสี่เรื่องที่ปรากฏคือ สงวนกองทัพไม่ให้ถูกปลดอาวุธ หาทางทอนกำลังญี่ปุ่น สร้างเพชรบูรณ์ให้เป็นเมืองหลวง สร้างพุทธบุรีมณฑล กำหนดเขตหวงห้ามคนต่างชาติ ตาม “แผนยุทธการที่ ๗”

เมกะโปรเจกต์สำคัญที่สุดคือการสร้าง “นครบาลเพชรบูรณ์” ระหว่างปี ๒๔๘๖-๒๔๘๗

จอมพล ป. เลือกเพชรบูรณ์เนื่องจากล้อมรอบด้วยทิวเขาสี่ด้าน มีเส้นทางสู่ภาคเหนือ ที่นี่จึงเป็น “เมืองหลวงเชิงยุทธศาสตร์” ที่เหมาะสำหรับต่อต้านญี่ปุ่น และตั้ง “รองนายกฯ ประจำเพชรบูรณ์” ดูแลภารกิจนี้โดยตรง  คำสั่งส่วนมากเน้นสร้างถนนสายสำคัญ อาทิ “ถนนไชยวิบูรณ์” เชื่อมจังหวัดลพบุรีกับเพชรบูรณ์ (ปัจจุบันคือบางส่วนของทางหลวงหมายเลข ๒๑) โดยการเกณฑ์แรงงานจากราษฎรหลายจังหวัด

นโยบายนี้ถูกโจมตีอย่างหนักด้วยสมัยนั้นเพชรบูรณ์เป็นเมือง “มหากันดาร” ผู้ถูกเกณฑ์เจ็บป่วยและเสียชีวิตมากเสียจนมีคำกล่าวว่าใครถูกเกณฑ์ให้ “เตรียมหม้อดินไปใส่กระดูก”

อดีตคนเกณฑ์รายหนึ่งเล่าว่า “ทำทางแถวลำนารายณ์ มองออกไปทางไหนก็มืดครึ้มไปด้วยป่าดิบ ที่นี่มันดงพญาเย็น…อดอยาก ขนาดรินน้ำข้าวยังแย่งกันกิน น้ำก็ต้องพึ่งแควป่าสัก ต้องเดินจากที่ทำงานไปอีกไกล เป็นไข้มาลาเรียกันงอม โอ้โห ตายต่อหน้าต่อตา เดี๋ยวก็หามเอาไปฝังกันแล้ว”

ตัวจอมพลก็ลำบากมิใช่น้อย ครั้งหนึ่งเมื่อทูตญี่ปุ่นขอพบก็ต้องผัดผ่อนว่า “ขอนัดพบครึ่งทางคือบัวชุม (ตำบลบัวชุม อำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี) จะมาเมื่อใดให้แจ้งมาด่วน จะได้บุกโคลนไปพบ”

รัชนิบูล ลูกคนที่ ๓ ของจอมพล ป. บันทึกว่าช่วงนี้ถ้าบิดากลับวังสวนกุหลาบก็ไม่มีเวลาให้ (ขณะนั้นมีลูกห้าคนแล้ว) “ดูยุ่งเหลือเกิน…จะได้กอดลูกก็ตอนมาลาท่านไป ร.ร.  สิ่งที่ท่านชอบทำก็คือจับลูกไว้ใต้แขนประมาณอึดใจหนึ่งแล้วก็ปล่อยลูกไป ร.ร. ได้  สำหรับน้องนิตย์ คนสุดท้อง (คนที่ ๖ เกิดปี ๒๔๘๔) ท่านจะต้องให้ลูบหนวดเคราท่านสักพักหนึ่งด้วย”

อย่างไรก็ตามแม้มีเมกะโปรเจกต์เพชรบูรณ์ จอมพลก็ไม่เคยทิ้งการรณรงค์ทางวัฒนธรรม ยิ่งช่วงสงครามนั้นเข้มข้นยิ่งกว่าเดิมเสียอีกโดยมีท่านผู้หญิงละเอียดเป็นกำลังสำคัญ

มีการตั้ง “สภาวัฒนธรรม” ในปี ๒๔๘๕ เพื่อทำงานด้านวัฒนธรรมโดยเฉพาะ ตั้ง “คนะกัมการส่งเสิมวัธนธัมไทย” (เขียนแบบใหม่) ปรับปรุงภาษาไทยขนานใหญ่และสร้างความปวดเศียรเวียนเกล้าให้ผู้ใช้ภาษาในยุคนั้นเป็นอย่างยิ่ง  ตัวอย่างของการปรับปรุง คือ ตัดพยัญชนะ ๑๓ ตัว สระ ๕ ตัว  คำควบกล้ำที่ไม่ออกเสียง ร กำหนดว่าไม่ต้องเขียนตัว ร  ให้ใช้ไม้มลาย (ไ) แทนไม้ม้วน (ใ) เป็นต้น

ท่านผู้หญิงละเอียดยังมีส่วนช่วยรณรงค์เรื่องทางวัฒนธรรมอื่น ๆ อีก อาทิ แต่งเพลง “ยอดชายใจหาญ” “หญิงไทยใจงาม” “ดอกไม้ของชาติ” เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการปรับปรุง “รำโทน” โดยจอมพลและท่านผู้หญิงเป็นผู้ตั้งชื่อ “รำโทน” ที่ปรับปรุงแล้วว่า “รำวง” แล้วขอให้กรมศิลปากรคิดท่ารำมาตรฐานขึ้นมา

เหตุที่จอมพลมีนโยบายส่งเสริมบทบาทสตรีเพราะ “หยิงเปนส่วนหนึ่งของชาติ ก็ควนจะได้สร้างตนและช่วยชาติด้วยในตัว…ไครจะดูว่าชาตินั้นชาตินี้เจรินเพียงไดไนเมื่อผ่านไปชั่วแล่นแล้วก็มักจะตัดสินความเจรินของชาตินั้นตามความเจรินของฝ่ายหญิง”

ดังนั้นจึงออกคำสั่งให้สามียกย่องภรรยาตลอดเวลา ถ้าข้าราชการทะเลาะกับภรรยาถือเป็นการผิดวินัย เป็นต้น

ปี ๒๔๘๕ ยังรับ “นักเรียนนายร้อยหญิง” รุ่นแรกมาฝึกเพื่อส่งเสริมบทบาทสตรีในการป้องกันประเทศ ซึ่งจีรวัสส์บุตรีจอมพลที่เพิ่งกลับจากต่างประเทศก็เป็นนักเรียนนายร้อยหญิงรุ่นแรกนี้ด้วย  อย่างไรก็ตามเรื่องนักเรียนนายร้อยหญิงนี้ก็ทำให้จอมพลโดนชาวบ้านด่าอีก ด้วยบรรดาข้าราชการ “ทำเกิน” เกณฑ์บรรดาแม่บ้านทั้งหลายออกมาฝึกซ้ายหันขวาหันกันเป็นที่คึกคัก จนจอมพลต้องออกคำสั่งปรามการกระทำดังกล่าว

ยังมีนโยบายอื่น ๆ อีก อาทิ ห้าม “ใส่หมวกแขก โพกหัว” และ “แต่งกายผิดเพศ” ส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ ปลูกผักสวนครัว ให้กินก๋วยเตี๋ยว กีดกันอิทธิพลชาวจีนจากระบบเศรษฐกิจไทยด้วยการส่งเสริมให้คนไทยประกอบการค้า

เรื่องที่คนจำกันได้มากที่สุด คือการเปิดเพลง “สดุดี ป. พิบูล-สงคราม” ก่อนฉายภาพยนตร์ เนื้อร้องมีว่า “ไชโย วีรชนชาติไทย ตลอดสมัย ที่ไทยมี ประเทศไทย คงชาตรี ด้วยคนดี ผยองชัย ท่านผู้นำ พิบูลสงคราม ขอเทิดนาม เกริกไกร ขอดำรง คงไทย ตลอดสมัย เทิดไทย ชะโย”  โดยโรงหนังประกาศขอให้ผู้ชม “ลุกขึ้นคารวะท่านผู้นำ” เมื่อหนังจบจึงขึ้นพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและเพลงสรรเสริญพระบารมี

สง่า อารัมภีร หนึ่งในคณะนักร้องของกองทัพอากาศที่เห็นกำเนิดเพลง “สดุดี ป. พิบูลสงคราม” เล่าว่าพระเจนดุริยางค์เป็นผู้แต่งทำนอง ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธุ์) เป็นผู้คิดเนื้อร้อง คณะนักร้องกองทัพอากาศขับร้องแล้วอัดเสียง จากนั้นก็นำไปเปิดพร้อมกับการขึ้นจอเป็นรูป “ท่านนายกฯ และธงชาติไทย” โดยภาพยนตร์เรื่องแรกที่เปิดเพลงและขึ้นรูปท่านผู้นำคือ บ้านไร่นาเรา ซึ่งฉายในช่วงต้นปี ๒๔๘๕

