ภัควดี วีระภาสพงษ์
คอลัมน์นี้เคยนำเสนอเรื่อง LETS ซึ่งเป็นบัญชีเครดิตสำหรับการแลกเปลี่ยนสินค้าแทนเงินเพื่อเสริมสร้างศักยภาพทางเศรษฐกิจให้ชุมชน ครั้งนี้จะขอนำเสนอทางเลือกค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการที่เก่าแก่กว่านั้น นั่นคือเงินตราชุมชน (community currency)หรือเงินตราท้องถิ่น (local currency) ซึ่งเป็นระบบเงินตราที่กำหนดจากรากหญ้าและยอมรับกันในแนวระนาบ กล่าวอีกอย่างหนึ่งคือ ประชาชนคิดค้นขึ้นเองโดยอาศัยความไว้วางใจและความร่วมมือกันเป็นหลักสำคัญที่ทำให้ระบบประสบความสำเร็จ แตกต่างจากระบบเงินตราของรัฐซึ่งกำหนดในแนวดิ่ง อาศัยอำนาจรัฐ กฎหมาย และระบบการเงินการธนาคารที่รัฐรับรองมาบังคับใช้แก่ชีวิตทางเศรษฐกิจของประชาชน
ระบบเงินตราชุมชนมีทั้งในประเทศโลกที่ ๑ ซึ่งเจริญแล้วและในประเทศโลกที่ ๓ ซึ่งยังขาดแคลนการพัฒนาหลายด้าน บางท้องถิ่นมีการใช้มานานและประสบความสำเร็จ บางท้องถิ่นอยู่ในระยะทดลองและล้มลุกคลุกคลานบ้าง แต่ละท้องที่ก็มีรายละเอียดและกฎเกณฑ์ต่างกันตามสภาพความจำเป็นในชุมชนของตน แต่ทั้งหมดมีเป้าหมายเดียวกันคือการเพิ่มอำนาจทางเศรษฐกิจและการพึ่งพิงตนเอง
Brixton Pound
บริกซ์ตันเป็นย่านที่อยู่อาศัยทางตอนใต้ของกรุงลอนดอน ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติผู้อพยพเข้ามาในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ชุมชนนี้จึงมีชาติพันธุ์หลากหลายและมีสัดส่วนผู้สืบเชื้อสายชาวแอฟริกันและแคริบเบียนค่อนข้างมาก แต่เวลาเอ่ยถึงบริกซ์ตัน คนทั่วไปมักจะนึกถึงแก๊งอันธพาล ยาเสพติด และการจลาจล
บริกซ์ตันพยายามต่อสู้ให้ก้าวพ้นจากวงจรความยากจนและอาชญากรรม โดยเข้าร่วมโครงการ “เมืองเปลี่ยนผ่าน” (transition town) ซึ่งผลักดันให้ชุมชนในสหราชอาณาจักรสร้างความเข้มแข็งให้ตนเอง การใช้เงินตราชุมชนเป็นโครงการหนึ่งที่ได้รับการสนับสนุน บริกซ์ตันเริ่มสร้างเงินตราของตัวเองที่เรียกว่า “ปอนด์บริกซ์ตัน” (B£) และนำมาใช้ในปี ๒๕๕๒ ซึ่งเป็นช่วงที่ชุมชนได้รับผลกระทบอย่างหนักจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ระบบเงินปอนด์บริกซ์ตันไม่ได้พยายามเข้าแทนที่เงินปอนด์ของทางการ แต่ทำหน้าที่เป็น “เงินตราเสริม” ค่าเงินปอนด์บริกซ์ตันผูกติดกับเงินปอนด์สเตอร์ลิงในอัตรา ๑ : ๑ ชาวชุมชนนำเงินปอนด์ไปแลกปอนด์บริกซ์ตันได้จากร้านค้าหลายแห่ง เนื่องจากระบบเงินปอนด์บริกซ์ตันไม่มีการปล่อยกู้ กระทรวงการคลังของสหราช-อาณาจักรจึงถือว่าเงินตราชุมชนนี้เป็นเสมือน “ระบบใบสำคัญจ่าย” และไม่ถือว่าผิดกฎหมาย
