สุวัฒน์ อัศวไชยชาญ : สัมภาษณ์ / บันสิทธิ์ บุณยะรัตเวช : ถ่ายภาพ

เปิดหน้าจอดูสื่อสังคมออนไลน์นาทีนี้

เต็มไปด้วยโพสต์เรื่องราวที่แชร์ต่อ ๆ กันมามากมาย แม้หลายต่อหลายเรื่องจะให้ข้อมูลน่าประหลาด แต่ใครอ่านแล้วกลับเชื่อว่าจริง กดแชร์ต่อแบบไม่รอช้า

สมัยก่อนเคยมี “จดหมายลูกโซ่” ทำนองว่าถ้าใครได้รับจดหมายแล้วไม่คัดข้อความส่งต่อภายในวันนั้นวันนี้ ชีวิตต้องมีอันเป็นไปต่าง ๆ นานา แต่เดี๋ยวนี้คงไม่มีใครรู้จักจดหมายลูกโซ่ เพราะผู้คนกระตือรือร้นส่งข่าวสารต่อให้โดยพร้อมใจ

ภาพติดวิญญาณในที่เกิดเหตุ… รอยพญานาคโผล่กลางมหาวิทยาลัย… สัตว์ประหลาดหัวเหมือนหมามีสองขา…

ไปจนถึงโฆษณาสินค้า “อาหารเสริม” หรือ “วัตถุพลังพิเศษ” ที่มักโชว์การทดลองด้วยอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ ให้เห็นสรรพคุณขั้นเทพที่ใครเห็นแล้วต้องอึ้ง สำทับด้วยคำอธิบายที่เต็มไปด้วยศัพท์แสงวิทยาศาสตร์ขั้นสูงจนไม่มีใครกล้าคิดสงสัย

แต่โพสต์ที่สวนหมัดกับประดาเรื่องลวงโลกเหล่านี้ คือข้อความของนักวิทยาศาสตร์หนุ่ม ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ ที่หมั่นออกมาอธิบายข้อเท็จจริง ให้คำอธิบายต่อปรากฏการณ์อันเหลือเชื่อต่าง ๆ บางครั้งก็ลงมือทดลองพิสูจน์ให้เห็นกลลวงด้วยตัวเอง แม้จะน่าหวาดเสียวอย่างการจุ่มมือในน้ำกรดแล้วไม่เป็นอะไร จนวันนี้หน้าแฟนเพจเฟซบุ๊กของเขามีผู้ติดตามกว่าแสน

ต้นเดือนสิงหาคม กระแสข่าวรายวันกับกรณีอันน่าพิศวง “ฟ้าผ่าหญิงสาวซ้อนมอเตอร์ไซค์กับยกทรงมรณะ” ทำให้รายการวิทยุและโทรทัศน์ไม่ต่ำกว่าสามสี่รายการรีบโทรศัพท์มาสัมภาษณ์ขอความเห็นจาก ดร. เจษฎา ระหว่างที่สารคดี กำลังคุยกับเขาอย่างออกรส ช่วยยืนยันความฮอตของอาจารย์หนุ่มผู้นี้ได้เป็นอย่างดี

แม้ว่าวิชาหลักที่เขาเชี่ยวชาญและสอนอยู่ที่ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือเรื่องวิวัฒนาการ แต่การคอยตอบคำถามให้ปัญหาสารพันที่ครอบคลุมสารพัดวิชา ดร. เจษฎาบอกว่า เขาพยายามทำหน้าที่นักสื่อสารทางวิทยาศาสตร์ที่สังคมไทยยังขาดแคลน

ห้าปีก่อน ก่อนการมาถึงของกระแสสื่อสังคมออนไลน์ ดร. เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ คือนักวิชาการที่ออกมาเสี่ยงภัย สวนกระแส เผยความไม่ชอบมาพากลของเครื่องมือทางการทหารที่รู้จักกันในนาม GT200 ราคาเครื่องละ ๑ ล้านบาทที่กองทัพจัดซื้อมาแล้วนับพันเครื่อง รวมเป็นเงินนับพันล้านบาท ซึ่งในที่สุดนำมาสู่การจัดให้มีการทดสอบประสิทธิภาพของเครื่องที่ได้รับการควบคุมตามหลักการทดลองทางวิทยาศาสตร์ จนระบุได้ว่า มันเป็นแค่ก้านเสาอากาศที่หมุนไปมาอย่างอิสระ ไม่มีประสิทธิภาพใด ๆ ในการชี้เป้าว่าวัตถุระเบิดซ่อนอยู่ตรงไหน

ดร. เจษฎาบอกว่าหลังเหตุการณ์ GT200 ชีวิตเขาเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง

สารคดี ถือโอกาสมาคุยกับเขา เริ่มต้นจากประเด็นหลักของ “วิทยาศาสตร์ลวงโลก” ที่มีศัพท์ว่า pseudo-science (ซูโดซายน์) แต่บทสนทนาก็เลื่อนไหลสู่อีกหลากหลายประเด็นที่เกี่ยวข้อง ทั้ง “วิทยาศาสตร์” “ศาสนา” “การศึกษา” ไปจนถึง “การเมือง”

ดูเหมือนทุกเรื่องจะพัวพันกันไปหมด

ย้อนไปกรณี GT200 เราเรียนรู้อะไรจากเรื่องนี้บ้าง
เรื่อง GT200 นี่เป็นซูโดซายน์ชัดเจน เอาวิทยาศาสตร์มาหลอกให้คนเชื่อ จะได้ขายของ

