ผมตัดสินใจเดินทางกลางดึกมาที่อำเภอภูกระดึงเพราะอยากเห็นภูเขายอดตัดที่กำลังจะถูกตัดสินชะตากรรมจากพาหนะที่เรียกว่ากระเช้าลอยฟ้า หลังจากที่แนวคิดเรื่องนี้เกิดขึ้นมาหลายสิบปีแล้ว แต่ก็ติดปัญหาที่มีคนคัดค้านจำนวนมาก
ผมมาถึงทางเข้าอำเภอภูกระดึงที่แยกจากทางหลวงสายหลักหมายเลข ๒๐๑ ในตอนรุ่งสางท่ามกลางอากาศหนาวเอาเรื่อง และหมดแรงง่วงงุนจนต้องหาที่พักระหว่างทาง
ก่อนหลับไปพยายามทบทวนเรื่องที่ตัวเองจะมาขึ้นภูกระดึงเป็นครั้งที่ ๓ ในระยะเวลาห่างจากสองครั้งแรกกว่า ๒๐ ปี
………………………………………………………………….
วันนี้ในเวทีสื่อสารสมัยใหม่ที่เมื่อมีใครโพสต์ประเด็นกระเช้าขึ้นภูกระดึงก็จะมีความเห็นคัดค้านมากมายที่ให้เหตุผลเรื่องคุณค่า ความหมาย ความประทับใจ ความภาคภูมิใจของการได้เดินขึ้นไปเห็นป้าย “เราคือผู้พิชิตภูกระดึง” ตรงบริเวณยอดภูที่เรียกกันว่า “หลังแป”
หากลองไล่เรียงอ่านความเห็นก็จะพบความคิดสนับสนุนให้สร้างกระเช้าแทรกเข้ามาด้วยเหตุผลเรื่องสิทธิการเข้าถึงความงามบนยอดภูของคนสูงวัย และผู้ไม่พร้อมทางสุขภาพด้านอื่นๆ แต่ก็มีจำนวนความเห็นน้อยกว่าอย่างเทียบกันไม่ได้
และที่น้อยกว่านั้นก็พยายามอภิปรายเรื่อง “ข้อมูล” ของประเด็นต่างๆ นานาที่ผู้ให้ความเห็นได้รับมา
ข้อมูลที่ว่า เช่น การก่อสร้างกระเช้าภูกระดึงจะตัดต้นไม้น้อยมาก ใช้พื้นที่ก่อสร้างเพียงแค่เสาสูง และอาคารรับกระเช้าบนหลังภูก็เป็นลานกว้างอยู่แล้ว เมื่อมีกระเช้าแล้วก็ขนคนป่วยคนเจ็บลงมาได้ด้วย ส่วนใครอยากเดินก็เดินไปสิ ไม่ได้ห้ามเดิน เส้นทางเดินยังมีอยู่ ดังนั้นเรื่องใครจะหาความภาคภูมิใจนั้นกระเช้าไม่ได้เป็นอุปสรรคขัดขวางของใครเลย
นอกจากนั้นผู้ที่ได้รับข้อมูลลึกขึ้นไปอีกก็จะอภิปรายในมิติของ “การจัดการ” พื้นที่ท่องเที่ยวบนภูกระดึง ได้แก่ การใช้กระเช้าขนขยะจากบนภูลงมาข้างล่าง การใช้กระเช้าเป็นเครื่องมือ “จำกัด” จำนวนคนค้างอ้างแรมบนยอดภูกระดึงในช่วงเทศกาลท่องเที่ยว ดังที่ทราบกันดีว่ามัน “มากไป” เกินขีดจำกัดการรองรับของธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นที่กินที่นอนหรือที่ขับถ่าย
แทบไม่มีฝ่ายสนับสนุนการสร้างกระเช้าพูดถึงเรื่องความต้องการพัฒนาการท่องเที่ยวของอำเภอภูกระดึง จังหวัดเลย ที่ตั้งเป้าให้กระเช้าเป็นจุดขายใหม่ของการโฆษณาประชาสัมพันธ์ และเพิ่มจำนวนกลุ่มเป้าหมายผู้มาเยือน ทั้งที่เหตุผลนี้คือเป้าหมายที่จริงแท้กว่าเรื่องใดๆ ที่อภิปรายกันมา
