เรื่อง : ศรัณย์ ทองปาน     ภาพ : ฝ่ายภาพ สารคดี

ขบวนธรรมยาตราแห่แหนรูปเหมือนครูบาศรีวิชัยจากอำเภอลี้มายังปลายทางคือวัดพระธาตุหริภุญชัย กิจกรรมนี้เป็นเสมือนการย้อนรอยประวัติศาสตร์เมื่อครั้งท่านเดินทางเข้ารับการไต่สวนในลำพูนเมื่อปี ๒๔๖๒

อนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัยที่เชิงดอยสุเทพเป็นที่เคารพสักการะทั้งสำหรับคนเมืองเชียงใหม่และคนต่างถิ่น

ว่ากันว่าไม่มีวันไหนที่หน้าอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัยเชิงดอยสุเทพจะปราศจากดอกไม้ ควันธูป และแสงเทียน

แม้จะเป็นช่วงเช้าวันธรรมดา แต่ลานหน้าอนุสาวรีย์ครูบาก็มีผู้คนคึกคัก ทั้งเด็กเล็ก หนุ่มสาว และผู้เฒ่าผู้แก่ ทุกคนมาสักการะปิดทองรูปเหมือนของท่านด้วยนับถือว่าศักดิ์สิทธิ์นัก  กลิ่นควันธูปอวลในอากาศ ดอกดาวเรืองกองสูงถึงครึ่งองค์ รถยนต์ที่แล่นผ่านยังต้องกดแตรแสดงคารวะไม่เว้นคัน

คนทั่วไปรู้จัก “ครูบาศรีวิชัย” (ปี ๒๔๒๑-๒๔๘๑) ในฐานะผู้สร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ ถนนสายนั้นจึงมีชื่อเป็นอนุสรณ์ว่า “ถนนศรีวิชัย”

แต่ถ้าสังเกตสักนิดจะเห็นว่า ที่ดูแปลกคือนอกจากดอกไม้มาลัยตามปรกติ ยังมีคนนำไข่มาไหว้ครูบาเป็นจำนวนมาก มีตั้งแต่ใส่ถุงหูหิ้วพลาสติก วางกองในกระบะ จนถึงยกแผงไข่ซ้อนมัดกันมา  ตะกร้าบางใบผมประเมินด้วยสายตาแล้วน่าจะบรรจุไข่ร้อยใบขึ้นไป

ฝั่งตรงข้ามอนุสาวรีย์มีร้านขายดอกไม้ธูปเทียนเรียงแถวนับสิบร้าน แม่ค้าสาว ๆ ยืนถือดอกไม้ธูปเทียนส่งเสียงเจื้อยแจ้วเรียกลูกค้า  น้องนางหนึ่งตอบคำถามผมว่า เราบนบานครูบาได้ทุกเรื่อง ตั้งแต่ขายบ้านขายที่ดินจนถึงขอลูก  ส่วนใหญ่นิยมบนด้วยไข่ต้ม แต่ที่ถวายเป็นไข่ดิบก็มี  จะถวายเท่าไรก็ได้ เพียงมักให้ลงท้ายเป็นเศษ ๙ อย่างถ้าเป็นเรื่องใหญ่ ๆ บนที ๙๙๙ ใบก็มี

สาวแม่ค้าหน้าใสร้านข้าง ๆ ไขปริศนาเรื่องไข่ให้ผมฟัง

“สมัยครูบายังมีชีวิต ท่านฉันมังสวิรัติ ชาวบ้านเอาไข่ใส่บาตร ท่านไม่ชอบ พอท่านมรณภาพแล้ว คนก็เลยเอาไข่มาถวาย”

“อ้าว ! ทำไมล่ะ ก็ท่านไม่ชอบนี่” ผมแย้ง

เธอบรรยายต่อ “ท่านไม่ชอบ ขออะไรก็ให้หมด คนเลยเอาไข่มาถวาย”

“พระอาจารย์ท่านเล่าให้ฟัง…” เธอสำทับเหมือนกลัวผมจะไม่เชื่อ

ประวัติการสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพในปี ๒๔๗๗ เริ่มต้นจากการที่หลวงศรีประกาศ (ฉันท์ วิชยาภัย) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเชียงใหม่ (ภายหลังได้เป็นนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ถึงหกสมัย) ดำริว่าต้องการจะปักเสาเดินสายไฟฟ้าขึ้นไปยังวัดพระธาตุ-ดอยสุเทพ ปูชนียสถานสำคัญของเมืองเชียงใหม่ จึงนำความไปเรียนหารือกับครูบาศรีวิชัย พระสงฆ์ผู้เป็นที่เคารพนับถือของผู้คนทั่วทั้งภาคเหนือ

ตามธรรมเนียมล้านนาโบราณ พระสงฆ์ที่จะขนานนามว่า “ครูบา” ได้จะต้องเป็นพระเถระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มีพรรษากาลสูง คือบวชมานานหลายสิบปี และที่สำคัญคือสมัญญานี้ไม่ใช่คำที่ใช้เรียกตัวเอง หากแต่ต้องเป็นการยกย่องจากสังคมว่าเป็นพระผู้ใหญ่ที่กราบไหว้ได้โดยสนิทใจ

ครูบาศรีวิชัยแนะหลวงศรีประกาศว่าให้สร้างทางรถยนต์ก่อน แล้วไฟฟ้าก็คงตามไปไม่ยาก และท่านรับปากว่าจะช่วยเหลือเรื่องนี้ให้สำเร็จให้จงได้

แต่การตัดถนนขึ้นดอยสุเทพถือเป็นเรื่องใหญ่มาก ก่อนหน้านั้นราวปี ๒๔๖๐ ทางราชการเคยสำรวจแนวถนน แต่ติดขัดที่ใช้งบประมาณสูงถึง ๒ แสนบาทและต้องใช้เวลา ๓ ปี รัฐบาลยังไม่มีเงินเพื่อการนี้  หลวงศรีประกาศบันทึกไว้ว่า หลังจากฟังความเห็นของครูบา ตนเองก็ยังลังเลจึงลองนำความไปกราบทูลเจ้าแก้วนวรัฐ  เจ้าหลวงเชียงใหม่ตอบอย่างมั่นใจว่า “ครูบาศรีวิชัยท่านมีอะไรของท่านอย่างหนึ่ง ถ้ารับรองว่าสำเร็จเป็นสำเร็จแน่”

เมื่อตกลงกันเป็นที่เรียบร้อย หลวงศรีประกาศจึงทำหนังสือแจ้งไปยังเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ซึ่งได้อนุมัติให้นายช่างมาช่วยสำรวจแนวทางตัดถนน  ครูบาศรีวิชัยเห็นชอบตามนั้นพร้อมรับหน้าที่เป็นประธานการสร้างถนนสายนี้ให้เสร็จ โดยกำหนดฤกษ์เวลา ๑๐.๐๐ น. วันที่ ๙ พฤศจิกายน ๒๔๗๗

ครูบาโสภา หรือครูบาเถิ้ม วัดแสนฝาง สหายธรรมผู้ใกล้ชิดของครูบาศรีวิชัย ทักท้วงว่า ตามฤกษ์นี้ถนนคงสำเร็จ แต่จะมีปัญหายุ่งยากตามมาอีกมาก น่าจะหาฤกษ์ใหม่ และควรต้องนิมนต์พระเถระชั้นผู้ใหญ่ในเมืองเชียงใหม่มาเจริญชัยมงคลคาถา บางทีจะได้อาศัยบารมีของท่านเหล่านั้นช่วยเป็นกำลังด้วย แต่ครูบาศรีวิชัยไม่เห็นด้วยทั้งสองเรื่อง เพราะถ้าเปลี่ยนกำหนดฤกษ์ ท่านเองติดกิจนิมนต์ต้องไปที่อื่น และเห็นว่าไม่ควรรบกวนพระสังฆาธิการ

ในที่สุดเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าหลวงเชียงใหม่ ก็ทรงเป็นผู้ลงจอบแรกฟันดินตามฤกษ์เดิม ติดตามด้วยหลวงศรีประกาศ และคนอื่น ๆ ระหว่างนั้นครูบาเถิ้มและพระสงฆ์ในคณะของครูบาศรีวิชัยร่วมกันสวดชัยมงคลคาถา ณ ตำแหน่งที่ตั้งอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัยในปัจจุบัน

ระยะแรกมีแรงงานช่วยทำถนนแค่ไม่กี่สิบคน หลวงศรีประกาศจึงให้พิมพ์ใบปลิวฎีกาบอกบุญที่แต่งเป็นค่าว (บทร้อยกรองของล้านนา) ออกแจกจ่ายทั่วภาคเหนือ  บางแหล่งข้อมูลว่าพิมพ์สองครั้ง ครั้งละ ๕,๐๐๐ ใบ บ้างว่าพิมพ์มากถึง ๕ หมื่นใบ

แม้จะยังไม่เคยพบต้นฉบับของจริงเลยสักใบ แต่จนถึงยุคทศวรรษ ๒๕๓๐ หรือราว ๖๐ ปีให้หลัง เมื่อ โสภา ชานะมูล เก็บข้อมูลทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโท สาขาวิชาประวัติศาสตร์ ว่าด้วยครูบาศรีวิชัย ก็ยังหลงเหลือคนรุ่นผู้ใหญ่ที่ท่องจำคำค่าวในใบปลิวนั้นได้

“หลวงศรีแต่งไจ้ ใบแพร่ดีก๋า ไปทั่วนานา บ้านนอกคอกห้วย…”