สิ่งที่เราเรียนรู้คือ เราเรียนรู้ในเชิงของข้อมูลได้ เหมือนเราอ่านเอกสารวิชาการ แล้วดูว่ามันมีความน่าเชื่อถือแค่ไหน เอกสารที่คุณจุฬา (นิสิตปริญญาเอก คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ) รวบรวมมา เอกสารของเอฟบีไอ ข่าวต่างประเทศ รวมถึงเอกสารของบริษัทเจ้าของเครื่องเองที่บอกว่าเครื่องทำงานอย่างไร พอดูทั้งหมด เราก็รู้ว่ามันใช้งานไม่ได้ แต่ตอนนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำให้สังคมรับรู้เรื่องพวกนี้ ไม่มีช่องทางไหนให้เราสื่อสาร ขณะที่เรื่องนี้ค่อนข้างเปราะบาง เพราะเหมือนจะเป็นการขัดแย้งระหว่างสองสถาบันสำคัญของประเทศ คือสถาบันการศึกษากับสถาบันความมั่นคง นักวิชาการทะเลาะกับทหาร ซึ่งทั้งสองสถาบันนี้ล้มไม่ได้ทั้งคู่ ถ้าครั้งนั้นผมไม่มีกำลังของสื่อ ก็จะทำอะไรไม่ได้มาก จุดเปลี่ยนค่อนข้างชัดคือพอสื่อเข้ามาเป็นตัวช่วยให้สังคมรับรู้ แรงกดดันทั้งหมดก็เกิดจากภาคประชาชน ภาคสังคม ภาคสื่อที่มีต่อรัฐบาลหรือกองทัพ ให้ดำเนินการตรวจสอบ ทำการทดลองพิสูจน์ร่วมกัน แล้วมันก็เห็นผล

ผมเชื่อว่ามันทำให้สังคมได้เรียนรู้ว่า กระบวนการวิทยาศาสตร์ธรรมดา ๆ ก็นำมาใช้ทดสอบเรื่องต่าง ๆ ได้ เพราะคุณสงสัย คุณไม่ควรใช้แค่ความเชื่อตาม ๆ กัน วิธีการที่บอกว่าฉันน่าเชื่อถือกว่าคนนั้น เธอต้องเชื่อตามฉันสิ เราใช้อย่างนี้มาตลอดหลายสิบปีในประเทศไทยแล้วมันไม่ได้ผล มันมีสิทธิ์ได้คำตอบที่ผิด แต่กระบวนการวิทยาศาสตร์จะค่อนข้างยุติธรรม เช่น การจัดการทดลอง ใช้หลักสถิติเข้ามาจับ ควบคุมปัจจัยต้นปัจจัยตามต่าง ๆ บางคนบอกเหมือนโครงงานเด็กมัธยมศึกษา แต่มันได้คำตอบแล้วจบ ถ้าทำแต่แรก รัฐก็อาจไม่ต้องสูญเสียเรื่องงบประมาณ กำลังคน ความเชื่อมั่น ผมว่านี่เป็นสิ่งที่เรียนรู้ในมุมนักวิทยาศาสตร์

แต่ในมุมของสังคม เรายังขาดการเชื่อมต่อ ใครต้องรับผิดชอบเรื่องนี้ การจัดซื้อจัดจ้างเป็นอย่างไร มันเงียบไปในสายลม ถ้าเป็นต่างประเทศ วันนี้การตัดสินคดีอาจเสร็จเรียบร้อยไปแล้ว คนที่ต้องรับผิดชอบเข้าคุกไปแล้ว แต่นี่เราก็ได้เรียนรู้ว่านี่เป็นวิธีการแก้ปัญหาแบบไทย ๆ แบบหนึ่งเหมือนกัน (หัวเราะขำ ๆ)

ตอนน้ำท่วมใหญ่ปี ๒๕๕๔ อาจารย์เคยพิสูจน์เรื่อง EM Ball ด้วย
EM คือ effective microorganisms จุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ เป็นของที่ใช้มานานแล้ว แต่ใช้ในเชิงของการทำปุ๋ยในงานกสิกรรม หรือกำจัดกลิ่นในห้องน้ำ จนพอเกิดเรื่องน้ำท่วมก็นำมาใช้แก้ปัญหาน้ำเน่า กระแสความเชื่อตอนนั้นแรงมาก แม้แต่เรื่องปั้นแล้วเอาไปโยนกลางทะเล ทุกคนเล่นหมด เอกชนก็เข้ามา รัฐบาลก็เข้ามา หลายองค์กรบอกว่าฉันมีเชื้อ EM มาช่วยกันปั้นลูกบอลกันใหญ่ เราเห็นว่ามันแก้ปัญหาไม่ตรงจุด เวลาน้ำเน่าก็เพราะว่าน้ำถูกขังไว้ ถ้าจะแก้ก็ต้องทำให้น้ำไหลผ่านไปสิ กำจัดขยะสิ

คนไทยชอบมียาวิเศษ จะแก้ปัญหาก็ชอบให้มีคนขี่ม้าขาวมาแก้ปัญหา เวลาเป็นอะไรก็กินยานี้หายเลยนะ แต่เอ๊ะ ทำไมคุณไม่ดูแลสุขภาพให้ดีตั้งแต่แรก นี่เหมือนกัน ถ้าเอาก้อน EM นี้ไปปาปุ๊บมันต้องหาย แล้วสังเกตว่าไม่มีใครไปตามดูว่าปาแล้วเป็นอย่างไร เหมือนทุกคนมีความสุขกับการไปช่วยกันปั้น แล้วก็ให้เขาขนไปทิ้งให้ แต่มันเป็นอย่างไรต่อล่ะ

