เรื่อง : ปริวัฒน์ จันทร

กล่าวกันว่า

“หากไปชมภูเขาที่หวงซานมาแล้ว …ขุนเขาอื่นในปฐพีภพล้วนไม่มีความหมาย
หากไปชมธารน้ำที่จิ่วไจ้โกวมาแล้ว…สายน้ำอื่นในโลกาย่อมไม่อยู่ในสายตา”

คำกล่าวสองประโยคนี้เป็นที่รู้จักกันดีของชาวจีนทั้งประเทศ และได้แพร่หลายขจรขจายไปยังเหล่านักเดินทาง ผู้แสวงหาความสวยงามตามธรรมชาติทั่วโลก หลายคนอาจนึกสนเท่ห์ว่า คำกล่าวนี้จะเป็นจริงหรือไม่ เพราะแผ่นดินจีนนั้นช่างกว้างใหญ่ไพศาลยิ่งนัก แล้วใครกันหนอที่อาจหาญมาด่วนสรุปให้ “จิ่วไจ้โกว” (Jiu Zhai Gou) ซึ่งอยู่บนชายขอบหลังคาโลก ทางตอนเหนือของมณฑลเสฉวน ให้เป็นตัวแทนแห่งความงามอันเป็นที่สุด ของมวลเหล่าสรรพสายน้ำทั้งหลายในแผ่นดินมังกรแห่งนี้

ผมได้มีโอกาสไปเยือนจิ่วไจ้โกวสองครั้ง ในช่วงระยะเวลาที่ต่างกันราว ๕ ปี ครั้งแรกเมื่อกลางฤดูใบไม้ผลิของปี ๒๕๓๙ ซึ่งในเวลานั้น บ้านเรายังมีน้อยคนนักจะรู้ว่าสถานที่แห่งนี้อยู่บนแผนที่ส่วนใดของประเทศจีน และครั้งล่าสุด ในช่วงปลายฤดูใบไม้ร่วงของปี ๒๕๔๔ ในวันที่ชาวไทยได้แห่กันไปเที่ยว จนสายการบินไชน่าเซาท์เวสท์แอร์ไลน์ ต้องส่งเครื่องชาร์เตอร์ไฟลท์ (เครื่องบินเหมาลำพิเศษ) รุ่นแอร์บัสขนาด ๔๐๐ ที่นั่ง บินมารับคนไทยไปเที่ยวจิ่วไจ้โกว เพิ่มจากปรกติถึงสองเที่ยวต่อวันเลยทีเดียว !

สองช่วงเวลาและสองฤดูกาลแห่งความแตกต่าง ทั้งถนนหนทาง สภาพภูมิประเทศ สิ่งอำนวยความสะดวก และเรื่องราวบนรายทาง เหนืออื่นใด นั่นคือ ความงามอันบรรเจิดตระการของมวลสรรพสีสันแห่งธรรมชาติในหลากอิริยาบถ ไม่ว่าจะเป็นทะเลสาบ สายน้ำตก ธารน้ำเชี่ยว ใบไม้เปลี่ยนสี หรือขุนเขาหิมะ ที่ได้รับการยกย่องว่าคือ “สรวงสวรรค์บนผืนพิภพ” (เหรินเจียนเตอเทียนถาง Ren Jian De Tian Tang) ผสานกับตำนานท้องถิ่นของชาวทิเบตที่เล่าขานกันมาอย่างยาวนาน จนได้รับการขนานนามในอีกสมญาว่า “ดินแดนแห่งเทพนิยาย” (ถงฮั่วเตอซื่อเจี้ย Tong Hua De Shi Jie) อันเป็นเสน่ห์ชวนให้หลงใหลไปอย่างมิรู้ตัว ซึ่งผมจะขอพาทุกท่านร่วมเดินทาง เพื่อไปพิสูจน์ค้นหาคำตอบของคำกล่าวข้างต้นนี้ร่วมกัน…

เสฉวน : เมืองแมนแดนสวรรค์

มณฑลซื่อชวน (Si Chuan) หรือที่เรารู้จักกันดีในนาม “เสฉวน” ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศจีน มีขนาดพื้นที่ประมาณ ๔๗๘,๐๐๐ ตารางกิโลเมตร หรือพอ ๆ กับขนาดของประเทศไทย ทว่ามีประชากรถึงกว่า ๙๐ ล้านคน มีเมืองหลวงอยู่ตอนกลางของมณฑล คือ นครเฉิงตู (Cheng Du) อดีตเคยเป็นราชธานีก๊กสู่ฮั่นของเล่าปี่และขงเบ้งในสมัยสามก๊ก ปลายราชวงศ์ฮั่น ขงเบ้งได้เลือกเอาเสฉวนเป็นราชธานีของก๊กสู่ เพื่อหมายฟื้นฟูราชวงศ์ฮั่น ก็ด้วยเหตุผลที่สำคัญคือ เมืองแห่งนี้มีความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำหลากหลายสายที่ไหลผ่าน เช่น แม่น้ำหมินเจียง แม่น้ำฉางเจียงหรือแยงซีเกียง แม่น้ำต้าตู้เหอ และแม่น้ำหลิงเจียง เป็นต้น จึงทำให้ได้รับการเรียกขานเป็นชื่อของมณฑลว่า “ซื่อชวน” หรือ “เมืองสี่แคว” นั่นเอง

ที่สำคัญก็คือ มีระบบชลประทานตูเจียงเอี้ยน (Du Jiang Yan) ผันน้ำจากแม่น้ำหมินเจียง (Min Jiang) เส้นเลือดหลักของมณฑลไปหล่อเลี้ยงที่ราบลุ่มทางภาคตะวันออกอันอุดมสมบูรณ์ จนทำให้มณฑลเสฉวนได้รับการขนานนามว่าเป็น “เทียนฟู่จือกั๋ว” (Tian Fu Zhi Guo) “เมืองแมนแดนสวรรค์” หรือ “อู่ข้าวอู่น้ำ” ที่มีผลผลิตพอเลี้ยงดูประชากรเกือบ ๑๐๐ ล้านคนได้มาจนตราบถึงปัจจุบัน

ภูมิประเทศของมณฑลเสฉวนนั้น ในทางภาคตะวันตกและภาคเหนือจะเป็นที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบต หรือที่เรียกว่า “หลังคาโลก” มีความสูงตั้งแต่ระดับ ๓,๐๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลางขึ้นไป มียอดเขาอันสลับซับซ้อนและสูงชันกว่า ๔,๐๐๐-๖,๐๐๐ เมตร ที่ถูกปกคลุมด้วยหิมะอยู่ชั่วนาตาปีเป็นจำนวนมาก ในขณะที่ดินแดนทางภาคกลางและภาคตะวันออก กลับเป็นที่ราบลุ่มอันกว้างใหญ่ มีธารน้ำมากมายไหลผ่าน จึงมีประชากรอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น เป็นพื้นที่เพาะปลูกอันอุดมสมบูรณ์ของประเทศ

ดังนั้น มณฑลแห่งนี้จึงมีสภาพธรรมชาติอันหลากหลายในทุกรูปแบบ นับตั้งแต่ขุนเขาหิมะ ธารน้ำแข็ง ที่ราบสูง แม่น้ำ และสายธารอันงามพิสุทธิ์ ตลอดจนถึงมีโบราณสถานทรงคุณค่าทางศิลปกรรมอันลือเลื่อง มีมรดกโลกที่ได้รับการประกาศจากองค์การยูเนสโก้ถึงห้าแห่งด้วยกัน คือ อุทยานจิ่วไจ้โกว-หวงหลง (ค.ศ. ๑๙๙๒) หลวงพ่อโตแห่งเล่อซานและเขาง๊อไบ๊ (Le Shan & E Mei Shan ค.ศ. ๑๙๙๗) เขื่อนชลประทานตูเจียงเอี้ยน (ค.ศ. ๑๙๙๙) ถ้ำผาหินสลักต้าจู๋ (Da Zu Shi Ku ค.ศ. ๑๙๙๙) และล่าสุดคือ วัดลัทธิเต๋าแห่งขุนเขาชิงเฉิงซัน (Qing Cheng Shan ค.ศ. ๒๐๐๐) ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้มีคำกล่าวเปรียบเปรยว่า …

“ใครที่ยังมาไม่ถึงมณฑลเสฉวน นั่นย่อมมิอาจกล่าวได้ว่า เขาผู้นั้นได้เดินทางมาถึงประเทศจีนแล้ว”

ปัจจุบันการเดินทางมายังมณฑลเสฉวนนั้นจัดว่าสะดวกสบายมาก เพราะมีสายการบินไชน่าเซาท์เวสท์แอร์ไลน์บินตรงจากกรุงเทพฯ ถึงเฉิงตู วันละหนึ่งเที่ยวบินทุกวัน และจากนครเฉิงตู ท่านสามารถใช้เป็นจุดตั้งต้นในการเดินทางไปท่องเที่ยวยังภูมิภาคต่าง ๆ ของมณฑลนี้ได้ และเช่นกัน การเดินทางสู่อุทยานจิ่วไจ้โกวของผมทั้งสองครั้ง ก็ได้มาเริ่มต้นที่นครเฉิงตู จากนั้นก็มุ่งสู่ทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ไปตามเส้นทางสู่เมืองตูเจียงเอี้ยน บนระยะทาง ๔๘ กิโลเมตร ซึ่งที่นั่นมีมรดกโลกอันยิ่งใหญ่ในแนวความคิด และการจัดการธรรมชาติ มากว่า ๒,๒๐๐ ปีก่อนได้อย่างน่าทึ่งเลยทีเดียว !

