เรื่อง : สุชาดา ลิมป์  ภาพ : ภคณัฐ ทาริยะวงศ์

หลายคนอาจยังไม่รู้ หรือหากรู้ก็ต้องแปลกใจ

เมื่อวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๕๘ เว็บไซต์ของ International Living Magazine (นิตยสารสำหรับผู้เกษียณอายุซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ในสหรัฐอเมริกาและแคนาดา) รายงานว่าประเทศไทยติด “อันดับ ๑๐ ประเทศน่าอยู่ที่สุดในโลก” ของคนวัยเกษียณ ด้วยเหตุผลว่าเป็นประเทศที่ค่ารักษาพยาบาลถูกเมื่อเทียบกับคุณภาพที่ได้รับ มีวัฒนธรรมความเป็นอยู่ที่เป็นมิตร และที่อยู่อาศัย-ค่าครองชีพต่าง ๆ ไม่แพง โดยอ้างอิงผลสำรวจจากกลุ่มชาวต่างชาติในประเทศแถบเอเชีย ยุโรป อเมริกา ตลอดปี ๒๕๕๗

เชื่อเถอะ ถ้ามีการสำรวจผู้สูงอายุที่มีคุณภาพชีวิตดีที่สุดในโลกโดยใช้ดัชนีชี้วัดจาก “ความสุข” คนไทยก็คงไม่แคล้วติดอันดับใกล้ ๆ ภูฏาน

เพราะแค่ลุงป้า-ตายายที่เราพบตามชนบทและในเมืองช่วง ๒ เดือนที่ผ่านมา ก็แสดงให้เห็นว่า ถึงอยู่ตรงไหนของประเทศ วัยชราก็อิ่มสุขได้

แค่หา “สิ่งที่ใช่” ของแต่ละคนให้พบแล้ว “เริ่มนับ ๐”

 


ปริญญาชิกๆ ฝันของบัณฑิตปัจฉิมวัย

พุธเช้าตรู่กลางเดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๗ คือวัน Back to School ของนักเรียนบนดอยสะเก็ด

รถสองแถวสีขาวสำหรับรับ-ส่งนักเรียนจอดเทียบหน้าอาคารศรีศุภอักษร ๒๕๕๓ ในเขตวัดพระธาตุดอยสะเก็ด อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ เสียงทักทายยังเจื้อยแจ้วติดลมจากบนรถ บางคนเริ่มต่อแถวลงทะเบียนเรียนปีการศึกษาใหม่
ก่อนทยอยเข้าห้องประชุมให้อาสาสมัครในเขตตำบลตรวจสุขภาพ

ในบรรดานักเรียน ๒๐๐ กว่าคนนี้ รวมอายุแล้วไม่ต่ำกว่า ๑ หมื่นปี

ด้วยเกิดระหว่างยุคสงครามโลกครั้งที่ ๒ (ปี ๒๔๖๘-๒๔๘๘) และยุคบุปผาชนหลังสงคราม (ปี ๒๔๘๙-๒๕๐๗) บัตรประชาชนของนักเรียนส่วนใหญ่จึงปรากฏวันหมดอายุเดียวกันคือ “ตลอดชีพ”

ไม่น่าแปลกที่ปี ๒๕๕๓ ผลสำรวจสถานการณ์ผู้สูงอายุไทยจากคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติจะพบว่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาไทยเข้าสู่สังคมสูงวัยแล้ว และเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว (โดยเฉพาะวัย ๘๐ ปีขึ้นไป) จากร้อยละ ๑๒.๗ เป็นเกือบหนึ่งในห้าของประชากรสูงอายุทั้งประเทศ โดยเฉพาะเพศหญิงซึ่งมีสัดส่วนอายุยืนกว่าเพศชาย

๐๙.๐๐ น. นักเรียนชาย-หญิงสวมเสื้อขาวทอด้วยผ้าฝ้ายพื้นเมือง กระเป๋าเสื้อหน้าอกข้างซ้ายปักตรา “โรงเรียนชราบาลวุฒิวิทยาลัย” สะพายถุงผ้าฝ้าย มาพร้อมเพรียงกันที่สนามหญ้า

พ่ออุ๊ย-แม่อุ๊ยสุขภาพดีคู่หนึ่งได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนเชิญธงชาติขึ้นสู่ยอดเสา ไม่กี่นาทีถัดมาเสียงร้องประสาน “ประเทศไทยรวมเลือดเนื้อชาติเชื้อไทย…เถลิงประเทศชาติไทยทวีมีชัย ชโย” ก็ดังขึ้นและจบลง เป็นสัญญาณเริ่มต้นวันแรกของปีการศึกษาใหม่

บรรยากาศวันปฐมนิเทศในห้องประชุมชื่นมื่นด้วยไมตรีจากรุ่นพี่กว่า ๒๐ คนที่จบการศึกษารุ่น ๑ เมื่อปี ๒๕๕๖ สวมชุดครุยยืนตั้งแถวหันหน้าเข้าหา “เฟรชชี” ซึ่งทยอยเดินเรียงขบวนมาแทรกระหว่างกลางคล้ายพิธีลอดซุ้มกระบี่ เป็นการให้เกียรติ สร้างความภาคภูมิใจ และต้อนรับน้องใหม่ในคราวเดียว ผิดกันเพียงในมือของรุ่นพี่ถือกุหลาบสีแดงสดรอมอบให้น้องใหม่แทนกระบี่ ท่ามกลางเสียงดนตรีครึกครื้นและเนื้อเพลงแสดงความยินดีที่ได้รู้จัก เสริมสร้างแรงบันดาลใจให้น้องรุ่น ๒

ช่วงเวลาไม่กี่นาทีนี้ ลุง-ป้า ตา-ยายหลายคนยิ้มน้ำตาคลอ อ่อนไหวให้แก่มิตรภาพอบอุ่น

ชวนคิดว่านานแค่ไหนแล้วที่ศักยภาพของมนุษย์ตัวเล็กค่อย ๆ สูญหายเมื่อพวกเขาเติบใหญ่ พื้นที่วัยเด็กซึ่งควรจะได้เรียน-เล่นอย่างอิสระถูกแทรกแซงด้วย “สิ่งที่ต้องทำ” ตามความต้องการของผู้ใหญ่ โดยเฉพาะสังคมชนบทที่มีค่านิยมว่าลูกสาวไม่จำเป็นต้องเรียน ส่วนลูกชายอยากเรียนก็ได้แต่จะกตัญญูกว่าหากผ่อนภาระพ่อแม่ด้วยการช่วยทำงานหาเงินอย่างเต็มที่

“ฉันไม่เคยเรียนหนังสือหรอก ตอนยังเด็กแม่ไม่สบาย ฉันเป็นลูกสาวก็ต้องอยู่บ้านคอยปรนนิบัติกระทั่งแม่จากไป พอโตหน่อยก็แต่งงาน ตั้งแต่นั้นชีวิตฉันก็มีหน้าที่เลี้ยงลูกแปดคน”

แม่อุ๊ย ตา เมืองใจ ย้อนชีวิตวัยเยาว์ที่ถูกจำกัดโอกาสทางการศึกษา ก่อนจะย้ายจากถิ่นเกิดที่อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย มาอยู่กับสามีที่อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ และดำเนินชีวิตแต่ละวันภายในรั้วบ้านเช่นปรกติ ไม่เคยนึกว่าวันหนึ่งยุคสมัยจะเปลี่ยนสังคมครอบครัวให้เป็นไปอย่างต่างขั้ว

“ลูกสาวของฉันออกเรือนหมด ลูกชายคนเดียวจึงแต่งสะใภ้เข้าบ้าน หลานฉันเขาร่ำเรียนหนังสือ มีเพื่อนฝูง ลูกชายกับลูกสะใภ้ก็ออกไปทำงานแต่เช้ากลับค่ำทุกวัน สามีฉันเสียไป ๑๕ ปีแล้วเหลือแต่ฉันนี่ละที่อยู่บ้าน ครอบครัวฉันจน ลูกทำงานได้เงินพอใช้ไปวัน ๆ ฉันก็อาศัยเด็ดผักรอบบ้านมาทำกิน”

ไม่เพียงอยู่ตามลำพัง ผู้เฒ่าวัย ๗๙ ปียังคล้ายเป็นคนแปลกหน้าสำหรับลูกหลาน ด้วยเธอเติบโตจากสภาพสังคมโบราณ ไม่เข้าใจความต้องการของคนรุ่นใหม่ เช่นเดียวกับที่รู้สึกว่าคนในครอบครัวก็ไม่เข้าใจเธอ หลายคราวคิดเองว่าตนเป็นส่วนเกิน แม้ไม่ถูกตัดขาดการเลี้ยงดูแต่ก็ถูกละเลยความใส่ใจ

ปีที่แล้วนี้เองที่ความอ้างว้างได้รับการบรรเทาทุกวันพุธ เมื่อผู้ใหญ่บ้านบอกข่าวดีว่าจะมีโรงเรียนสำหรับผู้สูงวัยเกิดขึ้นในตำบล เพื่อนจากหมู่บ้านใกล้ ๆ จึงมาชักชวนให้แม่อุ๊ยสมัคร

“ตอนเปิดเรียนวันแรกฉันตื่นเต้นมาก ไก่ขันก็รีบตื่น (ราวตี ๓-ตี ๔) ลุกขึ้นมาล้างแก้วล้างช้อน สัก ๘ โมงก็ออกมายืนหน้าหมู่บ้านรอรถโรงเรียนมารับ มีเพื่อนจากหมู่บ้านอื่นนั่งไปด้วยเต็มคันเลย พอ ๙ โมงก็เคารพธงชาติพร้อมกัน ฉันร้องเพลงชาติเป็นนะ แบบนี้เหมือนอยู่ที่โรงเรียนจริง ๆ แล้วใช่ไหม”

แม่อุ๊ยหัวเราะน้อย ๆ ให้สถานที่ในอุดมคติ ซึ่งน่าจะใช่แบบเดียวกับที่หลานไปเรียนหนังสือทุกวัน ขณะสนทนาเธอเปิดกระเป๋านักเรียนอวดข้าวของในถุงผ้า มีทั้งถุงพลาสติกใสเก็บบัตรประชาชน ขวดน้ำ ยาประจำตัว ที่ขาดไม่ได้คือสมุดกับปากกาที่ต้องพกติดกระเป๋าเสมอ แม้เมื่อจบปีการศึกษาแล้วอาจไม่มีร่องรอยบันทึกสักตัวอักษรก็ตาม เพราะเธอเขียนหนังสือไม่เป็น