ตอนนั้นสิ่งที่เราทำได้ ก็เชิญอาจารย์หลาย ๆ คนในคณะวิทยาศาสตร์มาช่วยกันวิเคราะห์ จากที่เขาบอกว่าเวลาจุลินทรีย์ลงไปในน้ำแล้วจะไปสร้างออกซิเจน เรารู้ว่าตามหลักวิทยาศาสตร์คือผิด มันมีแต่ใช้ออกซิเจน ก็รู้สึกว่านี่กลับมาเรื่องซูโดซายน์อีกแล้ว เป็นอีกเรื่องที่วิทยาศาสตร์ถูกใช้ผิด ๆ ตอนนั้นคิดว่าถ้าเราพูดแย้งไปคนก็อาจไม่เชื่อเรา ในฐานะนักวิทยาศาสตร์ก็ต้องทดลองเลย แล้วผลออกมาชัดเจน ตรงตามทฤษฎีทุกอย่างว่ามันใช้ไม่ได้ มีแต่น้ำจะเน่าขึ้น พอจุฬาฯ แถลงผลการทดลองแล้วสิ่งที่น่าสนใจคือสื่อตอบรับดีมาก เหมือนกับสื่อก็สงสัยมานานแล้ว แต่ไม่มีใครช่วยอธิบาย พอข่าวกระจายแล้วกระแสความนิยม EM ก็ตกปุ๊บ เพราะเรามีหลักฐาน และใครจะทดสอบซ้ำก็ได้ เหมือนเรื่อง GT200 ถ้าคุณไม่มั่นใจวิธีการทดลองของเรา คุณก็ลองทำเองได้

นี่คือวิทยาศาสตร์ ไม่เหมือนกับการบอกว่าให้เชื่อตามฉันนะ ถ้าเชื่อตามฉัน มันเป็นซูโดซายน์อีกแบบหนึ่งเหมือนกัน คือทดลองซ้ำไม่ได้ ให้เชื่ออย่างเดียว เหมือนกับที่ผมทดสอบหาระเบิดอย่างนี้ ถ้าคุณไม่มั่นใจ คุณก็ทำซ้ำสิ แล้วที่ผมพอจะทราบมา ทางกองทัพก็พยายามทำซ้ำอยู่หลายรอบนะ คล้าย ๆ จะแก้มือ เพราะเขาก็มีสมมุติฐานในใจ เช่น คนใช้ไม่แม่นยำหรือวันนี้ไม่สบาย แต่ผลก็ฟ้องว่าทำอย่างไรค่าที่ได้ก็ไม่มีความน่าเชื่อถือสูงพอ

เพราะฉะนั้นสิ่งที่พวกเราทำก็เหมือนเป็นการให้ความรู้แก่สังคมว่า กระบวนการวิทยาศาสตร์ช่วยตอบเรื่องต่าง ๆ ได้

สรุปแล้วกระบวนการวิทยาศาสตร์คืออะไร
ความจริงก็เหมือนที่เราเคยเรียน ๆ กันมา กระบวนการวิทยาศาสตร์คือเรื่องของการสังเกต ตั้งสมมุติฐาน การทดลอง การวิเคราะห์ และสรุปผล แต่เรื่องใหญ่ของกระบวนการวิทยาศาสตร์ที่เราไม่ค่อยได้คุยกัน คือการตั้งประเด็นโต้แย้งตั้งแต่ตอนแรก ซึ่งเป็นนิยามของวิทยาศาสตร์เลย เราไม่ค่อยสอนกันว่านิยามของวิทยาศาสตร์คืออะไร มันมีหลักการที่เรียกว่า falsifiability ความสามารถในการพิสูจน์ว่าเป็นเท็จ เป็นศัพท์ที่ฟังดูค่อนข้างยากนิดหนึ่ง หมายถึงว่า ศาสตร์หรือความรู้อะไรก็ตามที่มีสิทธิ์พิสูจน์ว่าเป็นเท็จได้ ถือว่าเป็นวิทยาศาสตร์

โอ้โฮ ฟังแบบนี้แล้วอาจงง คำอธิบายที่ง่ายกว่า แต่บางคนอาจจะงงไปอีกก็ได้ คือผมจะบอกว่าถ้าใช้หลักการนี้ปุ๊บ ศาสนาจะไม่ใช่วิทยาศาสตร์อีกต่อไป เพราะศาสนาต้องอาศัยความเชื่อก่อนว่าเป็นจริง ไม่มีองค์ประกอบใดในศาสนาที่คุณจะยอมรับว่าผิดได้ แต่ถ้าคุณยอมให้ผิด แก้ไขได้ ก็ถือว่ามีแนวโน้มจะเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น หลายคนอาจบอกว่าศาสนาพุทธเป็นวิทยาศาสตร์ บอกว่ามีการทดลอง มีการทำซ้ำ แต่ถ้าเกิดทำแล้วไม่จริง คุณกล้าเปลี่ยนไหมล่ะ ศาสนาเปลี่ยนไม่ได้ เช่นเดียวกับเรื่องของความเชื่อ หรือเรื่องอื่น ๆ ถ้าอยู่บนพื้นฐานที่เปลี่ยนไม่ได้ ก็จะไม่ใช่วิทยาศาสตร์ เพราะวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องที่มี falsifiability มันตั้งสมมุติฐานไว้ก่อนว่ามีสิ่งที่คุณจะไปทดลอง ถ้าผลการทดลองถูก คุณก็เก็บไว้ แต่พอคุณรู้ว่าผิด คุณก็แก้ไขสมมุติฐาน พอมีกฎข้อนี้ขึ้นมาปุ๊บ เรื่องอื่น ๆ ก็ทำตามได้แล้ว

อย่างกรณี EM ถ้าบอกว่ายังไงก็ต้องเชื่อฉันว่ามันใช้ได้ แบบนี้ไม่ใช่วิทยาศาสตร์แล้ว วิทยาศาสตร์ต้องมีสิทธิ์จะผิด หรือกลับมาที่ GT200 ทำไมมันเป็นซูโดซายน์ เพราะเขาอธิบายว่าอย่างไรเครื่องก็ไม่ผิด เขาอ้างว่าเพราะคนใช้งานนอนหลับไม่เพียงพอ ไม่มีสมาธิ ไม่ได้ผิดที่ตัวเครื่อง แบบนี้ไม่ใช่ ต้องเริ่มต้นก่อนว่าเครื่องมีสิทธิ์จะผิด

กระบวนการวิทยาศาสตร์จึงต้องเริ่มจากการตั้งข้อโต้แย้งก่อน จริง ๆ แล้วเรื่องนี้ผมยอมรับว่ามาเรียนรู้ตอนหลังเหมือนกันนะ เราไม่ได้ถูกสอนมาอย่างนี้ ไปเรียนอยู่ต่างประเทศเขาก็ไม่ได้สอนตรง ๆ อย่างนี้ แต่มีบรรยากาศของการโต้เถียง ฝรั่งชอบเรื่องโต้เถียงมาก แล้วเถียงแบบไม่แค้นกัน เถียงเสร็จก็จบ คนไทยนี่ยังไม่เริ่มเถียงเลย แค่เกริ่นขึ้นมาก็เริ่มมองหน้ามองตากันแล้ว ยิ่งความรู้ทางวิทยาศาสตร์มีการแก้ไขกันมาตลอด สมมุติถ้านับถือ ไอแซก นิวตัน จนยกให้นิวตันเป็นเทพเจ้า วันนี้เราก็คงไม่มีทฤษฎีของไอน์สไตน์ ในวงการวิทยาศาสตร์ไม่มีการเคารพบูชาเกิดขึ้น คุณอาจจะนับถือ ให้ความยกย่อง แต่ไม่ได้เชื่อถือบูชาว่าไม่มีวันผิด

นี่คือภาพรวมของกระบวนการวิทยาศาสตร์ เป็นสิ่งที่ผมเอามาใช้ในปัจจุบัน คนอื่นอาจมองดูเหมือนกับว่าทำไมเราชอบแย้งชาวบ้านจังเลย อะไรก็แย้ง ชอบบอกว่ามันไม่จริง

อย่างเรื่องรอยพญานาคที่คณะอักษรศาสตร์ อาจารย์ก็ต้องสวนกระแสความเชื่อมาก ๆ
มันเป็นรอยฉีดน้ำชัดเจนมาก หน้าที่เราคือลงพื้นที่ เพราะอยู่ตรงบ้านเราเองแท้ ๆ พอเราเห็นก็รู้แล้ว จุดที่คนมามุงดูตามสไตล์คนไทย คือทุกคนจะยืนอยู่ห่าง ๆ ไม่กล้าเข้าไปใกล้ เพราะมันเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นของประหลาด ผมก็เอาน้ำถูเลย มันรอยขี้ตะไคร่นี่นา ผมบอกเลยว่าผมใช้เครื่องฉีดน้ำล้างรถทำรอยแบบนี้ได้เหมือนกัน พอผมโพสต์ภาพที่ผมทำรอยพญานาคในเฟซบุ๊ก คนก็ฮือฮาเริ่มทำมาโชว์บ้าง ตอนหลังถ้ามีข่าวอย่างนี้มาอีก คนรุมด่าแล้วว่าจะมาโชว์รอยพญานาคอะไร รอยฉีดน้ำชัด ๆ คนเรียนรู้แล้ว ที่ผ่านมาไม่มีใครมาช่วยเฉลยก็จำแต่ว่าเป็นรอยพญานาค แต่พอมีคนแย้ง มีคนพิสูจน์ได้ ก็จะแก้ความเชื่อผิด ๆ ให้หายไป

ผมเป็นคนแรก ๆ เลยที่พูดว่า ประเทศไทยอย่าไปติดยึดกับคำว่า “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่” คือเราติดยึดคำนี้มาก คำนี้ไม่ใช่วิทยาศาสตร์ มันบีบเราไม่ให้พิสูจน์เรื่องต่าง ๆ ต้องเปลี่ยนเป็น “ไม่เชื่อต้องพิสูจน์” ผมพยายามใช้คำนี้ คือเอากระบวนการวิทยาศาสตร์มาเชื่อม แม้แต่ความเชื่อเรื่องพญานาค

ทำไมเรามีแนวโน้มจะเชื่อเรื่องต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นซูโดซายน์ หรือไสยศาสตร์ต่าง ๆ ว่าเป็นเรื่องจริง
เราโตมาในสังคมที่ถูกหล่อหลอมให้เชื่อว่าไสยศาสตร์มีจริง หลายคนโดนหล่อหลอมว่าผีมีจริงตั้งแต่เด็ก ดูทีวีทุกวัน มีละครผีทุกวัน มีข่าวถ่ายรูปติดวิญญาณทุกวัน ผมเชื่อว่าคนไทยโดยพื้นฐานเชื่อว่าผีมีจริง เราไม่เคยถูกตั้งคำถามว่ามันไม่มีจริง พอถึงวันหนึ่งใครบอกว่าผีมันทำอย่างนี้ ๆ เราก็เชื่อว่าจริง