ปากต่อปาก ในไม่ช้าผู้คนทั่วทั้งภาคเหนือไปจนถึงสุโขทัย พิษณุโลก ทั้งฆราวาส ภิกษุสงฆ์ และชาวเขาชนกลุ่มน้อย ต่างหลั่งไหลมาร่วมงานนี้กับครูบาศรีวิชัย ประมาณวันละไม่ต่ำกว่า ๕๐๐ คน

หลวงศรีประกาศบันทึกไว้ว่า

“วิธีการรับทำถนนสายนี้โดยให้เข้ากันเป็นพวกหรือหมู่ เรียกตามภาษาเหนือว่าศรัทธา คือทายก-ทายิกาของวัดใดวัดหนึ่งร่วมกันรับตอนหนึ่ง แล้วแต่มีคนมากและน้อย”

พระครูจันทสมานคุณ หรือหลวงปู่หล้า (ปี ๒๔๔๑-๒๕๓๖) อดีตเจ้าอาวาสวัดป่าตึง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เล่าว่าเคยพาญาติโยมวัดป่าตึงไปช่วยทำถนนตั้งแต่ช่วงแรก ๆ

“การสร้างถนนมีการแบ่งงานกันตามกำลังของผู้ไปร่วม  ชาวบ้านที่ติดตามไปจากวัดป่าตึงทำได้ ๕ วา ใช้เวลา ๑๔ วัน  พวกที่ไปจากเมืองพานทำได้ ๖๐ วา”

จนเดี๋ยวนี้ใครที่นั่งรถขึ้นดอยตรงทางโค้งช่วงสุดท้ายก่อนถึงเชิงบันไดนาควัดพระธาตุดอยสุเทพ จะเห็นว่าตรงนั้นเป็นโค้งหักศอกที่ลาดชัน เล่ากันว่าโค้งอันตรายนี้เคยเกิดอุบัติเหตุมีคนตายหลายสิบราย

พระยาประกิตกลศาสตร์ (รุณชิต กาญจนะวณิชย์) คณบดีคนแรกของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เคยเล่าให้ศาสตราจารย์อัน นิมมานเหมินท์ ลูกศิษย์ในคณะฟังว่า สมัยที่ท่านยังเป็นนายช่างใหญ่กรมโยธาเทศบาล เคยส่งนายช่างจากกองทางไปช่วยครูบาศรีวิชัยเพื่อให้คำแนะนำด้านเทคนิคสำหรับการตัดถนนให้รถยนต์แล่นได้ตามหลักวิชา แต่ครูบาศรีวิชัยก็มีความเห็นของท่านเองเสมอ  “ส. สุภาภา” บันทึกปากคำของเจ้าคุณประกิตฯ ไว้ว่าความขัดแย้งครั้งสำคัญคือโค้งสุดท้ายก่อนถึงวัดพระธาตุฯ

“การสร้างถนนมาถึงตอนนี้ นายช่างกองทางจึงวางแนวถนนให้วกอ้อมไปทางทิศเหนือเพื่อจะเลี่ยงความสูงชันของระดับดิน ให้ถนนค่อย ๆ ขึ้น แต่ครูบาศรีวิชัยไม่เห็นด้วย ท่านบอกว่าจะถึงพระธาตุฯ อยู่แล้ว ทำไมจะต้องอ้อมไปให้ไกลอีก ในที่สุดท่านก็ชนะ”

เมื่อนายช่างกองทางยอมแพ้ ผู้ที่อาสารับผิดชอบตัดถนนช่วงนี้แทนคือขุนกันชนะนนถี คหบดีชาวไต (ไทยใหญ่) จากเชียงตุง โค้งนั้นจึงเรียกกันว่า “โค้งขุนกัน” มาจนทุกวันนี้

ดูจากรายชื่อผู้สนับสนุนโครงการตัดถนน ส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มคนชั้นสูงของสังคมเชียงใหม่ เช่น เจ้าแก้วนวรัฐ หลวงศรีประกาศ  แต่เมืองเชียงใหม่ก็เหมือนเมืองใหญ่ทั่วไปที่ประกอบด้วยผู้คนหลากเชื้อชาติ โยมอุปัฏฐากคนสำคัญหลายคนของครูบาก็มาจากกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ เช่น นอกจากขุนกันชนะนนถี ยังมีหลวงอนุสารสุนทร (สุ่นฮี้ ชัวย่งเสง) พ่อค้าจีนคนสำคัญของเชียงใหม่

พลังศรัทธาจากกลุ่มชาติพันธุ์ยังหลงเหลือร่องรอยในประวัติศาสตร์บอกเล่าด้วย  ผศ. วิลักษณ์ ศรีป่าซาง ผู้เขียนหนังสือ ตนบุญล้านนา ประวัติครูบาฉบับอ่านม่วน ๒ ว่าด้วยประวัติชีวิตและวัตถุมงคลอันเกี่ยวเนื่องกับครูบาศรีวิชัย ท่านเล่าให้ผมฟังว่าจากที่เคยเก็บข้อมูลปากคำผู้เฒ่าผู้แก่ในช่วง ๒๐-๓๐ ปีที่ผ่านมา เรื่องการสร้างทางขึ้นดอยสุเทพถือเป็นความทรงจำร่วมของคนรุ่นนั้น แทบทุกคนจะมีเรื่องเล่าของตัวเอง

“กำลังสำคัญคือกะเหรี่ยงนอกหรือกะเหรี่ยงที่มาจากพม่า พวกที่อยู่กับบริษัทป่าไม้  พวกนี้เรื่องตัดไม้ ทำลายหิน กรุยทาง เขาเก่งอยู่แล้ว เขามีเทคโนโลยี อย่างเช่นหินก้อนผาที่ขวางทางอยู่ จะทำอย่างไร รถเครนก็ไม่มี กลางคืนเขาก็สุมไฟเผา ตอนเช้าก็ตักน้ำมารด มันก็ยุ่ยออกเป็นทาง”

นับจาก “จอบแรก” ถนนทางขึ้นดอยสุเทพระยะทางเกือบ ๑๒ กิโลเมตรสำเร็จลงเมื่อสิ้นเดือนเมษายน ปี ๒๔๗๘ หรือภายในระยะเวลาไม่ถึง ๖ เดือน

ก่อนหน้าถนนของครูบา คนเชียงใหม่แต่โบราณมีประเพณีเดินขึ้นดอยสุเทพไปสักการะพระบรมธาตุเจดีย์ในช่วงวันเพ็ญมาฆบูชา เป็นการจาริกแสวงบุญสำคัญประจำปีที่ต้องใช้เวลาเดินลัดเลาะขึ้นเขาในความมืดเป็นครึ่งค่อนคืน  ดังนั้นสำหรับครูบาศรีวิชัยถนนสายนี้ยังมีอีกความหมายซ้อนเหลื่อม คือเป็น “มรรค” หรือเส้นทางสู่พระนิพพาน เพราะระหว่างทางท่านวางแผนจะให้สร้างวัดขึ้นสามแห่ง คือ วัดศรีโสดา วัดสกิทาคา และวัดอนาคามี อันหมายถึงลำดับขั้นบรรลุธรรมของพระอริยบุคคล จากโสดาบันสู่สกิทาคามี และอนาคามี โดยมุ่งหมายว่าวัดพระธาตุดอยสุเทพบนยอดเขานั่นแหละคืออรหัตผล หรือภาวะของพระอรหันต์

เดี๋ยวนี้วัดศรีโสดาและวัดสกิทาคา (ผาลาด) ยังมี ส่วนวัดอนาคามีนั้นยังไม่ทันสร้างก็เกิดเหตุใหญ่ขึ้นก่อน

อาจเป็นเพราะครูบาศรีวิชัยอาจหาญรับงานที่แม้แต่รัฐบาลที่กรุงเทพฯ ก็ยังทำให้ไม่ได้ อาจด้วยการรวมแรงศรัทธาจากคนทุกเพศทุกวัยทุกเชื้อชาติทั่วทั้งเมืองเหนือ หรืออาจสืบเนื่องจากความสำเร็จอันเป็นเสมือนปาฏิหาริย์ในการสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพเสร็จภายในเวลาไม่กี่เดือน  พอถึงช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ๒๔๗๘ ปรากฏว่าเจ้าอาวาสวัดต่าง ๆ ถึง ๙๐ วัด ทั้งในเชียงใหม่ ลำพูน และเชียงราย เฮละโลไปยื่นหนังสือขอลาออกจากการปกครองของคณะสงฆ์ส่วนกลาง ส่งคืนใบสุทธิ (เทียบได้กับบัตรประจำตัวของสงฆ์) แล้วขอขึ้นตรงกับครูบาศรีวิชัยตามระบบหัวหมวดอุโบสถโบราณ  ทางครูบาศรีวิชัยก็ออกใบสุทธิใหม่ประทับตราหัวเสืออันหมายถึงปีขาลซึ่งเป็นปีเกิดของท่านมอบให้แทน ซึ่งเท่าที่พบบัญชีมีการออกใบสุทธิเป็นจำนวนกว่า ๒,๐๐๐ ฉบับสำหรับพระสงฆ์จำนวนเท่ากันนั้น

คณะสงฆ์ล้านนาแต่โบราณมิได้มีการรวมศูนย์อำนาจ หากแต่ใช้ระบบแบ่งแยกการปกครองวัดเป็นสำนักหรือกลุ่มย่อย ๆ ซึ่งเรียกว่า “หัวหมวดอุโบสถ” อุปัชฌาย์อาจารย์ผู้เป็นเจ้าหมวด มีหน้าที่ดูแลปกครองวัดในกลุ่มในท้องที่ และมีอำนาจอุปสมบทพระภิกษุภายในเขตของตน โดยเมื่อบวชกับพระรูปใดให้ถือว่าอยู่ในปกครองของพระอาจารย์ท่านนั้น  แต่ระบบนี้ก็เสื่อมสลายไปนับแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อล้านนาถูกผนวกเข้าเป็นมณฑลพายัพของสยาม อำนาจทางการเมืองและการทหารของกรุงเทพฯ เข้าควบคุมดินแดนล้านนาพร้อม ๆ กับการปกแผ่อำนาจการปกครองคณะสงฆ์จากส่วนกลาง