“ดักตะกอนดินทราย แล้วสร้างเขื่อน” หัวใจแห่งตูเจียงเอี้ยน

มีนักประวัติศาสตร์จีนผู้หนึ่งได้กล่าวไว้ว่า…

“หากเปรียบคุณูปการของสิ่งมหัศจรรย์หนึ่งในเจ็ดของโลกที่ทุกคนรู้จักกันดี นั่นคือ กำแพงเมืองจีนที่ยาวหมื่นลี้แล้ว ก็ยังมิอาจเทียบกับระบบชลประทานเขื่อนตูเจียงเอี้ยนได้ เพราะตราบจนถึงปัจจุบัน เขื่อนแห่งนี้ก็คงยังประโยชน์อันมหาศาล ให้แก่มวลเหล่าประชากรจีนมาอยู่อย่างเสมอ”

กำแพงเมืองจีนนั้น ทุกคนคงรู้จักกันดี เพราะได้เริ่มสร้างขึ้นในสมัยปฐมจักรพรรดิจิ๋นซีฮ่องเต้ (ปี ๒๕๙-๒๑๐ ก่อนคริสตกาล) แห่งราชวงศ์ฉิน (ปี ๒๒๑-๒๐๖ ก่อนคริสตกาล) เป้าหมายหลักในการสร้างกำแพงนี้ขึ้น ก็เพื่อป้องกันการรุกรานจากชนเผ่าทางตอนเหนือ แต่สำหรับทุกวันนี้ ภัยอันน่าสะพรึงกลัวนั้นได้หมดสิ้นไปเสียแล้ว ดังนั้น กำแพงเมืองจีนจึงคงเหลือแต่ภารกิจที่ถูกใช้ให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันระบือนาม ที่เหล่านักเดินทางจากทั่วทุกสารทิศต่างถวิลขอขึ้นไปย่ำเท้าบนกำแพงนี้ให้ได้สักครั้งหนึ่งในชีวิต

หากนับย้อนขึ้นไปก่อนการสถาปนาราชวงศ์ฉินเพียง ๓๕ ปี คือปี ๒๕๖ ก่อนคริสตกาล (หรือ ๒,๒๕๗ ปีมาแล้ว) ในปลายสมัยสงครามเจ็ดรัฐ “จั๋นกว๋อ” หรือรู้จักกันดีในนามยุคเลียดก๊กนั้น ได้มีสองพ่อลูกตระกูลหลี่คือ หลี่ปิงและหลี่เอ้อหลาง (Li Bing & Li Er Lang) สมัยนั้น หลี่ปิงเป็นข้าหลวงผู้ปกครองเมืองสู่ (ชื่อเดิมของเสฉวน) พบว่าแม่น้ำหมินเจียง ซึ่งเป็นแม่น้ำที่ไหลมาจากเทือกเขาหมินซานทางตอนเหนือ ในฤดูน้ำหลากจะมีกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวจัด พัดพาเอาตะกอนดินโคลนให้ถั่งโถมลงมาท่วมไร่นาบ้านเรือนของประชาชนอยู่เสมอ ๆ ดังนั้นหลี่ปิงและหลี่เอ้อหลางจึงได้สร้างสองสิ่งมหัศจรรย์ในยุคเมื่อกว่า ๒,๒๐๐ ปีก่อนขึ้นมา นั่นคือ

  • ทำฝายทดน้ำเพื่อ “ดักตะกอนดินทราย” ที่ไหลหลากลงมาจากขุนเขาทางตอนเหนือ เพื่อมิให้สายน้ำนี้ต้องตื้นเขิน
  • เจาะแยกภูเขาแบ่งธารน้ำออกเป็นสองสาย ภายใต้การควบคุมของมนุษย์ได้เป็นผลสำเร็จเขื่อนแรกของโลก จุดแบ่งแม่น้ำเรียกว่า “หวีจุ่ย” หรือ “ปากปลา” แยกออกเป็น “เน่ยเจียง” หรือ “แม่น้ำสายใน” ส่งไปทดน้ำหล่อเลี้ยงพื้นที่เพาะปลูกได้นับแสนไร่ และแม่น้ำสายนอก (เดิม) หรือ “ไหว้เจียง” โดยได้ “สร้างเขื่อน” ขึ้นเพื่อควบคุมปริมาณน้ำของแม่น้ำสายนอกก่อนไหลลงสู่พื้นที่ราบทางตอนล่างต่อไป

จากความสำเร็จอันเหนือธรรมชาตินี้เอง ทำให้ชาวจีนต่างยกย่องบูชาหลี่ปิงและหลี่เอ้อหลางดุจดั่งเทพเจ้า ผู้ประทานความอุดมสมบูรณ์มาให้แก่แผ่นดิน โดยได้สร้างศาลเอ้อหวางเมี่ยว (Er Wang Miao) หรือศาลสองเทพเจ้าขึ้นเพื่อสักการะสองพ่อลูก ต่อมา เมื่อขงเบ้งเข้ามาปกครองก๊กสู่ ก็ได้สืบสานงานของสองพ่อลูกตระกูลหลี่ โดยปรับปรุงตัวเขื่อนและขยายระบบชลประทาน เพื่อทดน้ำไปหล่อเลี้ยงพื้นที่ทางการเกษตรเพิ่มมากขึ้น

การมาชมเขื่อนตูเจียงเอี้ยนนี้ รถจะจอดบนไหล่เขา เพื่อให้ผู้มาเยือนทุกคนเดินบันไดลงจากเขาผ่านเข้าศาลเอ้อหวาง

เมี่ยวก่อน ตัวอารามแห่งนี้ได้สร้างขึ้นอย่างเป็นชั้นเชิง ลดหลั่นตามไหล่เขาลงไปจนถึงริมฝั่งแม่น้ำ แลดูงดงามลงตัวทั้งงานสถาปัตยกรรมศิลป์และภูมิทัศน์ ที่ได้รับการบูรณะขึ้นใหม่ในสมัยราชวงศ์ชิง เมื่อเดินลงไปถึงตัวเขื่อน จะมีสะพานแขวนทอดตัวให้เดินข้ามไปทั้งในส่วนของแม่น้ำสายในและสายนอก

เมื่อผมมายืนอยู่บนกลางเกาะแม่น้ำบริเวณปากปลา ที่เจาะภูเขาแยกแม่น้ำออกเป็นสองสาย แล้วทอดสายตาฝ่าไอหมอกที่ปกคลุมจนมืดครึ้มมาตลอดทั้งวันออกไปยังเบื้องหน้าแล้ว ก็อดจะโค้งคำนับให้แก่ทั้งสองเทพเจ้า ผู้คิดค้นวิธีการเอาชนะธรรมชาติอันหฤโหด ด้วยการสร้างเขื่อนกั้นน้ำและระบบชลประทานขึ้นเป็นครั้งแรกของมวลมนุษยชาติ และยังถือเป็นต้นแบบของแนวคิดในการสร้างเขื่อนเพื่อการชลประทานเพาะปลูกมาจนถึงทุกวันนี้

และนี่เอง จึงเป็นคำตอบที่ดีว่า ทำไมมรดกโลกชิ้นนี้จึงมีคุณูปการอันยิ่งใหญ่ และยังคงประทับอยู่ในเรือนใจของประชาชนชาวจีน ที่มีปากท้องรวมกันถึงกว่าหนึ่งพันสามร้อยล้านคนมาตราบจนถึงปัจจุบัน…

บนเส้นทาง “เลาะเขาเลียบธาร” สู่จิ่วไจ้โกว

เมื่อห้าปีที่แล้ว ก่อนการมาเยือนครั้งแรก ผมได้ไปหาซื้อแผนที่จีนภาคกลางของเนลส์แมป (Nelles Maps) เพื่อหาข้อมูลก่อนการเดินทาง เมื่อกางแผนที่ดู ก็พบว่าจิ่วไจ้โกวนั้นอยู่ทางตอนเหนือของมณฑลเสฉวน พอพ้นจากเขตเมืองตูเจียงเอี้ยน ที่อยู่บนชายขอบของที่ราบลุ่มต่อกับที่ราบสูงไปเพียงไม่กี่กิโลเมตร ก็จะเป็นเส้นทางสีแดงเล็ก ๆ ทอดตัวคดเคี้ยวไปตามแถบแรเงาสีน้ำตาล ซึ่งนั่นหมายถึงว่าเป็นขุนเขาอันสูงชัน รวมเป็นระยะทางเกือบ ๔๐๐ กิโลเมตร นั่นเอง จึงทำให้พวกเรารู้แน่ว่า เส้นทางไปจิ่วไจ้โกวนั้นไม่ใช่เส้นทางที่จะสะดวกสบาย หากแต่จะต้องเป็นเส้นทางที่วิบากและทุรกันดารเป็นแน่แท้เลยทีเดียว

การเดินทางในครั้งนั้น พวกเราต้องพักแรมตามเมืองบนรายทางก่อนสองคืน จึงจะไปถึงจิ่วไจ้โกว เพราะถนนหนทางในขณะนั้นยังคงเป็นถนนลูกรังและถนนหินอันน่าหวาดเสียวและระทึกขวัญ ตลอดระยะทางเกือบ ๔๐๐ กิโลเมตรที่เลาะไปตามขุนเขาหมินซานและเลียบทวนแม่น้ำหมินเจียง ขึ้นไปสู่ดินแดนทางตอนเหนือบนชายขอบหลังคาโลกแห่งนี้

วิบากสัญจรในครั้งนั้น แม้จะหฤโหดจนถึงกับมีเพื่อนร่วมทางคนหนึ่งได้กล่าวอุปมาไว้ว่า “…ราวกับเป็นเส้นทางที่ผ่านนรกก่อนขึ้นไปสู่สรวงสวรรค์อย่างไรอย่างนั้น” แต่นั่นก็ได้สร้างประสบการณ์ของการเดินทาง จนกลายเป็นตำนานแห่งความประทับใจของคณะฯ ที่ยังคงจดจำตราตรึงมาอย่างมิรู้ลืม

จากนั้นมา ผมยังคงใฝ่ฝันที่หมายจะได้มาเยี่ยมยลมรดกโลกแห่งนี้ให้ได้อีกสักครั้ง เพราะกัลยาณมิตรหลายท่านที่ได้มาเยือน แล้วกลับไปเล่าให้ฟังว่า เส้นทางสะดวกเรียบลื่นดุจไฮเวย์ สามารถย่นระยะเวลาเดินทางไปได้ถึงหนึ่งคืนแล้ว ผมจึงรอคอยโอกาสที่จะได้กลับมา ในคืนวันที่ธรรมชาติได้นุ่งห่มอาภรณ์อันหลากสีสันให้กับเขาทั้งเขา และป่าทั้งป่า จนกล่าวกันว่า… “ป่าเปลี่ยนสีของจิ่วไจ้โกวนั้น งดงามที่สุดแห่งหนึ่งในแผ่นดินจีน”