“ฉันไม่ได้อยากเรียนหรอก ไม่มีแรงจะเอาวิชาไปทำอะไรแล้ว แต่อยากมาฟังเทศน์หลังเคารพธงชาติ ได้เพื่อนใหม่ด้วย อยู่ที่โรงเรียนแล้วอุ่นใจ มีครั้งหนึ่งตาลาย มองอะไรไม่เห็น เจ้าหน้าที่ก็ช่วยพาฉันไปโรงพยาบาล ถ้าอยู่บ้านคนเดียวก็ไม่รู้จะเป็นอย่างไรเหมือนกัน”

จุดประสงค์ของแม่อุ๊ยตาก็เช่นเดียวกับนักเรียนส่วนใหญ่ แม้ทางโรงเรียนจะมีหลักสูตรอาชีพ สุขภาพ เทคโนโลยี และวัฒนธรรม ให้เลือกเรียนช่วงเช้า และยังเพิ่มชมรมดนตรีไทยกับแพทย์แผนไทยให้เรียนสนุกช่วงบ่าย แต่ดูเหมือน “การเข้าสังคม” ต่างหากคือสิ่งที่พวกเขาปรารถนา

นับว่ายังไม่ผิดจากเจตนารมณ์ของผู้ก่อตั้งโรงเรียนทางเลือกสำหรับผู้สูงวัยแห่งนี้นัก

“ผมเข้าใจดีว่าคนกลุ่มนี้มีเวลาว่างมากและต้องอยู่บ้านอย่างโดดเดี่ยว เพื่อนจะช่วยเติมเต็มบางช่วงเวลาของชีวิต เขาจะมาเรียนหรือเล่นก็ได้ เราอยากเห็นเขาออกจากบ้านมาร่วมนันทนาการบริหารสุขภาพจิตอย่างน้อยสัปดาห์ละวัน (โรงเรียนสอนเฉพาะวันพุธ) ลดอาการป่วย เครียด ซึมเศร้า”

เฉลิม สารแปง ผู้อำนวยการโรงเรียนชราบาลวุฒิวิทยาลัย และนายกเทศมนตรีตำบลเชิงดอย อำเภอดอยสะเก็ด หวังให้พ่ออุ๊ย-แม่อุ๊ยจำนวน ๑,๐๘๐ คน (จาก ๗,๐๐๐ กว่าคน) ในตำบลมีพื้นที่อบอุ่นให้แก่หัวใจเด็กในร่างชรา และมีโอกาสแสดงศักยภาพในกิจกรรมต่าง ๆ บนพื้นที่ที่เหมาะสม

ว่ากันตามจริงกลุ่มผู้สูงอายุที่เกษียณจากงานราชการจะได้สิทธิ์ดูแลด้านรายได้และการรักษาพยาบาลอยู่แล้ว  หากเป็นกลุ่มผู้สูงอายุยากไร้ก็ยังได้สวัสดิการด้านสถานสงเคราะห์และเบี้ยยังชีพรายเดือน  แต่ยังมีผู้สูงอายุทั่วไปอีกจำนวนมากซึ่งไม่ใช่อดีตข้าราชการและไม่ได้มีชีวิตถึงขั้นยากไร้ จึงเป็นเรื่องดีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้ความสำคัญแก่คนกลุ่มนี้ด้วย เพราะพวกเขาไม่เพียงเป็นพลเมืองส่วนใหญ่ ความสุขมวลรวมยังเป็นสิ่งชี้วัดคุณภาพในการพัฒนาชุมชนอย่างยั่งยืนอีกทางหนึ่ง

ในแต่ละปีผู้อำนวยการหนุ่มใหญ่วัยใกล้เกษียณจะจัดทัศนศึกษาให้แก่นักเรียนที่มาโรงเรียนสม่ำเสมอ ปีที่แล้วมีนักเรียนจำนวน ๑๐๐ คนได้ไปชมภาพยนตร์ที่ห้างสรรพสินค้าในเมืองเชียงใหม่ ผู้สูงวัยบางคู่แสดงความห่วงใยกันโดยจูงมือเข้า-ออกโรงภาพยนตร์ไม่ต่างจากคู่รักวัยรุ่น

ครั้นจบปีการศึกษานักเรียนโรงเรียนชราบาลวุฒิวิทยาลัยที่ลงชื่อเข้าเรียนครบ ๗๐ เปอร์เซ็นต์จะได้ร่วมกิจกรรมรับ “เกียรติบัตรปริญญาชีวิต บัณฑิตปัจฉิมวัย” โดยมี ดร. ดิสธร วัชโรทัย รองเลขาธิการพระราชวัง ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี พวกเขาจะได้สัมผัสบรรยากาศการถ่ายรูปชุดครุยอย่างรื่นเริงกับเพื่อน ๆ หรือญาติพี่น้องที่นำช่อดอกไม้มาร่วมแสดงความยินดี และมีรูปถ่ายของตนขณะรับเกียรติบัตรเป็นที่ระลึก ให้อารมณ์สมจริงไม่ต่างจากพิธีรับปริญญาบัตรของหนุ่มสาวบัณฑิตจากรั้วมหาวิทยาลัย

“ปีที่แล้วฉันมาโรงเรียนครบทุกวันพุธจึงได้สวมชุดรับปริญญา ครอบครัวฉันไม่เคยมีใครได้ใส่ชุดแบบนี้ แม้แต่ลูกชายก็เรียนจบแค่ ม. ๖ ตอนฉันให้เขาดูรูปที่ทางโรงเรียนอัดมาให้ เขายังดีใจกับแม่ด้วย”

รอยยิ้มหวานตามร่องลึกบนใบหน้าหญิงชรา สะท้อนหัวใจอิ่มสุขที่ได้เป็นตัวแทนความสำเร็จแรกของครอบครัว รู้สึก “มีตัวตน” ในสายตาลูก ด้วยเหตุนี้แม่อุ๊ยตาจึงสมัครเรียนอีกครั้งในปีนี้ พร้อมตั้งปณิธานว่าจะมาให้ครบทุกวันเพื่อรับประกาศนียบัตรหลักสูตรขั้นสูงซึ่งทางโรงเรียนอุปโลกน์เป็นระดับปริญญาโท และจะมาสมัครเรียนปริญญาเอกอีกในปีหน้า หากยังมีลมหายใจ

เพราะหลายสิ่งที่โหยหามาทั้งชีวิต…เริ่มต้นแล้วที่นี่


Baby Boomer & Digital

เกือบลืมไปว่าในกรุงเทพฯ ยังมีผู้ใช้โทรศัพท์มือถือแบบตัวหนังสือชัดเจน ปุ่มกดใหญ่ ๆ

หลายปีมานี้ภาพคนแก่ล้าหลังเทคโนโลยีเริ่มกลายเป็นฉากเล็ก ๆ ในสังคมเมือง

ด้วยกิจวัตรที่แตกต่างจากคนชนบท ไม่เพียงที่อยู่อาศัยจะไม่เอื้อต่อการทำกิจกรรมนั่นนี่ตลอดวัน และบางคนไม่นิยมมีสังคมนอกบ้านจึงเหลือกิจกรรมให้ทำน้อยลงอีก ครอบครัวเล็กที่อยู่กันเพียงสามี-ภรรยายังชวนเหงาในวันที่ชีวิตเข้าสู่วัยเกษียณ บ้านไหนมีลูกคนเดียวก็มีเรื่องให้คิดถึงห่วงใยได้ทั้งวัน บางบ้านแม้ได้อยู่กับลูกหลานกลับไม่ต่างจากอยู่คนเดียวเพราะพูดคุยคนละภาษา

ผู้สูงวัยยุคนี้ส่วนใหญ่เกิดหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ รัฐบาลทั่วโลกจึงส่งเสริมให้เพิ่มจำนวนประชากรทดแทนผู้ที่ล้มตาย เพื่อเป็นกำลังฟื้นฟูประเทศให้กลับมาแข็งแกร่ง นำมาสู่ปรากฏการณ์ Baby Boom แล้ว ๒๐ ปีต่อมาก็รณรงค์ให้ประชาชนทั่วโลกคุมกำเนิด เหล่า Baby Boomer จึงกลายเป็นพลเมืองกลุ่มใหญ่ที่ประสบปัญหาช่องว่างระหว่างวัยกับทารกรุ่นถัดมา

นับแต่ Baby Boomer คนแรกเข้าสู่วัยเกษียณในปี ๒๕๔๙ ปัญหาเศรษฐกิจ-สังคมต่าง ๆ ก็ฉายชัด ทารกรุ่นหลัง Baby Boomer (ปี ๒๕๐๘-๒๕๒๒) ได้รับการจัดให้อยู่ในยุค Generation X ซึ่งเติบโตในสภาวะที่เศรษฐกิจโลกมั่นคง-มั่งคั่ง เริ่มใช้ระบบคอมพิวเตอร์ เข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์  เพียงทศวรรษครึ่งทารกรุ่น Generation Y (ปี ๒๕๒๓-๒๕๔๐) ก็ถือกำเนิดท่ามกลางความรุดหน้าของเทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ต หลงใหลวิถีชีวิต IT ที่อำนวยความสะดวกสารพัด และส่งต่อไลฟ์สไตล์อันทันสมัยสู่รุ่น Genertion Z (ปี ๒๕๔๐-ปัจจุบัน) เด็กรุ่นใหม่ยุคนี้จึงมีพฤติกรรมใช้โทรศัพท์มือถือแต่วัยเยาว์ เรียนรู้สื่อออนไลน์ต่าง ๆ ได้รวดเร็วโดยไม่ต้องใช้ความพยายาม

เหล่า Baby Boomer ในเมืองที่มีสภาพการเงินดีและไม่อยากเหินห่างครอบครัว จึงต้องเริ่มศึกษาเทคโนโลยีแบบเดียวกับลูกหลาน เพื่อข้ามผ่านปัญหาช่องว่างระหว่างวัย

“เพื่อน ๆ ป้ายังกลัวการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ กลัวทำพัง กลัวอ่านภาษาอังกฤษไม่ออก คนรุ่นป้าส่วนใหญ่เรียนจบแค่ ป. ๔ ภาษาอังกฤษไม่กระดิกเลย ป้าก็อาศัยดูไอคอนรูปต่าง ๆ พอเข้าใจได้โดยไม่ต้องจำ”

