เรื่อง : รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์
ภาพ : กิตติธัช โพธิวิจิตร
ผมได้ยินชื่อ “ปากบารา” ครั้งแรกสมัยเรียนปีสุดท้ายในมหาวิทยาลัย แต่ก็คงเช่นเดียวกับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังสถานที่แห่งนี้ ชื่อปากบาราผ่านหู ผ่านตา แต่ไม่เคยถูกบันทึกลงในความทรงจำ เพราะจุดหมายของคนส่วนใหญ่อยู่ที่เกาะหลีเป๊ะ ต้นทางของการท่องเที่ยวดำน้ำดูปะการังบริเวณเกาะอาดัง-ราวีที่อยู่ติดกัน
แสงแดดสะท้อนน้ำใส หาดทรายสีขาว และภาพปะการังสีสวย ยังคงชักชวนให้ผมนึกถึงครั้งเดินทางไปภาคใต้ ปลายทางที่เหมือนสวรรค์ ทำให้เราแทบไม่ได้จดจำท่าเรือท่องเที่ยวปากบารา ตำบลปากน้ำ อำเภอละงู จังหวัดสตูล ที่อยู่ต้นทาง
ชื่อตำบลปากน้ำ หรือที่ชาวปากน้ำเรียกว่า “กัวลาบารา” เป็นภาษามลายูที่ประกอบด้วยสองคำ “กัวลา” หมายถึงบริเวณปากแม่น้ำ ส่วน “บารา” หมายถึงถ่านไม้ ชื่อนี้สะท้อนแง่มุมทางประวัติศาสตร์ เพราะบริเวณปากบาราเคยเป็นท่าเรือบรรทุก
สินค้าสำคัญ คือไม้และฟืน ที่ส่งไปมาเลเซีย
หากใครยังนึกภาพไม่ออกว่าปากบารานั้นอยู่ตรงไหน แนะนำให้ลองนึกภาพแผนที่ประเทศไทย ซูมเข้าไปตรงด้ามขวาน เลาะไล่ลงไปตามจังหวัดติดทะเลฝั่งอันดามัน จากระนอง พังงา กระบี่ ตรัง สุดปลายทางด้ามขวานฝั่งซ้ายติดทะเลที่สตูลผ่านอำเภอทุ่งหว้า อำเภอละงู ก่อนเลี้ยวขวามายังอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา โดยมีจุดสังเกตคือถนนตรงยาวเลียบหาด และเกาะเขาใหญ่ตั้งตระหง่านเป็นสัญลักษณ์
ปีที่แล้วผมกลับมาที่นี่หลังจากได้ยินข่าวกิจกรรมการเดินเท้าระยะทาง ๒๒๐ กิโลเมตร จากสตูลสู่สงขลา ในนาม “เดินด้วยรัก พิทักษ์สองฝั่งทะเล” เชื่อมสะพานขนส่งสินค้าด้วยสะพานมนุษย์ ระหว่างวันที่ ๒๒ ถึง ๒๘ ตุลาคม ๒๕๕๖ เพื่อคัดค้านโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราที่จะสร้างขึ้นตรงอ่าวปากบารา โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานซึ่งมีหัวเรี่ยวหัวแรงหลักคือกรมเจ้าท่านี้ คาดหวังว่าท่าเรือน้ำลึกจะจุดประกายให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมในภาคใต้ตอนล่างที่จะสร้างรายได้พร้อมกับยกระดับฐานะและคุณภาพชีวิตให้แก่ชาวใต้
ที่สมาคมรักษ์ทะเลไทยหนึ่งในองค์กรเอกชนซึ่งเข้าร่วมกิจกรรม วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี เล่าให้ผมฟังถึงภาพฝันของเซาเทิร์นซีบอร์ด (southern seaboard) ที่วาดไว้ตั้งแต่ปี ๒๕๓๒ ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ซึ่งผ่านการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ด้วยการก่อสร้างเขตอุตสาหกรรมที่มาเป็นแพ็กเกจคู่กับท่าเรือขนาดใหญ่ ไม่ต่างจากอีสเทิร์นซีบอร์ด หรือที่เรารู้จักกันดีในนามนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ที่คู่กับท่าเรือแหลมฉบัง
แนวคิดเบื้องหลังการผลักดันเซาเทิร์นซีบอร์ดมาจากความแออัดของพื้นที่อุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด อีกทั้งภาคใต้ยังอยู่ใกล้แหล่งเชื้อเพลิงและวัตถุดิบอย่างน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี
ตามแผนพัฒนาดังกล่าว เขตภาคใต้ตอนบนประกอบด้วยประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง นครศรีธรรมราช จะเป็นเขตอุตสาหกรรมเหล็กแบบครบวงจร รวมทั้งท่าเรือน้ำลึกเพื่อการขนส่งที่ชุมพรและระนอง ส่วนบริเวณห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเขตโครงการพัฒนาขนาดใหญ่คือ “สะพานเศรษฐกิจ” หรือแลนด์บริดจ์ (landbridge) เชื่อมทะเลฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทยด้วยการขนส่งทางรถไฟ โดยสถานีปลายทางสองฝั่ง คือท่าเรือน้ำลึกปากบารา อำเภอละงู จังหวัดสตูล และท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ ๒ ที่อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ตั้งความหวังว่าจะแย่งเรือส่งสินค้าจากประเทศเมืองท่าอย่างสิงคโปร์และมาเลเซีย ด้วยเวลาการขนส่งที่รวดเร็วกว่า เนื่องจากไม่ต้องเดินเรืออ้อมช่องแคบมะละกา
แต่สะพานแผ่นดินที่ภาครัฐสัญญาว่าจะนำมาซึ่งความเฟื่องฟูทางเศรษฐกิจ กลับสร้างความกังวลถึงผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อม เพราะอนาคตภายหลังการก่อสร้างเสร็จ ความสะดวกสบายจากการขนส่งย่อมเป็นแรงจูงใจให้เกิดเขตอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มาพร้อมกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน เขื่อน หรือโรงไฟฟ้าถ่านหิน
สิ้นสุดการบรรยายของวิโชคศักดิ์ สายฝนปลายฤดูมรสุมยังคงโปรยปรายไม่ขาดสาย
สำหรับชาวสตูล มรสุมและสายฝนเป็นเรื่องปรกติตามฤดูกาล พัดผ่านมาแล้วก็ผ่านไป แต่มรสุมแห่งความเปลี่ยนแปลงต่างหากที่สร้างเงาเมฆครึ้มในจิตใจ ซึ่งคงไม่ใช่เรื่องที่จะผ่านไปได้ง่าย ๆ
“สตูล สงบ สะอาด ธรรมชาติบริสุทธิ์” คงไม่มีประโยคใดอธิบายถึงสตูลได้ดีเท่าคำขวัญประจำจังหวัด ฟังกี่ครั้งก็นึกถึงภาพตัวเองนั่งอยู่ริมหาดปากบารา จิบน้ำชาแกล้มเสียงลมทะเล เฝ้ามองพระอาทิตย์ลับเหลี่ยมเกาะเขาใหญ่ที่ตั้งตระหง่านแว่วฟังเสียงขับอาซานทำนองแปลกหูจากมัสยิดฝั่งตรงข้าม
ผมไม่รู้ว่าธรรมชาติบริสุทธิ์ที่ประทับเป็นภาพในความทรงจำของผมจะอยู่ได้อีกนานสักเท่าไร เพราะตามแผนการพัฒนา เขาจะเปลี่ยนอ่าวปากบาราให้เป็นท่าเรือน้ำลึก ขยายถนนโยกย้ายร้านรวงท้องถิ่นเพื่อรองรับรถบรรทุกที่อาจวิ่งเข้าออกตลอดทั้งวันทั้งคืน เบนเข็มจากการเป็นแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนสู่การพัฒนาเป็นนิคมอุตสาหกรรม ตัดโอกาสการเป็นพื้นที่อนุรักษ์ในระดับ “มรดกโลกทางทะเล” เหลือเพียงตัวเลขคาดการณ์การเติบโตของจีดีพี
ก่อนที่จะไม่มีทางให้ถอยกลับ ผมอยากให้เราลองมารู้จัก “ปากบารา” แล้วพิจารณาว่า “ราคา” ของสิ่งที่ต้องสูญเสียนั้นคุ้มค่าหรือไม่ที่จะแลกกับท่าเรือน้ำลึก และภาพฝันสะพานเศรษฐกิจ
“ถ้อยคำ” ในเกลียว คลื่น
ท้องฟ้ายามสายในฤดูมรสุม ดวงอาทิตย์ยังคงอิงแอบอยู่หลังกลีบเมฆ ฝนหยุดลง พร้อมกับผู้คนที่เริ่มดำเนินชีวิต
ผมเดินเลียบไปตามเส้นทางริมหาดปากบารา ถนนตรงยาวไปจนถึงท่าเรือท่องเที่ยว สองข้างทางเป็นร้านอาหารทะเลหลากชื่อที่ตอนนี้ปิดร้านเพื่อรอรองรับลูกค้าในช่วงเย็น
เสียงคลื่นกระทบฝั่ง ไม่ต่างจากถ้อยคำที่ไม่ได้รับการแปลความ
ทอดสายตาไปไกล สุดขอบฟ้ามีเกาะเขาใหญ่ที่เว้นช่องตรงกลางราวกับไว้ให้พระอาทิตย์เคลื่อนผ่าน ทรายที่ปากบาราไม่ได้ขาวสะอาดเหมือนชายหาดท่องเที่ยว แต่หาดแห่งนี้มีเหล่าหญิงสาวมุสลิมในฮิญาบหลากสีเป็นเครื่องประดับ
หากใครมาเยือนสตูลเป็นครั้งแรกคงสะดุดตากับการแต่งกายแบบมุสลิมที่พบเห็นได้ทั่วไป เพราะจังหวัดสตูลเป็นหนึ่งในสี่จังหวัดของประเทศไทยที่มีประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม และความแตกต่างในความเชื่อไม่ได้เป็นกำแพงปิดกั้นมิตรภาพ
ผมเดินเข้าไปทักทาย “ก๊ะ” ในวัยต้น ๔๐ เธอคลุมผมด้วยฮิญาบสีดำ กำลังก้มหน้าก้มตาใช้ทัพพีตักข้าวขูดทรายบนชายหาดอย่างขะมักเขม้น เสียงแกรกกรากดังขึ้นประสานกับเสียงคลื่น ตามด้วยเสียงกรุ๊งกริ๊งของหอยเสียบที่ถูกโยนลงใส่ถังพลาสติก
“มาหาหอยเสียบเป็นงานอดิเรก เอาไว้กินเองบ้าง แจกเพื่อนบ้านบ้าง แต่ก่อนนี่ตัวใหญ่กว่านี้นะ แต่เดี๋ยวนี้ได้แต่ตัวเล็ก ๆ เอาไปต้มบ้าง ดองน้ำปลาบ้าง พอกินไปได้มื้อหนึ่ง”
หอยเสียบเป็นหอยสองฝาขนาดเล็ก เปลือกมีสีสันลวดลายหลากหลาย การหาหอยเสียบนอกจากจะได้วัตถุดิบประกอบอาหาร ยังถือเป็นกิจกรรมนันทนาการและสานสัมพันธ์ของคนในชุมชน ผู้เฒ่าผู้แก่ แม่บ้าน ลูกหลาน อากัปกิริยาของกลุ่มคนเบื้องหน้าชวนให้นึกถึงตัวผมเองในวัยเด็กที่เคยหาหอยเสียบให้แม่ดองน้ำปลาสมัยอาศัยอยู่ที่สงขลา
พอเห็นผมตั้งท่าจะถ่ายรูป ก๊ะก็เรียกเด็กหญิงในฮิญาบสีชมพูสดใสมาเป็นแบบ เธอยิ้มสวยทั้งใบหน้าและดวงตา ในมือถือตาข่ายตุงด้วยหอยเสียบหลากขนาด เธอยืนนิ่งให้ผมกดชัตเตอร์จนพอใจ ก่อนจะผละไปนั่งไม่ไกลจากแม่
