เรื่อง : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
ภาพ : ฝ่ายภาพ สารคดี

triathlon01
triathlon02

ว่ า ย

๑.๗ | ๕๒ | ๑๓ กิโลเมตร
สามเหลี่ยมทองคำไตรกีฬา ๒๕๕๗, ไทย ลาว
พม่า ระยะทางรวม ๖๖.๗ กิโลเมตร

อีกสิบวินาที
เก้า แปด
เจ็ด แม่น้ำโขงเต็มตลิ่ง ตะเข็บแผ่นดินฝั่ง สปป. ลาว เปลี่ยนจากสีส้มเป็นขาว เมื่อคืนฝนเพิ่งเทลงมา สายน้ำไหลเร็ว
หก
ห้า สี่
แพขนานยนต์ติดเครื่องเลี้ยงตัวไม่ให้ไหลไปตามกระแสน้ำ
ตัวเลขนับถอยหลัง
สาม
สอง

บนแพขนานยนต์ นักไตรกีฬายืนหันหน้าไปทางท้ายลำ ส่วนหนึ่งกระสับกระส่ายอยู่ไม่สุข ส่วนหนึ่งสงบนิ่งไม่เคลื่อนไหว กระชับหมวกและแว่นตากันน้ำเป็นครั้งสุดท้าย

สุดพรมแดนไทยที่สามเหลี่ยมทองคำ

คนกลุ่มหนึ่งจะกระโดดลงแม่น้ำ และว่ายน้ำเป็นระยะทาง ๑.๗ กิโลเมตร
ไม่มีใครคิดว่าตัวเองทำไม่ได้
ไม่มีใครเปลี่ยนใจถอนตัว

หนึ่ง
เสียงสัญญาณเริ่มการแข่งขันดังไปทั่วคุ้งน้ำ

ราวกับการไหลของแม่น้ำนานาชาติถูกควบคุมให้หยุดนิ่ง กองเชียร์กลั้นหายใจ ใบไม้ไม่ไหวติง พลันนักไตรกีฬาแถวแรกสุดกระโจนออกจากเรือ

ที่จุดเริ่มต้นศึกไตรกีฬา ผู้เข้าชิงชัยยืนอยู่อย่างเท่าเทียมเสมอภาค ไม่ว่าเจ้าของเหรียญรางวัลระดับโลก หรือเพิ่งลงสัมผัสสนามครั้งแรก

ทุกคนจะทำเวลา ปล่อยให้เส้นชัยในอีกประมาณ ๖๐ กิโลเมตรข้างหน้าตัดสิน

จากทรานซิชัน-วัน (transition-1) ในอีกประมาณ ๑,๕๐๐ เมตรข้างหน้า

ถึงทรานซิชัน-ทู (transition-2) ในอีก ๕๐ กิโลเมตรต่อมา

และ “เส้นชัย” ในอีก ๑๐ กิโลเมตรที่เหลือ

“ไตรกีฬา” ก็เหมือนกาแฟ “ทรีอินวัน”

ขมและหวาน ผสมผสานส่วนประกอบสามอย่างเข้าเป็นหนึ่งเดียว

เริ่มต้นจากจุดปล่อยตัวด้วยการว่ายน้ำ ตามด้วยขี่จักรยาน และวิ่ง จนกว่าจะถึงแถบแพรปลายทางที่เส้นชัย

ทั้งหมดเกิดขึ้นบนระยะทางที่คนทั่วไปยากจะพิชิต

นี่คือกีฬาคนเหล็กที่ร่างกายแข็งแกร่งเป็นยอดมนุษย์

ไหนจะหัวจิตหัวใจที่ห้าวหาญ

ตำนานกล่าวไว้ว่า ต้นกำเนิดของไตรกีฬามีที่มาจากเพื่อนรักสามคนหลงใหลกีฬาประเภทจอมอึด

คนหนึ่งชอบว่ายน้ำ ว่ายเป็นระยะทางไกลร่วม ๑๐ กิโลเมตร

คนหนึ่งชอบขี่จักรยาน ขี่เป็นระยะทางไกลข้ามรัฐข้ามแดน

อีกคนหนึ่งชอบวิ่งระยะไกล

สหายทั้งสามท้าทายกันว่าใครกันที่เหนือกว่า

เพราะถนัดต่างกีฬา จึงมีคนกลางเสนอกติกาการแข่งขัน ให้ทั้งสามไปฝึกกีฬาทั้งสามชนิดแล้วมาประลอง ผู้ชนะคือผู้แข็งแกร่งที่สุด

ข้อมูลจากบันทึกทางประวัติศาสตร์ที่น่าเชื่อถือ บอกว่าการแข่งขันไตรกีฬาจัดขึ้นเมื่อต้นศตวรรษที่ ๒๐ อย่างน้อยก็ ค.ศ. ๑๙๒๐ เป็นต้นมา

โอลิมปิกเมื่อ ๑๐๐ ปีกว่าใน ค.ศ. ๑๙๐๔ บรรจุการแข่งขันที่เรียกว่า “ไตรกีฬา” (triathlon) เอาไว้ ประกอบด้วยกระโดดไกล ทุ่มน้ำหนัก และวิ่งระยะสั้น

การแข่งขันไตรกีฬายุคแรก ๆ ที่ฝรั่งเศส ประกอบด้วยวิ่ง ขี่จักรยาน และพายเรือแคนู

ขณะที่ไตรกีฬา “ยุคใหม่” ที่ล่าเส้นชัยโดยเรียงลำดับจากว่ายน้ำ ขี่จักรยาน ตามด้วยวิ่ง มีบันทึกว่าจัดขึ้นครั้งแรกวันที่ ๒๕ กันยายน ค.ศ. ๑๙๗๔ ที่อ่าวมิชชัน (Mission) ของรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา โฆษณาในหนังสือพิมพ์ the San Diego Track Club Newsletter พาดหัวว่า “Run, Cycle, Swim Triathlon set for 25th” ถือเป็นการนำคำว่า triathlon มา
ใช้ในความหมายใหม่เป็นครั้งแรก

ในช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนั้นเอง จอห์น คอลลินส์ (John Collins) นายทหารเรือสหรัฐฯ ที่ชื่นชอบชีวิตกลางแจ้ง คิดว่าน่าจะตื่นเต้นดีหากนำว่ายน้ำ ขี่จักรยาน และวิ่ง มาแข่งกันเป็นระยะทางไกล ๆ ซึ่งยังไม่เคยจัดที่ไหนมาก่อน เขาจึงจัดการแข่งไตรกีฬาขึ้นบนเกาะฮาวาย ระยะทางว่ายน้ำ ๒.๔ ไมล์ ขี่จักรยาน ๑๑๒ ไมล์ และวิ่ง ๒๖.๒ ไมล์

การแข่งขันใน ค.ศ. ๑๙๗๘ ครั้งนั้น เรียกว่า “คนเหล็กไตรกีฬา” (Iron Man Triathlon) ปฐมฤกษ์มีผู้เข้าร่วม ๑๕ คน และถึงเส้นชัย ๑๒ คน โดยมีของรางวัลคือเบียร์ขนาดเล็กหกขวด

ปีถัดมามีผู้ร่วมแข่งขันเพิ่มเป็นร้อยกว่า

ค.ศ. ๑๙๘๒ การแข่งขันไตรกีฬาที่ฮาวายเป็นที่พูดถึง เมื่อ จูลี มอสส์ (Julie Moss) นักไตรกีฬาหญิงวิ่งทิ้งห่างในช่วงสุดท้าย เหตุการณ์เหมือนจะง่าย หนังม้วนเดียวจบสำหรับเธอ แต่เมื่อเหลือระยะทางอีกราว ๔๐๐ เมตร เธอกลับล้มลง ลุกขึ้น วิ่งต่อ แล้วก็ล้มลงอีก