ช่วงนี้จอมพลยังใช้ตรา “ไก่ขาวกางปีก” (เพราะเกิดปีระกา) มีตราสำนักนายกรัฐมนตรีลอยอยู่เหนือไก่เป็นสัญลักษณ์ โดยมีสองแบบคือ ตราไก่สีเขียว (สีประจำวันพุธซึ่งเป็นวันเกิด) กับตราไก่บนพื้นสีแดงกับดำซึ่งเป็นสีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทำให้ตราไก่กลายเป็นของประดับเวลามีงานเกี่ยวข้องกับท่านผู้นำ และเมื่อจอมพลไปสร้างสิ่งก่อสร้างที่ไหน ตรานี้ก็จะตามไปปรากฏอยู่เสมอ

ทว่าพอถึงเดือนกรกฎาคม ๒๔๘๖ ท่านผู้นำตราไก่ก็ตกเก้าอี้ เมื่อ “พระราชกำหนดระเบียบราชการบริหารนครบาลเพชรบูรน์ พุทธสักราช ๒๔๘๗” และ “พระราชกำหนดจัดสร้างพุทธบุรีมณฑล พุทธสักราช ๒๔๘๗” เข้าสู่สภาแล้วไม่ผ่านด้วยมติที่ประชุม ๓๐ ต่อ ๔๘ เสียง

จอมพลลาออก แต่ยังดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดและพยายามทำตามแผนต่อโดยปักหลักอยู่ที่ลพบุรีและออกคำสั่งทางทหาร การกระทำของจอมพล ป. ทำให้เกิดข่าวลือว่าจอมพล “ตั้งป้อม” จะยกทหารบุกกรุงทำรัฐประหารปลดรัฐบาลใหม่ที่นำโดยพันตรี ควง อภัยวงศ์

อย่างไรก็ตามต่อมาพันตรีควงก็ยุบตำแหน่ง “ผู้บัญชาการทหารสูงสุด” ตั้งจอมพล ป. เป็น “ที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน” ตั้ง พันเอกพระยาพหลฯ ซึ่งขณะนั้นป่วยด้วยโรคหอบหืดเป็น “แม่ทัพใหญ่” แทน เรื่องจึงสงบลง

หลังจากนั้นจอมพล ป. ก็ต้องนั่งดูรัฐบาลใหม่ที่มีเสรีไทยหนุนหลัง ยกเลิกนโยบายทางวัฒนธรรมที่ทำมาตลอดช่วงสงคราม คือการปรับปรุงตัวอักษรไทย การบังคับสวมหมวก กลับมาให้เสรีภาพเรื่องกินหมาก และเปลี่ยนชื่อประเทศเฉพาะในภาษาอังกฤษกลับมาเป็น “SIAM” อีกครั้ง

จุดเปลี่ยนสำคัญคือการอภัยโทษนักโทษการเมืองตั้งแต่เหตุการณ์กบฏบวรเดชเป็นต้นมา ทำให้ฝ่ายอนุรักษนิยมซึ่งเป็นศัตรูคู่ปรับของคณะราษฎรได้รับการปลดปล่อยกลับสู่เวทีการเมืองทั้งหมด

ทุกวันนี้ผมพบว่าหลักฐานการเตรียมการสร้างนครบาลเพชรบูรณ์ยังปรากฏให้เห็นเด่นชัด คือเสาหลักเมืองนครบาลเพชรบูรณ์บริเวณสี่แยกหล่มเก่าภายในสวนสาธารณะที่ทางจังหวัดจัดสร้างขึ้นไว้เพื่อรำลึกถึงจอมพล ป. ที่มีส่วนในการพัฒนาจังหวัด ถ้ำที่จอมพล ป. เคยคิดจะนำสมบัติและวัตถุมีค่าของชาติไปเก็บไว้ ยังคงถูกรักษาไว้เป็นแหล่งท่องเที่ยว

ขณะที่ลพบุรีก็ยังเก็บรักษาบ้านพักและสิ่งของเกี่ยวข้องกับจอมพล ป. ไว้ในศูนย์การทหารปืนใหญ่และเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าชมได้

 

อาชญากรสงคราม

เมื่อจอมพล ป. ถูกปลดในปี ๒๔๘๗ และสงครามโลกครั้งที่ ๒ ยุติลงในเดือนสิงหาคม ๒๔๘๘ รัฐบาลเสรีไทยหลังสงครามก็พยายามแก้สถานะผู้แพ้สงครามโดยคืนดินแดนที่ได้มาและสมัครเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ เกิด “รัฐบาลเสรีไทย” ตามมาหลายชุด ชุดสำคัญคือรัฐบาลของ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ซึ่งออก “พระราชบัญญัติอาชญากรสงคราม พ.ศ. ๒๔๘๘” ดำเนินคดีจอมพล ป. และพวก

ตอนนั้นจอมพล ป. ล้างมือในอ่างทองคำ ไปเลี้ยงสัตว์ ทำสวนครัว ปลูกไร่สับปะรดอยู่ที่จังหวัดปทุมธานี  พลตรี อนันต์ พิบูลสงคราม เล่าว่าบิดา “บางครั้งก็กลับมาฟังข่าวการบ้านการเมืองที่ (บ้าน) หลักสี่ บางวันก็ลงเรือแล่นไปตามแม่น้ำลำคลองในชนบทต่างจังหวัดหรือขับรถยนต์ไปเยี่ยมสนทนากับเพื่อนฝูงที่คุ้นเคย”

มาลัย ชูพินิจ ซึ่งไปสัมภาษณ์จอมพลที่บ้านใกล้อนุสาวรีย์หลักสี่พบว่า “ทั่วทั้งบริเวณบ้านเงียบเหมือนไม่มีคนอยู่นอกจากตำรวจถือปืนยืนยามอยู่ในช่องกุดข้างประตูคนเดียวเท่านั้น” ต่างจากก่อนหน้าที่เวลาเข้าพบไม่ผิดกับ “ขอเข้าเฝ้าพระเจ้าจักรพรรดิ” เมื่อพบจอมพลก็เห็น “ใบหน้าซึ่งเกร็งและแกร่งขึ้นด้วยการออกกำลังกลางแจ้ง หน้าผากอันแคบคล้ำดำไปด้วยการกรำแดด พุงที่เคยทำท่าจะพลุ้ยเพราะความฉุก็ยุบลงไป นัยน์ตาซึ่งแต่ก่อนเปลี่ยนไปได้ต่าง ๆ นานา…บัดนี้เป็นประกายร่าเริงแจ่มใส”

จอมพล ป. เล่าให้มาลัยฟังว่าช่วงนี้ใช้ชีวิตแบบ “ตาสีตาสา” เรียนปลูกผักกาดกับ “เจ๊กเพื่อนบ้าน” และ “หัดเดินเท้าเปล่า…ให้เคยอย่างพวกชาวนาเขา” และว่า “เข็ดแล้ว (การเมือง) ถึงจะมีราชรถมาเกย ก็ไม่ขอรับประทาน”

จอมพลถูกนำไปขึ้นศาลในวันที่ ๑๖ ตุลาคม ๒๔๘๘ พลตรี อนันต์เล่าว่าทหารมาที่บ้านรอจนจอมพลทำธุระส่วนตัวเสร็จ จอมพลก็ “สวมเสื้อกันหนาวสปอร์ทแบบมีซิปรูด มือหนึ่งถือหมวกหางนกยูงสีน้ำตาล อีกมือหนึ่งถือกระป๋องบุหรี่ที่ขาดไม่ได้ เดินลงบันไดและหยุดยืนอย่างสง่าผ่าเผยกลางบันไดเหนือพื้นห้องโถงรับแขกชั้นล่าง นายพันโททหารสารวัตรแห่งกองทัพบกก็ได้เดินไปหยุดยืนตรงอยู่เบื้องหน้า แสดงความเคารพและอ่านหมายจับ…ด้วยน้ำเสียงที่สั่นเครือ แต่ชัดถ้อยชัดคำด้วยใบหน้าที่เย็นชา แต่มีน้ำตานองเป็นทาง  จอมพล ป. รับการเคารพ และกล่าวอย่างปรกตินุ่มนวลว่าจะไปกันหรือยัง…”

ก่อนที่ลูกชายคนที่ ๒ คือประสงค์ จะขับรถส่วนตัวนำนายทหารและบิดาไปส่งยังที่ทำการตำรวจสันติบาล

ในศาลจอมพล ป. โดนข้อหาหนัก อาทิ เข้าข้างฝ่ายญี่ปุ่น เป็นเผด็จการ  ท่านผู้หญิงละเอียดบันทึกว่าช่วงนี้ต้องซื้อบ้านที่ซอยชิดลมซึ่งได้รับอนุเคราะห์ขายในราคาถูกเพื่ออยู่ในเมืองทำอาหารส่งจอมพลและสู้คดี  สถานะทางการเงินแย่ลงถึงกับ “ต้องขายของเก่ากิน” และตัดสินใจใช้ทุนทรัพย์ที่เก็บออมไว้จ้างทนายต่อสู้คดี

ทั้งนี้พยานฝ่ายโจทก์ล้วนเป็นบุคคลในคณะรัฐบาลชุดจอมพล ป. และส่วนหนึ่งเป็นเพื่อนที่ร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครองมาด้วยกันทั้งสิ้น