วิถีชีวิตเรียบง่ายอาจดูไม่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจสักเท่าไรนัก แต่สำหรับคนตัวเล็ก ท้องทะเลคือซูเปอร์มาร์เกตขนาดใหญ่ที่ไม่ว่าใครก็เข้ามาซื้อหาอาหารได้ โดยมีค่าใช้จ่ายคือเวลา เรียกได้ว่าถ้ามีบ้านอยู่ใกล้ทะเล หากไม่ขี้เกียจจนเกินไปนัก ก็ไม่มีทางอดตาย
อ่าวปากบาราเป็นแหล่งประมงของชาวบ้าน ๓ อำเภอ ๒๘ หมู่บ้าน มีเรือประมงพื้นบ้านประมาณ ๔๐๐-๕๐๐ ลำ โดยเฉพาะในฤดูมรสุมที่ชาวประมงไม่สามารถออกเรือไปไกล ก็จะหาเลี้ยงครอบครัวอยู่ในอ่าวปากบารา อาศัยเกาะเขาใหญ่เป็นที่กำบังคลื่นลมตามธรรมชาติ มีสัตว์น้ำเศรษฐกิจที่สำคัญคือ ปลาทู ปลาเก๋า กุ้ง และปู
ความสำคัญของการประมงในจังหวัดสตูลนั้น ยืนยันชัดเจนจากสัดส่วนตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (gross provincial product) ที่การประมงคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ ๓๔.๔
ในซูเปอร์มาร์เกตแห่งนี้เองที่จะก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา ตามโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบาราระยะที่ ๑ เริ่มด้วยการถมทะเล สร้างสะพานเข้าท่าเรือขนาดสี่เลน (เข้าสองออกสอง) และทางรถไฟยื่นออกไปในทะเลเป็นระยะทาง ๔.๒ กิโลเมตร ณ ปลายสุดของสะพานจะถมทะเลเป็นพื้นที่ราว ๑๙๘ ไร่ หรือ ๔๖๖,๙๘๐ ตารางเมตร ก่อสร้างเป็นท่าเทียบเรือสินค้าคอนเทนเนอร์สองท่า ความยาวหน้าท่ารวม ๗๕๐ เมตร ท่าเทียบเรือบริการ ความยาวหน้าท่า ๒๑๒ เมตร และลานสำหรับวางตู้คอนเทนเนอร์ขนาดประมาณ ๙๘,๐๐๐ ตารางเมตร เทียบได้คร่าว ๆ กับ ๑๕ สนามฟุตบอลมาตรฐาน จำนวนสองลาน ยังไม่นับรวมอาคารปฏิบัติการอีกหลายแห่ง และเขื่อนกั้นคลื่นทางทิศใต้และตะวันตกเฉียงใต้ยาว ๑,๗๐๐ เมตรกลางทะเล
ส่วนการพัฒนาระยะที่ ๒ จะก่อสร้างท่าเรือเพิ่มหลังจากดำเนินการได้ ๖ ปี โดยต่อเติมให้เป็นรูปตัวแอล ทำเป็นท่าเทียบเรือความยาว ๕๐๐ เมตร และการพัฒนาระยะที่ ๓ จะก่อสร้างท่าเรือเพิ่มหลังจากดำเนินการได้ ๑๒ ปี โดยต่อเติมให้เป็นรูปตัวยู ทำเป็นท่าเทียบเรือความยาว ๑,๐๐๐ เมตร
เพื่อการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกนี้ กรมเจ้าท่าได้ทำหนังสือขอเพิกถอนพื้นที่บางส่วนในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตราคิดเป็นพื้นที่ ๔,๗๓๔ ไร่ และจำเป็นต้องขุดลอกทะเลบริเวณเขื่อนกันคลื่น บริเวณฐานคันหินล้อมพื้นที่ถมทะเล และขุดลอกร่องน้ำและแอ่งกลับลำเรือ ทำให้สูญเสียที่อยู่อาศัยของสัตว์หน้าดินกว่า ๑๕.๕ ล้านตารางเมตร และสูญเสียสัตว์หน้าดินประมาณ ๒,๖๐๐ ล้านตัวตามข้อมูลที่ระบุในรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และยังต้องนำดินเลนปริมาตรราว ๑๐ ล้านลูกบาศก์เมตรจากการขุดลอกไปทิ้งในทะเล ห่างจากที่ตั้งโครงการไปทางทิศตะวันตกประมาณ ๓๐ กิโลเมตร
การฟุ้งกระจายของตะกอนเลนอาจส่งผลต่อสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลที่ต้องใช้แสงในการสังเคราะห์อาหารอย่างแพลงก์ตอนพืชและสาหร่ายในตัวปะการัง สร้างความกังวลใจให้ชาวประมงและผู้ประกอบการท่องเที่ยวไม่น้อย ยิ่งเมื่อเปิดใช้ท่าเรือน้ำลึก เรือเดินสมุทรขนาดยักษ์ต้องใช้เส้นทางเดินเรือร่วมกับเรือรับส่งนักท่องเที่ยวไปยังเกาะหลีเป๊ะ และทับซ้อนกับอู่ข้าวอู่น้ำของชาวประมงพื้นบ้าน
ความกังวลนี้ได้รับการตอบกลับอย่างเรียบง่ายในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมว่า การฟุ้งกระจายของตะกอนนั้นส่งผลกระทบเพียงเล็กน้อยต่อระบบนิเวศ สัตว์หน้าดินที่สูญเสียไปส่วนใหญ่มีวงจรชีวิตสั้นและฟื้นฟูได้อย่างรวดเร็วตามธรรมชาติ ส่วนแหล่งประมงนั้น กรมเจ้าท่าจะใช้งบประมาณ ๓๐ ล้านบาทสร้างแหล่งปะการังเทียมทดแทน
หากเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายในโครงการปะการังเทียม ๓๐ ล้านบาท เงินสนับสนุนอุทยานแห่งชาติรวม ๑๖.๔ ล้านบาท และค่าดำเนินงานติดตามตรวจสอบคุณภาพสิ่งแวดล้อม ๒๗.๓ ล้านบาท รวม ๗๓.๗ ล้านบาท กับเงินลงทุนในโครงการท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบาราทั้งสามระยะและค่าก่อสร้างทางรถไฟ ๓๕,๗๔๘ ล้านบาท คงบอกได้ชัดเจนว่าคุณค่าของระบบนิเวศและวิถีชีวิตชุมชนนั้นมีมากน้อยเพียงใดในสายตาของเจ้าของโครงการ เพราะคิดเป็นเพียงร้อยละ ๐.๒ เท่านั้น
วันนี้อ่าวปากบารายังคงโอบอุ้มชุมชน เกาะเขาใหญ่ยืนตระหง่านกำบังลมมรสุมแก่ลูกทะเล ชาวสตูลยังหายใจคล่องปอด แม้บางครั้งหัวใจจะเต้นผิดจังหวะเมื่อได้ยินท่านนายกรัฐมนตรีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศเดินหน้าท่าเรือน้ำลึกปากบารา และขอความร่วมมือว่าอย่าคัดค้าน
แต่จะบังคับให้พวกเขานิ่งดูดายได้อย่างไร ในเมื่อทุกเช้าค่ำ ชาวปากน้ำยังต้องพึ่งพิงทะเลปากบารา
“เสียงหัวใจ” ใต้เลนดิน
ในสายตาของนักเดินทาง ไม่ว่าใครก็คงจะชื่นชอบหาดทรายขาว น้ำใส ฟ้าสวย ส่วนชายหาดปากบาราที่ค่อนไปทางขะมุกขะมอมปนเลน บางคนอาจคิดว่า การแลกเปลี่ยนระหว่างหาดเลนที่ไม่น่าพิสมัยกับการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่ดูจะสมเหตุสมผล
แต่ลองเงี่ยหูฟังดี ๆ นอกจากเสียงคลื่นกระทบฝั่ง ใต้ผืนเลนสีเทาดำยังดังก้องด้วยเสียงเต้นของหัวใจหลายดวง
ในมุมมองของนักนิเวศวิทยาอย่าง ศักดิ์อนันต์ ปลาทอง อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
ดินเลนสีดำคือจุดกำเนิดของห่วงโซ่อาหารในทะเล
“บริเวณนี้เป็นปากแม่น้ำที่มีธาตุอาหารอุดมสมบูรณ์ เรียกว่าระบบนิเวศปากแม่น้ำหรือเอสทัวรี (estuary ecosystem) ประกอบด้วยพื้นที่ปากแม่น้ำ ป่าชายเลน หญ้าทะเล เป็นระบบนิเวศที่มีสารอาหาร มีดินตะกอนสะสมอยู่เยอะ เลนสีดำที่เห็นเหมือนไม่มีค่านั่นคือธาตุอาหารทั้งนั้น ระบบนิเวศนี้สำคัญมาก เพราะสัตว์น้ำจะเข้ามาวางไข่และเป็นแหล่งอนุบาลตัวอ่อน หาดทรายขาว น้ำใส ต่างหากที่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่น้อยกว่า”
ระบบนิเวศปากแม่น้ำนั้นสังเกตไม่ยาก หากเรามองภาพจากแผนที่มุมสูงอย่าง Google Map จะเห็นว่าพื้นที่ฝั่งอันดามันมีรอยเว้าแหว่งจำนวนมากจากปากแม่น้ำ ตั้งแต่บริเวณเกาะระ เกาะพระทอง จังหวัดระนอง ซึ่งชื่ออำเภอที่ตั้งว่า “คุระบุรี”ก็แผลงมาจากภาษามลายูคือ “กัวลา” ที่แปลว่าปากแม่น้ำ ต่ำลงมาที่อ่าวพังงาก็ได้รับการเติมเต็มความอุดมสมบูรณ์จากปากแม่น้ำลำคลองหลายสาย อย่างแม่น้ำพังงา คลองมะรุ่ย และคลองบ่อแสน ส่วนพื้นที่ชุ่มน้ำปากแม่น้ำกระบี่นับว่ามีความสำคัญในระดับนานาชาติ จากการเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำตามอนุสัญญาแรมซาร์หรือที่เรียกว่า แรมซาร์ไซต์ (Ramsar Sites) อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหมและเขตห้ามล่าสัตว์ป่าหมู่เกาะลิบง จังหวัดตรัง เป็นแหล่งหญ้าทะเลสำคัญของประเทศและมาถึงสุดปลายด้ามขวานที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา ปากคลองปากบารา จังหวัดสตูล พื้นที่เหล่านี้เปรียบเสมือนสถานที่ปลอดภัยให้สัตว์น้ำมาวางไข่ ถือกำเนิด เจริญเติบโต ทั้งสัตว์น้ำที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ และสัตว์น้ำที่สำคัญต่อระบบนิเวศในทะเล
ระบบนิเวศปากแม่น้ำที่อุดมด้วยแหล่งหญ้าทะเลยังถือเป็นฐานที่มั่นสำคัญไม่กี่แห่งของพะยูน สัตว์ป่าสงวน ๑ ใน ๑๕ ชนิด ที่หลงเหลือประชากรในประเทศไทยเพียง ๒๐๐ ตัว อาศัยอยู่ในทะเลทั้งฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทย โดยมีแหล่งอาศัยหลักในจังหวัดตรัง รวมทั้งพบร่องรอยการกัดกินหญ้าทะเลที่เกาะลิดี ซึ่งมีหญ้าทะเลอุดมสมบูรณ์พื้นที่กว่า ๔๐๐ ไร่ในบริเวณอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะเภตรา จังหวัดสตูล
