banner-camp-12-for-web-logo

งานจากค่ายสารคดีครั้งที่ 11 (ได้รับงานภาพสารคดี ดีเด่น)
เรื่อง… สุภาวดี เจ๊ะหมวก
ภาพ… ศุภสิน พูนธนาทรัพย์

ท่ามกลางวุ่นวายบริเวณหน้ามัสยิดต้นสน ครูอามีน วงสวรรค์ กำลังเปิดกระป๋องน้ำอัดลมให้แก่นักเรียนที่เป็นเจ้าของ โดยหวังว่าจะทำให้นักเรียนรีบเข้าเรียนในมัสยิดโดยไว
ในช่วงเวลาประมาณ 7.45 น. ผู้ปกครองเดินมาส่งลูกหลานของเขาเข้าเรียนศาสนาที่มัสยิดต้นสนแห่งนี้ โดยในบางครั้งชุดที่เด็กน้อยใส่มาอาจเป็นชุดไปเที่ยวธรรมดา ไมได้มียูนิฟอร์มเหมือนคนอื่น นั้นเป็นเพราะระเบียบที่บังคับให้เด็กเข้าเรียนเป็นเวลา 6 เดือนก่อนจะได้รับยูนิฟอร์ม เพื่อป้องกันเด็กไม่มาเรียนหลังจากได้รับชุด
 เช่นเดียวกับสถาบันกวดวิชาสำหรับเด็กทั่วไป ที่จะมีร้านค้า ร้านอาหาร ขนมเด็กวางแผงเรียงรายอยู่ทั่วไป โดยร้านค้าบางร้านก็มาจากที่อื่น เพื่อมาขายเด็กที่นี้โดยเฉพาะ ในช่วงวันหยุด เสาร์-อาทิตย์
เด็กจะได้รับการสอนให้อ่านบทสวดในคำภีร์อัลกุรอาน โดยจะมีทั้งคำภาษาอาหรับและคำแปลภาษาไทยให้อ่านควบคู่กันไป โดยแต่ละบทสวดที่สอนก็จะแบ่งออกตามความยากง่ายและระดับความรู้ของเด็ก ว่ากันว่าเด็กบางคนซ้ำชั้นถึง 2 ปีเลยทีเดียว
เด็กแต่ละคนรีบวิ่งขึ้นนั่งตามห้องเรียนที่แบ่งไว้ตามระดับชั้น โดยส่วนมากผู้ปกครองจะส่งให้เด็กมาเรียนตั้งแต่อายุ 7 ขวบ และเรียนตามหลักสูตรเป็นเวลา 7 ปี คล้ายกับการเรียนของระบบสามัญศึกษา    (ม.1-ม.6)
งบประมาณค่าใช้จ่ายที่นี้ส่วนมากได้มากจากการบริจาคและครูผู้สอน เด็กทุกคนที่นี่เรียนฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายเพราะหลายหน่วยงานช่วยเหลืออุ้มชูไว้
กุฏีเจริญพาศน์ เป็นอีกที่หนึ่งที่มีการสอนศาสนาในวันหยุดเช่นเดียวกับมัสยินต้นสน โดยแตกต่างกันที่กุฏีแห่งนี้จะสอนศาสนาตามแบบนิกายชีอะห์ แต่มัสยิดต้นสนสอนศาสนาตามแบบนิกายซุนนี
 ครูอามีน วงสวรรค์ วัย 29 ปี ประกอบอาชีพเป็นครูสอนวิชาสามัญตามโรงเรียนทั่วไปในวันปกติ และในวันหยุด เขาก็เป็นคุณครูสอนศาสนาให้แก่มัสยิดต้นสนแห่งนี้เช่นกัน
ช่วงเวลา 12.30 น. ของการเรียนการสอน ก่อนที่เด็กๆจะได้ไปรับประทาน”อาหารฮาลาล” เด็กเล็กทุกคนจะได้รับการฝึกละหมาดอย่างถูกวิธี โดยในการฝึกแต่ละครั้งมักจะเป็นไปได้ด้วยความยากลำบาก เพราะด้วยนิสัยดื้อซนตามประสาเด็กเล็ก ส่วนเด็กโตจะแยกไปละหมาดอีกที่หนึ่ง
หลังจากที่จบการเรียนการสอนผู้ปกครองต่างมารอรับกันอย่างไม่ขาดสาย ที่จอดรถเต็มไปด้วยจักรยานยนตร์มากมาย เด็กหลายคนโบกลาเพื่อนร่วมชั้นก่อนกลับบ้าน ก่อนที่จะแยกย้ายและมาเรียนใหม่ในสัปดาห์ถัดไป