เวลาพูดถึงไสยศาสตร์ มันจะมีคำว่าศรัทธา ศรัทธาคือเชื่อแล้วไม่เถียง ซูโดซายน์ก็คือการศรัทธาในเทคโนโลยี เพราะประมาณช่วง ๑๐ ปีนี้เองที่คนไทยสนุกกับเทคโนโลยีขึ้นมาเร็วมาก พอโลกเข้าสู่ยุคดิจิทัล ไทยเป็นชาติแรก ๆ ที่รับเอาเทคโนโลยีมาใช้ เราศรัทธาในตัววิทยาศาสตร์ที่เป็นเทคโนโลยี แต่ไม่รู้จักวิทยาศาสตร์ที่แท้จริง ไม่รู้ว่าเครื่องมือที่เราใช้อยู่ทำงานอย่างไร มีกระบวนการอย่างไร แต่รู้ว่าเครื่องนี้ช่วยชีวิตเราให้ดีขึ้น และเราต้องซื้อ คนไทยลงทุนกับเทคโนโลยีสูงมาก เราเป็นผู้ประกอบรถยนต์รายใหญ่มากของโลก แม้ไม่สามารถพัฒนาสร้างรถยนต์เองได้ แต่เรามีความสุขกับการซื้อรถยนต์มากเลย

เราถูกหล่อหลอมให้ศรัทธาว่าเทคโนโลยีช่วยเราได้ โดยไม่เคยตั้งคำถาม แล้ววันหนึ่งพอเทคโนโลยีมันหลอกเรา เราก็จะไม่สะดุดใจว่าโดนหลอก พอเปิดทีวีมาก็เจอเลย เครื่องกรองน้ำพลังแม่เหล็ก น้ำโมเลกุลเล็ก บอกว่ามีการพิสูจน์จากโปรเฟสเซอร์ชาวรัสเซีย จากงานวิจัยหลังเกิดเหตุเชอร์โนบิล คนมาขายก็เป็นอดีตหมอ อดีตนั่นอดีตนี่ ทุกคนบอกว่าดี ๆ เพราะใช้ศรัทธาเข้าไปในเทคโนโลยี พอราคาเหมาะสมด้วยมันก็ขายได้เรื่องของซูโดซายน์ ความเชื่อของคน การทำพิธีกรรม ไสยศาสตร์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ มันมีรูปแบบเดียวกัน หรือแม้กระทั่งการเมืองบ้านเราก็มีรูปแบบที่คล้ายคลึงกัน

Pseudo-Science กับการเมืองบ้านเรามีอะไรคล้ายกัน
มันมีความคล้ายกันมากในมุมของการยกบางอย่างที่ดูกำกวมขึ้นมาให้คนเชื่อ ซูโดซายน์จะเอาวิทยาศาสตร์ที่ฟังดูกำกวมมาหลอกคน การเมืองก็ยกอะไรที่ดูกำกวมมาล่อใจคนให้เชื่อตาม คุณล่อใจคนให้ซื้อยาวิเศษกินแล้วหายจากโรคได้ คุณก็ล่อใจคนด้วยอุดมการณ์บางอย่างได้ แต่เวลาจะล่อใจคนจำนวนมาก ๆ ขบวนการซูโดซายน์บอกว่าต้องพยายามทำให้คนมาร่วมกิจกรรมเยอะ ๆ ดูการสาธิต ให้เข้ามามีส่วนร่วมมาก ๆ ขบวนการการเมืองก็เป็นแบบเดียวกัน ถ้าคุณฟังแล้วคุณเชื่อ คุณก็มาร่วมชุมนุมกับเรา ร่วมกิจกรรมกับเรา ผมจะค่อย ๆ ล้าง กล่อมเกลาจิตใจให้คิดคล้อยตามเราไปเรื่อย ๆ

แล้วซูโดซายน์ก็บอกว่าห้ามคนอื่นมาแย้ง ห้ามคนอื่นมาตรวจสอบ คนที่มาตรวจสอบเรานี่ เป็นผู้ไม่หวังดี มันคือคนที่เสียผลประโยชน์ สมมุติว่าเราขายสินค้ายาที่เชื่อว่าดีมากเลย เราก็จะบอกว่าพวกหมอที่มาค้านเพราะมีผลประโยชน์ซ่อนอยู่ การเมืองก็เช่นเดียวกัน เขาจะพยายามบอกว่าคนที่คิดไม่เหมือนกันมีผลประโยชน์อย่างอื่น สุดท้ายก็เกิดการแบ่งแยกกลุ่มขึ้นมา

เรื่องการเมืองจะเชื่อมกับอีกทฤษฎีหนึ่งที่น่าสนใจมาก เรียกว่า “ห้าขั้นตอนสู่การเป็นทรราช” หรือ five steps to tyranny โดยคร่าว ๆ คือเขาอธิบายว่าทำไมหลายประเทศจึงเกิดสงครามกลางเมืองขึ้น ทำไมคนในประเทศถึงลุกขึ้นมาทะเลาะกันฆ่ากัน ยกตัวอย่างรวันดา อยู่ ๆ ฟังวิทยุคืนเดียว อีกวันก็ลุกเอามีดไปฆ่าเพื่อนบ้าน กระบวนการล้างสมองแบบนี้มันมีอยู่

พอเราประมวลเรื่องต่าง ๆ เข้ากับการเมืองบ้านเรา เราก็เห็นกระบวนการที่แกนนำต่าง ๆ ใช้กัน ไม่ว่าจะฝ่ายไหนก็เป็นกระบวนการหลอกขายของ แต่คุณไม่ได้หลอกขายของเฉย ๆ คุณหลอกให้คนลุกขึ้นมาสู้กัน แล้วถึงขั้นจะฆ่าแกงกันได้