“ที่ปากบาราเราจะพบหอยตลับ หอยเสียบ รวมไปถึงไส้เดือนทะเล แล้วยังมีสัตว์โบราณอย่างหอยปากเป็ดหรือหอยราก ผมเคยเก็บตัวอย่างสัตว์หน้าดินนับพันตัวต่อพื้นที่ขนาดประมาณ ๑ ตารางเมตร สัตว์พวกนี้จะกินสารอินทรีย์ พอน้ำขึ้นสัตว์ใหญ่ก็จะเข้ามากินสัตว์เล็ก ๆ เป็นทอด ๆ พื้นที่ตรงนี้จึงเรียกได้ว่าเป็นจุดเริ่มต้นของห่วงโซ่อาหารทางทะเล”
หอยปากเป็ดหรือหอยรากจัดเป็นสัตว์ดึกดำบรรพ์ที่ยังมีชีวิตอยู่ (living fossil) โดยมีกำเนิดมาตั้งแต่ยุคแคมเบรียนราว ๕๐๐ ล้านปีก่อน รูปร่างคล้ายหอยสองฝาที่มีลักษณะโดดเด่น คือส่วนท้ายของฝามีเอ็นยาวสีขาวใช้สำหรับเคลื่อนที่และฝังตัวลงในทราย ปัจจุบันหอยปากเป็ดจัดอยู่ในสถานภาพมีแนวโน้มใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากการปนเปื้อนของมลพิษ
นอกจากเหล่าสัตว์หน้าดิน หากใครได้ไปเดินริมหาดในช่วงน้ำลง คงจะได้เห็นเหล่ากองทัพปูทหารมดแดงเดินกันเกลื่อนหาดราวกับทหารที่เดินเรียงแถว และหากโชคดีก็อาจพบ “ปูทหารยักษ์ปากบารา” ปูทหารชนิดใหม่ของโลก ซึ่งมีลักษณะเด่นคือกระดองใหญ่สีฟ้าอมเทาและก้ามสีครีมเหลือง แตกต่างจากปูทหารมดแดงที่กระดองสีหม่นมีลวดลายและก้ามสีส้มเข้ม แต่ด้วยพฤติกรรมชอบมุดหากินไปตามอุโมงค์ใต้เลนดิน ทำให้การเจอะเจอเจ้าปูทหารพันธุ์ใหม่ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก
ปูทหารที่พบในโลกมี ๒ วงศ์ (family) ๖๕ ชนิด (species) ส่วนในประเทศไทยเคยสำรวจพบปูทหารทั้งสิ้น ๑๓ ชนิด โดยแบ่งเป็น ๒ วงศ์ คือวงศ์ปูทหารมี ๑๒ ชนิด และวงศ์ปูทหารยักษ์มีเพียงแค่ชนิดเดียวที่จังหวัดชลบุรี แต่ชนิดนี้ไม่มีหลักฐานและตัวอย่างแน่ชัด การค้นพบปูทหารยักษ์ปากบาราจึงถือเป็นเรื่องน่าตื่นตาตื่นใจ และเมื่อปี ๒๕๕๖ หลังจากผ่านการตรวจสอบโดยผู้เชี่ยวชาญด้านปูจากทั่วโลก ปูทหารยักษ์ปากบาราก็ได้รับชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Mictyris thailandensis Davie, Wisespongpand & Shih, 2013 ซึ่งชื่อผู้ตั้งชื่อวิทยาศาสตร์ Wisespongpand หมายถึงอาจารย์พันธุ์ทิพย์ วิเศษพงษ์พันธุ์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องปูของภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หัวหน้าทีมสำรวจปูทหารชนิดใหม่ ส่วนชื่อ thailandensis สื่อความหมายว่าเป็นปูทหารซึ่งพบที่แรกและที่เดียวในโลก คือประเทศไทย ส่วนชื่อภาษาไทยนั้นอยู่ระหว่างขอพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวว่า “ปูทหารแห่งพระราชา”
ผศ. ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงอนาคตของปูทหารชนิดใหม่หลังการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกว่า
“ยังไม่มีอะไรแน่นอน เพราะผลกระทบของท่าเรือน้ำลึกนั้นใหญ่และกว้างมาก ทั้งมลพิษ ทั้งตะกอนในทะเล ซึ่งปูทหารแห่งพระราชาค่อนข้างเป็นสายพันธุ์ที่เสี่ยงเพราะเป็นสัตว์เฉพาะถิ่นในปากบารา มีความสำคัญต่อระบบนิเวศในฐานะผู้กินซากพืชซากสัตว์ และยังมีโอกาสสะสมโลหะหนักในตัวสูงเช่นเดียวกับหอยนางรม”
คำถามก่อนสร้างท่าเรือน้ำลึกก็คือ ถ้าเกิดเหตุรั่วไหลของสารเคมี เช่น น้ำมันจากเรือเดินสมุทร ปนเปื้อนลงในอู่ข้าวอู่น้ำแห่งนี้แล้วจะแก้ไขปัญหาอย่างไร ด้วยคลื่นลมฝั่งทะเลอันดามันนั้นรุนแรงกว่าฝั่งอ่าวไทย การเกิดอุบัติเหตุทางเรือบ่อยครั้งกว่ามิใช่เรื่องเกินคาดการณ์
หลายคนคงจำภาพเหตุการณ์น้ำมันรั่วนอกชายฝั่งมาบตาพุดเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๖ ได้ดี กรณีดังกล่าวท้าทายความสามารถในการจัดการเหตุวิกฤตของทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และภาพที่เราได้รับรู้ผ่านสื่อสาธารณะก็ค่อนข้างเป็นไปทางไม่น่าพึงพอใจ เพราะคราบน้ำมันที่ควรจัดการได้ขณะอยู่กลางทะเล กลับถูกกระแสน้ำพัดพาจนไปถึงชายฝั่งจนหาดทรายขาวสะอาดกลับกลายเป็นหาดทรายสีดำ
ล่าสุดงานวิจัยของทีมนักวิทยาศาสตร์ที่ติดตามผลกระทบวิกฤตการณ์น้ำมันรั่วในอ่าวเม็กซิโกเมื่อปี ๒๕๕๓ เปิดเผยว่าผลกระทบจากน้ำมันรั่วต่อระบบนิเวศอาจมีมากกว่าที่เราเคยเข้าใจ เพราะปริมาณน้ำมันเพียงเล็กน้อยก็ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของตัวอ่อนปลา ผลสะเทือนต่อระดับประชากรปลานี้จะไม่ปรากฏชัดเจนภายในเวลา ๑ หรือ ๒ ปี แต่จะเห็นได้ในระยะยาว
ในมุมมองของอาจารย์ศักดิ์อนันต์ เหตุร้ายที่อ่าวพร้าว เกาะเสม็ด ยังนับว่าโชคดีที่น้ำมันดิบลอยขึ้นฝั่งซึ่งเป็นหาดทราย เพราะหากพื้นที่ดังกล่าวเป็นหาดเลนที่ประกอบด้วยสารอินทรีย์อย่างปากบารา เราก็แทบจะหมดโอกาสทำความสะอาดหาด
“ถ้าเกิดน้ำมันหรือสารเคมีรั่วไหลจากการขนส่งทางทะเล มันจะสะสมอยู่ในสารอินทรีย์และเข้าสู่จุดเริ่มต้นของห่วงโซ่อาหาร เข้าสู่กุ้ง ปู ปลา ที่เรากินกัน”
ส่วนความหวังว่ากระแสน้ำจะพัดพาสารเคมีให้เจือจางในทะเลใหญ่นั้น สำหรับปากบารานับว่าเป็นไปไม่ได้ จากลักษณะอ่าวปิดที่ล้อมรอบด้วยเกาะ ทุกอย่างจะถูกพัดเข้ามาเกยฝั่ง ต่างจากทะเลเปิดหน้ามาบตาพุดที่สารเคมีและสารแขวนลอยจะถูกพัดพาออกสู่ทะเล
อีกประเด็นหนึ่งที่นับว่าพูดถึงกันน้อยในประเทศไทย แต่กลายเป็นประเด็นใหญ่ในหลายประเทศ คือสายพันธุ์ต่างถิ่น หรือ alien species ที่เดินทางมาพร้อมกับน้ำในอับเฉาเรือ
ลองนึกภาพสิ่งมีชีวิตตัวเล็กตัวน้อยถูกตักพร้อมน้ำทะเลเข้ามาในเรือเพื่อถ่วงน้ำหนักมิให้เรือโคลงเคลงจากการถ่ายสินค้าลงที่ท่าเรือในอีกซีกโลก ก่อนที่เรือจะเดินทางมายังประเทศไทยเพื่อขนสินค้าขึ้น และลดน้ำหนักโดยปล่อยน้ำอับเฉาซึ่งทำให้เจ้าสัตว์ต่างถิ่นทั้งแพลงก์ตอน สาหร่าย ปลา หอย และแมงกะพรุน ได้ออกมาแหวกว่ายในทะเลบ้านเราที่อุดมสมบูรณ์ด้วยธาตุอาหาร
กรณีศึกษาอันน่าสะพรึงกลัว คือเจ้าแมงกะพรุนหวี (comb jellyfish) หน้าตาคล้ายวอลนัตจากตอนเหนือของทวีปอเมริกาได้บุกเข้าไปในทะเลดำ (Black Sea) จากการเดินทางมากับน้ำอับเฉาเรือตั้งแต่ปี ๒๕๒๕ ด้วยความตะกละตะกลามและไม่มีศัตรูตามธรรมชาติ เพียง ๑๐ กว่าปีต่อมา พวกมันก็ยึดครองทะเลดำไว้ราว ๙๐ เปอร์เซ็นต์จนอุตสาหกรรมประมงในทะเลดำต้องล่มสลาย
ประเทศไทยมีตัวอย่างสายพันธุ์ต่างถิ่นอย่างหอยกะพงเทศ หอยสองฝาซึ่งมีถิ่นอาศัยทางตอนกลางของทวีปอเมริกา เดินทางมากับน้ำอับเฉาแล้วเข้ามาแพร่พันธุ์ในบริเวณท่าเรือน้ำลึกสงขลา เจ้าหอยต่างถิ่นนี้มีความอดทนต่อสภาพน้ำทะเลที่เค็มจัดและมลภาวะ อีกทั้งยังสามารถเกาะติดทุกพื้นผิวของวัสดุจมน้ำ จึงส่งผลกระทบต่อกระชังเลี้ยงปลา และมีโอกาสแพร่ขยายพันธุ์เข้าสู่ทะเลสาบสงขลา
การป้องกันปัญหาชนิดพันธุ์ต่างถิ่น มีวิธีคือใช้สารเคมีบำบัดน้ำอับเฉาก่อนปล่อยน้ำลงทะเล แต่หากเอเลียนสปีชีส์ได้โอกาสลงหลักปักฐานเรียบร้อยเสียแล้ว ก็แทบไม่เหลือโอกาสที่จะจัดการ
“สตูลกำลังบูมเรื่องการท่องเที่ยว แต่เรากลับจะเอาสิ่งที่ไม่รู้ว่าได้ประโยชน์จริงหรือเปล่า มาแลกกับสิ่งที่กำลังได้ประโยชน์อยู่ตอนนี้ แค่นี้ก็น่าจะตอบได้แล้วว่าคุ้มหรือไม่คุ้ม” จิระพงศ์ จีวรงคกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบนิเวศทางทะเล แสดงความเห็นในฐานะลูกสตูลคนหนึ่ง
ความโดดเด่นของทรัพยากรธรรมชาติในทะเลสตูล คือปะการังบริเวณหมู่เกาะอาดัง-ราวี ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากเส้นทางเดินเรือขนส่งสินค้าซึ่งจะเข้ามาที่ท่าเรือน้ำลึกปากบารา ความอุดมสมบูรณ์ของปะการังในพื้นที่นั้น อาจารย์ศักดิ์อนันต์ยกให้เป็นอันดับ ๑ ในอันดามัน เพราะมีความหลากหลายของชนิดพันธุ์ปลาและปะการังที่ผสมผสานระหว่างฝั่งอันดามันกับฝั่งอ่าวไทย ซึ่งเชื่อมถึงกันผ่านทางช่องแคบมะละกา ทำให้แนวปะการังสตูลโดดเด่นด้านความหลากหลายทางชีวภาพกว่าแนวปะการังที่หมู่เกาะสุรินทร์และหมู่เกาะสิมิลัน