ระยะทางงวดสั้นเหลือเพียง ๑๐ เมตร เส้นชัยรออยู่แค่เอื้อม มองเห็นแถบแพรปลายทางแล้ว แต่เธอกลับลุกไม่ไหว สิ้นเรี่ยวแรงราวกับก้อนแบตเตอรี่ชีวภาพหมดเกลี้ยง

แคทลีน แม็กคาร์ตนีย์ (Kathleen McCartney) นักไตรกีฬาจอมพลังที่วิ่งไล่ตามมาห่าง ๆ ปาดหน้าเข้าเส้นชัย

แต่ จูลี มอสส์ ไม่ยอมจำนน เธอฝืนสภาพร่างกายที่ล้มอยู่กลางถนน คลานผ่านปากประตูที่เปิดรอผู้เข้าแข่งขันไตรกีฬาทุกคน

ท่ามกลางเสียงโห่ร้องกึกก้องของกองเชียร์ และสายตานับล้านคู่ที่เฝ้าดูเธอผ่านจอโทรทัศน์

จากตำนานลึกลับของชายนิรนาม ถึงสังเวียนของนักไตรกีฬาทั่วโลกประมาณ ๑๐ ล้านคน กีฬาของกีฬาสามชนิดก็พอเป็นที่รู้จัก

วิจิตร สิทธินาวิน นายกสมาคมไตรกีฬาแห่งประเทศไทย นักไตรกีฬารุ่นใหญ่ที่ผันตัวมาเป็นโค้ชทีมชาติ บอกว่าผู้เข้าร่วมแข่งไตรกีฬาน่าจะแบ่งออกเป็นสามกลุ่มหลัก

กลุ่มแรกคือผู้ที่เข้ามาทดสอบสมรรถภาพ รวมถึงคนที่เล่นไตรกีฬาเพื่อสุขภาพด้วย

กลุ่มต่อมาคือผู้เล่นระดับชาติ คนที่เล่นไตรกีฬาเป็นอาชีพ เทิร์นโปรออกล่าเงินรางวัลในรายการแข่งขันทั่วโลก

กลุ่มสุดท้ายคือเยาวชนที่ต้องการทดสอบตัวเอง หรือมาลองดูว่านี่ใช่เส้นทางของตัวเองไหม

แทบทุกสนามไตรกีฬา อย่างน้อยน่าจะประกอบด้วยกลุ่มคนเหล่านี้

ที่สามเหลี่ยมทองคำกลางแม่น้ำสายกว้างที่ไหลรี่และขุ่นเป็นสีแดงอมน้ำตาล

หลังสายน้ำหน้าแพขนานยนต์แตกกระจาย

ภาพที่เห็นเหมือนฝูงปลาแหวกว่าย โดยใช้แขนแทนครีบ

การว่ายน้ำถือเป็นด่านแรกของไตรกีฬา มีคนให้ความเห็นว่าเหตุที่จับเอาว่ายน้ำมาเป็นกีฬาเปิด เพราะถ้าขี่จักรยานหรือวิ่งแล้วค่อยว่ายน้ำก็อาจเป็นตะคริวได้ง่าย

กลุ่มผู้นำที่เป็นนักไตรกีฬาอาชีพจะใช้ท่าฟรีสไตล์ ท่วงท่าที่ง่าย กินแรงน้อย และเหมาะต่อการทำความเร็ว

การว่ายน้ำในสนามไตรกีฬามักจัดในพื้นที่เปิด(open water) คือ ทะเล แม่น้ำ คลอง หรือบ่อน้ำ หากจัดในทะเล นอกจากท่าฟรีสไตล์แล้วผู้เล่นจะใช้ท่าผีเสื้อเป็นอาวุธ กินแรงมากกว่าแต่มีประโยชน์ในการว่ายมุดหรือเบี่ยงหลบคลื่น

นักไตรกีฬาที่ว่ายตามหลังกลุ่มนำก็ใช้สองท่านี้เช่นกัน เมื่อต้องการพักก็สลับด้วยท่ากบและท่ากรรเชียง

การว่ายน้ำในไตรกีฬาไม่มีท่วงท่าบังคับตายตัว

ขอเพียงไม่แอบเกาะทุ่น หรือเรือของผู้พิทักษ์ที่จะคอยอารักขาอยู่ตลอดเส้นทางแข่งขัน อย่างที่แม่น้ำโขงมีเจ็ตสกีสี่ลำ เรือทหารหน่วยซีล เรือตำรวจน้ำ ไม่นับว่ากรมเจ้าท่าได้สั่งปิดแม่น้ำโขงมาตั้งแต่ตี ๕ แล้ว

การว่ายน้ำถือเป็นช่วงโหดของไตรกีฬา และเป็นเหตุให้หลายคนหลบไปลงแข่ง “ทวิกีฬา” ที่เบิลวิ่งสองรอบแทนกีฬาว่ายน้ำ

จเร เจียระไน แชมป์ไตรกีฬาหลายสนาม กล่าวถึงทักษะการว่ายน้ำของตนว่า “มันเป็นจุดอ่อนของผม”

เมื่อก่อนแชมป์ชาวไทยก็เหมือนอีกหลายคน คือว่ายน้ำไม่แข็ง ว่ายน้ำได้แค่พอช่วยตัวเอง แต่ก็พัฒนาตัวเองเพราะอยากเล่นไตรกีฬา

จเรเล่าถึงเหตุผลว่า “เพราะที่บ้านผมคือจังหวัดภูเก็ต เขาจัดงานลากูน่าภูเก็ตไตรกีฬาทุกปี ผมชอบดูงานนี้ ดูแล้วก็คิดว่าคนที่เข้ามาแข่งนี่ไม่ธรรมดานะ ว่ายน้ำตั้งกิโลกว่า ปั่นจักรยานอีกหลายสิบกิโล ก่อนจะปิดท้ายด้วยการวิ่ง ผมเลยเริ่มซ้อมเพื่อลงแข่งลากูน่าฯ

“ปีแรกตั้งเป้าเอาแค่ถึงเส้นชัย แค่ไม่ต้องออกจากการแข่งขัน ผ่านจุดนั้นได้ก็ถือว่าชนะตัวเองแล้ว”

ความยิ่งใหญ่ของ “ลากูน่าภูเก็ตไตรกีฬา” ถึงขนาดมีคำกล่าวว่า ฝรั่งต่างชาติอาจไม่รู้จักซีเกมส์ ไม่เคยได้ยินคำว่าเอเชียนเกมส์ แต่ในกลุ่มผู้ชื่นชอบกีฬาแนวแอดเวนเจอร์จะรู้ว่ามี Laguna Phuket Triathlon ที่เมืองไทย นี่คือสนามที่นักไตรกีฬาจากทั่วโลกมาเดินชนไหล่

ครั้งแรกที่จเรลงแข่งลากูน่าภูเก็ตไตรกีฬาเกิดขึ้นเมื่อ ๑๐ ปีก่อน ตอนนั้นเขาอายุ ๒๔ จเรเล่าประวัติตัวเองต่อว่า “ผมฝึกว่ายน้ำก็เพื่อไตรกีฬา แต่ก่อนผมกลัวว่ายน้ำมาก เดี๋ยวนี้ก็ยังกลัว เพราะผมอ่อนว่ายน้ำที่สุดในบรรดากีฬาทั้งสามอย่าง ปรกตินักไตรกีฬาจะว่ายกันด้วยท่าฟรีสไตล์ แต่ผมว่ายทุกท่าเลย ทั้งท่าฟรีสไตล์ ท่าผสม ขอให้ว่ายถึงฝั่ง ได้ขึ้นจากน้ำ ไปขี่จักรยาน ไปวิ่งต่อ ผมก็ดีใจแล้ว”

