โลกของแมวชำรุด
เรื่อง : รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์

ภาพ : กิตติธัช โพธิวิจิตร

โลกของแมวชำรุด

ช่องกว้างขนาดพอดีหนึ่งคน กลายเป็นบ้านพักชั่วคราวของแมวจรทั่วสารทิศที่ “รักษ์” วชิรา ทวีสกุลสุข คอยดูแล ทั้งเล่น ให้อาหาร และทำความสะอาดใช้เวลาวันละ ๓-๔ ชั่วโมงมาตลอดเวลาราว ๑๑ ปี

พบพาน

ขลุกขลัก ขลุกขลัก
ยานพาหนะโลดแล่นไปบนถนน, รวดเร็วจนพร่าพราย
แสงดาวทอประกายแสนไกล ถูกตัดขาดจากภายในด้วยแสงไฟสีส้ม
กล่องลังในมือ กำลังดิ้นขลุกขลักราวกับรู้ชะตากรรม
เลี้ยวเข้าวัด ความมืดบีบให้นัยน์ตาจับจ้องเฉพาะที่แสงสีขาว
ตัดหางปล่อยวัด สัตว์เลี้ยงแสนรักถูกทิ้งขว้างไม่ต่างจากของเล่นชำรุด
กล่องลังถูกวางไว้ ส่วนยานพาหนะจากไป ไม่เหลือแม้แต่เงา
ตื่นกลัวเพราะเสียงสุนัขเห่าขรม
แมวน้อยทั้งห้าชีวิต ตื่นตระหนกดิ้นจนกล่องลังล้ม
เผ่นแผล็วเข้าหลบซ่อนในเครื่องจักรกลแปลกหน้า
หลับไปด้วยความเหนื่อยล้า
จนกระทั่งเช้าวันใหม่
สัมผัสเบา ๆ ของมืออันอ่อนนุ่ม
ฝากระโปรงรถกระบะที่ญาติโยมบริจาคเปิดทิ้งไว้
คณะสงฆ์กลับจากบิณฑบาตมุงดูด้วยความสงสัย
กริ๊ง กริ๊ง
ฟรานซ์และบินตรงดิ่งมาที่วัดทันทีหลังรับโทรศัพท์
นั่นคือการพบพาน ที่สองสามีภรรยาบอกเล่าด้วยดวงตาเป็นประกาย

ฟรานซ์ เดลซิง กับภรรยา ใช้เวลายามเย็นทุกวันให้อาหารและน้ำแก่แมวจรจัดกว่า ๖๐ ชีวิต ที่วัดแห่งหนึ่งทางตะวันออกของกรุงเทพมหานคร ขณะที่แมววัดส่วนใหญ่ต้องดิ้นรนหาอาหารและเสี่ยงอันตรายจากทั้งสุนัข รถยนต์ และงู

 

แมวจรจัดและคนให้อาหารข้างถนนคงเป็นภาพคุ้นตา แต่บางครั้งก็กลายเป็นความขัดแย้งกับผู้อาศัยในละแวกใกล้เคียง ด้วยกลิ่นจากมูลและปัสสาวะของแมว รวมทั้งเสียงรบกวนในยามค่ำคืน จนอาจจบปัญหาลงเมื่อมีใครแอบวางยาเบื่อแมว (ภาพ : กรดล แย้มสัตย์ธรรม)

 

ปัญหาแมวจรจัดเพิ่มจำนวนสูงขึ้นในระยะหลัง แม้จะมีหน่วยงานอย่างกรมปศุสัตว์ที่ติดตามทำหมันแมวจรจัด และฉีดวัคซีนป้องกันการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้า แต่ก็ยังไม่เพียงพอ แมวไร้บ้านจำนวนมากยังต้องเอาตัวรอดไปตามยถากรรม (ภาพ : กรดล แย้มสัตย์ธรรม)

 

 

วัด

ผมยืนหลบฝนอยู่ไม่ไกลจากกุฏิหลังวัด สายฝนโปรยหนักจนได้แต่ยืนอยู่เฉย ๆ ใต้ร่มเต็นท์กับหมาจรจัดอีกสี่ชีวิตที่เฝ้ามองด้วยสายตาหวาดระแวง

จากคำบอกเล่าของเหล่าคนรักแมว ที่วัดแห่งหนึ่งไม่ไกลจากทางด่วนมีแมวจรอยู่อาศัยร่วม ๖๐ ตัว เลี้ยงดูโดยคู่สามีภรรยาชาวต่างชาติที่จะมาให้อาหารทุกวันราว ๔ โมงเย็น

ฝนเริ่มขาดเม็ด ผมเดินสำรวจรอบวัดแต่ก็ยังไม่เห็นแม้แต่เงาของเจ้าเหมียว

นาฬิกาบอกเวลาใกล้ ๕ โมงเย็น ฟามธิบิชเหวิ่น (Pham Thi Bich Van) หรือบิน คนรักแมวชาวเวียดนามในชุดสีน้ำเงินเข้มก็เดินมาทักทายและพาผมกลับไปยังหลังกุฏิ

น่าแปลก พื้นที่เคยโล่งเมื่อกี้กลับเต็มไปด้วยแมวไทยหลากสีล้อมหน้าล้อมหลังชายร่างใหญ่ผมสีขาวโพลน เขากำลังตักอาหารแมวจากตะกร้าใบสีชมพู กระจายวางเป็นจุด ๆ พลางร้องเรียกให้แมวมากินอาหาร

ชายคนนั้นคือ ฟรานซ์ เดลซิง (Frans W. J. Delsing) สามีของบินที่มาทำงานในประเทศไทยร่วม ๒๐ ปีจนเกษียณ เขาเริ่มใช้เวลาว่างมาให้อาหารแมวจรตั้งแต่เมื่อ ๖ ปีก่อน  บินอธิบายว่าโดยปรกติแมววัดเหล่านี้จะไม่ปรากฏตัวให้เห็นง่ายนักเพราะมักนอนหลบอยู่บนหลังคา และค่อนข้างกลัวคนแปลกหน้า แต่เมื่อไรที่เธอและสามีมาให้อาหารก็จะลงมาทักทายอย่างแสนรู้

“เรามาให้อาหารที่นี่จนรู้จักแมว เรียกว่าจำได้ทุกตัว บางตัวถ้าเราเห็นว่าน่ารักก็จะตั้งชื่อให้” บินเล่า ก่อนจะเข้าไปช่วยสามีรองน้ำสะอาดมาให้เจ้ากระต่าย แมวไทยสีเทาเข้มที่มีหางสั้นกุดเหมือนชื่อเรียก

ผมใช้โอกาสที่แมวกินอาหารอย่างเอร็ดอร่อย ลูบไล้ขนอ่อนนุ่มเบา ๆ  หากพวกมันไม่ได้อาศัยอยู่ที่วัด ผมคงไม่เชื่อว่าเจ้าเหมียวเหล่านี้เป็นแมวจร เพราะทุกตัวล้วนดูสะอาดและสุขภาพดี มีหลายตัวที่ค่อนไปทางอ้วนท้วนสมบูรณ์เสียด้วยซ้ำ

ตะกร้าสีชมพูใบใหญ่ไม่ต่างจากกล่องยาสามัญประจำแมว ในตะกร้านอกจากกล่องอาหารเม็ดยังมีสเปรย์กำจัดเห็บหมัด อุปกรณ์ปฐมพยาบาลทำความสะอาดแผล เช่น เจลแต้มแผลสำหรับแมวบาดเจ็บ รวมทั้งยาบางชนิดที่บินพกไว้
ในกรณีฉุกเฉิน

“ที่ทำมาก็เหนื่อย เหนื่อยเพราะเราเห็นสภาพแย่ ๆ ของแมว หลายครั้งที่เจอแมวโดนรถชน โดยเฉพาะวันพระจะมีแมวตายแทบทุกครั้ง แต่ไม่มีใครเขาสนใจ เราเลยต้องมาทุกวัน  ถ้าเราไม่มาก็กลัวว่าแมวจะมีปัญหา ทั้งอุบัติเหตุ โดนวางยาเบื่อ หมากัด ทะเลาะกันเองบาดเจ็บ  ถ้าเรามาไม่ได้ คุณฟรานซ์ก็จะมาแทน”