ราว ๖ ปีที่แล้วสถาบันวิจัยความเป็นเลิศความหลากหลายทางชีวภาพแห่งคาบสมุทรไทย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และส่วนศึกษาและวิจัยอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้จัดทำเอกสารนำเสนอพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทางทะเลฝั่งอันดามัน ๑๘ แห่งเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางทะเลแห่งแรกของประเทศไทย ครอบคลุมพื้นที่หกจังหวัด คือ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล โดยปัจจุบันอยู่ในกระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการมรดกโลกประเทศไทย
หากท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบาราเริ่มดำเนินการจริง โครงการมรดกโลกทางธรรมชาติฝั่งทะเลอันดามันก็เป็นอันต้องล้มพับ เพราะระบบนิเวศทางทะเลนั้นต่อเนื่องถึงกันโดยไม่มีรั้วกั้น ผลกระทบในพื้นที่แห่งเดียวมีโอกาสแพร่กระจายเป็นวงกว้างหากจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพ โครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา คงไม่ต่างจากการตัดถนนผ่านใจกลางป่ามรดกโลกอย่างทุ่งใหญ่ฯ-ห้วยขาแข้ง ที่แม้จะวางมาตรการป้องกันดีเพียงใด ก็คงพูดได้ไม่เต็มปากว่าจะไม่มีผลกระทบ
“เราเสนอเป็นมรดกโลกโดยฉายให้เห็นความครบถ้วนของท้องทะเลในภาพใหญ่ โดยเฉพาะด้านระบบนิเวศที่สำคัญ คือเต่าทะเลจะมาวางไข่ที่หาดท้ายเหมือง และหมู่เกาะพระทองที่จังหวัดพังงา ซึ่งนับว่ามีความสำคัญต่อการอนุรักษ์ในระดับภูมิภาค เพราะเต่าทะเลเหล่านี้เดินทางมาจากหมู่เกาะนิโคบาร์ กลางมหาสมุทรอินเดีย
“บริเวณนี้มีปะการังทั้งแบบน้ำลึกที่หมู่เกาะสิมิลัน แบบน้ำตื้นที่หมู่เกาะสุรินทร์ มีระบบนิเวศปากแม่น้ำที่อุดมสมบูรณ์ ทั้งป่าชายเลนและหญ้าทะเลซึ่งเป็นแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ มีภูเขาหินปูนจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการสำรวจและเป็นที่อยู่อาศัยของชนิดพันธุ์เฉพาะถิ่นโดยเฉพาะกล้วยไม้รองเท้านารีเหลืองกระบี่ รองเท้านารีขาวสตูล”
อาจารย์ศักดิ์อนันต์อธิบายว่าหากพื้นที่ดังกล่าวได้รับการประกาศเป็นมรดกโลก นอกจากจะช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวจากนานาชาติ ยังมีส่วนช่วยแก้ปัญหาการใช้เครื่องมือประมงอย่างอวนรุนอวนลากที่ทำลายทั้งแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ และตัดโอกาสการเติบโตของสัตว์น้ำวัยอ่อนในเขตระบบนิเวศที่สำคัญ ซึ่งปัจจุบันภาครัฐยังไม่สามารถปราบปรามหรือควบคุมได้ รวมทั้งชะลอโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ที่จะเกิดขึ้น
“ผมไม่ได้ขัดขวางการสร้างท่าเรือน้ำลึก แต่เราควรจะเลือกพื้นที่แห่งใหม่ ไม่ใช่เปลี่ยนอู่ข้าวอู่น้ำมาเป็นนิคมอุตสาหกรรม มันเป็นการใช้พื้นที่ผิดประเภท”
“คำบอกเล่า” เหนือแหล่งทราย
เข็มนาฬิกาบอกเวลาใกล้เที่ยง ผมเดินทางออกจากชายหาดปากบารา มุ่งหน้าไปทางบ้านบ่อเจ็ดลูก ตำบลปากน้ำ เพราะมีนัดกับก๊ะที่สะพานปลา
บ้านบ่อเจ็ดลูกหรือ “ลากาตูโยะ” ตามภาษามลายู มีที่มาจากเรื่องเล่าอิงประวัติศาสตร์ว่าครั้งบรรพบุรุษชาวน้ำอพยพจากเกาะมาตั้งรกราก ขุดบ่อเท่าไรก็ไม่พบน้ำจืด กระทั่งขุดบ่อที่เจ็ดจึงมีน้ำ บ้านนี้จึงได้ชื่อว่า “บ่อเจ็ดลูก” โดยมีหลักฐานคือโบราณ-สถานบ่อน้ำเจ็ดบ่ออายุกว่า ๒๐๐ ปี
ราวครึ่งชั่วโมงที่ผมทอดสายตากับสองข้างทางของถนนที่รกครึ้มด้วยป่าชายเลน ก่อนจะถึงปลายทางที่สะพานเทียบเรือ ผมเดินเลียบชายฝั่ง กลิ่นคาวปลาปะทะจมูก ปลาส่วนใหญ่ถูกลำเลียงขึ้นไปรอท่าอยู่บนหลังรถกระบะ ไม่ไกลจากสะพานปลา มีกลุ่มชายเปลือยอกนั่งแกะปูม้าออกจากอวนอย่างใจเย็น
“ปลาที่นี่ส่วนใหญ่จะเป็นปลาดอกแดง ปลามง ปลาโฉมงาม ปลาอินทรี ปลาสาก ถ้าต้องการจับตัวใหญ่ ๆ ต้องออกไปแถวเกาะอาดัง ถ้าปูม้าก็ไปแถวเกาะบุโหลน” ก๊ะน้องสาวเจ้าของสะพานปลาเล่า
สะพานปลาแห่งนี้รับผลผลิตจากทะเลหลากหลายก่อนจะส่งขายให้มาเลเซีย โดยมีปลาดอกแดงหรือปลาเก๋าดอกแดงราคากิโลกรัมละประมาณ ๑๗๐ บาทเป็นรายได้หลัก ที่นี่เคยรับปลาเก๋าตัวยักษ์น้ำหนักถึง ๒๐ กิโลกรัม นอกจากทรัพยากรปลาและปู ก๊ะเล่าว่าสัตว์ทะเลที่สำคัญและเป็นเอกลักษณ์ของบ้านบ่อเจ็ดลูกคือหอยท้ายเภาหรือหอยตะเภา
ชื่อหอยชนิดนี้อาจไม่คุ้นหูคนเมืองใหญ่ เพราะปัจจุบันหอยท้ายเภาจัดเป็นอาหารหากินยากและราคาแพง ตกกิโลกรัมละประมาณ ๓๐๐-๕๐๐ บาท และเป็นที่ต้องการมากในตลาดต่างประเทศอย่างมาเลเซีย ฮ่องกง และไต้หวัน ในประเทศไทยพบจำนวนไม่มากนักบริเวณหาดปากเมง จังหวัดตรัง แต่แหล่งสำคัญนั้นอยู่ที่ชายหาดบ่อเจ็ดลูก
หอยท้ายเภาหรือหอยตะเภาเป็นหอยสองฝาขนาดความยาวประมาณ ๕-๑๐ เซนติเมตร เปลือกนอกมีสีเขียวปนเหลือง รูปร่างเปลือกเป็นสามเหลี่ยมคล้ายพัด แต่ด้านหนึ่งงอนคล้ายท้ายเรือสำเภา มักอาศัยอยู่ในหาดทรายปนโคลน อยู่ในตระกูลเดียวกับหอยเสียบ
ที่หาดบ่อเจ็ดลูก ชาวประมงเก็บหอยท้ายเภาได้สองช่วง คือตุลาคมถึงธันวาคม และกุมภาพันธ์ถึงมีนาคม ส่วนเรื่องรสชาติ จากคำบอกเล่าของคนที่เคยกิน คือเคี้ยวอร่อยจนลืมกลืน
เมื่อมีทรัพย์สมบัติล้ำค่า จึงไม่น่าแปลกใจที่หาดทรายแห่งนี้จะดึงดูดผู้คนจากภายนอกเข้ามาหารายได้ ซึ่งทางชุมชนได้สร้างกลไกป้องกันการจับหอยท้ายเภามากเกินไปจนหอยลดจำนวนลง โดยออกข้อตกลงร่วมกันว่าการงมหอยนั้นให้ใช้ได้แต่เครื่องมือพื้นบ้านที่เรียกตามภาษาท้องถิ่นว่า “ม่าโต๊ะ” ลักษณะเป็นเหล็กโค้งงอคล้ายตะขอ รวมทั้งห้ามใช้ถังออกซิเจนและเครื่องมืออย่างคราด ที่อาจทำให้ใช้ทรัพยากรเกินกำลังที่ธรรมชาติจะผลิตขึ้นมาทดแทน
ในฤดูหาหอยท้ายเภา ชายหาดแห่งนี้จึงเป็นแหล่งรวมตัวของคนเก้าหมู่บ้านจากสามตำบล คือ ตำบลปากน้ำ ตำบลแหลมสน และตำบลกำแพง ซึ่งหากเป็นนักงมหอยมีฝีมือ ใน ๑ วันอาจมีรายได้สูงถึงกว่า ๔,๐๐๐ บาท จนชาวบ้านบางคนเล่าให้ฟังว่าชาวเลหลายคนที่นี่งมหอยส่งลูกเรียนจบปริญญาตรี
สุนิดา หลงสมัน อายุ ๕๗ ปี ครูประจำโรงเรียนบ้านบ่อเจ็ดลูกซึ่งอาศัยอยู่ที่นี่ตั้งแต่ยังไม่มีถนนตัดผ่าน และต้องเดินทางเข้าบ่อเจ็ดลูกโดยอาศัยเรือ เล่าว่าคนบ้านบ่อเจ็ดลูกต้องพึ่งพิงทรัพยากรในทะเล ดำรงชีพด้วยการประมง และปลูกผักสวนครัว เช่น แตงกวา บวบ เป็นอาชีพเสริม
“ที่นี่มีพื้นที่สาธารณะของชุมชนอยู่ใกล้ ๆ กับหาดบ่อเจ็ดลูก เป็นที่ราชพัสดุ ซึ่งคนหลายหมู่บ้านเข้ามาใช้ประโยชน์เป็นพื้นที่เลี้ยงวัว บางคนไม่มีที่ดินทำกินก็มาใช้ปลูกผัก สำหรับคนนอกเขาก็มาเก็บแมลงพลับ หรือที่รู้จักกันว่า ‘แมงพลัด’ แต่มุสลิมจะไม่กิน”
ลานทรายที่กล่าวถึงคือพื้นที่ซึ่งชุมชนคาดว่าจะถูกใช้เป็นแหล่งทรายสำหรับก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา ตามรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมระบุว่า ที่บ้านบ่อเจ็ดลูกมีชั้นทรายความหนาประมาณ ๗ เมตร พื้นที่ราว ๒.๒ ตารางกิโลเมตรคิดเป็นปริมาณทรายสำรอง ๑๐ ล้านลูกบาศก์เมตร ทรายอีกแหล่งหนึ่งคือบริเวณบ้านหัวหิน และบ้านปากละงู มีชั้นทรายความหนาประมาณ ๓.๕-๕ เมตร พื้นที่ประมาณ ๕ ตารางกิโลเมตร คิดเป็นปริมาณทรายสำรอง ๑๐ ล้านลูกบาศก์เมตรในการก่อสร้างระยะที่ ๑ จำเป็นต้องใช้ทรายทั้งสิ้น ๗.๑๕ ล้านลูกบาศก์เมตร
แต่ในการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราระยะที่ ๓ ซึ่งเป็นระยะสุดท้าย กรมเจ้าท่ามีแผนขยายพื้นที่เป็นสามเท่าของระยะแรก โดยจำเป็นต้องใช้ทรายประมาณ ๒๐ ล้านลูกบาศก์เมตรพอดิบพอดี
“ถ้ามาขุดทรายไป ชุมชนที่นี่ก็อาจจะต้องอพยพ เพราะทรายที่อยู่รอบข้างมันก็จะพังทลายสไลด์ลงมา ยังมีปัญหามลภาวะระหว่างการบรรทุกทรายอีก คิดว่ายังไงก็คงอยู่ลำบากกว่าเดิม หลังจากสร้างท่าเรือก็ไม่รู้ว่าชาวประมงจะยังอยู่ได้หรือเปล่า เพราะทุกวันนี้ของในทะเลก็จะมีน้อยลง ๆ ทุกวัน”
ความกังวลของครูสุนิดาอาจไม่ได้เกินจริงนัก เจ้าหน้าที่ของศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งสตูล กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ข้อมูลว่า หากมีการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา สัตว์ทะเลก็มีโอกาสจะลดจำนวนลง เพราะตะกอนที่ฟุ้งขึ้นจากการเดินเรือขนาดใหญ่และการขุดลอกร่องน้ำ จะทำให้แพลงก์ตอนพืชซึ่งเป็นอาหารของตัวอ่อนสัตว์ทะเล ไม่สามารถเจริญเติบโตได้ เนื่องจากตะกอนจะทำให้น้ำทะเลขุ่นปิดกั้นกระบวนการสังเคราะห์แสง นั่นหมายถึงการทำลายระบบนิเวศตั้งแต่ฐานรากของห่วงโซ่อาหาร
