เรื่อง : จักรสิน น้อยไร่ภูมิ (ma_lang_phoo@hotmail.com)
จากการศึกษาของสถาบันเวิลด์วอตช์ (Worldwatch Institute) และอีกหลายหน่วยงานที่ศึกษาวิจัยด้านสภาพแวดล้อมทั่วโลก พบว่าหลายเมืองที่ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลกำลังเผชิญปัญหาระดับน้ำทะเลสูงขึ้นอันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน โดยคาดการณ์ว่ากว่า ๖๐ เปอร์เซ็นต์ของเมืองชายฝั่งในปัจจุบันมีความเสี่ยงสูงมากที่จะถูกน้ำทะเลท่วมในไม่ช้า นี่เป็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงทุกขณะและไม่มีทีท่าจะหลีกเลี่ยงได้โดยง่าย หลายภาคส่วนจึงเตรียมการรับมือความเปลี่ยนแปลงสำหรับกรณีเลวร้ายที่สุด ซึ่ง Amphibious Architecture หรือ “สถาปัตยกรรมครึ่งบกครึ่งน้ำ” นับเป็นอีกเทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวซึ่งอาจเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้
ตามรากศัพท์ amphibious หมายถึงสามารถอยู่ได้ทั้งบนบกและในน้ำ ดังนั้นเมื่อนำคำนี้รวมกับ architecture จึงใช้สำหรับเรียกอาคารหรือสิ่งก่อสร้างที่ดำรงอยู่ได้ทั้งบนบกและในน้ำ โดยความเป็นมาของสถาปัตยกรรมประเภทนี้สืบค้นย้อนไปตั้งแต่หลังยุคน้ำแข็งช่วง ๔๐,๐๐๐-๒๒,๕๐๐ ปีก่อนคริสตกาล ซึ่ง วิลเฮล์ม จี. โซลไฮม์ (Wilhelm G. Solheim) นักมานุษยวิทยาชาวอเมริกันเรียกว่า “ยุคอารยธรรมไม้” เนื่องจากสันนิษฐานว่ามีศูนย์กลางอารยธรรมอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เต็มไปด้วยเกาะแก่ง ผู้คนนิยมสร้างสิ่งก่อสร้างด้วยไม้ซึ่งเป็นทรัพยากรที่หาได้ง่ายและตั้งถิ่นฐานแบบสะเทินน้ำสะเทินบกตามแนวชายฝั่งทะเลและแม่น้ำลำคลอง รวมถึงบนที่ราบลุ่มดินตะกอนที่น้ำท่วมถึง โดยรูปแบบทางสถาปัตยกรรมมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
สถาปัตยกรรมครึ่งบกครึ่งน้ำนั้นแตกต่างจากสถาปัตยกรรมลอยน้ำ (floating architecture) เล็กน้อยตรงที่สถาปัตยกรรมลอยน้ำจะสร้างให้ลอยบนน้ำตลอดเวลา เช่น เรือนแพ แต่สถาปัตยกรรมครึ่งบกครึ่งน้ำมักสร้างให้อยู่ได้ทั้งบนบกและในน้ำ ขึ้นกับเวลาและฤดูกาล ในสภาวะปรกติจะตั้งบนพื้นดิน แต่ปรับให้อยู่ร่วมกับน้ำได้ในสภาวะที่ระดับน้ำสูงขึ้นเช่นในฤดูน้ำหลาก จากคุณลักษณะอันโดดเด่นที่ปรับเข้ากับความไม่แน่นอนของระดับน้ำได้ดี สถาปนิกและนักออกแบบจำนวนไม่น้อยจึงนำเทคโนโลยีสถาปัตยกรรมครึ่งบกครึ่งน้ำมาประยุกต์ใช้กับสิ่งก่อสร้างยุคปัจจุบัน เพื่อรับมือระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงที่เกิดขึ้นทั่วโลก
เนเธอร์แลนด์เป็นประเทศหนึ่งที่ต้องเผชิญปัญหาระดับน้ำทะเลท่วมสูงมายาวนาน เนื่องจากพื้นที่เกือบทั้งหมดของประเทศต่ำกว่าระดับน้ำทะเล ที่ผ่านมาจึงมีการค้นคิดเทคโนโลยีเพื่อรับมือภาวะน้ำท่วมซึ่งเป็นภัยธรรมชาติที่ดินแดนนี้ต้องพบเจอเป็นประจำ เช่น เทคโนโลยีการสร้างเขื่อน ระบบคูคลอง ประตูระบายน้ำ แต่ถึงจะเตรียมการดีแค่ไหน ปัญหาน้ำท่วมก็ยังคงเป็นสิ่งที่ชาวดัตช์ต้องประสบอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ค.ศ. ๒๐๐๕ บริษัทก่อสร้างสัญชาติดัตช์ Dura Vermeer พัฒนานวัตกรรมที่อยู่อาศัยรูปแบบใหม่ในลักษณะบ้านครึ่งบกครึ่งน้ำเพื่อรับมือระดับน้ำที่เปลี่ยนแปลงเสมอ โครงการนี้ประกอบด้วยบ้านจำนวน ๓๗ หลังตั้งเรียงแถวบริเวณริมสันเขื่อนกั้นน้ำของเมืองมาสบอมเมล (Maasbommel)
