เรื่อง: ดร.จันทร์เพ็ญ ศรลัมพ์*
ภาพ: กุลพัฒน์ ศรลัมพ์
๐๔.๐๐ น.
นาฬิกาปลุกแผดเสียง ฉันหยิบนาฬิกาโดยไม่ต้องลืมตาพร้อมกับเอื้อมอีกมือเปิดสวิตช์โคมไฟ หรี่ตาข้างเดียวดูเวลา–ยังห่างไกลจากความสว่างอีกสักพัก
หลังลุกจากที่นอน ฉันใช้เวลาจัดการธุระส่วนตัว อุ่นอาหารสำหรับสองมื้อ เช้าและกลางวัน มันเป็นกะเพราไก่ ไข่ต้ม และข้าวที่หุงไว้แล้วตั้งแต่เมื่อเย็นวาน แค่จัดแพ็กใส่กล่องให้เรียบร้อย ส่วนของใช้จำเป็นอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นสมุดบันทึก ปากกา เข็มทิศ มีด น้ำ ของกินเล่น แผนที่ และที่สำคัญ กล้องส่องทางไกล ฉันก็เตรียมใส่เป้ไว้เรียบร้อยแล้ว ประมาณ ๓๐ นาที ฉันและทีมนักวิจัยก็พร้อมไปยังพื้นที่
นี่เป็นวันที่ ๕ แล้วที่ฉันติดตามชะนีครอบครัว C ในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
เช้ามืดวันนี้ดวงดาวเต็มฟ้า และอากาศหนาวเย็น ช่วงเดือนกุมภาพันธ์อากาศตอนเช้ายังเย็นอยู่มาก เราเลยต้องเตรียมเสื้อกันหนาวมาด้วย ฉันเลือกเส้นทางศึกษาธรรมชาติหลังอ่างเก็บน้ำสายศรซึ่งเป็นเส้นทางหลักที่จะพาฉันไปหาชะนี
ชะนีที่ว่าคือชะนีมือขาวหรือชะนีธรรมดา (White-handed gibbon or Common gibbon) เป็นชะนี ๑ ใน ๑๙ ชนิดที่มีอยู่ในโลกของเรา
การศึกษาชะนีในธรรมชาติครั้งแรก ๆ ของโลกนั้นเกิดขึ้นที่เมืองไทยนี่เอง โดย Dr. Clarence Ray Carpenter นักธรรมชาติและวานรวิทยาที่เข้ามาสำรวจชะนีมือขาวหรือชะนีธรรมดาประมาณ ๓ เดือนที่ดอยเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อปี ๒๔๘๐ ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการสำรวจและศึกษาสัตว์ในกลุ่มไพรเมตของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐ-อเมริกา การศึกษาของ Dr. Carpenter ทำให้เราเข้าใจพฤติกรรมของชะนีในธรรมชาติมากขึ้นว่าในแต่ละวันของชะนีทำอะไรบ้าง เช่น การอาศัยอยู่กันเป็นครอบครัวเล็กแบบผัวเดียวเมียเดียว การหากินในพื้นที่อันเป็นอาณาเขตของมันเอง การกินผลไม้เป็นอาหารหลัก และการนอนบนต้นไม้โดยไม่สร้างรัง นับเป็นองค์ความรู้ที่ทำให้นักวิจัยรุ่นหลัง ๆ รวมมาถึงฉัน ใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการศึกษาชะนีในธรรมชาติ
๐๕.๐๗ น. – นอน
ฉันรู้ว่าชะนีนอนอยู่ตรงไหนจากการตามชะนีตัวผู้ เจ้า “ชัย”(Chai) ของครอบครัว C เมื่อวานนี้ ก่อนฉันกลับออกจากป่า เจ้าชัยยังนั่งอยู่บนกิ่งใหญ่ชัดเจน จำได้ว่าเจ้าชัยเหมือนรู้ว่าฉันมองมันอยู่แต่ไม่ได้ใส่ใจอะไร ฉันตรวจดูเส้นทางและตำแหน่งบนทางเดินเพื่อให้แน่ใจว่าพรุ่งนี้ฉันจะมาเจอมันอีกตอนเช้า
ส่วนชะนีตัวเมีย “คาสซานดรา” (Cassandra) และลูกชาย “โชคดี” (Chokdee) คงหาต้นไม้เหมาะ ๆ นอนอยู่ไม่ไกลกันนัก