วันนั้น เราต้องเดินทางต่อกันไปอีกราว ๑๓๕ กิโลเมตร เพื่อไปค้างแรมที่อำเภอเม่าเสี้ยน (Mao Xian) ก่อนคืนหนึ่ง จากนั้น ก็สามารถเดินทางตรงเข้าสู่ที่พักที่หน้าอุทยานจิ่วไจ้โกวได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องแวะพักบนระหว่างทางที่เมืองซงพาน (Song Pan) อีกหนึ่งคืนเหมือนเช่นในอดีต ออกจากเมืองตูเจียงเอี้ยนไปได้ไม่ไกล เส้นทางก็เริ่มวกวนค่อย ๆ ไต่ขึ้นไปบนขุนเขาอันเป็นปราการที่ยิ่งใหญ่แลสลับซับซ้อนรออยู่แต่เบื้องหน้า ห้าปีก่อน สองฟากฝั่งถนนล้วนดารดาษไปด้วยทุ่งข้าวสาลีและดอกผักน้ำมัน ที่สะพรั่งเหลืองไปตามที่ราบผืนน้อยริมแม่น้ำหมินเจียง

ทว่าสำหรับวันนี้ ภาพนั้นผมแทบจะไม่เห็น เพราะผู้คนได้มาตั้งบ้านช่องอยู่บนริมถนนกันเสียมาก ยิ่งไปกว่านั้น ด้วยกระแสการจราจรทั้งรถบรรทุก รถโดยสาร และรถทัวร์มันดูช่างมากมายเสียจริง ต่างมาแย่งกันใช้ถนนสองเลนแคบ ๆ ที่เลาะเขาเลียบธาร แถมมีบ้านช่องผู้คนเรียงรายกระหนาบอยู่ และก็มิน่าเชื่อเลยว่า ด้วยรถบรรทุกที่จอดเสียอยู่ข้างหน้าเพียงคันเดียว ได้ทำให้พวกเราต้องเสียเวลาไปกับรถที่ติดนานเกือบสองชั่วโมง เพราะความเห็นแก่ตัวไม่ยอมกันของคนขับทั้งขาขึ้นและขาล่อง อย่างไรก็ดี มีคำปลอบจากมัคคุเทศก์ท้องถิ่นว่า ถ้าปลายปีหน้ามาใหม่ ถนนสายนี้เขาจะเลิกใช้แล้ว เพราะขณะนี้กำลังตัดเส้นใหม่บนเขา เนื่องจากบริเวณนี้จะสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำหมินเจียง เมื่อแล้วเสร็จ น้ำจะท่วมถนนและบ้านเรือนในละแวกนี้ทั้งหมดในอีกสองปีข้างหน้า !!

ในระหว่างนั่งรอรถติดอยู่บนรถ ผมได้แต่รำพึงรำพันอยู่ในใจว่า “…ห้าปีที่แล้ว…เดินทางถึงที่หมายช้า เพราะถนนยังไม่พัฒนา นั่นพอจะเข้าใจได้ แต่ห้าปีผ่านไป… ก็ยังคงถึงที่หมายช้าอีกตามเคย หรือว่า… การพัฒนามันเร็วเกินกว่าสาธารณูปโภค และจิตใจของผู้คนบนแผ่นดินนี้จะตามทันไปเสียแล้ว !?”

————————————————————–

ตัวอำเภอเม่าเสี้ยน มีความสูงประมาณ ๑,๕๘๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล เป็นอำเภอปกครองตนเองของชนเผ่าเชียง (Qiang Zhu) ชนเผ่านี้มีถิ่นฐานอาศัยอยู่ในแถบภาคตะวันตกของมณฑลเสฉวนมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น หรือนานกว่า ๒,๐๐๐ปีแล้ว โดยดำรงตนอยู่ในฐานะเป็น “รัฐกันชน” ของระหว่างสองชนชาติมหาอำนาจใหญ่ที่กระหนาบโอบล้อมอยู่ นั่นคือ ฮั่นทางภาคตะวันออก และทิเบตทางภาคตะวันตก ระหว่างทาง ยังคงเห็นบ้านเรือนของชนเผ่าเชียงปลูกสร้างอยู่เป็นชุมชนตามไหล่เขา ลักษณะตัวบ้านจะก่อเรียงด้วยหินปิดทึบ มีช่องหน้าต่างเล็ก ๆ แลดูคล้ายป้อมค่ายหอรบที่มีสีสันดูกลมกลืนกับขุนเขา มีคำอธิบายจากมัคคุเทศก์ท้องถิ่นว่า การสร้างบ้านเรือนของชนเผ่าเชียงในลักษณะนี้นั้น สร้างขึ้นเพื่อให้กลมกลืนกับสภาวะภูมิอากาศที่มีลมพัดจัด อันเนื่องมาจากทำเลที่ตั้งอยู่ในระหว่างซอกของทิวเขาหมินซาน ที่ขนาบอยู่กับแม่น้ำหมินเจียงไปตลอดทาง

รุ่งเช้า เราออกเดินทางกันแต่เช้าตรู่ เพราะหนทางวันนี้ยังอีกยาวไกลนัก เมื่อออกจากอำเภอเม่าเสี้ยนมาได้สักพัก เราจะเห็นไร่แอปเปิลที่กำลังออกผลสุกสีเขียว สองข้างทางมีแม่ค้ามาวางขายชนิดเหมากล่อง กล่องละ ๑๐ หยวน (๕๕ บาท) แอปเปิลของเม่าเสี้ยนจัดว่าขึ้นชื่อในความหอมหวานกรอบ ยิ่งเมื่อได้มากินสด ๆ จากต้นแล้ว ทำให้ลืมแอปเปิลที่เหินฟ้าข้ามทะเลมาขายในเมืองไทยไปเลยทีเดียว

ทิวทัศน์สองข้างทางวันนี้ดูช่างยิ่งใหญ่มาก ขุนเขาลูกแล้วลูกเล่ายาวต่อเนื่องกันไปมิรู้สิ้นสุดสายตา กับธารน้ำเชี่ยวสีฟ้าขาวที่ไหลลัดเลาะลงมาจากที่สูงสู่ที่ราบ แลตัดกันเป็นภูมิประเทศที่งามแปลกตา เสมือนหนึ่งกำลังบอกเตือนพวกเราให้รู้ว่า…ในขณะนี้ ถนนสายนี้เริ่มพาพวกเราไต่ขึ้นสู่ชายขอบหลังคาโลกเข้าทุกทีแล้ว…

๕๖ กิโลเมตรนับจากเม่าเสี้ยน หรือราวหนึ่งชั่วโมงเศษ ก็มาถึงจุดพักแวะริมทางอันน่าตื่นตาของทิวทัศน์ ทะเลสาบเตี๋ยซี (Die Xi Hai Zhi) ทะเลสาบสีฟ้าเทอร์ควอยซ์ บนระดับความสูง ๒,๒๐๐ เมตร ที่อยู่ในวงล้อมลึกของขุนเขาอันเฉียบชันรอบด้าน ทะเลสาบขนาดมหึมาที่ลึกลงจนยากหยั่งถึงนี้ เป็นผลมาจากการเกิดแผ่นดินไหว เมื่อกลางดึกของคืนวันที่ ๒๕ สิงหาคม ปี ค.ศ. ๑๙๓๓ รุนแรงถึงขนาด ๗.๕ ริคเตอร์ ได้กลืนเอาเมืองเตี๋ยซีทั้งเมืองพร้อมทั้ง ๖,๘๕๕ ชีวิตให้ยุบจมหายอย่างไร้ร่องรอย จนกลายเป็นทะเลสาบสีฟ้าเข้มอันงดงามตระการตาของผู้ผ่านมาเยือน ทว่า เบื้องหลังของความงามนี้กลับแฝงไว้ด้วยความโหดร้าย ที่มนุษย์มิอาจจะหยั่งรู้ล่วงหน้าได้เลยแม้แต่น้อย !

จากนั้น ถนนสายนี้ได้พาเราไต่ขึ้นสู่ที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบต สัญลักษณ์สำคัญที่ทำให้พวกเรารับรู้ได้ก็คือ ฝูงวัวจามรีหรือเหมาหนิว (Mao Niew) ที่แปลตรงตัวได้ความหมายดีว่า “วัวขน” พาหนะบนที่ราบสูงที่พระเจ้าได้ประทานมาให้มาอยู่คู่กับชาวทิเบต กำลังแทะเล็มหญ้าอยู่บนท้องทุ่งเชิงเขา พร้อมกับไม้ระแนงที่ใช้เป็นราว ตากชิงเคอ (Qing Ke) หรือข้าวบาร์เลย์ของชาวทิเบต ที่จะเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงปลายฤดูร้อน แล้วนำต้นข้าวมาตากผึ่งแดดเพื่อใช้เป็นอาหารสัตว์

ราวบ่ายโมงเศษ เบื้องหน้าของพวกเราคือเมืองซงพาน มีระดับความสูงราว ๒,๘๐๐ เมตร เมืองเอกแห่งทุ่งหญ้าหงหยวน ในอดีตเคยเป็นเมืองสำคัญทางยุทธศาสตร์ทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ของจีน โดยเป็นเมืองบนเส้นทางการค้าขาย และการเดินทางติดต่อระหว่างชนเผ่าในมณฑลต่าง ๆ ทั้งจากเสฉวน กานซู ส่านซี ชิงไห่ และทิเบต กล่าวกันว่า เมืองแห่งนี้เคยเป็นบ้านป่าเมืองเถื่อนอันห่างไกลความเจริญ เป็นถิ่นที่เนรเทศนักโทษให้มาอยู่พ้นหูพ้นตาจากส่วนกลาง ต่อมา ในสมัยเจ้าหญิงเหวินเฉิง พระธิดาของจักรพรรดิถังไท่จงแห่งราชวงศ์ถัง ได้เคยเสด็จผ่านมา ในคราวที่เดินทางไปอภิเษกสมรสกับ ซงเซน กัมโป กษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งทิเบต เล่าขานสืบต่อกันมาว่า ด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์ ได้มาสร้างความสงบสุขอันสันติให้แก่บ้านเมืองแห่งนี้ จนทำให้เมืองซงพานเป็นเมืองหน้าด่านที่สำคัญของชาวฮั่น ก่อนล่วงเข้าสู่ทิเบตในเบื้องประจิมทิศต่อไป