การพยายามหยุดเวลา ย้อนกลับสู่ยุคหัวหมวดอุโบสถของคณะสงฆ์ล้านนาเมื่อปี ๒๔๗๘ ยังเกิดขึ้นควบคู่การต่อต้านการเรียนภาษาไทยกลางและระบบโรงเรียนของรัฐบาล เช่น ในเขตอำเภอลี้มีรายงานว่าโต๊ะเก้าอี้ของโรงเรียนประชาบาลถูกแอบเผาบ้าง โยนทิ้งในป่าบ้าง

กรณีนี้มีการรายงานด่วนยังคณะรัฐมนตรีที่กรุงเทพฯ ปัญหาเฉพาะหน้าคือต้องหาทางนำตัวครูบาศรีวิชัยออกจากเชียงใหม่ให้เร็วที่สุดเพื่อตัดตอนเหตุอันอาจแผ่ขยายลุกลามโดยง่าย  ข้อเสนอมีต่าง ๆ กันไป เช่น จะให้ครูบาศรีวิชัยลงมาควบคุมการบูรณะพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่วิหารพระมงคลบพิตร พระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีญาติโยมทางกรุงเทพฯ เคยนิมนต์ไว้ตั้งแต่ช่วงก่อนหน้า แต่ข้อเสนอนี้ก็ตกไปเพราะเกรงว่าครูบาอาจผัดผ่อนไม่ยาก

สุดท้ายหลังจากออกพรรษาปี ๒๔๗๘ ทางราชการจึงนิมนต์ครูบาศรีวิชัยมารับการอบรมและซักซ้อมความเข้าใจ (ตามสำนวนปัจจุบันคงเรียกว่า “ปรับทัศนคติ”) ที่กรุงเทพฯ  ข้าหลวง (ผู้ว่าราชการจังหวัด) ประจำจังหวัดเชียงใหม่ต้องเดินทางมาส่งด้วยตัวเอง โดยจัดที่พักถวายครูบา ณ ตำหนักสมเด็จ วัดเบญจม-บพิตรฯ พ่วงด้วยข้อหามากมาย ตั้งแต่การเป็นอุปัชฌาย์เถื่อน การออกใบสุทธิโดยไม่มีอำนาจ ไปจนถึงการตัดไม้ทำลายป่าระหว่างการสร้างถนนขึ้นดอยสุเทพ และการบูรณะโบราณสถานโดยไม่ขออนุญาตจากทางราชการ

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่พระสงฆ์ผิวขาวร่างเล็กรูปนี้ถูกส่งมากักตัวที่วัดเบญจมบพิตรฯ ในกรุงเทพฯ และไม่ใช่ครั้งแรกที่ท่านโดนข้อกล่าวหามากมาย เรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำอีกในช่วง ๒๐ กว่าปีก่อนหน้า

นับแต่กฎหมายใหม่จากรัฐบาลสมบูรณาญาสิทธิราชย์กรุงเทพฯ ค่อย ๆ ประกาศใช้ให้แผ่ขยายครอบคลุมพื้นที่มณฑลต่าง ๆ ที่มีผลสำคัญต่อคณะสงฆ์ในล้านนาคือ พระราชบัญญัติลักษณะปกครองคณะสงฆ์ ร.ศ. ๑๒๑ (พ.ศ. ๒๔๔๕) และพระราชบัญญัติลักษณะการเกณฑ์ทหาร ร.ศ. ๑๒๔ (พ.ศ. ๒๔๔๘) การปกครองคณะสงฆ์แบบรวมศูนย์อำนาจที่กรุงเทพฯ จึงแทนที่ระบบหัวหมวดอุโบสถ สงฆ์พื้นเมืองบางส่วนถูกดึงเข้าสู่โครงสร้างใหม่ ได้รับตำแหน่งและสมณศักดิ์ในฐานะผู้ปกครองสงฆ์ท้องถิ่น ขณะอำนาจบรรพชาอุปสมบทที่เคยเป็นของพระเถระในหัวหมวดอุโบสถกลับกลายเป็นเอกสิทธิ์เฉพาะพระอุปัชฌาย์ที่ได้รับแต่งตั้งตามกฎหมายเท่านั้น พร้อม ๆ กับที่เด็กหนุ่มล้านนาซึ่งเคยบวชเป็นพระสงฆ์ได้ตามศรัทธาโดยได้รับยกเว้นจากการเกณฑ์แรงงานในยุคเดิมก็ต้องถูกเกณฑ์เข้าเป็นทหารหลวงทั้งหมด

ปฏิกิริยาที่มีต่อความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ทำให้พระศรีวิชัย เจ้าอาวาสวัดบ้านปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ต้องอธิกรณ์ (คือถูกกล่าวโทษเพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาโดยคณะสงฆ์ผู้มีอำนาจ) หลายครั้งด้วยเรื่องเป็นพระอุปัชฌาย์บวชลูกหลาน
ชาวบ้านโดยไม่ได้รับการแต่งตั้งบ้าง การขัดคำสั่งเจ้าคณะแขวง ไม่เข้าร่วมประชุมบ้าง ข้อกล่าวหาทำนองนี้มีมาเป็นระยะ ๆ  พระศรีวิชัยเคยถูกลงโทษกักตัวไว้ที่วัดหลวง (วัดพระธาตุหริภุญชัย อำเภอเมืองลำพูน) นับปีก็ครั้งหนึ่ง แต่หนที่รุนแรงกว่าเพื่อนคือในปี ๒๔๖๒

ครั้งนั้นพระศรีวิชัยถูกเจ้าหลวงลำพูนเรียกตัวเข้าเมืองลำพูนเพื่อรับการไต่สวน

พ่ออุ๊ยสิงห์คำ อิ่นมา (ปัจจุบันถึงแก่กรรมแล้ว) เป็นหลานน้าของครูบาศรีวิชัย เพราะแม่ของพ่ออุ๊ยเป็นพี่สาวของท่าน  ในวัยเยาว์พ่ออุ๊ยคือหนึ่งในแปดของพระสงฆ์สามเณรที่ครูบาบวชให้ในคราวนั้น  พ่ออุ๊ยเคยให้สัมภาษณ์นิตยสาร สารคดี ขณะอายุ ๙๒ ปีเมื่อปี ๒๕๓๙ ว่า

“ครูบาท่านถูกฟ้องตอนบวชพ่ออุ๊ย คราวนั้นท่านบวชพระเณรทั้งหมดแปดรูปด้วยกัน  ทางคณะสงฆ์ลำพูนเขากล่าวหาว่าท่านบวชโดยไม่ได้รับอนุญาต เขาเอาตัวท่านไปกักไว้ที่ลำพูน  เวลานั้นพ่ออุ๊ยต้องสึกจากเณร เพราะท่านสั่งไว้ว่าถ้าใครกลัวความหรือกลัวถูกจับ ให้หนีเอาตัวรอด…”

ตำนานครูบาศรีวิชัยแบบพิสดาร ซึ่งแต่งขึ้นเมื่อปี ๒๔๗๒ หรือ ๑๐ ปีให้หลังจากเหตุการณ์ บรรยายฉากการเริ่มต้นเดินขบวนในครั้งนั้นว่า

“ฝ่ายสงฆ์สามเณรทั้งหลายก็พากันตกแต่งคุมผ้ามัดอก ลูกประคำห้อยคอ ถือวีและไม้เท้า  ศิษย์โยมนักบวชทั้งหลาย บางพวกถือระฆัง กังสดาล บัณเฑาะว์ หอยสังข์ ฆ้อง กลอง ดีดสีตีเป่าไปก่อนหน้าและตามหลังเจ้าภิกขุตนนั้นออกจากอรัญญาวาส คือวัดศรีทรายมูลบุญเรือง ตำบลบ้านปาง รวมทั้งคฤหัสถ์นักบวชประมาณ ๑๕๐๐ เศษ ก็ยกออกมาตามอรัญญวิถีมัคคีรี”

อุโบสถเก่าของวัดบ้านโฮ่งหลวงที่สิริวิชฺโยภิกฺขุ หรือพระศรีวิชัย เข้าพิธีอุปสมบทเมื่อปี ๒๔๔๒ ปัจจุบันตั้งอยู่ริมทางหลวงแผ่นดินสาย ๑๐๖ (เถิน-เชียงใหม่) ที่แปลกคืออุโบสถหลังนี้อยู่ห่างจากตัววัดบ้านโฮ่งหลวงมากพอดู นั่นคงเป็นเพราะในคติล้านนาอุโบสถไม่ใช่สิ่งจำเป็นที่ต้องมีในทุกวัด ด้วยใช้ร่วมกันได้

การถ่ายภาพนับเป็นสื่อสมัยใหม่ที่ใช้เผยแพร่ความนับถือครูบาศรีวิชัยมาตั้งแต่อดีต ดังปรากฏภาพถ่ายรุ่นเก่าใส่กรอบแขวนฝาเรือนเพื่อกราบไหว้บูชามากมายทั่วล้านนา ภาพจำหรือ “ภาพติดตา” ของครูบาศรีวิชัยที่คุ้นเคยกันก็มีที่มาจากภาพเหล่านี้ (เอื้อเฟื้อภาพ : ผศ. วิลักษณ์ ศรีป่าซาง)

ในปัจจุบันครูบาศรีวิชัยกลายเป็น “พระเกจิ” ระดับชาติ นับถือกันทั่วประเทศ นอกพ้นเขตล้านนาอันเป็นถิ่นฐานเดิมของท่าน เช่นที่พบในร้านอาหารริมบึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์