ศิริพร อำพลพิทยานันท์ หยิบแท็บเลตสวมเคสสีแดงสดอวดแอปพลิเคชันดูรายการโทรทัศน์ย้อนหลัง นิ้วชี้เลื่อนแตะหน้าจอเปิดแอปพลิเคชัน Photos โชว์รูปที่ไปเที่ยวกับเพื่อนอย่างคล่องแคล่ว บางรูปยืดแขนจนสุดเพื่อถ่าย selfie บางคราวยัง
ปรับภาพผ่านโปรแกรมที่ให้ดาวน์โหลดฟรีก่อนแบ่งปันภาพนั้นให้ลูกสาวและเพื่อนกว่า ๓๐ คนชื่นชมทาง LINE โดยไม่ลืมส่งสติกเกอร์น่ารัก ๆ ตามหลัง

“อุปกรณ์พวกนี้ทำให้ป้าได้ออกไปเที่ยวรอบโลก เห็นอะไรที่ไม่เคยเห็นใน YouTube เวลาเจอคลิปแปลก ๆ ก็ก๊อบลิงก์แบ่งให้เพื่อนดู อยู่บ้านคนเดียวตอนกลางวันก็มีเกมให้เล่นแก้เหงา สงสัยอยากรู้เรื่องต่าง ๆ อย่างสรรพคุณของใบมะรุม ใบหม่อน เป็นสมุนไพรแก้โรคอะไร มีวิธีทำกินอย่างไร ก็เสิร์ชข้อมูลอ่านจาก Google ได้คำตอบทันใจ  ป้าจะคุยกับลูกสาวทาง LINE ตลอด บางทีคุยแบบเห็นหน้าผ่าน Video Call ไม่เสียเงินสักบาท ช่วยลดความเป็นห่วงเวลาลูกไปทำงานได้เยอะ”

จากแท็บเลตโทร.ได้ขนาดเท่าสมุดหนักราว ๖๐๐ กรัม เมื่อใช้งานจนเริ่มปวดข้อมือลูกสาวจึงซื้อสมาร์ตโฟนจอใหญ่ให้แม่อีกเครื่องไว้สลับใช้  แต่กว่าผู้เกิดปี ๒๔๘๕ จะคุ้นชินกับวัตถุสมัยใหม่เครื่องเดิมก็ใช้เวลาพอควรจึงอิดออดที่จะใช้สมาร์ตโฟนซึ่งต้องกลับไปนับ ๐ อีก ครั้นลูกสาวเปรยว่าหากแม่ไม่ใช้จะให้คนอื่น ความเสียดายทำให้เธอตัดสินใจกลับสู่ห้องเรียนขนาด ๑๒ ที่นั่งของ OPPY CLUB สถาบันแห่งเดียวในประเทศไทยที่เปิดสอนการใช้เทคโนโลยีแก่ผู้สูงวัย

ในถุงผ้าที่หญิงวัย ๗๒ ปีหิ้วมาจากบ้านจึงมีทั้งแท็บเลตเครื่องโปรด สมาร์ตโฟนเครื่องใหม่ สายชาร์จแบตเตอรี่ และแท่นชาร์จแบตเตอรี่สำรองพกพา เตรียมพร้อมเต็มที่สำหรับการเริ่มเรียน

“ลูกหลานคือส่วนสำคัญสำหรับผู้สูงวัย คนที่มาเรียนคอร์สแท็บเลต สมาร์ตโฟน จึงมีทั้งถูกลูกบังคับหลังจากซื้ออุปกรณ์ให้แล้วไม่ถนัดสอนพ่อแม่เอง และคนที่สมัครใจ อยากใช้อินเทอร์เน็ตแก้เหงา และติดต่อกับลูกหลานที่ไปเรียนไกลบ้านหรือทำงานต่างประเทศ”

สุธีรา จำลองศุภลักษณ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายเลิร์นนิ่ง-มีเดียของ OPPY Club ตั้งข้อสังเกตว่าผู้สูงอายุส่วนใหญ่ไม่สนใจกระแสยี่ห้อหรือรุ่นของอุปกรณ์เท่าไรนัก ขอแค่เล่น LINE ได้เป็นพอ

เธอเล่าว่ารายหนึ่งมาเรียนเพราะเพื่อนในวงไพ่ใช้ LINE แอบขอเลขกัน ถ้าตนไม่ใช้บ้างจะแพ้คนอื่น  อีกรายชอบเที่ยวและเพื่อนในกลุ่มไม่มีใครใช้กล้องดิจิทัลถ่ายรูปแล้ว เวลาถ่ายรูปหมู่จะใช้อุปกรณ์ของใครสักคนถ่ายจากเครื่องเดียว ส่งให้กันทาง LINE ใครไม่ใช้ก็อดได้ภาพหมู่

“พวกเขาไม่ต้องการความรู้ไปใช้งาน เขาต้องการเล่นสนุกกับอุปกรณ์ เราจึงต้องปรับหลักสูตรเข้าหาแต่ละคน สอนเฉพาะสิ่งที่จำเป็นต้องทำเอง อะไรที่คนอื่นช่วยทำให้ได้เราก็ไม่ยัดเยียด”

แม้ผู้สูงวัยจะรับรู้ช้า แต่หากสนใจสิ่งใดแล้วกลับพยายามต่อยอดสิ่งนั้นไม่แพ้วัยใด บางคนใช้งานโปรแกรม iMovie บนแท็บเลตได้ รู้จักเชื่อมต่อสาย USB จากกล้องดิจิทัลสู่แท็บเลตหรือจากสมาร์ตโฟนสู่คอมพิวเตอร์ พอได้รับคำชมจากลูก ๆ หัวใจพองฟูก็เก็บมาเล่าให้ครูฟัง พลอยนึกอยากเรียนรู้เรื่องใหม่อีก อย่างพอใช้แอปพลิเคชัน Camera เป็นก็อยากเรียนการจัดองค์ประกอบภาพถ่ายเพิ่ม ฯลฯ

เป็นอีกวันที่เราติดตามนักเรียนสูงวัยผู้ไม่ยอมตกขอบสังคมทันสมัย

วันนี้พวกเขาพกแท็บเลตและสมาร์ตโฟนหลากรุ่นมาที่วังสวนผักกาด กรุงเทพฯ เพื่อฝึกจัดองค์ประกอบภาพถ่าย เรียนรู้การใช้สิ่งรอบตัวเป็นฉากหน้า-ฉากหลัง, จุดตัด ๙ ช่อง, เส้นนำสายตา และกรอบ ไม่ต่างจากที่กล้องดิจิทัลทำได้ เวลาไปเที่ยวกับลูกหลานจะได้ทำหน้าที่ตากล้องบันทึกภาพสวย ๆ และเมื่อไปเที่ยวกับเพื่อนก็มีภาพที่เด่นกว่าใคร ๆ ในกลุ่มมาอวดคนในครอบครัว

“อะไรก็ตามที่สอนช้า ๆ ให้ผมเข้าใจได้ผมก็อยากเรียนหมดละ ผมคิดว่าเทคโนโลยีเป็นเรื่องสำคัญกับชีวิตนะ ถึงวันนี้ผมจะเกษียณไม่ต้องนำไปใช้ทำงานแล้ว แต่ไม่มีใครแก่เกินเรียนนี่ อย่างน้อยมันก็ช่วยให้ผมอยู่ในโลกใบเดียวกับคนส่วนใหญ่ของสังคม และในอนาคตบ้านเราจะมีแต่คนแก่เต็มเมือง เดินเหินไปไหนลำบาก ความรู้เทคโนโลยีที่เราสะสมไว้จะช่วยเป็นเพื่อนคลายเหงาได้”

สุชาติ รื่นเริง อดีตสถาปนิกวัย ๖๘ ปีผู้ใช้แท็บเลตตั้งแต่รุ่นแรก ๆ เชื่อว่าผู้สูงอายุที่มีศักยภาพเข้าถึงเทคโนโลยีได้ย่อมมีโอกาสสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีกว่า

เช่นเดียวกับเพื่อนร่วมวัย ๖๐ รายอื่น ๆ ที่เพิ่งรู้จักและสนิทกันเพราะต่างรักชอบการเรียนรู้สิ่งที่จะเปลี่ยนให้คุณภาพชีวิตตนดีขึ้น จากเคยดูข่าวสารทางโทรทัศน์ ใช้โทรศัพท์มือถือรุ่นเก่าไว้รับสายเข้ากับโทร.ออก พกกล้องดิจิทัลไปเที่ยวกับเพื่อน ก็หันมาใช้แท็บเลตและสมาร์ตโฟน

“ลูกชายฉันบอกว่าสมาร์ตโฟนน่ะมีแต่คนที่สมาร์ตใช้กันนะแม่ ฉันว่าก็พวกเรานี่ละ”

หญิงวัย ๗๐ ปีคนหนึ่งสร้างบรรยากาศครื้นเครงให้เพื่อนในชั้นเรียน หลังจากพวกเขากลับจากการเรียนภาคสนามมานั่งคัดเลือกภาพที่ดีที่สุดส่งครูทาง LINE ใครได้ยินต่างหัวเราะอารมณ์ดีคล้อยตามความคิดนั้น แม้ลึก ๆ แล้วจะเสียดายเงินกับราคาสินค้าที่นับว่าฟุ่มเฟือยต่อชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับวัยที่ไม่สามารถหาเงินได้เอง ทั้งยังเคยได้ยินว่าเทคโนโลยีคือตัวการทำให้ครอบครัวห่างเหิน อยู่ด้วยกันแท้ ๆ กลับก้มหน้าสนใจอุปกรณ์ของตนแทนที่จะนั่งพูดคุย

แต่จะทำอย่างไรได้ เมื่อความทันสมัยของสังคมเมืองไล่หลังผู้อยู่มาก่อนให้ต้องวิ่งตามลูกหลาน

“เราหยุดสังคมรุ่นใหม่ไว้กับสังคมที่เราเติบโตมาไม่ได้อีกแล้ว เทคโนโลยีมีแต่จะพัฒนาไปข้างหน้า ถ้ามัวแต่ต้วมเตี้ยม ลูก ๆ ก็จะเดินทิ้งห่างพ่อแม่ไป”

ดังนั้นการออกแบบสินค้าเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อผู้สูงอายุเป็นกรณีพิเศษ จึงอาจเป็นความใส่ใจที่โบราณเกินไป ทั้งยังแบ่งแยกพวกเขาออกจากสังคมสมัยใหม่อย่างชัดเจน ในยุคที่สภาพเมืองรายล้อมด้วยอุปกรณ์ทางเลือกล่อตาล่อใจ ผู้สูงวัยต้องการเพียง “ความง่าย” ในเครื่องเดียวกับที่วัยทั่วไปใช้ และมี “ความเหมือน” เดียวกับลูกหลาน-คนอื่น ๆ ในสังคม

ก่อนอำลาชั้นเรียนวันนี้สามผู้ชนะการประกวดจัดองค์ประกอบภาพถ่ายได้รับ “ของเล่นสุดฮิต” ที่วัยรุ่นกำลังนิยมเป็นรางวัล ได้แก่ “ไม้เท้ากายสิทธิ์” (ขาตั้งกล้อง) “กระจกวิเศษ” (clip lens 3 in 1) และ “คทาวิเศษ” (ไม้ Monopod พร้อม remote bluetooth) โดยมีเพื่อน ๆ ร่วมแสดงความยินดีและเชียร์ให้แกะใช้เลย  ไม่กี่นาทีจากนั้นคนที่เก็บกระเป๋าเตรียมกลับบ้านก็เปลี่ยนใจปรี่เข้าหาเพื่อนเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของความสุขยิ้มแฉ่งด้วยคทาวิเศษที่มีระยะความยาวยืด-หดได้จากมุมสูง

“เอายัง ๆ พร้อมนะ ๆ หนึ่ง…ส่อง…ซั่ม !”


