งานจากค่ายสารคดีครั้งที่ 11 (ได้รับงานเขียนสารคดี ดีเด่น)
เรื่อง : ภิมรพี ธุรารัตน์
ภาพ : ทศวรรณ สุขโชติ
ธงสีแดงฉานโบกสะบัด เด่นเหนือขึ้นไปริมฝั่งถนนอิสรภาพ
ถัดลงมา คือ หลังคาสีเขียวของเรือนมนิลาคอนกรีต ประดับด้วยไม้ฉลุลาดลายวิจิตร งามแปลกตาตามรูปแบบสถาปัตยกรรมอาคารขนมขิงที่ผสานกลิ่นอายและมนต์ขลังของศาสานาอิสลาม กลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สถานที่แห่งนี้ถูกขนานนามว่า “กุฎีเจริญพาศน์”
กว่า 102 ปีที่อิมามบาระฮ์ หรือศาสนสถานของศาสนาอิสลาม นิกายชีอะฮ์แห่งนี้ถูกเรียกว่า กุฎีเจริญพาศน์ ซึ่งมาจากชื่อ “สะพานชุดเจริญ” ประกอบด้วย เจริญรัช เจริญราษฎร์ เจริญศรี เจริญทัศน์ เจริญสวัสดิ์ และเจริญพาศน์ สร้างขึ้นในรัชสมัยล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 6 แต่เดิมทีกุฏีหลังนี้ถูกเรียกว่า กุฎีล่าง มาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (รัชกาลที่ 1) โดยเรียกให้คล้องกับกุฎีบนซึ่งอยู่เหนือขึ้นไปตามสายแม่น้ำเจ้าพระยา
ชาตรี นนทเกศ ชายวัย 63 ปี ผู้ดูแลหรือทรัสตีกุฎีเจริญพาศน์ กล่าวว่า แต่เดิมย่านชุมชนแห่งนี้เรียกว่า ย่านชุมชนแขกเจ้าเซ็น ตามบรรพบุรุษชาวมุสลิมเชื้อสายเปอร์เซียที่เรียกว่า แขกมะหง่น หรือ แขกเจ้าเซ็น ซึ่งเข้ามาตั้งรกรากเป็นกลุ่มแรก และในปัจจุบันชาวไทยเชื้อสายเปอร์เซียกลุ่มนี้แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่นับถือศาสนาอิสลาม นิกายชีอะฮ์ และอีกกลุ่มหนึ่งหันไปนับถือศาสนาพุทธ
บริเวณดังกล่าวยังเป็นย่านการค้าสำคัญของริมฝั่งคลองบางหลวง นั่นคือ ตลาดสะพานพระรามหกข้ามคลองบางกอกใหญ่ ในช่วงรัชกาลที่ 4 – 6 และเป็นชุมชนที่มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่รวมกันหนาแน่นมากที่สุดในสมัยนั้น นับว่าเป็นศูนย์รวมทางการค้าและศาสนาอิสลามที่สำคัญอีกแห่งของฝั่งขวาแม่น้ำเจ้าพระยา
ความสำคัญอีกประการของกุฎีเจริญพาศน์ที่แสดงให้เห็นว่าสถานที่แห่งนี้คือศูนย์รวมของพี่น้องชาวมุสลิมชีอะฮ์ในพื้นที่มาตั้งแต่ครั้งสมัยแรกเริ่มกรุงรัตนโกสินทร์ นั่นคือ ปรากฏการเรียกกุฎีหลังนี้อีกชื่อว่า กุฎีกลาง โดยเรียกจากสถานที่ที่ตั้งของกุฎีที่อยู่ระหว่างมัสยิดผดุงธรรมอิสลาม หรือสุเหร่า และมัสยิดดิลลาฟัลดาห์ หรือกุฎีปลายนา สะท้อนให้เห็นว่าการตั้งอยู่บริเวณกึ่งกลางของศาสนสถานอื่น ทำให้กุฎีแห่งนี้กลายเป็นสถานที่นัดประชุมหารือกันระหว่างผู้นำกุฎีหรือสุเหร่าอื่นอยู่เสมอ ดังนั้นจึงถือว่าเป็นศูนย์รวมหรือศูนย์กลางของแขกเจ้าเซ็นในยุคนั้นก็ว่าได้ เมื่อรวมกับกุฎีหลวงอีกแห่งหนึ่งที่มีความเกี่ยวโยงกันทางเครือญาติกับศาสนสถานอีก 3 แห่งข้างต้น จึงเรียกรวมกันว่า “พวกสามกะดี สี่สุเหร่า”