ในชั้นศาลจอมพลปฏิเสธข้อกล่าวหาทุกข้อโดยระบุว่าการเข้าข้างฝ่ายญี่ปุ่นทำเพื่อรักษาบ้านเมือง และชี้แจงมาตรการต่อต้านที่มีทั้งด้านการยุทธ์ วัฒนธรรม ฯลฯ

ถูกขังอยู่ ๘๘ วัน ศาลก็ตัดสินว่าพระราชบัญญัติอาชญากรสงครามไม่มีผลบังคับใช้ เนื่องจากขัดมาตรา ๑๔ ของรัฐธรรมนูญที่ระบุว่ากฎหมายไม่มีผลย้อนหลัง โดยไม่ลงรายละเอียดข้อเท็จจริงของฝ่ายโจทก์และฝ่ายจำเลยว่าฝ่ายใดมีน้ำหนักมากกว่ากัน

คำถามที่ว่า จอมพล ป. เป็น “อาชญากรสงคราม” หรือไม่ จึงยังไม่มีคำตอบ

จอมพล ป. รำพึงถึงสิ่งที่เกิดขึ้นว่า “ภายหลังที่ทำงานมากว่า ๑๐ ปีแล้ว ก็อดนึกขันไม่ได้ว่าไม่มีใครในโลกนี้เลยเขาจะอยู่ในฐานะที่แปลกประหลาดอย่างผมที่ทำให้คนเกลียดได้ ไม่ใช่แต่เพียงทั้งประเทศไทย แต่ทั้งโลก …เอาละฝรั่งโกรธก็พอเข้าใจ แต่พอเข้าเมืองได้แล้ว เจ้าญี่ปุ่นกลับเกลียดเข้าให้อีก ต่อมาก็จีน ลงท้ายก็พวกไทยเราเอง แม้จนกระทั่งคนที่เคยรักกัน”

 

ขี่เสือ

หลังพบปัญหาเศรษฐกิจรุมเร้าหลังสงครามและกรณีสวรรคตรัชกาลที่ ๘ รัฐบาลพลเรือนที่มีฝ่ายเสรีไทยหนุนหลังก็ตกเป็นฝ่ายตั้งรับ รัฐบาลพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ถูกรัฐประหารในวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๙๐ ทำให้ปรีดีต้องลี้ภัยไปอยู่นอกประเทศ รัฐธรรมนูญปี ๒๔๘๙ ซึ่งเป็นประชาธิปไตยมากที่สุดฉบับหนึ่งถูกยกเลิก

จากนั้นคณะรัฐประหารก็ตื๊อจอมพล ป. ซึ่งหนีไปเก็บตัวที่บ้านเพื่อนย่านบางโพมาเป็นหัวหน้าคณะ

พลตรีอนันต์เล่าว่าเช้าวันที่ ๙ พฤศจิกายน หลังรัฐประหารแล้ว ๑ วัน  ผู้นำคณะรัฐประหารมาหาบิดาด้วยอาการ “หน้าซีด ปากสั่น มือสั่น หวั่นเกรงว่าจอมพลจะปฏิเสธ…”

จีรวัสส์ พิบูลสงคราม บุตรีจอมพลจำได้ว่าเมื่อเกิดรัฐประหาร “คุณพ่อร้องไห้ คุณแม่เขียนบันทึกว่าถามคุณพ่อทำไมเธอร้องไห้ คุณพ่อบอก ๒๔๗๕ ฉันหมดแล้ว” (ไทยโพสต์, ๒๘ มิถุนายน ๒๕๕๒)

แต่เรื่องก็หักมุมเมื่อจอมพล ป. ยอมรับเป็นหัวหน้าคณะและถูก “แห่” ไปที่กระทรวงกลาโหมท่ามกลางเสียงยินดีว่า “จอมพลมาแล้ว ๆ” และนี่เป็นครั้งแรกที่จอมพล ป. ต้องบริหารประเทศกับกลุ่มคนที่ไม่ใช่คณะราษฎร

รัฐบาลพันตรี ควง อภัยวงศ์ เกิดขึ้นอีกครั้งโดยมีเงาทะมึน คือจอมพล ป. และคณะรัฐประหารอยู่ข้างหลัง ก่อนคณะรัฐประหารจะเขี่ยทิ้งรัฐบาลนายควงด้วยการ “จี้” ให้ลาออก แล้วให้จอมพล ป. ขึ้นเป็นนายกฯ อีกครั้ง ซึ่งในระดับโลกนับเป็นผู้นำคนแรกที่เข้าร่วมกับฝ่ายอักษะในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ แล้วกลับมาครองอำนาจได้อีก

ทว่าคราวนี้อำนาจของจอมพลไม่มากเท่าเดิม เนื่องจากต้องฝากการคุมกำลังทหารไว้กับพลโท ผิน ชุณหะวัณ พันเอก สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และการคุมกำลังตำรวจกับพันตำรวจเอก เผ่า ศรียานนท์

กลายเป็นการคุมเสือสองตัว คือ ผิน-เผ่า ก่อนจะกลายเป็น สฤษดิ์-เผ่า ในช่วงก่อนปี ๒๕๐๐

ระหว่างนี้จอมพล ป. ยังพบการต่อต้านครั้งใหญ่ คือ กบฏเสนาธิการ (๒๔๙๑) กบฏวังหลวง (๒๔๙๒) กบฏแมนฮัตตัน (๒๔๙๔)

“กบฏวังหลวง” เกิดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ ๒๔๙๒ เมื่อปรีดีพยายามกลับมาชิงอำนาจเพื่อนำรัฐธรรมนูญและระบบประชาธิปไตยกลับมาใช้อีก เกิดการสู้รบในกรุงเทพฯ ๓ วัน ก่อนที่ปรีดีจะลี้ภัยออกนอกประเทศ การกบฏครั้งนี้ทำให้ความพยายามประนีประนอมในทางลับระหว่างคณะราษฎรฝ่ายจอมพล ป. กับปรีดียุติลงอย่างสิ้นเชิง และมีการกวาดล้างคนของฝ่ายปรีดีขนานใหญ่

“กบฏแมนฮัตตัน” ผู้ก่อการคือทหารเรือระดับกลางที่ไม่พอใจบทบาททหารบกและตำรวจ จึงจู่โจมจับตัวจอมพล ป. ขณะรับมอบเรือขุดสันดอน แมนฮัตตัน จากสหรัฐอเมริกาโดยนำไปกักไว้ในเรือรบหลวง ศรีอยุธยา และพยายามยึดอำนาจ  จอมพลถูกจับอยู่ ๑ วัน ๗ ชั่วโมง รัฐบาลก็ตัดสินใจส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดเรือรบหลวง ศรีอยุธยา

นาทีที่เรือโดนทิ้งระเบิดจอมพล ป. “ได้ยินเสียงปืนกลกราดยิงลงมาถูกเรืออย่างหนัก ไม่ช้าก็มีเสียงระเบิดดังขึ้นระยะใกล้พร้อมกับสะเก็ดชิ้นเล็กชิ้นน้อยกระเด็นกระจัดกระจาย…” จึงสงสัยว่าหน้ามีแผลจึงลุกไปดูกระจกที่ห้องน้ำข้างเตียง ทันใดนั้น “ระเบิดลูกหนึ่งได้ทะลุผ่านเพดานห้องตกลงบนเตียงที่นั่งอยู่เมื่ออึดใจแล้วทะลุลงไปใต้ท้องเรือโดยไม่ระเบิด” เมื่อเรือจมก็ต้อง “โดดลงแม่น้ำเจ้าพระยาท่ามกลางเสียงกระสุนปืนจากริมฝั่งพระนครซึ่งดังอยู่ไม่ขาดระยะ” ไปขึ้นฝั่งที่พระราชวังเดิมซึ่งเป็นกองบัญชาการกองทัพเรือท่ามกลางห่ากระสุน  เหตุการณ์นี้ส่งผลให้เกิดการ “ล้างบาง” กองทัพเรือให้เป็นกองกำลังขนาดเล็กและหมดบทบาททางการเมืองนับแต่นั้น

ระยะนี้จอมพล ป. ดำเนินนโยบายเอียงไปทางสหรัฐฯ ระแวงภัยคอมมิวนิสต์ ออกพระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ พ.ศ. ๒๔๙๕ ส่งทหารไปรบในสงครามเกาหลี ร่วมกับสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรตั้งองค์การสนธิสัญญาป้องกันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEATO) และรับความช่วยเหลือด้านการทหารและเศรษฐกิจ

จอมพลยังตั้ง “กระทรวงวัฒนธรรม” ขึ้นในปี ๒๔๙๕ ส่งเสริมงานด้านสังคมสงเคราะห์ด้วยการออกพระราชบัญญัติประกันสังคม ตั้งคณะสังคมสงเคราะห์ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่งเสริมการศึกษาด้วยการตั้งมหาวิทยาลัยใหม่ ๆ ในเขตภูมิภาค ตั้ง “กระทรวงสหกรณ์” เพื่อส่งเสริมงานสหกรณ์ วางรากฐานโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ อาทิ เขื่อนยันฮี (ภูมิพล) เขื่อนเจ้าพระยา และวางระบบชลประทานบริเวณที่ราบลุ่มภาคกลางตอนล่าง

