ธัชชัย วงศ์กิจรุ่งเรือง

standby

ปุ่มหรือวงจรในเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ช่วยให้การเปิดเครื่องใหม่เร็วขึ้นหลังการปิดโดยไม่ถอดปลั๊กไฟ มีในเครื่องใช้ไฟฟ้าสมัยใหม่หลายชนิด เช่น โทรศัพท์บ้านแบบไร้สายคอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ ฯลฯ  อลัน ไมเออร์ (Alan Meier) นักวิทยาศาสตร์แห่งศูนย์วิจัยแห่งชาติลอว์เรนซ์เบิร์กลีย์ (Lawrence Berkeley National Laboratory) ประมาณการไว้ในปี ๒๕๔๑ ว่า ปุ่มสแตนด์บาย (standby power) ทำให้เสียค่าไฟฟ้ากว่า ๒ พันล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีเฉพาะในสหรัฐอเมริกา

  • แม้จะช่วยให้ผู้ใช้สะดวกสบาย และกินไฟไม่มาก เพียง ๑-๒๕ วัตต์ แต่ปุ่มนี้ก็ถูกเรียกในเชิงลบว่าตัวดูดพลังงานเพราะก่อให้เกิดพฤติกรรมการใช้พลังงานสิ้นเปลือง เมื่อเปิดสะสมไว้เป็นวัน เป็นสัปดาห์ในเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายพันล้านเครื่องทั่วโลกก็เปลืองไฟฟ้ามหาศาล
  • การใช้ไฟฟ้าในบ้านจากปุ่มหรือวงจรประเภทนี้มีสัดส่วนเฉลี่ย ๕-๑๐ เปอร์เซ็นต์ของค่าไฟฟ้าในบ้าน
  • ในปี ๒๕๕๐ องค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) เปิดเผยว่า ปุ่มนี้สร้างก๊าซเรือนกระจกเป็นอัตราส่วน ๑ เปอร์เซ็นต์ หรือราว ๘๕๗ ล้านตัน (ธุรกิจการบินท่องเที่ยวสร้างก๊าซเรือนกระจกในอัตราส่วน ๓ เปอร์เซ็นต์)  อุปกรณ์ที่กินไฟมากที่สุดจากการใช้ปุ่มดังกล่าว คือทีวีพลาสมา
  • รายงานของคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) ระบุว่า เครื่องใช้ไฟฟ้าคือสาเหตุของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง ๓๗ เปอร์เซ็นต์ หรือกว่า ๑ หมื่นล้านตัน
  • นับตั้งแต่ปี ๒๕๔๒ IEA จัดงานรณรงค์ขอความร่วมมือบริษัทต่างๆ ให้ลดการใช้ไฟฟ้าจากปุ่มสแตนด์บายเหลือไม่เกิน ๑ วัตต์ ซึ่งคาดการณ์ว่าเฉพาะปี ๒๕๕๓ จะประหยัดไฟฟ้าได้ถึง ๕๐ ล้านตันในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว
  • ปัจจุบันหลายองค์กรคิดค้นปุ่มสแตนด์บายที่ประหยัดไฟมากขึ้น ผู้บริโภคควรศึกษาข้อมูลก่อนซื้อ  การถอดปลั๊กและอุปกรณ์ต่างๆ หลังการใช้งานยังเป็นวิธีลดการสิ้นเปลืองพลังงานได้ดีที่สุด

 

ที่มา : cnet.com, economist.com, ipcc.ch, co2now.org, iea.org

ที่มาภาพ : http://www.constructaquote.com/Media/Default/ContentImages/standby.jpg