ในห้าขั้นตอนสู่การเป็นทรราช กฎเกณฑ์มันง่าย ๆ คือทำอย่างไรก็ได้ให้คนแยกเป็นสองฝ่าย พอเป็นสองฝ่าย คุณจะมองฝั่งตรงข้ามเป็นคนละขั้ว จากนั้นก็มีกลไกที่พยายามปลุกเร้าให้เราเกลียดฝ่ายตรงข้าม ให้เชื่อมั่นแต่ผู้นำของเราเท่านั้น แล้วก็ให้เริ่มเข้าร่วมกิจกรรม จากทีละนิดทีละหน่อยจนสามารถทำสิ่งที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ

จำได้ว่าตอนก่อนจะเกิดปฏิวัติ อาจารย์เคยนำเสนอทางออกเรื่องขั้วที่ ๓
สิ่งที่ผมเห็นในช่วงนั้น ทั้งในมุมของนักวิชาการ นักวิทยาศาสตร์ และเป็นคนที่สนใจการเมืองด้วย เรากำลังเริ่มไหลไปตามทิศทางของการแบ่งแยกคนเป็นสองฝ่ายเพื่อทะเลาะกัน มีกระบวนการล้างสมองเกิดขึ้นมากมาย ผมคิดว่าเราควรต้อง
เบรกกระแสให้เบาลง ก็เลยออกมาตั้งชื่อกลุ่มของตัวเองว่าขั้วที่ ๓ คนก็ขำกัน แต่มันเป็นการล้มเรื่องห้าขั้นตอนสู่การเป็นทรราชเลย เราพยายามบอกว่าสังคมไทยมีมากกว่าแค่คนสองกลุ่ม ผมก็ยกกลุ่มที่ ๓ ขึ้นมา พยายามกระตุ้นว่ามันมีมากกว่าสองฝ่ายนะ แล้วมีคนบอกว่าผมไม่เชื่ออาจารย์ ผมเป็นขั้วที่ ๔ เราก็บอกว่ายิ่งดีเลย

ปัญหาคือสังคมมองแบบแยกส่วนค่อนข้างสูงมาก คุณเป็นนักวิชาการ คุณเป็นนักวิทยาศาสตร์ คุณอย่ายุ่งเรื่องการเมือง ผมบอกไม่ใช่ การเมืองคือสิ่งที่อยู่รอบตัวเรา ถ้าคุณบอกว่าการเมืองไม่ดีก็เข้าไปช่วยให้ดีขึ้นสิ เราสามารถจะทักท้วงสังคมให้มีความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องวิทยาศาสตร์ เราทักท้วงเรื่องความเชื่อ แล้วเราจะทักท้วงสังคมเรื่องการเมืองไม่ได้เหรอ นั่นคือสิ่งที่ผมคิด แต่ถูกเพื่อนด่าเยอะมาก ว่าไม่ได้ (หัวเราะ) ก็มีเพื่อนที่ unfriend กันเยอะแยะไปหมด

ในยุโรปคนเคยฆ่ากันมาเป็นแสน แต่ละประเทศรบกันเป็นร้อยปีจนมาเป็นอียูร่วมกันได้ ในระดับประเทศก็มีพรรคการเมืองระดับซ้ายสุดจนถึงขวาสุด ก็ยังอยู่ร่วมกันได้ ไม่เคยลุกฮือขึ้นมาปะทะกัน เพราะกระบวนการที่จะให้คนอยู่ร่วมกันมันมีอยู่ คือประชาธิปไตย ทุกคนเท่าเทียมกัน แล้วก็แลกเปลี่ยนกันด้วยเหตุผล แล้วต้องเคารพในการตัดสินใจร่วมกันในการอยู่ร่วมกัน ไม่ใช่ว่าถ้าไม่ชอบแบบฉัน คุณก็ออกไปจากประเทศนี้ คนกลุ่มหนึ่งพยายามจะยกตัวเองให้สูงกว่าอีกกลุ่ม บอกว่าสีของฉันดีกว่า ใช้ศัพท์เรียกฝ่ายหนึ่งให้ดูต่ำกว่า เป็นแมลงสาบบ้าง ควายบ้าง มันเป็นวิธีการล้างสมองให้เรารู้สึกว่าอีกฝ่ายต่ำกว่าเรา หรือบางทีก็บอกว่าคนกลุ่มนี้เป็นพม่าเป็นเขมร

ตอนนี้ คสช. เข้ามาปฏิรูปประเทศแล้ว อาจารย์มองอย่างไร
วันนี้เขาเริ่มพูดกันแล้วว่าอยากให้ คสช. อยู่ปฏิรูปไปเรื่อย ๆ มันก็เป็นซูโดซายน์อีกแล้ว คือเป็นภาพฝัน ๆ ลอย ๆ ไม่ชัดว่าปฏิรูปคืออะไร มันไม่ใช่วิทยาศาสตร์ เป็นการสร้างจินตนาการของศรัทธาขึ้นมาว่า จงมีศรัทธาในเราเถอะ เชื่อผู้นำ แล้วเราทำได้ ไม่ต้องเถียง ไม่ต้องแย้ง เราไม่มีผิด เราทำได้ ซึ่งเราเรียนรู้มาในประวัติศาสตร์ว่าความจริงในโลกไม่มีพระเอกขี่ม้าขาว มันมีแต่ว่าต้องมีโอกาสผิดบ้าง โอกาสถูกบ้าง ขอให้ถูกมากกว่าผิด แล้วต้องช่วยกันไป กระบวนการประชาธิปไตยบอกว่าไม่มีอะไรสมบูรณ์ ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ มันมีโอกาสผิดพลาด แต่เราแก้ไขได้ ประชาธิปไตยเป็นรูปแบบเดียวที่ยอมให้ประชาชนทั่ว ๆ ไปมีช่องทางเข้ามาแก้ไข