ด้วยนิสัยอยากรู้อยากเห็นและอดไม่ได้เมื่อเห็นวัตถุเป็นเส้นเคลื่อนไหวอย่างรวดเร็ว งูจึงเป็นอีกหนึ่งภัยคุกคามต่อทั้งแมวจรและแมวบ้าน โดยเฉพาะบริเวณชุมชนหรือวัดติดกับแหล่งน้ำ เรือกสวน หรือที่รกร้าง ซึ่ง “แมวหาย” มักกลายเป็นเรื่องปรกติ

หลายคนหลงคิดว่าวัดเป็นสถานที่ปลอดภัยของสัตว์เลี้ยง เพราะมีทั้งข้าวก้นบาตรประทังชีวิต และมีพระสงฆ์คอยดูแลใกล้ชิด การปล่อยแมวไว้ที่วัดจึงเป็นทางเลือกแรกที่แล่นเข้าหัวเมื่อประสบปัญหาว่าเลี้ยงแมวต่อไปไม่ไหว ไม่ว่าจะเพราะพฤติกรรมของแมวที่ก่อกวน หรือปัญหาด้านค่าใช้จ่าย  แต่สำหรับฟรานซ์ เขามองว่านี่คือจุดเริ่มต้นของ “โศกนาฏกรรม”

“แมวเอาชีวิตรอดด้วยตัวเองไม่ได้ ขาดน้ำ ๓ วันมันก็ตาย ขาดอาหาร ๗ วันมันก็ตาย จะรอดก็แต่ตัวที่แข็งแรง แต่ตัวที่อ่อนแอส่วนใหญ่ไม่ต่างจากโดนทารุณกรรม  ผมรู้สึกแย่มาก เพราะคนจ่ายเงินมากมายกับรถราคาแพง ร้านอาหาร ผ่อนบ้าน แต่กลับไม่ยอมจ่ายเงินเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อดูแลแมวเหล่านี้”

ทุกเดือนสองสามีภรรยาฟรานซ์และบินมีค่าใช้จ่าย ทั้งอาหาร ยา และค่ารักษาพยาบาลแมว รวมทั้งสิ้นราว ๔-๕ หมื่นบาท  ค่าใช้จ่ายทั้งหมดบินจะบันทึกอย่างละเอียดเพื่อควบคุมไม่ให้เกินงบประมาณที่ตั้งไว้ โดยรายจ่ายส่วนใหญ่หมดไปกับค่ารักษาพยาบาลเป็นหลัก

ผมแอบมองแววตาของคู่สามีภรรยาที่เต็มเปี่ยมด้วยความสุขขณะที่แมวกำลังกินอาหาร หลังจากกินอิ่ม บางตัวก็เดินเข้ามาพันแข้งพันขาแสดงความรักใคร่ จนชายฝรั่งอดไม่ได้ที่จะอุ้มมันขึ้นมาทักทายอย่างอ่อนโยน

สำหรับคนรักแมว สิ่งมีชีวิตหน้าตาน่าเอ็นดูนี้สมควรได้รับการดูแลอย่างดีในสถานที่ซึ่งปลอดภัย  แต่สำหรับบางวัด แมวจรเป็นภาระที่ต้องถูกกำจัดเพราะสร้างความเดือดร้อนรำคาญและกลิ่นไม่พึงประสงค์ จนถึงขั้นรณรงค์ว่าการให้อาหารแมวจรเป็นการสร้างบาปมากกว่าสร้างบุญ

ฟรานซ์เล่าว่าบ้านเกิดของเขาที่ประเทศฮอลแลนด์ไม่มีสัตว์จรจัดอยู่ข้างถนนเพราะมีกฎหมายควบคุมดูแลไม่ให้เจ้าของนำสัตว์เลี้ยงมาปล่อย โดยมีบทลงโทษถึงขั้นจำคุกหรือเสียค่าปรับราคาแพง  กฎหมายยังเข้มงวดถึงขนาดห้ามนำสัตว์เลี้ยงที่ไม่ใส่ปลอกคอและสายจูงออกมานอกบ้าน

ส่วนในไทยนอกจากจะไม่มีกฎหมายควบคุมชัดเจนแล้ว ความรับผิดชอบของภาครัฐในการจัดการสัตว์จรจัดก็ยังสับสนระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกับกรมปศุสัตว์ ทั้งจุดประสงค์หลักของภาครัฐก็เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าและโรคระบาดอื่น ๆ จากสัตว์สู่คน มากกว่าการดูแลด้านสิทธิสัตว์

ตามสถิติที่สำรวจโดยกรมปศุสัตว์เมื่อปี ๒๕๕๕ พบจำนวนสุนัขจรจัดทั่วประเทศ ๕๙๗,๕๗๐ ตัว และแมวจรจัด ๓๓๐,๙๕๓ ตัว  สัดส่วนของแมวจรจัดต่อหมาจรจัดอยู่ที่ประมาณครึ่งต่อครึ่ง  ที่น่าสังเกตคือศูนย์พักพิงสัตว์จรจัดที่ดำเนินการโดยภาครัฐ เช่น ศูนย์พักพิงสุนัขจรจัด อำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี ที่ดำเนินการโดยกรมปศุสัตว์นั้น ไม่มีพื้นที่สำหรับแมวจร  ส่วนศูนย์พักพิงสุนัข เขตประเวศ ที่ดำเนินการโดยกลุ่มควบคุมและพักพิงสุนัข สำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข สังกัดสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร เพิ่งเปิดพื้นที่ดูแลแมวจรจัดที่รองรับแมวได้ราว ๓๐๐ ตัวเมื่อปี ๒๕๕๖

จากคำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่สำนักงานสัตวแพทย์สาธารณสุข ยืนยันว่าหลังจากที่แมวกลายเป็นดาราในโลกออนไลน์ ปริมาณแมวจรก็เพิ่มสูงขึ้นมากโดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และด้วยความคล่องแคล่วบวกพฤติกรรมที่ชอบอยู่ที่สูง การตามจับตัวแมวเพื่อทำหมันหรือฉีดวัคซีนจึงทำได้ยาก

ในมุมมองของคนรักแมว ทุกคนต่างตอบเป็นเสียงเดียวกันว่า “การทำหมันแมว” คือการแก้ปัญหาในระยะยาวของทั้งแมวบ้านและแมววัด เพราะแมวขยายพันธุ์ได้ค่อนข้างเร็ว เริ่มสืบพันธุ์ได้ตั้งแต่อายุ ๔-๑๒ เดือน และมีวงจรเข้าสู่ฤดูผสมพันธุ์ หรือที่เรียกว่า “ฮีต” ตามอิทธิพลของแสงแดด  แมวในไทยจึงมีโอกาสสืบพันธุ์ค่อนข้างสูง ใช้เวลาตั้งท้องเพียง ๒ เดือนก็ให้ลูกแมวน้อย ๆ ครอกละ ๔-๖ ตัว

ที่น่าตกใจคือแม้แม่แมวจะยังอยู่ในช่วงให้นมลูกก็พร้อมเข้าสู่สภาวะ “ฮีต” ภายใน ๑ สัปดาห์ถึง ๑ เดือนหลังให้กำเนิดลูกน้อย !

การมีลูกแมวตัวน้อยในบ้านเพิ่มอีกสี่ถึงหกชีวิต อาจทำให้หลายคนเริ่มคิดพาทั้งแม่และลูกไปปล่อยวัดเพราะไม่อาจแบกรับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มพูนขึ้นอย่างรวดเร็ว การทำหมันแมวจึงเป็นการตัดวัฏจักรแมวจรตั้งแต่จุดเริ่มต้น  แต่เจ้าของแมวหลายคนอาจส่ายหน้าและคิดว่าเป็นเรื่องบาป เลือกป้องกันแมวตั้งท้องแบบไม่ตั้งใจด้วยการเลี้ยงแมวในระบบปิด  ส่วนแมววัดนั้นไม่มีทางเลือก การจะลดอัตราการเกิดใหม่ของเจ้าเหมียวตัวน้อยต้องทำหมันสถานเดียว

แมวที่ฟรานซ์และบินดูแลอยู่นั้นทำหมันเรียบร้อยหมดแล้วทุกตัว  ทุกปีจะมีสัตวแพทย์มาดูแลเจ้าเหมียวที่วัดเพื่อตรวจสุขภาพทั่วไป  หากแมวตัวไหนมีอาการผิดปรกติ เช่น เบื่ออาหาร น้ำตาไหล จาม อาเจียน หรือกระวนกระวายอยู่ไม่สุข ทั้งสองจะพาไปหาสัตวแพทย์ทันที

“ผมคิดว่านี่คือสิ่งเล็ก ๆ ที่เราคืนให้แก่ธรรมชาติ เพราะมนุษย์เราทำลายไปหลายอย่าง เราต้องอยู่ร่วมกัน แต่หลายคนเขาคิดแต่เรื่องผู้หญิง เรื่องงาน เรื่องการเมือง ส่วนเรื่องอื่น ๆ เขาไม่สนใจ” ฟรานซ์ตอบเมื่อผมถามถึงแรงบันดาลใจในการดูแลแมววัดกว่า ๖๐ ชีวิต

ท้องฟ้าแต่งแต้มสีด้วยแสงสุดท้ายของวัน เรายังคงยืนอยู่ที่ริมคลองไม่ไกลจากวัด เฝ้ามองเจ้าเหมียวตัวน้อยค่อย ๆ จัดการอาหารเม็ดตรงหน้า รวมเวลาคร่าว ๆ ก็ราว ๒ ชั่วโมงที่ทั้งฟรานซ์กับบินให้อาหารแมวในแต่ละวัน

ตลอดเส้นทางจากหลังกุฏิสู่สะพานริมคลองล้วนเต็มไปด้วยความทรงจำอันสวยงาม ฟรานซ์กับบินสลับกันเล่าถึงภาพประทับใจ เช่น ฉากแมวคาบลูกวิ่งไปบนหลังคาเพื่อหลบภัย การพบเจอโรซ่า แมวสีขาวปลอดที่เพิ่งได้เจ้าของใหม่เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เจ้าแมวสีทองแดงถุงเท้าขาวที่ตายไปเพราะเชื้อไวรัส ลูกแมวน้อย ๆ ห้าชีวิตที่พระสงฆ์พบในกระโปรงหน้ารถกระบะ และทอมมี่ แมวสีส้มสลับขาวสุดที่รักของฟรานซ์

บางตัวโชคดีได้เจ้าของใหม่ บางตัวโชคร้ายจากไปอย่างไม่หวนกลับ หลายตัวยังคงอยู่ที่วัดโดยไม่รู้อนาคต

“เมื่อวานผมมาที่นี่และเจอกล่องเก่า ๆ ถูกทิ้งไว้ เดินเข้าไปดูก็พบว่าในกล่องมีลูกแมวสามตัว ผมโกรธมากว่าพวกเขาทำแบบนี้ได้อย่างไรเพราะในกล่องไม่มีน้ำ ไม่มีอาหาร ลูกแมวได้แต่รอวันตายเพราะไม่มีแม่ให้นม” เขากล่าวอย่างโกรธเคือง และเล่าต่อว่าหากเขาพบลูกแมวถูกทิ้งไว้ที่วัด เขาจะพาไปที่คลินิกทันที เพราะลูกแมวต้องการการดูแลเป็นพิเศษ และหากทิ้งไว้ก็แทบไม่มีโอกาสรอด

ฟ้ามืดลงแล้ว ขณะที่บินเดินกลับมาจากให้อาหารที่จุดสุดท้าย ฟรานซ์นั่งพักเหนื่อยอยู่ใต้ต้นไทร บ่นกับผมเบา ๆ ว่าเขาเริ่มแก่เกินไปกับการก้ม ๆ เงย ๆ วางถาดอาหารแล้ว สองสามีภรรยาหิ้วตะกร้าใบใหญ่เดินกลับไปที่รถ ใบหน้าของทั้งคู่ต่างระบายด้วยรอยยิ้ม

“เรารักแมวจริง และไม่ใช่แค่จะให้อาหาร เราอยากพาแมวไปอยู่ที่ดี ๆ ช่วยน้องเขาหาบ้านเพราะที่วัดไม่ปลอดภัย” บินเล่าด้วยดวงตาเป็นประกาย

ในอนาคตสองสามีภรรยาอยากสร้างโรงพยาบาลสัตว์ที่รับรักษาแมวโดยไม่คิดค่ารักษา ดูแลและดำเนินการโดยอาสาสมัครที่เกิดจากเครือข่ายคนรักแมวซึ่งนับวันจะยิ่งขยายใหญ่

ภาพฝันที่ดูสวยงาม ยังติดอุปสรรคทั้งเงินทุน เวลา และบุคลากร

ผมกล่าวลา รอบกายมีแต่ความเงียบกับแสงไฟนีออนส่องสลัว ชวนให้นึกสงสัยว่าจะรู้สึกอย่างไร หากในค่ำคืนดึกสงัด ผมถูกพาตัวใส่กล่องลังและนำมาทิ้งไว้ที่นี่เพียงลำพัง…

เจ้าเหมียวนอนเรียงรายรอเวลาฟื้นหลังจากทำหมันในงาน “รักษ์แมวปาร์ตี้ งานนี้เหมียวมีบ้าน” ณ ห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ซึ่งจัดทำหมันให้แมวจรโดยผู้ที่พามาไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่ผู้พาแมวมาจะต้องมีเวลาดูแลแมวหลังผ่าตัด

 

การทำหมันแมวเพศเมียซึ่งต้องผ่าเปิดช่องท้องและตัดรังไข่ทิ้ง ขณะที่บางคนมองว่าการทำหมันแมวเป็นการทำบาป แต่กลุ่มคนที่ทำงานเกี่ยวกับแมวจรจัดมองว่านี่คือการแก้ปัญหาแมวจรในระยะยาว เพราะแมวสืบพันธุ์เร็วมาก มันอาจมีลูก ๓-๔ ครอกต่อปี

 

 

พักพิง

กรุ๊งกริ๊ง กรุ๊งกริ๊ง
แมวน้อยทั้งห้าในตะกร้ากะทัดรัด
เสียงกระดิ่งดังต้อนรับ พร้อมกลิ่นประหลาดปะทะจมูก
สัตวแพทย์หญิงที่เคาน์เตอร์ เปิดตะกร้า ลูบหัวหางแมวน้อยอ่อนโยน
“มีคนมาทิ้งที่วัด คราวนี้ไม่มีแม่มาด้วย”
ฟรานซ์กับบินกล่าวกับเธอด้วยน้ำเสียงเคยคุ้น
คุณหมอครุ่นคิดหาวิธีแก้ไข เพราะหากไม่มีแม่แมว ภาระหนักจะตกกับคนดูแล
ระหว่างสมองทำงาน สองมือก็จัดการหยอดยากำจัดเห็บหมัด
แมวน้อยทั้งห้าดิ้นจนตะกร้าสั่นกุกกัก
เธอนึกขึ้นได้ว่าลูกค้าผู้รักแมววัด มีแม่แมวกำลังอยู่ในช่วงให้นม
มือหนึ่งลำเลียงแมวน้อยเข้าสู่กรงพักฟื้น อีกมือหนึ่งกดโทรศัพท์
หวังเพียงว่า แม่แมวบุญธรรมจะเห็นใจเด็กกำพร้าทั้งห้าชีวิต

 

คลินิก

ผมผลักประตูกระจกเข้าไปขณะน้องหมาตัวน้อยวิ่งสวนมาทักทายอย่างเป็นมิตร มันเล่นกับผมอยู่ไม่นานเจ้าของก็พยายามต้อนมันเข้าตะกร้าเพื่อกลับบ้าน ผมช่วยล้อมหน้าล้อมหลังจนในที่สุดก็จับเจ้าหมาร่าเริงส่งสู่มือคุณน้าผู้เป็นเจ้าของ

“ขอบคุณค่ะ” ผมยิ้มตอบกลับ เพิ่งสังเกตว่าบนชั้นติดผนังอัดแน่นด้วยอาหารเม็ดหลากชนิด ทั้งของแมวและสุนัข  ส่วนด้านในสุดของห้องแถวขนาดหนึ่งคูหาแบ่งเป็นห้องตรวจเล็ก ๆ สองห้อง

ใครจะไปนึกว่าคลินิกเล็ก ๆ แห่งนี้ เป็นหนึ่งในบ้านพักพิงชั่วคราวของเหล่าแมวจรกว่า ๓๐ ชีวิตที่รอวันจะได้พบกับเจ้าของใหม่ในสารพัดเทศกาลแมวตามห้างสรรพสินค้ากลางเมืองใหญ่  บางตัวเป็นแมววัดที่หาบ้านไม่ได้และอยู่อาศัยที่คลินิกมาตั้งแต่แบเบาะจนเติบโตเป็นแมวหนุ่มสาว