เมื่อมาถึงเมืองซงพานแห่งนี้ ก็ทำให้ผมอดหวนคำนึงย้อนไปถึงเมื่อห้าปีที่แล้วเสียมิได้ เพราะในครั้งนั้น ผมได้มีโอกาสมาเดินทอดน่องท่องเมืองแห่งนี้ในยามบ่ายจนย่ำค่ำ ที่หน้าเมืองมีป้อมประตูเมืองขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิง (ราวปี ค.ศ. ๑๓๗๙) มีตัวอักขระจีนสองตัวเขียนไว้ว่า “ซงโจว” (Song Zhou- ชื่อเดิมของเมืองแห่งนี้) เดิมทีนั้นเมืองซงพานมีกำแพงเมืองที่มีอายุ ๖๐๐ กว่าปีนี้ล้อมรอบอยู่ถึง ๖ กิโลเมตร แต่ปัจจุบันโดยส่วนใหญ่ได้ชำรุดเสียหายไปมากแล้ว คงเหลืออยู่เฉพาะเพียงบางประตูที่อนุรักษ์ไว้เพื่ออวดตระหง่านท้าสายตา แสดงความเป็นเมืองเก่าให้ผู้มาเยือนทุกนามได้ประจักษ์

ถัดจากประตูเมืองเข้าไป มีถนนสายเล็ก ๆ สองฝั่งเป็นอาคารห้องแถวไม้แบบเก่า มีร้านค้าของชาวทิเบต ชาวเชียง ชาวหุย (มุสลิม) และชาวฮั่น จำหน่ายสินค้าตั้งแต่ของป่า เครื่องยาสมุนไพร ใบชา ธัญพืช และเนื้อจามรีทั้งสดและตากแห้งปรุงรสจนกลมกล่อม พอเดินไปได้สักระยะ ก็จะพบสะพานไม้โบราณอันเป็นเอกลักษณ์ ทอดข้ามแม่น้ำหมินเจียงที่ไหลผ่านใจกลางเมือง จากสะพานเดินต่อไปได้ไม่ไกลนัก ผมก็มาขลุกอยู่กับกลุ่มของเด็กน้อย ผู้มีพวงแก้มสีชมพูเข้มด้วยลมแรงและแดดเข้มแห่งที่ราบสูง ที่บ้างออกมานั่งทำการบ้านและดีดลูกคิดอยู่ริมถนน บ้างก็ออกมาวิ่งเล่นกันตามประสา …บรรยากาศอันเป็นธรรมชาติและแสนน่ารักนี้ ทำให้พวกเราดูเสมือนหนึ่งเป็นคนต่างถิ่นเพียงกลุ่มเดียว ที่ได้หลงพลัดเข้ามาอยู่ในท่ามกลางกลิ่นอายของแหล่งชุมนุมชนชาติบนที่ราบสูง ณ พรมแดนระหว่างฮั่นกับทิเบตแห่งนี้…

จากเมืองซงพาน เรายังต้องใช้ระยะเวลาอีกราวเกือบ ๓ ชั่วโมง เพื่อเดินทางข้ามที่ราบสูงไปจนถึงระดับราว ๓,๒๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล ผ่านบริเวณที่เรียกว่า ต้นตาน้ำของแม่น้ำหมินเจียง ที่รวมรวบเอาสายธารตาน้ำผุดและธารน้ำแข็งที่หลอมละลาย รวมกันเป็นแม่น้ำสายสำคัญของมณฑล มิบ่อยครั้งนักสำหรับหนึ่งเที่ยวการเดินทาง ที่เราจะได้ย้อนทวนจากปลายน้ำ ขึ้นมาจนถึงต้นตาน้ำได้เช่นนี้

จากนั้น เส้นทางก็จะค่อยลดระดับลงไปในแอ่งหุบเขา อันกว้างใหญ่ของอุทยานจิ่วไจ้โกวอันร่มรื่นด้วยแมกไม้ และสายธาร เมื่อใกล้เข้าเขตของอุทยาน ขุนเขาจะเริ่มปกคลุมแน่นครึ้มไปด้วยป่าไม้ที่กำลังผลัดเปลี่ยนสีสัน จนละลานตาดุจดั่งภาพวอลล์เปเปอร์ในฝัน หลายคนอุทานว่า …เพียงแค่ออเดิรฟก็เท่านี้แล้ว ของจริงจะขนาดไหนกัน ? ในห้วงเวลานั้นหัวใจของแต่ละคน ดูเหมือนได้หลุดเหินลอยเข้าไปในอุทยานกันเสียแล้ว…

จิ่วไจ้โกว : หลากสีสันและอิริยาบถแห่งสายน้ำ

ชื่อเรียกของ “จิ่วไจ้โกว” เป็นชื่อที่ออกจะเรียกยากในสำเนียงไทย และชวนไม่รื่นหูเท่าใดนัก หากแต่เป็นชื่อเรียกดั้งเดิมของสถานที่แห่งนี้ เพราะคำว่า จิ่ว = เก้า, ไจ้ = หมู่บ้าน, โกว = แควหรือธารน้ำ แปลโดยรวมแล้วหมายถึง แควเก้าบ้าน เนื่องจากพื้นที่ในบริเวณนี้มีหมู่บ้านของชาวทิเบต อาศัยอยู่อย่างกระจัดกระจายตามริมธารน้ำกันมาแต่ดั้งเดิม รวมกันเก้าหมู่บ้าน จิ่วไจ้โกวเป็นธารน้ำสองสาย สายหนึ่งไหลมาจากฉางไห่ หรือทะเลสาบยาวด้านตะวันตก อีกสายหนึ่งไหลมาจากตาน้ำที่ป่าดึกดำบรรพ์ทางด้านตะวันออก สองสายธารไหลคู่ขนานกันมา แล้วมาบรรจบสบกันที่ใกล้บริเวณทะเลสาบกระจก หรือจิ้งไห่ จากนั้นก็ไหลรวมกันลงไปสู่แม่น้ำขาว หรือไป๋สุ่ยเจียง ดังนั้นธารน้ำทั้งสองสายจึงไหลมา แลดูคล้ายเป็นรูปตัววาย มีระยะทางรวมกันถึงกว่า ๕๐ กิโลเมตร มีอาณาบริเวณประมาณ ๗๒๐ ตารางกิโลเมตร แวดล้อมไปด้วย ๑๑๔ ทะเลสาบน้อยใหญ่ ๑๒ ธารน้ำตกที่หลั่งไหลริน ๕ ชายหาดอันขาวบริสุทธิ์ และลำธาร ๑๑ สายที่ไหลลัดเลาะไปตามโตรกซอกหินผา บนความสูง ๒,๒๐๐-๓,๑๐๐ เมตรจากระดับน้ำทะเล

กล่าวกันว่า ฤดูกาลที่เหมาะสมที่สุดในการมาชื่นชมจิ่วไจ้โกวก็คือ ใบไม้ร่วงหรือชิวเทียน ซึ่งจะได้ยลโฉมทั้งเจ็ดสิ่งอันอัศจรรย์ของธรรมชาตินั่นคือ บรรยากาศอันสดใสแห่งฤดูกาล ทะเลสาบครามฟ้าใส ใบไม้ที่ผลัดเปลี่ยนสี เงาสะท้อนบนแผ่นน้ำ สายธารน้ำตก ธาราอันไหลเชี่ยว และทางเดินชมธรรมชาติ ความงามที่สวรรค์ได้ประทานมาให้อย่างพรั่งพร้อมนี้ ชาวทิเบตได้เล่าขานเป็นตำนานกันมาว่า…

ครั้งหนึ่งในอดีตกาลอันนานโพ้น มีเทพบุตรหนุ่มผู้กล้าหาญนามต๋าเกอ (Da ge) ได้ผูกสมัครใจรักใคร่กับเทพธิดาสาวผู้มีนามเชอโม (Se Mo) ต๋าเกอได้เพียรอุตส่าห์ฝนกระจกบานใหญ่ โดยอาศัยแรงสนับสนุนจากเทพวายุ และเทพเมฆาบนสรวงสวรรค์ เพื่อมอบกำนัลแทนความรักที่เขาได้มีต่อเธอ และหมายให้เธอได้ส่องยลโฉมสะคราญของตนเอง ทว่า เชอโมมิทันได้ระวัง กระจกได้พลัดหลุดจากมือร่วงลงสู่พื้นโลก เมื่อเธอลงมาค้นหา ก็พบว่ากระจกนั้นได้แตกเป็นเศษเสี้ยวรวม ๑๐๘ ชิ้น และได้กลายมาเป็นผืนผิวของแผ่นน้ำบนทะเลสาบทั้ง ๑๐๘ แห่งในจิ่วไจ้โกวนั่นเอง

นั่นเป็นความเชื่อของชาวท้องถิ่น ที่ผูกเรื่องราวตำนานขึ้นมา เพื่ออธิบายสภาพของธรรมชาติอันมหัศจรรย์ที่แวดล้อมตัวเขาอยู่ หากแต่ในทางธรณีวิทยาแล้วได้สันนิษฐานว่า ความงามอันตระการนี้เป็นผลมาจากผืนแผ่นดินสองส่วน ได้เคลื่อนเข้ามาปะทะกันเมื่อหลายสิบล้านปีก่อน นั่นคืออนุชมพูทวีป (ประเทศอินเดีย) ซึ่งเคยเป็นเกาะอยู่กลางมหาสมุทร ได้ขยับตัวเข้ามาประชิดติดแผ่นดินยูเรเซีย (ยุโรป+เอเชีย) ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอันสำคัญที่เกิดขึ้นก็คือ ที่ราบสูงชิงไห่-ทิเบตและเทือกเขาหิมาลัย ที่ถูกกดดันด้วยมวลอันมหาศาลของแผ่นดินที่มาปะทะกัน ยังผลให้แผ่นผืนพิภพตอนกลางถูกยกตัวให้สูงขึ้นจนกลายเป็น “หลังคาของโลก”

ร่องรอยอีกอย่างหนึ่งที่ได้เกิดขึ้นในครั้งนั้นก็คือ ชั้นดินใต้ทะเลส่วนหนึ่งได้ถูกอัดหนุน ขึ้นมาอยู่เหนือแผ่นดินบนชายขอบหลังคาโลกแห่งนี้ จึงทำให้ผืนดินในละแวกนี้เต็มไปด้วยสารแร่ธาตุจำพวกแคลเซียม หินปูน ฯลฯ แล้วละลายผสมปนเปกันขึ้นมาอยู่เหนือแผ่นดิน และแร่ธาตุเหล่านี้นี่เอง ได้ตกตะกอนอยู่ในก้นของแอ่งน้ำอันมากมาย สีของผลึกแร่ต่าง ๆ กับสิ่งที่มีชีวิตจำพวกสาหร่ายใต้ท้องน้ำ ได้ช่วยบันดาลให้เกิดสรรพสีสันของธารน้ำอันหลากหลาย มีความสดใสและงดงามอย่างน่าอัศจรรย์

อุทยานจิ่วไจ้โกวได้ถูกค้นพบโดยชาวทิเบตที่อพยพเข้ามาอยู่แต่ในอดีต ต่อมากิตติศัพท์คำเล่าลือถึงความสวยงาม ได้แพร่หลายตามเหล่าโชเฟอร์รถบรรทุก ที่ได้เข้ามาขนไม้ซุงในป่าเขา กระทั่งในปี ค.ศ. ๑๙๘๔ ผู้ว่ามณฑลเสฉวนในขณะนั้น คือจ้าว จื่อ หยาง (ต่อมาได้เป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศจีนอยู่ระยะหนึ่ง) ได้มาเยี่ยมชม และวางแผนที่จะเปิดให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวระดับชาติ โดย จ้าว จื่อ หยาง ได้พรรณนาถึงความงามของจิ่วไจ้โกวไว้ว่า…

“หากทิวทัศน์ของกุ้ยหลิน* คือที่สุดบนผืนพิภพแล้ว
ธรรมชาติของจิ่วไจ้โกวนั้น ยังเหนือกว่ากุ้ยหลินเสียอีก !”

(*กุ้ยหลินเป็นธรรมชาติของขุนเขาและแม่น้ำ ที่มีชื่อเสียงความงดงามติดอันดับของจีนมานาน อยู่ในเขตปกครองตนเองกว่างสี ทางตอนใต้ของประเทศ)

และนับแต่บัดนั้นมา จิ่วไจ้โกวได้ถูกจัดเข้าเป็น ๑ ใน ๑๐ สุดยอดธรรมชาติอันน่ามหัศจรรย์ของจีน และจากการลงคะแนนเสียงประชามติ หลายครั้งเลยทีเดียว ที่ได้รับการโหวตให้เป็นอันดับหนึ่งแห่งความงามบนผืนพิภพมังกร !

ปัจจุบันการเข้าท่องเที่ยวในเขตอุทยานมรดกโลกจิ่วไจ้โกว นอกเหนือไปจากราคาค่าชมที่แพงถึงคนละ ๑๑๐ หยวน (๕๕๐ บาท) ต่อวันแล้ว ยังมีกฎระเบียบอันเคร่งครัด ที่ห้ามนำรถทัศนาจรส่วนตัวเข้าไป นักท่องเที่ยวทุกคนจะถูกบังคับให้ต้องโดยสารรถปลอดมลภาวะ (ก๊าซเอ็นพีจี) ของอุทยาน เพื่อรักษาสภาวะแวดล้อมและควบคุมการจราจรภายใน มีทั้งชนิดซื้อตั๋วรถโดยสารแบบรถประจำทางคนละ ๙๐ หยวน (๔๙๕ บาท) หรือเช่าเหมาคัน ซึ่งมีราคาแพงมากจนน่าตกใจ นั่นคือ รถขนาด ๔๐ ที่นั่ง ราคา ๕,๒๐๐ หยวนต่อคันต่อวัน (๒๘,๖๐๐ บาท) ที่สำคัญนอกจากจะแพงแล้ว ยังมีจำนวนจำกัด ใครมาก่อนได้ก่อน ถ้ามาช้า ก็ต้องทำใจนั่งรถประจำทางเที่ยวในอุทยานที่มีความกว้างขวาง และมีจุดแวะชมที่กระจัดกระจายไปตลอดระยะทาง ๕๐ กิโลเมตร

เมื่อผมลองมาคำนวณดู ค่าใช้จ่ายการเข้าชมอุทยานนี้ต่อหัวจะเฉลี่ยอยู่ที่ ๑,๑๐๐-๑,๓๒๐ บาทต่อวัน ผมถามมัคคุเทศก์ท้องถิ่นว่า ราคานี้เขาคิดเฉพาะกับชาวต่างชาติหรือเปล่า ? คำตอบที่ได้รับก็คือ ไม่ว่าชาวจีนหรือชาวต่างชาติก็ราคาเดียวกัน ทางอุทยานบอกว่า ถ้าใครไม่พร้อมไม่มีเงินก็ไม่ต้องมาชม พูดง่าย ๆ ก็คือของดีไม่ง้อคนมาดูนั่นเอง แต่ถึงกระนั้น เมื่อตอนต้นเดือนตุลาคม ช่วงเทศกาลหยุดฉลองวันชาติจีนนาน ๑๐ วัน เชื่อหรือไม่ว่า มีชาวจีนมาเที่ยวจิ่วไจ้โกวถึงวันละเกือบ ๓ หมื่นคน ทางอุทยานเขาไม่สามารถจัดรถพาไปจุดต่าง ๆ ให้ได้ ทุกคนต้องเดินเท้ากันเอาเอง !

ได้ฟังดังนั้นแล้ว ผมก็อดสะดุ้งไม่ได้ กับกระแสการท่องเที่ยวในประเทศจีนที่ได้บูมถึงขนาดนี้ มิน่าเล่า ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยกันเกือบทั่วทั้งโลกในปัจจุบัน จีนยังคงยืนตระหง่านต้านสภาวะนี้ได้อยู่เพียงประเทศเดียว เพราะพลังการบริโภคภายในประเทศที่มีอยู่อย่างมหาศาลนั้น ได้เป็นตัวช่วยขับเคลื่อนแทนนั่นเอง คิดขึ้นมาถึงตรงนี้แล้ว ก็ไม่อยากคำนวณต่อเลยว่า… ในช่วงสิบวันนั้น กระแสเงินหยวนจะสะพัดที่จิ่วไจ้โกวถึงขนาดไหน ? และมิพักจะไปคิดเปรียบเทียบกับเมื่อห้าปีที่แล้ว ที่ผมคะเนเอาว่า น่าจะมีนักท่องเที่ยวไม่เกินวันละ ๑,๐๐๐ คนเป็นอย่างมาก…

—————————————————-

เช้าวันนั้นเหมือนฟ้าจะเป็นใจ ช่วยส่องประกายแสงสุรีย์อันอบอุ่น ลงมาลูบไล้ธรรมชาติทั้งแผ่นน้ำ ป่าไม้ และขุนเขา ให้ละลานตาทันทีที่พวกเรานั่งรถเข้าไปในอุทยาน จุดหมายแรกที่ผ่านสายตาก็คือ ทะเลสาบต้นอ้อ (หลูเหวยไห่ Lu Wei Hai) สายน้ำอันครามฟ้าใสอย่างแทบไม่เชื่อสายตาตัวเอง ช่างตัดกับต้นอ้อที่เพลานี้ล้วนมีสีเหลืองนวล อิริยาบถของธารน้ำในยามไหลผ่านกออ้อนั้น แลดูช่างงดงามและอ่อนช้อย เหนือกว่าที่ผมได้จินตนาการไว้เป็นเหลือเกิน

ไปอีกไม่ไกล ผมก็ตะลึงกับทะเลสาบมังกรหลับ (อั้วหลงไห่ Wo Long Hai) ที่ตอนกลางของแอ่งทะเลสาบมีสีเหลืองของหินปูนตกผลึก เมื่อแลจากด้านบนแล้ว ดูคล้ายดั่งมังกรขาวกำลังหลับใหลพาดกลางอยู่ใต้แผ่นท้องน้ำ ชาวทิเบตเล่าขานกันมาว่า ในอดีตเคยมีมังกรดำที่อาศัยอยู่ในเฮยหลงเหอ (ธารมังกรดำ) ได้ให้ชาวบ้านในหมู่บ้านจิ่วไจ้โกวกักน้ำไว้เพื่อให้ตัวเองได้เล่นปีละ ๙๙ วัน ทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน จึงพากันไปขอความช่วยเหลือจากมังกรขาวที่อาศัยอยู่ในไป๋หลงเจียง (ธารมังกรขาว) มังกรขาวจึงเข้าทำการขัดขวางมังกรดำ ทั้งคู่ได้ต่อสู้กันกันอย่างยาวนาน ในที่สุด ธรรมะย่อมชนะอธรรม มังกรขาวชนะมังกรดำ แต่ทว่ามังกรขาวได้สูญสิ้นพลังไปเสียหมด ไม่สามารถพาตนกลับคืนสู่ไป๋หลงเจียงได้ จึงนอนนิ่งอยู่ใต้ผืนทะเลสาบแห่งนี้ นานวันเข้าชาวบ้านจึงตั้งชื่อว่า “ทะเลสาบมังกรหลับ” เพื่อเป็นการรำลึกถึงมังกรขาวที่มาช่วยปลดทุกข์ให้แก่พวกตน