ศิลปะปราศจากอายุขัย

คนที่เต็มใจถอยห่างเทคโนโลยี ไม่ได้แปลว่าเขามีคุณภาพชีวิตด้อยกว่าใคร

เพียงไม่มีความจำเป็นจะใช้ประโยชน์ และมีความสุขพอแล้วเมื่อได้สงบนิ่งอยู่กับหัวใจตน

ก่อนเราจะเดินทางมาถึงจังหวัดชัยนาท และได้พบบ้านเดี่ยวทรงทันสมัยหลังคากระเบื้องสีอิฐหลังใหญ่ที่สุดในซอย รู้เพียงว่ามีหญิงผู้เกิดปี ๒๔๗๒ คนหนึ่งเริ่มต้นชีวิตจิตรกรเมื่อวัย ๗๓ ปี และยังคงทำอยู่กระทั่งปัจจุบันขวบวัยที่ ๘๕ แล้ว

น่าสนใจที่เธอเป็นศิลปินได้ โดยไม่เคยร่ำเรียนศิลปะ

“เราไม่รู้จักหรอก ศิลปะ ศิลปิน สีอะครีลิก รู้แค่ไม่อยากเป็นคนแก่ที่เอาแต่กินกับนอน”

วัยเด็กของ ชุมสาย มีสมสืบ ใช้ชีวิตพออยู่พอกินตามวิถีชนบทริมแม่น้ำ โชคดีที่คุณลุงเป็นเจ้าของโรงเรียนจึงมีต้นทุนชีวิตได้เปรียบกว่าเด็กหญิงวัยเดียวกันเพราะมีโอกาสเรียนหนังสือ

หลังจบการศึกษาได้เป็นครูสอนชั้นประถมฯ ที่โรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดนครสวรรค์ พออายุ ๒๐ กว่าปีก็ออกเรือนมีครอบครัว ลูก ๆ วัยกำลังโตคือความรับผิดชอบยิ่งใหญ่ให้ผู้เป็นแม่ต้องนึกถึงเรื่องปากท้องเป็นสำคัญ สิ่งที่ทำแล้วเกิดรายได้ต้องมาก่อนกิจกรรมที่รักชอบทั้งหมด งานฝีมือเย็บ-ประดิษฐ์อันเคยเป็นพรสวรรค์มาแต่วัยเยาว์จำต้องพักวาง หลีกทางให้สิ่งจำเป็นกว่าในชีวิต

เหตุผลของการงานต่างสถานที่ทำให้เธออยู่คนละบ้านกับสามี  ช่วงหนึ่งหลังเกษียณมีโอกาสอาศัยบ้านลูกชายคนโต “ศักดิ์สิริ มีสมสืบ” นักเขียนรางวัลซีไรต์ปี ๒๕๓๕ ที่อำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ วันหนึ่งนึกรำคาญชีวิตปรกติที่มีเวลาว่างมาก ด้วยภาระแห่งวัยทำงานผ่านพ้นจึงเคลื่อนหัวใจตนเข้าหาชุดเครื่องเขียน-อุปกรณ์ศิลปะของลูกชาย พรสวรรค์ที่ไม่เคยพร่องจากวัยเยาว์ได้รับการปัดฝุ่นอีกครั้ง

เมื่อปลายพู่กันแต้มสีอะครีลิกจดกระดาษแผ่นแรกสำเร็จ จึงเป็นจุดเริ่มของแผ่นอื่น ๆ ก่อนขยับสู่เฟรมผ้าใบ นับแต่นั้นการวาดรูปคือกิจวัตรใหม่ ใครมาบ้านกวีซีไรต์ต้องได้เห็น

“ครั้งหนึ่งนก (นิรมล เมธีสุวกุล) เห็นเราวาดก็เชียร์ให้วาดสะสมไว้ บอกจะให้แม่เขาวาดบ้างแล้วออกแสดงภาพร่วมกัน แต่สุดท้ายแม่เขาไม่ได้วาด ลูกชายคงกลัวเราเสียกำลังใจเลยชวนให้ไปจัดแสดง”

หญิงปัจฉิมวัยย้อนจุดเริ่มปี ๒๕๔๕ ซึ่งรูปฝีมือเธอ ๕๐ รูปปรากฏในงานนิทรรศการครั้งแรก ร่วมกับผลงานอีกจำนวนเท่าตัวของลูกชาย มีเพื่อนลูกในแวดวงกวี นักเขียน นักดนตรี มาชม-อุดหนุนภาพที่ห้องศิลปนิทรรศมารศี วังสวนผักกาด กรุงเทพฯ ส่งให้ชื่อของแม่เป็นที่รู้จักแต่นั้น

เมื่อสะสมผลงานใหม่ได้อีก ๕๐ รูป เดือนเมษายน ๒๕๕๑ ลูกชาย-กวีซีไรต์ก็สนับสนุนให้หญิงวัย ๗๙ ปีขยับสู่ “ศิลปินเดี่ยว” ในงานนิทรรศการศิลปะอวดรูปเขียน “ภาพชนบทสีสดใส” ถ่ายทอดวิถีเรียบง่ายและทิวทัศน์รื่นรมย์ของชนบทด้วยโทนสีสดสวยสะดุดตา ณ หอศิลป์ On Art ใกล้สถานีรถไฟสามเสน จากนั้นก็จัดแสดงร่วมกับศิลปินอื่น ๆ อีกหลายงานก่อนจะฉายเดี่ยวอีก ๕๐ รูปในนิทรรศการ “แม่ถือศิลป์ ปฏิบัติทำ” ที่นิดจะศิลป์ แกลเลอรี่ Nit Ja Silp Gallery จังหวัดภูเก็ต เมื่อเดือนสิงหาคม ๒๕๕๗

รอบนักษัตรที่ผ่าน งานของแม่-ผู้ฉายพรสวรรค์ในวัยบำนาญได้อวดฝีมือต่อสายตาของศิลปินดังอย่าง อังคาร จันทาทิพย์, เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์, สุชาติ สวัสดิ์ศรี, พิบูลศักดิ์ ละครพล, จิระนันท์ พิตรปรีชา, ชูเกียรติ ฉาไธสง, ศุ บุญเลี้ยง, เรวัตร์ พันธุ์พิพัฒน์ ฯลฯ ซึ่งหลายคนช่วยอุดหนุนรูปของศิลปินน้องใหม่เป็นที่ระลึก

ปัจจุบันชุมสายย้ายมาอยู่บ้านใหม่ในจังหวัดบ้านเกิดอีกครั้งโดยมีลูกชายคนเล็กคอยดูแล เธอยังคงกิจวัตรวาดรูปสม่ำเสมอด้วยอุปกรณ์ที่ลูกชายคนโตหมั่นซื้อมาทดเติมเมื่อแม่ใช้หมด

แต่เดิมจิตรกรสูงวัยเลือกพื้นที่กะทัดรัดในศาลานั่งเล่นหน้าบ้านเป็นอาณาจักรส่วนตัว วาดรูปต้นไม้ใบหญ้าตามฉากที่ปรากฏรอบตัว แต่งเติมด้วยจินตนาการอันเคยคุ้น อย่างต้นไม้ ดอกไม้ สัตว์ บ้าน โต๊ะ ฯลฯ เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนหลังคาศาลารั่ว ลูกชายเจ้าบ้านจึงขอให้ย้ายมาวาดในห้องดนตรีของเขา โดยตั้งชุดโต๊ะ-เก้าอี้ขนาดพอดีสำหรับแม่ มีชั้นวางอุปกรณ์เป็นระเบียบ หลังมื้อเที่ยงของทุกวันเมื่อลูกชายกลับไปสอนที่โรงเรียนใกล้บ้าน เธอจะใช้ศิลปะบริหารชีวิตวันละ ๒ ชั่วโมงในห้องนั้น

“แรก ๆ คนแถวนี้เห็นเรานั่งวาดรูปก็ขอดู เดี๋ยวนี้ไม่สนใจเลย คงคิดว่าอยู่เฉย ๆ ชีวิตก็ดีอยู่แล้วมานั่งวาดทำไม เพื่อนรุ่นเดียวกันวัน ๆ เขาก็นอน แต่เราวาดรูปเป็นกิจกรรมอดิเรกนี่ไม่ได้ทำเป็นงานจึงไม่รู้สึกลำบาก เรายังใช้ชีวิตอย่างอื่นปรกติ วันไหนในชุมชนต้องการอาสาสมัครก็ไปช่วย บางวันก็ไปเที่ยววัดกับลูก อ่านหนังสือ ร้องเพลง ถักไหมพรม อยากวาดรูปก็วาด ดีกว่านอนทั้งวันให้หลังร้อน”

เพราะสำหรับเธอ ศิลปะเป็นกิจกรรมที่ไม่มีเงื่อนไขเรื่องวัย ทำได้โดยไม่มีวันเกษียณอายุ

“แล้วการวาดรูปก็เป็นการฝึกสมาธิ ฝึกอารมณ์เราให้มั่นคง จะได้ไม่เป็นคนแก่ช่างฟุ้งซ่าน”