ส่วนเหตุผลโต้แย้งหรือหักล้างข้อมูลเรื่องกระเช้าพาคนป่วยคนเจ็บและไม่พร้อมขึ้นภูกระดึง ก็มักมีผู้ยกตัวอย่างคนสูงวัย เยาวชน คนอ้วน ผู้ทุพพลภาพต่างๆ ที่เคยเดินขึ้นไปได้ และลงมาอย่างปลอดภัย ส่วนใหญ่ยังเน้นเรื่องความภูมิใจของการเป็นคนพิเศษที่ขึ้นไปได้เพราะ “ใจและร่างกาย” ของตัวเอง และเสนอว่าใครไม่พร้อมก็ไม่ควรขึ้น เนื่องจากมีที่เที่ยวอื่นที่รถเข้าถึงได้ง่ายหรืออยู่ใกล้ๆ อยู่แล้ว ส่วนเหตุผลแย้งอื่นก็มีเรื่องผลกระทบต่ออาชีพ “ลูกหาบ” ซึ่งเป็นอาชีพเสริมรายได้มาเนิ่นนานของชาวบ้านผู้แข็งแรงแถวนั้น
ส่วนมิติการจัดการขยะก็มีการอภิปรายเรื่องการจำกัดปริมาณขยะว่าอันที่จริงแล้วที่เที่ยวแบบนี้ควรให้นำขยะขึ้นไปมากมายอย่างที่เป็นอยู่หรือไม่ รวมถึงก็คาดเดากันว่าการจัดการควบคุมปริมาณนักท่องเที่ยวนั้นไม่น่าจะสำเร็จ ในที่สุดแล้วนักท่องเที่ยวก็อยากนอนค้างเต็มภูไปหมด
ผู้ที่เข้าใจมิติการจัดการลึกกว่านั้นก็ยกประเด็นที่สำคัญ คือหากคนขึ้นภูไม่มีความพร้อมเรื่องการเดินขึ้นเขาแล้ว จะมีสักกี่คนที่จะมีความพร้อมในการเดินเที่ยวบนภูกระดึงที่มีระยะบนทางราบไกลหลายกิโลเมตร โดยเฉพาะจุดไฮไลต์อย่างหน้าผาชมวิวพระอาทิตย์ตกชื่อ “ผาหล่มสัก” ดังนั้นการพัฒนาถนนหนทางและนำพาหนะขึ้นไปบนเขายอดตัดย่อมตามมา สร้างความวุ่นวายและทำลายสิ่งสวยงามต่างๆ
การอภิปรายยังวิพากษ์ในเชิงนามธรรมไปถึงเรื่องรูปแบบการท่องเที่ยวที่เน้นปริมาณ ฉาบฉวยทำลาย ไม่ยั่งยืน เห็นแก่ธุรกิจ แต่น้อยมากที่จะลงลึกถึงตัวเลขทางวิชาการของความคุ้มค่าเชิงเศรษฐศาสตร์ ทั้งความคุ้มทุนและความเสี่ยง แน่นอนว่าเรื่องนี้ต้องคุยกันยาว
ส่วนในวงการอนุรักษ์เองก็ไม่มีฉันทามติว่าควรทำกระเช้าหรือไม่ ฝ่ายที่ต้องรับผิดชอบดูแลพื้นที่อย่างเป็นทางการอย่างกรมอุทยานแห่งชาติฯ ก็แตกกัน บ้างว่าหากทำตามที่การเมืองสั่งมาก็ควบคุมความเสียหายได้ เห็นโอกาสในการจัดการพื้นที่ง่ายขึ้น แต่ก็มีเสียงแย้งมากมายถึงความเสียหายต่อระบบนิเวศ ทั้งข้อจำกัดในการจัดการของกรมฯ เอง และความล้มเหลวในความพยายามจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวทุกแห่งในช่วงเทศกาล
สำหรับผมเอง แน่นอนว่าหัวจิตหัวใจย่อมอยู่กับฝ่ายไม่อยากให้มีกระเช้า ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ แม้ว่าจะจำอารมณ์เหนื่อยแทบตายตอนขึ้นภูกระดึงทั้งสองครั้งได้ดี ไม่มีลืม
แต่ก็นั่นละ หากจะขึ้นไปอีกเหมือนที่ตัดสินใจวันนี้ ก็พร้อมใช้เส้นทางไกลพิสูจน์ขนาดของหัวใจเหมือนเมื่อหนุ่มๆ
แต่ผมก็ชัดนะ ว่าถ้ามีกระเช้ามายั่วยวน ก็คงหลงลัดเวลาแว่บไป เกินความอยากจะพิสูจน์ขนาดของหัวใจอย่างที่ว่ามา
พูดง่ายๆ คือ ใครจะบ้าเดินฟระ…
ในมุมของผมแล้ว นี่คือเรื่องใหญ่ที่สุดของการใช้ประโยชน์จาก “ภูกระดึง” ของประเทศไทย
ถามผมว่า ภูกระดึงให้ประโยชน์อะไรแก่การอนุรักษ์ธรรมชาติในประเทศไทย ?