วันนี้ผมถามว่าร่างรัฐธรรมนูญ ประชาชนอย่างพวกเราแก้ได้ไหม ที่ปฏิรูปกันอยู่ตอนนี้ในสภา เราเข้าไปแย้งได้ไหม ไม่ได้ ถ้าจะออกมาประท้วงตรงข้ามกับสิ่งที่เขาคิด ก็มีสิทธิ์ถูกมองว่าเป็นเรื่องการเมือง ผมคิดว่าการปฏิรูปแบบนี้ไม่มีทางสำเร็จ มันเป็นกระแสของคนที่เอาประชาธิปไตยกับคนที่ไม่เอาประชาธิปไตย ก็เลยไม่ค่อยเห็นทางออก

เรียกได้ไหมว่า ประชาธิปไตยก็เป็นกระบวนการวิทยาศาสตร์อย่างหนึ่ง คือมันไม่ใช่สิ่งสมบูรณ์ ต้องแก้ไขไปเรื่อย ๆ
มีคนพูดถึงเหมือนกันว่าวิทยาศาสตร์กับประชาธิปไตยอยู่ตรงไหน ผมว่ามันมีรูปแบบความคิดเดียวกัน นักวิทยาศาสตร์บางคนบอกว่า เมื่อทั่วโลกพัฒนาไปเรื่อย ๆ จะเข้าสู่สังคมที่เป็นวิทยาศาสตร์ ไม่มีศาสนา และเป็นประชาธิปไตย คือสังคมไหนที่คิดอะไรเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้น แสดงว่าต้องเปิดให้มีการโต้เถียงกันมากขึ้น โอกาสที่คนจะเริ่มเชื่อตามศาสนาก็น้อยลง จะเริ่มเห็นศาสนาสำคัญน้อยลง ขณะเดียวกันประเทศนั้นก็จะมีความเป็นประชาธิปไตยกับการมีส่วนร่วมของคนในสังคมสูงมากประชาธิปไตยมีหลักการพื้นฐาน คือทุกคนมีความเท่าเทียมกัน แล้วทุกคนร่วมกันปกครองสังคมนั้น ๆ กระบวนการอาจต่างกันไปในแต่ละประเทศ เช่น ประชาธิปไตยแบบมีนักการเมืองเป็นตัวแทน เราก็ต้องรู้ว่า ตัวแทนเป็นแค่รับอำนาจจากเราไปใช้ต่อเท่านั้น คุณไม่มีสิทธิ์บอกว่าคุณเป็นเจ้าของอำนาจ แล้วกลับมาชี้นิ้วสั่งประชาชน แบบนั้นมันเป็นเผด็จการ แล้วประชาชนก็มีสิทธิ์ตลอดเวลาที่จะตรวจสอบการใช้อำนาจนั้น

ในส่วนของวงการวิทยาศาสตร์ก็คล้าย ๆ กัน ทุกคนมีค่าเท่าเทียมกัน คุณมีสิทธิ์จะเขียนรายงานไปลงพิมพ์ในวารสาร แล้วก็จะมีคนคอยตรวจสอบว่ายอมรับรายงานของคุณได้ไหม สิ่งที่คุณเขียนมาน่าเชื่อถือไหม มันจะมีการตรวจสอบเสมอ มีการโต้แย้งได้เสมอ ถึงวันนี้รายงานคุณได้ลงตีพิมพ์เรียบร้อย อีก ๒ เดือนอาจมีคนเขียนแย้ง แต่ขณะเดียวกันเราต้องอาศัยเสียงคนส่วนมากเป็นบรรทัดฐานในการเชื่อเรื่องใดก็ตาม แต่ก็จะไม่ทิ้งเสียงส่วนน้อย จะไม่บอกว่าเราเชื่อเรื่องนี้เพราะผู้ยิ่งใหญ่สองสามคนเท่านั้นที่พูด แต่เชื่อเรื่องนี้เพราะว่าสมาคมส่วนใหญ่ทางวิทยาศาสตร์เขาเห็นด้วย ขณะเดียวกันก็ไม่บอกว่าความเห็นของสองสามคนที่ไม่เห็นด้วยนี้บ้า อย่าไปฟัง เพราะวันดีคืนดีอาจจะถูกขึ้นมาก็ได้

แต่การเมืองบ้านเราใช้กระบวนการป้ายสีเยอะ ใครเป็นฝ่ายค้านต้องมองอีกฝ่ายว่าเลว ผิด ที่ทำมาเลวมาก แต่ไม่มองว่าอาจจะดีก็ได้ หรือดีแต่ยังไม่สมบูรณ์ แก้ไขให้ดีได้ ขณะที่นักวิทยาศาสตร์จะไม่เป็นแบบนั้น ในวงการวิทยาศาสตร์จะไม่มีการบอกว่า ยังไงฉันก็ไม่เชื่อแก ถามว่าผีมีจริงไหม ในมุมวิทยาศาสตร์ก็จะบอกว่าไม่มีเพราะเราไม่มีหลักฐาน แต่ถ้าใครจะบอกว่ามี คุณก็มีสิทธิ์คิดได้ แต่หน้าที่คุณคือต้องไปหาหลักฐานมาพิสูจน์ วิทยาศาสตร์ใช้กระแสของส่วนรวม ดูจากข้อมูลกลาง ๆ แต่ก็ไม่ทิ้งส่วนน้อย ทุกคนมีสิทธิ์จะแย้ง แล้วมาดูกันว่ามีหลักฐานแค่ไหน ประชาธิปไตยก็เหมือนกัน แต่บ้านเรามันหลุดไปแล้ว