หญิงรุ่นราวคราวยายอวดรูปอะครีลิกสีสดให้เราดู บางภาพวาดเสร็จแล้วขณะบางภาพยังวาดค้างอยู่ เธอเล่าว่าลูกชายไม่เคยสอนว่าต้องวาดอย่างไร เขาบอกเสมอว่าศิลปะไม่มีถูกผิด เธอจึงสังเกตสิ่งต่าง ๆ จากภาพถ่าย และกำหนดองค์ประกอบเองว่าควรมีเส้นแบ่งฟ้าและดินเป็นหลัก ส่วนที่เหลืออาจเป็นต้นไม้ ดอกไม้ หรือสัตว์ตัวเล็กตัวน้อย ตามแต่จะนึกออก แม้จะดูง่าย ซื่อ แต่ในรายละเอียดนั้นแสดงความเป็นเหตุเป็นผลของการมีอยู่ของแต่ละสิ่ง จึงเป็นภาพไม่เหมือนที่สมจริงจากการชอบศึกษา ช่างสังเกต อบอุ่นเมตตา สนุกสนาน และเข้าใจชีวิต

“เราเป็นมือสมัครเล่น คนที่อุดหนุนรูปเราก็คือเพื่อน ๆ ลูกชายที่อยากให้กำลังใจแม่ เขาไม่ได้เคร่งครัดว่าจะต้องวาดให้เหมือนหรอก ลูกบอกว่าอยากให้เราวาดด้วยความสุข”

ไม่เพียงประโยชน์ด้านอารมณ์ การวาดรูปยังส่งผลดีต่อความจำด้วย

เธอเล่าว่าปีนี้เพิ่งมีอาการหลงลืมสองครั้ง ล่าสุดลืมชื่อเพื่อนบ้านที่คุ้นเคย ถึงอย่างนั้นยังนับว่าดีกว่าอีกหลายคนในวัย ๘๕ ปีซึ่งเกิดภาวะสมองเสื่อมแล้ว อย่างน้อยสมองของเธอยังสั่งการเคลื่อนไหว พฤติกรรม ควบคุมการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต สมดุลของเหลวในร่างกาย และอุณหภูมิได้ดี

ส่วนสำคัญเป็นเพราะเธอมีลูก ๆ เอาใจใส่ เห็นคุณค่าในความสามารถของแม่ ทั้งยังส่งเสริมให้แม่มีโอกาสแสดงศักยภาพเต็มที่

ในวันที่อายุยังเดินหน้า ศักยภาพจึงร่วมทางไม่สิ้นสุด


เกษียณอาสา

คนเคยทำงานนอกบ้านมาทั้งชีวิต ปลดเกษียณแล้วจะให้อยู่แต่ในบ้านก็เหมือนไม่ใช่ชีวิต

เราได้เห็นภาพนั้นชัด ๆ เมื่อได้รู้จัก “กลุ่ม อส.รพ. (อาสาสมัครโรงพยาบาล) พระนั่งเกล้า”

แรกก้าวสู่ประตูทางเข้าโรงพยาบาลแล้วไม่พบเจ้าหน้าที่ซึ่งนัดหมายไว้ พยายามโทร.ติดต่อสายก็ไม่ว่าง กระทั่งเลยเวลานัดราว ๑๐ นาทีจึงตัดสินใจขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่เคาน์เตอร์ติดต่อ-สอบถามหน้าประตูทางเข้าให้ช่วยประสานงานถึงเจ้าหน้าที่ที่เรานัด

ขณะยืนรอ หญิงสูงวัยสวมเสื้อเชิ้ตสีเขียวใบตองผู้หนึ่งปรี่เข้ามาหา พยายามสอบถามว่าเราต้องการความช่วยเหลืออะไร คะเนจากวัยแล้วเราน่าจะเป็นฝ่ายให้ความช่วยเหลือเธอมากกว่า

ครั้นปฏิเสธ-เธอยังคงยิ้มแย้มแจ่มใสและเชื้อเชิญให้เราหาที่นั่งรอ ก่อนจะไปทักทายผู้มาถึงโรงพยาบาลรายอื่น และหยิบยื่นความช่วยเหลือเท่าที่เธอจะให้ได้

อีกสักเดี๋ยวเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลคนหนึ่งก็นำทางเรามานั่งรอในห้องทำงานเล็ก ๆ หลังเคาน์เตอร์ติดต่อ-สอบถาม ตามมาด้วยชายมีอายุสวมเสื้อเชิ้ตสีเขียวใบตองเช่นหญิงสูงวัยเมื่อครู่

เมื่อเขาแนะนำตัวจึงทราบว่าผู้สูงวัยทุกคนที่สวมเสื้อเชิ้ตสีเขียวใบตองคือ “อาสาสมัคร” รุ่นใหญ่ของโรงพยาบาล แต่ละวันจะมีผู้สูงอายุชาย-หญิงไม่ต่ำกว่า ๓๐ คน บ้างเคยเป็นบุคลากรของโรงพยาบาล บางคนเคยรับบริการจากกลุ่มอาสาสมัคร เมื่อหายป่วยแล้วจึงสมัครเป็นผู้ให้บ้าง และมีชาวชุมชนในละแวกถนนสนามบินน้ำด้วย แวะเวียนมา “ทำงานฟรี” ให้โรงพยาบาลอย่างน้อยสัปดาห์ละ ๒ วัน ช่วง ๐๘.๐๐-๑๒.๐๐ น.

“ก่อนเกษียณผมเป็นแพทย์ทหารอยู่โรงพยาบาลพระมงกุฎ-เกล้า และย้ายไปโรงพยาบาลอานันทมหิดล จังหวัดลพบุรี ตลอดชีวิตการทำงานได้เห็นผู้มาใช้บริการรายใหม่ ๆ มีปัญหาเรื่องการจัดการเอกสาร ไม่รู้จะต้องเริ่มทำอะไรที่จุดไหนก่อน บางคนกรอกเอกสารไม่เป็นและไม่กล้าถามเจ้าหน้าที่ ไม่รู้จะวางใบรับยาบนตะกร้าหน้าห้องไหน ภาพแบบนั้นทำให้ผมรู้สึกเห็นใจและตั้งปณิธานว่าวันหนึ่งถ้าไม่ได้ทำงานประจำแล้วจะมาทำประโยชน์ในหน้าที่ส่วนนี้”

เมื่อถึงวัยเกษียณ พันโท สรศักดิ์ รอดโต กลับมาอยู่บ้านที่จังหวัดนนทบุรี และสมัครเป็น “อาสาสมัครฝ่ายงานประชาสัมพันธ์” ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน คอยช่วยเหลือผู้มาติดต่อเรื่องต่าง ๆ เพื่อผ่อนภาระให้บุคลากรประจำโรงพยาบาลมีเวลาทำงานหลักเต็มที่

“แรกเริ่มตั้งกลุ่มเรามีสมาชิกสมัครใจเข้าร่วม ๒๐ คน เดี๋ยวนี้เพิ่มเป็น ๙๓ คนแล้ว (ผู้ชาย ๑๓ คน ผู้หญิง ๘๐ คน) มีอาสาสมัครหลายคนที่อยู่มานับสิบปีตั้งแต่เริ่มโครงการจนถึงวันนี้ ผมก็ด้วย”

ในฐานะประธานกลุ่มอาสาสมัคร พันโทสรศักดิ์อาสานำชมแผนกต่าง ๆ เห็นเหล่าอาสาสมัครสูงวัยทำหน้าที่ขมีขมัน บ้างอำนวยความสะดวกอยู่ที่เครื่องกดบัตรคิว ให้คำแนะนำตามหน้าห้องตรวจ พิมพ์งานเอกสารให้เจ้าหน้าที่ห้องทะเบียน ช่วยงานบรรณารักษ์ในห้องสมุดของโรงพยาบาล ฯลฯ

ไม่เพียงเป็นภาพอาสาสมัครสูงวัยที่ “เป็นผู้ให้” อย่างอบอุ่น

ยังช่วยลบทัศนคติของคนส่วนใหญ่ซึ่งมองว่าผู้สูงอายุเป็นวัยที่มีแต่รับ

เขาชี้ชวนให้สังเกตเครื่องแต่งกายของอาสาสมัคร เมื่อทำงานครบ ๓ เดือนจะได้สวมเครื่องแบบเสื้อเชิ้ตแขนสั้นสีเขียวใบตอง มีตราสัญลักษณ์ “อส.รพ.” (อาสาสมัครโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า) บนกระเป๋าเสื้อที่หน้าอกด้านซ้าย ครบ ๕ ปีจะได้รับเข็มกลัดติดไว้บนปกเสื้อด้านซ้าย และถ้าครบ ๑๐ ปีจะได้เหรียญทองเชิดชูเกียรติ  อดประหลาดใจไม่ได้เมื่อรู้ว่าหลายคนที่นี่ล้วนมีเหรียญทองนั้น

พวกเขาภูมิใจในงานที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ แต่ส่งผลดีต่อสุขภาพจิต

เหรียญที่ได้รับถือเป็นเครื่องประดับชีวิตอย่างหนึ่งในวัยเกษียณ

เมื่อเดินผ่านแต่ละแผนก ชายวัย ๖๙ ปีจะทักทายเพื่อนร่วมวัย บางคนก็ทักเขาก่อน หยอกเย้าเรื่องส่วนตัว ไถ่ถามเรื่องงานวันนี้พอหอมปากหอมคอ  การมาทำงานแต่ละวันของพวกเขาจึงไม่ใช่เพียงภารกิจช่วยเหลือผู้อื่น ยังได้รู้จักเพื่อนใหม่ที่มีจิตสาธารณะเหมือนกัน

เราโชคดีเลือกมาวันพุธซึ่งเป็นวันเดียวในรอบสัปดาห์ที่จะมีอาสาสมัครกลุ่มหนึ่งมาจัดกิจกรรมนอกเหนืองานบริการของโรงพยาบาล พวกเขาใช้ความสามารถด้านดนตรีไทยจัด “ดนตรีอาสาสมัคร” ผ่อนคลายอารมณ์ไม่ให้ผู้ป่วยเครียดระหว่างรอ
เรียกตรวจ รอผลเลือด หรือรอรับยา

“เราเร่งรัดให้เจ้าหน้าที่ทำงานเร็วขึ้นไม่ได้ แต่ช่วยให้ผู้ป่วยรอคอยอย่างเข้าใจได้”