ในเมื่อปอนด์บริกซ์ตันไม่ใช่เครดิตเงินกู้หรือการสร้างมูลค่า ทำไมจึงมีธุรกิจท้องถิ่นกว่า ๘๐ แห่งยอมรับเงินตราชุมชนนี้ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มนำออกใช้ ? เหตุผลคือการมีเงินตราชุมชนช่วยเพิ่มอำนาจให้ร้านค้าและธุรกิจท้องถิ่น เป็นการส่งเสริมให้ใช้จ่ายเงินภายในชุมชนของตัวเองและไม่ปล่อยให้เงินตรารั่วไหลไปข้างนอก ร้านค้าที่รับเงินปอนด์บริกซ์ตันมักส่งเสริมการขายด้วยการให้ส่วนลดพิเศษ ในทางกลับกัน องค์กรท้องถิ่นที่ดูแลเงินปอนด์บริกซ์ตันก็จะช่วยโฆษณาประชาสัมพันธ์ให้ร้านค้าเหล่านี้โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ปัจจุบันการใช้เงินปอนด์บริกซ์ตันแพร่หลายจนธุรกิจท้องถิ่นร้อยละ ๔๐ ยอมรับเงินตราชุมชนนี้
ในแง่ความปลอดภัยของเงินตรา กระดาษที่ใช้พิมพ์ปอนด์-บริกซ์ตันมีคุณสมบัติป้องกันการปลอมแปลงแบบเดียวกับเงินปอนด์ของทางการ ในเชิงสุนทรียศาสตร์ ปอนด์บริกซ์ตันเหนือกว่าปอนด์สเตอร์ลิงบ้างตรงที่รูปบุคคลบนธนบัตรท้องถิ่นมีความหลากหลายและใกล้ชิดกับชาวชุมชนมากกว่า บุคคลที่ได้รับเกียรติปรากฏบนธนบัตรปอนด์บริกซ์ตัน เช่น โอลีฟ มอร์ริส (Olive Morris) นักกิจกรรมหญิงผิวสีเชื้อสายจาเมกา ทั้งเป็นนักสิทธิสตรีและนักต่อสู้เพื่อสิทธิของคนไร้บ้านที่จับจองที่ดินรกร้าง เจมส์ เลิฟล็อก (James Ephraim Lovelock) นักวิทยาศาสตร์และนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมชาวอังกฤษ เดวิด โบวี (David Bowie) นักร้องเพลงร็อกชื่อดังซึ่งเป็นชาวบริกซ์ตันโดยกำเนิด ลูโอล เดง (Luol Ajou Deng) นักบาสเกตบอลผิวสีชื่อดังของอังกฤษ ซึ่งเกิดที่ซูดานและอพยพมาตั้งรกรากในเขตลอนดอนใต้
สภาเทศบาลบริกซ์ตันสนับสนุนการใช้เงินตราชุมชน โดยเงินปอนด์สเตอร์ลิงที่ชาวบ้านนำมาแลกปอนด์บริกซ์ตันนั้นจะนำไปฝากสหกรณ์เครดิตยูเนียนท้องถิ่นซึ่งยินดีปล่อยกู้ให้ธุรกิจเล็กๆ ในท้องถิ่นมากกว่าธนาคารใหญ่ๆ รวมทั้งช่วยลดการตกเป็นเหยื่อเงินกู้นอกระบบดอกเบี้ยแพงที่แพร่ระบาดในเขตยากจนยามเศรษฐกิจตกต่ำ นอกจากนี้พนักงานเทศบาลก็ได้รับเงินเดือนบางส่วนเป็นเงินปอนด์-บริกซ์ตันและห้างร้านบางแห่งก็จ่ายภาษีท้องที่ด้วยเงินตราชุมชน
ในปี ๒๕๕๔ ระบบเงินปอนด์บริกซ์ตันเริ่มนำรูปแบบบริการบางอย่างจากเงินตราชุมชนในแอฟริกามาใช้ นั่นคือการใช้เงินตราอิเล็กทรอนิกส์ผ่านเอสเอ็มเอส ซึ่งบริษัทห้างร้านหันมาใช้ช่องทางนี้มากขึ้นเนื่องจากมีค่าธรรมเนียมน้อยกว่าการใช้บัตรเดบิตและบัตรเครดิต อีกทั้งค่าธรรมเนียมที่เก็บนั้นจะนำมาสะสมเป็นกองกลางเพื่อส่งเสริมการลงทุนรายย่อยในชุมชน
แม้ปอนด์บริกซ์ตันจะมีอายุไม่มากนักและคงต้องฝ่าฟันวิกฤตต่างๆ อีกมาก แต่อย่างน้อยที่สุดนอกจากช่วยสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน เงินปอนด์บริกซ์ตันยังกระตุ้นให้ประชาชนครุ่นคิดไตร่ตรองคำถามสำคัญในยุคสมัยปัจจุบันว่า “เงินคืออะไรและมันมาจากไหน ?”
