ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล – เรื่อง
บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช – ภาพ

ว่ากันว่าในบรรดาลายสักทั้งหมดของ จอห์นนี เดปป์ พระเอกฮอลลีวูด ไม่มีลายสักใดได้รับการพูดถึงเท่ารูปริบบิ้นบนไหล่ขวา ที่มีคำว่า “Winona Forever” หรือ “วิโนนาตลอดกาล”

เดปป์สักคำนี้เมื่อคบหากับ วิโนนา ไรเดอร์ นางเอกคู่หมั้น  แม้ต่อมาความรักขาดสะบั้น ทั้งคู่สิ้นสุดความสัมพันธ์ พระเอกหนุ่มเมาหัวราน้ำ แต่ยังเก็บลายสักแสลงใจเอาไว้ เพียงแต่ลบบางส่วนออกไปกลายเป็น “Wino Forever” หรือ “ขี้เหล้า
ตลอดกาล”

เพราะเดปป์เชื่อว่าร่างกายคือบันทึก ลายสักคือเรื่องราว ถึงความรักมอดดับ แต่ลายสักยังอยู่ เมื่อให้สัมภาษณ์นิตยสาร GQ จึงบอกว่า การลบลายสักก็เหมือนไม่ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น  ให้แต่งเติมหรือทำตลกเลยเสียยังจะดีกว่า พร้อมยกตัวอย่างด้วยว่า ให้สักชื่อผู้ชายคนใหม่ของวิโนนายังถือว่าซื่อตรงต่อความรู้สึกมากกว่าลบลายสักเดิมทิ้งไป

นับตั้งแต่นํ้าหมึกหยดแรกถูกสักบนร่างกาย เดปป์ก็สักเพิ่มอีกนับลายไม่ถ้วน บนเนื้อหนังมีทั้งรูปอินเดียนแดงเผ่าเชอโรกี  ชื่อแม่และหัวใจ ชื่อลูกชายและท้องทะเลกับนก รวมถึงเลข “3” ที่แม้แต่แฟนคลับก็ยังไม่รู้ว่าหมายถึงอะไรแน่ชัด  ถึงตอนนี้พระเอกขวัญใจน่าจะมีลายสักไม่น้อยกว่า ๓๐ ตำแหน่งทั่วร่าง ทุกลายมีความหมายบางอย่าง ระบุถึงช่วงเวลาของชีวิต

เพราะเดปป์เชื่อว่าการสักเหมือนสิ่งที่พวกกะลาสีเรือเคยทำ เกิดขึ้นในช่วงเวลาพิเศษที่ตัดสินใจสร้างรอยแผลเป็นบนร่างกาย  ไม่ว่าคุณจะสักเองโดยใช้มีด หรือช่างสักมืออาชีพก็ตาม

 

สักคนที่อยากสัก

บนเส้นทางสู่ถนนข้าวสาร แหล่งรวมร้านสัก แทตทูอาร์ติสต์ (tattoo artist) ผู้คนเรือนร่างเปื้อนสี

ผมและดิวเดินอยู่ริมทางเท้าราชดำเนิน

ดิว หรือ กรดล แย้มสัตย์ธรรม ทำงานอยู่กองบรรณาธิการหนังสือท่องเที่ยว “นายรอบรู้” สำนักพิมพ์สารคดี เขาสนใจลวดลายบนผิวหนัง และอยากสักในสักวัน  ผมจึงเชิญเขามาร่วมตามหาความหมายในลายสักด้วยกันที่ถนนข้าวสาร

ถ้าเอาตามความหมายของ “สัก” ใน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ บอกว่า “เอาของแหลมแทงลงด้วยวิธีการหรือเพื่อประโยชน์ต่าง ๆ กัน เช่น สักปลาไหล สักหาของในน้ำ สักรอยช้ำเพื่อรีดเอาเลือดที่คั่งออก” หรืออีกความหมายหนึ่ง “ใช้เหล็กแหลมจุ้มหมึกหรือน้ำมันแทงที่ผิวหนังให้เป็นอักขระเครื่องหมาย หรือลวดลาย, ถ้าใช้หมึก เรียกว่า สักหมึก, ถ้าใช้น้ำมัน เรียกว่า สักน้ำมัน” รวมถึง “ทำเครื่องหมายโดยใช้เหล็กแหลมจุ้มหมึกจิ้มที่ผิวหนังเพื่อแสดงเป็นหลักฐานบนร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่ง เช่น สักข้อมือ แสดงว่าได้ขึ้นทะเบียนเป็นชายฉกรรจ์…สักหน้าแสดงว่าเป็นผู้ที่ต้องโทษปาราชิก”

