ศศิน เฉลิมลาภ

prukradung
ยามสายของปลายหนาว ผมพบตัวเองอยู่บนเส้นทางท่องเที่ยวบน “ภูกระดึง”

เดินผ่านร้านอาหารเจ๊กิมเจ้าเก่าแก่จากพื้นที่โซนบริการไปสู่เส้นทางน้ำตกวังกวาง ซึ่งผมรู้อยู่แล้วว่าในช่วงแล้งนี้น้ำตกไม่ค่อยมีน้ำ แต่ต้นอ่อนยอดสนสองใบ สนสามใบ และเฟิร์นใต้ต้นก็ยังงดงามอยู่ข้างทาง  แม้แล้งขนาดนี้เส้นทางเดินระหว่างทางก็ยังมีอะไรสวยๆ ให้ดู และน้ำตกวังกวางก็มีน้ำหยดรินสวยสำหรับคนชอบธรรมชาติและเข้าใจฤดูกาล แต่ผมพลันคิดถึงว่า “น่าสงสาร นักท่องเที่ยวที่หากมีกระเช้าขึ้นมาทุกฤดู แล้วจะมาดูอะไร เดินไหวไหม เดินเข้าไปก็ไกลนัก แต่ละที่ ?”

จากน้ำตกวังกวางบนเส้นทางไปน้ำตกเพ็ญพบใหม่ แม้จะแล้ง แต่ก็จินตนาการได้ว่าถ้ามีฝน ลานหิน ดงหญ้า และธรรมชาติรายทางจะสวยแค่ไหน  หากสังเกตรายละเอียดก็ยังพบความงดงามเล็กๆ  แสงแดดหน้าหนาวทำให้ร้อนและรู้สึกไกล แต่นั่นคงไม่เป็นอุปสรรคใดๆ กับคนที่ปีนภูสูงขึ้นมาได้  ผมมาถึงน้ำตกเพ็ญพบใหม่ที่มีเพียงน้ำรินๆ แต่แผ่นหินและพืชเกาะก็ทำให้จินตนาการได้ถึงฤดูที่น้ำตกไหลแผ่เป็นม่านฝอยน้ำกระเซ็น  ระหว่างทางเดินไปที่ต่างๆ นี้ผมสังเกตว่าแทบไม่มีร่องรอยของคนทิ้งขยะ ที่นี่มีการจัดการที่ดี มีป้ายบอกทางชัดเจน ป่าสนรอบตัวผมดูสมบูรณ์หนาตามากกว่าที่เคยเห็นเมื่อ ๒๐ ปีก่อนมาก

ตกเย็นผมนั่งรอเวลานัดกับพระอาทิตย์ตกที่ผาหมากดูก  กลุ่มนักท่องเที่ยวแต่งตัวกันสวยๆ สบายๆ ทุกคนดูมีความสุขกับอากาศที่เย็นลงอีกครั้ง มีแสงเย็นสวยให้ถ่ายรูปกันสนุกสนานในวันที่คนไม่มากนัก รู้สึกถึงบรรยากาศของความสุขในความสวยงามของภูมิประเทศจากความพอดีของจำนวนนักท่องเที่ยวกับพื้นที่ ไม่อึดอัด และไม่มีใครเอะอะมะเทิ่ง ทุกคนยิ้มแย้ม ให้เกียรติกัน แม้จะไม่รู้จักกันมาก่อน แต่ก็แสดงความเอื้ออาทรให้กันและกันกับการถ่ายภาพในมุมสวย  ผมนั่งมองผู้คนสลับกับท้องฟ้าและดวงอาทิตย์ พลางคิดว่าอยากให้ภูกระดึงเป็นจุดหมายของคนที่เริ่มเดินทางสัมผัสธรรมชาติด้วยสองเท้า เพื่อผลิตหัวใจที่เห็นคุณค่าของความไกล…ในวันงามของโลก  และแน่นอนว่าด้วยหัวใจใกล้ๆ กันและความรู้สึกนี้จะเป็นแนวร่วมที่มีพลังที่จะรักษามันไว้

ผาหมากดูกเป็นหน้าผาที่อยู่ใกล้จุดสร้างกระเช้าภูกระดึง และคงเป็นจุดหมายหลักให้คนขึ้นกระเช้ามาชมวิว ว่ากันว่าร้านค้าชาวบ้านที่นี่อาจอยากให้เกิดกระเช้าไวๆ ต่างจากร้านที่อื่น แต่ผมก็ไม่ได้สอบถามให้เป็นประเด็นเสียบรรยากาศงดงามในหัวใจ

ดวงอาทิตย์ลดระดับลงมาใกล้เหลี่ยมผา แสงจ้าฝ้าหมอกค่อยๆ หายไปกลายเป็นลูกกลมส้มแดงลอยอยู่เบื้องหน้า  หลังจากเดินตากแดดดูป่าสนบนเส้นทางท่องเที่ยวน้ำตกในวันที่แห้งแล้ง และเดินผ่านป่าสนสวยงามจากที่กางเต็นท์มา ๒ กิโลเมตรถึงสุดขอบผาเพื่อนั่งรอแสงสุดท้ายของวัน  ด้วยพลังขาและพลังใจ พระอาทิตย์ดวงเดียวกับที่อื่นๆ ก็กลับมีความหมายแตกต่างไป