ส่วนผลกระทบจะมากน้อยขนาดไหน ขึ้นอยู่กับปริมาณการจราจรของเรือขนาดใหญ่ที่จะเข้าเทียบท่า
“เวลาบริษัทที่ปรึกษาซึ่งทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมมาให้ข้อมูล เขาจะพูดแต่เรื่องดี ๆ ว่าให้คนจน ให้พวกเราต้องเสียสละเพื่อประเทศชาติ แต่คนที่นี่ไม่ยอมเด็ดขาด เพราะเราไม่รู้จะย้ายไปไหน บางครอบครัวผู้นำก็อายุมากแล้วจะให้ไปเริ่มใหม่มันก็ยาก” ปิยะดา เด็นเก อายุ ๔๒ ปี ชาวชุมชนบ่อเจ็ดลูกแสดงความเห็น
“ชุมชนอยู่ที่นี่มาหลายร้อยปี เราพูดได้เต็มปากว่าเป็นคนทะเล อย่างปี ๒๕๔๗ ที่เกิดสึนามิ บางครอบครัวย้ายออกไปเป็นลูกจ้างเถ้าแก่บ่อกุ้งเพราะเขากลัว แต่สุดท้ายเขาก็กลับมา เพราะเขาเป็นคนทะเล ทะเลคือถิ่นกำเนิด คือแหล่งอาหาร คือธนาคาร ยังไงทุกคนก็ต้องกลับบ้าน”
“ตัวอักษร” บนก้อนหิน
เมฆฝนสีดำครึ้มเคลื่อนที่ไล่หลังบดบังแสงอาทิตย์ยามบ่ายคล้อย ขณะที่รถยนต์วิ่งอยู่บนถนนหมายเลข ๔๑๖ สายละงู -ทุ่งหว้า จากปากน้ำสู่โรงเรียนกำแพงวิทยา อำเภอละงู จังหวัดสตูล
ผมลงจากรถ เดินเข้าไปหลบเมฆฝนในใต้ถุนอาคารเรียนที่ติดป้ายขนาดใหญ่เขียนว่า “พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา” เสียงกลุ่มนักเรียนชายหญิงพูดคุยกันด้วยบทสนทนาภาษาถิ่นสอดแทรกศัพท์ภาษาอังกฤษที่ฟังไม่คุ้นหู ทำให้ผมแปลกใจจนต้องสอบถาม ได้ความว่าพวกเขากำลังทำการบ้านวิชาธรณีวิทยาที่มีศัพท์ภาษาอังกฤษคือชื่อยุคธรณีกาลต่าง ๆ
ภายในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา กว่าครึ่งห้องเต็มไปด้วยก้อนหิน ร้อยเรียงเรื่องเล่าจากอดีตแสนไกล เริ่มต้นที่หินทรายสีแดงยุคแคมเบรียนเมื่อราว ๕๔๒-๔๘๘ ล้านปีก่อน จนถึงหินตะกอนสีน้ำตาลปนเทายุคเพอร์เมียนเมื่อราว ๒๙๙-๒๕๑
ล้านปีก่อน หากค่อย ๆ พิจารณาหินแต่ละก้อนอย่างถี่ถ้วนก็จะพบร่องรอยบางอย่าง บ้างดูเหมือนรอยพิมพ์ บ้างเป็นแร่ต่างสีแทรกในเนื้อหิน โดยมีสติกเกอร์สีสันสดใสแปะไว้เป็นเครื่องหมายหลายจุด
ร่องรอยเหล่านั้นบนก้อนหินก็คือซากดึกดำบรรพ์หรือซากฟอสซิล ที่เกิดจากเมื่อสิ่งมีชีวิตในอดีตกาลตายและถูกตะกอนทับถมอยู่ในชั้นหิน หรืออาจเป็นร่องรอยพฤติกรรมขณะดำรงชีวิต เช่นการกินอาหารหรือเคลื่อนที่
ผมเดินดูอยู่ไม่นานนัก ชายร่างใหญ่ก็เข้ามาพร้อมกับเสียงทักทายนักเรียนในห้อง ครูนก ธรรมรัตน์ นุตะธีระ หนุ่มใหญ่วัย ๔๙ ปี ผู้ทุ่มเทแรงกายเป็นเวลากว่า ๑๐ ปีจนพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติ โรงเรียนกำแพงวิทยาได้พัฒนาขึ้นและกลายเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องซากดึกดำบรรพ์ในมหายุคพาลีโอโซอิก ที่แม้แต่นักศึกษามหาวิทยาลัยยังต้องมาดูงาน โดยมีนักเรียนโรงเรียนกำแพงวิทยาเป็นวิทยากร
ครูนกเล่าถึงจุดเริ่มต้นของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ว่า เกิดจากปัญหาการสอนวิชาชีววิทยาในยุคที่เครื่องมือสื่อสารยังไม่ทันสมัย นักเรียนต้องท่องจำทั้งที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าศัพท์แสงทางวิทยาศาสตร์ที่เรียกกันอยู่นั้นหน้าตาเป็นอย่างไร ครูนกจึงใช้วิธีการเก็บตัวอย่างจริงมาสอน ก่อนจะเริ่มสนใจศึกษาฟอสซิลและจัดกิจกรรมศึกษาสำรวจให้นักเรียนอย่างจริงจังตั้งแต่ปี ๒๕๔๕
“พิพิธภัณฑ์นี้เราให้นักเรียนเป็นผู้ร่วมสร้าง ผู้รับ และผู้ให้ความรู้ คือให้เด็กรับผิดชอบการบรรยาย เช่นเขารับเรื่องไทรโลไบต์ เพื่อนทุกคนก็ต้องมาเรียนกับเขา ขณะเดียวกันเขาก็เรียนกับเพื่อน แลกเปลี่ยนความรู้กัน พอที่นี่กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ไม่ว่าใครจะมาดูงาน อย่างปีที่แล้วกรมทรัพยากรธรณีพาทีมผู้เชี่ยวชาญมา เราก็ให้นักเรียนเป็นผู้บรรยาย”
ขณะที่ห้องพิพิธภัณฑ์ยังคงเจื้อยแจ้วด้วยเสียงลูกศิษย์ ครูนกพาผมเดินดูก้อนหินภายในห้องอีกครั้ง คราวนี้ก้อนหินที่วางอยู่นิ่ง ๆ กลับดูมีชีวิต ครูนกชี้ให้ผมเห็นพืชและสัตว์ในอดีต ได้แก่สาหร่ายสโตรมาโตไลต์ ผู้สร้างออกซิเจนชนิดแรกแก่โลกตั้งแต่ยุคแคมเบรียน หมึกโบราณนอติลอยด์ บรรพบุรุษของหมึกที่ยังคงมีเปลือกหุ้มแข็งเหมือนเจดีย์ ก่อนจะพัฒนาเป็นแอมโมนอยด์ที่มีเปลือกม้วนเวียนเป็นวงกลม หอยตะเกียงหลากหลายสายพันธุ์ที่มักใช้เป็นดัชนีระบุอายุของชั้นหิน แกรปโทไลต์ สัตว์ทะเลโบราณหน้าตาเหมือนใบเลื่อยขนาดเล็กที่จับกลุ่มลอยอยู่ในทะเล และไทรโลไบต์ แมงดาทะเลโบราณที่สูญพันธุ์ในยุคเพอร์เมียน
“หินก็เหมือนหนังสือเล่มหนึ่ง ที่บันทึกการเปลี่ยนแปลงของเปลือกโลก บันทึกว่าในอดีตเคยเกิดอะไรขึ้น”
หากครูนกเปรียบเทียบก้อนหินเป็นหนังสือ สำหรับผม ฟอสซิลก็คงไม่ต่างจากตัวอักษร ที่หากขาดผู้รู้มาสอนภาษา เรื่องราวเหล่านั้นก็คงถูกลืมเลือน
คิดแล้วก็น่าตื่นตาตื่นใจไม่น้อย เพราะประวัติศาสตร์ยาวนานราว ๕๐๐ ล้านปี ถูกบันทึกเรียงรายอยู่ในก้อนหินเบื้องหน้า ที่ผ่านมาประเทศไทยมีการสำรวจซากฟอสซิลอย่างต่อเนื่อง แต่ที่เป็นข่าวใหญ่มักเป็นการค้นพบโครงกระดูกไดโนเสาร์หรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมหลังยุคไดโนเสาร์ หากเทียบกับสิ่งมีชีวิตไม่มีกระดูกสันหลังที่ครองโลกมาก่อนหลายร้อยล้านปี ไดโนเสาร์ก็อาจนับว่าเป็น “น้องเล็ก”
“จังหวัดสตูลน่าจะเป็นแหล่งเดียวในอาเซียนซึ่งพบฟอสซิลในมหายุคพาลีโอโซอิกครบทุกยุค คือ ยุคแคมเบรียน ยุคออร์โดวิเชียน ยุคไซลูเรียน ยุคดีโวเนียน ยุคคาร์บอนิเฟอรัส และยุคเพอร์เมียน ในพื้นที่รัศมี ๒๐ กิโลเมตรของอำเภอละงู แล้วเรายังมีกลุ่มหินตะรุเตาในอุทยานแห่งชาติตะรุเตา ซึ่งเป็นกลุ่มหินตะกอนที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทย คือมีอายุราว ๕๔๐ ล้านปีก่อน ถ้าเทียบกับอุทยานธรณีซึ่งได้ขึ้นทะเบียนในระดับโลกอย่างเกาะลังกาวี ผมคิดว่าของเราครบถ้วนกว่า”
อุทยานธรณี หรือ Geopark เป็นพื้นที่ซึ่งองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก ให้นิยามว่าเป็นพื้นที่ซึ่ง “ประกอบด้วยแหล่งที่มีความสำคัญอย่างโดดเด่นทางด้านธรณีวิทยา คุณค่าทางด้านโบราณคดี นิเวศวิทยา และทางวัฒนธรรม” โดยผสมผสานระหว่างการอนุรักษ์ การพัฒนาอย่างยั่งยืน และการมีส่วนร่วมของชุมชน ข้อมูลในเดือนกันยายน ๒๕๕๗ อุทยานธรณีระดับโลก (Global Geoparks) มีทั้งสิ้น ๑๑๑ แห่งใน ๓๒ ประเทศสมาชิกเครือข่ายอุทยานธรณีระดับโลก (Global Geoparks Network) ซึ่งอุทยานธรณีระดับโลกแห่งแรกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็อยู่ไม่ไกลจากสตูล คืออุทยานธรณีลังกาวี ประเทศมาเลเซีย
สำหรับประเทศไทย ตั้งแต่ปี ๒๕๕๓ กรมทรัพยากรธรณีเริ่มทำงานรวบรวมข้อมูลเพื่อเสนอให้เป็นอุทยานธรณี มีพื้นที่จังหวัดสตูล เลย อุบลราชธานี และขอนแก่น ราวเดือนตุลาคมปี ๒๕๕๖ อุทยานธรณีแห่งแรกของประเทศไทยก็ถือกำเนิดขึ้นคือ อุทยานธรณีผาชัน-สามพันโบก จังหวัดอุบลราชธานี
ชาวสตูลเองได้ขับเคลื่อนเรื่องฟอสซิลมาอย่างเต็มที่ โดยเริ่มจัดงาน “สตูลฟอสซิลเฟสติวัล ครั้งที่ ๑” เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๕๖ และ “สตูลฟอสซิลเฟสติวัล ครั้งที่ ๒” เมื่อต้นปี ๒๕๕๘ มีพระเอกในงานคือเหล่าฟอสซิลสัตว์ทะเลดึกดำบรรพ์หลากชนิด และฟันกรามช้างดึกดำบรรพ์สเตโกดอน อายุราว ๑.๘ ล้านปี ฟอสซิลสัตว์งวงชิ้นแรกที่ค้นพบในภาคใต้ ซึ่งสถานที่ค้นพบฟอสซิลดังกล่าวก็กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวชื่อ “ถ้ำเลสเตโกดอน”
เมื่อปี ๒๕๕๗ “อุทยานธรณีสตูล” (Satun Geopark) ได้รับการประกาศเป็นอุทยานธรณีระดับจังหวัดแห่งแรกของประเทศไทย และเตรียมผลักดันเพื่อเสนอยูเนสโกให้เป็นอุทยานธรณีระดับโลกต่อไป ซึ่งจังหวัดสตูลตั้งวิสัยทัศน์ในช่วงปี ๒๕๕๗-๒๕๖๐ ไว้ว่า “เมืองท่องเที่ยวอุทยานธรณีโลกเชิงนิเวศ เศรษฐกิจมั่งคั่ง สังคมน่าอยู่ ประตูสู่อาเซียน”