สิบกว่านาทีผ่านไปเหล่าคนกล้าสะเทินน้ำสะเทินบกว่ายใกล้ฝั่งเป้าหมายเข้าไปทุกที กระแสน้ำช่วยหอบพัดร่างไปได้ไกลกว่าที่คิด

เมื่อว่ายถึงจุดที่แม่น้ำรวกไหลสบแม่น้ำโขง แผ่นดินเป็นแหลมยื่น พื้นที่ตรงนั้นคือพิกัดพิเศษที่แผ่นดินของสามชาติสบตากัน ว่ายพ้นตำแหน่งนั้น ทุกคนจะแหงนหน้าขึ้นฟ้า มองหาหน้าผาที่ตั้งอยู่ในทิศทางเดียวกับเส้นชัย

บนผาสูงชันนั้นมีพระพุทธรูปองค์ใหญ่สีทองอร่าม สะท้อนแสงส่องเป็นประภาคารให้นักเดินเรือ รวมทั้งเป็นหลักนำทางให้นักไตรกีฬา

ทรานซิชัน-วัน อยู่เลยจากองค์พระพุทธรูปใหญ่ออกไปอีกราว ๑๐๐ เมตร

กับกระแสน้ำที่เหมือนลมใต้ปีก และเรี่ยวแรงที่ยังเหลือ แขนที่ทำงานหนัก จ้วงกินน้ำลดระยะทางลงทุกนาที

สายตาจับจ้องล็อกเป้ายังองค์พระพุทธรูปที่จะนำทางเหล่ามนุษย์พันธุ์อึดไปสู่เส้นชัย แต่แล้วเมื่อว่ายเบี่ยงทางเข้าใกล้ฝั่ง ก็ปรากฏว่ากระแสน้ำจากปากแม่น้ำรวกนั้นไหลแรงและเร็วเกินคาด เมื่อคืนฟ้าเทฝนลงมาห่าใหญ่ทางฝั่งไทย ภูเขารับน้ำแล้วส่งต่อให้แม่น้ำรวก น้ำรวกส่งต่ออีกให้แม่น้ำโขง

เวลานั้น สรานนท์ จันทราช นักไตรกีฬาดาวรุ่งอยู่ในกลุ่มหัวแถว

เขามองเห็นหลังฝรั่งนักกีฬาอาชีพที่นำหน้าเขาอยู่เท่านั้นเอง สรานนท์บอกว่าเมื่อผ่านสามเหลี่ยมทองคำ เขายังนำติดอันดับ ๑ ใน ๑๐

นักไตรกีฬาอายุ ๒๕ ปี ผู้เข้าสู่วิถีทางแห่งนักกีฬาจากการเป็นนักว่ายน้ำทีมโรงเรียน ทำการบ้านมาอย่างดีแล้วว่ายิ่งใกล้ถึงทางขึ้นฝั่ง น้ำนั้นยิ่งไหลแรง แต่ก็ไม่นึกว่าจะแรงจนหอบโยนตัวเขาเลยทางขึ้นฝั่งไป

สรานนท์เล่าเหตุการณ์เมื่อผ่านการศึกมาแล้วว่า

“ก่อนขึ้นฝั่งผมอยู่ในกลุ่มผู้นำ ไล่รายชื่อ ๕ คนแรกมี ไมเคิล เมอร์ฟี (Michael Murphy) ทีมชาติออสเตรเลีย เฟรดริก ครอเนบอร์ก (Fredrik Croneborg) อดีตทีมชาติสวีเดน เบน แฮมมอนด์ (Ben
Hammond) จากออสเตรเลีย มี ไซมอน อโกสตัน (Simon Agoston) แชมป์อู่ตะเภา เจอร์เก็น แซ็ก (Jurgen Zack) และตัวทีมชาติอื่น ๆ”

ในบรรดาผู้ถูกเอ่ยชื่อข้างต้น บางคนควบคุมทิศทางการว่ายขึ้นฝั่งที่ทรานซิชัน-วันสำเร็จ บางคนทานกระแสน้ำไม่ไหวถูกพัดไปเกาะทุ่นกลางแม่น้ำที่ผู้จัดขึงพาดเลยทางขึ้นฝั่งไปแล้ว

อีกร่วม ๑๐๐ ชีวิตที่ว่ายตามหลังมาก็เช่นกัน เผชิญน้ำหลากที่รุนแรงเกินต้าน ยากจะว่ายย้อนกลับมาขึ้นฝั่ง บางคนต้องยอมว่ายตามน้ำไปขึ้นฝั่งยังอีกท่าเรือหนึ่งถัดห่างออกไป

การว่ายน้ำบางครั้งคุณว่ายด้วยความสนุก แต่บางครั้งคุณต้องเสี่ยงว่ายเพื่อเอาชีวิตรอด

ทุกเสี้ยวนาทีที่สูญเสียไปในสายน้ำไหล สรานนท์มองคู่แข่งขันวิ่งขึ้นฝั่งไปทีละคน

ก่อนหาทางกลับขึ้นฝั่งที่ท่าทรานซิชัน-วันได้สำเร็จ

หลังกระโจนออกจากแพขนานยนต์กลางแม่น้ำโขงในเขตปกครองลาว เขาใช้เวลา ๑๒ นาทีว่ายอยู่ในแม่น้ำไหลรี่ เผชิญเหตุการณ์ที่ไม่หยุดนิ่งตลอด ๑,๗๐๐ เมตร

เพิ่งผ่านไป ๑.๗ กิโลเมตรของด่านแรก-เพียงเท่านั้น

บทพิสูจน์ใจที่ชายแดนไทย ลาว พม่า ยังไม่จบ

triathlon01 triathlon01

ปั่ น

๑.๕ | ๔๐ | ๑๐ กิโลเมตร
พัทลุงไตรกีฬา ๒๕๕๗, สะพานท่าสำเภา
ตำบลชัยบุรี อำเภอเมือง
ระยะทางรวม ๕๑.๕ กิโลเมตร

ลมพัดปะทะด้านข้าง

โรดไบก์ (road bike) – เสือหมอบ Ceepo รุ่น Mamba น้ำหนัก ๗.๕ กิโลกรัม “เบาเหมือนขนนก” แหวกอากาศไปตามทางราบที่เบื้องหน้าคือเนินเขาขนาดย่อม

บนเส้นทางตัดผ่านท้องทุ่ง สรานนท์ จันทราช ควบจักรยานคู่ใจ

ร่างกายเขาโน้มต่ำ ก้มมองระดับสะโพกคนข้างหน้า

นี่คือท่วงท่าปรกติสำหรับนักไตรกีฬาที่ต้องขี่จักรยานต่อเนื่อง ๔๐ กิโลเมตร นับจากนี้ท่ากุ้งขดบนอาน คือท่าประจำของนักไตรกีฬาทุกคน

เสือหมอบคันเก่ง สีดำตัดแดง โครงรถรูปสี่เหลี่ยมข้าวหลามตัด ล้อยางเรียวเล็ก เป็นผลึกความฉลาดของมนุษย์ ไม่ว่าการเบรกหยุดรถ เปลี่ยนเกียร์ ถูกกำหนดด้วยกลไกง่าย ๆ

