อรุณสวัสดิ์คุณศิลปะ
ชัยยศ อิษฎ์วรพันธุ์

Pascale Marthine Tayou, Reverse City, 2009. Photo by Takenori Miyamoto + Hiromi Seno

Thomas Eller,  The human re-entering  nature, 2000.  Photo by Osamu Nakamura

เทศกาลศิลปะโดยเฉพาะอย่างยิ่งในระดับนานาชาติเป็นกิจกรรมที่ต้องนับว่าค่อนข้างใหม่ของมนุษย์ หนึ่งในเทศกาลเก่าแก่ที่สุดคือที่ Venice Biennale ซึ่งมีอายุเพียง ๑๐๐ กว่าปี เป้าหมายหลักของงานแบบนี้คือการนํางานศิลปะที่ได้ชื่อว่าก้าวหน้าที่สุดของแต่ละชาติในขณะหนึ่งๆ มารวมตัวกัน

ปัจจุบันในโลกมีเทศกาลศิลปะเกือบร้อยงาน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนิยามด้วย ว่าอะไร ขนาดไหนคือเทศกาลศิลปะนานาชาติ  ผมลองค้นดูเล่นๆ ในอินเทอร์เน็ตพบว่าแต่ละเว็บไซต์นิยามความหมายของเทศกาลศิลปะแตกต่างกันอย่าง Art Basel ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์นั้นมีท่าทีพาณิชย์ชัดเจน  ขณะงานในบางประเทศไม่เน้นการซื้อขายแต่จัดขึ้นเพื่อการเยี่ยมชมเท่านั้น ในบ้านเราที่เคยจัด เช่น “เชียงใหม่จัดวางสังคม” หรือที่เพิ่งผ่านไปคือเทศกาล “สภาวการณ์มนุษย์เมือง : บทสนทนาในถ้ำ” ซึ่งอาศัยพื้นที่ถ้ำในจังหวัดราชบุรีที่มีประวัติศาสตร์สัมพันธ์กับอารยธรรมไทยจัดแสดงศิลปะ

นอกจากนี้เทศกาลศิลปะก็ดูจะขยายขอบเขตจุดมุ่งหมายออกไปหลากหลาย ตัวอย่างเช่นตั้งเป้าหมายให้เป็นหนึ่งในกิจกรรมเพื่อเป็นเมืองหน้าด่านทางวัฒนธรรมอันเป็นประเด็นที่เมืองสามเมืองในเอเชียตะวันออกผลัดกันคนละปี คือ เมืองควังจู ประเทศเกาหลีใต้ เมืองฉวนโจว ประเทศจีน และโยโกฮามาในญี่ปุ่นซึ่งรับบทบาทในปีล่าสุด  การท่องเที่ยวก็เป็นอีกประเด็นที่ทุกเมืองคาดหวังผล การดึงดูดคนมาชมงานศิลปะจากชาติต่างๆ นั้นดูดีมีวัฒนธรรมมากกว่าการดึงดูดพวกแบ็กแพ็ก  อีกทั้งยังมีเรื่องสิ่งแวดล้อมซึ่งถ้าดูเผินๆ เหมือนจะไม่เกี่ยวข้องกับศิลปะ แต่อย่างไรก็ตามมีคนทดลองนําสองเรื่องนี้มาเชื่อมโยงกันและดูจะประสบผลสําเร็จเสียด้วย

เทศกาลศิลปะ ๓ ปี เอะจิโกะ ทสึมะริ (Echigo Tsumari Art Triennale) เป็นงานค่อนข้างใหม่ จัดครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. ๒๐๐๐ จนถึงล่าสุดคือ ค.ศ. ๒๐๑๕ ก็เพิ่งจัดมาได้สี่ครั้ง  เอะจิโกะ ทสึมะริเป็นชื่อย่านในจังหวัดนิอิกะตะทางตะวันตกของญี่ปุ่น อาณาบริเวณส่วนใหญ่อยู่ในหุบเขา จึงมีประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมการเกษตรแตกต่างจากภาคอื่นๆ ของประเทศ  ในช่วงฤดูหนาวพื้นที่แถบนี้ไม่อาจทําอะไรได้มากนักเนื่องจากมีหิมะปกคลุมปีละหลายเดือน  การปลูกข้าวในฤดูร้อนได้ผลดีและผลิตเป็นสาเกชนิดดีมากได้ การจัดเทศกาลศิลปะที่นี่จึงต้องใช้ช่วงฤดูร้อนเป็นหลัก  เทศกาลครั้งที่ ๔ นี้จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๒๖ กรกฎาคม ถึง ๑๓ กันยายน ค.ศ. ๒๐๑๕