“โจทย์ใหญ่ของเราในตอนนี้คือต้องให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด ให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับเรื่องฟอสซิลให้มากที่สุด ถ้ามีนักท่องเที่ยวมาถามว่าฟอสซิลคืออะไร ชาวบ้านก็ต้องตอบได้ คณะทำงานอุทยานธรณีจึงต้องพยายามเผยแพร่ความรู้เรื่องฟอสซิลแก่ชุมชนให้มากที่สุด เดือนเมษายนปีหน้าจะมีการประเมินจากเครือข่ายอุทยานธรณีระดับโลก
“ผมเคยไปเกาะลังกาวีก็เห็นว่าเป็นแหล่งที่เขาสร้าง แต่ที่สตูลเป็นแหล่งธรรมชาติ แค่เราทำเรื่องอนุรักษ์กับเรื่องส่งเสริม ผลักดันให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว แหล่งการศึกษา เพราะถ้าแหล่งท่องเที่ยวเกิด แหล่งเรียนรู้เกิด อุทยานธรณีเกิด ชาวบ้านก็จะมีรายได้และเห็นความสำคัญ เพราะที่สตูลเราจะพบฟอสซิลอยู่ในสวนปาล์ม สวนยาง ซึ่งถ้าเราจัดการไม่ดี ต่อไปจะมีนักล่าฟอสซิลเข้ามา”
ขึ้นชื่อว่า “อุทยาน” หลายคนอาจสงสัยว่าจำเป็นต้องมีการเวนคืนที่ดินหรือไม่ ซึ่งครูนกตอบว่า “ไม่” และอธิบายให้ฟังว่า การขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานธรณีนั้นจะเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยให้ชุมชนร่วมกับภาครัฐบริหารจัดการ สร้างความตระหนักรู้ถึงคุณค่าและให้ชุมชนร่วมกันอนุรักษ์ ซึ่งเป็นงานที่ครูนกทำมาตลอด ๑๐ ปี โดยส่งความรู้เรื่องฟอสซิลผ่านนักเรียนไปยังพ่อแม่ผู้ปกครอง
แน่นอนว่าการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นอุทยานธรณีระดับโลกย่อมได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาขนาดใหญ่อย่างท่าเรือน้ำลึกปากบารา
รายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ฉบับสิงหาคม ๒๕๕๒ โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราจำเป็นต้องใช้หินถมเป็นแนวคันหินและกำแพงกันคลื่นรวมทั้งสิ้นราว ๑.๒ ล้านลูกบาศก์เมตร โดยในรายงานระบุถึงแหล่งหินอุตสาหกรรมจากอำเภอทุ่งหว้า อำเภอละงู และอำเภอควนกาหลง ซึ่งครูนกยืนยันว่าภูเขาเหล่านั้นอัดแน่นไปด้วยฟอสซิลมีค่า
“เสียดายเหมือนกัน เพราะมันผ่านเวลามา ๕๐๐ กว่าล้านปี แต่สุดท้ายเขากลับเอาไปถมทะเล เอาไปใช้ก่อสร้าง กรมเจ้าท่าบอกว่าใช้หินนิดเดียว แต่นั่นแค่การก่อสร้างท่าเรือ ยังไม่รวมที่จอดรถ ถนน อาคาร ที่จะตามมาหลังจากท่าเรือน้ำลึกเสร็จแต่เราไปค้านเต็มประตูไม่ได้เพราะเป็นเรื่องของการใช้ทรัพยากรร่วมกัน” ครูนกกล่าว ก่อนจะเล่าถึงถนนสายละงู-ทุ่งหว้าที่ครูนกตั้งชื่อเล่นว่า “ถนนไทรโลไบต์” เพราะคราวขยายถนนสายนี้ได้ใช้หินจากการระเบิดภูเขาที่มีฟอสซิลไทรโลไบต์ บางครั้งเมื่อเจ้าของที่ดินซึ่งมีฟอสซิลจะทำการปรับหน้าดิน ทางครูนกและนักเรียนโรงเรียนกำแพงวิทยาจะขออนุญาตเข้าไปเลือกเก็บฟอสซิลเพื่อนำมารักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา
“เชื่อว่าสักวันหนึ่ง เด็กจะเกิดความหวงแหนทรัพยากร เกิดความรักความภาคภูมิใจในท้องถิ่น เพราะบ้านเรามีสิ่งมีค่า และนี่จะนำไปสู่การปกป้องรักษาทรัพยากร” ครูนกพูดอย่างมุ่งมั่น แม้ว่าวันข้างหน้าอนาคตสตูลอาจยังไม่แน่นอน
“เรากำลังจะทำจีโอพาร์ก ซึ่งเป็นงานระดับประเทศและให้ประโยชน์แก่ชาวบ้านทุกคน แต่ท่าเรือน้ำลึกปากบารา ผมไม่เชื่อว่าชาวบ้านทุกคนจะได้ประโยชน์”
บทสนทนา” ในร้านน้ำชา
เช้าวันนี้ท้องฟ้าสตูลไม่เป็นสีฟ้า แต่ขุ่นมัวด้วยหยดน้ำแน่นหนาจนแสงเช้าเดินเข้าไปหลงทาง
ตัวอำเภอละงูดูนิ่งงัน ร้านรวงต่างหลบกายอยู่ใต้ม่านฝนของฤดูมรสุม ผมเดินผ่านร้านสะดวกซื้อที่พบเห็นได้ทั่วไปในกรุงเทพฯ ก่อนจะถูกดึงดูดด้วยกลิ่นกรุ่นของกาแฟและเสียงกระทบกันของแผ่นแป้งและน้ำมัน ร้านน้ำชาเล็ก ๆ อบอวลด้วยบทสนทนาภาษาถิ่น ผมเข้าไปนั่งตามประสาคนแปลกหน้า และทำความรู้จักผ่านสายตาและรอยยิ้ม
สำหรับภาคใต้ คงไม่มีสถานที่ใดที่เหมาะแก่การพูดคุยเกินไปกว่าร้านน้ำชาท้องถิ่น
บังในวัยต้น ๓๐ ที่นั่งอยู่ไม่ไกลกันหันมาสบตาก่อนยื่นมือมาทักทายและเชิญชวนผมให้เข้าร่วมการสนทนา
“ไม่ได้กลับมาเกือบปีแล้ว สงสัยเป็นชะตาที่ทำให้เรามาเจอกัน”
บังเป็นคนละงูโดยกำเนิด แต่ตอนนี้ทำงานอยู่ที่มาเลเซีย นาน ๆ ครั้งจึงจะได้กลับมาเยี่ยมบ้านเกิด และเมื่อเอ่ยถามถึงท่าเรือน้ำลึกปากบารา เขาก็เล่าให้ฟังถึงประสบการณ์ที่เคยไปเยี่ยมเยือนท่าเรือที่ประเทศมาเลเซีย
“มันมีทั้งข้อดีข้อเสีย ถ้าสร้างจริงแน่นอนว่าเศรษฐกิจดีขึ้นแน่ ๆ เพราะคนมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่สตูลจะไม่เหมือนเดิม คงไม่มีการออกทะเลไปหาปลาแล้ว ทุกคนคงทำงานโรงงานกันหมด แต่ถ้ามันคุ้มทุน ถ้ามองไปที่อนาคต ยังไงการพัฒนาก็คงจะเลี่ยงไม่พ้น แต่ที่สำคัญคือต้องมีระเบียบ ที่มาเลเซียท่าเรือเขาจัดการดีมาก น่ากลัวว่าไทยจะสู้เขาไม่ได้”
บังจบประโยคด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้ม ก่อนจะบุ้ยใบ้ให้ลองไปคุยกับวง “ผู้ใหญ่” ที่นั่งอยู่หน้าร้าน
“ถ้าสร้างท่าเรือน้ำลึกจริง ก็ต้องถามว่าชาวสตูลจะได้อะไร” ศิริศักดิ์ ประทีปรัศมีกุล สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล ทักทายผมด้วยคำถาม ท่ามกลางวงล้อมของชายวัยปลายกลางคน
“ชาวสตูลไม่ได้อะไรหรอก เพราะจะให้เราไปทำงานโรงงาน เข้า ๘ โมงเช้าเลิก ๕ โมงเย็น รับรองว่าไม่มีใครทำ สุดท้ายโรงงานก็ต้องไปจ้างแรงงานต่างด้าว ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นแรงงานแฝง ไม่ได้เข้ามาแบบถูกกฎหมาย เทศบาลก็แบกรับค่าขยะค่าการจัดการกันไป แต่พวกนี้ไม่ได้เสียภาษีให้เราสักบาท”
ศิริศักดิ์ฉายภาพให้เห็นถึงเศรษฐกิจสามขาที่ค้ำยันโครงสร้างของจังหวัดสตูลไว้อย่างแข็งแรง คือ เกษตรกรรม อุตสาหกรรม และการท่องเที่ยว แต่หากมีการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกขึ้นมา โครงสร้างก็อาจเสียสมดุลโดยเทน้ำหนักไปยังขาอุตสาหกรรมเพียงขาเดียว ผลเสียนั้นมีบทเรียนสำคัญจากจังหวัดที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมต่อหัวสูงที่สุดในประเทศไทย นั่นคือจังหวัดระยอง ซึ่งกว่าร้อยละ ๘๐ ได้จากการพัฒนาอุตสาหกรรม ขณะการท่องเที่ยวคิดเป็นร้อยละ ๑๗ และเกษตรกรรมเหลือเพียงร้อยละ ๓ ทำให้คนบางกลุ่มซึ่งไม่มีทักษะการทำงานในภาคอุตสาหกรรมถูกเบียดขับ เกิดความเหลื่อมล้ำ อีกทั้งการพึ่งพิงวัตถุดิบนำเข้ายังแสดงถึงการไม่ได้ใช้ทรัพยากรและบุคลากรในชุมชนอย่างเต็มที่
“บางคนพอได้ยินว่าจะมีรถไฟผ่าน ก็ดีใจ นึกว่าราคาที่ดินจะขึ้น แต่ที่ไหนได้ เขามีไว้แค่ขนของอย่างเดียว นอกจากที่ดินจะโดนเวนคืน ราคาที่ดินอาจจะตกด้วยซ้ำ”
รถไฟดังกล่าวคือส่วนหนึ่งของ “สะพานเศรษฐกิจ” หรือแลนด์บริดจ์ที่จะใช้รถไฟรางคู่ความยาว ๑๔๒ กิโลเมตรเชื่อมต่อท่าเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล ฝั่งทะเลอันดามัน กับท่าเรือน้ำลึกสงขลาแห่งที่ ๒ จังหวัดสงขลา ฝั่งอ่าวไทย เพื่อลดเวลาการเดินทางจากที่เรือต้องอ้อมช่องแคบมะละกามาขนสินค้าผ่านรถไฟในประเทศไทยแทน
จากการพูดคุยกับชุมชนตั้งแต่หน้าหาดปากบารา บริเวณท่าเรือท่องเที่ยว ชุมชนบ่อเจ็ดลูก มาจบที่ร้านน้ำชาในอำเภอละงู สิ่งหนึ่งที่น่าแปลกใจ คือผมพบว่าโครงการพัฒนามูลค่า ๓ หมื่นล้าน กลับประชาสัมพันธ์ไม่ทั่วถึง ชาวปากน้ำต่างยืนยันว่าไม่มีเจ้าหน้าที่รัฐคนใดลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็น หรือมาให้ข้อมูลโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึก
ตามกำหนดการเดิม โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราจะเริ่มก่อสร้างภายในปี ๒๕๕๓ แต่กลับไม่อาจเดินหน้าเนื่องจากประชาชนในพื้นที่คัดค้าน ทั้งที่ในรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมซึ่งสำรวจความคิดเห็นในช่วงปี ๒๕๔๖-๒๕๔๘ มีผลการสำรวจว่าประชาชนยอมรับให้มีการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกได้ นี่นับเป็นความลักลั่นของข้อมูลที่ชวนให้สงสัย