จักรยานเสือหมอบถือเป็นสายหนึ่งของโรดไบก์ หรือ “จักรยานถนน” ที่ไม่ควรเลยจะเรียกว่า “รถถีบ” นี่เป็นพาหนะที่ “บินได้” ของคนที่รู้จักและเข้าใจขี่รีดเค้นศักยภาพ

หลังขึ้นฝั่ง วิ่งเปียกน้ำมะล่อกมะแล่กเข้าสู่ทรานซิชันหรือจุดเปลี่ยนชนิดกีฬา ที่มีจักรยานร่วม ๑๐๐ คันแขวนอยู่กับแร็ก นักไตรกีฬาที่เนื้อหนังยังไม่หมาดแห้งจะพยายามใช้เวลาอยู่ในจุดผ่านแดนให้น้อยที่สุด

ทุกเรื่องที่มีเวลาเข้ามากำหนดจะต้องถูกฝึกฝนอย่างจริงจัง จะทำอะไรก่อนหลังถูกเรียงลำดับไว้แล้ว

ชุมพล ครุฑแก้ว นักไตรกีฬารุ่นอายุ ๔๐-๔๕ ปี เล่าว่า “เราต้องคิดว่าระหว่างเปลี่ยนชุดเราจะหยิบอะไร จะกินน้ำก่อนไหม หรือกินอะไรก่อนหลัง ทุกอย่างต้องวางแผน เมื่อขึ้นขี่จักรยานแล้วก็เหมือนกัน ต้องคิดถึงของกินที่จะช่วยเติมพลัง จะกินของที่ย่อยง่ายก่อนดีไหม หรือจะปั่นไปสักพัก ถ้ากินก่อนก็ต้องยืนปั่นไปอีกสักพักถึงค่อยก้มตัวลงมา เพราะถ้ากินแล้วก้มเลยมันจะไหลออกมาหมด”

สรานนท์ จันทราช เล่าเสริมประเด็นเดียวกันว่า “ในการแข่งขันไตรกีฬา ใช่ว่าคนที่ว่ายน้ำหรือขี่จักรยานเร็วที่สุดจะเป็นผู้ชนะเสมอไป

“บางทีเราก็เฉือนกันด้วยเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่นขึ้นจากน้ำแล้วจะทำอะไรก่อนดี จะถอดหมวก ใส่แว่น หรือกินเจล เร็วกว่ากันนิดหนึ่งก็ได้เปรียบ”

เขาเปรียบเทียบนักไตรกีฬาที่เข้ามาแข่งขัน

“พวกไตรแอดดิกต์ที่ซ้อมอย่างบ้าคลั่งกับคนที่เข้ามาเล่นเพื่อความสนุกจะต่างกันมากเลย ไตรแอดดิกต์ขึ้นฝั่ง คว้าหมวกจักรยานสวมแล้วจะออกตัวทันที เพราะรองเท้าสำหรับขี่จักรยานจะติดไว้กับตัวบันได ของกินพันกับรถ แว่นกันแดดเหน็บกับหมวก ไม่กี่วินาทีก็ออกตัวจากทรานซิชัน แต่อีกกลุ่มนั่งสวมถุงเท้า เปลี่ยนเสื้อผ้า หยิบเจลมากิน สวมหมวกแล้วก็ค่อย ๆ วิ่งป๊อก ๆ แป๊ก ๆ ไปขี่จักรยาน มันเสียเวลาต่างกัน”

จักรยานแข่งไตรกีฬานั้นเป็นประเภทมีตัวล็อกรองเท้าติดบันได เวลาปั่นเหมือนเท้าถูกผูกติดกับบันได ช่วยให้ถีบบันไดลงแล้วดึงบันไดขึ้นได้ครบรอบ ไม่ขับเคลื่อนด้วยการถีบบันไดลงอย่างเดียว

การทำเช่นนี้จะช่วยเพิ่มความเร็วและการขับเคลื่อนไปข้างหน้า ถ้าต้องการปั่นจักรยานหมุนต่อเนื่องสม่ำเสมอ โดยเฉพาะช่วงขึ้นเนิน ก็ต้องเน้นที่การดึงบันไดขึ้น

ชั่วอึดใจหมดไปในทรานซิชัน

ถึงเวลาหันมาสวมวิญญาณนักปั่น ในระยะมาตรฐานโอลิมปิก ๔๐ กิโลเมตร ปากทางออกจากจุดผ่านแดน ผู้คนเรียงรายปรบมือ มีคนตะโกนให้กำลังใจมากมาย

เส้นทางจักรยานที่พัทลุงไตรกีฬา เริ่มต้นที่เชิงสะพานท่าสำเภา สิบกิโลเมตรแรกจะขี่บนทางหลวงชนบทที่ตัดผ่านทุ่งนา มีสวนตาลเชิงเขาอยู่ห่างออกไป

วันฟ้าแจ่ม อากาศบริสุทธิ์ ช่วงกลางทางของระยะ ๑๐ กิโลเมตรแรก มีเนินเขาลูกหนึ่งที่ทางลาดชันขึ้นไปถึงยอด ลงจากเนินแล้วจะเข้าช่วงทางราบ นำไปสู่เส้นทางที่ต้องปั่นวนอีกสี่รอบ รอบละประมาณ ๕ กิโลเมตร เมื่อครบแล้วก็ปั่นกลับมาตามเส้นทางเดิมที่ปั่นข้ามเนินเขา วนกลับมาเข้าทรานซิชัน

ทรานซิชันที่ใช้เปลี่ยนผ่านจากว่ายน้ำเป็นขี่จักรยาน และจากขี่จักรยานเป็นวิ่ง ก็คือที่เดียวกัน หมายความว่าผู้แข่งขันจะวนกลับมายังตำแหน่งเดิม

เส้นทางของนักปั่น คือเส้นทางที่มีเพียง “เรา” กับจักรยานคู่ใจ

ตามมาตรฐานคนทั่วไปจะใช้เวลาประมาณชั่วโมงครึ่งสำหรับช่วงควบจักรยาน ๔๐ กิโลเมตร

หลังจูงจักรยานออกจากทรานซิชัน กลุ่มผู้เข้าแข่งขันก็เคลื่อนผ่านสองข้างทางไปอย่างกับจรวดนำวิถี

ผ่านไปสัก ๑๕ นาที ก็เริ่มมองเห็นภาพชัด

หัวแถวคือ ทนงศักดิ์ มั่นใจ นักไตรกีฬาทีมชาติไทย ชุดเอเชียนเกมส์ ที่อินชอน เกาหลีใต้

ตามด้วย สรานนท์ จันทราช ดาวรุ่งไทยวัย ๒๕ ปี ที่ก่อนหน้านี้ในช่วงว่ายน้ำถูกทนงศักดิ์ทิ้งห่าง มาเร่งเครื่องทันกันในช่วงขี่จักรยาน

อีกคนหนึ่งในกลุ่มนำคือ อัลเดรียน โย (Aldrian Yeo) นักไตรกีฬาทีมชาติมาเลเซียกระดูกเหล็กคนนี้เป็นเพื่อนที่อายุไล่เลี่ยกับสรานนท์

การขี่จักรยานเป็นบททดสอบที่ใช้เวลานานที่สุดและมีระยะทางไกลที่สุดในไตรกีฬา

กลุ่มผู้นำจะใช้เวลาไม่ถึง ๑ ชั่วโมง ด้วยความเร็วเฉลี่ย ๔๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ทั้งเทคนิค/แท็กติก จะถูกขุดออกมาใช้ พูดได้ว่านี่คือช่วงแห่ง “สงครามจิตวิทยา”