ปี ๒๔๙๘ จอมพล ป. ออกเดินทางเยือน ๑๗ ประเทศรอบโลก อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สหรัฐฯ สเปน ฝรั่งเศส ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์หลายฉบับโดยแสดงท่าทีอยู่กับฝ่ายโลกเสรีอย่างชัดเจน

ก่อนจะกลับมาพบว่าความสัมพันธ์ระหว่างสฤษดิ์ -เผ่าไม่ราบรื่น และเริ่มคุมสถานการณ์ไม่อยู่ จึงเริ่ม “ฟื้นฟูประชาธิปไตย” จัด “เพรสคอนเฟอเรนซ์” พบปะสื่อ จัดสถานที่ “ไฮด์ปาร์ก” อภิปรายในชุมชนเช่นเดียวกับอังกฤษ อนุญาตให้ตั้งพรรคการเมืองเพื่อเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๐ ซึ่งมีพรรคลงแข่งขันถึง ๒๓ พรรค

จอมพล ป. ตั้งพรรคเสรีมนังคศิลาในเดือนกันยายน ๒๔๙๘ มีจอมพลสฤษดิ์เป็นรองหัวหน้า และพลตำรวจเอกเผ่าเป็นเลขาธิการ เป็นครั้งแรกที่จอมพลลงสมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งที่ผ่านมาเป็นผู้แทนด้วยโควตาแต่งตั้งมาตลอด  จอมพลยังนับอายุพรรคย้อนหลังไปถึงปี ๒๔๗๕ อ้างความเกี่ยวพันคณะราษฎรก่อนจะสรุปว่าพรรคเสรีมนังคศิลานั้นมีอายุ “เก่าแก่กว่า ๒๔ ปีแล้ว” นอกจากนี้ยังลงสมัครในเขตพระนครและส่งท่านผู้หญิงละเอียดไปลงสมัครที่จังหวัดนครนายก

ผลการเลือกตั้ง จอมพลและท่านผู้หญิงได้รับเลือก พรรคเสรีมนังคศิลาได้ ๘๖ จาก ๑๖๐ ที่นั่ง  อย่างไรก็ตามการเลือกตั้งครั้งนี้ถูกขนานนามว่า “เลือกตั้งสกปรก” มีการทุจริตกว้างขวางซึ่งจะถูกกล่าวขวัญกันต่อมาว่า “พลร่ม” (เวียนเทียนลงคะแนน) และ “ไพ่ไฟ” (ใส่บัตรลงคะแนนเถื่อนในหีบบัตร)

เรื่องนี้ทำให้เกิดการเดินขบวนประท้วงของนิสิตนักศึกษาเป็นครั้งแรก เมื่อสถานการณ์บานปลายจอมพลก็ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินโดยตั้งจอมพลสฤษดิ์เป็นผู้ดูแล แต่กลับกลายเป็นนิสิตนักศึกษาเดินขบวนไปที่ทำเนียบก่อนที่จอมพลสฤษดิ์จะแสดงบทบาทเจรจาให้นักศึกษากลับไปด้วยความสงบ

รัฐบาลจอมพล ป. ชุดสุดท้ายก็ได้ตั้งขึ้นในเดือนมีนาคม ๒๕๐๐

จอมพล ป.เดินทางเยือนกองถ่ายทำภาพยนตร์ของฮอลลีวูด สหรัฐอเมริกา ระหว่างการเดินทางเยือน ๑๗ ประเทศรอบโลก

รัฐประหาร ๒๕๐๐

งานใหญ่ชิ้นสุดท้ายของจอมพล ป. คือโครงการฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ (๒๕๐๐)

มีการแบ่งงานเป็นสามส่วน ส่วนแรก สร้าง “พุทธมณฑล” ในพื้นที่ ๒,๐๐๐ ไร่ให้เป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาโดยสร้างพระพุทธรูปปางลีลาขนาดใหญ่เป็นประธานสถานที่  สอง สร้างถนนและสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่ม เช่น สะพานกรุงธน (ซังฮี้) นนทบุรี สร้างที่อยู่อาศัยโดยใช้ชื่อ “พิบูลฯ”  สาม ฉลองพระนครที่ท้องสนามหลวง

อย่างไรก็ตามโครงการนี้คล้ายโครงการ “พุทธบุรีมณฑล” ที่สระบุรีในสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ ซึ่งทำเพื่อกีดกันญี่ปุ่นไม่ให้ใช้พื้นที่จังหวัดสระบุรีซึ่งจะขัดขวางแผนยุทธการที่ ๗ โดยเป็นการ “เอาพระเข้าช่วย”

ในโครงการฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษก็เช่นกัน เป็นการเอา “พระ” และ “ประชาธิปไตย” เข้าช่วยจอมพลซึ่งขณะนั้นจอมพลสฤษดิ์ ผบ.ทบ. ขัดแย้งกับพลตำรวจเอกเผ่ามากขึ้นโดยจอมพลสฤษดิ์ถูกโจมตีเรื่องผลประโยชน์ทางการค้า ขณะที่พลตำรวจเอกเผ่าถูกโจมตีเรื่องขนฝิ่น

ในช่วงนี้จอมพล ป. ตระหนักถึงการกลับมาของกลุ่มอนุรักษนิยมและอิทธิพลของสหรัฐฯ ที่มีมากขึ้น จึงตัดสินใจเปิดการติดต่อกับจีนและติดต่อกับ ปรีดี พนมยงค์ อย่างลับ ๆ โดยส่ง สังข์ พัธโนทัย ไปแจ้งว่าต้องการรื้อคดีสวรรคตรัชกาลที่ ๘ อีกครั้ง เนื่องจากมีหลักฐานใหม่  ส่วนปรีดีที่ลี้ภัยอยู่ในจีนได้เขียนจดหมายตอบขอบคุณที่จอมพล ป. “มิได้เปนศัตรูของผมเลย ท่านมีความรำลึกถึงความหลังอยู่เสมอ และอยากจะเห็นผมกลับประเทศทุกเมื่อ”

จอมพล ป. ยังกล่าวกับ ปาล พนมยงค์ บุตรปรีดีที่มาลาบวชในเดือนมิถุนายน ๒๕๐๐ ฝากข้อความถึงเพื่อนเก่าว่า “บอกคุณพ่อของหลานด้วยว่า ลุงอยากให้กลับมาช่วยลุงทำงานให้ชาติ ลุงคนเดียวสู้…ไม่ไหวแล้ว”

ทว่าสถานการณ์สุกงอมเสียก่อน เมื่อจอมพลสฤษดิ์สนับสนุนการตั้งพรรคสหภูมิ ลาออกจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมพร้อมรัฐมนตรีอีกห้าคน พรรคประชาธิปัตย์เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ตามมาด้วย ส.ส. แต่งตั้ง ๔๖ คนของพรรคเสรีมนังค-ศิลาโดยเฉพาะฝ่ายทหารลาออกจากพรรคพร้อมกัน

ข้อความจากจดหมายของจอมพลสฤษดิ์ที่ส่งถึงจอมพล ป. (ที่เขาเพิ่งส่งสุนัขไปให้เป็นของขวัญวันเกิดเมื่อ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๐๐ เพื่อยืนยันว่าจะซื่อสัตย์ “ดุจสุนัขตัวนี้”) ลงวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๐๐ ระบุว่าตนยังเคารพและกตัญญูกับจอมพล ป. เสมอ แต่ปัญหาเกิดจากบุคคลในคณะรัฐบาลที่ “ฯพณฯ ท่านไม่สามารถแก้ปัญหาและขจัดบุคคลเหล่านี้ไปได้” ทำให้ “ฯพณฯ จมปลักสู่โคลนตมอันสกปรกและเน่าเหม็นลงไปตามลำดับ” โดยตัดสินว่าการแก้ไขสถานการณ์ของจอมพล ป. นั้น “ไม่ตรงกับจุดหมายและความประสงค์ของประชาชน” จึงขอลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรี ดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. ตำแหน่งเดียว ทั้งยังปฏิญาณว่าจะไม่ขัดขวางการกระทำใด ๆ ของรัฐบาล

ทว่า ๑๖ กันยายน ๒๕๐๐ เพียงวันเดียวหลังกลุ่มนักศึกษาและประชาชนส่วนหนึ่งเดินขบวนไปหาจอมพลสฤษดิ์เพื่อ “ขอร้องให้ใช้กำลังบังคับให้จอมพล ป. ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี” จอมพลสฤษดิ์ก็เข้าพบจอมพล ป. ยื่นคำขาดให้ลาออกและส่งพลตำรวจเอกเผ่าไปนอกประเทศ

คืนนั้นจอมพลสฤษดิ์ก็ทำรัฐประหาร จอมพล ป. ลี้ภัยไปกัมพูชา ท่านผู้หญิงละเอียดซึ่งเพิ่งเสร็จการประชุมสหพันธ์สมาคมสหประชาชาติที่เมืองเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ ต้องเดินทางไปฝรั่งเศสและบินตรงไปเวียดนามใต้เพื่อสมทบกับสามีที่กำลังลี้ภัย

 

พิบูลซัง

ธันวาคม ๒๕๐๐ หลังลี้ภัยอยู่ในกัมพูชามา ๓ เดือน จอมพล ป. ก็ตัดสินใจเดินทางไปญี่ปุ่น