บ้านครึ่งบกครึ่งน้ำทั้งหมดก่อสร้างรูปแบบเดียวกันเป็นอาคารสูงสองชั้น แต่ละหลังตั้งบนฐานที่ลอยขึ้น-ลงตามระดับน้ำ และยึดกับเสาเหล็กเพื่อป้องกันไม่ให้ตัวอาคารลอยไปกับกระแสน้ำ ระบบเสานี้ยังออกแบบพิเศษโดยช่องภายในเสาใช้สำหรับเดินงานระบบ ทั้งไฟฟ้า ประปา และน้ำทิ้ง เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยดำรงชีวิตได้เป็นปรกติแม้อยู่ในภาวะน้ำท่วมสูง “โลกร้อนทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้น บ้านพวกนี้ออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหา และจะเป็นที่อยู่อาศัยในอนาคตสำหรับผู้คนที่อยู่บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำของโลกที่ต้องเผชิญกับอันตรายครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด” ดิก ฟาน กูสวิลลิเจน (Dick van Gooswilligen) แห่งดูราแวร์เมียร์ กล่าวถึงประโยชน์ของบ้านครึ่งบกครึ่งน้ำลักษณะนี้
ไม่ใช่แค่เทคโนโลยีชั้นสูงจากวัสดุทันสมัยเท่านั้นที่จะสร้างสถาปัตยกรรมครึ่งบกครึ่งน้ำได้ ยังมีบ้านที่สร้างจากวัสดุราคาถูกหาได้ทั่วไปตามประเทศโลกที่ ๓ บวกเทคโนโลยีก่อสร้างที่ไม่ซับซ้อนอย่าง LIFT House ซึ่งย่อมาจาก Low Income Flood-proof Technology หรือเทคโนโลยีป้องกันภัยน้ำท่วมสำหรับผู้มีรายได้น้อย เพื่อช่วยเหลือประชากรยากจนนับล้านๆ คนในบังกลาเทศที่ได้รับความสูญเสียจากภัยน้ำท่วมทุกปี
LIFT House ออกแบบและควบคุมงานสร้างโดยสถาปนิกสาว พริทุลา โพรซัน (Prithula Prosun) ตัวอาคารจะปรับตามระดับน้ำที่ขึ้น-ลง ลอยน้ำได้เวลาเกิดน้ำท่วม และกลับมาตั้งบนพื้นดินตามเดิมเมื่อน้ำลดลง โดยแบ่งอาคารเป็นสองส่วน คือ แกนกลางและหน่วยพักอาศัย ส่วนแกนของบ้านสร้างจากอิฐและคอนกรีต ทำหน้าที่เป็นแกนหลักสำหรับยึดหน่วยพักอาศัยสองหน่วย โครงสร้างของหน่วยพักอาศัยแต่ละหน่วยทำจากไม้ไผ่ซึ่งหาได้ง่าย โดยยึดไม้ไผ่ติดกับส่วนแกนด้วยข้อต่อลักษณะพิเศษ บริเวณฐานรากของหน่วยพักอาศัยจะใช้ขวดพลาสติกที่ใช้แล้วจำนวน ๘,๕๐๐ ใบเป็นส่วนประกอบ ลักษณะจึงคล้ายทุ่นลอยขึ้น-ลงตามระดับน้ำที่เปลี่ยนแปลง นอกจากนี้ยังติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ไว้บนหลังคาเพื่อผลิตไฟฟ้าในยามที่น้ำท่วมและไฟฟ้าถูกตัด ถือเป็นงานสถาปัตยกรรมที่ดีบนพื้นฐานของความยากจนและการพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืนภายในท้องถิ่น
จุดมุ่งหมายการออกแบบสถาปัตยกรรมครึ่งบกครึ่งน้ำนั้นล้วนมาจากความต้องการจะรับมือภัยธรรมชาติ อาคารลักษณะนี้แทบทุกหลังจึงมักแฝงนัยของการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างเคารพยำเกรงด้วยเสมอ โดยไม่มุ่งเอาชนะธรรมชาติ หากแต่ยอมรับและทำตัวเสมือนเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติอันยิ่งใหญ่ นอกจากนี้ยังออกแบบที่อยู่อาศัยให้เข้ากับสภาพแวดล้อม ใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อธรรมชาติ รวมทั้งคำนึงถึงการพึ่งพาตนเองให้มากที่สุดโดยใช้ทรัพยากรเท่าที่มีในสภาวะขาดแคลนให้เกิดประโยชน์สูงสุด สถาปัตยกรรมครึ่งบกครึ่งน้ำจึงเป็นตัวอย่างที่ดีของสถาปัตยกรรมที่คำนึงถึงความต้องการของมนุษย์และความยั่งยืนทางธรรมชาติไปพร้อมๆ กัน และเป็นต้นแบบสำหรับการสร้างสถาปัตยกรรมสีเขียวแห่งอนาคตที่จะช่วยให้คนกับธรรมชาติอยู่ร่วมกันได้อย่างปรกติสุขยิ่งขึ้น .
แหล่งข้อมูล
สุเมธ ชุมสาย ณ อยุธยา. น้ำ บ่อเกิดแห่งวัฒนธรรมไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช, ๒๕๓๙.
– https://uwspace.uwaterloo.ca/handle/10012/5685
– https://uwspace.uwaterloo.ca/bitstream/handle/10012/5787/prosun_prithula.pdf
ที่มาภาพ
http://worldoceanreview.com/en/wor-1/coasts/living-in-coastal-areas/
http://www.marketplace.org/topics/sustainability/warmer-world/dutch-homes-will-float-climate
http://openarchitecturenetwork.org/sites/default/files/active/24/97028_DLYGAD_CH5_LiftHouse_LiftMechanism_14.jpg
http://archive.thedailystar.net/newDesign/news-details.php?nid=134050