ชีวิตในกรงอาจไม่มีอิสรเสรีนัก แต่ก็ยังดีกว่าอยู่อาศัยตามวัดโดยไม่รู้ชะตากรรม

คุณหมอปุ๊ก หรือสัตวแพทย์หญิงเนาวรัตน์ ลิมปคุปตถาวร เจ้าของคลินิกรักษาสัตว์ย่านชานเมืองบอกว่าคนรักแมวที่ดูแลแมวจรเช่นสองสามีภรรยาฟรานซ์และบิน เป็นลูกค้าประจำของที่นี่ มักแวะมาซื้ออาหาร พาน้องแมวมารักษาหรือฝากไข้ในกรณีป่วยหนักหรือพิการ

แทบทุกวันจะมีคนรักแมวพาแมวจรที่เจอข้างถนนมาฝากให้คุณหมอดูแล บ้างแวะมาทักทายเพื่อนเก่าที่ยังหาบ้านไม่ได้ คอยลูบหัวลูบหางไม่ให้การรอคอยเจ้าของใหม่ดูเปลี่ยวเหงาเกินไปนัก

แมวจรจะได้รับการดูแลอย่างดี ทั้งน้ำ อาหาร และที่นอนปลอดภัยอุ่นสบาย เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการไปหาบ้านใหม่ แม้อาจต้องผิดหวังซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนบางคราวกรงในคลินิกไม่มีพื้นที่เหลือให้แมวจรรายใหม่

“ที่นี่มีลูกค้าประจำอยู่สี่ห้าราย เขาจะพาแมวจรมาฝากไว้เพราะที่บ้านไม่มีที่เลี้ยง

“พอเราได้แมวมา สิ่งแรกที่ต้องทำคือใช้ยาหยดหลังเพื่อกำจัดเห็บหมัด ไรขน ไรหู พวกปรสิตที่แพร่กระจายได้ เสร็จแล้วก็ป้อนยาถ่ายพยาธิ พาเข้ากรงสังเกตอาการ ๓-๔ วันแล้วดูว่าอายุเท่าไร ให้วัคซีนอะไรได้บ้าง ทำหมันได้หรือยัง ถ้าอายุถึงก็ทำเลย”

วัคซีนที่ให้เหล่าแมวจรก่อนส่งถึงมือเจ้าของใหม่ เป็นพวกวัคซีนหลักสำหรับแมวอายุเกิน ๘ สัปดาห์ คือวัคซีนรวมสำหรับป้องกันโรคไข้หัดแมว ไข้หวัดติดต่อ และโรคหลอดลมอักเสบติดต่อ แต่หากเจ้าเหมียวอายุเกิน ๑๒ สัปดาห์ก็สามารถให้วัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งเป็นวัคซีนสำคัญอีกตัวหนึ่ง

หลายคนอาจทำหน้าสงสัย ว่าเจ้าเหมียวติดโรคพิษสุนัขบ้าได้ด้วยหรือ ?

คำตอบคือ ได้ แถมมีโอกาสแพร่ระบาดค่อนข้างสูงเนื่องจากแมวปราดเปรียวกว่าสุนัข  ลักษณะอาการไม่ต่างจากน้องหมา คือหลบซ่อนหลีกหนีเจ้าของ ไม่ชอบการสัมผัส ดุร้ายผิดปรกติ น้ำลายไหลย้อย  ติดต่อถึงคนได้ และไม่มีทางรักษา ถ้าติดเชื้อและเริ่มแสดงอาการก็หมดโอกาสรอดชีวิต ไม่ว่ามนุษย์หรือสัตว์เลี้ยง

ส่วนโรคไข้หัดแมวนั้นไม่เป็นอันตรายต่อคน แต่หากแสดงอาการแล้วแมวมีอัตราการตายสูงถึงร้อยละ ๙๐

นอกจากวัคซีนหลักทั้งสอง หมอปุ๊กยังแนะนำวัคซีนเสริมอย่างโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวในแมว และโรคช่องท้องอักเสบติดต่อ ซึ่งเป็นโรคที่กำลังเริ่มระบาดในแมวไทยเพราะติดเชื้อค่อนข้างง่ายผ่านสารคัดหลั่ง

“ถ้าเป็นแมวเลี้ยงที่ปล่อยให้เดินเล่นในสนามหญ้า ใช้พื้นที่ร่วมกับแมวอื่น ก็มีโอกาสเหยียบโดนสารคัดหลั่งอย่างฉี่ติดเท้ามา  แมวเป็นสัตว์ชอบเลียตัว โอกาสติดโรคนี้จึงสูงมาก การเลียตัวให้กัน กินน้ำจากบ่อเดียวกัน ก็มีโอกาสติด และถ้าติดในแมววัด โอกาสระบาดยิ่งสูง” คุณหมอปุ๊กอธิบาย  พฤติกรรมเลียขนของเจ้าเหมียวยังเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงต่อโรคฮิตติดอันดับ ๑ คือโรคนิ่วและโรคไต

นอกจากให้วัคซีนเจ้าเหมียวแล้ว คุณหมอจะจัดการทำหมันให้ตัวเมียซึ่งต้องมีอายุตั้งแต่ ๔-๖ เดือนขึ้นไป โดยให้เจ้าเหมียวอดข้าวอดน้ำอย่างน้อย ๘ ชั่วโมงก่อนการทำหมันซึ่งใช้เวลาไม่เกิน ๑ ชั่วโมง ใช้เวลาพักฟื้นราว ๑ สัปดาห์ ระหว่างนั้นต้องเอาใจใส่ไม่ให้แผลโดนน้ำ และตัดไหมผ่าตัดเมื่อครบกำหนด  ส่วนตัวผู้ต้องมีอายุ ๗-๙ เดือนขึ้นไป ใช้เวลาพักเพียง ๒-๓ วันก็กลับมาสดใสร่าเริงเหมือนเดิม

หลายคนอาจรับไม่ได้เมื่อเห็นภาพเจ้าเหมียวถูกจับขึงพืดนัยน์ตาเบิกโพลง ขณะที่คุณหมอกำลังตัดโอกาสในการสืบพันธุ์ ก่อนจะถูกพาไปนอนลิ้นห้อยรอให้ยาสลบหมดฤทธิ์ ตื่นมาอย่างอ่อนแรง และออกอาการซึมไป ๒-๓ วัน แต่การทำหมันคือการป้องกันการเกิดลูกแมวโดยไม่ตั้งใจ ซึ่งซ้ำเติมปัญหาแมวจรจัดในสังคม และยังช่วยยืดอายุแมวอีกด้วย

คุณหมอปุ๊กอาสาเดินนำผมไปดูความเป็นอยู่ของแมวในคลินิก  เราขึ้นบันไดเล็ก ๆ ไปที่ชั้น ๒ ซึ่งตั้งกรงเรียงรายและเปิดหน้าต่างกว้างรับแสงสว่างจากภายนอก

กรงเดี่ยวขนาดเล็กมีชื่อของเจ้าของชั่วคราวที่ช่วยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทุกอย่าง ตั้งแต่ค่าฝากเลี้ยง ค่าอาหาร ค่าทรายสำหรับขับถ่าย และค่าน้ำเกลือ รวมทั้งค่ารักษาพยาบาลสำหรับแมวที่ป่วย นับเป็นภาระต่อเดือนที่คุณหมอช่วยเหลือโดยคิดลดราคาให้พิเศษ

แมวแทบทั้งหมดในกรงเล็กจะอยู่มาค่อนข้างนานเพราะหาบ้านไม่ได้ บ้างเป็นแมวพิการ บ้างเคยถูกพามารักษาแล้ว แต่เมื่อกลับไปปล่อยวัดก็ดำรงชีวิตเองไม่ได้เพราะถูกแมวเกเรรังแก  ส่วนใหญ่เป็นแมวสีดำและสีเปรอะ สองสีที่หาเจ้าของใหม่ได้ค่อนข้างยาก

ถัดไปเป็นกรงขนาดใหญ่ เป็นที่อยู่ของครอบครัวแม่แมวบุญธรรมซึ่งคอยดูแลลูกแมวกำพร้าที่คนรักแมวพามาจากวัด  อีกกรงเป็นแมวพิการที่หมอจำต้องผ่าตัดลูกตาข้างซ้ายออกเพื่อรักษาชีวิต บางกรงมีสายน้ำเกลือห้อยระโยงระยางเพราะเป็นโรคไตเรื้อรัง