จีรวัสส์ พิบูลสงคราม บุตรีบันทึกไว้ว่าเหตุที่ไปญี่ปุ่นนั้นเกิดจาก “…ระหว่างที่มีชีวิตว่าง ๆ อยู่ในเขมรเรา (จอมพล ป. และท่านผู้หญิงละเอียด) ก็หยิบอัลบั้มภาพเมืองต่าง ๆ มาดูกัน ในที่สุดก็ตกลงใจว่าญี่ปุ่นเหมาะที่สุดที่จะใช้ชีวิตบั้นปลายมากกว่าที่อื่น” และเมื่อทูตญี่ปุ่นในกัมพูชาตกลงจึงเดินทางทันที

จอมพล ป. ถึงญี่ปุ่นในวันที่ ๗ ธันวาคม ๒๕๐๐ ได้รับความเอื้อเฟื้อจากนายวะดะ (K. Wada) ประธานบริษัทมารูเซน ออยส์ จำกัด ให้พักในบ้านย่านชินจุกุกลางโตเกียว  วะดะเล่าเหตุผลที่เขาช่วยจอมพลในนิตยสาร FACE ของญี่ปุ่นว่า เพราะเคยเป็นอาคันตุกะญี่ปุ่น คราวนี้ลี้ภัยมาไม่มีที่พึ่ง “เห็นอกเห็นใจเป็นอันมากจึงเสนอบ้านพักในโตเกียวหลังหนึ่งให้เป็นที่พำนักของท่าน พร้อมด้วยรถนั่งอีกหนึ่งคันสำหรับใช้ประจำ…เป็นธรรมดาที่ต้องตอบแทนบุญคุณกับผู้มีพระคุณ…ที่จริงรัฐบาลญี่ปุ่นควรช่วยเหลือ แต่เนื่องจากมีปัญหาต่าง ๆ ข้าพเจ้าจึงขอรับทำหน้าที่แทน”

“พระคุณ” ที่วะดะกล่าวถึงคือการยอมให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทำให้ทหารญี่ปุ่นจำนวนมากไม่ต้องเสียชีวิต คนญี่ปุ่นจึงรู้จักและเรียกจอมพล ป. ด้วยความนับถือว่า “พิบูลซัง” และ “เด็กชาวญี่ปุ่นในละแวกบ้านพักทราบว่าท่านจอมพลคือใครต่างก็มาแสดงความคารวะ บ้างก็มาขอลายเซ็น”

จอมพล ป. เล่าชีวิตประจำวันช่วงนี้ให้ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์บางกอกไทม์ (๑๔ มิถุนายน ๒๕๐๑) ฟังว่า “ตื่นนอน ๐๘.๐๐ น. ดื่มน้ำส้ม เสร็จแล้วฟังวิทยุ อ่านหนังสือ เขียนจดหมายถึงบ้าน ๑๓.๐๐ น. อาหารกลางวัน เสร็จแล้วไปดูภาพยนตร์บ้าง ไปเล่นกอล์ฟบ้าง  บางคราวเดินทางทัศนาจร พักตามโรงแรมนอกโตเกียว…งานประจำที่แน่ก็คือคิดบัญชีรายจ่ายค่าอาหารประจำวัน เวลานี้เป็นนักหนังสือพิมพ์ก็เขียนมาแก้คำฟ้องบ้าง” และจากคำบอกเล่าคนรอบข้าง จอมพลยังใช้เวลาทำสวนหย่อม เรียนภาษาญี่ปุ่น บางครั้งก็ขับรถไปเที่ยวตามที่ต่าง ๆ

ระหว่างพำนักในญี่ปุ่น จอมพล ป. ไปต่างประเทศสองครั้ง ครั้งแรกไปรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ในปี ๒๕๐๒ ท่องเที่ยวอยู่หลายเดือนก่อนกลับญี่ปุ่น ครั้งที่ ๒ ไปสักการะสังเวชนียสถานพระพุทธเจ้าและอุปสมบทที่อินเดียในเดือนสิงหาคม ๒๕๐๓  อย่างไรก็ตามการบวชครั้งนี้ผิดจากที่จอมพลคิดว่าจะแวะหรือกลับไปจำพรรษาที่เมืองไทยแต่ก็ต้องยกเลิกเมื่อได้คำตอบ “ด้วยน้ำเสียงนุ่มนวล” จากจอมพลสฤษดิ์ว่าไม่อยากให้กลับมาเพราะ “สำหรับท่าน (จอมพล ป.) นั้นไม่มีอะไร แต่ไม่แน่ใจว่าพรรคพวกที่ใกล้ชิดของท่าน…จะไม่ถือโอกาสแห่กันไปแบกท่านขึ้นบ่าเข้ามาอีกเหมือนวันรัฐประหาร ๘ พฤศจิกายน…ถ้าท่านเข้ามาผมก็จำเป็นต้องจับ”

ช่วงนี้มีคำบอกเล่าจากท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ภรรยานายปรีดี ว่าจอมพล ป. ส่งโปสต์-การ์ดถึงปรีดีที่ขณะนั้นพำนักอยู่ในฝรั่งเศสด้วยข้อความสั้น ๆ ว่า “Please อโหสิ”

หลังลาสิกขากลับญี่ปุ่น จอมพล ป. จึงซื้อบ้านที่เมืองซะกะมิฮะระที่อยู่ห่างโตเกียวออกไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ ๓๐ กิโลเมตรและใช้ชีวิตอย่างสงบ  อย่างไรก็ตามฐานะ “ผู้ลี้ภัยทางการเมือง” ก็ถูกตอกย้ำในหลายโอกาส อาทิ ปี ๒๕๐๖ เมื่อบุคคลสำคัญจากไทยไปเยือนญี่ปุ่น รัฐบาลญี่ปุ่นก็ขอให้จอมพล ป. เดินทางไป “ตากอากาศ” นอกเมืองเสียโดยจะออกค่าใช้จ่ายให้ เรื่องนี้จอมพล ป. เขียนจดหมายบอกลูกชายว่า “ไม่มีความเห็นขัดข้องประการใด เราไม่มีหน้าที่เกี่ยวข้องอะไรก็ควรทำตนเป็นพลเมืองดีต่อไป…”

ปี ๒๕๐๖ สุขภาพจอมพล ป. เริ่มทรุดลงเมื่อต้องตัดถุงน้ำดีที่เจอ “หิน stone (นิ่ว) ก้อนขนาดใหญ่เท่าปลายนิ้วก้อย…รวม ๒๐๐ เม็ด” มีแผลผ่าตัดยาวตั้งแต่หน้าอกจนถึงสะดือ ต้องพักฟื้นพักใหญ่สุขภาพจึงกลับมาแข็งแรง

จนวันที่ ๑๑ มิถุนายน ๒๕๐๗ จีรวัสส์ พิบูลสงคราม บุตรีจอมพล ป. บันทึกว่าบิดา ตื่นนอน ทำสวน จัดห้อง เรียนภาษาญี่ปุ่น ไปซื้อกับข้าว  หลังรับประทานอาหารค่ำ “ท่านก็ลุกขึ้นไปข้างบน พร้อมกับบ่นว่าเจ็บที่หน้าอก ซึ่งท่านก็เคยบ่นอยู่แล้ว” เมื่อท่านผู้หญิงละเอียดตามไปดูก็พบว่าจอมพล ป. ยืนรับประทานยาอยู่ ก่อนจะขอตัวลงมาเดินผ่อนคลายในสวนแล้วกลับขึ้นไปฉายไฟอินฟราเรดตรงหน้าอก  ถึงตอนนี้ท่านผู้หญิงละเอียดตัดสินใจเรียกหมอ  เมื่อหมอมาถึงจึงนำตัวส่งโรงพยาบาล ทว่า “หมอที่โรงพยาบาลก็กำลังติดการผ่าตัดอยู่ในห้องอีก และบอกให้วัดหัวใจคุณพ่อด้วยคาดิโอแกรมไว้”  ถึงตอนนี้เพื่อนบ้านสองคนมาช่วยพยาบาลจอมพลที่ถูกนำมานอนพัก  “ฉันรู้สึกจะเป็น heart attack (หัวใจวาย)” จอมพล ป. เอ่ยกับท่านผู้หญิงละเอียด

“ไม่จริง ไม่จริง เธออย่าพูดอย่างนั้น” ท่านผู้หญิงละเอียดซึ่งประคองศีรษะจอมพลร้อง

“เธอ ความตายคือความสุข”

ก่อนจะสิ้นใจอย่างสงบด้วยวัย ๖๗ ปี

เด็กๆ ให้ความสนใจรูปปั้นหุ่นขี้ผึ้ง จอมพล ป.พิบูลสงคราม ภายในพิพิธภัณฑ์มาดามทุสโซ ศูนย์การค้าสยามดิสคัฟเวอรี่ กรุงเทพฯ ปัจจุบันความทรงจำเกี่ยวกับ จอมพล ป.ยังอยู่แต่ส่วนมากจะมีมิติของ “ผู้นำที่เด็ดขาด” เป็นจุดเน้นมากกว่าเรื่องอื่น