จากวัดบ้านปางท่านกับเหล่าลูกศิษย์ลูกหาเดินเท้าระยะทางร่วม ๑๐๐ กิโลเมตรรอนแรม ๕ วัน ๕ คืน ค่ำไหนนอนนั่น ดังมีบันทึกว่าคืนแรกพักที่พระบาทสามยอด อำเภอบ้านโฮ่ง คืนที่ ๒ ถึงวัดบ้านโฮ่งหลวง อำเภอบ้านโฮ่ง คืนที่ ๓ ค้างที่วัดป่าตาล อำเภอป่าซาง คืนที่ ๔ และคืนที่ ๕ พักที่วัดต้นโชคและวัดสันต้นธงในอำเภอเมือง ตามลำดับ

ตามเรื่องที่เล่ากันมา ผู้คนที่ติดตามไปส่งท่านยังเมืองลำพูนมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตลอดทาง จนสุดท้ายเมื่อถึงวัดพระธาตุหริภุญชัยก็กลายเป็นฝูงชนประมาณ ๓,๐๐๐ คน

ในวันนั้นเมื่อศตวรรษที่แล้ว “ม็อบ” ที่ตามครูบาหวิดปะทะกับเจ้าหน้าที่ด้วยความตึงเครียด มีดพร้ากระท้าขวานที่มีติดไม้ติดมือชาวบ้านยามเดินทางถูกตรวจยึดไป ตำรวจอนุญาตให้เฉพาะพระเณรที่มาจากวัดบ้านปางเท่านั้นเข้าเขตวัดพระธาตุหริภุญชัย

เมื่อเห็นว่าเกินความสามารถควบคุมสถานการณ์ ทางลำพูนจึงร้องขอให้อุปราชมณฑลพายัพ คือหม่อมเจ้าบวรเดช กฤดากร (ภายหลังเป็นพระองค์เจ้า) สั่งย้ายการควบคุมไปยังเมืองเชียงใหม่ซึ่งเป็นศูนย์กลางการบริหารราชการของมณฑล  แต่เหตุการณ์ทำนองเดียวกันก็เกิดขึ้นที่เชียงใหม่อีก เมื่อญาติโยมที่มีจิตศรัทธามารุมล้อมอุปัฏฐากท่านมากมายทุกวัน  หลังจากผ่านไป ๓ เดือนทางเชียงใหม่เองก็ยังไม่กล้าตัดสินใจ จึงผลักภาระหนักอกเรื่องนี้ไปยังเมืองหลวง พร้อมข้อกล่าวหาแปดข้อ คือ ๑) ตั้งตัวเป็นอุปัชฌาย์ บวชพระโดยไม่มีใบอนุญาต  ๒) ไม่อยู่ในความบังคับบัญชาของเจ้าคณะแขวงลี้  ๓) ไม่เข้าประชุมสงฆ์ที่อำเภอลี้ตามที่ฝ่ายบ้านเมืองเรียกประชุม  ๔) ไม่ปฏิบัติตามประกาศราชการเรื่องตีฆ้องกลองในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของรัชกาลที่ ๖ พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ๕) เป็นต้นเหตุให้วัดต่าง ๆ ประพฤติขัดขืนการปกครองคณะสงฆ์ตามอย่างพระศรีวิชัย  ๖) ไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่รัฐบาลสำรวจสำมะโนครัวพระสงฆ์ในวัด  ๗) เจ้าอธิการ (เจ้าอาวาส) วัดต่าง ๆ ในแขวงลี้ไม่เข้าประชุมกับเจ้าคณะแขวงลี้ ตามอย่างพระศรีวิชัย  ๘) เป็นเหตุให้มีข่าวลือว่าเป็นผู้มีบุญทำให้ประชาชนหลงนับถือ เช่น มีดาบฝักทองคำตกจากอากาศมาอยู่บนแท่นบูชาพระ สามารถเดินบนน้ำได้ และเดินกลางฝนไม่เปียก

แปลสรุปความโดยรวม ข้อกล่าวหาของท่านคือโทษฐานกบฏ “ผีบุญ” ทั้งการไม่เคารพองค์พระเจ้าอยู่หัวผู้ทรงเป็นประมุขและหัวหน้ารัฐบาลในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซ่องสุมผู้คน และอวดอ้างตัวว่าได้ครอบครองสิ่งศักดิ์สิทธิ์ตามคติโบราณ เช่น ดาบสะหลีกัญไชย (ศรีขรรค์ชัย) เฉกเช่นเดียวกับพญามังราย ปฐมกษัตริย์แห่งล้านนา

ครูบาศรีวิชัยถูกส่งตัวขึ้นรถไฟมากรุงเทพฯ แล้วให้พำนักอยู่ ณ วัดเบญจมบพิตรฯ เนื่องด้วยเจ้าอาวาสดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะมณฑลพายัพ มีอำนาจปกครองบังคับบัญชาคณะสงฆ์หัวเมืองเหนือ

หนังสือพิมพ์ในกรุงเทพฯ ก็ให้ความสนใจกรณี “พระศรีวิชัย” ด้วย  สมเด็จพระสังฆราช คือสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงรับทราบเรื่องอธิกรณ์ของพระศรีวิชัยในเดือนมิถุนายน ๒๔๖๓ จากจดหมายที่ผู้อ่านส่งไปลงหนังสือพิมพ์ บางกอกไตมส์ (Bangkok Times) หนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษที่ทรงอ่านเป็นประจำ  สมเด็จทรงเกรงว่าทางฝ่ายบ้านเมืองคงเห็นว่ามีผู้นับถือพระศรีวิชัยมาก อาจตั้งตนเป็นกบฏได้ แต่ไม่รู้จะหาความผิดด้วยข้อกฎหมายใด จึงเลี่ยงมาเล่นงานด้วยระเบียบการปกครองคณะสงฆ์  ทรงเห็นว่าถ้าเป็นเช่นนั้นแล้ว “เราจักพลอยตามด้วยไม่ได้ ดูไม่ยุติธรรมเสียเลย” จึงมีพระบัญชาให้ตั้งพระเถระชั้นผู้ใหญ่สามรูปขึ้นเป็นกรรมการสอบสวน

หากพิจารณาจากข้อเขียนในหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นดูจะมีน้ำเสียงสนับสนุนสิ่งที่ครูบากระทำ จนอาจเรียกได้ว่าครูบาประสบความสำเร็จในการ “ใช้พื้นที่สื่อ” เป็นอย่างดี และนี่เองอาจเป็นอีกพลังผลักดันให้คณะกรรมการสอบสวนมีมติในเดือนกรกฎาคมปีเดียวกันว่าพระศรีวิชัยไม่มีความผิด พร้อมให้ส่งคำชี้แจงไปลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ บางกอกไตมส์ ด้วย

ก่อนเดินทางกลับพระศรีวิชัยอายุ ๔๒ ปี พรรษา ๒๑ ยังได้เข้าเฝ้าสมเด็จพระมหาสมณเจ้าเมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๔๖๓ ปรากฏในพระมหาสมณสาส์นฉบับหนึ่งว่า

“…วันนี้ฉันได้พบตัวพระศรีวิชัย ได้ไต่สวนเห็นว่า เป็นพระที่อ่อนโยน ไม่ใช่ผู้ถือกระด้าง ไม่ใช่เจ้าเล่ห์เจ้ากล ไม่ค่อยรู้ธรรมวินัย แต่มีสมณสัญญาพอจะประพฤติอยู่ได้อย่างพระที่ห่างเหินจากสมาคม  การตั้งตัวเป็นพระอุปัชฌาย์เองนั้นด้วยไม่รู้ความหมาย ไม่รู้ประกาศ ทำตามธรรมเนียมคืออุปัชฌายะของเธอ ชื่อสุมนะ เมื่อจะถึงมรณภาพ ได้ตั้งเธอให้ปกครองวัดและบริษัทแทน จนถือว่าได้ตั้งมาจากอุปัชฌายะ เพราะการที่ไม่รู้จักระเบียบแบบแผน ถูกเอาตัวมาลงโทษกักไว้ เกือบไม่รู้ว่าเพราะความผิดอะไร พระอย่างนี้ต้องการอธิบายให้รู้จักผิดชอบ ดีกว่าจะลงโทษ…”

ไม่น่าเชื่อว่าอีก ๑๐ กว่าปีต่อมา คือปี ๒๔๗๘ ครูบาศรีวิชัยอายุ ๕๗ ปี พรรษา ๓๖ จะต้องพบว่าตัวเองกลับมาอยู่ในสถานะเดิม สถานที่เดิม และสถานการณ์เดิม ๆ อีกครั้ง

ขณะเดียวกันทางเชียงใหม่ราชการก็ระดมกำลัง “ตัดตอน” ขบวนการครูบาศรีวิชัย โดยสั่งการให้เจ้าอาวาสและพระสงฆ์ในวัดต่าง ๆ เข้ารายงานตัว  เจ้าอาวาสที่ประกาศตัวเป็นฝ่ายพระศรีวิชัยถูกจับสึกเป็นรายวัด  บางวัดมีท่าทีกระด้างกระเดื่องถึงกับถูกจับสึกหมดทั้งวัด และมีอีกไม่น้อยที่ทิ้งวัดหนีหายไปเลย  พระมงคลวิสุตหรือครูบาดวงดี สุภทฺโท (๒๔๔๙-๒๕๕๓) อดีตเจ้าอาวาสวัดท่าจำปี อำเภอสันป่าตอง เชียงใหม่ ขณะนั้นเป็นพระหนุ่มอยู่ร่วมในเหตุการณ์ด้วย บันทึกความโกลาหลไว้ว่า