เมื่อสังคมสมัยใหม่เติบโตขึ้นมาทดแทนความเจริญเก่า นับตั้งแต่เริ่มมีการสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น การตัดถนนผ่านบริเวณชุมชน เพื่อการคมนาคมที่สะดวกขึ้น ทำให้หลายต่อหลายชุมชนเก่าต่างถูกลดความสำคัญลงไปโดยปริยาย เนื่องจากความงอกงามตามแบบสมัยใหม่ก้าวขึ้นมาแทนที่รูปแบบสังคมเก่า และคงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าย่านชุมชนแขกเจ้าเซ็นนี้ก็ได้รับผลกระทบจากการพัฒนานี้เช่นกัน
แม้ความเจริญสมัยใหม่จะทำให้เกิดการย้ายถิ่นฐานและกระจายตัวออกไปยังที่ต่างๆ ของชาวมุสลิม ในชุมชน แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ความสำคัญของกุฎีเจริญพาศน์ลดลงไปตามกาลสมัยแต่อย่างใด กลับกันกุฎีแห่งนี้ยังคงมีความสำคัญต่อชาวมุสลิมและชาวมุสลิมไม่เปลี่ยนแปลง
ธีรนันท์ ช่วงพิชิต นักมานุษยวิทยา – ประวัติศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญวัฒนธรรมอิสลาม ศูนย์ข้อมูลประวัติศาสตร์ชุมชนธนบุรี เล่าว่า กุฏีเจริญพาศน์ยังคงสำคัญและมีความเกี่ยวข้องกับชาวมุสลิมทั้งในและนอกพื้นที่ นอกจากจะเป็นสถานที่ประกอบศาสนพิธีสำคัญ อย่าง พิธีแห่เจ้าเซ็น หรือการใช้เป็นสถานที่ประชุมกันระหว่างชาวมุสลิมแล้ว กุฎีหลังนี้ยังเป็นสถานที่ใช้สำหรับการเรียนการสอนศาสนาอิสลามให้แก่เยาวชนอีกด้วย
สำหรับชาวมุสลิมนั้น การบรรุนิติภาวะจะประกอบด้วย 2 สถานะ ได้แก่ สถานะแรกเป็นการบรรลุนิติภาวะเมื่ออายุครบตามที่กฏหมายระบุไว้ที่ไม่แตกต่างไปจากศาสนิกชนศาสนาอื่น และอีกสถานะหนึ่งคือการบรรลุนิติภาวะตามศาสนบัญญัติกล่าวคือ ศาสบัญญัติระบุไว้ว่า ผู้หญิงจะบรรลุนิติภาวะเมื่ออายุครบ 9 ปี และผู้ชายจะบรรลุนิติภาวะเมื่ออายุ 13 ปี หรือมีการเปลี่ยนแปลงใดของร่างกายอันเป็นระบบสัญลักษณ์แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพ เช่น การมีรอบเดือนของผู้หญิง หรือการเปลี่ยนแปลงของเสียงผู้ชาย ให้ถือว่าป็นการบรรลุนิติภาวะตามศานบัญญัติเช่นกัน
ดังนั้นการศึกษาคัมภีร์อัลกุรอาน ตลอดจนจริยธรรม หรือข้อปฏิบัติต่างๆ ตามหลักบัญญัติศาสนา อาทิ การละหมาด การอ่านพระคัมภีร์ การปฏิบัติศาสนพิธี เป็นต้น เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่เยาวชนมุสลิมให้สามารถดำเนินวิถีชีวิตอย่างศาสนิกชนมุสลิมทั่วไป เมื่อถึงการบรรลุนิติภาวะตามศาสนา