ขณะที่เว็บไซต์ออนไลน์ของดิกชันนารี Longman ให้ความหมายในภาษาอังกฤษ คือ “แทตทู” (tattoo) หมายถึง “รูปหรือตัวหนังสือที่ถูกทำเครื่องหมายลงบนผิวหนังอย่างถาวร ด้วยเข็มและหมึก”

ส่วนช่างสักคนหนึ่งแถวถนนข้าวสารบอกว่า “มันคืองานศิลปะชนิดหนึ่งที่อยู่บนตัวคนถาวรคงทน ทุกคนเข้าถึงได้” และแม้จะไม่ค่อยได้ศึกษาความหมายของคำว่าสักจากตำรา แต่สำหรับเขาแล้ว “การสักก็คือการวาดรูป เพียงแต่วาดด้วยเข็มจุ่มหมึกสี กรีดลงบนเนื้อคนที่ดิ้นได้ !” ก่อนตบท้าย “เดี๋ยวนี้เกือบจะสักรูปอะไรก็ได้บนเนื้อคน ถ้ารูปบนกระดาษทำได้ สักก็ทำได้ !”

ช่วงเวลาที่คนคนหนึ่งจะสักร่างกายมีสองช่วงด้วยกัน คือ หนึ่ง ช่วงที่ยังคิดไม่ออก กับสอง ช่วงที่คิดออกแล้ว

อธิบายอย่างชัดเจนที่สุดก็คงอย่างที่คุณพอคาดเดา การสักครั้งแรกผู้สักอาจอายุน้อย ไม่มีประสบการณ์ หรือ “สักแต่ขอให้ได้สักเท่านั้น ตามเพื่อนหรือนายแบบหนังสือ” คือยังไม่รู้ว่าตัวเองชอบลายสักจริงหรือไม่ หรือถึงชอบก็ไม่มั่นใจว่ารูปที่เลือกนั้น “ใช่”

เพราะลายสักจะอยู่กับเราตลอดไป การสักลายที่ “ไม่ใช่” จึงไม่ใช่เรื่องล้อเล่นเลย  ส่วนการสักในช่วงที่ ๒ ก็อยู่ในทางตรงข้ามกับช่วงแรก

“ตั้งใจสักลายอะไร” ผมถามดิวในเป้าหมายของรูปที่จะสัก

“มันมีหลายลายที่ผมอยากสัก ถึงผมจะไม่รู้ว่าบนโลกนี้มีลายสักทั้งหมดกี่แบบ ผมรู้เฉพาะลายที่ผมชอบ คือพวกกราฟิก จีโอเมทริก จะดูลายพวกนี้เยอะมาก”

ชายวัยเบญจเพสอธิบายต่ออีกว่า ภาพกราฟิกที่เขาชอบหมายถึงพวกศิลปนามธรรมหรือแอปสแตร็ก (abstract) ไม่ใช่ภาพเหมือนชี้ชัดเป็นคน สัตว์ หรือสิ่งของ ส่วนลายจีโอเมทริกคือพวกรูปทรงเรขาคณิต

“ผมชอบเพราะดูเหมือนมันไม่มีความหมาย”