พันโทสรศักดิ์อธิบายหนึ่งในวิธี “มอบความสุขทางใจ” ของกลุ่มอาสาสมัคร แล้วขอตัวไปรวมกลุ่มบนเวทียกพื้นเตี้ย เตรียม “ให้” อีกสิ่งที่เขาทำได้ดีไม่แพ้กัน…ตีระนาดบรรเลงเพลงไทย

ยังมีงานจิตอาสาในแบบต่าง ๆ อีกมากที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานโรงพยาบาลเลย อย่าง “นวดคลายเส้น” หรือ “ตัดผมฟรีให้ผู้ป่วย”

เจ้าหน้าที่หญิงรายหนึ่งของโรงพยาบาลเล่าว่า เมื่อก่อนมีคุณลุงช่างตัดผมป่วยเข้าโรงพยาบาลนอนรักษาตัวอยู่หลายเดือน ระหว่างนั้นเห็นเพื่อนผู้ป่วยที่ค้างอยู่ที่นี่นาน ๆ ผมเผ้ายาว หน้าตาไม่สดใส จึงตั้งปณิธานว่าถ้าหายป่วยจะกลับมาช่วยตัดผมให้ พอหายดีเขาจึงร่วมเป็นอาสาสมัครของโรงพยาบาลและทำตามที่ตั้งใจ ตัดผมให้ผู้ป่วยไปแล้วนับพันราย

น่าเสียดาย…วันที่เรามาถึงเขาเพิ่งลาออกจากงานอาสาสมัครเนื่องจากปัญหาสุขภาพในวัยชรา

ที่ผ่านมาเราอาจคุ้นชินกับภาพผู้สูงวัยทำกิจกรรมอาสาสมัครอยู่ตามวัด จนเผลอคิดว่าพวกเขาไม่เหมาะจะทำงานอื่น แต่ไม่แน่ว่า หากวันหนึ่งสังคมเปิดกว้างสำหรับทุกช่วงวัย เราอาจเห็นคนวัยหลังเกษียณแสดงศักยภาพและพลังในตัวเองทำประโยชน์ให้สังคมในสัดส่วนที่มากกว่าคนวัยอื่น ๆ ก็เป็นได้

แม้จะรวมตัวกันเพื่อทำสิ่งง่าย ๆ คนละอย่าง

แต่เพราะเรื่องเล็ก ๆ ที่น่าเอ็นดูของคนเหล่านี้ ช่วยให้โลกไม่อ้างว้างและแห้งแล้งเกินไปนัก


กรีฑา-ยาวิเศษรุ่นลายคราม

ถ้ายังเดินได้ก็วิ่งได้ ถ้ายังมีลมหายใจก็ไม่สายเกินจะเริ่มวิ่ง

เรามาถึงบ้านหลังใหญ่ริมถนนสกลนคร-อุดรธานี ตำบลพังขว้าง อำเภอเมืองสกลนคร เพื่อติดตามกิจวัตรออกกำลังกายของตา-ยายวัย ๙๐ ปี  นับแต่เขาและเธอเริ่มขยับสองเท้าจากจุดสตาร์ตวัยหลังเกษียณ ชีวิตนักวิ่งหัวใจซิ่งก็ไม่เคยหยุดนิ่งให้วัยชราอีก

“ผมเกิดที่สกลนครนี่ละ เรียนจบครูที่จังหวัดลพบุรี ทีแรกตั้งใจจะมาบรรจุครูมัธยมฯ แถวบ้าน แต่ตอนนั้นเหลือตำแหน่งว่างที่จังหวัดลำปางก็เลยไปสอนที่นั่น”

เป็นเหตุให้ วิรัช บุษยกุล พบรักกับครูสาวคู่ชีวิตที่บ้านเกิดของเธอ

แม้ทั้งสองจะไม่มีลูก แต่ชีวิตรับราชการก็ไม่เปิดโอกาสให้มีช่วงเวลาส่วนตัวนัก วิรัชย้ายไปอยู่ที่จังหวัดเชียงใหม่ ๕ ปี จังหวัดอุดรธานีอีก ๑๗ ปี กระทั่งดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการฝึกหัดครูที่บ้านเกิดในปี ๒๔๙๘ จึงเริ่มลงหลักปักฐานปลูกบ้านบนที่ดินมรดกของแม่ในปี ๒๕๒๐ เพื่อเตรียมความมั่นคงให้ชีวิตคู่ในบั้นปลาย ซึ่งขณะนั้นสองสามี-ภรรยาล่วงสู่วัยกลางคนแล้ว

ปี ๒๕๒๘ ทั้งคู่เฉลิมฉลองวัยบำนาญโดยใช้เงินสะสมจากการทำงานหนักมาทั้งชีวิตซื้อทัวร์ท่องเที่ยวต่างประเทศ อย่างภูฏาน ออสเตรีย ไอซ์แลนด์ ฯลฯ อยู่หลายปีก่อนหันเหเข้าสู่กรีฑา

“เราสองคนมีชีวิตปรกติอยู่อย่างหนึ่งคือทุกเช้าจะใส่ชุดออกกำลังกาย สะพายเป้ เดินเร็วไปตลาดซึ่งอยู่ห่างจากบ้านราว ๒.๕ กิโลเมตร เพื่อซื้อกับข้าวมาใส่บาตรหน้าบ้าน”

มลฤดี บุษยกุล เล่าว่าวันหนึ่งมีทันตแพทย์จากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสังเกตเห็นจึงเอ่ยชวนให้แข่งกีฬาผู้สูงอายุในนามของตัวแทนจังหวัด

“ตอนคุณหมอมาชวนเราดีใจมาก ๆ เพราะพื้นฐานเราสองคนชื่นชอบกีฬา สมัยเรียนตาเป็นนักกีฬายิมนาสติกแสดงในงานโรงเรียนเสมอ ส่วนยายก็เป็นนักกายบริหารและนักกีฬาวิ่งผลัดประจำโรงเรียน แต่ต้องหยุดเล่นตั้งแต่เริ่มทำงาน และไม่มีเวลาว่างออกกำลังเลย”

ชีวิตหลังเกษียณจึงไม่ได้หมายถึงเพียงอิสรภาพอันยิ่งใหญ่ แต่ยังคือการเริ่มต้นสานต่อความรักในกีฬาที่พักไว้เนิ่นนาน และมีส่วนสร้างชื่อเสียงตอบแทนจังหวัดที่ตนอาศัย

เมื่อตกลงใจลงแข่ง คู่รักรุ่นใหญ่จึงเริ่มฝึกซ้อมจริงจัง เรียนรู้ท่วงท่าเคลื่อนไหวอย่างถูกต้องโดยมีลูกศิษย์นักกีฬาสอนทักษะ หลังแดดร่มลมตกของทุกวันทั้งคู่จะไปซ้อมบริเวณพื้นราบริมสระน้ำในมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครซึ่งห่างจากบ้านราว ๒ กิโลเมตร เหนื่อยก็พัก หายเหนื่อยก็ซ้อมต่อ กระทั่งเดินเร็วต่อเนื่องได้ถึงสี่รอบสระน้ำ (รอบละ ๑ กิโลเมตร)

อีก ๓-๔ เดือนถัดมาชายวัย ๘๓ และหญิงวัย ๘๔ ปีก็ได้สวมชุดวิ่งแบบนักกีฬาจริง ๆ ทำสิ่งท้าทายอายุในสนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ ๘๐ พรรษาฯ จังหวัดนครราชสีมา โดยนักกีฬาน้องใหม่ทั้งคู่ลงแข่งตามเพศและกลุ่มอายุที่กรรมการกำหนด

แล้วในการแข่งขันกรีฑาสูงอายุชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย ปี ๒๕๕๒ ชื่อของ วิรัช บุษยกุล ก็ขึ้นสู่ “อันดับ ๑” ในประเภทชายวัย ๘๐-๘๔ ปี เดิน ๕,๐๐๐ เมตร ด้วยเวลา ๔๕.๓๒.๗๐ นาที ขณะที่ฝ่ายหญิงในรุ่นและระยะทางเดียวกัน มลฤดี บุษยกุล ก็คว้า “อันดับ ๑” ด้วยเวลา ๕๓.๒๑.๐๐ นาที

“เวลาแข่งเราไม่ตื่นเต้นเพราะไม่ได้กังวลกับผลแพ้-ชนะ อายุมากแล้วถ้าเครียดอาจเป็นลมเป็นแล้งได้ แข่งสนุก ๆ ก็พอ เตือนตัวเองแค่ว่าต้องเดินหรือวิ่งให้ถูกท่า ขาจะได้ไม่ขวิดกันจนหกล้ม”

แม้จะเป็นชัยชนะที่ไม่ได้หักโหมเพื่อให้ได้มา แต่เหรียญทองแรกจากการมุ่งมั่นฝึกซ้อมก็ปลุกพลังให้สองผู้เฒ่ากระชุ่มกระชวยกว่าครั้งรับปริญญาแรกในชีวิตเสียอีก

“ปริญญาน่ะแค่เรียนให้จบก็ได้ แต่กีฬาต้องแข่งกับผู้อื่นและต้องทำสถิติให้ได้ตามกติกา”

นั่นหมายถึงยังต้องแข่งกับตัวเองด้วย ต่อให้ในรุ่นอายุเดียวกันจะไม่มีคู่แข่ง ผู้ชนะเลิศก็ต้องผ่านเกณฑ์ประเมินลักษณะการเดินอย่างถูกต้อง เช่น เท้านำจะต้องเหยียดตึงไม่งอเข่าทันทีที่สัมผัสพื้น ห้ามทิ้งแขนลง ต้องใช้ส้นเท้าลงพื้น เข้าเส้นชัยในเวลาเหมาะสม ฯลฯ หากทำผิดกติกาจะถูกเตือน ถ้าถูกเตือนสามครั้งต้องออกจากการแข่งขัน หรือหากเหนื่อยไปต่อไม่ไหวก็ออกจากสนามกลางคันได้

ผู้ไม่ย่อท้อและรักษากติกาจึงได้ครอบครองประกาศนียบัตรที่ออกโดยสมาคมกรีฑาผู้สูงอายุไทย กระดาษที่ได้มาโดยความสามารถยังใส่กรอบขอบทองและเก็บรักษาอย่างดีในวันที่เรามาถึง

