เรื่อง : ภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์  patwajee@gmail.com
ภาพประกอบ : จัน-เจ้า-ค่ะ

หน้าร้อนนี้เครื่องดื่มยอดฮิตที่พบในสื่อโฆษณาบ่อยสุดเห็นจะเป็นชาเขียวบรรจุขวด เพราะผู้ผลิตทุ่มงบโฆษณามหาศาลเพื่อจูงใจให้กินไม่อั้น…ไม่ใช่เพราะรสชาติ แต่เพื่อชิงโชครถยนต์ คนไม่น้อยจึงหลงลืมไปว่าสิ่งที่จะได้รับก่อนรางวัลที่มีโอกาสเพียงน้อยนิดคือปริมาณน้ำตาลเกินขนาดอันจะนำไปสู่โรคเรื้อรังอย่างโรคอ้วนและโรคเบาหวาน

ในอดีตชาเขียวได้รับความนิยมเพราะกระแสรักสุขภาพ แต่ปัจจุบันชาเขียวกลับเป็นเครื่องดื่มทำลายสุขภาพเสียมากกว่า เมื่อเร็วๆ นี้นิตยสารฉลาดซื้อ นำปริมาณน้ำตาลที่ระบุบนฉลากอาหารของชาเขียวทุกยี่ห้อที่วางขายในท้องตลาดมาแปลงเป็นปริมาณน้ำตาลทรายขาวต่อช้อนชา เพื่อให้ผู้บริโภคเห็นภาพชัดๆ ว่าชาเขียวที่ดื่มมีน้ำตาลมากเพียงใด พบว่า ชาเขียวบรรจุขวดขนาด ๕๐๐ มิลลิลิตรมีน้ำตาล ๓-๑๘ ช้อนชา ปริมาณมากที่สุดคือกว่า ๑๘ ช้อนชา หรือ ๗๕ มิลลิกรัม หรือเกือบ ๑ ขีด เกินกว่าความต้องการต่อวันของร่างกายที่ต้องการน้ำตาลไม่เกิน ๖ ช้อนชาถึงสามเท่า


ขณะชาเขียวต้นตำรับที่ประเทศญี่ปุ่นไม่ใส่น้ำตาล แต่คนไทยส่วนใหญ่ไม่นิยมดื่มชาเขียวรสดั้งเดิมซึ่งมีปริมาณน้ำตาลประมาณ ๗ ช้อนชาต่อขวด ๕๐๐ มิลลิลิตร คิดเป็นความเข้มข้นน้ำตาล ๕.๖ เปอร์เซ็นต์ เพราะผลการสำรวจพบว่าคนไทยชอบเครื่องดื่มที่มีความเข้มข้นน้ำตาล ๑๐-๑๒ เปอร์เซ็นต์  ดังนั้นน้ำอัดลมบ้านเราจึงหวานกว่าต่างประเทศ  แม้แต่น้ำผลไม้สดคนไทยส่วนใหญ่ก็ยังเติมน้ำตาล ส่วนน้ำสมุนไพรเพื่อสุขภาพที่วางขายในท้องตลาดส่วนมากก็เติมน้ำตาลเช่นกัน

ยิ่งเครื่องดื่มรสหวานได้รับความนิยมเพียงใด ปริมาณผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคอ้วนก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว  จากสถิติคนไทยเสียชีวิตสูงสุดจากกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังซึ่งประกอบด้วยโรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ โรคถุงลมโป่งพอง โรคมะเร็ง โรคความดันโลหิตสูง และโรคอ้วนลงพุง ในจำนวนนี้โรคเบาหวานเป็นอันดับ ๑ ส่วนโรคอ้วนเป็นอันดับ ๓  และจากการสำรวจพบว่าการบริโภคน้ำตาลของคนไทยอยู่ในระดับอันตรายและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยบริโภคน้ำตาลเฉลี่ยคนละ ๘๓.๖ กรัมต่อวัน หรือประมาณ ๑๖.๗ ช้อนชา ซึ่งสูงกว่าเกือบสามเท่าของคำแนะนำที่ให้บริโภคน้ำตาลไม่เกินวันละ ๖ ช้อนชา ซึ่งเกือบครึ่งหนึ่งของน้ำตาลที่บริโภคอยู่ในรูปเครื่องดื่ม

ส่วนผสมอีกชนิดในชาเขียวที่น่าห่วงใยคือกาเฟอีน  นิตยสารฉลาดซื้อ ได้สำรวจเครื่องดื่มชาเขียวสำเร็จรูปที่จำหน่ายในท้องตลาดเพื่อตรวจวิเคราะห์ปริมาณกาเฟอีนโดยธรรมชาติ พบว่า ชาเขียวพร้อมดื่มขนาดบรรจุ ๕๐๐ มิลลิลิตร เกินครึ่ง (๑๕ ตัวอย่างจาก ๒๓ ตัวอย่าง) มีปริมาณกาเฟอีนเกิน ๕๐ มิลลิกรัมต่อขวด และชาเขียวขนาดบรรจุ ๖๐๐ มิลลิลิตรพบปริมาณกาเฟอีนตั้งแต่ ๗๗.๒๗-๑๐๓.๔๘ มิลลิกรัมต่อขวด ขณะที่ผู้ใหญ่ปรกติไม่ควรรับกาเฟอีนเข้าร่างกายเกินวันละ ๒๐๐ มิลลิกรัม หากรวมกับเครื่องดื่มอื่นๆ ที่ผสมกาเฟอีน เช่น กาแฟ น้ำอัดลม ย่อมมีโอกาสที่ร่างกายจะได้รับสารดังกล่าวมากเกิน

สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือกฎหมายไม่ได้กำหนดให้เครื่องดื่มชาเขียวระบุคำเตือนเกี่ยวกับกาเฟอีนไว้บนฉลากอาหาร เพราะถือว่ากาเฟอีนในชาเขียวมีอยู่ตามธรรมชาติ ไม่ได้แต่งเติมเหมือนน้ำอัดลมและเครื่องดื่มชูกำลังที่ต้องมีคำเตือนว่าห้ามดื่มเกินวันละสองขวด เพราะหัวใจจะสั่น นอนไม่หลับ เด็กและสตรีมีครรภ์ไม่ควรดื่ม  ที่ห้ามเด็กและสตรีมีครรภ์ดื่มเนื่องจากกาเฟอีนมีผลต่อทารกในครรภ์และมีผลต่อการเจริญเติบโตของสมองเด็กอายุไม่เกิน ๑๒ ปี ส่วนผู้ป่วยต้องปรึกษาแพทย์ก่อน

จึงไม่น่าแปลกใจที่เมื่อเร็วๆ นี้มีข่าวใหญ่ในสื่อสังคมออนไลน์ว่า แม่ที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ซื้อชาเขียวทุกวันเพื่อส่งฝาชิงโชค ทั้งยังให้ลูกน้อยวัยไม่กี่ขวบดื่มชาเขียวเป็นกิจวัตร  และคงมีผู้ใหญ่อีกไม่น้อยที่ซื้อชาเขียวให้เด็กดื่มโดยไม่รู้ว่ากำลังหยิบยื่นสารอันตรายแก่สมองให้เด็กๆ ซ้ำทำให้เด็กเป็นโรคอ้วน

ชาเขียวบรรจุขวดคือตัวอย่างชัดเจนว่า สิ่งที่คิดว่าดีต่อสุขภาพกลับทำร้ายสุขภาพเมื่อมีการปรุงแต่งเพื่อผลทางการค้า  ดังนั้นควรเตือนสติตัวเองอยู่เสมอว่าการดื่มชาเขียวและชาสำเร็จรูปอื่นๆ เช่น ชาขาว ชาดำ ชาแดง ซึ่งมีสูตรน้ำตาลเดียวกันกับชาเขียว มิใช่การส่งเสริมสุขภาพ หากแต่เป็นหนทางสู่โรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรืออีกชื่อเรียกว่าโรคทำตัวเอง ซึ่งแก้ไขหรือหลีกเลี่ยงได้ด้วยการปรับพฤติกรรมให้ดื่มน้อยลงหรือไม่ดื่มเลย •

ชาเขียวเพื่อสุขภาพ☛ สารคาเทชิน (catechin) ที่พบมากในชาเขียว มีฤทธิ์ช่วยเพิ่มการเผาผลาญพลังงานและไขมัน จึงส่งผลต่อการควบคุมน้ำหนักของร่างกาย
☛ การดื่มชาเขียวช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลและระดับน้ำตาลในเลือด
☛ ชาเขียวมีฤทธิ์ต่อต้านการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ
☛ การดื่มชาเขียวมีผลช่วยลดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งต่างๆ แต่ยังไม่มีงานวิจัยยืนยันการทดลองและสรุปผลว่าชาเขียวสามารถรักษาโรคมะเร็งได้
☛ คนญี่ปุ่นต้นตำรับชาเขียวเพื่อสุขภาพ นิยมชงชาดื่มเองและไม่ใส่น้ำตาล  การดื่มชาเขียวที่ชงเองนอกจากจะได้รับรสชาติและกลิ่นหอมแท้ของชาเขียว ยังได้รับประโยชน์จากสารต้านอนุมูลอิสระที่ดีกว่าเครื่องดื่มชาเขียวสำเร็จรูปซึ่งผสมน้ำตาลและมีปริมาณชาเขียวเจือจาง
☛ ชาเขียวร้อนหนึ่งถ้วยมีปริมาณสาร EGCG (ซึ่งมีฤทธิ์ทำลายตับหากบริโภคเป็นปริมาณมากติดต่อกันเกิน ๕ วัน) ประมาณ ๑๐๐-๒๐๐ มิลลิกรัม เพื่อไม่ให้เป็นอันตรายต่อตับจึงไม่ควรดื่มเกิน ๑๐-๑๒ ถ้วย
☛ ชาเขียวมีกาเฟอีน การดื่มในปริมาณมากอาจส่งผลให้นอนไม่หลับ ปริมาณที่เหมาะสมคือชงใบชา ๑-๒ ช้อนชาในน้ำร้อน วันละสามถ้วย ในระหว่างมื้ออาหาร เพื่อให้ได้ประโยชน์ต่อสุขภาพและไม่ส่งผลเสียต่อร่างกาย
☛ เครื่องดื่มชาเขียวสำเร็จรูปมีปริมาณใบชาน้อยมาก จึงมีสารสำคัญน้อย ถ้าจะดื่มเพื่อให้ได้รับประโยชน์จากสารสำคัญ อาจต้องดื่มหลายขวดต่อวัน ซึ่งแทนที่จะได้ประโยชน์กลับทำให้เสียสุขภาพเนื่องจากร่างกายได้รับน้ำตาลสูงเกินไป จึงไม่ควรดื่มชาเขียวสำเร็จรูปบ่อยและไม่ควรดื่มติดต่อกันทุกวัน

ที่มา :
ชาเขียว (Green Tea) …ดื่มอย่างไรให้ได้ประโยชน์ สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล