362special1

ริ้วรอยและความทรงจำหลัง ๗๐ ปี สงครามโลกครั้งที่ ๒

พร้อมๆ กับการบุกไปโจมตีฐานทัพเรือเพิร์ลฮาร์เบอร์ของอเมริกา ตอนเช้าตรู่วันที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ กองทัพญี่ปุ่นยังจู่โจมมลายู หมู่เกาะในอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และยกพลขึ้นบกฝั่งอ่าวไทย เป้าหมายคือโจมตีอังกฤษในอินเดีย ถือเป็นการเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ ๒ ของญี่ปุ่น และเปิดฉากสงครามมหาเอเชียบูรพาในอุษาคเนย์ ซึ่งสืบเนื่องต่อมาถึงปี ๒๔๘๘

เหตุการณ์ผ่านไปร่วม ๗๐ ปี แต่ยังเหลือร่องรอยหลายสิ่งในเมืองไทย ทั้งในแง่วัตถุสถานและความทรงจำ

…“ริ้วรอยและความทรงจำหลัง ๗๐ ปี สงครามโลกครั้งที่ ๒” เป็นการประมวลเรื่องราวทั้งหลายนั้นเพื่อร่วมกันจดจำไว้เป็นบทเรียน ถึงความทุกข์ยากลำเค็ญและแง่งามของความหวังในยามสงคราม

362special2

๒๕๕๘ วิกฤตแล้งแผดทุ่งเจ้าพระยา

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ประเทศไทยเกิด “วิกฤตแล้ง” อย่างหนัก

เช่นเดียวกับไม่ใช่ครั้งแรกที่ สารคดี ยกประเด็นนี้มานำเสนอ

เราให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ที่วกกลับมาเกิดอีกครั้งเพราะดูเหมือนจะหนักหนากว่าครั้งไหน ๆ

คราวนี้เราเลือกนำเสนอเรื่อง “น้ำ” ในอีกรูปแบบที่นอกเหนือจากการบันทึกข่าวและข้อมูลตัวเลข เพื่อสะท้อนต้นทาง “แท้จริง” ของความแล้ง ที่ว่ากันว่าเกิดจากฝีมือ “มนุษย์” ผู้หวังเอาชนะธรรมชาติด้วยสิ่งที่ไม่เป็นธรรมชาติ เมื่อเกิดความไม่สมดุลทางธรรมชาติขึ้นมา มนุษย์ก็ไม่เคยโทษตัวเอง

เราพยายามแทรกเรื่องนิเวศสำนึก-จริยศาสตร์สิ่งแวดล้อม เพื่อสะท้อนความผูกพันระหว่างมนุษย์กับโลกธรรมชาติ แสดงให้เห็นว่าหากขาดจิตวิญญาณส่วนนี้ไปจะส่งผลอย่างไรต่อผืนแผ่นดิน

บางขณะที่เราคิดว่าตนเป็นเจ้าของพื้นที่ อาจลืมว่าผืนฟ้า สายน้ำ และแผ่นดิน ไม่เคยเป็นของใคร

เพราะธรรมชาติมีชีวิตเป็นของตนเอง และมนุษย์ไม่อาจอยู่เหนือกฎข้อนี้ วิกฤตแล้งที่แผดทุ่งเจ้าพระยาอยู่ทุกขณะ คือสิ่งยืนยัน

หากฝ่าฝืน…ธรรมชาติเอาจริง !