ตามเหตุผลข้อหนึ่งที่สรุปได้ว่า เพราะการขี่จักรยานเป็นการดวลกับแรงดันลม

ทันทีที่คุณปั่นด้วยความเร็วสูง น้ำหนักประมาณ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ของทั้งคนและรถจะต้านลม ถ้าขี่เรียงแถวตามหลังกัน คนขี่นำคือผู้รับภาระหนักอึ้ง ลดหลั่นกันถึงปลายแถว

ในหนังจักรยานสัญชาติญี่ปุ่นเรื่อง Shakariki ! สิงห์นักปั่น อาจารย์โค้ชสอนนักศึกษาชมรมจักรยานให้รู้ถึงวิธีการขี่จักรยาน “แบบทีม” สำหรับขับเคี่ยวในการแข่งขันที่เรียกว่า โรดเรซ (road race)

โค้ชให้นักเรียนหญิงผู้จัดการทีมวางก้อนหินสี่ก้อนไว้ในลำธาร เรียงต่อกันแบบตอนลึก โปรยกลีบดอกไม้ลงไป กระแสน้ำจะพัดกลีบดอกไม้ให้ไหลผ่านก้อนหินไปทางท้ายน้ำ กลีบดอกไม้จะเคลื่อนผ่านก้อนหินทีละก้อน ๆ

สมมุติว่าก้อนหินคือจักรยาน กลีบดอกไม้และกระแสน้ำแทนแรงดันลม กระแสน้ำพุ่งชนหินแต่ละก้อน คือสิ่งที่นักขี่จักรยานต้องเผชิญยามอยู่ในสนาม กับการว่ายน้ำและการวิ่งก็เหมือนกัน คนที่ว่ายนำคือคนที่แหวกมวลน้ำหรือดันน้ำออกไป คนที่ว่ายอยู่ข้างหลังจะว่ายได้ง่ายขึ้น

คนที่ ๒ ว่ายง่ายกว่าคนที่ ๑ คนที่ ๓ ก็ว่ายง่ายกว่าคนที่ ๒ กับการวิ่งเองก็เช่นกัน

จากนั้นโค้ชก็สั่งเลื่อนหินก้อนหน้าไปไว้ข้างหลังสุด หินก้อนสองขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งนำ สักพักก็สั่งให้เลื่อนหินก้อนสองไปอยู่ข้างหลังสุด ทำซ้ำแบบนี้กับหินทุกก้อนที่เหลือ

นี่คือการเปลี่ยนสลับของหัวแถว แบ่งผลัดกันรับในทีมจักรยานโรดเรซ หัวแถวจะเบี่ยงทางลมและรั้งกลุ่มเอาไว้ หลังจากนั้นคนข้างหลังที่สะสมพลังไว้ก็จะขึ้นมาเป็นหัวแถวแทน เวียนไปแบบนี้ เป็นหลักสำคัญของการปั่นแบบทีม และเป็นพื้นฐานของการแข่งขันจักรยานถนนในหนังเรื่อง Shakariki ! สิงห์นักปั่น

แต่การแข่งขันจักรยานในไตรกีฬานั้นแตกต่าง ไตรกีฬาไม่ได้ออกแบบมาให้แข่งขันดวลกันในรูปแบบทีมที่มีจักรยานหลายคัน

ไตรกีฬามีเพียงกลุ่มผู้นำ และกลุ่มผู้ตาม หากสมาชิกอยากให้ “เรา” ทำเวลาได้ดี ก็ต้องคอยช่วยเหลือกัน

ในการ “จี้บัง” หรือที่เรียกว่า ดราฟต์ (draft)

เรื่องหนึ่งที่เชือดเฉือนกันในช่วงขี่จักรยานก็คือการดราฟต์นี่เอง

“มันต้องงัดเอาสารพัดเทคนิคออกมาใช้”

สรานนท์เล่าถึงสิ่งที่เขาและเพื่อนกลุ่มผู้นำทั้งสามได้เผชิญ

“จากช่วงว่ายน้ำที่เรากับเพื่อนชาวมาเลเซียถูกนำ พอไล่ขึ้นมาทันกันในช่วงขี่จักรยาน เราทั้งสามคนก็ต้องมาช่วยกันดราฟต์ คราวนี้ใครจะอยู่หน้า ใครจะอยู่หลัง ต้องทำความเข้าใจกันให้ดี ถ้ามัวแต่เกี่ยง
ไม่ช่วยกัน ผลัดขึ้นไปขี่นำแล้วไม่ออกแรง กลุ่มที่ตามมาทำงานร่วมกันดี มีทีมเวิร์กมากกว่า ก็อาจจะไล่พวกเราทันได้ จากที่คู่แข่งมีกันอยู่สามคน ช่วงวิ่งจะได้ออกตัวก่อน ก็จะกลายเป็นว่ามีคู่แข่งเพิ่ม ทั้งที่รางวัลมีให้แค่สามอันดับ”

สรานนท์ยกตัวอย่างเหตุการณ์ในช่วงระยะ ๔๐ กิโลเมตร

“ปรกติเวลาดราฟต์ ถ้าคนแรกขึ้นไปนำเป็นระยะทางครึ่งกิโล คนต่อมาก็จะขี่นำแค่ครึ่งกิโลเหมือนกัน เมื่อครบระยะก็จะผลัดให้เพื่อนขึ้นไปนำบ้าง แต่ถ้าคนที่ปั่นนำเริ่มรู้สึกเหนื่อย ปั่นแค่ ๒๐๐ เมตรแล้วถอยลงมา คนต่อมาก็จะปั่นแค่ ๒๐๐ เมตรเหมือนกัน เรียกว่าไม่มีใครยอมใคร พยายามจะให้เท่าเทียมกัน ไม่กินแรง

สรานนท์เล่าต่อว่า…

“ทีนี้มันจะมีเรื่องดราม่า เช่นแกล้งทำหน้าตาว่าเหนื่อยสุด ๆ หายใจส่งเสียงดัง ตะโกนบอกว่ากูเหนื่อยนะ เดี๋ยวถึงช่วงวิ่งกูวิ่งไม่ไหว มึงมาขึ้นนำแทนหน่อยได้มั้ย สารพัดวิธีที่จะเอามาหลอกล่อกัน”

บางช่วงถ้าเห็นว่าคนข้างหน้าเล่นละครมากเกินไป หรือเริ่มสงสัยว่าหมดแรงจริงหรือไม่ เพราะเวลาขี่นำขี่ช้ามาก อีกสองคนที่เหลือก็อาจจะเตี๊ยมกัน ได้จังหวะแล้วก็ส่งสัญญาณปั่นหนีเลย

“คือถ้าเป็นภาระ พวกกูก็จะสลัดมึงทิ้ง เพราะพวกกูสองคนอยู่กับมึงแล้วช้า พวกกูไปกันเองดีกว่า เหลือแค่สองคนที่จะวิ่งแข่งกัน แต่ถ้าสองคนทิ้งไปแล้วปรากฏว่าอีกคนหนึ่งยังตามมาทัน อ้าว ! ก็แสดงว่ามึงยังไหว ขึ้นไปช่วยดราฟต์เลย”

แม้ต้องเจอทั้งแดดฝน เวลาร้อนก็ร้อน เวลาหนาวก็หนาว นักไตรกีฬาก็บอกว่านี่คือกีฬาที่สนุก ยิ่งเมื่อได้พบคู่ต่อสู้ที่สูสี

