สมุทรบันทึก “ปากบารา” ก่อนการมาถึงของท่าเรือน้ำลึก
ชื่อ “ปากบารา” อาจฟังดูไม่คุ้นหู แต่เชื่อว่าหลายคนคงเคยได้ยินชื่อเกาะตะรุเตา หรือเกาะหลีเป๊ะ สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดสตูล จังหวัดเล็ก ๆ ที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ตั้งอยู่สุดปลายด้ามขวานฝั่งทะเลอันดามัน ที่ยังคงสภาพ “สงบ สะอาด ธรรมชาติบริสุทธิ์” เศรษฐกิจชุมชนค้ำยันด้วยทรัพยากรท้องถิ่น ทั้งการประมงที่เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ อุตสาหกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์เกษตร และการท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง
วันนี้มรสุมแห่งการเปลี่ยนแปลงกำลังตั้งเค้า เตรียมเข้าจู่โจมจังหวัดสตูล ด้วยความพยายามผลักดันโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา ท่าเรือขนาดใหญ่ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ “สะพานแผ่นดิน” เชื่อมทะเลฝั่งอันดามันและอ่าวไทย กุญแจดอกแรกที่จะไขสู่การพัฒนาภาคใต้ให้เป็นเขตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่
ก่อนจะเลือกเดินไปบนเส้นทางสายการพัฒนาที่กำหนดนโยบายลงมาโดยรัฐ ลองมาทำความเข้าใจกับพื้นที่และความรู้สึกของชุมชนที่อาศัยรอบอ่าว “ปากบารา” เพราะทางแยกข้างหน้านำไปสู่ปลายทางที่ต่างกันสุดขั้ว ระหว่างการรักษาทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ที่กำลังจะกลายเป็น “มรดกโลก” กับการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกที่ยังตอบไม่ได้ว่าจะคุ้มค่าทางเศรษฐกิจหรือไม่
กลางสายน้ำแห่งชีวิต
คนเคยสัมผัสแม่น้ำเจ้าพระยา (ตอนล่าง) คงคุ้นตากับภาพเรือโยงขบวนยาวแล่นอ้อยอิ่งขึ้น-ล่องลำน้ำไปตามแรงลากของเรือยนต์ลำเล็ก-แต่เครื่องแรง
ใครอาจสงสัยหรือไม่สงสัยกับอะไรต่อมิอะไรภายในโลกลอยน้ำเหล่านั้น แต่ พงศธร ธิติศรันย์ (นักเขียน) และ ชัชวาล มีเพียร (ช่างภาพ) สนใจใคร่รู้ เขาจึงพากันออกไปร่วมทางและเก็บเกี่ยวเรื่องราวมาเล่าไว้แล้วเพียงเปิดไปที่หน้า ๑๓๒ ของ สารคดี เล่มนี้ ผู้อ่านจะได้รู้เรื่องในโลกใบเล็กบนผืนน้ำอย่างละเอียด–ในนั้นเป็นทั้ง “บ้าน” และ “ที่ทำงาน” ของคนกลุ่มหนึ่ง-ซึ่งไม่อยู่กับที่
และนี่คือผลงานของนักสารคดีรุ่นใหม่ จากค่ายสารคดีครั้งที่ ๑๐ ชิ้นส่งท้าย ก่อนไปสู่ค่ายสารคดีครั้งที่ ๑๑ ช่วงปลายเดือนนี้