จอมพล ป. ยังไม่ตาย

๒๐ พฤษภาคม ๒๕๕๗–หลังวิกฤตการเมืองยืดเยื้อยาวนานกว่า ๖ เดือน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. ก็ประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศ

ผมมาเยี่ยม “พระเจดีย์ศรีมหาธาตุ-วัดประชาธิปไตย” (วัดพระศรีมหาธาตุ) กรุงเทพฯ

ด้านในเจดีย์ ช่องเก็บอัฐิบุคคลสำคัญของ “คณะราษฎร” เรียงรายบนกำแพงซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเจดีย์ชั้นนอกที่ครอบเจดีย์องค์เล็กซึ่งบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้

ภาพจอมพล ป. ถูกใครสักคนวางไว้ที่ประตูทางเข้าฝั่งทิศตะวันออกพร้อมประวัติย่อ กลางกำแพงฝั่งนั้น แผ่นหินอ่อนปิดที่บรรจุอัฐิจารึกชื่อ “จอมพล ป. พิบูลสงคราม…ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม”

๑๘.๐๐ น. เพลงชาติดังแว่วมาไกล ๆ “ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย…”  ผู้คนแต่งกายแบบสากลที่เดินไปเดินมาด้านนอกหยุดยืนตรงอัตโนมัติ

ไม่ไกลจากวัดพระศรีมหาธาตุที่ผมอยู่ “อนุสาวรีย์ปราบกบฏ/พิทักษ์รัฐธรรมนูญ” ซึ่งภายหลังถูกเปลี่ยนเป็น “อนุสาวรีย์หลักสี่” ยังยืนตระหง่าน แม้จะมีการสร้างถนนและทางยกระดับลอดผ่านจนไม่โดดเด่นเช่นอดีต

สิ่งที่จอมพล ป. สร้างยังกระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ ในกรุงเทพฯ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยยังเป็นสถานที่ชุมนุมทางการเมืองบ่อยครั้ง อาคารริมถนนราชดำเนินยังโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเป็นพื้นที่สำคัญใจกลางกรุงเทพฯ จังหวัดลพบุรีได้รับการขนานนามว่าเมืองทหาร

ทุกวันนี้เด็กไทยไม่รู้จัก “หมากพลู” แล้ว แต่ในโรงเรียนพวกเขายังต้องเรียน “รำวงมาตรฐาน”  คนเพชรบูรณ์ยังจำได้ว่าครั้งหนึ่งพวกเขาเกือบเป็นคนเมืองหลวง  ทหารส่วนใหญ่ยังจำจอมพล ป. ได้ในฐานะผู้นำกองทัพที่เข้มแข็ง

ระยะหลังเริ่มมีนักวิชาการกลับมาศึกษาจอมพล ป. อีกครั้ง ล่าสุดเพลงปลุกใจยุคจอมพล ป. ยังถูกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำมาเปิดในการทำรัฐประหารวันที่ ๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗

ที่สำคัญเรายังเรียกประเทศนี้ว่า “ประเทศไทย” (Thailand)

เราจะสรุปงานแห่งชีวิตของจอมพล ป. อย่างไร

บทสรุปที่ดีที่สุดอาจเป็นข้อความในจดหมายฉบับหนึ่งที่จอมพล ป. เขียนหลังถูกรัฐประหารในปี ๒๕๐๐ ถึงปรีดีเพื่อนรักซึ่งร่วมก่อการ ๒๔๗๕ มาด้วยกันว่า

“ผมไม่เคยร่ำเรียนมาทางเศรษฐกิจดอก แต่ผมก็มีหลักการที่ได้มาจากการร่ำเรียนทางวิชาทหาร รักชาติ รักประชาชนนั้น ประการหนึ่ง ซื่อสัตย์ต่อบ้านเมืองเป็นอีกประการหนึ่ง ผสมกับประสบการณ์และเสียงประชาชน คุณสังเกตประชาธิปไตยในช่วงสุดท้ายของผมหรือเปล่า เสรีภาพในการพูด อย่างเช่นที่พวกนักไฮด์ปาร์กเขาทำกันที่สนามหลวงหรือข้างทำเนียบ เคยมีปรากฏมาก่อนบ้างไหม…ผมถูกสฤษดิ์เขาทำรัฐประหารเพราะเหตุอะไร ผู้สันทัดกรณีก็ย่อมรู้

“การเมืองมันลึกลับซับซ้อนแค่ไหน การที่คณะราษฎรทำการปฏิวัติ นำประชาธิปไตยมาสู่ประชาชนนั้น แม้จะเป็นความสำเร็จก็ตาม แต่เราต้องยอมรับว่าคณะเราส่วนใหญ่ยังมีฐานะเป็นไก่อ่อนสอนหัดอยู่ เราจึงถูกมรสุมซัดเอาถึงขั้นแพแตก คณะราษฎรจึงถูกแบ่งแยกออกเป็นฝักฝ่าย ผู้ที่พอจะถือได้ว่าเจนจัดหน่อยก็มีท่านอาจารย์นี้แหละ เพราะแนวที่ท่านร่ำเรียนศึกษาได้ปูลาดไว้ ผมเองก็เรียนมาทางทหาร สมาชิกส่วนอื่นก็มาจากเงื่อนไขทางสังคมที่แตกต่างกัน เราร่วมงานกันได้ก็เพราะความรักระหว่างเพื่อนฝูงโดยแท้  มันอาจเป็นทฤษฎีแปลกใหม่ไม่ซ้ำแบบใคร แต่คณะเราก็ได้ปฏิวัติจนเป็นผลสำเร็จ  ผมจะต้องกลับกรุงเทพฯ เร็ว ๆ นี้แหละ ผมจะไปสานต่อประชาธิปไตย และงานที่ทำค้างอยู่  ไม่ว่าจะมีอุปสรรคแค่ไหน ผมจะให้คุณดูด้วยตาว่า ถ้าผมกลับกรุงเทพฯ เขาจะกล้าจับผมไปขังไหม หรือว่าจะตั้งแถวรับยาวเหยียด”

จอมพล ป. ผู้อภิวัฒน์ ต้นตำรับรัฐประหาร ผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ผู้เผด็จการ ท่านผู้นำ นักฉวยโอกาส…

ไม่ว่าจะนิยามอย่างไร ใช่หรือไม่ว่า

“จอมพล ป.” ยังอยู่กับคนไทยตลอดมา

ล้อมกรอบ
“หลายคนแกล้งลืมและบอกจอมพล ป. ไม่ดี ทั้งที่ท่านพาชาติผ่านวิกฤตมาได้”
จีรวัสส์ ปันยารชุน (พิบูลสงคราม)
อายุ ๙๓ ปี - บุตรีคนที่ ๓ ของจอมพล ป.

“ถ้าไม่ร่วมเปลี่ยนแปลงการปกครอง คุณพ่ออาจเป็นพระยา คุณแม่อาจเป็นคุณหญิง  ท่านโดนยิง วางยาพิษ  ฝ่ายตรงข้ามมองว่าจอมพล ป. มีกำลังต้องกำจัด  ดิฉันมองว่าท่านตัดสินใจถูกที่ยอมให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ ทหารญี่ปุ่นที่บุกกำลังสดชื่น เชอร์ชิลล์ (นายกฯ อังกฤษ) ส่งโทรเลขบอกป้องกันตัวเอง แต่ไทยจะเอาอะไรไปสู้  นายทหารหลายท่านรู้ว่าคุณพ่อทำถูกเลยสร้างอนุสาวรีย์ให้ หลายคนแกล้งลืมเรื่องนี้ บอกว่าจอมพล ป. ไม่ดี ทั้งที่ท่านพาชาติผ่านวิกฤตมาได้

“ที่ว่าจอมพล ป. เป็นเผด็จการ ต้องอธิบายว่าระหว่างสงครามต้องเด็ดขาด ไม่งั้นข้าศึกรู้หมด  คุณพ่อไม่สบายญี่ปุ่นยังทราบ  นโยบายหลายอย่างคือการต่อสู้ทางวัฒนธรรมกับญี่ปุ่น สมัยนั้นบอกไม่ได้  ยุคหลังถูกมองเป็นเรื่องตลกขบขัน ตอนนี้ให้ใส่โจงกระเบน กินหมาก ดิฉันก็เชื่อว่าก็ไม่มีใครเอา
ทุกคนใส่กระโปรง ทาลิปสติกกันหมดแล้ว

“พอเกิดรัฐประหาร ๒๔๙๐ คุณพ่อไม่เห็นด้วยและห่วงความปลอดภัยของลูกเลยต้องรับ  ตอนนั้นมีฝ่ายต่อต้านรัฐประหาร แต่พอรู้ว่าคุณพ่อรับเป็นหัวหน้าก็เลยหยุด  ดิฉันอยากให้มองเรื่องใหญ่ที่ท่านวางไว้มากกว่า พอถึงปี ๒๕๐๐ เขาก็ใช้จอมพลสฤษดิ์ทำลายจอมพล ป. คุณพ่อกับท่านปรีดีมีปัญหาเพราะลูกศิษย์  ช่วงบั้นปลายชีวิตทั้งคู่พยายามนัดเจอกัน แต่คุณพ่อจากไปเสียก่อน  ดิฉันเคยไปหาท่านปรีดีที่ปารีส พอเจอท่านเราร้องไห้ ท่านปรีดีกอดเรา เลี้ยงน้ำชา แล้วเล่าเรื่องเก่าให้ฟัง ดีใจที่คนนับถือท่านปรีดี แม้จะไม่พูดถึงจอมพล ป. แต่เราไม่เคยเสียใจและภูมิใจในตัวท่าน ดิฉันเป็นลูกจอมพล ป. เดินได้อย่างสง่า