อดคิดไม่ได้ว่าอีกหน่อยจะขึ้นมาก็แค่รอเวลาที่เหมาะ ซื้อตั๋วทัวร์ขึ้นกระเช้า ชมเสร็จแล้วก็ลงไปหาร้านอาหารหรูๆ ที่ข้างล่าง  แต่นั่นละคงไม่ใช่ความหมายเดิมๆ ของนักเดินทางรุ่นเราในวันนี้

ผมเชื่อจริงๆ ว่าคุณค่าของภูกระดึง คือความหมายแห่งการเดินไกล เพื่อมาใกล้คุณค่าของธรรมชาติ  และผมแน่ใจว่าภูเขายอดตัดสวยๆ แบบนี้ เป็นเส้นทาง trekking ที่ดีที่สุดของประเทศไทยให้คนจำนวนมากเข้าถึงได้ ไม่ไกลเกิน ไม่ลำบากเกิน แต่ขึ้นมาแล้วสวยคุ้ม

ถึงมีกระเช้าแล้วบอกว่าเส้นทางเดินก็ยังอยู่ แต่เชื่อไหม คุณค่าความหมายของภูกระดึงที่ทำหน้าที่นี้ให้ประเทศไทยมาหลายสิบปี  ความหมายร่วมกันของยุคสมัย จากรุ่นปู่ย่าตายายจนมาถึงเรา จะเป็นเพียงประวัติศาสตร์ที่หายไป

ผ่านคืนหนาวเหน็บบนภูสูงอีกคืน ผมเดินตามทางสู่หลังแปเพื่อเดินทางกลับ ขณะเดินทอดน่องสบายๆ ก่อนลงเขา มีหนุ่มหน้าเข้มเดินสวบๆ เข็นรถขนกระเป๋ามาทันผม และทักทายด้วยจำได้ว่าผมเป็นใคร เขาเปิดประเด็นเรื่องกระเช้าว่า “เขาจะสร้างแน่ใช่ไหม ?”  แหมทำอย่างกับผมเป็นคนตัดสินใจ หรือไปรู้ใจ “เขา” ซะอย่างนั้น

ชายหนุ่มเปลี่ยนจากการเข็นรถเป็นการหาบสัมภาระลงเขา เราคุยกันมาตลอดทางเกือบ ๓ กิโลเมตร ได้ความว่าชื่อเบียร์ เป็นหนุ่มใต้ที่มาได้เมียที่นี่ หาบของมาตั้งแต่ ๑๐ ปีที่แล้ว ตอนนี้อายุ ๓๐ กลางๆ  น้ำหนักรวมของกระเป๋าวันนี้ ๗๕ กิโลกรัม  เบียร์เล่าว่าครั้งแรกแบกแค่ ๑๘ กิโลกรัมเท่านั้น ใช้เวลาสะสมประสบการณ์อยู่เป็นปีกว่าจะได้ขนาดน้ำหนักนี้ ทั้งเทคนิค ความแข็งแรง และความอดทน

ผมทราบจากเบียร์ว่าตอนนี้มีคนหาบของ ๓๓๐ คน เป็นลูกหาบผู้หญิงประมาณ ๕๐ คน คนแข็งแรงหนุ่มๆ ว่ากันที่ ๖๐-๗๐ กิโลกรัม ผู้หญิงแบกได้ราวคนละ ๔๐ กิโลกรัม ลูกหาบนี้ไม่มีคนต่างถิ่นเลย อย่างเขาก็ต้องมาเป็นเขยบ้านนี้ถึงมาแบกได้  เคยมีคนตายระหว่างแบก ๑ คนเพราะโรคหัวใจ  นอกนั้นก็มีอาการกระดูกหรือเส้นเอ็นไปตามสภาพ ไม่มีอะไรร้ายแรงมาก  ตอนนี้ค่าจ้างน้ำหนัก ๓๐ บาทต่อกิโลกรัม แต่ถ้าแบกของให้ร้านค้าประจำก็ ๑๕ บาท  เดือนที่ได้งานเยอะคือช่วงพฤศจิกายนถึงมกราคม  ดังนั้นผมคำนวณคร่าวๆ ก็มีรายได้ ๕๐,๐๐๐–๑๕๐,๐๐๐ บาทแล้วแต่ความแข็งแรงและความขยัน  ร้านค้าที่ผมฝากท้องประจำ ๒ วันที่ผ่านมานี้บอกว่าตั้งแต่เปิดการท่องเที่ยวเดือนตุลาคมถึงวันนี้ จ้างแบกของขึ้นทุกวันรวม ๓ แสนกว่าบาทแล้ว นี่แค่ร้านเดียว มีร้านข้างบน ๓๒ ร้าน หมายความว่าเศรษฐกิจหรือเม็ดเงินแบกของ ๓๐-๕๐ ล้านบาทมีให้ท้องถิ่นต่อปี