ชะนีเป็นสัตว์ที่ใช้ชีวิตเกือบทั้งชีวิตบนชั้นเรือนยอด เคลื่อนที่ หาอาหารและมีกิจกรรมทางสังคมต่าง ๆ อยู่แต่บนเรือนยอดไม้ นาน ๆ ครั้งเมื่อมันไล่กันบางตัวอาจเผลอไต่ลงมาต่ำจนถึงพื้น ครั้งหนึ่งนักวิจัยที่ทำงานในพื้นที่เคยเห็นชะนีตัวผู้แอบไต่ลงมากินน้ำที่ลำธาร แต่มันก็รีบกลับขึ้นไปบนต้นไม้อย่างรวดเร็ว การใช้ชีวิตแต่บนเรือนยอดนี้รวมถึงการหาที่นอนบนต้นไม้ด้วย
ชะนีไม่สร้างที่นอน แต่จะเลือกต้นไม้ที่เหมาะสมและปลอดภัย ซึ่งมักอยู่ห่างจากต้นอาหารต้นสุดท้าย เพราะพวกมันต้องการหลีกเลี่ยงผู้ล่าและสัตว์หากินตอนกลางคืนซึ่งอาจเข้ามารบกวนพวกมันขณะพักผ่อน
ถึงแม้เจ้าชัยจะนอนไม่ไกลจากเส้นทางศึกษาธรรมชาติ ซึ่งคงง่ายต่อการไปถึงในช่วงเช้ามืด แต่ทางเส้นนี้ต้องใช้เวลาเดินจากทางเข้าป่าเกือบ ๑ ชั่วโมง
ฟ้ายังไม่สว่างดีนัก ไฟฉายเป็นสิ่งจำเป็นไว้ส่องเส้นทางหลัก และส่องไฟทางซ้ายทางขวาเป็นระยะ ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีสัตว์อะไรยืนอยู่ข้างทาง สองร้อยเมตรของการขึ้นเขาทีละนิด ๆ ทำให้ได้เหงื่อดีมาก ยิ่งเดินเข้าไปใกล้จุดหมายมากขึ้น ความมืดก็เข้าใกล้ความสว่าง เริ่มเห็นฟ้าเป็นสีขาว ๆ ตัดกับต้นไม้ที่ยังเป็นสีดำ ช่วงนี้ปิดไฟฉายเดินดีกว่าเพราะตาของเรากำลังปรับให้เข้ากับความสว่าง
ความสว่างที่ใกล้เข้ามายิ่งทำให้คนตามชะนีกังวลมากขึ้น เพราะเกรงว่ามันจะเคลื่อนย้ายออกไปจากต้นนอน บางทีชะนีก็ตื่นก่อนที่เราจะไปถึงไม่กี่นาที บางครั้งในฤดูที่มีอาหารเยอะ ๆ ถ้ามันตื่นกันแล้ว พวกมันอาจรีบเคลื่อนที่ไปป้องกันต้นอาหาร แต่ในฤดูแล้งที่อาหารไม่ค่อยมีและอากาศเย็น พวกมันก็ออกจะเชื่องช้าคล้าย ๆ เราที่ไม่อยากลุกจากที่นอนนั่นแหละ
ชะนีนอนอย่างไร คงมีคนสงสัย
ชะนีนอนด้วยการนั่งพิงหลังกับลำต้นต้นไม้ใหญ่แล้วใช้มือจับกิ่งไม้ใกล้เคียงไว้ หรือเอียงตัวตะแคงบนกิ่งไม้ที่มั่นคง แล้วเอามือจับกิ่งไม้อีกกิ่ง สิ่งที่ช่วยให้ชะนีมั่นใจว่ามันจะไม่ตกต้นไม้ คือปุ่มรองก้น (callosities) ที่เป็นแผ่นหนังกลม ๆ ขนาดฝ่ามือชะนี อยู่ระหว่างอวัยวะเพศ มีลักษณะคล้ายยางเหนียว ๆ กันลื่น
ส่วนใหญ่สมาชิกในครอบครัวชะนีมักนอนแยกต้นกัน ห่างกันสัก ๒๐-๔๐ เมตร แต่ลูกวัยทารกและวัยเด็กอาจขอนอนกับแม่ด้วย ตัวผู้มักเลือกกิ่งใหญ่ เปิดโล่ง แต่ตัวเมียมักเลือกยอดสูงสุด บางครั้งสูงเกือบ ๓๐ เมตรหรือตึก ๑๐ ชั้น จนนักวิจัยก็มองเห็นไม่ค่อยชัด บางครั้งนักวิจัยต้องเดินวนไปวนมารอบต้นนอนหลายรอบเพื่อหาตำแหน่งที่เห็นแม้แต่ “แก้มก้น” ของชะนีก็ยังดี
ชะนีตัวที่ตามต้นนอนง่ายสุดน่าจะเป็นชะนีรุ่นแรกที่ได้รับการศึกษา เธอชื่อว่า “แอนโดรเมดา” (Andromeda) ซึ่งเราเรียกเธอว่า “ป้าแอน” เพราะเธอมักเลือกต้นนอนที่เปิดโล่ง และชอบนอนปลายกิ่ง ดูท้าทาย ต่างจากชะนีตัวเมียทั่ว ๆ ไป เราเลยไม่พลาดทำป้าแอนหาย คงเป็นเพราะเธอใช้ชีวิตมาอย่างยาวนาน และมีประสบการณ์ชีวิตมากกว่าชะนีตัวเมียอื่น ๆ