“คุณพ่อเป็นแกนหลักอีกคนหนึ่งในการอภิวัฒน์ ๒๔๗๕ เวลานี้คนพูดถึงท่านมากขึ้น  ทั้งจอมพล ป. และท่านปรีดี ทำงานไม่คิดถึงตัวเอง ถ้าท่านคิดถึงตัวเองบ้าง ลูก ๆ คงสบายกว่านี้  คนไทยสมัยนี้ลืม ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ แล้ว  สมัยก่อนคนมีความรู้พอใจการอภิวัฒน์ แต่บัดนี้ไม่ใช่ ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นอีก ดิฉันอยากเห็นความเปลี่ยนแปลง แต่คงไม่มีโอกาสเพราะอายุมาก  ชาติอยู่ในมือคนไทยรุ่นหลังแล้ว ดิฉันฝากด้วย”

“จอมพล ป. มีสถานะที่ ‘แปลก’ สมชื่อคือ ‘เป็นประชาธิปไตยก็ไม่ใช่’-‘เป็นเผด็จการก็ไม่เชิง’ ”

ศ. (พิเศษ) ดร. ชาญวิทย์ เกษตรศิริ
นักประวัติศาสตร์

“จอมพล ป. มีสถานะที่ ‘แปลก’ สมชื่อ ‘เป็นประชาธิปไตยก็ไม่ใช่ ‘เป็นเผด็จการก็ไม่เชิง’ หรือ ‘ไม่เป็นประชาธิปไตยก็ไม่ใช่’ และก็ ‘ไม่เป็นเผด็จการก็ไม่เชิง’ ขึ้นกับมองจากมุมไหน  มองจากมุมอนุรักษนิยมหรืออำนาจเก่า /บารมีเก่า แบบ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ และ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ก็จะได้แต่ภาพเผด็จการ ประเภทบังคับเรื่องไม่ให้กินหมาก ไม่ให้นุ่งโจงกระเบน

“การตัดสินใจเข้ากับญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นความจำเป็น เป็นทั้งบริบทของยุคสมัย ที่โอนเอียงไปทางญี่ปุ่นเพื่อขจัดอำนาจฝรั่งเจ้าอาณานิคมในอุษาคเนย์  ทั้งซูการ์โน บิดาเอกราชอินโดนีเซีย นายพลอองซาน บิดาเอกราชพม่า ก็เข้ากับญี่ปุ่น ยกเว้นฝ่ายคอมมิวนิสต์ อย่างโฮจิมินห์ จีน (คณะชาติ) หรือจีนสิงคโปร์  ปลายสงคราม จอมพล ป. ต้องการ ‘พลิก’ บทบาทแบบอองซานและซูการ์โน แต่สายไปแล้ว เนื่องจากมีเสรีไทยภายใต้การนำของ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ ภายในประเทศ ร่วมกับภายนอกภายใต้การนำของเสรีไทย ‘ฝ่ายเจ้า’ ในอังกฤษ กับ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช ในสหรัฐฯ

“หลังรัฐประหาร ๒๔๙๐ แม้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีก แต่อำนาจคุมกองทัพก็หลุดไปอยู่กับจอมพล ผิน ชุณหะวัณ แม้พยายามรักษา ‘กลิ่นอายคณะราษฎร’ ไว้บ้าง แต่อำนาจก็อยู่กับคณะรัฐประหาร  จอมพล ป. กลายเป็นหัวโขน  เมื่อพยายามเล่นเกมประชาธิปไตย ให้มีเลือกตั้ง พ.ศ. ๒๕๐๐ ก็น่าจะหมดน้ำยาแล้ว การเลือกตั้งจึงกลายเป็น ‘สกปรก’ ที่สุด เปิดโอกาสให้จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และฝ่ายเจ้ากลับมา

“ทั้ง ป. และปรีดีมีความสัมพันธ์ ‘ทั้งรักทั้งชัง’ คือร่วมงานกันอย่างดี ตั้งแต่ ๒๔๗๕ ถึงสงครามโลกครั้งที่ ๒ มีอุดมการณ์ประชาธิปไตยร่วมกัน แต่แตกเพราะ ก. สงครามโลกครั้งที่ ๒ และ ข. กรณีสวรรคตรัชกาลที่ ๘  สงครามโลกครั้งที่ ๒ ทำให้ ‘เลือกข้าง’ ว่าจะอยู่ฝ่ายอักษะ/ฟาสซิสต์ หรือสัมพันธมิตร/ประชาธิปไตย  จอมพล ป. เลือกฝ่ายอักษะ/ฟาสซิสต์  ท่านปรีดีเลือกสัมพันธมิตร/ประชาธิปไตย  แต่สองผู้นำก็ยังไม่หักสะบั้น แต่กรณีสวรรคตทำให้ทั้งสองแตกกันขาด  จอมพล ป. อาศัย หรือปล่อยให้ฝ่ายทหารของผินกับฝ่ายเจ้าของกรมขุนชัยนาทฯ และสอง ม.ร.ว. ปราโมช ทำลายท่านปรีดี แล้ว ‘ส้มหล่น’ เป็นนายกฯ อีกระหว่าง ๒๔๙๑-๒๕๐๐  หัวเลี้ยวหัวต่อตรงนี้ที่ทั้งสองแยกทางชัดเจน

“ถามว่าสองท่านขัดแย้งกันเป็นความผิดพลาดของคณะราษฎรหรือไม่ ผมไม่อยากโทษคณะราษฎรว่าไม่ทำอะไรให้ ‘สุด ๆ’  คิดแบบนี้มันง่าย เผลอ ๆ เป็นการปัดความรับผิดชอบของคนรุ่นเรา ๆ ท่าน ๆ  คล้ายกับ แหม ถ้าท่านทำมาดีแล้ว เราก็ไม่ต้องเหนื่อยหรือรับกรรมอยู่อย่างนี้

“การที่สังคมไทยเริ่มให้ความสนใจจอมพล ป. อีกครั้ง เป็นปรากฏการณ์น่าสนใจ เป็นการมองประวัติศาสตร์ที่ลุ่มลึกกว่าเดิม  ไม่มองเผิน ๆ ว่านั่นเป็น ‘เผด็จการ’ นี่เป็น ‘ประชาธิปไตย’  ยุคนี้เราต้องการการศึกษาว่าด้วยผู้นำแบบจอมพล ป. ท่านปรีดี ตลอดจนผู้นำรูปแบบอื่นที่กว้างขวางลุ่มลึก เป็นสามัญชนที่ออกนอกวงของผู้ดี เจ้า อำมาตย์ครับ”

“จอมพล ป. เป็นทหารปัญญาชน”

พ.อ. ดร. สรศักดิ์ งามขจรกุลกิจ
อาจารย์ประจำกองวิชาประวัติศาสตร์
โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า (จปร.) จังหวัดนครนายก
ผู้ทำวิจัยเรื่อง ตำนานใหม่ของขบวนการเสรีไทย : เรื่องราวการต่อสู้เพื่อเอกราช สันติภาพ และประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

“ช่วงสงครามโลก คนมักมองว่าจอมพล ป. ตัดสินใจผิด ผมเคยสัมภาษณ์ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เสรีไทยสายสหรัฐอเมริกา  ท่านบอกที่ให้เดินทัพผ่านทำถูก เพราะรักษาเมืองและชีวิตคนไทยไว้  เสรีไทยในประเทศก็เข้าใจเช่นนี้  แต่ที่พวกเขาต้านจอมพล ป. มาจากปัจจัยภายใน คือวิธีเผด็จการ การเข้ากับฝ่ายอักษะ  รายงานสถานทูตญี่ปุ่นในกรุงเทพฯ ที่ส่งกลับโตเกียวซึ่งสหรัฐฯ ดักและแปลออกมาชัดเจนว่าญี่ปุ่นไม่วางใจจอมพล ป.