ส่วนเรื่องกระเช้า เบียร์เล่าว่าเคยลงชื่อเห็นด้วย แต่ไม่ใช่ว่าเพราะเห็นด้วยจริงๆ  แต่มีคนจากกรุงเทพฯ ที่บอกว่าเป็นนักวิชาการมาจัดประชุมกับผู้นำทางการเมืองท้องถิ่นของอำเภอภูกระดึงและจังหวัดเลย ยืนยันว่า ไม่ว่าลูกหาบเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย “เขา” ก็สร้าง  พวกลูกหาบก็คิดกันว่าจะไปแสดงความไม่เห็นด้วยกับผู้ใหญ่ก็คงไม่มีทางสู้ ลงชื่อไปว่าเห็นด้วยจะได้ไม่ขัดกัน

ผมอธิบายว่า “เขา” ที่น้องพูดคือรัฐบาล ซึ่งก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ แล้วแต่ช่วงไหนใครมีอำนาจ และสนใจประเด็นนี้มากน้อยต่างกันอย่างไร  อย่างตอนคุณปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข เป็น ส.ส. จังหวัดเลย แล้วมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ท่านก็ถือโอกาสผลักดันเพราะอยู่ในอำนาจของท่าน แต่พอเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีใหม่ ซึ่งอาจไม่สนใจเรื่องนี้มาก เรื่องก็ชะลอไป เพราะในกรมอุทยานฯ ที่รับผิดชอบ คนไม่เห็นด้วยก็มี ส่วนหัวหน้าอุทยานฯ ก็ต้องเออออตามนายตามการเมืองอยู่แล้ว  คุยกันมาจนถึงปลายทางหลังแป เราแยกทางกัน ผมเดินลงเขา ส่วนเบียร์ไปเตรียมตัวเอาของขึ้นหาบที่ศาลาใกล้ๆ

จริงๆ แล้วผมไม่ชอบเห็นพี่น้องต้องมาทำงานหนักหาบของที่อาจจะสร้างผลเสียต่อร่างกาย และต้องอดทนแบกของให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปมีความสุข ชมธรรมชาติ สำราญกันบนอาชีพลูกหาบ แต่เรื่องนี้เกิดขึ้นมานานและน่าลำบากใจ  โดยส่วนตัวแล้วขึ้นภูกระดึงสามครั้งหลัง เราจำกัดของมีแค่ชุดนอน อีกชุดหนึ่งเอาขึ้นไปเอง เพราะบนภูกระดึงมีทุกอย่าง ค่าแบกของกับค่าใช้จ่ายซื้อข้าวข้างบนก็พอๆ กัน ร้านค้าเขาก็ทำธุรกิจจ้างแบกอยู่แล้ว  ประเด็นใหญ่การสร้างกระเช้าจะทำให้การกระจายรายได้สู่ลูกหาบซึ่งเป็นกลไกสำคัญของการท่องเที่ยวมานาน ปีละ ๓๐-๕๐ ล้านบาทในช่วง ๓-๔ เดือนเปลี่ยนไป  เม็ดเงินจากการท่องเที่ยวตรงสู่ชาวบ้านจะถูกแบ่งไปให้นายทุนระดับตำบล อำเภอ จังหวัด มากขึ้น เหมือนใช้อำนาจแย่งกันซึ่งๆ หน้า ส่วนที่ว่าจะบริหารและกระจายรายได้ไปหาชาวบ้านได้จริงหรือไม่ ก็เดาได้ว่าในที่สุดกำไรจะกระจุกอยู่กับใคร

ส่วนธรรมชาติน่ะหรือ หากวันนี้กำไรไม่พอ หรือขาดทุน ก็คงเพิ่มการลงทุนด้วยการทำลายธรรมชาติมากขึ้น ทำถนน เพิ่มรถ ทำรถราง ทำที่พักมีไฟฟ้าสิ่งอำนวยความสะดวกขึ้นบนภู เพิ่มวิธีให้คนขึ้นไปเที่ยวอย่างที่เคยเห็นๆ  ส่วนที่ดินรอบภูกระดึง แค่ข่าวมีกระเช้าก็มีโปรเจกต์สารพัด แน่นอนว่าใครมีสตางค์ซื้อที่ไว้ปั่นเงินรวยกันไปก่อนนานแล้ว  คนแบกของที่ทรหดอดทน แข็งแรงเกินมนุษย์ ๓๓๐ คน ย่อมไม่มีความหมายอะไรกับความแรงของความอยาก ความไม่พอของ “เขา”

ผมลงมาถึงตีนภูตอนเที่ยงวัน…พร้อมคำถามว่าจะมีโอกาสขึ้นไปข้างบนอีกครั้งไหม

โดยวิธีเดิน หรือขึ้นกระเช้า…ก็ยังไม่รู้สินะ