ระหว่างทาง ที่เคียงขนานไปกับลำธารน้ำ ที่ดั่งใครนำหมึกสีฟ้ามาเทหกรดไว้ หรือใครหนอที่ช่างหอบหิ้วนำน้ำทะเลจากแดนไกล มาเติมแต่งแต้มสีสันให้ตัดสลับกับมวลของใบไม้ที่กำลังผลัดเปลี่ยนสี แล้วภาพของความงามก็ทำให้ผมต้องตื่นตาอีกครั้ง เมื่อได้เห็นใบไม้สีแดงเพลิงของต้นหงหัว (Hong Hua) ที่แอ่นลู่ราวกับจะเลี่ยไล้ลงแผ่นน้ำริมทะเลสาบแรด (สู่หนิวไห่ Shu Niew Hai) ใบไม้แดงตัดกับผืนน้ำสีฟ้าคราม แลสะท้อนกับพรรณพฤกษาที่นุ่งห่มอาภรณ์อันพรรณรายแล้ว ผสานกับเสียงลั่นชัตเตอร์กล้องที่ดังรัวจนเกินห้ามใจของผู้มาเยือนยลเลยจริง ๆ

มิทันจะหายอิ่มเอม ก็พลันมาพบสายน้ำตกนัวเย่อหลัง (Nuo ri Lang Pu Bu) ที่ทิ้งตัวลงสู่หุบเบื้องล่างที่ลึกกว่า ๒๐ เมตร ตลอดแนวยาว ๓๐๐ เมตร นัวเย่อหลังเป็นภาษาทิเบตหมายถึงเทพบุตรมีผู้พละกำลังอันเข้มแข็ง โดยนัยแล้วคงเปรียบสายน้ำตกแห่งนี้ ที่แม้จะหลั่งไหลลงสู่เบื้องล่างด้วยอิริยาบถอ่อนช้อยและงดงาม แต่ก็แฝงไว้ด้วยพลังอันน่าเกรงขาม การชมน้ำตกนี้สามารถเลือกได้สองทาง คือหนึ่งขึ้นบันไดไปยังฝั่งตรงข้ามเพื่อถ่ายภาพรวม หรือเดินลงยังริมธารน้ำตกเพื่อชมพลานุภาพแห่งสายน้ำที่ถาโถมลงเป็นละอองกระเซ็นสาย

จากน้ำตกนัวเย่อหลัง เราลัดเลาะขึ้นสู่ขุนเขาตามแนวลำธารด้านซ้าย ระหว่างทางจะเห็นขุนเขาหิมะนามเซอโม (Se Mo Shan) หรือ เทพธิดาเซอโม ที่เธอได้ลงมาตามหาแผ่นกระจกของเทพบุตรคนรัก เป็นยอดเขาสูง ๔,๑๓๖ เมตร ตระหง่านอยู่ระหว่างกลางลำน้ำทั้งสองด้าน เพียงแค่ไม่กี่อึดใจ ก็มาถึงจุดสิ้นสุดของถนนสายนี้ที่ทะเลสาบยาว (ฉางไห่ Chang Hai) ณ ระดับความสูง ๓,๑๐๓ เมตร จุดชมธรรมชาติที่อยู่สูงที่สุดในอุทยาน ฉางไห่มีความยาวราว ๘ กิโลเมตร กว้าง ๔.๔ กิโลเมตร แลเห็นขุนเขาหิมะโอบล้อมตัวทะเลสาบอยู่รอบด้าน บนเขาเห็นป่าสนไซเปรสอันเขียวครึ้ม สลับกับป่าเปลี่ยนสีที่มาแต่งแต้มสีสันได้อย่างละลานตา และบนแผ่นน้ำที่ราบเรียบ ก็ช่างสะท้อนเงาขุนเขาและแดดยามสายให้เห็นอย่างแจ่มชัด

ที่ตรงหน้ามีต้นสนไซเปรสขนาดใหญ่ต้นหนึ่ง ที่แผ่กิ่งก้านและใบให้ร่มเงาเฉพาะด้านฝั่งขวา จนเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ทางธรรมชาติของจิ่วไจ้โกว ชาวทิเบตได้เล่าตำนานนี้กันมาว่า แต่เดิมนั้นในทะเลสาบนี้มีมังกรดำผู้โหดร้ายชอบขึ้นมาอาละวาดเข่นฆ่าผู้คน วันหนึ่งได้มีนายพรานเฒ่านามจีซัง (Ji Sang) ผู้หาญกล้าอาสามาปราบมังกรดำตัวนี้ ทั้งสองได้ต่อสู้กันนานเจ็ดวันเจ็ดคืน แม้จีซังจะพลาดพลั้งเสียทีให้มังกรดำกัดแขนซ้ายจนขาด แต่เขาก็สามารถสยบเจ้ามังกรให้สิ้นพิษสง ต้องหลบไปกบดานใต้ผืนท้องทะเลสาบแห่งนี้ จากนั้นมา จีซังจึงได้ปวารณาตัวขออยู่ยืนเฝ้าเพื่อมิให้เจ้ามังกรร้ายผงาดขึ้นมาอาละวาดได้อีก ครั้นพอนานวันเข้า จึงกลายเป็นต้นสนแขนเดียว ในท่วงท่ากำลังเงื้อดาบหมายฟันเจ้ามังกร หากมันจะฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง

ย้อนกลับลงมาตามเส้นทางเดิมเล็กน้อย มีแอ่งน้ำที่ชื่อสระน้ำห้าสี (หวู่ไฉ่ฉือ Wu Cai Chi) คอยต้อนรับมาเยือนทุกคน การชมสระแห่งนี้ ทางอุทยานฯ ตั้งใจให้ผู้มาชมเดินลงบันไดราว ๘๐ เมตร เพื่อจะได้ค่อย ๆ ยลโฉมอันน่าตื่นตาตื่นใจของความงามอันเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของอุทยาน ที่นี่เรียกว่า “สระน้ำ” มิได้เรียกว่า “ทะเลสาบ” เช่นที่อื่น ๆ เพราะมีขนาดพื้นที่เล็กมาก แต่จุดดึงดูดอันน่าอัศจรรย์ใจก็คือ เมื่อแสงตะวันได้สาดกระทบถึงใต้ผืนท้องน้ำ จะแลเห็นดุจดั่งเป็นอัญมณีอันหลากสีสันที่ฉูดฉาดบาดตาเป็นที่สุด มีเพื่อนร่วมทางผมคนหนึ่ง เธอนับได้ถึงหกสี ! นั่นคือ เหลือง-บุษราคัม, น้ำเงิน-ไพลิน, เขียว-มรกต, ดำ-นิล, ฟ้า-เทอร์ควอยซ์ และ แดง-ทับทิม ว่าแล้วเธอก็บอกว่า น่าจะมาเปิดร้านขายจิวเวลลีที่นี่นะ สงสัยจะรวยไม่เลิก เพราะทั้งผู้คนและสีสันของอัญมณีมีแยะจริง ๆ … ว้าว ! จินตนาการไปไกลถึงเพียงนี้เชียวหรือครับคุณพี่ !

หลังอาหารกลางวันในช่วงบ่ายโมง ที่ต้องรับประทานกันแบบโรงอาหารกลางอุทยาน มื้อนี้ดูท่าจะเป็นมื้อที่กินเร็วที่สุด เพราะในช่วงบ่ายยังมีสิ่งเร้าใจ รอให้เข้าไปสัมผัสอยู่อีกอย่างมากมายเหลือเกิน แล้วเราก็ไปเยือนทะเลสาบหมีแพนด้า (สูงเมาไห่ Xiong Mao Hai) ซึ่งว่ากันว่า เคยมีชาวทิเบตพบเห็นหมีแพนด้าลงมาดื่มน้ำในทะเลสาบแห่งนี้ เพราะที่บริเวณใกล้กันนั้น มี ทะเลสาบไผ่ลูกศร (เจี้ยนจู๋ไห่ Jian Ju Hai) อันเป็นอาหารที่โปรดปรานของหมีแพนด้าขึ้นอยู่อย่างมากมาย เสียดายคราวนี้เราไม่ได้ไปชมกัน เพราะที่นั่นติดกองถ่ายทำภาพยนตร์ของอภิมหาผู้กำกับจีน ผู้มีนาม จางอี้โหมว ซึ่งกำลังถ่ายทำเรื่อง หวงตี้ หรือ กษัตริย์เหลือง-ปฐมกษัตริย์แห่งประวัติศาสตร์ชาติจีน

หมีแพนด้านับเป็นสัตว์สัญลักษณ์ของประเทศจีน อันจะพบได้แต่เฉพาะในเขตป่าเขาทางภาคตะวันตกของมณฑลเสฉวน ในระดับความสูงประมาณ ๑,๒๐๐-๒,๕๐๐ เมตร บริเวณที่มันชอบอาศัยจะต้องเป็นป่าไผ่ที่หนาทึบ มีอากาศหนาวเย็นและค่อนข้างชื้น หมีแพนด้ามีอุปนิสัยที่ชาวจีนมักจะเรียกกันอย่างน่าเอ็นดูว่า “สามจอม” คือ หนึ่ง-จอมกิน หมีแพนด้าแต่ละตัวจะกินไผ่ลูกศรอันโปรดปรานนี้ถึงวันละ ๑๔ ชั่วโมง ในปริมาณ ๒๐-๓๘ กิโลกรัมต่อวัน สอง-จอมนอน หลังจากการกิน มันมักจะนอนในอิริยาบถอันน่ารักและเป็นธรรมชาติ บนกิ่งคาคบไม้ที่สูง ๆ ปราศจากภัยคุกคามจากสัตว์ผู้ล่าตัวอื่น หมีแพนด้ามักจะนอนคราวละ ๒-๔ ชั่วโมง วันละหลาย ๆ ครั้ง และสามคือจอมถ่าย การที่มันชอบกินใบไผ่อยู่ตลอดทั้งวัน จึงต้องระบายออกมาอยู่เสมอ ๆ นั่นเอง