“ยุทธศาสตร์จอมพล ป. คือทหารต้องไม่โดนปลดอาวุธ ยืดหยุ่นว่าเอกราชไม่จำเป็นต้องรบอย่างเดียว  ที่โฆษณาก่อนเกิดสงครามให้คนไทยรบ ผมมองว่าเพื่อเบรกให้ญี่ปุ่นคิดและพยายามดึงอังกฤษมาช่วย  ในสถานการณ์นั้น ทุกคนทำหน้าที่ ไม่มีฝ่ายไหนคิดว่าจะชนะ

“หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ มีการต่อสู้ของสี่กลุ่ม คือ จอมพล ป. (ทหารบก) ปรีดี (ทหารเรือ) กลุ่ม ส.ส. อีสาน และกลุ่มนิยมเจ้า มีกลุ่มย่อยจับขั้วแยกขั้วตลอดเวลา  รัฐประหาร ๒๔๙๐ เกิดได้เพราะพรรคประชาธิปัตย์แพ้ตั้งแต่ปี ๒๔๘๙ พรรคสหชีพก็คล้ายพรรคเพื่อไทย  ฝ่ายนิยมเจ้าไม่ยอมก็หยิบประเด็นคอร์รัปชัน กรณีสวรรคตมาปลุกพลังอนุรักษนิยมในหมู่ทหาร ประกอบกับพรรคสหชีพตีทหารหนัก อาทิ มีกองทัพมา ๔๐ ปีสู้เสรีไทยที่มี ๒ ปีกู้เอกราชไม่ได้ เป็นต้น  ประเมินผิด จอมพล ป. ก็อายุแค่ ๔๐ ต้น ๆ อยากกลับมาเพื่อบอกว่าไม่เป็นแบบที่เขาต่อว่ากัน

“ที่จอมพล ป. กลับมาได้เพราะบารมีในกลุ่มทหารด้วย แต่บทบาทยุคนี้ต้องรักษาสมดุลอำนาจ แม้ได้รับการยอมรับจากจอมพลผินและสฤษดิ์ แต่ต้องไม่ลืมว่าศัตรูหลัก คือกลุ่มนิยมเจ้ายังต้องการโค่นจอมพล ป.  อีกอย่างจอมพล ป. เป็นทหารปัญญาชน เป็นตัวของตัวเอง ต่างจากทหารยุค ๒๔๙๐ ลงมา  คุมท่านไม่ได้ ถึงจุดหนึ่ง สหรัฐฯ ก็มีตัวเลือกดีกว่าในการต้านคอมมิวนิสต์

“ผมเคยสำรวจนักเรียนนายร้อยเมื่อปี ๕๓ ในบรรดานายทหารเก่า ๆ จอมพล ป. จะเป็นที่รู้จักร่วมกับจอมพลสฤษดิ์และจอมพลถนอม ถือว่าเป็นศิษย์เก่าที่ประสบความสำเร็จ  ในมุมการเมืองจะไม่ค่อยทราบ นี่คือลักษณะการปลูกฝังของทหาร  ส่วนทหารในกองทัพบกยกย่องเพราะท่านเป็นหนึ่งในคนที่ทำให้กองทัพบกใหญ่มาก  เอางบประมาณมาลง ผู้นำพัฒนาองค์กรขนาดนี้จะไม่ให้เขานับถือได้อย่างไร”

เอกสารประกอบการเขียน

หนังสือ
จีรวัสส์ ปันยารชุน, บรรณาธิการ. ท่านผู้หญิงละเอียด พิบูลสงคราม. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ด่านสุทธา, ๒๕๔๐.
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ. ประวัติการเมืองไทย ๒๔๗๕-๒๕๐๐. พิมพ์ครั้งที่ ๔. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, ๒๕๔๙.
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, ธำรงศักดิ์ เพชรเลิศอนันต์ และ วิกัลย์ พงศ์พนิตานนท์, บรรณาธิการ. จอมพล ป. พิบูลสงคราม กับการเมืองไทยสมัยใหม่. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, ๒๕๔๔.
แถมสุข นุ่มนนท์. เมืองไทยสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง. กรุงเทพฯ : ดวงกมล, ๒๕๒๑.
ธีรศักดิ์ วาสิกดิลก, บรรณาธิการ. อนุสรณ์ครบรอบ ๑๐๐ ปี ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๔๐. กรุงเทพฯ : ศูนย์การทหารปืนใหญ่, ๒๕๔๐.
นายหนหวย [นามแฝง]. ทหารเรือปฏิวัติ. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๕๕.
ประดาป พิบูลสงคราม, ผู้เรียบเรียง. ดวงพ่อ…ลูกการเมือง ทายาทจอมพล ป. พิบูลสงคราม. ม.ป.ท. (พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พล.ร.ท.ประสงค์ พิบูลสงคราม ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๖).
พร้อมศรี พิบูลสงคราม, หม่อมหลวง และคณะ, ผู้รวบรวม. อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ พลตรี อนันต์ พิบูลสงคราม. กรุงเทพฯ : บัวสรวง.(พิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ พลตรี อนันต์ พิบูลสงคราม ๔ สิงหาคม ๒๕๓๙).
ภัทรวดี ภูชฎาภิรมย์. วัฒนธรรมบันเทิงในชาติไทย. กรุงเทพฯ : มติชน, ๒๕๔๙.
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. ผู้ประศาสน์การและอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (พ.ศ. ๒๔๗๗-๒๕๕๖) : ประวัติชีวิต ความคิด และการทำงาน. กรุงเทพฯ : มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๕๖.
มาลัย ชูพินิจ [นายฉันทนา]. บันทึกจอมพล. พิมพ์ครั้งที่ ๓. รวบรวมและจัดพิมพ์โดย ขนิษฐา ณ บางช้าง. กรุงเทพฯ : กระท่อม ป.ล., ๒๕๔๔.
รุ่งมณี เมฆโสภณ. อำนาจ ๒ ต่อสู้กู้ชาติ เอกราษฎร์ อธิปไตย. กรุงเทพฯ : บ้านพระอาทิตย์, ๒๕๕๕.
ละเอียด พิบูลสงคราม และคณะ, ผู้รวบรวม. อนุสรณ์ในพิธีบรรจุอัฐิ ฯพณฯ จอมพล ป. พิบูลสงคราม. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ภักดีประดิษฐ (พิมพ์ในงานพิธีบรรจุอัฐิ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ๓๐ กรกฎาคม ๒๕๐๗).
ศักดิ์ ไทยวัฒน์. เกล็ดการเมืองบางเรื่องของจอมพล ป. พิบูลสงคราม. กรุงเทพฯ : ซี.พี.การพิมพ์, ม.ป.ป.
สรศัลย์ แพ่งสภา. สงครามมืด วันญี่ปุ่นบุกไทย. กรุงเทพฯ : สารคดี, ๒๕๔๓.
________. “หวอ” ชีวิตไทยในไฟสงครามโลกครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : สารคดี, ๒๕๓๙.
สุดารา สุจฉายา, บรรณาธิการ. ลพบุรี. กรุงเทพฯ : สารคดี, ๒๕๔๒.
สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ. แผนชิงชาติไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : ๖ ตุลารำลึก, ๒๕๕๐.
องค์การส่งเสริมการสมรสและกรมสาธารนสุข กะซวงสาธารนสุข. คู่มือสมรส. พระนคร : บริสัทการพิมพ์ไทย จำกัด, ๒๔๘๗.
อนันต์ พิบูลสงคราม [อ. พิบูลสงคราม]. จอมพล ป. พิบูลสงคราม (เล่ม ๑). พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : พริกหวานกราฟฟิค, ๒๕๔๐.
________. จอมพล ป. พิบูลสงคราม (เล่ม ๔). ม.ป.ท,, ม.ป.ป.
________. จอมพล ป. พิบูลสงคราม (เล่ม ๕). ม.ป.ท,, ม.ป.ป.

บทความ
ศรัณย์ ทองปาน. “พิบูลสงครามรำลึก.” สารคดี. ๙, ๑๐๒ (สิงหาคม ๒๕๓๖) : ๑๕๓-๑๕๖.

วิทยานิพนธ์
ถนอมจิต มีชื่น. “จอมพล ป. พิบูลสงคราม กับงานฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ (พ.ศ. ๒๔๙๕-๒๕๐๐).” วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๓๑.
นันทิรา ขำภิบาล. “นโยบายเกี่ยวกับผู้หญิงไทยสมัยสร้างชาติของจอมพล ป. พิบูลสงคราม (พ.ศ. ๒๔๘๑-๒๔๘๗).” วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๓๐.
พรเลิศ พันธุ์วัฒนา. “โครงการย้ายเมืองหลวงจากกรุงเทพฯ ไปเพชรบูรณ์ของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม.” วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๒๑.
สุรพันธุ์ บุณยมานพ. “การสร้างฐานอำนาจทางการเมืองของหลวงพิบูลสงคราม : ศึกษาเฉพาะกรณีการกวาดล้างปรปักษ์ทางการเมืองในปี พ.ศ. ๒๔๘๑.”
วิทยานิพนธ์รัฐศาสตรมหาบัณฑิต แผนกวิชาการปกครอง บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ๒๕๒๑.

ขอขอบคุณ
คุณจีรวัสส์ ปันยารชุน, คุณศรัณย์ ทองปาน, คุณพิมพ์อร พนมวัน ณ อยุธยา, คุณทองหล่อ อ่อนน้อย
พิพิธภัณฑ์ อาคาร รร.จปร. ๑๐๐ ปี, โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า นครนายก, พิพิธภัณฑ์มาดามทุสโซ กรุงเทพฯ, สำนักงานส่งเสริมการท่องเที่ยว ศูนย์การทหารปืนใหญ่ ค่ายพหลโยธิน จังหวัดลพบุรี

ที่มาภาพเก่า
๑. เอกสารประกอบการเขียน
๒. พิพิธภัณฑ์ อาคาร รร.จปร. ๑๐๐ ปี