ใต้สะพานอนุทินสวัสดิ์บนถนนอรุณอมรินทร์ รถจักรยานยนต์หลากยี่ห้อสิบกว่าคันจอดเรียงรายราวกับมีชุมนุมขนาดย่อม ชายคนหนึ่งขับมาจอดโดยมีสาวร่างท้วมนั่งซ้อนท้าย หน้าสุดคือเด็กหญิงราวเจ็ดขวบสวมเสื้อธรรมดาแขนยาวถึงข้อ กางเกงขายาวถึงตาตุ่ม ผมเผ้าถูกคลุมด้วยฮิญาบสีขาว เด็กหญิงตัวน้อยก้าวขาลงจากรถอย่างทะมัดทะแมง เธอหันไปโบกมือน้อย ๆ ให้กับคนทั้งสอง ก่อนจะวิ่งเข้าซอย โรงเรียนของเธออยู่ข้างหน้า เหล่าเพื่อนนักเรียนหลายคนมารออยู่ก่อนแล้ว ทุกคนดูแจ่มใสในเช้าวันหยุด

รถเมล์หลายสายรับผู้คนโดยสารจากฝั่งพระนครไปยังฝั่งธนบุรี ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่พักของขุนนางและเจ้านายชั้นสูงต่างเชื้อชาติที่เข้ามาทำการค้าจนเกิดเป็นชุมชนพหุวัฒนธรรม ก่อนศูนย์กลางทั้งหมดจะถูกย้ายไปรวมอยู่ฝั่งพระนครเมื่อครั้งสร้างเมืองใหม่ ทำให้ภาพของฝั่งธนบุรีริมแม่น้ำเจ้าพระยาในปัจจุบันกลายเป็นย่านประวัติศาสตร์ที่มีการตั้งถิ่นฐานและชุมชนมาช้านาน หลายเส้นทางของที่นี่ยังคงมีวัฒนธรรมเก่าแก่หลงเหลือและชักนำให้เข้าไปสำรวจ หากมีโอกาสนั่งรถผ่านแถวสี่แยกบ้านแขก แล้วตรงไปตามถนนอิสรภาพ บนถนนเส้นนั้นช่วงหนึ่งจะมีสะพานเชื่อมคลองบางกอกใหญ่ชื่อ “สะพานเจริญพาศน์” และถ้าสังเกตให้ดีจะเห็นว่ามีซอยเล็ก ๆ ที่ตั้งชื่อตามสะพานว่า “ซอยเจริญพาศน์” ตรงต้นซอยจะปรากฏโบสถ์เด่นหลังหนึ่งซึ่งประดับด้วยกระเบื้องโมเสคสีสันสดใส เรียกว่ากุฎี ซึ่งก็ถูกเรียกตามชื่อสะพานและซอยเช่นกันว่า “กุฎีเจริญพาศน์” ดังนั้นทั้ง สะพาน ซอย และกุฎี สามสิ่งนี้จึงมีชื่อเหมือนกัน ไม่เพียงแค่นั้น หากลัดเลาะเข้าซอยต่อไปเรื่อย ๆ ผ่านชุมชน ร้านค้า ผ่านวัดหงส์รัตนาราม ซึ่งมีสัญลักษณ์รูปหงส์ประดับตามรั้วและอุโบสถ เข้าสู่ตรอกเล็ก ๆ เลียบริมคลอง ก่อนถึงสะพานอนุทินสวัสดิ์จะมีมัสยิดชื่อ “มัสยิดต้นสน” ซึ่งถือว่าเก่าแก่ที่สุดหลังหนึ่งของประเทศไทย มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมนั้นเรียกว่า “กุฏีใหญ่” โดยเรียกย่อมาจากคำว่า “กุฎีบางกอกใหญ่” เพราะตั้งอยู่บริเวณใกล้ปากคลองบางกอกใหญ่ หลังจากมีการสร้างอาคารใหม่และปลูกต้นสนคู่ที่หน้าประตูกำแพง จึงเปลี่ยนชื่อเป็น “มัสยิดต้นสน” ตัวอาคารมีการทาสีใหม่ ปัจจุบันเป็นสีเปลือกไข่สวยนวลแปลกตา