BerkShares
“การทดลองทางเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่” คือวลีที่นิตยสาร นิวยอร์ก-ไทมส์ ให้คำนิยามเงินตราชุมชนของเขตเบิร์กเชียร์สในรัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา เงินตราชุมชนชื่อ “เบิร์กแชร์ส” เริ่มนำมาใช้อย่างเป็นทางการครั้งแรกเมื่อวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๔๙ แต่การทดลองเงินตราชุมชนเบิร์กแชร์สมีมาตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ ๑๙๙๐ โดยเริ่มต้นเหมือนโปรโมชันส่งเสริมการขายในช่วงฤดูร้อน ลูกค้าที่ซื้อของจากธุรกิจท้องถิ่นจะได้เงินเบิร์กแชร์สเป็นรางวัลสะสมซึ่งนำมาแลกเงินคืนในสัปดาห์ที่กำหนด โปรโมชันนี้ได้รับความนิยมจนชาวเบิร์กเชียร์สบอกว่า “อ้าว ทำไมมีแค่ช่วงฤดูร้อนล่ะ ? น่าจะส่งเสริมการขายแบบนี้ตลอดปีเลย”
องค์กรที่บริหารและพิมพ์เงินตราชุมชนเบิร์กแชร์สคือ BerkShares Inc. ซึ่งได้รับความช่วยเหลือด้านการวิจัยและพัฒนาจาก Schumacher Center for a New Economics องค์กรไม่แสวงกำไรที่พยายามส่งเสริมระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นในรัฐแมสซาชูเซตส์ เริ่มแรกมีบริษัทห้างร้านประมาณ ๑๐๐ แห่งที่ยอมรับเงินเบิร์กแชร์ส ปัจจุบันมีธุรกิจตอบรับเพิ่มขึ้นเป็น ๔๐๐ แห่ง
ธนบัตรเบิร์กแชร์สมีมูลค่า ๑, ๕, ๑๐, ๒๐ และ ๕๐ เบิร์กแชร์ส รูปบุคคลบนธนบัตรประกอบด้วยชนเผ่ามาฮิแคน (Mahican) ซึ่งเป็นชนเผ่าอินเดียนแดงพื้นเมืองดั้งเดิมในท้องถิ่น ดับเบิลยู. อี. บี. ดูบัวส์ (W. E. B. Du Bois) ผู้นำขบวนการสิทธิพลเมืองของคนผิวสีในช่วงต้นศตวรรษที่ ๒๐ โรบิน วาน เอน (Robyn Van En) เกษตรกรหญิงผู้นำด้านเกษตรอินทรีย์และผู้บุกเบิกขบวนการเกษตรกรรมชุมชน เฮอร์แมน เมลวิลล์ (Herman Melville) นักเขียนชื่อดังเจ้าของผลงาน
นวนิยายเรื่อง Moby-Dick และ นอร์แมน ร็อกเวลล์ (Norman Percevel Rockwell) จิตรกรผู้มีชื่อเสียง บุคคลเหล่านี้ล้วนมีภูมิลำเนาเดิมในแมสซาชูเซตส์ กระดาษที่ใช้พิมพ์ธนบัตรมีคุณสมบัติป้องกันการปลอมแปลงเช่นเดียวกับเงินดอลลาร์