ส่วนใหญ่ชะนีมักเข้าต้นนอนก่อนที่ฟ้าจะมืด อยู่ระหว่าง ๑๕.๐๐-๑๖.๐๐ น. แต่ก็อาจมีกรณีพิเศษขึ้นอยู่กับฤดูกาลที่แตกต่างกันไป
ฉันเคยตามป้าแอนครั้งที่เข้าต้นนอนเร็วสุด คือประมาณ ๑๓.๔๐ น. ช่วงนั้นเดือนมกราคม อากาศหนาวมาก เราแปลกใจมากว่าวันนี้ทำไมชะนีเข้าต้นนอนเร็วจัง แต่เราก็รอจนแน่ใจเกือบชั่วโมงว่าป้าแอนไม่ไปไหนอีกแล้วจริง ๆ ส่วนครั้งที่ชะนีเข้านอนช้าสุดที่จำได้ว่าเป็นเดือนเมษายน ปี ๒๕๔๘ คือเวลา ๑๖.๔๔ น. เป็นช่วงที่ชะนีครอบครัว A ซึ่งมีป้าแอนอยู่ในกลุ่ม ออกหากินเป็นระยะทางไกลทีเดียว มีผลไม้สุกมาก เราตามกันจนเหนื่อยขึ้นเขาลงเขาไม่เคยได้นั่งพักนานเกิน ๑๕ นาที จนหลัง ๑๖.๐๐ น. เราก็เห็นชะนีกินผลไม้ที่ต้นซึ่งเราคาดว่าจะเป็นต้นสุดท้าย และก็เคลื่อนย้ายไปอย่างรวดเร็ว แอบดีใจเล็ก ๆ ว่าได้เวลานอนซะที เพราะชะนีมักเคลื่อนที่อย่างรวดเร็วเพื่อไปหาต้นนอนหลังออกจากต้นผลไม้ต้นสุดท้ายที่มันกิน
ฉันรับหน้าที่ตามป้าแอนตามเคย พี่อีกสองคนตาม “คริสโต-เฟอร์” (Christopher ชะนีตัวผู้ สามีป้าแอนในขณะนั้น) แต่แล้วคริสโตเฟอร์ก็เปลี่ยนเส้นทางไม่ยอมตามป้าแอนมา เพราะมีเสียงชะนีครอบครัว C ร้องอยู่ไม่ไกล เจ้าคริสโตเฟอร์ย้อนกลับไปพร้อมสมาชิกในฝูงตัวอื่น ๆ เพื่อไปป้องกันอาณาเขต ร้องและวิ่งไล่กันไปมา ส่วนนักวิจัยก็ต้องวิ่งตามเก็บข้อมูล หลังจากผ่านไปเกือบชั่วโมง ชะนีคงคิดได้ว่าถึงเวลาเข้านอนแล้วพวกมันเลยหยุดทะเลาะกันและแยกย้ายไปนอนอย่างรวดเร็ว กว่า ๑๓ ชั่วโมงที่เราใช้ชีวิตกับชะนี กลับมาถึงบ้านพักวันนั้น พวกเราเลยไม่คิดเสียเวลาทำอาหารเย็น–มาม่าอร่อยที่สุดเท่าที่เคยกินมาจริง ๆ
ปรกติชะนีตัวเมียมักจะเข้านอนก่อน ตามด้วยวัยเด็ก วัยหนุ่มสาว และตัวผู้เต็มวัยตามลำดับ และชะนีจะไม่กลับมาใช้ต้นนอนซ้ำในวันถัดไป แต่จะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ ตามฤดูกาล หากชะนีวนกลับมาใช้เส้นทางเดิม ๆ ในเดือนถัดไป เราก็อาจคาดการณ์ว่าชะนีจะกลับมานอนที่ต้นเดิมนั้นอีกถ้าต้นไม้ยังไม่ล้มหรือหักไปซะก่อน
แต่ถึงแม้เราจะรู้ต้นนอนแน่ชัด บางครั้งเมื่อเราเข้ามาตามตอนเช้าชะนีกลับหายไปเสียง่าย ๆ กว่าจะเจอกันอีกทีก็ตอนชะนีส่งเสียงร้องนั่นละ อาจเพราะเมื่อคืนชะนีโดนรบกวนจากสัตว์หากินกลางคืนหรือผู้ล่าของชะนี เช่น เสือลายเมฆ งูเหลือม หรือเหยี่ยวขนาดใหญ่ ชะนีเลยขอเปลี่ยนที่นอน ฝนก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ชะนีย้ายต้นนอน ฉันเคยตามชะนีวันที่ฝนตกบ่าย ๆ ตามดูจนชะนีเลือกเข้าต้นนอนและหยุดนิ่งแล้วเราก็กลับออกจากป่า คืนนั้นฝนตกทั้งคืน เช้าวันถัดมาเมื่อเรากลับมาที่ต้นนอน แต่ชะนีหายไปแล้ว
…
ฉันเร่งฝีเท้าให้เร็วขึ้นกว่าเดิม ในที่สุดก็มาถึงตำแหน่งที่ยืนมองเจ้าชัยเมื่อวาน มันตื่นนอนแล้วและยังนั่งอยู่ที่เดิม