ขณะที่การรับฟังความคิดเห็นต่อแผนพัฒนาโครงการสะพานเศรษฐกิจสงขลา-สตูล ซึ่งมีโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราเป็นส่วนหนึ่ง โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เมื่อปี ๒๕๕๓ สรุปว่าประชาชนส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และอุตสาหกรรมที่อาจก่อให้เกิดมลพิษ และมีความจำเป็นที่จะต้องทบทวนบทบาทพื้นที่ภาคใต้ใหม่ โดยเฉพาะการเชื่อมโยงสองฝั่งทะเล
ความระแวงและกังวลของชุมชนยิ่งเพิ่มสูงขึ้น เมื่อไม่มีความชัดเจนว่าภายหลังการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา ทิศทางของการพัฒนาภาคใต้จะเป็นอย่างไร เพราะเมื่อชุมชนสอบถามผู้รับผิดชอบถึงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและการขนส่งน้ำมัน กรมเจ้าท่าก็ตอบได้แต่เพียงว่าตนเองรับผิดชอบเฉพาะการพัฒนาท่าเรือน้ำลึก ซึ่งตัวโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราก็ยังถูกโจมตีว่าประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมต่ำเกินไป และไม่เปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่เข้ารับฟังข้อมูลและร่วมแสดงความคิดเห็น
จึงไม่น่าแปลกใจที่การเคลื่อนไหวขององค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ และประชาชนในพื้นที่เพื่อคัดค้านโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราจะเกิดขึ้นและพัฒนาเป็นการนำเสนอทิศทางการพัฒนาภาคใต้ที่ต้องตั้งอยู่บนฐานการใช้ทรัพยากรท้องถิ่นและความต้องการของประชาชน โดยกิจกรรมงานเคลื่อนไหวล่าสุดมีชื่อว่า “Pakbara Paradiso ปากบารา-อันดามัน สวรรค์ทะเลใต้” จัดขึ้นเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
แต่กฎหมายให้อำนาจแก่ประชาชนมากแค่ไหน คำตอบคือไม่มากอย่างที่เราคิด !
เรามักเข้าใจว่าการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่หากจัดทำประชาพิจารณ์แล้วประชาชนในพื้นที่ไม่เห็นด้วย ก็จะมีผลให้โครงการยุติ แต่ในความเป็นจริงกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนนั้นเป็นเพียงให้ประชาชนสะท้อนความคิดเห็นหรือข้อกังวลเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น เพื่อให้เจ้าของโครงการกำหนดมาตรการป้องกันหรือลดผลกระทบ มิได้หมายความว่าประชาชนมีอำนาจตัดสินใจอย่างแท้จริง
ถึงวันนี้สิทธิอนุรักษ์หรือฟื้นฟูภูมิปัญญาท้องถิ่นและทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม และสิทธิอนุรักษ์ บำรุงรักษา และได้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ โดยมอบอำนาจให้ประชาชน “มีส่วนร่วม” ยังคงเป็นเพียงถ้อยคำบนหน้ากระดาษ
“คำถาม” ถึงความคุ้มค่า
คงปฏิเสธไม่ได้ว่าหัวใจของการผลักดันโครงการท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา คือการเติบโตทางเศรษฐกิจ
แม้ผู้พัฒนาโครงการและรัฐบาลต่างเห็นตรงกันว่าท่าเรือน้ำลึกจะสร้างรายได้ให้ประเทศชาติมหาศาล แต่หลายคนยังตั้งข้อสงสัย เพราะคู่แข่งขันด้านการขนส่งทางเรือในคาบสมุทรมลายูล้วนอยู่ในระดับ “เขี้ยวลากดิน”
ท่าเรือปีนัง ประเทศมาเลเซีย อยู่ห่างทางใต้ของจังหวัดสงขลาราว ๒๐๐ กิโลเมตร เป็นเส้นทางขนส่งสินค้าต่อไปยังท่าเรือแคลง (Klang Port) ท่าเรือขนาดยักษ์ของประเทศมาเลเซีย ซึ่งเมื่อปี ๒๕๕๗ มีปริมาณสินค้าเข้าออกท่าเรือนี้สูงถึง ๑๐.๙ ล้านตู้คอนเทนเนอร์ขนาด ๒๐ ฟุต หรือเรียกว่าหน่วย TEU (twenty-foot equivalent unit) คิดเป็นปริมาณราวสองเท่าของท่าเรือแหลมฉบังซึ่งมีผู้ใช้บริการมากที่สุดของประเทศไทย ขณะที่ท่าเรือน้ำลึกปากบาราตามแผนพัฒนาระยะที่ ๑ นั้น สามารถรองรับสินค้าได้สูงสุดเพียง ๘๒๕,๐๐๐ TEU เท่านั้น
“แล้วอะไรคือข้อยืนยันว่าเขาจะเลือกเรา” นี่คือสิ่งที่ชาวปากน้ำตั้งคำถาม ซึ่งสอดคล้องกับความคิดของ รศ. ดร. รุธิร์ พนมยงค์ หัวหน้าสาขาวิชาบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ โลจิสติกส์ และการขนส่ง คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มองว่าท่าเรือน้ำลึกปากบารา
“ไม่เมกเซนส์ในเชิงธุรกิจ”
อาจารย์รุธิร์กล่าวถึงธุรกิจเดินเรือว่าต้องมองสองด้าน ทั้งสินค้าขาเข้าและขาออก เพราะการตัดสินใจนำเรือมาจอดเทียบนั้นขึ้นอยู่กับปริมาณสินค้าที่เราพร้อมจะส่งออก รวมทั้งความต้องการสินค้าที่เราจะนำเข้า หากไม่มีสองปัจจัยก็ไม่มีเหตุผลที่สายเดินเรือต้องมาจอดที่ท่าเรือน้ำลึกปากบารา
“ต้องเข้าใจหลักว่า เวลาเราพูดถึงท่าเรือ ลูกค้าทางตรงของท่าเรือคือสายเดินเรือ ลูกค้าทางอ้อมคือตัวเจ้าของสินค้า การที่ท่าเรือนั้นจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับจำนวนของเรือที่มาเทียบท่า ส่วนจะมีเรือมาเทียบท่าหรือไม่ ก็ต้องดูว่าข้างหลังท่ามีสินค้าหรือเปล่า ที่สตูลเรามีสินค้าประเภทเกษตร แต่เรากำลังจะแข่งขันกับระบบที่มีอยู่มาก่อน ถ้าต้องการแย่งลูกค้า เราต้องสร้างความแตกต่าง
“สาเหตุที่ท่าเรือปีนังประสบความสำเร็จ เพราะมาเลเซียเป็นประเทศนำเข้าสินค้า ตู้คอนเทนเนอร์เข้ามาเยอะ แต่สินค้าออกเขาน้อย ขณะที่ประเทศไทยเป็นประเทศส่งออก เราต้องการตู้เปล่า เราก็เอาตู้เปล่าจากปีนังมาที่หาดใหญ่ บรรจุตู้แล้วส่งออกไปอีกที เพราะสายเดินเรือเป็นผู้ควบคุม มันก็เกิดการประหยัด และสายเดินเรือที่ปีนังเขาพร้อมจะลดราคา เพราะแค่ขาเข้าเขาก็ได้กำไรแล้ว แต่ถ้าเป็นท่าเรือใหม่ คุณต้องมีทั้งขาเข้าและขาออก แล้วขาเข้าเรามีอะไร เพราะภาคใต้ไม่ใช่โซนเศรษฐกิจที่ต้องการสินค้านำเข้า
“โดยหลักการ ทุกจังหวัดอยากได้ท่าเรือของตัวเอง เพียงแต่ว่าขนาดของท่าเรือ ชนิดของสินค้าทั้งขาเข้าขาออกต้องมีความชัดเจน ถ้าเราจะบอกว่าสินค้าภาคใต้มาส่งออกที่ปากบาราหมด ผมว่ามองง่ายเกินไป”
จากสถิติเมื่อปี ๒๕๕๕ แม้จะให้สินค้าส่งออกทั้งหมดของภาคใต้ต้องขนส่งผ่านท่าเรือน้ำลึกปากบาราก็ยังอาจมีสินค้าไม่เพียงพอ เพราะตัวเลขปริมาณสินค้าที่ส่งออกทางชายแดนภาคใต้อยู่ที่ ๓๘๒,๖๓๒ TEU ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของปริมาณสินค้าเต็มศักยภาพของท่าเรือน้ำลึกปากบารา แต่กรมเจ้าท่าเชื่อมั่นว่าจะมีสินค้าจำนวนมากหลั่งไหลมาจากภาคอื่น ๆ ของประเทศไทย รวมถึงสินค้าจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่าและบังกลาเทศ และผลิตภัณฑ์จากอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
นอกจากปริมาณสินค้าก็ยังมีเรื่อง “อำนาจการต่อรอง” วิธีการขนส่งสินค้าทางทะเลแบ่งเป็นสองรูปแบบ คือ Free on Board หรือ FOB ซึ่งผู้ซื้อจะเป็นคนเลือกเรือที่จะมารับสินค้า โดยกำหนดให้ผู้ขายต้องส่งสินค้าที่ท่าเรือไหน ซึ่งแตกต่างจาก Cost, Insurance and Freight หรือ CIF ซึ่งผู้ขายเป็นผู้เลือกเรือที่จะมารับสินค้า และท่าเรือต้นทาง เพื่อขนส่งสินค้าไปยังท่าเรือปลายทาง
“ส่วนใหญ่การส่งออก เราใช้ FOB ผู้ซื้ออาจอยู่จีน ยุโรป สหรัฐฯ สายเดินเรือถ้าจะมาที่ปากบารา ก็ด้วยเหตุผลเดียว คือผู้ซื้อเป็นคนบอกให้เขามารับสินค้า เพราะผู้ซื้อในต่างประเทศมักเป็นรายใหญ่ หากเราเข้าใจรูปแบบของการค้าทางทะเลสุดท้ายปากบาราจะไม่เกิด เพราะการเลือกท่าเรือขนส่งเป็นตัวแปรที่เราควบคุมไม่ได้ เป็นเรื่องของอำนาจต่อรองระหว่างผู้ซื้อผู้ขาย ประเทศไทยถือว่ามีอำนาจต่อรองน้อย”
ส่วนการขนส่งผ่านแลนด์บริดจ์ที่จะช่วยลดระยะเวลาการเดินทางของสินค้านั้น อาจารย์รุธิร์มองว่านอกจากเรื่องการลดเวลา ยังต้องพิจารณาถึงต้นทุนการขนส่งสินค้า เพราะการส่งผ่านแลนด์บริดจ์นั้นต้องยกสินค้าขึ้นจากเรือหนึ่งครั้ง ลำเลียงขึ้นรถไฟ ก่อนจะนำไปลงเรืออีกหนึ่งครั้ง การแก้ไขจุดอ่อนในประเด็นนี้คือการเพิ่มมูลค่าสินค้าโดยการตั้งอุตสาหกรรมแปรรูปสินค้าระหว่างเส้นทางแลนด์บริดจ์ ดังนั้นหากจะสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบาราให้คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ เขตอุตสาหกรรมเพียงหนึ่งเขตก็อาจไม่เพียงพอ กรณีเปรียบเทียบ คือท่าเรือดานัง ประเทศเวียดนาม ที่แวดล้อมด้วยนิคมอุตสาหกรรมถึงแปดแห่ง แต่ผู้ส่งออกยังเลือกใช้ท่าเรือโฮจิมินห์ เพราะที่ดานังไม่สามารถสร้างปริมาณสินค้ามากเพียงพอให้เรือเข้ามาจอดเทียบท่าได้อย่างสม่ำเสมอ