การพิมพ์และใช้จ่ายเงินตราชุมชนไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมายในสหรัฐ-อเมริกา หากปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ คือ เงินตราชุมชนต้องเป็นกระดาษเท่านั้น ไม่อนุญาตให้ผลิตเป็นเหรียญ เงินตรานั้นต้องไม่คล้ายคลึงกับธนบัตรดอลลาร์ และรายได้ใดๆ ที่เกิดจากการใช้จ่ายเงินตรานี้ต้องถูกเก็บภาษีเช่นเดียวกับเงินดอลลาร์ มีธนาคารท้องถิ่นสามแห่งหกสาขาที่รับแลกเงินตราเบิร์กแชร์ส มูลค่าของเงินเบิร์กแชร์สผูกติดกับเงินดอลลาร์ ผู้ต้องการใช้เงินเบิร์กแชร์สแลกได้ในอัตรา ๙๕ เซนต์ต่อ ๑ เบิร์กแชร์ส ซึ่งนำไปใช้จ่ายกับบริษัทห้างร้านธุรกิจท้องถิ่นประมาณ ๔๐๐ แห่ง
เงินตราชุมชนเบิร์กแชร์สเป็นเครื่องมือเพิ่มอำนาจให้ระบบเศรษฐกิจชุมชนและพัฒนาการพึ่งพิงตนเองของท้องถิ่น ลดผลกระทบอันเกิดจากความผันผวนของระบบเศรษฐกิจระดับชาติและระดับโลก เพิ่มการไหลเวียนสินค้า บริการ และทุนให้อยู่ภายในท้องถิ่นมากที่สุด เงินตราเบิร์กแชร์สเป็นหน้าเป็นตาแก่ธุรกิจท้องถิ่นที่ยอมรับเงินตราชุมชน จึงสร้างความสัมพันธ์แน่นแฟ้นระหว่างธุรกิจรายย่อยกับพลเมือง และช่วยให้ธุรกิจรายย่อยแข่งขันกับธุรกิจรายใหญ่ได้มากขึ้น
นอกจากนี้เงินตราเบิร์กแชร์สยังมีเป้าหมายด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมให้ใช้สินค้าที่ผลิตในท้องถิ่นตน จะช่วยลดการใช้พลังงานน้ำมันและก๊าซที่สิ้นเปลืองในการขนส่งระยะทางไกลอีกโสดหนึ่งด้วย
ประเทศไทยเองก็เคยมีการผลิตเงินตราท้องถิ่นใช้ นั่นคือเบี้ยกุดชุมในเขตอำเภอกุดชุม จังหวัดยโสธร มีการผลิตธนบัตรกุดชุมออกใช้จ่ายภายในหมู่บ้านห้าแห่งเมื่อปี ๒๕๔๒ แต่น่าเสียดายที่รัฐไทยและธนาคารแห่งประเทศไทยไม่เข้าใจและไม่เล็งเห็นคุณประโยชน์ กลับมองว่าเงินตราชุมชนจะบ่อนทำลายความมั่นคงทางเศรษฐกิจและการปกครองของประเทศ
จึงมีคำสั่งระงับการใช้เบี้ยกุดชุมอย่างเป็นทางการในปี ๒๕๔๓ การพัฒนาเงินตราชุมชนในประเทศไทยจึงถูกตัดตอนลงอย่างน่าเสียดาย
ที่มาภาพ
http://www.yesmagazine.org/commonomics/alternative-currencies-bigger-than-bitcoin-bangla-pesa-brixton/brixtonmontage.jpg/image
http://www.yesmagazine.org/commonomics/alternative-currencies-bigger-than-bitcoin-bangla-pesa-brixton/usingbrixton.jpg/image
http://www.berkshares.org/heroes