“ถ้าลูกแมวถูกทิ้งที่วัดโดยไม่มีแม่แมวนี่แทบไม่มีโอกาสรอด ทางที่ดีที่สุดคือหาแม่แมวบุญธรรม เพราะนอกจากจะช่วยลดภาระ น้ำนมแม่แมวยังช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันให้ลูกแมวด้วย”

แต่หากหาแม่แมวบุญธรรมไม่ได้ ก็ต้องมีคนรับหน้าที่ประคบประหงมเจ้าเหมียวน้อยไม่ต่างจากแม่บุญธรรม คือต้องคอยป้อนนมทุก ๒ ชั่วโมงวันละหกครั้งให้ลูกแมวที่ยังไม่ลืมตาในช่วงสัปดาห์แรก  เมื่อครบ ๒ สัปดาห์จะลดลงเหลือวันละสี่ครั้ง และหลัง ๓ สัปดาห์เหลือวันละสามครั้ง นมที่ใช้เลี้ยงลูกแมวต้องเป็นนมชนิดพิเศษที่มีโปรตีนและไขมันสูง แต่มีปริมาณน้ำตาลต่ำกว่านมวัว หรือใช้นมแพะทดแทนก็ได้

หลังจากลูกแมวกินนมจนอิ่ม ก็ต้องใช้สำลีชุบน้ำอุ่นเช็ดคราบนมที่ปากให้สะอาด และเช็ดเบา ๆ บริเวณก้น ก่อนใช้นิ้วคลึงท้องกระตุ้นการขับถ่าย เพราะเจ้าเหมียวน้อยยังควบคุมการขับถ่ายด้วยตัวเองไม่ได้จนกว่าจะอายุถึง ๒๑ วัน

เมื่ออายุครบ ๓-๔ สัปดาห์ ผู้เลี้ยงชั่วคราวต้องฝึกเจ้าเหมียวน้อยให้กินอาหารแข็งและหัดถ่ายเป็นที่เป็นทาง เพื่อให้ผู้อุปการะใหม่รับแมวไปโดยไม่ต้องปวดหัวภายหลัง

กระบวนการทั้งหมดนี้คนรักแมวต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายทุกอย่าง ตั้งแต่พาตัวแมวจากริมถนนมาถึงคลินิก จนกว่าจะถึงวันที่เจ้าของในอนาคตรับแมวไปอยู่บ้านหลังใหม่ บางตัวอยู่คลินิกไม่กี่สัปดาห์ก็ได้ออกเดินทาง แต่บางตัวต้องอยู่ในกรงจนสิ้นอายุขัย

นอกจากกรงครอบครัวแมวบนชั้น ๒ ที่ชั้นล่างยังมีกรงแมวเด็กหย่านมแล้วในห้องตรวจ  เจ้าเหมียวสองตัวกำลังก่ายกันกลม ตัวหนึ่งสีขาวแต้มดำ อีกตัวสีดำสนิท ป้ายเล็ก ๆ ข้างกรงบอกว่าทั้งสองเพิ่งมาอยู่ที่นี่ได้ไม่นานนัก มันกระดิกหูก่อนลืมตางัวเงียมาทักทาย

เสียงเมี้ยวม้าวดังขึ้นสับสน ผมยื่นนิ้วมือไปลูบไล้อย่างแผ่วเบา เด็กน้อยเอาหัวซุกไซ้นิ้วมือผมอย่างออดอ้อน พอผมตั้งท่าจะเดินออกจากห้อง เจ้าเหมียวน้อยยังคงส่งเสียงเรียก พลางยื่นมือผ่านกรงมาโหยหาไออุ่น ผมใจอ่อน แต่ทำอย่างไรได้เมื่อคุณแม่ที่บ้านไม่ต้องการเลี้ยงแมว

คุณหมอปุ๊กเล่าว่าคลินิกนี้เปิดให้ใครก็ตามที่สนใจแมวไร้บ้านเข้ามารับอุปการะแมวไปโดยไม่มีค่าใช้จ่าย  มีทั้งลูกค้าที่รู้จักคลินิกอยู่แล้วว่ามีแมวจร หรือลูกค้าที่ได้รับข่าวสารจากคนรักแมวที่ถ่ายรูปแมวหาบ้านลงในเว็บไซต์หรือสื่อโซเชียลมีเดียอย่างสม่ำเสมอ  แต่ทุกรายต้องผ่านการสอบสัมภาษณ์ รวมทั้งติดตามการเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิด

“เวลาคนจะมารับแมวต้องคัดกรองมาก บางคนเอาไปเดือนหนึ่งก็ทำแมวหาย เราฟังแล้วเศร้าใจเพราะคนที่พาแมวมาจากวัด เขาตั้งใจมาก ๆ ไม่ใช่เศรษฐีที่โยนเศษเงินมาช่วยแมว บางคนจ่ายแบบเดือนชนเดือน จ่ายด้วยบัตรเครดิต เขาเต็มที่กับการดูแลมาก ตั้งแต่พาแมวมาจากวัด พออยู่ที่คลินิกก็หมั่นมาสอบถามอาการ มาเยี่ยมแมวตลอด

“เคยถามเขาเหมือนกันว่าถ้าไม่มีเงินแล้วยังเก็บแมวมาทำไม เขาตอบว่าทนไม่ได้ที่เห็นแมวอยู่ในสภาพนั้น”

ในมุมมองของคุณหมอปุ๊ก การแก้ปัญหาแมวจรจัดในเบื้องต้น คือทำหมันเพื่อตัดตอนวัฏจักรการเกิดแมววัด และต้องมีศูนย์พักพิงแมว เช่นเดียวกับในประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งมีศูนย์พักพิงทำหน้าที่ดูแลแมวหรือสุนัขไร้เจ้าของประมาณ ๕,๐๐๐ แห่งทั่วประเทศ โดยอาจเป็นขององค์กรไม่แสวงหากำไรที่ระดมเงินทุนจากผู้บริจาค หรือองค์กรส่วนท้องถิ่นที่ใช้งบประมาณจากภาษีประชาชน

ส่วนในประเทศไทย การหาบ้านให้แมวจรจัดเป็นงานสมัครใจของคนรักแมว และคลินิกขนาดเล็กหลายแห่งก็ไม่ต่างจากศูนย์พักพิง เพียงแต่ไร้งบประมาณจากที่ใดมาสนับสนุน

ความโดดเด่นของศูนย์พักพิงในสหรัฐฯ คือการประชาสัมพันธ์เพื่อหาบ้านให้น้องแมวน้องหมาจรจัดผ่านทางเว็บไซต์ ซึ่งจะระบุหน้าตา อายุ และสายพันธุ์ เป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ให้ผู้สนใจอุปการะเข้าไปเลือกชมอย่างสะดวกก่อนตัดสินใจรับมาเลี้ยงดู

คุณหมอปุ๊กบอกเล่าได้อย่างเจนจัดในฐานะหนึ่งในอดีตลูกค้า เพราะเจ้าเหมียวพันธุ์เปอร์เซีย พนักงานต้อนรับประจำคลินิก คุณหมอก็รับมาจากศูนย์พักพิงตั้งแต่เรียนอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นเรื่องปรกติของที่นั่นเนื่องจากการซื้อสัตว์เลี้ยงตัวใหม่มีราคาค่อนข้างสูง

แต่เหรียญย่อมมีสองด้าน เพราะศูนย์พักพิงมีมาตรการควบคุมประชากรหมาแมวจรจัดเพื่อจำกัดงบประมาณ โดยการ put to sleep หรือการุณยฆาตสัตว์เลี้ยงวัยชรา เจ็บป่วยเป็นโรคเรื้อรัง หรือเกเรจนหาเจ้าของไม่ได้  สำหรับคนไทย การกระทำเช่นนี้คงเป็นเรื่องที่สังคมยากจะยอมรับ

“เขาใจแข็งมากที่ทำได้ แต่ก็ถือเป็นการแลกเพื่อให้สัตว์เลี้ยงส่วนหนึ่งได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น”

