เรื่อง : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล / ภาพ : ประเวช ตันตราภิรมย์

30greenperson2ทายาทความคิด สืบ นาคะเสถียร (ปี ๒๔๙๒-๒๕๓๓) และเลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ผันตัวจากอาจารย์มหาวิทยาลัยรังสิตมารับตำแหน่งผู้จัดการโครงการจอมป่า ทำงานอย่างหนักกับชุมชน
ในป่า เจ้าหน้าที่รัฐ ข้าราชการระดับสูง แต่โด่งดังเป็นที่รู้จักโดยเฉพาะในกลุ่มนักเรียนนักศึกษาเมื่อตัดสินใจเดินเท้า ๓๐๐ กว่ากิโลเมตรประกาศเจตนารมณ์ต้านการสร้างเขื่อนแม่วงก์ในผืนป่าตะวันตก กลายเป็น “ไอดอล” หรือ “วีรบุรุษเอกชน” ที่ตัวเขาเองไม่ต้องการให้เรียก

 

อาจารย์มหาวิทยาลัย

ศศิน เฉลิมลาภ ฮีโร่ต้านเขื่อน / รักษาป่าของคนรุ่นใหม่เคยเป็นอาจารย์สาขาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต สอนหนังสืออยู่ประมาณ ๑๓ ปี

“ผมเป็นอาจารย์ประเภทวิ่งไปโน่นไปนี่ ช่วยงานเรื่องสารตะกั่วคลิตี้ เหมืองโพแทช  ขณะเดียวกันก็มีพาร์ตใหญ่ของชีวิตคือเป็นที่ปรึกษาชมรมบำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และเป็นรองผู้อำนวยการสำนักงานกิจการนักศึกษา วิ่งทำงานเป็นแอ็กทิวิสต์อยู่ในมหา’ ลัย”

ศศินโตมาในยุคที่ข่าวการเสียชีวิตของคุณสืบเป็นข่าวใหญ่ แต่จุดเล็ก ๆ ที่ผันเปลี่ยนชีวิตเกิดเมื่อคณะวิศวกรรมศาสตร์เปิดสอนวิชาที่ควรบรรจุในคณะวิทยาศาสตร์

“เราเป็นนักสิ่งแวดล้อม แต่สอนโยธาซึ่งส่วนใหญ่ก็ต้องยอมรับว่าทำลายสิ่งแวดล้อม สอนเพื่อรับเงินเดือนอย่างทำมาหากิน จนมาสอนหนังสือให้คนรักสิ่งแวดล้อมได้มาก ๆ ก็เนื่องจากคณะ (วิศวกรรม-ศาสตร์) เปิดสอนวิชาที่ควรจะอยู่ในคณะวิทยาศาสตร์ คือมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม หรือวิทยาศาสตร์กับสังคม  ผมก็ไปขอเขาสอนทั้งที่ไม่เคยเรียนพื้นฐานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเลย  รู้สึกว่าตัวเองมีความสุขมาก ได้ทำตัวให้เป็นประโยชน์เรื่องสิ่งแวดล้อมเต็ม ๆ”

ถึงวันนี้เขายังเก็บข้อสอบ กระดาษคำตอบที่เด็กตอบมาแล้วประทับใจ

“เออ เราสามารถสอนให้เขารู้เรื่องขนาดนี้ได้”

ผู้จัดการจอมป่า

“โปรไฟล์ของผมคือจอมป่า”

ศศินยืนยันว่างานสำคัญที่สุดในชีวิตคือผู้จัดการโครงการจอมป่าหรือโครงการจัดการพื้นที่คุ้มครองอย่างมีส่วนร่วมในผืนป่าตะวันตก

ภาคส่วนสำคัญของโครงการนี้คือการที่มูลนิธิสืบฯ ส่งเจ้าหน้าที่เข้าทำงานในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ที่มีผู้คนตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัย

“เราทำแผนที่ใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างมีส่วนร่วมระหว่างชุมชนกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ได้เป็นแผนที่ที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับ  ในรายละเอียดคือการอดทนประสานกับคนมีอำนาจตัดสินใจให้ยอมรับโครงการนี้”

ศศินเล่าว่า เขาต้องใช้ทั้งความอดทนและความขยัน “อย่างเคยทำงานที่อุ้มผางแล้วมีโอกาสผลักดันงานให้สำเร็จ  ถ้าเกิดผู้มีอำนาจตัดสินระดับนโยบายที่ตัวจังหวัดตากได้พิจารณา เขาอยู่ห่างออกไป ๒๐๐ กว่ากิโลเมตร แต่พันกว่าโค้ง เพื่อการคุยกัน ๓ นาที ผมก็ต้องขับรถไปรอจังหวะนั้นแล้วก็ขับรถกลับ  ผมวิ่ง ๑๗ พื้นที่ ๖ จังหวัด ใน ๓ วัน เพื่อให้ได้เอกสารมาให้อธิบดีจัดการ

“มันใช้จังหวะและความอดทนที่จะคุยกับคนที่มีอำนาจตัดสินใจ คือเราก็ต้องไม่มีศักดิ์ศรี ไม่มีอะไร  แต่ต้องมีหลักการ มีเหตุผล มีการเดินทางที่ต้องใช้ความอดทน  ต้องละตัวตน มุ่งไปที่งาน”

 

เดินต้านเขื่อนแม่วงก์

วันสำคัญที่มีส่วนผลักดันศศินขึ้นเป็นผู้นำมวลชนนักอนุรักษ์มาถึง เมื่อโครงการสร้างเขื่อนแม่วงก์ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ถูกปัดฝุ่นอีกครั้ง

ศศินค้านการสร้างเขื่อนในป่าโดยจับประเด็นเรื่องความบกพร่องไม่ชอบธรรมของร่างรายงาน EHIA หรือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ

แล้วเขาก็ออกเดิน ๓๐๐ กว่ากิโลเมตรจากชายป่าแม่วงก์ นครสวรรค์ มาถึงปลายทาง หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครที่มีผู้คนนับหมื่นนับพันเข้าร่วม

“ผมทำมันในฐานะของแม่ทัพ  ถ้ามูลนิธิสืบฯ เป็นองค์กร ผมก็ต้องรบให้ชนะ ต้องรักษาป่าไว้ให้ได้”

ในฐานะผู้บริหารเขาไม่อยากแพ้ในยุคที่ตัวเองเป็นเลขาธิการมูลนิธิสืบฯ

“สุดหรือยังล่ะ ถ้ายังไม่สุดมันก็คงยอม ๆ เขาไป  แต่ผมนั่งดูรูปพี่สืบทุกวัน  คุณมาอาสารับงานนี้ แล้วคุณทำดีที่สุดแล้วหรือ

“ผมรู้สึกถึงหน้าที่มากกว่าการต่อสู้เพื่อแม่วงก์ ต่อสู้เพราะมันเป็นหน้าที่ของมูลนิธิสืบฯ ที่ต้องทำ”

ศศินเล่าในวันที่เรื่องการสร้างเขื่อนแม่วงก์ถูกหยิบยกมาพูดถึงอีกครั้ง

หน้าที่ของคนอนุรักษ์ดูจะไม่จบลงง่าย ๆ