หมีแพนด้าเป็นสัตว์ที่มีวงจรชีวิตอันลี้ลับ และตกลูกยาก เพราะในปี ๆ หนึ่งมันจะมีความต้องการผสมพันธุ์เพียง ๒-๓ วัน ในช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคมเท่านั้น ฉะนั้น ชะตากรรมของมันในธรรมชาติจึงล่อแหลมต่อการสูญพันธุ์เป็นอย่างยิ่ง ปัจจุบันเราจึงจะพบเห็นหมีแพนด้าได้เฉพาะในศูนย์อนุรักษ์ฯและสวนสัตว์ในประเทศจีน หรือประเทศที่ทางรัฐบาลจีนได้มอบให้เป็นของขวัญเท่านั้น ซึ่งในเร็ว ๆ นี้ ทางการจีนจะให้ประเทศไทย “ยืม” หมีแพนด้ามาเลี้ยงในสวนสัตว์เป็นการชั่วคราว และรัฐบาลได้เลือกเอาสวนสัตว์จังหวัดเชียงใหม่ที่มีสภาพภูมิอากาศค่อนข้างเย็นและเป็นธรรมชาติ ให้เป็นที่พำนักแก่สัตว์อันทรงคุณค่าและแสนน่ารักนี้

จากทะเลสาบหมีแพนด้า สายธารได้ลดระดับลงสู่เบื้องล่าง ด้วยระดับความสูงราว ๘๐ เมตร ปรากฏเป็นน้ำตกหมีแพนด้าที่สวยงามและยิ่งใหญ่อีกเส้นสายหนึ่ง เมื่อเดินต่อไปตามเส้นทางชมธรรมชาติจะสามารถทะลุออกไปยังทะเลสาบดอกไม้ห้าสี (หวู่ฮัวไห่ Wu Hua Hai) ได้ แต่เรามีเวลาไม่พอ จึงขึ้นรถต่อเพื่อไปชมภาพมุมกว้างของทะเลสาบนกยูง (ข่งเฉวี่ยไห่ Kong Que Hai) จากบนไหล่เขา เมื่อเรามองลงไป จะเห็นผืนน้ำสีฟ้าครามทอดตัวแลดูคล้ายนกยูง ที่มีทั้งส่วนหัว ลำคอ และลำตัว ส่วนปีกที่รำแพนนั้น สามารถจินตภาพเอาจากสีสันแห่งอาภรณ์ของผืนป่ามาทดแทนได้อย่างลงตัว

เราจอดแวะชมทะเลสาบกระจก (จิ้งไห่ Jing Hai) ตัวแทนแห่งกระจกงามของเทพธิดาเซอโม ในยามนี้ แม้มีลมพัดเฉื่อยฉิว ทำให้แผ่นน้ำไม่สงบนิ่งนัก แต่ก็ยังสามารถสะท้อนเงาของขุนเขาและแมกไม้ ทำให้หลายคนบังเกิดความสับสนขึ้นว่า… “ไหนเงาไหนจริง วานใครช่วยบอกที” ห่างจากนั้นไม่ไกล เราก็มาถึงอีกหนึ่งสุดยอดแห่งความงาม นั่นคือชายหาดน้ำตกธารไข่มุก (เจวินจูทานผู้ปู้ Zhen Zhu Tan Pu Bu) ผมเดินตามทางเดินที่ทอดข้ามชายหาดของน้ำตกที่ไหลผ่านหลากพันธุ์ไม้แคระ ซึ่งขึ้นอยู่กลางลำธารน้ำเชี่ยวราวกับถูกจัดวางไว้ ก่อนจะไหลลงไปตามภูมิประเทศที่ต่างระดับ กลายเป็นม่านน้ำตกมีความยาวต่อเนื่องกันถึงกว่า ๒๐๐ เมตร กล่าวกันว่า ชาวทิเบตได้มาพบน้ำตกแห่งนี้ในยามฤดูหนาว ที่สายน้ำตกได้กลายเป็นเส้นสายน้ำแข็งอันเงางาม ยามเมื่อต้องแสงอาทิตย์จะปรากฏเป็นประกายระยิบระยับ แลดุจดั่งสายสร้อยไข่มุกขาวพราวราวหมื่นสายของเทพธิดาเซอโม จึงขนานนามให้ว่า น้ำตกธารไข่มุกนั่นเอง

หลากอิริยาบถแห่งสายน้ำที่ถาโถมลงสู่เบื้องล่าง แลสลับสล้างด้วยขุนเขาหิมะ ต้นสน ใบไม้อันหลากสีสันแล้ว …สวรรค์ในจินตนาการเป็นอย่างไร ? ที่นี่คืออย่างนั้นจริง ๆ! ….นี่คือห้วงแห่งความรู้สึกจากส่วนลึกในใจของผมในเย็นวันนั้น ระหว่างที่ได้เดินอย่างอ้อยอิ่งไปตามทางเดินไม้เลียบน้ำตกและลำธารไข่มุกซึ่งยาวราว ๕๐๐ เมตร จนแสงสาดสุดท้ายแห่งตะวันจะเอื้อให้เราได้ชื่นชม และถ่ายภาพไว้เตือนความทรงจำไปอีกตราบนานเท่านาน…

หวงหลง : แอ่งธาราแห่งสวรรค์

เช้าวันรุ่งขึ้น พวกเราเดินทางย้อนกลับไปตามเส้นทางเดิมราว ๘๘ กิโลเมตร ณ บริเวณจุดทางแยกเข้าอุทยานหวงหลง (Huang Long) เราได้พบเห็น อนุสาวรีย์การเดินทัพทางไกล หรือ ฉางเจิง (Chang Zheng) สร้างขึ้นเป็นอนุสาวรีย์ยืนตระหง่านสูง ๔๑ เมตร เพื่อรำลึกถึงการเดินทัพทางไกลของกองทัพแดงที่ ๒ และ ๖ กว่า ๒ หมื่นชีวิต ในปี ค.ศ. ๑๙๓๖ นำโดยแม่ทัพเฮ่อหลง ที่ได้หนีการตีรุกไล่ของทหารก๊กมินตั๋ง (เจียงไคเช็ค) จากทางตอนใต้ข้ามโค้งแรกแห่งแม่น้ำแยงซีที่เมืองลี่เจียง แล้วปีนฝ่าขุนเขาหิมะเจี่ยจินซาน จนมาถึงที่นี่ ก่อนจะไปข้ามทุ่งพรุซงพานบนสองฝั่งของมาบแม่น้ำเหลือง อันกว้างใหญ่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองซงพาน เพื่อไปสู่จุดหมายที่มณฑลกานซูต่อไป

เติ้ง เสี่ยว ผิง ซึ่งได้ร่วมอยู่ในขบวนทรุยาตราในครั้งนั้นด้วย เคยเล่าให้ เหมา เหมา บุตรสาวฟัง ถึงความยากลำบากเมื่อเดินทัพมาถึงบริเวณแห่งนี้ไว้ว่า “…ตอนข้ามทุ่งพรุซงพานนี้หฤโหดสุด ๆ มองไปไกลสุดลูกหูลูกตา ไม่มีพรมแดน เบื้องล่างก็คือบึงดูดลึกไม่มีกำหนด ไม่มีบ้านเรือน ไม่มีผู้คน ไม่มีอาหาร อากาศแปรปรวนตลอดเวลา ประเดี๋ยวฝนตก ประเดี๋ยวแดดออก เหล่าทหารต้องแทะเนื้อม้าที่ล้มตายแทนต่างอาหาร บ้างก็เก็บกินรากไม้เปลือกไม้ บ้างถึงกับต้องกินเข็มขัดหนังเพื่อประทังชีวิต เวลาพักแรมต้องขุดหลุมนอน หาอะไรมาบังหลังคาสักหน่อย พอคุ้มหัวคุ้มฝน ใช้เวลาเดินผ่านทุ่งพรุหฤโหดนี้อยู่ถึง ๗ วัน ๗ คืน !…” และนี่ก็คืออีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์ที่น่าเรียนรู้บนเส้นทางสายนี้…

จากอนุสาวรีย์ฯ ไปทางตะวันออกข้ามขุนเขาในวงล้อมอันสูงชันอีกราว ๔๒ กิโลเมตร ก็จะถึงอุทยานหวงหลง มรดกโลกอันเป็นอัญมณีแห่งธรรมชาติคู่กับจิ่วไจ้โกว คำว่า “หวงหลง” นั้นหมายถึง “มังกรเหลือง” มาจากชื่อของ “วัดหวงหลง” ที่ตั้งอยู่ในบริเวณเทือกเขาของอุทยาน หรือในอีกความหมายหนึ่งนั่นคือ เมื่อเรามองจากสูงลงมายังลำธารลำธารสายนี้แล้ว จะแลประดุจเป็นรูปตัวมังกรสีเหลือง (จากสีของผลึกแคลเซียมที่ใต้พื้นแอ่ง) ที่กำลังคะนองฤทธิ์เลื้อยลดคดส่วนหัวและหางผ่านเข้าไปในขุนเขาและป่าทึบ ส่วนลำตัวนั้นมลังเมลืองเป็นแอ่งน้ำน้อยใหญ่นับพันแห่ง ทอดเงาฉายสะท้อนเป็นประกายขึ้นอย่างน่าตื่นตาตื่นใจเป็นยิ่งนัก

หวงหลงมีธรรมชาติอันเป็นสุดยอดอยู่สี่ประการนั่นคือ แอ่งธารา ขุนเขาหิมะ หุบโตรกธาร และป่าอันเขียวครึ้ม มีเนื้อที่โดยรอบประมาณ ๗๐๐ ตารางกิโลเมตร มีความสูงที่ ๓,๑๐๐-๓,๕๐๐ เมตร จากระดับน้ำทะเล ธรรมชาติของหวงหลงเป็นลำธารน้ำใสไหลผ่านแอ่งธาราแต่ละชั้น นับได้จำนวนถึงกว่า ๓,๔๐๐ แอ่ง ลดหลั่นลงมาตามความสูงต่ำของลำธาร ในรูปลักษณ์ที่แตกต่างกัน ยิ่งเมื่อยามต้องแสงแดดจะส่องสะท้อนใต้ท้องธารที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุต่าง ๆ ออกมาเป็นหลากสีสันได้อย่างเหลือเชื่อ เช่น สีเขียวอ่อน สีน้ำเงินใส สีแดงระเรื่อ หรือสีเหลืองนวล จึงทำให้อุทยานแห่งนี้ได้รับในอีกสมญานามว่า “แอ่งธาราแห่งสวรรค์” หรือ หรินเจียนเหยาฉือ (Ren Jian Yao Chi)