“ที่มาของความชอบคืออะไร” ผมถามเมื่อเราเข้าใกล้ถนนข้าวสาร

“เพราะผมอยากเอาสิ่งที่มันอยู่ในหัวออกมาอยู่ตามตัว ผมเป็นคนชอบอะไรแบบนี้  ตอนเด็กผมชอบให้เพื่อนเอาปากกามาวาดบนแขนเป็นรูปนาฬิกา  ผมสนุก แต่ปัญหาคือผมไม่ได้เติบโตมาในสังคมที่ยอมรับว่าการสักคือเรื่องดี  เหตุนี้ผมจึงไม่ได้คิดเรื่องสัก แต่พอโตมาเห็นเพื่อนฝรั่งสักแล้วรู้สึกว่ามันเจ๋งดีนะ  ได้ฟังเขาเล่าว่าแต่ละลายมีความหมายเฉพาะตัว  ตอนนั้นผมคิดว่าผมก็มีเหมือนกันบางสิ่งที่ผมอยากจดจำไว้ แต่ไม่ได้หมายความว่าอยากบอกใคร”

“พวกจีโอเมทริกจะสื่อความหมายของชีวิตได้อย่างไร”

“ทุกลายที่ผมสักต้องมีความหมาย  คนอื่นเห็นอาจคิดว่าไม่มีอะไร แต่จริง ๆ ต้องมี  ยกตัวอย่างตอนนี้ผมพยายามหาลายสักที่แสดงถึง freedom”

“จะเป็นลายสักแรกเลยไหม”

ดิวยักไหล่ กล่าวว่า “ลายจีโอเมทริกผมจะสักที่หัวไหล่  แต่ลายแรกผมอยากจะสักที่ด้านในของแขนซ้าย ประโยคของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี ว่า ถ้าขึ้นไปเห็นอะไรบนดวงจันทร์แล้ว เราคงหมดอารมณ์ที่จะฝันถึงมันอีกต่อไป

เพราะเหตุใดจึงสนใจสักคำนี้

“มันเหมือนเป็นเครื่องคอยเตือนใจ ให้เราทั้งกล้าที่จะฝันและกล้าที่จะยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น  หรือบางทีมันก็คอยเตือนใจว่า เรื่องบางเรื่องก็ควรจะให้เป็นแค่ความฝันเพราะความจริงมันอาจไม่สวยงามเหมือนฝันก็ได้ เก็บไว้เป็นฝันที่สวยงามแบบนั้นดีกว่า  ผมตีความหมายประโยคนี้ได้หลายแง่มุม และผมว่ามันเหมาะกับคนนิสัยแบบผมที่สุด”

แล้วชายหนุ่มก็อธิบายว่าต้องการสักคำของอาจารย์ศิลป์ พีระศรี จากลายมือของพ่อ

“ผมบอกให้พ่อเขียนประโยคนี้ แล้วผมถ่ายรูปเก็บไว้  ที่ผมอยากได้ลายมือพ่อเพราะที่ผ่านมาพ่อสอนผมเยอะมาก  แต่ครั้งนี้ผมอยากได้คำพูดคนอื่นที่เป็นลายมือของพ่อ  ผมบอกพ่อว่าไม่ต้องคัดลายมือ เขียนด้วยลายมือธรรมดาที่พ่อเขียนประจำ”

“คิดว่าจะสักคำนี้เมื่อไหร่”

คำถามสุดท้ายก่อนเลี้ยวเข้าถนนข้าวสาร

“วันที่ผมรู้สึกว่าตัวผมเป็นของผมโดยชอบธรรม วันที่ผมเลี้ยงดูตัวเองได้  ที่ผ่านมาผมรู้ว่าแม่ไม่ชอบให้ลูกมีลายสักหรือเจาะหู เพราะเขาเป็นครู อยากให้ลูกดูสะอาดสะอ้าน  เมื่อก่อนผมเคยไว้ผมทรงเดรดล็อก แม่ไม่ค่อยชอบใจเท่าไร  ที่ผ่านมาผมรู้สึกว่าชีวิตยังไม่ใช่ของผม  ผมเข้าใจนะว่าแม่หวังดี  แต่วันหนึ่งเมื่อผมมีรอยสัก วันนั้นจะเป็นวันที่ผมเป็นผมอย่างสมบูรณ์  ไม่แคร์โลกภายนอกว่าคนจะมองไอ้ดิวเป็นอย่างไร  มีลายสักแล้วจะเป็นคนชั่วมั้ย  ใครจะมองผมชั่วก็มองไป ผมจะไม่คิดเรื่องพวกนั้นแล้ว”