“ท่านครูบาโสภา วัดท่าจำปี เจ้าคณะตำบลทุ่งสะโตก  ท่านครูบาปัญญา วัดกิ่วแลหลวง เจ้าคณะตำบลบ้านแม ถูกทางการไต่สวน  ท่านครูบาปัญญานำคณะศิษย์หนีไปแสวงบุญก่อสร้างวิหารพระพุทธบาทฮังฮุ้งในเขตประเทศพม่าจนไม่ยอมกลับมาอีกเลย  ลูกศิษย์ลูกหาท่านครูบาศรีวิชัยต้องแยกย้ายกันไปแสวงบุญคนละทิศละทาง…”

นอกจากนั้นระหว่างการสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ เมื่อมีผู้คนมาชุมนุมกันเป็นจำนวนมากก็เกิดผู้มีจิตศรัทธาประสงค์จะร่วมการกุศลนี้ด้วยการบวช ซึ่งครูบาศรีวิชัยก็จัดการอุปสมบทให้แก่ทั้งฆราวาสและสามเณรที่ต้องการทุกคน  บรรดาพระใหม่ที่ครูบาศรีวิชัยบวชให้ก็ถูกสั่งจับสึกทั้งหมด

หลวงศรีประกาศ ผู้แทนราษฎรเชียงใหม่ พยายามวิ่งเต้นหาทางช่วยเหลือครูบาศรีวิชัย ทั้งยื่นหนังสือต่อนายกรัฐมนตรีขอให้ท่านได้กลับเชียงใหม่ และตั้งกระทู้อภิปรายในสภาฯ ว่ามีความจำเป็นอย่างไรหรือไม่ที่จะต้องกักตัวท่านไว้เหมือนเป็นนักโทษ แต่ก็ไม่มีผล

สถานการณ์ทางเชียงใหม่เองก็ยังตึงเครียด เพราะการอาราธนาครูบาศรีวิชัยซึ่งเป็นที่เคารพนับถืออย่างยิ่งทั้งภาคเหนือ ทำให้เกิดข่าวลือและความคลางแคลงใจขึ้นทั่วไป  ข้าหลวงประจำจังหวัดถึงกับต้องออกใบปลิวแถลงการณ์สองฉบับติด ๆ กันว่าการนิมนต์พระศรีวิชัยลงไปกรุงเทพฯ นี้ “มิได้มุ่งหมายให้เป็นไปในทางอกุศล ไม่ชอบธรรม แม้แต่ประการใด ๆ เลย” และขอให้ประชาชนเชื่อฟังมหาเถรสมาคมและทางราชการ โดยให้เหตุผลว่า “เราผู้อยู่ไกลมีสติปัญญาน้อยพึงนิยมตาม”

เรื่องนี้ยังได้รับการหยิบยกขึ้นสู่วาระการประชุมในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอีก ซึ่งสรุปความเห็นได้ว่ายังไม่สมควรจะส่งตัวครูบาศรีวิชัยกลับ จนกว่าท่านจะยินยอมเซ็นชื่อรับรองว่าจะเชื่อฟังและปฏิบัติตามคณะสงฆ์ และจนกว่าวัดต่าง ๆ ที่ประกาศแยกตัวจากคณะสงฆ์จะยินยอมกลับมาอยู่ในการบังคับบัญชาของมหาเถรสมาคมทั้งหมด

หลังจากผ่านไปกว่า ๖ เดือน ในที่สุดวันที่ ๒๑ เมษายน ๒๔๗๙ ต่อหน้าที่ประชุมอันประกอบด้วยเจ้าคณะมณฑลพายัพ คือพระธรรมโกศาจารย์ เจ้าอาวาสวัดเบญจมบพิตรฯ และพระครูปลัดศีลวัฒน์ พระถานานุกรม กับข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกรมธรรมการ (กรมการศาสนา) อันได้แก่ พระชำนาญอนุสาสน์ อธิบดี และหลวงสิริเดชธรรม หัวหน้ากองสังฆการี  ครูบาศรีวิชัยจดปากกาลงนาม “พระสีวิไชย” ด้วยตัวเมือง (อักษรธรรมล้านนา) ท้ายประกาศว่าจะปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์และรับช่วยเหลือสนับสนุนการศึกษาเล่าเรียนตามพระราชบัญญัติประถมศึกษา จากนั้นท่านจึงได้รับอนุญาตให้เดินทางกลับในเดือนพฤษภาคม

เล่ากันว่าทางเชียงใหม่เตรียมการต้อนรับท่านอย่างมโหฬาร ทว่าท่านกลับลงรถไฟตั้งแต่ที่สถานีลำพูน

หลวงศรีประกาศบันทึกไว้ว่า ระหว่างที่ครูบาศรีวิชัยพำนักอยู่ที่กรุงเทพฯ นั้น คุณหลวงได้ไปกราบนมัสการหลายครั้ง ครูบาปรารภกับคุณหลวงว่า

“ที่ถูกมากักเช่นนี้ อาจเป็นเพราะผิดประเพณีก็ได้ การทำถนนไม่ใช่กิจของพระ ส่วนการสร้างเจดีย์วิหารอันเกี่ยวกับวัดมามากมาย ก็ไม่เคยมีเรื่อง  ถ้าได้กลับไป จะไม่เข้าไปในเขตเชียงใหม่อีกต่อไป จนกว่าน้ำในแม่น้ำปิงจะไหลกลับขึ้นเหนือ”

ประโยคนี้กลายเป็นสัจวาจาที่ท่านยึดถือมาจนตลอดอายุขัยในอันที่จะไม่ทำการก่อสร้างสิ่งใดหรือเดินทางเข้าเขตเชียงใหม่อีก  บางคนอธิบายว่าเป็นเพราะความน้อยใจที่ทั้งนักการเมืองและผู้หลักผู้ใหญ่ฝ่ายเชียงใหม่ไม่มีใครช่วยเหลือท่านได้เลยในคราวที่ต้องคดีอยู่เป็นครึ่งค่อนปี  แต่ขณะเดียวกันหลักฐานในหอจดหมายเหตุแห่งชาติปรากฏชัดเจนว่าทางเจ้าคณะมณฑลพายัพได้ขอให้พระศรีวิชัยพำนักอยู่แต่ที่วัดบ้านปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูนเท่านั้น หรือหากจะเดินทางไปจังหวัดอื่น ต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าคณะจังหวัดนั้น ๆ เป็นลายลักษณ์อักษรเสียก่อน

พระธรรมโกศาจารย์ เจ้าคณะมณฑลพายัพ ภายหลังคือสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (ปลด กิตฺติโสภโณมหาเถระ) สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ ๑๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ในหนังสืออนุสรณ์งานเมรุของเจ้าประคุณสมเด็จฯ
ผู้ใกล้ชิดบันทึกไว้ตอนหนึ่งว่า

“สมเด็จพระสังฆราชเคยรับสั่งว่าครูบาศรีวิชัยเป็นภิกษุที่ดีมาก และได้รักษาสัญญาเป็นอันดีจนตลอดชนม์ชีพของท่าน”

เมื่อครูบาศรีวิชัยกลับมาพำนักที่ลำพูนแล้ว ท่านจึงหวนคืนสู่กิจกรรมการบูรณปฏิสังขรณ์พุทธสถานเช่นที่เริ่มต้นมาตั้งแต่เมื่อกลับจากกรุงเทพฯ ครั้งแรกช่วงปี ๒๔๖๓

ตลอดชีวิตครูบาศรีวิชัยบูรณปฏิสังขรณ์ปูชนียสถานต่าง ๆ ทั่วทั้งเขตภาคเหนือ ไม่ว่าจะเป็นเชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย พะเยา ลำปาง แพร่ และแม่ฮ่องสอน ร่วมร้อยแห่ง โดยไม่ได้ช่วยเหลือเงินทองใด ๆ หากแต่ใช้วิธีที่เรียกว่า “นั่งหนัก” นั่นคือถึงเวลากำหนดนัดหมาย ท่านจะเดินทางพร้อมด้วยศิษยานุศิษย์ซึ่งหลายคนเป็นช่างด้วย แล้วไปนั่งเป็นประธานให้แก่การบูรณปฏิสังขรณ์ที่นั้น ๆ  ผู้คนที่รู้ข่าวว่าท่านมาก็จะเข้ามาสักการะเพราะนับถือว่าท่านเป็น “ต๋นบุญ” (ตนบุญ/นักบุญ) และการได้สักการะต๋นบุญจะทำให้ได้รับแบ่งส่วนบุญของท่านด้วย  ยิ่งหากได้ร่วมทำบุญกับต๋นบุญก็จะยิ่งเพิ่มพูนบารมียิ่ง ๆ ขึ้นไป

ผู้ที่เคยพบเห็นเล่าว่า ครูบาจะให้ศีลให้พรรวดเร็วมากชนิดที่เกือบฟังไม่รู้เรื่อง เพราะแต่ละวันมีคนรอกราบสักการะไม่ต่ำกว่า ๒๐๐-๓๐๐ คน

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี ๒๔๗๕ ทางคณะราษฎรได้ส่งรัฐมนตรีผู้เป็นเพื่อนเก่าของเจ้าหลวง คือพระยาสุริยา-นุวัตร (เกิด บุนนาค) เป็นผู้แทนขึ้นไปเยี่ยมเยียนเมืองเชียงใหม่ วัตถุประสงค์สำคัญคือดูท่าทีของเจ้านายฝ่ายเหนือที่มีต่อรัฐบาลระบอบใหม่  พระยาสุริยานุวัตรมีรายงานมายังพระยามโนปกรณ์นิติธาดา ประธานคณะกรรมการราษฎร (คือตำแหน่งนายกรัฐมนตรีตามศัพท์สมัยหลังการอภิวัฒน์ใหม่ ๆ) เล่าความที่ได้ทราบมาระหว่างอยู่ที่เชียงใหม่ว่า