ลุงชาตรี เสริมอีกว่า เด็กหรือเยาวชนที่มาเรียนศาสนาที่กุฎีเจริญพาศน์นั้นไม่ได้มีเฉพาะเพียงเด็กที่อยู่ในชุมชนท้องถิ่นเท่านั้น หากแต่ยังรวมไปถึงเด็กที่พำนักอาศัยอยู่ที่อื่น ที่ผู้ปกครองนำมาเรียนอ่านพระคัมภีร์กุรอานภายใต้การดูแลของกุฎีเจริญพาศน์ล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับชุมชนแขกเจ้าเซ็นทั้งสิ้น บางคนมีผู้ปกครองที่เคยอาศัยอยู่ในชุมชนเมื่อครั้งยังเด็ก ผู้ปกครองของเด็กบางคนอาจจะไม่เคยอยู่ในชุมชนแห่งนี้ แต่รุ่นปู่ย่าตายายเป็นคนในพื้นที่ เด็กเหล่านั้นก็จะถูกนำมาเรียน ณ ที่แห่งนี้เหมือนกันที่ตนเองได้เคยเรียนมาเช่นกัน
อีกทั้งครูผู้สอนศาสนาเองเป็นทั้งคนในพื้นที่และนอกพื้นที่ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีความเป็นมาและความเกี่ยวข้องกับชุมชนกุฎีเจริญพาศน์แห่งนี้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเช่นเดียวกับศาสนิกชนรุ่นเยาว์
บรรยากาศวันอาทิตย์ในกุฎีเจริญพาศน์แห่งนี้จึงคึกครื้นต่างจากวันปกติทั่วไป พื้นที่ภายในทั้งหมดถูกใช้เป็นพื้นที่สอนอ่านพระคัมภีร์อัลกุรอาน ภาพการตั้งโต๊ะสอนหนังสือเป็นกลุ่มเล็กๆ ครูสอนหนึ่งคนต่อเด็ก 2 – 3 คนจึงเป็นมากกว่าภาพการสอนศาสนา แต่นั่นคือภาพการดูแล เพาะเลี้ยงต้นกล้าแห่งสันติภาพมุสลิมให้ผลิบาน แตกกิ่งก้านสาขาเฉกเช่นต้นกล้าแห่งสันติภาพรุ่นก่อนที่เติบโตเป็นไม้ใหญ่ค้ำจุนสืบทอดศาสนาอิสลามต่อไป
สิ่งนี้คือสายสัมพันธ์ที่ทำให้ชุมชน ชาวมุสลิม และศาสนสถาน มีความเกี่ยวข้องกันจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่ง ลึกซึ้งกว่าการเป็นเพียงหน้าที่สอนศาสนา หรือการใช้สถานที่ประกอบศาสนพิธีเพียงอย่างเดียว
การที่กุฎีเจริญพาศน์ถูกใช้เป็นสถานที่สอนศาสนาและการอ่านคัมภีร์อัลกุรอานให้แก่เด็กเล็กทุกวันอาทิตย์นั้นไม่ใช่เพียงวิธีการสืบทอดศาสนาอิสลาม นิกายชีอะฮ์ให้ดำรงสืบต่อไป แต่นั่นยังหมายถึงการให้ศาสนาเป็นเครื่องมือในการสร้างสัมพันธ์ที่ดีต่อกันระหว่างพี่น้องอิสลาม และชุมชมดั้งเดิมที่เป็นรากเหง้าของพวกเขา ผ่านข้อปฏิบัติที่ยึดถือปฏิบัติต่อกันมาอย่างเคร่งครัด
“เพราะกุฎีเจริญพาศน์เป็นศูนย์รวมของพี่น้องมุสลิมมาเป็นเวลาช้านาน ความเกื้อกูลกันระหว่างชาวมุสลิมจะทำให้ที่นี่ยังคงอยู่ต่อไป” ทรัสตีกุฎีเจริญพาศน์กล่าวทิ้งท้าย
แม้ย่านชุมชนแขกเจ้าเซ็นไม่ได้เป็นย่านการค้าเช่นอดีตที่ผ่านมา แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงไป คือ ความศรัทธาที่มีต่อศาสนาของพี่น้องชาวมุสลิม เสมือนพันธะยึดโยงพวกเขาไว้ด้วยเชือกแห่งศรัทธาเส้นเดียวกัน และสายสัมพันธ์นี้จะยังคงผูกวิถีชีวิต ความศรัทธา และศาสนสถาน ไว้เป็นหนึ่งเดียวกัน ทำให้ กุฎีเจริญพาศน์ยังคงมีลมหายใจอยู่ในปัจจุบัน