สำหรับผม ภูกระดึงน่าจะเป็นเส้นทางท่องเที่ยวด้วยการเดินปีนเขา (trekking) ที่ดีที่สุดที่เรามีอยู่ ใช่หรือไม่ ?
คำว่า “ดีที่สุด” นี้ผมประเมินจากระยะที่พอวัดใจกันได้ ขนาดไม่ไกล ไม่ใกล้ ถ้าใครฟิตร่างกาย ใจถึงๆ ส่วนใหญ่ก็ไปถึงได้โดยไม่อันตรายอะไร คนป่วยคนเจ็บก็มีบ้างเป็นธรรมดาแต่ไม่ได้มาก ที่สำคัญคือบนยอดภูมีจุดท่องเที่ยวน่าสนใจมากมาย สวยงามพอจะดึงดูดให้คนขึ้นไปรู้สึก “คุ้มค่าเหนื่อย”
เปรียบเทียบกับเส้นทางไกลมากๆ อย่างการเดินขึ้นยอดโมโกจู
ดอยหลวงเชียงดาว ภูสอยดาว เขาพะเนินทุ่ง ที่ต้องใช้พลังและเวลา รวมถึงการเตรียมการมากเป็นพิเศษ ไม่ใช่ใครก็ไปได้เหมือนภูกระดึง หรือเมื่อเทียบกับเส้นทางระยะใกล้ๆ ของภูอื่นๆ ความงดงามบนภูกระดึงก็แสนจะคุ้มค่า
ที่ว่ามา ความรู้สึกผูกพันและอยากปกปักรักษาธรรมชาติจะ
เกิดขึ้นมาเองโดยไม่ต้องอ่านป้ายสื่อความหมาย ไม่ต้องไปเรียนรู้เรื่องพรรณไม้ สัตว์ป่า ระบบนิเวศ
ความรู้สึกนั้นเกิดขึ้นภายในจิตวิญญาณโดยอัตโนมัติ เมื่อ “ผ่านความไกลมาใกล้ความงาม”
แน่นอน ผมเชื่อว่าประเทศไทย โดยเฉพาะผู้รับผิดชอบภูกระดึงอย่างกรมอุทยานแห่งชาติฯ คงไม่ได้คิดในมิตินี้อย่างจริงจัง ว่าเราควรเก็บภูกระดึงไว้บ่มเพาะหัวใจให้ผู้คนรู้จักความงาม และรู้สึกอยากรักษาความงาม ในความหมายที่ภูกระดึงเป็น “โรงงาน” สร้างหัวใจอนุรักษ์ให้คนมารุ่นแล้วรุ่นเล่าราว ๕๐ ปีมาแล้ว และผ่านไปก็มีแต่จะมากขึ้นด้วยซ้ำ
ผมเดินทางมาเติมความรู้สึกแบบนั้นให้หัวใจ ก่อนที่มันจะถูกตัดสินชะตากรรม
ดีใจที่ได้พบกันอีกครั้งนะ “ภูกระดึง” ไม่เจอกันตั้งนานแล้ว
ส่วนภูกระดึงจะยังสบายดีไหม ? ผมขึ้นไปแล้วจะกลับมาเล่าให้ฟังครับ