มากกว่าชัยชนะ มิตรภาพในสนามของเพื่อนที่รักชอบสิ่งเดียวกันคือความประทับใจและแรงบันดาลใจให้เขาและเธอสนุกกับการฝึกซ้อมเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับสนามต่อ ๆ ไป เหรียญที่ระลึกจากการแข่งกีฬาซึ่งห้อยติดผนังบ้านจำนวนหนึ่งคือหลักฐานว่าตลอด ๕ ปีที่ผ่านมาทั้งคู่ไม่เคยห่างสนาม

ล่าสุดเมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๕๖ คู่รักนักกีฬาพัฒนาจากการแข่งเดินมาวิ่ง ๑๐๐ เมตร

และในการแข่งขันกรีฑาสูงอายุชิงชนะเลิศแห่งประเทศไทย ครั้งที่ ๑๘ ณ สนามกีฬากลาง จังหวัดขอนแก่น มลฤดีก็คว้า “เหรียญทอง” ในรุ่นอายุ ๘๕-๘๙ ปี ด้วยเวลา ๔๕.๕๘ นาที ครั้งนี้เธอได้เป็น “ตัวแทนระดับประเทศ” ไปชิงชัยต่อในรายการชิงแชมป์เอเชียที่ไต้หวัน

แต่เธอเลือกปฏิเสธโอกาสพิเศษนั้นด้วยเหตุผลสำคัญกว่า คือ พอใจที่จะออกกำลังเพื่อคุณภาพชีวิต มากกว่าจะมีชีวิตเพื่อการแข่งขัน

สองคนตา-ยายช่วยกันหยิบอัลบัมใส่รูปเล่มหนัก แบ่งให้เราชมภาพบรรยากาศในวันแข่งกีฬา เห็นชาย-หญิงสูงวัยในชุดเสื้อกล้าม นุ่งกางเกงขาสั้น สวมรองเท้าวิ่ง ยิ้มแฉ่ง ชูสองนิ้ว บางภาพกำลังวิ่งเหยาะหลังตรงลงส้นเท้า อวดความแข็งแกร่ง
ของกระดูกและกล้ามเนื้อ นี่เองคือยาวิเศษที่ช่วยให้ทั้งคู่ไม่ค่อยเจ็บป่วยออดแอด ไม่มีอาการท้องผูก นอนหลับสบาย

ขณะสนทนาตาวิรัชเดินหายไปในสวนหลังบ้านแล้วกลับมาพร้อมกล้วยหนึ่งหวี เชื้อเชิญให้เราชิมรสหวาน จิบน้ำสะอาด พวกเขาเล่าว่า ปรกติแต่ละมื้อจะกินข้าวตรงเวลาในปริมาณไม่มาก เน้นผักกับน้ำพริกและผลไม้เป็นหลัก จากนั้นจะไม่กินจุบจิบระหว่างวัน ชวนให้นึกถึงกระแส clean food ที่หนุ่ม-สาวกำลังนิยม แต่ที่อยู่ตรงหน้านี้คือวิถีรักสุขภาพของจริงที่ทั้งคู่ใส่ใจและกินมานาน

เรื่องหวาน ๆ บนที่นอนกับคู่ชีวิตอาจหมดไปแล้ว แต่วันนี้ตาผู้มีรูปร่างเล็กบาง คะเนความสูงราว ๑๖๐ เซนติเมตร ยังรับผิดชอบดูแลสวนหย่อมในรั้ว ขับรถพายายไปออกกำลังกายในมหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนครทุกเย็น  ส่วนยายที่น่าจะหนักไม่เกิน ๕๐ กิโลกรัมก็มีหน้าที่ทำความสะอาดบ้าน และจูงมือตามาตักบาตรพร้อมกันทุกเช้า

แบบอย่างของร่างกายที่แข็งแรงในวัย ๙๐ ปีไม่ได้เกิดจากความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ แต่เพราะมีวินัยในการดูแลสุขภาพอย่างเป็นกิจวัตรต่างหาก และไม่สำคัญเลยว่าชีวิตหลังวัยเกษียณจะมีลูกหลานห้อมล้อมหรือไม่ สุขภาพที่ดีจะส่งให้ผู้สูงวัยมีพลังขับเคลื่อนชีวิตด้วยตนเอง

ซึ่งแม้เทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่จะทำให้คนในโลกมีอายุเฉลี่ยเพิ่มขึ้นถึง ๑๐๐ ปีได้

แต่การประคองชีวิตให้มีความสุขและแข็งแรงสมบูรณ์ก็ยังต้องอาศัยการดูแลตนเองอยู่ดี


เป็นนายตัวเอง ในบ้านปลายชีวิต

อย่าหยุดชีวิตไว้กับคำว่าเกษียณ เพราะชีวิตไม่มีเกษียณ

ชายร่างบางวัย ๘๒ ปีที่ยืนรอต้อนรับอยู่หน้า “สวนสุขบำรุง” ตำบลไทยสามัคคี อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา ทำให้เราเชื่ออย่างนั้น

ภายในพื้นที่ ๒๐ ไร่นี้ไม่เพียงร่มรื่นด้วยแมกไม้มากมูลค่า ยังเปี่ยมล้นเรื่องราวน่าสนใจ

“พ่อผมเป็นสหายกับครูฉ่ำ จำรัสเนตร สมาชิกสภาผู้แทนจังหวัดนครศรีธรรมราช ตอนเด็ก ๆ ผมเลยคิดว่าโตขึ้นอยากจะเป็นผู้แทนฯ บ้าง อยากไต่เต้าให้สูงถึงตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรี”

เพิ่มศักดิ์ จริตงาม ย้อนชีวิตครั้งอยู่กับครอบครัวที่อำเภอทุ่งสง เมื่อเรียนจบมัธยมฯ ปลายจากโรงเรียนประจำอำเภอจึงเดินทางเข้ากรุงเทพฯ สอบเทียบเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จบระดับอนุปริญญา แม้ต้องพักเรียนเนื่องจากวิกฤตการเมือง
ปี ๒๕๐๐ แต่ภายหลังได้เข้าโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูงที่วิทยาลัยวิชาการศึกษา ประสานมิตร (ปัจจุบันยกฐานะเป็นมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร) จนจบปริญญาตรีหลักสูตรการศึกษาบัณฑิต (กศ.บ.)

ปี ๒๔๙๗ บัณฑิตใหม่เริ่มต้นสมัครงานที่กระทรวงวัฒนธรรม ได้งานตำแหน่งเสมียนหน้าห้องจอมพล แปลก พิบูลสงคราม (นายกรัฐมนตรีขณะนั้น และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม) กระทั่งเกิดสภาวะผันแปรทางการเมือง กระทรวงวัฒนธรรมถูกยุบเลิกตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม โดยโอนย้ายไปสังกัดกระทรวงศึกษาธิการในปี ๒๕๐๑

“ทีแรกจอมพลแปลกจะให้ผมไปอยู่กรมศุลกากร แต่บุคลิกโผงผางตรงไปตรงมาอย่างผมไม่เหมาะจะทำงานที่นั่น จึงขอย้ายไปทำงานที่กระทรวงศึกษาธิการแทน และได้เป็นเสมียนหน้าห้องหม่อมหลวงปิ่น มาลากุล สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี”

จากเงินเดือนราว ๕๐๐-๖๐๐ บาท ภายหลังเมื่อสอบเลื่อนเป็นข้าราชการสามัญชั้นตรี ได้ทำงานที่กองการสัมพันธ์ต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ๓ ปี ก่อนสอบเลื่อนเป็นชั้นโท ทำงานอีก ๑๓ ปี และสอบเลื่อนเป็นชั้นเอก จึงได้ปรับเงินเดือนเป็น ๓,๐๐๐ บาท และได้รับเลือกให้ไปทำงานฝ่ายบุคลากรที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ศูนย์รูสะมิแล (ปัจจุบันใช้ชื่อวิทยาเขตปัตตานี) ตำบลรูสะมิแล อำเภอเมืองปัตตานี จังหวัดปัตตานี เวลานั้นเป็นมหาวิทยาลัยเปิดใหม่ มีผู้อำนวยการกองการสัมพันธ์ต่างประเทศเป็นคณบดีคณะศึกษาศาสตร์

สองปีต่อมาเพิ่มศักดิ์ย้ายมาอยู่กองการประชาสัมพันธ์ในพระองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในตำแหน่งหัวหน้าสองสามแผนก ภายหลังได้เป็นเจ้าหน้าที่งานวิเทศสัมพันธ์ และได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

เป็นตำแหน่งสูงสุดในชีวิต ก่อนเกิดเหตุการณ์รัฐประหารในปี ๒๕๑๙ จึงลาออกจากงานราชการ

หนุ่มปักษ์ใต้มุ่งหาเส้นทางการเมืองต่อ ลงสมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดนครศรีธรรมราช เขตอำเภอทุ่งสง เขาเล่าว่าสมัยนั้นผู้สมัครต้องเสียค่าลงเลือกตั้ง ๗๐,๐๐๐ บาท ได้เงินเดือน ๑๕,๐๐๐ บาท แต่กลายเป็นว่ารายได้หมดไปกับค่าเดินทางไปประชุมที่กรุงเทพฯ และกลับไปดูแลสำนักงาน ดูแลลูกน้องที่อำเภอทุ่งสงทุกสัปดาห์ ทั้งยังเบิกได้เพียงค่ารถไฟ ไม่อนุญาตให้เบิกค่าที่พัก

“เราเองก็มีภาระที่ต้องรับผิดชอบหลายอย่าง เดือนหนึ่งเหลือให้ภรรยาใช้จ่ายในครอบครัวไม่ถึง ๕,๐๐๐ บาท พอปี ๒๕๒๒ ผมลงสมัครเลือกตั้ง สจ. อีกสังกัดพรรคชาติประชาธิปไตยของพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ จึงตั้งเจตนารมณ์ว่าจะไม่ยอมเสียเงินหาเสียงเลือกตั้งเด็ดขาด…เลยสอบตก”

เป็นเหตุให้ยุติบทบาททางการเมือง กลับไปใช้ชีวิตสมถะกับภรรยาและลูก ๆ ในกรุงเทพฯ ด้วยรายได้สอนพิเศษตามโรงเรียน