ความตั้งใจพื้นฐานของกลุ่มผู้จัดงานคือการนําศิลปินไปพบปะผู้คนพร้อมเรียนรู้วิถีชีวิตและวัฒนธรรมท้องถิ่น ตามแนวคิดหลักของงานคือการนําศิลปะไปอยู่ร่วมกับธรรมชาติและวัฒนธรรม  บริเวณดังกล่าวที่เรียกได้ว่าเป็นชนบทของประเทศญี่ปุ่นนั้นนํามาทดลองเป็นพื้นที่จัดแสดงงานศิลปะ เวิร์กช็อป การแสดง ฯลฯ  งานศิลปะจัดแสดงทั้งในตัวอาคาร โรงเรียน ทุ่งนา วัด บ้านร้าง และทุกสถานที่ที่นึกออก เนื่องจากมีศิลปินเข้าร่วมแต่ละปีมากกว่า ๑๐๐ คน

เทศกาลนี้นับเป็นหนึ่งในเทศกาลศิลปะแรกๆ ของญี่ปุ่นที่นําศิลปะออกนอกพิพิธภัณฑ์ไปสู่ชนบทโดยตรง ด้วยมีแนวคิดใหม่และความทะเยอทะยานสูงในการนํางานศิลปะไปติดตั้งตามจุดต่างๆ ของพื้นที่กว้างขวางรวมประมาณ ๗๖๐ ตารางกิโลเมตร จนได้รับการกล่าวขานว่าเป็นเทศกาลศิลปะนานาชาติที่มีขนาด (พื้นที่) ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งก็น่าจะเป็นเช่นนั้นจริง

ในแง่ของงานศิลปะ งานส่วนใหญ่อาศัยบริบทของชนบทและเกษตรกรรมเป็นรูปลักษณ์และความหมายของงาน  นอกจากนี้ยังมีแนวคิดเก๋ไก๋ด้วยการดึง เจมส์ เทอร์เรลล์ (James Turrell) ศิลปินที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติมาสร้างผลงานศิลปะที่เข้าไปนอนค้างในนั้นได้  เทอร์เรลล์เป็นศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานด้วยแสงลักษณะต่างๆ ทั้งที่สร้างขึ้นเองและที่ใช้ความสัมพันธ์กับสภาพแสงตามธรรมชาติ แนวคิดนี้จึงเรียกความสนใจได้ดี

อย่างไรก็ตามการเดินทางอันยากลำบากในบริเวณกว้างใหญ่นี้ดูจะเป็นอุปสรรคไม่น้อยสําหรับชาวต่างชาติหรือคนญี่ปุ่นเอง ด้วยการชมงานศิลปะแต่ละชิ้นต้องเดินทางโดยรถยนต์  นอกจากนี้จากการประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญของญี่ปุ่น คนในท้องถิ่นยังมีส่วนร่วมไม่มากพอที่จะเรียกว่าเป็นการสร้างสรรค์งานโดยคนในท้องถิ่น เพราะงานส่วนใหญ่นําไปติดตั้งโดยศิลปิน ความพยายามจะสอดประสานประเพณีท้องถิ่นในฐานะส่วนหนึ่งของการแสดงก็ดูจะยังไม่สมบูรณ์นัก

อย่างไรก็ตามเทศกาลศิลปะนี้ก็ได้สร้างตัวตนขึ้นมาจนมีพื้นที่อยู่ในใจนักชมศิลปะระดับโลก ต้องขอบคุณแนวคิดสําคัญเรื่องการนําศิลปะออกนอกพิพิธภัณฑ์ที่ทําให้ศิลปะมีความหมายมากขึ้น แม้สุดท้ายจะเกิดการสร้างพิพิธภัณฑ์เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลก็ตาม

ที่มาภาพ : https://artwrite49.wordpress.com/eraoftheartscape/