“เวลาปั่นสวนกับกลุ่มที่ตามมา ก็ต้องสร้างความกดดันด้วยการปั่นเร็ว ๆ เหมือนยังมีแรง คู่แข่งเห็นก็จะเสียกำลังใจ คิดว่า เฮ้ย พวกนั้นมันทำงานกันดี นี่เราเหนื่อยจะตายอยู่แล้ว มันไม่เหนื่อยบ้างเลยเหรอ จิตก็ตก คิดว่าคงไล่ไม่ทัน”

ผู้นำสามหนุ่มทำงานร่วมกัน สลับตำแหน่งเป็นผู้นำผู้ตาม เรี่ยวแรงถูกใช้เพื่อกันและกันไปตลอดทาง จนเข้าสู่ช่วง ๑๐ กิโลเมตรสุดท้าย

เมื่อเข้าสู่เขตตีนเขาลูกที่เคยผ่านมาแล้ว จากตำแหน่งนี้จะเหลือระยะทางอีกประมาณ ๕ กิโลเมตร ทั้งสามเริ่มคิดถึงการแยกตัวออกจากกลุ่ม พุ่งทะยานหนีไป เพื่อให้ได้เข้าทรานซิชันก่อนใคร และออกวิ่งก่อนเป็นคนแรก

“ใครที่คิดว่าตัวเองยังมีแรงเยอะ พอที่จะปั่นเร่งเครื่องฝืนแรงต้านขึ้นเขา จะหาทางหนีออกจากกลุ่มหลังจากที่ช่วยกันมาตลอดทาง เพราะเมื่อลงจากเนินแล้วจะเหลือทางอีกแค่ ๕ กิโลเมตรเท่านั้น ไปคนเดียวต้องต้านลมก็ไม่ใช่อะไรที่น่ากลัว ไม่เหมือนตอนขามาที่เหลือระยะทางอีกเกือบ ๔๐ กิโลเมตร

สรานนท์เล่าว่า “ผมเองก็เหมือนกัน”

ได้จังหวะเขาก็ลองเร่งเครื่อง เปรี้ยง ! เปลี่ยนเกียร์แล้วสปีดฉีกหนีออกจากกลุ่ม ปรากฏว่าหนีไปได้ไม่กี่ร้อยเมตรเท่านั้นก็ต้องยอมจำนน ลดความเร็วกลับมาอยู่ร่วมกลุ่มเหมือนเดิม

“มาช่วยกันดราฟต์เหมือนเดิมดีกว่า”

สรานนท์บอกว่าการออมแรงไว้ ไม่ได้หมายความว่าเราแพ้ หากรู้จักออมแรง ขณะที่คู่แข่งขันใส่ร้อยเต็ม ถึงเขาจะแซงเราก่อน แต่ถึงช่วงวิ่งเขาอาจจะหมดแรงก่อนก็ได้ เสร็จจากขี่จักรยาน ๔๐ กิโลเมตรแล้วยังต้องมีแรงวิ่ง นักไตรกีฬาที่ฉลาดจะรู้จักเก็บหอมออมแรงไว้ ไตร่ตรองว่ายังมีอีก ๑๐ กิโลเมตรให้วิ่งแซงทีหลัง

การขี่จักรยานนำไม่กี่วินาที เข้าเส้นชัยจักรยานก่อนเพื่อน แต่พอถึงช่วงวิ่งแล้ววิ่งไม่ไหวก็ไม่คุ้มกัน

“ใช่ว่าคนที่เร็วกว่าจะชนะ แต่คือคนที่เป็นนักวางแผนว่าจะว่ายน้ำแบบไหน ปั่นจักรยานอย่างไร รู้จักออมแรงไว้กับตัวอย่างพอดี แต่ถ้าออมแรงมากเกินไปก็จะขี่จักรยานช้า ขี่เร็วไปถึงเวลาวิ่งกำลังขาก็หมด หรือร่างกายสะสมกรดจนเป็นตะคริว”

ไตรกีฬาที่ถูกมองว่าเป็นกีฬาคนอึด บ้าพลัง กลับต้องคิดให้มาก ต้องใช้สมองวางแผนอย่างหนักหน่วง รวมถึงต้องใช้เล่ห์เพทุบาย จะใช้แรงอย่างเดียวไม่ได้

โรดไบก์ – เสือหมอบ เบาดุจขนนก โฉบเฉี่ยวดุจสายฟ้า จะถูกรีดเค้นเต็มศักยภาพ ก็ต่อเมื่อได้โอกาสอยู่กับผู้ที่ใช้มันเป็น

triathlon05 triathlon06

วิ่ง

๓.๘๖ | ๑๘๐.๒๕ | ๔๒.๑๙๕ กิโลเมตร
ไอรอนแมน เวิลด์ แชมเปียนชิป ๒๕๕๓,
โคนา ฮาวาย สหรัฐอเมริกา
ระยะทางรวม ๒๒๖.๓๐๕ กิโลเมตร

ไอรอนแมน เวิลด์ แชมเปียนชิป หรือที่เรียกกันว่า “ไอรอนแมน” เป็นทั้งกีฬาและเกมชีวิต ผู้ชนะรายการนี้จะได้ชื่อว่าเป็นยอดมนุษย์เหล็กที่มีความอดทนและแข็งแกร่งมากที่สุดในโลก

จะมีบททดสอบใดวัดความแข็งแกร่งทั้งสภาพร่างกายและจิตใจได้มากเท่าการว่ายน้ำ ๓.๘๖ กิโลเมตร ต่อด้วยขี่จักรยาน ๑๘๐.๒๕ กิโลเมตร ปิดจ๊อบด้วยการวิ่ง ๔๒.๑๙๕ กิโลเมตรเท่าระยะเต็มมาราธอน (full marathon)

นี่คือระยะของคนเหล็กโดยแท้

แม้เป็นด่านโหด สุดหิน ยากจินตนาการว่าผู้ชนะจะมีหน้าตาอย่างไร แต่ก็เป็นที่ฝันใฝ่ของนักไตรกีฬาจากทั่วโลก เรียกว่าครั้งหนึ่งในชีวิต ขอมีโอกาสเข้าร่วมไอรอนแมนที่โคนา ฮาวาย สักครั้ง

ธรรมชาติของเส้นทางที่ใช้แข่งขันไตรกีฬาจะแตกต่างกันไปทุกครั้ง ไม่มีการแข่งขันครั้งไหนที่เหมือนกัน และระยะทางใกล้ไกลก็เป็นไปตามที่ผู้จัดงานกำหนด

นักไตรกีฬาจึงมีสนามให้เลือกทดสอบศักยภาพ

International Triathlon Union แบ่งไตรกีฬาออกตามระยะทางดังนี้

ระยะสั้นหรือระยะสปรินต์ (sprint distance) ประกอบด้วยว่ายน้ำ ขี่จักรยาน และวิ่ง ๐.๗๕ | ๒๐ | ๕ กิโลเมตรตามลำดับ

ระยะมาตรฐาน (intermediate หรือ standard distance) อันเป็นระยะที่ยึดถือกันในการแข่งขันโอลิมปิกสากล คือ ๑.๕ | ๔๐ | ๑๐ กิโลเมตร

เหนือขึ้นไปจากมาตรฐานโอลิมปิกเรียกว่า “ลองคอร์ส” หรือรู้จักกันในชื่อ ฮาล์ฟไอรอนแมน คือ ๑.๙๓ | ๙๐ | ๒๑.๑ กิโลเมตร

และที่สุดของที่สุด คือระยะอัลตรา (ultra distance) หรือไอรอนแมน ๓.๘๖ | ๑๘๐.๒๕ | ๔๒.๑๙๕ กิโลเมตร