“คนสำคัญที่มีอำนาจยิ่งใหญ่กว่าเจ้านายทั้งสิ้นในเมืองเชียงใหม่นั้น มีเถรรูปหนึ่งชื่อตุ๊เจ้าศรีวิไชย เปนเจ้าคณะวัดสิงห์ เชื้อกะเหรี่ยง ตำบลบ้านปาง แขวงเมืองนครลำปาง ซึ่งคนนับถือทั้งเมือง ตลอดจนถึงเชียงตุง  จะว่าอะไรหรือจะปราถนาอะไรคงสำเร็จทั้งสิ้น  เถรองค์นี้ถือพุทธสาสนาเคร่งครัดมาก มีฉันอาหารวันละมื้อ และไม่ฉันอาหารเนื้อสัตว์ เปนต้น มีสัทธาในทางปฏิสังขรวัดยิ่งกว่าทางอื่น ได้ซ่อมแซมวิหารและพระเจดีย์ที่สลักหักพังมามากแห่งแล้ว  ถึงตัวจะไม่มีเงินทองเลย เมื่อตกลงทำการบุญที่ไหนแห่งใด ราษฎรไทย ลาว เงี้ยว พม่า คงจะนำเงินมาถวายเข้าด้วย ส่งเสบียงอาหารและช่วยออกแรง ออกเครื่องใช้ก่อสร้างให้โดยไม่คิดค่าจ้าง แม้แต่ฝรั่งในเมืองเชียงใหม่ที่เปนมิจฉาธิถิก็ยังพลอยเลื่อมไสช่วยเหลือด้วย”

เมื่อเป็นดังนั้นพระยาสุริยานุวัตรจึงแวะไปนมัสการ “ตุ๊เจ้าศรีวิไชย” ที่กำลังบูรณะวัดสวนดอก เชียงใหม่ และได้พบเห็นบรรยากาศการทำงานของท่าน

“เวลานี้ตุ๊เจ้าศรีวิไชยกำลังปฏิสังขรวัดสวนดอกอยู่  ข้าพเจ้าได้ไปดูก็เว้นที่จะชมอภินิหารของเธอไม่ได้ สร้างวิหารยาวใหญ่เพียงที่ได้ทำมาถึงเพียงนี้ ยังไม่ทันถึง ๑๐ เดือนก็เกือบจะสำเร็จแล้ว ยังแต่จะปิดทอง ประดับกระจกที่ลวดลายตามเสาและผนัง  ตุ๊เจ้าศรีวิไชยบอกว่า ชาวบ้านเรี่ยไรเงินไปให้ไม่ถึงหกหมื่นบาทเศษ แต่วิหารขนาดใหญ่เพียงที่ทำมาได้นี้ ถ้าเปนในกรุงเทพฯ คงจะสิ้นเงินกว่าสองแสนบาทแล้ว  ชาวบ้านหญิงชายอุส่าห์ขนอิฐไปส่งคนละเก้าแผ่นสิบแผ่น ยังมีหญิงสาว แก่ ขนทราย หาบหรือกระเดียดกระจาดไปส่งต่อเนื่องกันเสมอ ยังมีพวกขนเข้าและเสบียงอาหารไปช่วยเลี้ยงคนทำงานอีกเปนอันมาก  ดูไปก็น่าเลื่อมไสได้จริง”

แปดสิบปีให้หลังจากวันนั้น ผมยืนอยู่หน้าวิหารหลวงวัดสวนดอกซึ่งตั้งนั่งร้านและมุงหลังคาสังกะสีคลุมไว้ทั้งหลัง  “วิหารหลวงหลังใหญ่ที่สุดในล้านนา” นี้อยู่ระหว่างการบูรณปฏิสังขรณ์ใหญ่ครั้งแรกนับตั้งแต่ครูบาศรีวิชัยสร้างขึ้นเมื่อช่วงปี ๒๔๗๔-๒๔๗๕

ด้านหน้าวิหารหลวงขึ้นป้ายประกาศเรี่ยไรหาเจ้าภาพบูรณะปิดทองประดับกระจกเสา ๕๖ ต้นที่เจ้าคุณสุริยานุวัตรพูดถึง  ราคามีตั้งแต่ ๓๕,๐๐๐ ถึง ๑๓๐,๐๐๐ บาท ตามขนาดสูง-ต่ำ  ปรากฏว่าหาเจ้าภาพได้ครบหมดทุกต้น  รายนามผู้บริจาคมีทั้งพระภิกษุ นายแพทย์ ทันตแพทย์ นายทหาร และชาวต่างชาติ

แม้ตลอดชีวิตครูบาศรีวิชัยจะไม่เคยสร้างวัตถุมงคลใด ๆ แต่เครื่องรางของขลังอันเนื่องด้วยท่านที่จัดสร้างภายหลังมีมากมาย หลายรุ่นกลายเป็นของมีราคา เป็นที่ต้องการในหมู่นักสะสม

หนึ่งในรูปเสือ สัตว์สัญลักษณ์ของปีขาลที่ครูบาศรีวิชัยใช้เป็นเสมือนลายเซ็นในวัดต่างๆ ที่ท่านสร้างไว้ – วิหารหลวงวัดสวนดอก อำเภอเมืองเชียงใหม่

ปูนปั้นรูปเสือ สัตว์ประจำปีนักษัตรขาลอันเป็นปีเกิดของครูบาศรีวิชัย ยังแลเห็นเด่นชัดบนหน้าบันทิศตะวันออกของวิหารหลวง เช่นเดียวกับที่มักปรากฏเป็นลายแกะสลักไม้ ประดับกระจก หรือแม้แต่สร้างเป็นรูปเสือยืนลอยตัวตามงานก่อสร้างบูรณะอีกหลายแห่งที่เกิดขึ้นภายใต้การอำนวยการของท่าน

แม้หลายคนจะเห็นว่าครูบาศรีวิชัยเป็นบุคคลสำคัญในขบวนการต่อต้านอำนาจของส่วนกลาง แต่ก็มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่างานก่อสร้างของท่านกลับเต็มไปด้วยอิทธิพลจากกรุงเทพฯ อันอาจเทียบเคียงได้กับสิ่งที่ท่านเคยพบเห็นระหว่างถูกเรียกตัวไป เช่นวิหารหลวงวัดพระธาตุหริภุญชัยซึ่งมีระเบียงรอบตัวอาคารอันไม่ใช่ขนบของล้านนา หากแต่ใกล้เคียงกับพระอารามหลวงกรุงรัตนโกสินทร์ เช่น พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวิหารจตุรมุข แผนผังเป็นรูปกากบาทหรือเครื่องหมายบวกที่สร้างครอบรอยพระพุทธบาทตากผ้า อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน ซึ่งก็มีการนำไปเทียบเคียงกับพระอุโบสถวัดเบญจมบพิตรฯ กรุงเทพฯ สถานที่ซึ่งท่านถูกกักตัวไว้

นอกจากนั้นท่านยังยินดีเปิดรับเทคโนโลยีสมัยใหม่เต็มที่ เช่น คอนกรีตเสริมเหล็ก โดยสั่งซื้อปูนซีเมนต์และเหล็กเส้นจากกรุงเทพฯ ผ่านเถ้าแก่โหงว นายห้างเตียวเม่งไถ่ในตลาดสันป่าข่อย ซึ่งเป็นลูกศิษย์คนสำคัญอีกคน ด้วยเหตุนี้วิหารหลวงวัดสวนดอกจึงมีพุทธสถาปัตยกรรมร่วมสมัยที่สูงใหญ่และโปร่งโถง ช่วงเสามีระยะห่างกว้างมากอย่างที่สถาปัตยกรรมไม้ของล้านนาโบราณไม่เคยทำได้

ระหว่างการบูรณะวิหารหลวงวัดสวนดอกครั้งล่าสุดนี้ เมื่อรื้อหลังคาของเก่าอายุ ๘๐ ปีลงมาจึงพบว่าดินขอ (กระเบื้องหลังคา) หลายแผ่นมีถ้อยคำจารึกเป็นอักษรตัวเมืองของล้านนา  บางแผ่นยังพออ่านออกได้ว่า “สัทธานายคำแสน บ้าน…เชียงใหม่ ถวายเปนทานกับครูบาสีล (ธัมม์) เจ้า ขอหื้อถึงสุข ๓ (ประการ) จิ่ม”  นั่นคือการขอร่วมทำบุญกับครูบาศรีวิชัย ผู้ที่ชาวบ้านทั่วไปเรียกขานโดยละเว้นการออกชื่อด้วยความเคารพอย่างสูงว่า “ครูบาศีลธรรม”

นักวิชาการหลายท่านอาจอธิบายการบูรณปฏิสังขรณ์ปูชนียวัตถุตามรูปแบบศิลปะกรุงเทพฯ ในแนวทางที่ว่า “ท่านพยายามที่จะประนีประนอมกับรัฐบาลกรุงเทพฯ โดยเลือกใช้ศิลปกรรมอย่างกรุงเทพฯ แทนแบบดั้งเดิม เพื่อลดการเผชิญหน้ากับการขยายอำนาจทางการเมืองการปกครองและการครอบงำทางวัฒนธรรม” แต่ผมเองกลับไม่แน่ใจนัก

สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ “สมเด็จครู” ในวงการช่างไทย เคยกล่าวถึง “อภินิหาร” ของ “พระศรีวิชัย” ไว้ในลายพระหัตถ์ที่ทรงมีถึงสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเมื่อเดือนธันวาคม ๒๔๗๙ ว่า