ทั้งกุฎีเจริญพาศน์และมัสยิดต้นสน สองศาสนสถานที่ตั้งตระหง่านตลอดฝั่งซ้ายของคลองบางกอกใหญ่ ถือเป็นความแตกต่างที่มาจากศาสนาเดียวกัน ตัวกุฎีเจริญพาศน์นั้น เป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมศาสนาอิสลามฝ่ายนิกายชีอะห์ หรือที่คนไทยเรียกกันติดปากว่า “แขกเจ้าเซ็น” ส่วนมัสยิดต้นสนนั้นเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมฝ่ายนิกายซุนหนี่ แม้ว่าจะแตกต่างนิกาย หากแต่บทบาทและหน้าที่ของศาสนสถานสำคัญทั้งสองนั้นแทบไม่แตกต่างกัน

ช่วงวันเสาร์อาทิตย์ในซอยเจริญพาศน์อาจเห็นเด็กไทยพุทธนั่งเล่นอยู่ที่บ้าน ดูทีวี ขี่จักรยาน เข้า-ออกอยู่ตามร้านเกม หรือครอบครัวไหนอยากให้ลูกเก่งก็ส่งเข้าโรงเรียนกวดวิชา ฝากฝังติวเตอร์ตามสถาบันใกล้ไกลแล้วแต่กำลังทรัพย์ บ้างก็ส่งไปเรียนดนตรีกีฬา เสียค่าคอร์สราคาแพง ๆ ก็ยอมจ่าย เด็กเหล่านั้นอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าทำไปเพื่ออะไร เช่นเดียวกันกับเด็กไทยมุสลิมกลุ่มนี้ ที่ต้องมานั่งเรียนในวันหยุดกุฎีและมัสยิดจึงเสมือนโรงเรียนกวดวิชา มีทั้งสอนภาษาอาหรับ สอนการทำละหมาด หรือหลักปฏิบัติอื่น ๆ ตามศาสนา รวมถึงกิจกรรมผ่อนคลายที่หวังสร้างทักษะและพัฒนาการควบคู่กันไป อาจกล่าวได้อีกอย่างว่าสถานที่เหล่านี้เป็นแหล่งชุมนุมพบปะเพื่อน ๆ ที่เชื่อและศรัทธาในพระเจ้าองค์เดียวกัน

สำหรับฝั่งกุฎีเจริญพาศน์นั้นมีนักเรียนไม่มาก นั่งกระจายกันเป็นกลุ่มย่อย ๆ มีครูสาวประจำแต่ละกลุ่ม บางกลุ่มเรียนภาษาจากพระคัมภีร์ บางกลุ่มเลือกทำกิจกรรมอย่างคำนวณหรือระบายสีแล้วแต่ความชอบ ส่วนฝั่งมัสยิดต้นสน ที่เรียนจะอยู่ในตึก “สมาคมสนธิอิสลาม”ฝั่งตรงข้ามกับมัสยิด ชั้นล่างเป็นโถงใหญ่มีโต๊ะยาวหลายตัววางเรียงกัน ที่นั่งจะมีสองฝั่ง ฝั่งหนึ่งเป็นนักเรียนหญิง อีกฝั่งเป็นนักเรียนชาย ครูผู้สอนอยู่ตรงกลางด้านหน้าบนเวทีที่ยกสูงจากพื้นขึ้นมาหน่อย ยามครูพูด เด็ก ๆ ว่าตาม บางประโยคเป็นภาษาไทย บางประโยคเป็นภาษาอาหรับ พอจะจับความได้ว่ากำลังกล่าวถึงอะไร ในห้องเรียน เด็ก ๆ บางคนลุกลี้ลุกลนบนเก้าอี้ บางคนเล่นซนกับเพื่อนตามประสา ครูผู้สอนต้องเหลียวมองส่งสายตาเป็นเชิงตักเตือนอยู่บ่อยครั้ง ยามที่เด็ก ๆ ประสานอ่านพร้อมกันเสียงจะดังก้อง บางคนนึกสนุกชอบใจเสียงจะยิ่งดังขึ้น จนเพื่อน ๆ ต้องหันมามอง บางคนเมื่อรู้ตัวว่ากำลังถูกจ้องจะถ่ายรูปก็มักเอามือป้องปากอมยิ้มแล้วหัวเราะกับเพื่อนข้าง ๆ