จเร เจียระไน ยอดนักไตรกีฬาชาวไทยที่เคยไปพิชิตชัยในไอรอนแมนที่โคนามาแล้วเล่าว่า

“เมื่อว่ายน้ำเสร็จ ขึ้นฝั่งมาแล้วยังมีแรงไปต่อได้สบาย แต่จักรยานพอปั่นไป ๑๓๐ กิโลเมตร ไม่รู้เหมือนกันว่าแรงหายไปไหน อยู่ ๆ แรงหายไป แต่ก็ต้องปั่นไปเรื่อย ๆ จนครบ ๑๘๐ กิโลเมตร ต้องใช้ใจ ใช้ positive คือการคิดในแง่บวกว่าเราทำได้ เราทำได้

“พอปั่นเสร็จก็ต่อวิ่งอีกในระยะมาราธอน โอ้โฮ ๑๐ กิโลเมตรแรกนี่เหนื่อยมาก เหนื่อยแบบขาลาก วันนั้นที่ไปแข่งคือว่ายน้ำ ๓.๘ กิโลเมตร จักรยาน ๑๘๐ กิโลเมตร ใช้เวลาไปแล้วประมาณ ๖ ชั่วโมง เป็น ๖ ชั่วโมงที่ร่างกายทำงานหนักตลอดเวลา ไม่ธรรมดา พอวิ่งได้ ๑๐ กิโลเมตรแล้วหิวมาก จุดให้น้ำมีทุก ๒ กิโลเมตร มีอาหารคือขนมปัง น้ำ น้ำเกลือแร่ เกลือ ผลไม้ ผมก็หยุดกิน ฟองน้ำ น้ำแข็ง เอาอาบน้ำราดตัว เวลาวิ่งมันร้อนเพราะปล่อยตัว ๗ โมงเช้า ได้วิ่งช่วงบ่าย ทั้งเหนื่อย ทั้งหิว ทุก ๒ กิโลเมตรหยุดกินแล้วก็ยอมเดินบ้างวิ่งบ้าง ถ้าตะคริวกินขาก็หยุด ฉีดสเปรย์ เริ่มหายแล้วไปต่อ”

จเรกระตุ้นตัวเองอยู่ตลอดว่าจะหยุดตอนนี้ไม่ได้

“คิดในใจว่าเรามาไกลแล้วนะ โคนา ฮาวาย มันไม่ได้มาง่าย ๆ ต้องผ่านควอลิฟาย ต้องผ่านการคัดเลือก มาตั้งไกล ต้องไปให้จบสิ”

ระยะทางร่นเข้าใกล้เส้นชัยเข้าไปทุกที แล้วที่สุดยอดคนก็ทำได้

“ถึงเส้นชัยนี่หายเหนื่อยเลยครับ ลืมความเหนื่อยยากหมดสิ้น ดีใจมาก ดีใจได้เหรียญมา นี่แหละคือความสำเร็จ ได้เข้าเส้นชัยไอรอนแมน ไม่ใช่เรื่องง่าย ได้ทำสำเร็จในความตั้งใจที่ต้องการจะไปแข่ง ไปแล้วถึงเส้นชัย อันดับไม่ต้องพูดถึงเพราะมันคัดเลือกชั้นหัวกะทิมาจากทั่วโลก”

คริส แม็กคอร์มัก (Chris McCormack) หรือ แม็กกา (Macca) นักไตรกีฬาชาวออสเตรเลียก็เช่นเดียวกัน หลังคว้าแชมป์นับครั้งไม่ถ้วนในบ้านเกิด เขาก็มุ่งมั่นเข้าแข่งรายการไตรกีฬาอันเป็นที่สุดของที่สุดที่โคนา

ว่ากันว่าสาเหตุที่ “อภิมหาโคตรไตรกีฬา” ที่โคนาได้รับการยอมรับ ได้รับความนิยมอย่างสูง เพราะดินแดนที่โผล่พ้นน้ำกลายเป็นเกาะกลางมหาสมุทรแปซิฟิก เปรียบดั่งสนามเหย้าของกีฬากลางแจ้งประเภทแอดเวนเจอร์ ที่เน้นแข่งด้วยระยะทางไกล ๆ

ที่ฮาวายมีการแข่งขันว่ายน้ำ Waikiki Roughwater Swim ระยะทาง ๒.๔ ไมล์ หรือ ๓.๘ กิโลเมตร มีการแข่งขันจักรยาน Oahu Bike Race ระยะทาง ๑๑๒ ไมล์ หรือ ๑๘๐ กิโลเมตร รวมทั้งมีการแข่งขันวิ่งฮาวายมาราธอนระยะทาง ๔๒.๑๙๕ กิโลเมตรด้วย

เมื่อ ค.ศ. ๒๐๐๒ ปีแรกที่แม็กกานักไตรกีฬาได้สิทธิ์ลงแข่งไอรอนแมนที่โคนา ผลการแข่งขันออกมาว่าเขา “ดีเอ็นเอฟ” (DNF – Do Not Finish) หมายถึงการออกจากการแข่งขันกลางคัน หรือ “ไม่สิ้นสุด” การแข่งขันนั่นเอง

ปีต่อมาเขากลับมาแก้ตัว ลงว่ายน้ำ ขี่จักรยาน และวิ่ง เข้าเส้นชัยในอันดับที่ ๕๙ จากผู้เข้าแข่งขันร่วม ๒,๐๐๐ คน

แม็กกาลงแข่งไอรอนแมนต่อเนื่องหลังจากนั้น ปีต่อมาเขาดีเอ็นเอฟเป็นหนที่ ๒

ปีต่อมาเขยิบอันดับขึ้นมาอยู่ที่ ๖

ค.ศ. ๒๐๐๕ ในหมู่คนนับพันมีผู้เข้าเส้นชัยเร็วกว่าเขาเพียงคนเดียวเท่านั้น หมายความว่าเขาคว้าตำแหน่งรองชนะเลิศ

หลังอดทนกับการฝึกซ้อมตลอด ๕ ปี ชีวิตที่มีเพียงการซ้อม ซ้อม และซ้อมอย่างหนัก

ค.ศ. ๒๐๐๗ คนเหล็กจากออสเตรเลียก็คว้าแชมป์ไอรอนแมน เวิลด์ แชมเปียนชิปแรกมาครอง แม็กกาใช้เวลา ๘ ชั่วโมง ๑๕ นาที จากจุดเริ่มต้นถึงเส้นชัย นับเฉพาะช่วงการวิ่ง ๔๒.๑๙๕ กิโลเมตร
เขาใช้เวลา ๒ ชั่วโมง ๔๒ นาที ถือเป็นสถิติอันน่าทึ่ง เพราะเขาเพิ่งผ่านการว่ายน้ำต่อด้วยขี่จักรยานมาร่วม ๒๐๐ กิโลเมตร !