กระทั่ง ๔ ปีต่อมามีโอกาสมาบ้านเพื่อนที่จังหวัดนครราชสีมา และมาเที่ยวที่อำเภอวังน้ำเขียว ซึ่งเวลานั้นยังเป็นพื้นที่อันตราย มีทั้งผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์และโจรชุกชุม ฆ่ากันไม่เว้นวัน มีศพอยู่ตรงนั้นตรงนี้มากมาย เพื่อนชวนมาเที่ยวอีกจึงไม่มา

“แต่กลายเป็นว่าอีก ๕ ปีต่อมาภรรยาผมก็มาเที่ยวบ้านเพื่อนเขาที่โคราชบ้าง และมาเที่ยววังน้ำเขียวเช่นกัน พบว่ามีคนจะขายที่ดินจำนวน ๕๐ ไร่ ไร่ละ ๕,๐๐๐ บาท ภรรยาจึงตัดสินใจขายที่ดินมรดกของแม่ตัวเองที่จังหวัดระนองมาซื้อที่ดินที่วังน้ำเขียวโดยไม่ได้ปรึกษาผม”

ภรรยาของเพิ่มศักดิ์อธิบายว่า เวลานั้นเธอเป็นพยาบาลอยู่ที่โรงพยาบาลราชวิถี และดูแลลูกทั้งสี่คนอย่างดีที่สุดไปด้วย วันหนึ่งเริ่มตระหนักว่าหากยังประคบประหงมดูแลลูกแบบนี้ เมื่อไม่มีพ่อแม่แล้วพวกเขาจะอยู่อย่างไร ครั้นจะกลับไปอยู่บ้านสามีที่อำเภอทุ่งสงก็ห่างไกลจากที่ทำงานของลูก ๆ ในกรุงเทพฯ จึงตัดสินใจปรับแผนชีวิตครอบครัวครั้งใหญ่ โดยปักหลักชีวิตไว้ที่วังน้ำเขียว ให้ลูก ๆ เรียนรู้การใช้ชีวิตด้วยตนเอง และไม่ไกลเกินกว่าที่ครอบครัวจะได้พบปะ

แรกเริ่มเพิ่มศักดิ์ไม่เห็นด้วยที่จะตั้งรกรากบนผืนดินซึ่งรายล้อมด้วยถนนลูกรัง ชาวบ้านทำไร่ข้าวโพดและมันสำปะหลัง ไม่มีต้นไม้สักต้น หลัง ๔ ทุ่มไม่มีรถวิ่งผ่านสักคัน แถมโจรยังชุก เขายืนกรานขออยู่กับลูก ๆ ที่กรุงเทพฯ ภรรยาจึงแวะเวียนมาในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ จ้างแรงงานให้นำรถแทรกเตอร์มาไถปรับสภาพหน้าดิน ขุดสระน้ำสี่ถึงห้าสระ ปลูกพืชผักสวนครัว

สามปีผ่านไปเงินเก็บพร่องลงมาก เมื่อมีคนขอแบ่งซื้อที่ดินบางส่วนเธอจึงตอบตกลง และเหลือไว้ ๒๐ ไร่ จากนั้นเริ่มตระหนักว่านี่คือชีวิตจริง เมื่อใช้เงินลงทุนไปมากก็ต้องสร้างรายได้ จึงตัดสินใจลาออกจากงานพยาบาล มาเป็นเกษตรกรเต็มตัวใน “สวนสุขบำรุง” ที่ตั้งชื่อตามนามสกุลเธอ

เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เพิ่มศักดิ์เข้าสู่วัยเกษียณและรู้สึกว่ากรุงเทพฯ ไม่น่าอยู่อีกต่อไป

“ผู้คนเพิ่มจำนวนมากขึ้น แก่งแย่งกัน ทั้งระบบราชการและการเมืองไม่โปร่งใสอีกแล้ว”

ชายชราตรงหน้าพอใจจะหยุดน้ำเสียงชัดกังวานเรื่องการเมืองไว้เท่านี้

เราก็ไม่อยากรบเร้าให้เสียบรรยากาศสนทนา แต่เรื่องอาจจบไม่สมบูรณ์นักหากขาดการรับรู้เหตุการณ์สำคัญช่วงหนึ่ง ซึ่งมีส่วนต่อเนื่องถึงความเป็นอยู่เรียบง่ายในบั้นปลายชีวิตเขา

…ตามที่ทราบมาก่อนหน้า เพิ่มศักดิ์ในวัยหนุ่มใหญ่สนิทคุ้นเคยกับร้อยโท แปลก อัญชันบุตร (นายทหารคนสนิทของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์) บิดาของ เอกยุทธ อัญชันบุตร ซึ่งนับถือเขาเป็น “อาเพิ่ม” และมีส่วนสร้างสายสัมพันธ์เริ่มต้นให้เอกยุทธได้รู้จักหัวหน้าพรรคคนหนึ่ง กระทั่งนำไปสู่เส้นทางการเมืองและเรื่องราวซับซ้อนทางธุรกิจของเอกยุทธ ที่มีชื่อของเพิ่มศักดิ์เกี่ยวพันในฐานะกรรมการ…

ความผิดหวังจากการไว้ใจเป็นจุดเปลี่ยนให้ชายวัยเกษียณตัดใจทิ้งชื่อเสียง-รายได้ในเมืองหลวง ย้ายตามภรรยามาเริ่มต้นทำการเกษตรเพื่อ “เป็นนายตัวเอง” ในบ้านหลังใหม่ที่วังน้ำเขียวนับแต่ปี ๒๕๓๕

พวกเขาเริ่มจ้างชาวบ้านมาช่วยขุดหลุมเพาะพันธุ์ต้นลิ้นจี่ ลำไย กระท้อน ทุเรียน มะม่วงน้ำดอกไม้และเขียวเสวย ฯลฯ โดยซื้อเมล็ดพันธุ์จากปราจีนบุรีมาปลูก  สี่ปีต่อมาจึงออกผลรุ่นแรก เวลานั้นผลไม้ทุกชนิดในสวนของพวกเขาขายได้ราคาดีมาก มีพ่อค้าแม่ค้าคนกลางมารับถึงสวน โดยเฉพาะกระท้อนที่เคยสร้างรายได้ถึงปีละ ๒ แสนบาท

ผ่านมาจนถึงวันนี้กว่า ๒๐ ปีหลายคนบนถนนการเมืองมีทางเลือก-จุดจบชีวิตแตกต่างกัน

และหากไม่ใช่คนในแวดวงการเมืองรุ่นเก่าคงยากจะเดาว่าเกษตรกรผู้นี้เคยเป็นใคร

ชายวัย ๘๒ ปีชวนเดินรับลมชมสวนเกษตร แวะดูสระน้ำที่ขุดมานาน ๑๐ กว่าปี และหมั่นซื้อพันธุ์ปลามาเติมในสระเสมอ  ซึ่งน่าจะมีไม่ต่ำกว่า ๕ หมื่นตัวแล้ว  ชี้ให้ดูต้นจันทน์กะพ้อที่จะออกดอกรอบใหม่ในเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ ต้นบุนนาค ต้นประดู่แดง ต้นมะเม่า ต้นปาล์ม ต้นกันเกรา แปลงดอกหน้าวัว ฯลฯ ซึ่งเขาและภรรยาร่วมลองผิดลองถูกบุกเบิกผืนดินมา

“ทุกวันนี้ผมกับภรรยามีความสุขในแบบที่ควรจะเป็นมานานแล้ว ลูก ๆ ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน มีครอบครัว ดูแลตัวเองได้อย่างที่แม่เขาอยากให้เป็น มีลูกชายคนหนึ่งลาออกจากงานมาดูแลเรา เพราะเขารักชอบการเกษตรเหมือนกัน สุขภาพร่างกายผมและภรรยาก็แข็งแรงดีเพราะอยู่ในสถานที่ปลอดโปร่ง อากาศดี เดินออกกำลังกายรอบสวนทุกวัน ได้ทำเกษตร อะไรที่เหลือบ่ากว่าแรงค่อยจ้างคนงาน  ชีวิตผมก็เริ่มจากเด็กบ้านนอกลูกชาวไร่ชาวสวนอยู่แล้ว ให้กลับมาสู่รากเหง้าตัวเองอีกครั้งจึงอยู่ได้สบาย”

แม้จะมีพื้นที่ถึง ๒๐ ไร่ แต่ “บ้านปลายชีวิต” ของลุง-ป้าก็เป็นเพียงหลังเล็ก ๆ ชั้นเดียว มีข้าวของเครื่องใช้แค่จำเป็น ที่เหลือคืออาณาจักรสำหรับลมหายใจ

ชายชราผู้เคยผ่านร้อน-หนาวที่สุดในชีวิต ตระหนักว่าการใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ไม่มีอะไรยาก

เพราะทุกสิ่งทุกอย่างในโลกนี้เป็นเพียงเรื่องสมมุติ ไม่ว่ายศถาบรรดาศักดิ์ เครื่องแบบ ตำแหน่งต่าง ๆ หรือแม้แต่อายุ…ล้วนผ่านมาแล้วผ่านไป

การเริ่มต้นชีวิตใหม่จึงไม่สำคัญว่าต้องเริ่มที่อายุเท่าไร อยู่ที่ว่าเริ่มต้นคิดได้เมื่อไร

แค่วันพรุ่งนี้กำลังเดินทางมา วันวานกำลังจากไป

อีก ๒๐ ปีข้างหน้าสังคมผู้สูงอายุของไทยจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละเท่าไร หรือการจัดสรรสิ่งต่าง ๆ มารองรับประชากรส่วนใหญ่ของประเทศจะเป็นอย่างไร ไม่เห็นต้องสน

หากตัวเราเองเข้มแข็งมากพอ วัย ๖๐ ก็เป็นเพียงเวลาเปลี่ยนผ่านให้ชีวิตเข้าสู่สังคมสวย ๆ

และทุกคนก็มีสิทธิ์ออกแบบชีวิตให้สูงวัยอย่างสง่างาม

เอื้อเฟื้อสถานที่เก็บข้อมูล

  • โรงเรียนชราบาลวุฒิวิทยาลัย, OPPY Club by Loxley และโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า

เอกสารอ้างอิง

  • กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติและองค์การเฮล์พเอจ อินเตอร์เนชั่นแนล. บทสรุปสำหรับผู้บริหารสูงวัยในศตวรรษที่ ๒๑ การเฉลิมฉลองและความท้าทาย. กรุงเทพฯ : กองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ.
  • มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย. “รายงานประจำปีสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ. ๒๕๕๕.” นนทบุรี : เอสเอส พลัส มีเดีย, ๒๕๕๖.