“ท่านเป็นผู้มีอภินิหารที่คนนับถือมาก  ท่านตระหนักในอภินิหารอันนั้นของท่าน จึงคิดใช้อภินิหารให้เป็นชื่อเสียงกว้างขวางออกไปอีก โดยวิธีร้องขอเอาเงินคนละเล็กละน้อย รวบรวมเข้าให้เจ๊กทำสิ่งในพระศาสนาซึ่งโทรมแล้วให้คืนใช้ประโยชน์ได้ ความจำนงมีเพียงเท่านั้นเอง…”

บางทีสิ่งที่ครูบาศรีวิชัยต้องการอาจเป็นเพียงงานที่ทำได้ง่าย เสร็จเร็ว ไม่ต้องใช้ช่างฝีมือจำนวนมาก ขณะเดียวกันก็มีประโยชน์ใช้สอยและมีความงามตามสมควร  ส่วนรูปแบบและลวดลาย “แบบกรุงเทพ” เหล่านั้นท่านก็เห็นว่าเป็นของดีของสวยของงามที่เคยผ่านตามาเมื่อครั้งลงไปบางกอก เหมาะควรแก่การนำมาบูชาพระพุทธเจ้า–ก็ง่าย ๆ แค่นั้น

วันนี้ดินขอชุดใหม่หลายหมื่นแผ่นได้กลับขึ้นไปมุงบนหลังคาวิหารหลวงแทนที่ของเดิม ลายมือบอกเล่าคำอธิษฐานทำนองเดียวกับเมื่อครั้งแรกสร้างก็ยังมีเขียนไว้ด้านหลัง ที่ผมเห็นวางโชว์มีทั้งภาษาไทย (บางแผ่นเห็นชื่อพรรคพวกที่รู้จักกันก็มี) ภาษาจีน ญี่ปุ่น เกาหลี อังกฤษ และภาษาชาติอื่น ๆ ที่ผมไม่รู้จัก

ภาพถ่ายครูบาศรีวิชัยที่มีผู้นำมาผนึกไว้ในฐานชุกชีพระประธานวิหารหลวงวัดสวนดอกที่ท่านเป็นผู้นำการก่อสร้าง

ไม่นานมานี้มีการสร้างรูปปั้นครูบาศรีวิชัยสีทอง “องค์ใหญ่ที่สุดในโลก” นั่งตระหง่านอยู่บนเนินเขาริมถนนซูเปอร์ไฮเวย์บริเวณสามแยกดอยติทางเข้าเมืองลำพูน

หลังพิธีพระราชทานเพลิงศพในวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๔๘๙ อัฐิของครูบาศรีวิชัยถูกแบ่งบรรจุไว้ในวัดต่างๆ ที่ท่านมีส่วนร่วมในการก่อสร้างบูรณะ หนึ่งในจำนวนนั้นคือที่วัดสวนดอก อำเภอเมืองเชียงใหม่

นับแต่ยุคของครูบาศรีวิชัยมาถึงปัจจุบัน ศรัทธาที่ผู้คนมีต่อพระศาสนายังทรงพลังยิ่งใหญ่ในสังคมไทย  อิฐหินดินทรายอาจดำรงคงอยู่ได้ชั่วครั้งชั่วคราวแล้วก็เสื่อมสูญไปตามกาล หากธรรมเนียมปฏิบัติของชาวพุทธแต่โบราณมาย่อมไม่ปล่อยให้ศาสนวัตถุสถานต้องชำรุดทรุดโทรมเศร้าหมอง  แต่แล้วการ “นั่งหนัก” มาหลายสิบปีนั่นเองส่งผลให้ครูบาอาพาธด้วยโรคริดสีดวงทวาร ซ้ำร้ายในเวลาต่อมายังติดเชื้อวัณโรค

หนังสือพิมพ์ สยามราษฎร์ ฉบับวันที่ ๖ กันยายน ๒๔๘๑ พาดหัวว่า “ผู้แทนให้ส่งแพทย์รักษาครูบาศรีวิชัย” เนื้อข่าวกล่าวถึงพระศรีวรานุรักษ์ (ศรี บุญเฉลียว) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งกระทู้ถามรัฐบาลว่าจะช่วยดูแลรักษาอาการอาพาธของท่านได้อย่างไรหรือไม่  คำตอบของรัฐมนตรี หลวงโกวิทอภัยวงศ์ (ควง อภัยวงศ์) คือ “คนที่ป่วยเปนวัณโรคนั้น ยากนักที่แพทย์จะรักษา ถึงส่งแพทย์ขึ้นไปก็คงไม่หาย เพราะโรคชะนิดนี้ ถ้าเปน ๑๐๐ ก็ไปเกือบหมด  ถ้าจะให้ดีก็ต้องส่งไปประเทศสวิตเซอร์แลนด์ คงจะได้ผล”

ครูบาศรีวิชัยถึงแก่มรณภาพที่วัดบ้านเกิดของท่าน คือวัดบ้านปาง อำเภอลี้ จังหวัดลำพูน ในวันที่ ๒๑ กุมภาพันธ์ ๒๔๘๑ (ขณะนั้นยังเปลี่ยนศักราชในเดือนเมษายน เดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคมยังนับเป็นปีเดียวกับเดือนธันวาคมก่อนหน้า  ซึ่งถ้านับตามปฏิทินปัจจุบันจะเป็นเดือนกุมภาพันธ์ ๒๔๘๒) สิริอายุ ๖๐ ปี พรรษา ๓๙

เวลาผ่านมากว่า ๗๐ ปี แต่ความนับถือครูบาศรีวิชัยยังมั่นคงไม่เสื่อมคลาย  ดร. เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์ นักวิชาการสาวผู้สนใจด้านล้านนาคดีและเจาะลึกศึกษาเรื่องครูบาศรีวิชัยมานับสิบปีอธิบายว่า คนทางเหนือเวลาสวดมนต์ไหว้พระจะกราบพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และครูบา

“ครูบาในที่นี้ หมายถึงครูบาศรีวิชัย ไม่ใช่ครูบาอื่นใด”เธอย้ำด้วยว่าธรรมเนียมที่จะกราบไหว้ครูบาศรีวิชัยเป็นอันดับ ๔ ต่อจากพระสงฆ์อริยสาวกนี้ ปฏิบัติกันแพร่หลายทั่วไปในแถบเชียงใหม่ ลำพูน และ “คิดว่าทุกบ้าน ไม่มีบ้านไหนที่ไม่มีรูปครูบาติด”

ส่วน ผศ. วิลักษณ์ ศรีป่าซาง อธิบายว่าคนปัจจุบันนับถือครูบาศรีวิชัยในสองลักษณะ

“ถ้าความเชื่อนี่ เราเห็นเลยว่าท่านเมตตา ท่านเป็นสัญลักษณ์ของความโชคดี เหมือนพระสีวลี  แต่อีกอย่างหนึ่งก็คือการเป็นตัวแทนของฝ่ายธรรมะที่ถูกฝ่ายอธรรมย่ำยี แต่จะชนะในที่สุด อันนี้ชัดเจน เพราะครูบาก็ชนะมาทุกเกม…”

กรณีครูบาศรีวิชัยนี้เองก็คือต้นธารของสำนวนที่แพร่หลายในปัจจุบันว่า “มารบ่มี ปารมีบ่เกิด” (มารไม่มี บารมีไม่เกิด) แต่พร้อมกันนั้นอีกประเด็นที่อาจารย์วิลักษณ์เสนอแย้งให้ได้คิดคือประวัติของครูบาศรีวิชัยฉบับมาตรฐานอย่างที่ผมเล่าซ้ำมาแต่ต้น เป็นเรื่องเล่าจากฝ่ายที่รักและศรัทธาในตัวท่าน กระทั่งกลายเป็น “กระแสหลัก” ที่ไม่อาจมีใครหาญคัดค้าน ขณะที่เราแทบไม่เคยได้ยิน “เสียง” ของอีกฝ่ายที่ถูกอุปโลกน์ให้เป็น “มาร” เลย

อาจารย์เล่าว่า เมื่อครั้งตระเวนเก็บข้อมูลเรื่องครูบาศรีวิชัยในเขตลำพูนและเชียงใหม่จากปากคำพ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยและตุ๊เจ้าสูงอายุตามวัดต่าง ๆ ได้พบพระภิกษุรูปหนึ่งที่แม้จะอยู่ร่วมในเหตุการณ์ แต่ท่านปรับทุกข์ว่าพระเถระที่รับหน้าที่ปกครองคณะสงฆ์ในยุคนั้นอาจเป็นฝ่ายที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมเช่นกัน

“ไม่มีใครรับฟังเหตุผลของอีกฝ่าย เอาแต่ความเกลียดชังสาปแช่ง  เรื่องรักและนับถือครูบาเจ้าศรีวิชัย เฮามีอยู่เต็มหัวอก  ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งก็เห็นใจเขา และถ้าเรื่องทั้งหมดมันบ่ใช่อย่างที่เล่าล่ะ… นี่ก็ถือว่าเป็นวิบากกรรมของฝ่ายที่ปฏิบัติตามบ้านเมือง…ฝ่ายหนึ่งด่า ฝ่ายหนึ่งก้มหน้ารับกรรม บ่ได้ชี้แจง”