การมาเที่ยวชมอุทยานหวงหลงจะต่างกับที่จิ่วไจ้โกว เพราะนักท่องเที่ยวจะถูกให้บังคับเดินตามทางเดินไม้ที่กว้างราว ๒ เมตรนับตั้งแต่ปากประตูทางเข้าในส่วนหางของมังกร ไปจนจรดสิ้นสุดที่สระดอกไม้หมุนวน ณ หัวของมังกรที่ห่างกันยาว ๓.๖ กิโลเมตร ตามความยาวของลำธารที่ไหลรินลงมาจากภูเขา การเข้าชมอุทยานหวงหลงมีกฎเกณฑ์อันเคร่งครัดโดยห้ามสูบบุหรี่ ห้ามนำอาหารเข้ามารับประทาน หรือแม้กระทั่งส่งเสียงดังรบกวนธรรมชาติและผู้เข้าชม

เมื่อเดินเข้ามาได้ราวไม่กี่ร้อยเมตร ทุกคนก็ต้องหยุดตะลึงและถ่ายภาพกับความงามของ สระต้อนรับแขก (หยิงปิงไฉ่ฉือ Yin Bing Cai Chi) ที่เป็นแอ่งน้ำใหญ่น้อยเรียงตามชั้นเชิง น้ำในแอ่งบ้างก็มีสีเขียว บ้างก็มีสีฟ้า ใสดุจแอ่งธาราแห่งสวรรค์ปานสมญาที่ถูกขนานนามไว้เลยทีเดียว

ระหว่างเดินไปตามทาง สองข้างกายเราจะแวดล้อมไปด้วยป่าสนสลับกับไม้ผลัดใบเป็นสีเหลือง กับยอดของขุนเขาหิมะมรกต (ยวี่เชว่ยเฟิง Yu Cui Feng) ที่มียอดอันสูงชันถึง ๕,๑๐๖ เมตรติดตามเราไปในทุกที่ เพื่อช่วยร่วมขับธรรมชาติของธารน้ำให้ยิ่งดูสวยสดขึ้น ตลอดทางจะมีเจ้าหน้าที่ของอุทยานมาใช้คีมคอยหนีบเก็บขยะ จนแทบไม่มีเหลือให้เห็น พร้อมคอยตรวจตราและตักเตือนผู้มาเยือน ห้ามนำเท้าลงไปสัมผัสพื้นผิวของลำธารน้ำตกหรือขอบแอ่งน้ำเป็นอันขาด !

ขึ้นบันไดมาอีกได้ระยะหนึ่ง หลายคนรู้สึกตัวว่าเหนื่อยเร็วและหัวใจเต้นแรง เพราะพื้นที่บริเวณนี้มีความสูงร่วม ๓,๒๐๐ เมตร อากาศจึงเบาบางกว่าที่เราคุ้นเคยมากนัก แล้วความเหนื่อยก็พลันมลายหายไปราวปลิดทิ้ง เมื่อภาพ ณ เบื้องหน้าของเราเป็น ธารน้ำตกดอกบัว (เหลี่ยนไถเฟยผู้ Lian Tai Fei Pu) ที่ธารน้ำได้หลั่งรินผ่านพื้นผิวของแคลเซี่ยมที่จับตัวแลดูคล้ายเป็นรูปดอกบัว ลงมายังแอ่งเบื้องล่างเป็นสีเขียวอ่อนใส ราวอ่างอาบน้ำของนางฟ้าบนสรวงสวรรค์

ขึ้นไปอีกไม่กี่สิบก้าวก็จะถึง น้ำตกถ้ำล้างตัว (สี่เซินต้ง Xi Shen Dong) อันเป็นโพรงถ้ำขนาดเล็ก มีความสูงราว ๑ เมตรและกว้าง ๑.๕ เมตรอยู่กลางน้ำตก ชาวทิเบตร่ำลือกันมาว่า เป็นถ้ำล้างตัวของเทวดา และเชื่อกันว่า ถ้าสตรีนางใดผู้ยังไม่มีบุตร ได้เข้าไปอาบน้ำในถ้ำแห่งนี้ ก็จะได้อภิชาตบุตรมาเชยชมให้สมดังความปรารถนาได้ ?!

หลายคนตัดใจนั่งพักอยู่ที่น้ำตกแห่งนี้เพื่อดื่มด่ำกับความงามอันมีอยู่อย่างเหลือเฟือ ส่วนผมนั้นยังคงเดินหน้าต่อ บนระหว่างทางเห็น ธารน้ำตกทรายทอง (จินซาผู่ตี้ Jin Sha Pu Di) ไหลเลาะเคียงคู่เราไปตลอดทางเดินขึ้นเขายาวกว่าครึ่งกิโลเมตร แล้วผมก็มาหยุดลง ณ จุดที่เรียกว่า สระน้ำสะท้อนเงา (หมิงจิ้งเต่ายิ่งฉือ Ming Jing Dao Ying Chi) ซึ่งมีอยู่หลายสระในบริเวณเดียวกัน สะท้อนเงาของขุนเขาแต่ละด้านได้ลงอย่างลงตัวเหมาะเจาะ จนยากจะแยกแยะภาพจริงภาพลวงได้อย่างมิน่าเชื่อสายตา… จนผมต้องยอมสยบยกความงามอันเป็นที่สุดของหวงหลงให้ไว้ ณ ที่นี่

หากใครยังมานะที่จะเดินขึ้นเขาตามเส้นทางนี้ต่อไปอีกราวหนึ่งกิโลเมตร ก็จะไปถึง สระน้ำห้าสีและสระดอกไม้หมุนวน ซึ่งอยู่บนปลายสุดของเส้นทางเดิน ซึ่งคนส่วนใหญ่แล้ว มักจะไปไม่ถึง ด้วยมิเพียงแต่เพราะความเหนื่อยล้าจากมวลอากาศอันเบาบาง และระยะทางเดินขึ้นเขามาไกลกว่า ๒ กิโลเมตรครึ่งแล้วเท่านั้น หากแต่ยังถูกอานุภาพแห่งความงามของแอ่งชั้นน้ำตกต่าง ๆ ที่ผ่านมาเข้าครองใจไว้เสียก่อนเช่นเดียวกับผมนั่นเอง…

—————————————————————————

ห้าปีที่แล้ว…ผมเหมือนยังไม่ปักใจยอมรับความเป็นที่สุดแห่งธารน้ำของจิ่วไจ้โกว แต่สำหรับวันนี้…วันที่ผมได้มาประจักษ์ด้วยสายตาอีกครั้งแล้วว่า ทั้งสองอุทยานนี้ได้พร้อมสรรพไปด้วยความงามอันชวนหลงใหล

ผมคงมิอาจจะหาเหตุผลหรือข้ออ้างอื่นใด มาปฏิเสธการยอมรับสีสัน และอิริยาบถแห่งสายน้ำของสองมรดกโลกคู่นี้ ว่าเป็นที่สุดในโลกาเท่าที่ได้เคยพบพาน ยิ่งกว่านั้น… เมื่อได้เห็นการจัดการดูแลธรรมชาติของทางอุทยานในเรื่องความสะอาด และการควบคุมมลพิษสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวด และควรเอาอย่างแล้ว ก็ทำให้เชื่อได้ว่า ความงามที่ดุจดั่งสรวงสวรรค์บนผืนพิภพแห่งนี้ จะยังอยู่รอคุณให้ได้ไปเยี่ยมยล เพื่อร่วมพิสูจน์คำกล่าวแห่งความเป็นที่สุดของธารน้ำจิ่วไจ้โกว-หวงหลง เช่นเดียวกับผมต่อไป….

ข้อมูลประกอบการเดินทาง

การเดินทางมายังอุทยานมรดกโลกทางธรรมชาติและจิ่วไจ้โกวและหวงหลง ซึ่งอยู่ห่างจากนครเฉิงตูมาทางตอนเหนือประมาณ ๔๓๐ กิโลเมตร จะใช้เวลาในการท่องเที่ยวประมาณ ๖-๘ วัน อากาศที่อุทยานทั้งสองแห่งจะหนาวเย็นตลอดทั้งปี ฤดูกาลที่เหมาะสมที่สุด คือช่วงฤดูใบไม้เปลี่ยนสีในระหว่างกลางเดือนตุลาคม-กลางเดือนพฤศจิกายน และรองลงมาคือฤดูใบไม้ผลิคือช่วงปลายเดือนเมษายนจนถึงเดือนมิถุนายน

อุณหภูมิเฉลี่ยในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวดังกล่าว ที่จิ่วไจ้โกวประมาณ ๘-๑๒ องศาเซลเซียส ส่วนที่หวงหลงเนื่องจากอยู่ที่สูงกว่า อากาศจึงหนาวเย็นประมาณ ๔-๘ องศาเซสเซียส

สอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติมได้จากบริษัทนำเที่ยวทั่วไป

เอกสารอ้างอิง

  • จิระนันท์ พิตรปรีชา, “จิ่วไช่โกว อุทยานธารสวรรค์”, นิตยสารนักเดินทาง ปีที่ ๑๒ ฉบับที่ ๑๔ พฤษภาคม ๒๕๔๐ หน้า ๗๘-๙๕.
  • เหมาเหมา เขียน, สุขสันต์ วิเวกเมธากร แปล, ป๋าเติ้งของฉัน, สำนักพิมพ์ผู้จัดการ ๒๕๓๗.
  • Zhang Wen Yu, Tour In Jiu Zhai Gou, Huang Long and The Grassland, Si Chuan People’s Publishing House, ๑๙๙๓.