ตัวเลขสถิติจาก The Humane Society of the United States องค์กรไม่แสวงหากำไรที่มุ่งเน้นด้านการปกป้องสิทธิสัตว์ ซึ่งเป็นองค์กรใหญ่ที่สุดในโลก ประมาณการว่ามีสัตว์เลี้ยงจรจัดเข้าสู่ศูนย์พักพิงราวปีละ ๖-๘ ล้านตัวในสหรัฐอเมริกา และมีจำนวนราว ๓-๔ ล้านตัวที่ถูกการุณยฆาต

ตัวเลขชีวิตที่ต้องถูกพรากไปสูงเท่ากับครึ่งหนึ่งของชีวิตที่จะได้มีบ้านอยู่อย่างปลอดภัย เมื่อเทียบกับการปล่อยให้อยู่วัด ใช้ชีวิตตามยถากรรม ทำให้การตัดสินใจเลือกทางออกอยู่ในพื้นที่สีเทา

กระแสนิยมเลี้ยงแมวทำให้แมวได้ “ขึ้นห้าง” มีเทศกาลแมวแทบทุกสัปดาห์ตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ เป็นโอกาสที่แมวไร้บ้านจะเปลี่ยนชีวิตสู่อ้อมกอดอุ่นของเจ้าของใหม่ โดย “โครงการรักษ์แมว ปันน้ำใจให้แมวจร” คอยดูแลการเปลี่ยนผ่านอย่างใกล้ชิด (ภาพ : กรดล แย้มสัตย์ธรรม)

 

แมวน้อยหลากสีทั้งสี่ชีวิตที่สลัดคราบแมวจรจัด อวดความน่ารักแก่คนรักแมวหลายพันชีวิตในงาน “รักษ์แมว งานนี้เหมียวมีบ้าน” กลางห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่ง ขณะรอลุ้นว่าจะมีผู้ใจบุญพากลับไปเลี้ยงหรือไม่

 

 

เปลี่ยนผ่าน

หง่าว หง่าว
เช้าเกินไปจนไม่อยากลืมตาตื่น
แมวน้อยห้าตัวถูกพาออกจากกรงลงตะกร้า
ไออุ่นจากมือที่เคยคุ้นทำให้มันยังนอนหลับสบาย
ลืมตาอีกครั้ง รอบกายเต็มไปด้วยมนุษย์แปลกหน้า
ไอหนาวปะทะ เด็กน้อยทั้งห้าต่างซุกกายใต้ผ้าห่มสีชมพูหวาน
รออยู่ไม่นาน แมวน้อยก็ถูกส่งผ่านไปยังอุ้งมืออุ่น
บทสนทนานอกกรงลื่นไหล ผู้รับอุปการะระบายยิ้มสดใส ลูบไล้ลูกแมวเบามือ
หนึ่ง สอง สาม สี่ - พี่น้องต่างได้บ้านใหม่ ออกเดินทางไปโดยไม่หวนกลับ
หง่าว หง่าว
แมวน้อยส่งเสียงร้องเปลี่ยวเหงา
สีดำตัดสลับสีชมพู, กรงกว้างใหญ่เหลือเจ้าหนูอยู่เพียงลำพัง
นัยน์ตาฟรานซ์ประสานนัยน์ตาสีเขียวสดใส
ชายจากต่างแดนยื่นมือมาลูบไล้ปลอบโยน
เขารู้ดีกว่าใคร ว่าเจ้าแมวน้อยคงต้องเดินทางกลับคลินิกเพียงลำพัง

ผู้ต้องการรับอุปการะแมวต้องผ่านการสัมภาษณ์และแบบทดสอบความรู้พื้นฐานการเลี้ยงแมว แล้วต้องกรอกข้อมูลประวัติเพื่อให้ผู้พาแมวมาหาบ้านติดต่อสอบถามความเป็นอยู่ของเจ้าเหมียวได้และอาจพาตัวเจ้าเหมียวกลับหากเจ้าของใหม่มีปัญหาในการเลี้ยงดู

 

รายชื่อและภาพถ่ายแมว สุนัข และสรรพสัตว์ที่ล่วงลับ ที่โครงการรักษ์แมว ปันน้ำใจให้แมวจร และเหล่าคนรักแมวรวบรวมจากโลกออนไลน์มาทำบุญประจำปีให้ที่วัด พร้อมทั้งทำทานบริจาคอาหารแก่สุนัขและแมวจรภายในวัด

 

ห้างสรรพสินค้า

กระแสโด่งดังของเจ้าเหมียวในโลกออนไลน์ทำให้แมวกลายเป็นสัตว์เลี้ยง “ขึ้นห้าง” ที่มีงานเทศกาลของตัวเอง เวียนกันจัดทั้งตามห้างสรรพสินค้าใจกลางเมืองใหญ่ และคอมมูนิตีมอลล์ ศูนย์การค้าแนวราบที่เอาใจคนรุ่นใหม่ โดยแทบไม่เว้นว่างให้เจ้าเหมียวชื่อดังได้พักหายใจ

บูทที่เข้าร่วมงานมีตั้งแต่ของทั่วไปอย่างเครื่องประดับ อาหาร สารพันของเล่นสีสันสดใส ไปจนถึงสิ่งของบ่งบอกไลฟ์สไตล์ ไม่ว่าจะเป็นคอนโดฯ แมวนุ่มสบาย ข้าวสาลีปลอดสารพิษสำหรับสัตว์เลี้ยง และสินค้านวัตกรรมอย่างห้องน้ำอัตโนมัติ โดยเหล่าแมวจะจ้องมองผ่านรถเข็นหรือตะกร้าด้วยดวงตาเป็นประกาย

สารพันสินค้ายกระดับคุณภาพชีวิตแมวในปัจจุบัน พลันทำให้ผมสงสัยว่าเมื่อ ๓๐ ปีก่อนเจ้าเหมียวมีความเป็นอยู่เช่นไร

นักเขียนระดับตำนาน “ลาว คำหอม” (คำสิงห์ ศรีนอก) บันทึกส่วนเสี้ยวของความทรงจำเกี่ยวกับแมวไว้ในนวนิยายขนาดสั้น แมว ฉายภาพชุมชนชาวนาชาวไร่ที่แตกสลายหลัง ปี ๒๕๐๐ เหลือเพียงปู่โสมที่จับเจ่าเฝ้ายุ้งฉางที่บ้านเกิดเพียงลำพัง และมีเจ้าแมวมากหน้าหลายตาแวะเวียนผลัดกันมาทักทายชายชรา

แมวเหล่านั้นกึ่งจรกึ่งมีเจ้าของ เพราะผู้เฒ่าทั้งรักทั้งหวง แต่ยังคงเลี้ยงแบบปล่อยอิสระ มีข้าวเจ้าข้าวเหนียวกินตามกำลังของชายชรา หวังให้เจ้าเหมียวคอยจับหนูไหน่ไม่ให้มารบกวนยุ้งฉาง โดยมีตัวเอกที่แฝงเร้นความลี้ลับชื่อ ทองดำ แมวสีถ่านที่ในตอนหลังชายชราเข้าใจว่าเป็นเสือสมิง

ความปรัมปราเช่นในวรรณกรรมอาจทำให้หลายคนทำหน้าฉงน เพราะปัจจุบันแมวคลายความลี้ลับเหลือเพียงความน่ารัก และเปลี่ยนสถานะจากยามจับหนูเป็นเพื่อนคลายเหงาของคนเมือง

ผมเดินจนทั่วงาน ผ่านเวทีแสงไฟวิบวับกับดนตรีโทนหนักดังกระหึ่มที่มีคนมุงดูพลุกพล่าน หลายคนเตรียมกล้องโทรศัพท์ รอจับจังหวะแมวเซเลบออกมาอวดกาย  ผมเลือกเดินเลี่ยงไปจนพบโต๊ะที่ตั้งกรงขนาดใหญ่เรียงรายอยู่แปดกรงกับแมวหลากสีหลายวัย ส่งเสียงเมี้ยวม้าวหยอกล้อผู้คนที่ไปสัมผัส

บริเวณนี้เป็นบูทของ โครงการรักษ์แมว ปันน้ำใจให้แมวจร อาสาสมัครกลุ่มเล็ก ๆ ที่มุ่งมั่นทำงานหนักเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตแมวจร โดยมี รักษ-วชิรา ทวีสกุลสุข ผู้บริหารโครงการเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักในการจัดกิจกรรม ทั้งการออกบูทขายของและระดมทุน ตอบอีเมลปัญหาแมว เป็นศูนย์กลางให้เหล่าคนรักแมวที่เรียงแถวพาแมวมาหาเจ้าของใหม่ และที่สำคัญคือการสนับสนุนค่ารักษาพยาบาลแมวจรที่บาดเจ็บ ซึ่งบางรายการมีค่าใช้จ่ายหลักหมื่นบาท