ตลอดชีวิตของครูบาศรีวิชัยจนกระทั่งบัดนี้ ท่านได้รับการขนานนามหรือถูกมองสารพัดอย่าง เป็นตั้งแต่นักบุญ นักพัฒนา กบฏ ผู้นำการต่อต้านอำนาจรัฐ หรืออาจเป็นอะไรต่อมิอะไรอีกมากมาย แต่ท่ามกลางความสับสนอลหม่านของกระแสประวัติศาสตร์อันเชี่ยวกรากนั้นเอง ครูบาศรีวิชัยกลับเหมือนสถิต ณ ใจกลางพายุ คือสงบ เงียบ นิ่ง เย็น  เราแทบไม่รู้เลยว่าจริง ๆ แล้วครูบาคิดอะไร เพราะไม่เคยพบหลักฐานคำสอน บทเทศนา หรือข้อเขียนของครูบาที่เป็นเรื่องอื่นใด นอกจากพุทธศาสนาและการบูรณะวัดวาอาราม

ตามประเพณีสงฆ์ล้านนาโบราณ ครูบาศรีวิชัยจัดการคัดลอกพระธรรมคัมภีร์เพื่อเป็นการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาไว้มากมาย  หน้าท้ายของคัมภีร์มักระบุปณิธานความปรารถนาของท่านไว้เหมือน ๆ กันว่า “ต้นข้าพระสรีวิไชยาภิกขุ…ได้ริจนาแต้มเขียนยังธัมม์มัดนี้ ไว้ค้ำชูโชตกะสาสนา ๕๐๐๐ พระวัสสา…ปรารถนาขอหื้อข้าได้ตรัสรู้ประยาสัพพัญญูโพธิญาณเจ้า”

หรือจะหมายความว่า เมื่อครูบาศรีวิชัยตั้งความปรารถนาแล้วว่าท่านจะบำเพ็ญโพธิสัตวธรรมเพื่อมุ่งหมายจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าองค์หนึ่งในอนาคตกาล ทั้งหมดที่ท่านกระทำก็อาจเป็นไปเพียงเพื่อวัตถุประสงค์อันยิ่งใหญ่เช่นนี้เท่านั้น

ขากลับจากเชียงใหม่บนถนนซูเปอร์ไฮเวย์ที่สามแยกดอยติทางแยกเข้าลำพูน ผมเห็นรูปปั้นครูบาศรีวิชัยสีทอง “องค์ใหญ่ที่สุดในโลก” นั่งตระหง่านอยู่บนเนินเขาของวัดดอยติ เล่ากันว่าอดีตผู้ว่าราชการจังหวัดคนหนึ่งของลำพูนดำริให้สร้างขึ้นเมื่อหลายปีก่อน  ตามป้ายไวนิลสีซีดที่แขวนอยู่ระบุว่าเป็นโครงการสร้างจุดดึงดูดทางการท่องเที่ยว (landmark) และศูนย์กระจายสินค้าพื้นเมืองลำพูน  แต่อาจารย์บารเมศ วรรณสัย แกนนำด้านงานวัฒนธรรมคนสำคัญของลำพูน เล่าให้ผมฟังว่า ในเมื่อ “คนสร้างสร้างแล้วก็ไป” ภาระจึงตกอยู่กับคนลำพูน

อาจารย์บารเมศกับภาคีชาวลำพูนหลายภาคส่วนต้องริเริ่มสร้างสรรค์ประเพณีต่าง ๆ ขึ้นใหม่อันเนื่องด้วยรูปครูบาสูง ๒๑ เมตรองค์นี้ เช่น จัดแห่ครัวทาน สรงน้ำ ประกวดตีกลองประเภทต่าง ๆ ในช่วงวันคล้ายวันเกิดของครูบา  วัตถุประสงค์สำคัญก็เพื่อสร้างความหมายให้แก่รูปเหมือนครูบาองค์นี้ และเพื่ออาศัยองค์ท่าน “เปิดประตูเมืองลำพูน” ประกาศให้สังคมได้ตระหนักว่าครูบาศรีวิชัยเป็นคนลำพูน เกิดและตายที่ลำพูน เพราะที่ผ่านมาจากอนุสาวรีย์ที่เชิงดอยสุเทพ ใคร ๆ จึงมักคิดว่าครูบาศรีวิชัยเป็นชาวเชียงใหม่

แม้จนเกือบ ๘๐ ปีหลังจากการมรณภาพของพระภิกษุผิวขาว ร่างผอมบางจากเมืองลี้ ครูบาศรีวิชัยก็ยังคงหลีกหนีไม่พ้นการเมืองอยู่ดี

ขอขอบคุณ

  • อาจารย์บารเมศ วรรณสัย  คุณประเวช ตันตราภิรมย์  ดร. เพ็ญสุภา สุขคตะ ใจอินทร์  ดร. ยุกติ มุกดาวิจิตร  คุณวิชญดา ทองแดง  ผศ.วิลักษณ์ ศรีป่าซาง  รศ. สุรสวัสดิ์ ศุขสวัสดิ์  ดร. อัมพร จิรัฐติกร  ห้องสมุดวัดเบญจมบพิตร  หอสมุดปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  สำนักหอสมุดมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ

อ้างอิง

  • ๕๕ ปี “ถนนศรีวิชัยช่วงสุดท้าย” ๑๗ เมษายน ๒๕๓๒. ม.ป.ท., ๒๕๓๒.จันทสมานคุณอนุสรณ์. เนื่องในงานทำบุญครบ ๑๐๐ วัน หลวงปู่หล้า. เชียงใหม่ : บริษัท ซี.บี.เอส.การพิมพ์ จำกัด, ๒๕๓๖.
  • จิรชาติ สันต๊ะยศ. “‘ครูบาศรีวิชัย’ กับคตินิยมแบบ ‘ครูบา’ (ใหม่) ช่วงทศวรรษ ๒๕๓๐-๕๐.” ศิลปวัฒนธรรม ๓๑, ๔ (กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓) :๘๐-๙๕.
  • ดำรงราชานุภาพ, สมเด็จฯ กรมพระยา และสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์. สาส์นสมเด็จ เล่ม ๑๐. พระนคร : องค์การค้าของคุรุสภา, ๒๕๐๔.
  • ที่ระลึกในงานวันเกิดครบ ๘๘ ปี พระครูสุภัทรสีลคุณ (หลวงปู่ครูบาดวงดี สุภทฺโท). ม.ป.ท., ม.ป.ป.
  • พระนิพนธ์สมเด็จพระสังฆราช วัดเบญจมบพิตร. คณะสงฆ์ไทยพิมพ์โดยเสด็จพระราชกุศลในงานพระเมรุพระศพ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก. พระนคร : โรงพิมพ์การศาสนา, ๒๕๐๕.
  • ภิญญพันธุ์ พจนะลาวัณย์. “แสงเงาของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ฉายทับศิลปะสถาปัตยกรรมล้านนา : การช่วงชิงความหมายของพื้นที่ระหว่างล้านนากับสยาม (ทศวรรษ ๒๔๔๐-๒๔๗๐).” หน้าจั่ว ๙ (กันยายน ๒๕๕๕-สิงหาคม ๒๕๕๖) : ๔๑-๖๗.
  • วิลักษณ์ ศรีป่าซาง. ตนบุญล้านนา ประวัติครูบาฉบับอ่านม่วน ๒. เชียงใหม่ : สีสันพรรณไม้, ๒๕๕๓.
  • ศรีประกาศ, หลวง. “ประวัติถนนขึ้นดอยสุเทพ” ใน อนุสรณ์ศรีประกาศ. เชียงใหม่ : บริษัทคนเมืองการพิมพ์ จำกัด, ๒๕๑๒.
  • ส. สุภาภา [นามแฝง]. ชีวิตและงานของครูบาศรีวิชัย. พระนคร : คลังวิทยา, ๒๔๙๙.
  • ส. สุภาภา [นามแฝง]. ประวัติครูบาศรีวิชัยร่วมกับหลวงศรีประกาศ ตอนสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ. เชียงใหม่ : ดารารัตน์การพิมพ์, ๒๕๑๘.
  • สมหมาย เปรมจิตต์. ตำนานครูบาศรีวิชัยแบบพิสดารและตำนานวัดสวนดอก. เชียงใหม่ : ฝ่ายวิจัยล้านนา สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ๒๕๓๗.
  • สยามราษฎร์ (๖ กันยายน ๒๔๘๑). http://edb.kulib.kyoto-u.ac.jp/exhibit/b78/image/079/b78s1249.html
  • สิงฆะ วรรณสัย. สารประวัติครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งลานนาไทย. กรุงเทพฯ : ศูนย์หนังสือเชียงใหม่, ๒๕๒๒.
  • สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. สร. ๐๒๐๑.๘/๒๐ กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เรื่องพระยาสุริยานุวัตร์เสนอความเห็นเรื่องต่าง ๆ เกี่ยวกับเศรษฐกิจการคลัง (พ.ศ. ๒๔๗๕-๒๔๗๙)
  • สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ. สร. ๐๒๐๑.๑๐/๖๑ กรมเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เรื่องพระศรีวิไชยไม่ปรองดองกับคณะสงฆ์ (พ.ศ. ๒๔๗๘-๒๔๗๙)
  • โสภา ชานะมูล. “ครูบาศรีวิชัย ‘ตนบุญ’ แห่งล้านนา (พ.ศ. ๒๔๒๑-๒๔๘๑).”วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาประวัติศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๓๔.
  • หิรัญ สุภาสนาวิวัฒน์. ประวัติครูบาศรีวิชัย นักบุญแห่งลานนาไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๒. เชียงใหม่ : รุ่งเรืองการพิมพ์, ๒๕๐๖.
  • อรสม สุทธิสาคร. “ครูบาศรีวิชัย พระนักพัฒนาแห่งล้านนาไทย.” สารคดี ๑๒, ๑๓๕ (พฤษภาคม ๒๕๓๙) : ๑๗๘-๑๘๐.
  • Bowie, Katherine A. “Of Buddhism and Militarism in Northern Thailand : Solving the Puzzle of the Saint Kruubaa Srivichai.” Journal of Asian Studies 73, 03 (August 2014) : 771-732