ที่มัสยิดต้นสนมีครูสอนศาสนาที่จะแวะเวียนผลัดกันมาตามแต่สะดวก หาใช่ครูประจำที่ทำแล้วรับเงินเดือนอย่างครูในโรงเรียนทั่วไป ครูอามีน วงษ์สวรรค์ อายุ 29 ปี หนึ่งในผู้มีใจรักและศรัทธา ท่าทีสงบอยู่ในชุดโต๊บยาวและสวมหมวกสีขาว ยามสนทนาใบหน้าคมเข้มนั้นดูนิ่ง ยิ่งทำให้คนคุยด้วยรับรู้ถึงศรัทธาจากภายใน ครั้งหนึ่งครูอามีนเคยเป็นเด็กที่ต้องมานั่งเรียนในวันหยุดแบบนี้เช่นกัน แต่ด้วยใจรักอยากจะส่งต่อศรัทธาให้กับคนรุ่นหลัง เมื่อเรียนจบจึงหาโอกาสมาช่วยนี้ ครูหนุ่มเดินทางมาจากจังหวัดเพชรบุรีแล้วมาแวะพักอยู่ที่บ้านครัวใต้ เขตปทุมวัน ซึ่งก็ไม่คิดว่าจะลำบากอะไรที่จะสละเวลามาอุทิศให้กับงานตรงนี้ อีกหนึ่งคน เป็นครูใกล้เกษียณ อายุเกือบ 60 ปี ชื่อครูมานิต ระดิ่งหิน นั่งรถมาจากบางบัวทองเพื่อที่จะสอนเด็ก ๆ แต่สำหรับครูมานิตย์นั้นนอกจากจะเคยเรียนภาษาอาหรับในวันหยุดแบบเด็กเหล่านี้ ในวันปกติกลับต้องไปนั่งเรียนกับพระในโรงเรียนวัด ครูมานิตมองว่าเป็นโชคดีที่ได้เรียนรู้ถึงสองศาสนา ความแตกต่างอาจมีบ้างแต่ครูบอกว่าอยู่ร่วมกันได้ อะลุ้มอล่วยกันได้ ปัญหาอย่างหนึ่งที่เด็กมุสลิมต้องเจอเมื่อเรียนร่วมกับเด็กพุทธ คือจะทำอย่างไรเมื่อต้องปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาร่วมกับเพื่อนชาวพุทธ ครูมานิตบอกว่า “โดยทั่วไปครูเขาจะรู้กัน แต่บางอย่างเราก็สามารถปฏิบัติเหมือนเขาได้ อย่างการนั่งสมาธิ ก็นั่งได้ เพื่อนเขาท่อง พุทโธ ๆ เราก็นั่งระลึกไป ไม่มีใครรู้ว่า เรานึกอะไร ครูก็ไม่รู้ว่าเราไม่ได้ท่อง พุทโธ” ครูชรากล่าว