อีก ๓ ปีต่อมา ค.ศ. ๒๐๑๐ แม็กกาคว้าแชมป์ไอรอนแมนเป็นหนที่ ๒ สร้างประวัติศาสตร์ให้ตัวเองและวงการไตรกีฬา

ในการแข่งขันครั้งนั้นเขากับเพื่อนนักไตรกีฬาได้สร้างเหตุการณ์ “สงครามคนเหล็ก” (Iron War) ขึ้นมาเป็นรอบ ๒

สงครามคนเหล็กเป็นชื่อเรียก “ช็อต” ที่เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อ ๒๑ ปีก่อน ในศึกไอรอนแมน ค.ศ. ๑๙๘๙ วันนั้น เดฟ สกอตต์ (Dave Scott) และ มาร์ก อัลเลน (Mark Allen) สองนักไตรกีฬาผู้ยิ่งยงวิ่งตีคู่กันมาในช่วงสุดท้าย

หลังจากว่ายน้ำ ขี่จักรยาน แล้วก็มาวิ่งคู่กัน – ใช่ว่าจะเกิดขึ้นง่าย ๆ

มันหมายความว่าคนสองคนมีพละกำลัง ความทรหดอดทนที่ทัดเทียม ทั้งยังมีขนาดหัวใจที่ใกล้เคียงกันด้วย

หลังหยิบยื่นน้ำดื่มให้กัน และราดน้ำรดลงบนอก ดับร้อนเครื่องยนต์ที่อุณหภูมิพุ่งขึ้นสูงสุดจนเข้าใกล้จุดฮีต

มาร์ก อัลเลน ก็เร่งเครื่องฉีกหนี เข้าเส้นชัยก่อน เดฟ สกอตต์ ในไม่กี่นาทีหลังจากนั้น

ภาพการพูดคุยกันก่อนถึงเส้นชัยกลายเป็น sportsmanship moment ที่ยิ่งใหญ่ในวงการไตรกีฬา

แล้วฉากชีวิตที่คล้ายคลึงกับ Iron War เมื่อ ๒๑ ปีก่อนก็เกิดขึ้นซ้ำในโค้งสุดท้ายของไอรอนแมน เวิลด์ แชมเปียนชิป ค.ศ. ๒๐๑๐

ช่วง ๙.๖ กิโลเมตรก่อนถึงเส้นชัย

ผู้นำอย่างแม็กกาเป็นตะคริวที่ท้อง จึงถูก แอน-เดรียส์ แรเลิร์ต (Andreas Raelert) ที่วิ่งตามมาเป็นอันดับ ๒ จี้ก้นเหลือเพียง ๑๐ วินาทีเท่านั้น

แล้วแรเลิร์ตก็เร่งเครื่องขึ้นมาเคียงบ่าเคียงไหล่กันจนได้ ทั้งสองตีคู่กันไปบนเส้นทางที่จะนำใครสักคนหนึ่งสู่รางวัลเกียรติยศ

แม็กกาเหงื่อแตกพร่า แรเลิร์ตก็อ่อนแรงไม่น้อยไปกว่ากัน แต่แล้วความเหน็ดเหนื่อยอย่างสุดกำลังก็สร้างฉากอันน่าจดจำของสองไอรอนแมน

ท่ามกลางสภาพอากาศร้อนระอุของฮาวาย

แม็กกาหยิบฟองน้ำมาบีบราดตัว เขารู้ดีว่านี่เป็นการแข่งขันที่หินเกินคนธรรมดาจะแบกรับไหว มีหลายคนแล้วต้องออกไปจากการแข่งขัน เขาส่งฟองน้ำต่อให้แรเลิร์ตผู้เป็นคู่แข่ง

แรเลิร์ตรับมาบีบน้ำลงศีรษะช้า ๆ เพื่อดับร้อน แล้วยื่นมือไปจับกับแม็กกา และตบเบา ๆ ที่สะโพก

บนเส้นทางแสนทรหด ใช่มีแต่การเอาชนะคะคานกัน

สปิริตและมิตรภาพถูกสร้างขึ้นจากการแข่งขัน จากการวิ่งไล่กันก้าวต่อก้าวนี่เอง

เวลานั้นอกเสื้อไตรกีฬาของทั้งสองถูกแบะออกอยู่แล้วเพื่อระบายอากาศ แม็กกาในชุดไตรกีฬาสีแดงหันไปหาคู่แข่งในชุดขาว

“มันคล้ายสงครามคนเหล็ก”

และเขาพูดอีกประโยคหนึ่งว่า

“ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม สหาย คุณคือแชมป์อย่างไม่มีข้อกังขา”

แล้วทั้งสองคนก็ก้มหน้าก้มตาทำหน้าที่ของตัวเองต่อไป

ถึง ๑.๖ กิโลเมตรสุดท้าย

แม็กการีดเค้นพลังก๊อกสุดท้าย แรเลิร์ตเองก็เหมือนกัน ยังคงตามติดอย่างกัดไม่ปล่อย

แม็กกาพยายามเร่งฝีเท้า แรเลิร์ตเองก็สู้สุดใจ ใครจะยอมแพ้ง่าย ๆ กัดฟันสู้มาตั้ง ๗-๘ ชั่วโมง

ในความตื่นเต้นของกองเชียร์ที่รอให้กำลังใจ ยืนเรียงเป็นตับแน่นขนัดก่อนถึงเส้นชัย คาดเดาไม่ได้ว่าใครจะเข้าเส้นชัยก่อนกัน

แม็กกาเหลียวหลัง แรเลิร์ตอยู่ห่างจากเขาไปทุกที

เวลาคล้ายหยุดนิ่ง
ทั้งที่ความจริงมีแต่เดินหน้า
จากหนึ่ง
สู่สอง
สาม สี่ ห้า…นับตั้งแต่จุดปล่อยตัวแล้ว
จากสายน้ำเชี่ยวกลางแม่น้ำโขง ถึงสายลมร้อนบนเกาะฮาวาย
เงาเคยทอดยาวหดสั้น
แล้วทอดยาวออกไปอีกครั้ง

ทั้งคู่เข้าเส้นชัยในเวลาไล่เลี่ยกัน ได้รับความสุขล้นปรี่จากการแข่งขันที่จบลงด้วยตำแหน่งผู้ชนะและรองชนะเลิศ

สงครามคนเหล็กสิ้นสุดลง

แม็กกาเข้าเส้นชัยก่อนแรเลิร์ต ๑ นาที ๔๐ วินาที คว้าแชมป์ไอรอนแมนไตรกีฬาอีกเป็นหนที่ ๒

เวลาที่ได้รับการบันทึกสถิติคือ ๘ ชั่วโมง ๑๐ นาที ๓๗ วินาที–ที่คนคนหนึ่งได้ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน และวิ่ง ชนิดที่แทบจะไม่มีการหยุดพัก

ยืดอกผ่านเส้นชัย

จุดเริ่มต้นการเดินทางครั้งใหม่ของคนเหล็ก

ขอขอบคุณ

  • ชุมพล ครุฑแก้ว ยากนิยามเขาว่าอย่างไรดี นักวิ่งหรือนักไตรกีฬา
  • สรานนท์ จันทราช ดาวรุ่งผู้กำลังส่องสว่างอยู่กับเส้นทางที่ต้องสู้
  • ธเนศ กิตติพรพานิช และทีมงาน ผู้คร่ำหวอดเรื่องการจัดการแข่งขันไตรกีฬาทั่วประเทศ

 

  • รักชนก ไชยรัตน์ ผู้แนะนำให้รู้จักการวิ่ง และเขียนสารคดีเรื่องวิ่งเมื่อปีที่แล้ว
  • สำนวนจักรยาน “เบาเหมือนขนนก” นำมาจากหนังสือ What I talk about when I talk about running (เกร็ดความคิดบนก้าววิ่ง, นพดล เวชสวัสดิ์ แปล) ของเขา
  • ฮารูกิ มูราคามิ (Haruki Murakami) นักเขียนนักวิ่งชาวญี่ปุ่น
  • ฝ่ายภาพ สารคดี กับการทำงานร่วมกันในระยะทางเกิน ๖๐ กิโลเมตร (หลายครั้ง) ของการแข่งขันไตรกีฬา

 

“รู้จักสงครามไตรกีฬา (Iron War) แม็กกา (Macca) และสหาย” โดยพิมพ์ It’s like the iron war ! ในช่องค้นหาของยูทูบ