ความรักแมวของรักษ์เกิดขึ้นเมื่อ ๑๑ ปีก่อน หลังจากไปเจอลูกแมวจรตายอยู่ใกล้บ้าน จึงเริ่มใส่ใจดูแลแมวไร้เจ้าของ และหาความรู้เรื่องการเลี้ยงดูแมวจากสังคมออนไลน์ห้องแมวเว็บไซต์พันทิป ก่อนจะรับบริจาคเงินจากคนรักแมวเพื่อช่วยเหลือแมวประสบอุบัติเหตุ ในชื่อบัญชีรักษาแมวป่วยวชิรา เมื่อมีแมวในความดูแลจำนวนมาก ทางออกที่ยั่งยืนคือการจัดกิจกรรมหาบ้าน และทำหมันแมวอย่างต่อเนื่อง  เครือข่ายคนรักแมวที่มีรักษ์เป็นศูนย์กลางก็รวมตัวกันในชื่อ โครงการรักษ์แมว ปันน้ำใจให้แมวจร ตั้งแต่ปี ๒๕๔๙

สิบเอ็ดปีแล้วที่แมวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตรักษ์ เพราะทุกวันเธอต้องดูแลแมวที่บ้านกว่า ๔๐ ชีวิตซึ่งส่วนใหญ่เป็นแมวป่วย แก่ชรา ขี้กลัว หรือสีดำ ทั้งให้อาหาร ป้อนยา และให้น้ำเกลือ รวมเวลาประมาณ ๓-๔ ชั่วโมงต่อวัน

“ถามว่าเหนื่อยไหม ก็เหนื่อย เป็นภาระไหม ก็เป็นภาระ แต่มีความสุขไหม ต้องบอกว่ามีความสุขมาก ก็ดูแลกันไปตามอัตภาพ เคยคิดเหมือนกันว่าจะทำไปถึงเมื่อไร แต่ยังไม่ได้คำตอบ คิดว่าคงทำต่อไปเรื่อย ๆ”

ค่าใช้จ่ายหลักของโครงการอยู่ที่ค่ารักษาพยาบาลแมวเจ็บ เช่นเมื่อวันที่ ๒๗ สิงหาคมที่ผ่านมา โครงการรักษ์แมวฯ ได้รับน้องดำแมวจรแห่งชุมชนริมคลอง ซึ่งมีอาการคล้ายโรคหัดแมว เข้าโครงการช่วยเหลือค่ารักษาพยาบาล นับเป็นตัวที่ ๔๔๙ ของปี รักษ์บอกว่าตัวเลขนี้ทะลุยอดของปี ๒๕๕๖

ยิ่งนานวันภาระของโครงการรักษ์แมวฯ ก็ยิ่งหนัก แต่รักษ์และกลุ่มอาสาสมัครที่ทำงานกันจนรู้ใจก็ไม่ย่อท้อ และร่วมออกหาบ้านในทุกงานเทศกาลแมวที่จัดขึ้นแทบทุกสัปดาห์ เช่นในเดือนกรกฎาคม รักษ์และทีมอาสาสมัครต้องทำงานกันโดยแทบไม่มีวันหยุด

ที่กรงแมวจร เจ้าเหมียวที่สลัดคราบแมววัดส่งสายตาออดอ้อนน่ารัก หลายคนอดใจไม่ไหวต้องยกโทรศัพท์ขึ้นมาถ่ายรูปเพื่ออัปโหลดขึ้นโลกออนไลน์  เด็กน้อยบางคนขออุ้มเจ้าเหมียวแล้วรบเร้าจะเอากลับบ้าน จนคุณพ่อต้องส่งเสียงห้ามปราม

“ถ้าสนใจลองอุ้มดูก่อนได้นะคะ” คมคาย จันทนาวิวัฒน์ ครูสอนพิเศษที่แบ่งเวลามาดูแลแมววัดย่านพัฒนาการมากว่า ๔ ปีพูดทักทายก่อนยื่นลูกแมวตัวเท่าฝ่ามือมาให้  ครูคมคายเล่าว่า เคยร่วมงานกับโครงการรักษ์แมวฯ เพื่อพาน้องเหมียวไปหาบ้านมาแล้วสี่งาน หาบ้านได้ราวงานละ ๑๐ ตัว โดยต้องจัดเตรียมทั้งกรง อาหาร และน้ำดื่มสำหรับแมวมาตั้งแต่เช้า คอยดูแลจนกว่าจะหาเจ้าของใหม่ได้ แต่หากเจ้าเหมียวยังไม่เจอผู้รับอุปการะ คนที่พามาก็ต้องพากลับ บ้างนำไปปล่อยที่วัด บ้างกลับไปที่คลินิกเพื่อรอโอกาสครั้งต่อไป

ในอดีตการรับเลี้ยงแมวอาจต้องกางตำราดูลักษณะว่าเป็นแมวดีหรือแมวร้าย เช่นตามตำราโบราณซึ่งพบในวัดอนงคาราม แบ่งแมวเป็น ๒๓ ลักษณะ บ้างนำมาซึ่งยศลาภบริบูรณ์ บ้างเลี้ยงไว้ผู้ใหญ่จะเอ็นดู บ้างนำพาเภทภัยมาให้เจ้าของ  ที่น่าสนใจในตำราดังกล่าว คือแมวดำมีทั้งแมวให้คุณและแมวให้โทษ แตกต่างจากความเชื่อของยุคกลางหรือตำนานจากโลกตะวันตกที่มองว่าแมวดำเป็นสัญลักษณ์ของปีศาจหรืออำนาจมืด

ปัจจุบันการรับเลี้ยงแมวนอกจากจะดูที่สายพันธุ์และหน้าตา สิ่งสำคัญคือเจ้าของใหม่ต้อง “ถูกชะตา” แต่อิทธิพลของความเชื่อเรื่องแมวสีดำก็ยังทำให้แมวจรจัดขนดำสนิทไม่ได้รับความสนใจนัก

ผมเฝ้ามองเจ้าเหมียวน้อยถูกเปลี่ยนมือครั้งแล้วครั้งเล่า คอยลุ้นว่าเมื่อไรเจ้าตัวน้อยจะได้พบเจ้าของใหม่ที่ชะตาต้องกัน เวลาเลื่อนไหลจากยามสายเป็นบ่ายโมงตรง ในที่สุดโอกาสที่จะได้บ้านใหม่ก็มาถึงเมื่อ ขวัญพัฒน์ วิเศษวงศ์กุล พาคุณแม่เดินทางไกลมาจากจังหวัดกำแพงเพชรเพื่อรับอุปการะแมวโดยเฉพาะ

แม้ป้ายข้างหน้าจะเขียนว่าแมวทุกตัวในกรงรับไปเลี้ยงได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ก่อนพากลับไปนั้นยังมีหลายอย่างที่ต้องทำความเข้าใจกัน

ขั้นตอนแรกของกระบวนการคือการสัมภาษณ์พูดคุย และผู้รับอุปการะต้องยอมรับเงื่อนไขเบื้องต้น เช่น ต้องดูแลแมวด้วยความรัก ทำหมันฉีดวัคซีนเมื่อถึงเวลา เลี้ยงดูในระบบปิด คืออยู่ในบริเวณบ้านเท่านั้น เพื่อป้องกันภัยคุกคามแมว เช่น รถยนต์ สุนัข งู รวมทั้งต้องได้รับความยินยอมจากสมาชิกในบ้าน

“เราจะถามให้เขารู้สึกว่ายุ่งยาก รู้สึกว่าเราเรื่องมาก บางคนตอบคำถามได้คำสองคำก็สวนกลับว่าถ้าเรื่องมากขนาดนี้คุณก็เลี้ยงเองละกัน ก็ถือว่าดีนะ เพราะแมวไม่ใช่ตุ๊กตา แมวอาจทำลายข้าวของหรือสร้างปัญหาให้จนเขาทนไม่ไหวแล้วเราต้องไปรับคืนทีหลัง” รักษ์อธิบาย