ช่วงเวลาตั้งแต่แปดโมงเป็นต้นไปในทุกเสาร์อาทิตย์ของที่นี่จึงมีเสียงเด็ก ๆ ดังคึกคักตลอดเวลา จนเมื่อถึงเวลาเที่ยงก็เป็นอันจบการเรียนการสอนในหนึ่งวัน เด็ก ๆ จะได้กินอาหารที่คอยบริการไว้ในโรงทาน ข้าวปลาจะเป็นแบบที่เรียกว่า “อาหารฮาลาล” ซึ่งแม่ครัวจะจัดวางเอาไว้เรียบร้อยแล้ว เด็ก ๆ ตัวน้อยต่างค่อย ๆ ทยอยมารับ สำหรับบางคนคงเบื่อ แทนที่จะหยิบอาหารแจกฟรีจากโรงทาน ก็เลือกซื้อเอาร้านที่วางขายอยู่ใกล้ ๆ ทั้งไก่ปิ้ง ชานมและขนมนมเนยที่พ่อค้าแม่ขายเตรียมรอแต่เช้า พอเริ่มบ่ายคล้อย เด็ก ๆ ทานเสร็จก็ทยอยกลับ ในตอนนั้นเสียงเครื่องยนต์หลายคันกำลังดังสนั่นซอย หากคล้อยหลังไม่กี่นาที ใต้สะพานอนุทินสวัสดิ์ก็กลับเข้าภาวะเดิม รถมอเตอร์ไซค์ที่เคยจอดเรียงรายต่างแยกย้ายกลับเรือน

บนความเหมือนย่อมมีความแตกต่าง สถานที่นี้ทำให้เห็นแล้วว่าขณะที่เด็กหลายคนใช้เวลาวันหยุดนั่งรถไปเรียนกวดวิชาในเมืองเพื่อเตรียมตัวสอบ แต่เด็กมุสลิมไม่กี่คนกลับข้ามน้ำข้ามฝั่งมาเรียนรู้คำสอนตามหลักศาสนา เข้าใจหลักศรัทธาและวิถีปฏิบัติเพื่อเตรียมตนให้เป็นคนที่สมบูรณ์ และหลายครั้งชาวพุทธมักตั้งคำถามว่า ทำไมถึงต้องไปวัด ตายแล้วไปไหน บาปบุญคืออะไร แต่สำหรับชาวมุสลิมกลับไม่เคยตั้งคำถามว่าทำไมต้องทำ หรือทำไปเพื่ออะไร เพียงรู้ว่าเป็นหน้าที่ซึ่งมุสลิมทุกคนเมื่อเกิดมาก็ต้องทำ อย่างที่ชายมุสลิมคนหนึ่งบอกเอาไว้ “เด็กมุสลิมทุกคนต้องเรียน เพราะต้องอ่านคัมภีร์ให้ได้ เมื่ออ่านคัมภีร์ได้ก็จะทำพิธีได้” แน่นอนว่าพิธีกรรมเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของทุกศาสนา ความศักดิ์สิทธิ์จะแสดงออกผ่านพิธีกรรมทำให้คนเกิดความนับถือ เชื่อมั่น และศรัทธา เมื่อคนยอมรับมาปฏิบัติก็เท่ากับว่าศาสนานั้นยังคงดำรงอยู่ หลายคนอาจมองว่าศาสนสถานสองแห่งนี้มีเพียงร่าง ร่างที่เป็นตัวอาคาร ส่วนที่เป็นหัวใจก็คือคนประกอบพิธีกรรมนั้นส่วนใหญ่ไม่ใช่คนในพื้นที่ แต่หากมองลึกลงไปให้ถ้วนถี่อาจไม่เห็นเป็นร่างไร้วิญญาณเสียทีเดียว เพราะเมื่อตรวจดูแล้วพบว่าชีพจรยังเต้นอยู่ เป็นระยะ ๆ

หลังพระอาทิตย์ตก ที่นี่ฝั่งซ้ายริมคลองบางกอกใหญ่ดูเงียบเหงาไร้เงาผู้คน ภาพเด็กหญิงคลุมฮิญาบกับเด็กชายสวมหมวก นุ่งโต๊บยาวเดินสะพายเป้เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อสี่ห้าชั่วโมงก่อนหน้า พลันเสียงดุอาอ์หลังละหมาดดังขึ้น เป็นเสียงอันเกิดจากศรัทธาตั้งแต่คราเยาว์วัย