“นักธุรกิจจะมองสิ่งที่ทำให้เขาคุ้มค่าที่สุด เราคงไม่อยากเห็นท่าเรือน้ำลึกปากบาราเป็นแบบท่าเรือระนองที่ก่อนสร้างก็บอกว่าจะมีสินค้า แต่พอสร้างเสร็จแล้วตอนนี้ก็ไม่มีสินค้า สุดท้ายกลายเป็นพื้นที่ให้ ปตท. ทำเป็นฐานสนับสนุนส่งกำลังบำรุงระหว่างชายฝั่งกับฐานสำรวจแหล่งน้ำมันในอันดามัน คือเอาไปใช้ผิดจุดประสงค์ของการก่อสร้าง”
หลายคนอาจไม่ทราบว่าท่าเรือน้ำลึกแห่งแรกของฝั่งทะเลอันดามันตั้งอยู่ที่จังหวัดระนอง ซึ่งเป็นท่าเรือขนาดประมาณ ๑ ใน ๑๐ ของท่าเรือน้ำลึกปากบารา ท่าเรือน้ำลึกระนองเปิดดำเนินการเมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๕๔๗ โดยเวลานั้นคาดหวังว่าจะเป็นประตูเศรษฐกิจสู่กลุ่มประเทศภายใต้กรอบ “ความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ” (BIMSTEC) เช่น พม่า อินเดีย บังกลาเทศ
การพัฒนาท่าเรือระนองถือได้ว่าเป็น “ความล้มเหลว” ที่ปัจจุบันแทบไม่มีสายการเดินเรือมาใช้บริการเนื่องจากไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ตัวเลขในอดีตบ่งบอกว่า ท่าเรือระนองมีเรือสินค้ามาเทียบท่าเพียงปีละ ๒๐๐-๓๐๐ ลำ นับว่าน้อยมากหากเปรียบเทียบกับท่าเรือในระดับภูมิภาคซึ่งมีขนาดใกล้เคียงกันและเปิดให้บริการพร้อม ๆ กันอย่างท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน และเชียงของ จังหวัดเชียงราย
“ถ้าอยากพัฒนาภาคใต้เป็นเซาเทิร์นซีบอร์ดก็อาจเป็นไปได้ ซึ่งต้องเกิดจากอุตสาหกรรมยางและน้ำยางแบบครบวงจร แต่เราเพิ่งมาคิดได้ตอนที่มาเลเซียเขาสร้างรับเบอร์ซิตีเสร็จแล้ว ท่าเรือน้ำลึกปากบาราก็ไม่ต่างกัน กำลังจะก่อสร้างในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านเขาพัฒนาไปไกลแล้ว
“เราต้องตั้งคำถามกับตัวเองว่าจะเอาอะไร ถ้าจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ด้านธรรมชาติก็ไม่ต้องมาคุยเรื่องพวกนี้ เพราะในโลกแห่งความเป็นจริง เราไม่มีทางเป็นได้ทุกอย่าง ถ้าเราอยากเห็นตัวอย่างก็มาดูงานที่ระยอง แล้วจะรู้ว่าความต้องการเป็นทุกอย่างในพื้นที่เดียวกัน ปัญหาในอนาคตคืออะไร”
“บทเพลง” ท้ายบันทึก
ทะเลยังเค็ม เลือดคนยังเข้ม จิตใจยังเต็ม คนปากบารา
ตั้งแต่ปู่ย่า ล่องเรือหาปลา ทำสวนทำนา พออยู่พอกิน
อ่านลม อ่านฟ้า นี่คือบ้านของข้า…
อุดมสมบูรณ์ อ่าวนุ่น-ตะโละใส
แลดินแลฟ้า ก้มแลเท้าข้า ฤๅพรุ่งนี้หนา จะไร้ที่ยืน
แผ่นดินบ้านเรา เป็นของคนอื่น แล้วจะคืนร่างสู่ดินได้อย่างไร
เสียงอาซาน… ก้องกังวานให้รู้ว่า โลกนี้เพียงชั่วคราว เราแค่ผู้อาศัย
ก่อนเรากลายเป็นดิน ขอให้ดินกลายเป็นเรา
จากดินเป็นใด ต้นไม้หรือปล่องโรงงาน…
คลื่นรุกเข้ามา ผืนทรายพลันหดหาย
มิสูญสลายเท่าคนกับคนรุกราน
ทางเลือกของจิตวิญญาณ ก่อนเสียงอาซานจะแผ่วลง
ทางเลือกของจิตวิญญาณ ก่อนเสียงอาซาน… จะแผ่ว…ลง
เพลง คนปากบารา
คำร้องโดย จิระนันท์ พิตรปรีชา, พจนาถ พจนาพิทักษ์,
ซะการีย์ยา อมตยา
ทำนองโดย พจนาถ พจนาพิทักษ์
สิ้นเสียงแหลมครวญเฉพาะตัวของอาจารย์ไข่ คฑาวุธ ทองไทย แห่งวงมาลีฮวนน่า เสียงปรบมือเกรียวกราวดังก้องไปทั่วห้องประชุมหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพฯ ในงาน “Pakbara Paradiso ปากบารา-อันดามัน สวรรค์ทะเลใต้” เมื่อวันที่
๒๔-๒๖ เมษายนที่ผ่านมา ระยะเวลาสั้น ๆ ที่ทำให้คนกรุงรู้จักปากบารามากขึ้นผ่านเวทีเสวนาและนิทรรศการภาพถ่าย แต่คงไม่มีคำบอกเล่าใดถึงสตูลดีเท่ากับการได้มาสัมผัสด้วยสองตา สองหู และสองมือของตนเอง
วันนี้ สตูล เมืองเล็ก ๆ ปลายด้ามขวาน ที่ยังคงสงบ สะอาด และอุดมด้วยธรรมชาติบริสุทธิ์ กำลังเดินมาถึงทางแยก ระหว่างเส้นทางสู่เมืองท่าอุตสาหกรรม กับเส้นทางสู่เมืองท่องเที่ยวเชิงนิเวศ
ชาวปากน้ำย้ำเสมอว่า พวกเขาและเธอไม่ได้ปฏิเสธการพัฒนา แต่ราคาของทรัพยากรธรรมชาติและวิถีชีวิตที่ต้องแลกกับโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบาราและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
พวกเขาและเธอมองว่า “ไม่คุ้มค่า”
ขอบคุณ
- สมาคมรักษ์ทะเลไทย จังหวัดสตูล, โครงการ Silent Power มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, เครือข่ายประชาชนต่อต้านโครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา, คุณนภาวรรณ ชูสกุล (จวนใหม่), คุณวิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี, คุณสมบูรณ์ คำแหง, คุณมูฮำหมัด ดือราแม และคุณปรัชญเกียรติ ว่าโร๊ะ
เอกสารประกอบการเขียน
- การท่าเรือแห่งประเทศไทย. “รายงานประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๖.”
- คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจการพาณิชย์และอุตสาหกรรม วุฒิสภา. “รายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง โอกาสและศักยภาพในการขยายการค้าการลงทุนในประเทศเพื่อนบ้าน.”
- เครือข่ายประชาชนติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสตูล. “ความลับ ไม่น่าลับ โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกปากบารา จังหวัดสตูล โครงการที่มีผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงกว่ามาตรฐานกำหนด ๒๐ เท่าตัว.” สิงหาคม ๒๕๕๖. (อัดสำเนา)
- โชคดี กรพัชร. “การมีส่วนร่วมของประชาชนในโครงการที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม : ศึกษากรณีโครงการก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกปากบารา.” วิทยานิพนธ์นิติศาสตรมหาบัณฑิต สาขากฎหมายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๕๗.
- เดชรัต สุขกำเนิด และ เกื้อเมธา ฤกษ์พรพิพัฒน์. แผนพัฒนาภาคใต้ภายใต้เงาอุตสาหกรรม. นนทบุรี : สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ, ๒๕๕๒.
- ธนิต โสรัตน์. “การศึกษาการโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวาย.” เข้าถึงจาก http://www.tanitsorat.com/file/การศึกษาการโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวาย.
- ธรรมรัตน์ นุตะธีระ. “ซากดึกดำบรรพ์ในท้องถิ่น อำเภอละงู จังหวัดสตูล.” เอกสารประกอบการดำเนินงาน งานศึกษาสำรวจและพัฒนาแหล่งเรียนรู้ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา โรงเรียนกำแพงวิทยา อำเภอละงู จังหวัดสตูล. (อัดสำเนา)
- บริษัทเซ้าท์อี๊สท์เอเซียเทคโนโลยี่ จำกัด และบริษัททีม คอนซัลติ้ง เอนจิเนียริ่ง แอนด์ แมเนจเมนท์ จำกัด. “รายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือน้ำลึกและถมทะเล ระยะที่ ๑ บริเวณปากคลองปากบารา อำเภอละงู จังหวัดสตูล.” สิงหาคม ๒๕๕๒. (อัดสำเนา)
- วัฒนา ตันสถียร. “ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับซากดึกดำบรรพ์.” เอกสารประกอบการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ โครงการพัฒนาและส่งเสริมการให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายกรมทรัพยากรธรณี. (อัดสำเนา)
- วิโชคศักดิ์ รณรงค์ไพรี และคณะ. ปากคน ปากน้ำ ปากบารา ศักยภาพและข้อเสนอการพัฒนาในพื้นที่ปากน้ำ (กัวลาบารา) ในฐานะฐานชีวิตและแหล่งผลิตอาหารของจังหวัดสตูล. สงขลา : สมาคมรักษ์ทะเลไทย, ๒๕๕๗.
- Craig Welch. How Oil Spills Can Literally Break Fish Hearts [Online]. Accessed 2 May 2015. Available from http://news.nationalgeographic.com/2015/04/150416-oil-fish-hearts-spill-tuna-gulf-bp-deepwater-exxon-alaska