ผู้รับอุปการะมีทั้งมือใหม่หัดเลี้ยงที่อยากรับเจ้าเหมียวตัวแรกไปดูแล และมือเก๋าที่มีแมวอยู่แล้วแต่ยังต้องการสมาชิกใหม่ในบ้าน บางคนอยู่บ้านเดี่ยว บางคนอยู่ทาวน์เฮาส์ บางคนอยู่คอนโดมิเนียม ซึ่งไม่ใช่ข้อขัดข้อง รักษ์พร้อมให้คำปรึกษาตลอดเวลา เพียงแต่เขาต้องสัญญาว่าจะรักและดูแลเจ้าเหมียวไม่ต่างจากลูกรัก

ผู้ทำหน้าที่สัมภาษณ์และตัดสินใจว่าจะให้แมวแก่ผู้รับอุปการะหรือไม่นั้น ก็คือผู้ดูแลที่พาแมวมาจากวัด และเจ้าของเหมียวตัวที่คุณแม่พูลทรัพย์จะรับกลับกำแพงเพชร ก็คือสองสามีภรรยาฟรานซ์และบิน

ผมยืนฟังคำถามแล้วอดไม่ได้ที่จะรู้สึกว่าการเลี้ยงแมวเป็นเรื่องยุ่งยาก ตั้งแต่สถานที่เลี้ยง อาหารที่จะให้ บริเวณสำหรับขับถ่าย ลักษณะของพื้นที่ใกล้บ้านที่อาจเป็นภัยคุกคาม ประสบการณ์ในการเลี้ยงแมว สัตว์เลี้ยงที่มีอยู่แล้วในบ้าน ฯลฯ

คุณแม่พูลทรัพย์ค่อย ๆ ตอบคำถามพลางเล่นกับเจ้าเหมียวในมือ โดยมีขวัญพัฒน์ผู้เคยรับอุปการะแมวจรจากโครงการรักษ์แมวฯ ไปแล้วถึงสามตัวเป็นผู้ช่วย ขณะบทสนทนาดำเนินไปได้ด้วยดี แต่พอรู้ว่าที่บ้านคุณแม่พูลทรัพย์เลี้ยงสุนัข บินก็มีท่าทางลังเลใจ แม้ขวัญพัฒน์จะหารูปมายืนยันว่าสุนัขที่บ้านแสนเป็นมิตรกับแมวก็ตาม

บินกำลังคิดหนัก เพราะหากเธอตัดสินใจผิดพลาด นั่นหมายถึงอนาคตของเจ้าเหมียวที่แม้จะเป็นแมววัด

“คำนึงถึงแมวเป็นหลัก” คือหัวใจของการหาบ้านใหม่ให้เจ้าเหมียว

บินตัดสินใจได้แล้ว เธอเดินกลับมาพร้อมเอกสารสี่หน้า พลางกำชับว่าในตอนแรกให้แยกบริเวณน้องแมวกับเจ้าหมาจนกว่าจะคุ้นชินจึงค่อย ๆ ให้ทำความรู้จักกัน ขวัญพัฒน์รับคำแทนแม่ที่กำลังปลื้มกับว่าที่สมาชิกใหม่

หลังผ่านการสอบสัมภาษณ์ ขั้นตอนต่อไปคือกรอกข้อมูลส่วนตัวของผู้รับอุปการะในบันทึกข้อตกลงเพื่อเก็บไว้เป็นฐานข้อมูลของโครงการ  ที่สำคัญคือการลงชื่อในสัญญาว่าจะไม่นำแมวไปขาย เลี้ยงดูอย่างเมตตา และห้ามให้แมวแก่บุคคลที่ ๓ โดยในระยะเวลา ๒ ปี เจ้าเหมียวเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ส่งมอบและผู้รับอุปการะ เรียกว่าถ้ามีปัญหาเมื่อไร ก็ต้องคืนแก่ผู้ส่งมอบทันที

“สิ่งที่เราห่วงคือแมว เราต้องตามดูว่าเขาเลี้ยงอย่างไร เคยมีคนรับไปแล้วไม่ติดต่อกลับ ไม่รับโทรศัพท์ ไม่ตอบอีเมลเราก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ตอนหลังเลยต้องขอข้อมูลไว้ทั้งหมด” รักษ์กล่าวเพิ่มเติม

รักษ์ย้ำว่าคนที่คิดจะรับอุปการะแมวให้ “คิดเยอะ ๆ” เพราะหลังจากนี้ ค่าอาหาร ค่าทราย ค่าวัคซีน และค่ารักษาพยาบาล ทุกอย่างคือภาระของเจ้าของแมว และนั่นคือคำถามในแบบสอบถามที่แนบท้ายต่อจากบันทึกข้อตกลงในการรับแมว

คุณมีเงินในแต่ละเดือนเหลือเท่าไรหลังหักค่าอุปโภคบริโภค ? - เตือนสติว่าเรามีรายได้เพียงพอจะรับผิดชอบอีกชีวิตหนึ่งหรือไม่

แมวมีอายุเฉลี่ยประมาณกี่ปี ? - กระตุ้นให้คิดถึงภาระในการเลี้ยงดูแมวไปอีกเกือบ ๑๐ ปี

และคำถามไพ่ตาย ถ้าแมวมีไข้สูงจะทำอย่างไร ? หากใครตอบว่าให้กินพาราเซตามอลก็คงต้องเข้าคอร์สอบรมการเลี้ยงแมวใหม่ พร้อมรับคู่มือเลี้ยงแมวเป็นของแถม เพราะการให้เจ้าเหมียวกินยาพาราเซตามอลนั้นอันตรายถึงชีวิต !

จากประสบการณ์ของรักษ์ที่หาบ้านให้แมวจรจัดกว่า ๗ ปียืนยันว่ามีไม่ถึง ๕ เปอร์เซ็นต์ที่นำแมวมาคืน

บินกอดลาเจ้าเหมียวเป็นครั้งสุดท้ายก่อนจะค่อย ๆ หย่อนมันลงในตะกร้าสีชมพูใบเขื่อง แมวตัวน้อยเดินสำรวจที่ทางสักพักก่อนจะนอนลงบนผืนผ้าที่ดูอุ่นสบาย เด็กน้อยคงยังไม่รู้ว่าตอนนี้มันไม่ใช่แมววัดอีกต่อไป

“แมวถูกทิ้งที่วัดทุกวัน แต่มีวันนี้แหละที่จะช่วยพาเขาออกมาหาบ้าน” นี่คือข้อความที่คนรักแมวต่างบอกตรงกัน

ผมมองตามคุณแม่พูลทรัพย์ถือตะกร้าบรรจุเจ้าแมวน้อยกลืนหายไปท่ามกลางฝูงชน กรงบนโต๊ะยังเหลืออีกหลายชีวิต  ฟรานซ์อุ้มเจ้าเหมียวแต่ละตัวขึ้นมาพลางปลอบอย่างอ่อนโยน

“ไม่เป็นไรนะ วันนี้เจ้าของเขาอาจจะยังไม่มา”

หมายเหตุ เจ้าเหมียวน้อยท้ายเรื่องปัจจุบันมีชื่อว่า น้องสมใจ มันไม่ได้ไปอยู่ที่กำแพงเพชร เพราะขวัญพัฒน์ตัดสินใจเลี้ยงไว้เองเพื่อให้มีเพื่อนเล่นคือเจ้าเหมียวอีกสามตัว

เอกสารประกอบการเขียน 
ปานเทพ รัตนากร. คู่มือคนรักเหมียว ฉบับสมบูรณ์. กรุงเทพฯ : ภัคธรรศ, ๒๕๔๔.

ขอขอบคุณ
โครงการรักษ์แมว ปันน้ำใจให้แมวจร, อลงกรณ์ วิวัฒนกุลชัย, ภาณิตา โคตะดี, Pham Thi Bich Van, Frans W. J. Delsing, ขวัญพัฒน์ วิเศษวงศ์สกุล, นายสัตวแพทย์ราชัญ ชื่นบุญ, วชิรา ทวีสกุลสุข, สัตวแพทย์หญิงเนาวรัตน์ ลิมปคุปตถาวร, คมคาย จันทนาวิวัฒน์, สุนันท์ โซวประเสริฐสุข, Kafbo, ศุภิสรา เกตุกลัด, อุปกรณ์ถ่ายภาพบางส่วนจาก Nikon Professional Service.