ผมสรุปว่าถ้าสามารถทำให้คนไทยคิดเป็นวิทยาศาสตร์ได้มากขึ้น มันอาจทำให้เรื่องหลอกลวงทางวิทยาศาสตร์น้อยลง แล้วเรื่องหลอกลวงที่เกี่ยวกับความเชื่อศรัทธาอาจจะน้อยลงด้วย แนวทางที่ผิด ๆ ทางการเมืองก็อาจน้อยลงด้วย ถ้าวันนี้เรามาโต้เถียงกันเรื่องการเมืองด้วยแนวคิดอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ เราอาจจะหาข้อสรุปได้ดีกว่าการแบ่งแยกคนให้ทะเลาะกันอย่างนี้

เป็นเรื่องที่ต้องการการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันค่อนข้างมาก
อย่างมาก (ลากเสียง) แต่บรรยากาศมันหายไปตั้งแต่ปฏิวัติ อันนี้เป็นเรื่องน่าเสียดาย ก่อนหน้านี้มีหลายรายการที่เอาคนทั้งสองฝ่ายมาถกเถียงกัน ซึ่งเป็นประโยชน์มาก ๆ เพราะทำให้เราเห็นทั้งสองฝั่ง แนวโน้มมนุษย์เราโดนล้างสมองง่ายมาก ฮิตเลอร์สอนเราเองด้วยซ้ำว่า ถ้าคุณพูดเรื่องที่เป็นเท็จทุกวัน ๆ เดี๋ยวคนจะเชื่อเองว่าเป็นเรื่องจริง ถ้าเราไปอยู่ในเวทีใดก็ตาม ฟังเรื่องไหนทุกวันก็จะจำฝังหัวว่าเป็นเรื่องจริง แต่ถ้าเราจับทั้งสองฝ่ายมาอยู่ด้วยกัน ให้เขาแลกเปลี่ยนพูดคุยกัน เราจะได้เห็นเหตุผลชัดเจนมากขึ้น เราอาจเคยเชื่อคนนี้มาก่อน แต่ฟังอีกคนกลับมีเหตุผลมากกว่า หรือว่ามันก็ผิดทั้งคู่ นี่คือการแลกเปลี่ยน

หลังจากปฏิวัติมาแล้วด้วยกระบวนการที่คิดว่าปรองดองกันโดยไม่ต้องพูดอะไร การแลกเปลี่ยนหายไป แล้วกลายเป็นว่ามันอันตราย ทุกคนจะเสพแต่สื่อของตัวเองเหมือนเดิม เราไม่รู้เลยว่าระเบิดที่กำลังซ่อนอยู่ตอนนี้น่ากลัวแค่ไหน วันดีคืนดีก็เอ้า ทุกคนพร้อมปรองดองแล้ว ทุกคนกลับมา เปิดโอกาสให้ทุกคนเต็มที่ แต่มันไม่ใช่ กลายเป็นระเบิดหรือเปล่า น่ากลัวมากกว่าอีก

ถ้ามองโลกในแง่ดี ในอนาคตสังคมไทยอาจแบ่งเป็นคนสองกลุ่ม ประมาณว่า liberal กับ conservative กลุ่มอนุรักษนิยมจะเอาแบบเดิม คุณธรรม ๑๒ ประการ ศาสนา แต่อีกกลุ่มอาจบอกว่า โสเภณี การพนัน น่าจะถูกกฎหมาย ถ้าเป็นแบบนี้ก็เหมือนในประเทศที่เจริญแล้ว เขาก็ถกเถียงด้วยมุมมองความคิด เราไม่มีทางที่จะอยู่โดยไม่ถกเถียง ซึ่งถ้าเราเตรียมใจไว้ตั้งแต่แรก มันก็จะไปได้อย่างสวยงาม เราจะเริ่มถกเถียงกันนะ เรื่องนี้จะยอมรับหรือไม่ยอมรับ แต่วันนี้ผมเชื่อว่าสังคมไทยยังไม่พร้อม สังคมไทยไม่ได้ถูกเตรียมให้พร้อมกับการถกเถียง คนพร้อมจะมีความสุขเมื่อมีคนเชื่อ จะเห็นว่าตามเวทีชุมนุม คนกล้าจะขึ้นไปไฮด์ปาร์ก เพราะทุกคนขึ้นไปพูด ไม่มีใครแย้ง คุณพูดในสิ่งที่คนข้างล่างเชียร์คุณ แต่คุณกล้าไปพูดในสิ่งที่คนข้างล่างไม่เชื่อไหมล่ะ ไม่มีใครกล้าขึ้นหรอก

เวลาถกเถียงก็มีเรื่องการใช้ตรรกะ ปัญหาคือบางทีก็เหมือนใช้ตรรกะผิด ๆ มาเถียงกัน
เรื่องตรรกะวิบัติเป็นคำใหม่สำหรับคนไทยนะ ผมเองก็ไม่เชี่ยวชาญ แต่ที่เห็นบ่อยที่สุดในสังคมไทย คือไปด่าคน เล่นงานตัวบุคคล แทนที่จะถกเถียงกันบนเนื้อหาของเรื่องนั้น ซึ่งมันหลงประเด็นไปไกลมาก สมมุติเราพูดเรื่อง GT200 ตรวจหา
ระเบิดได้ไหม แล้วมีคนบอกว่าอาจารย์เป็นนักชีววิทยาจะมารู้เรื่องนี้ได้ยังไง หรือบอกว่าอาจารย์ต้องรับเงินจากซีไอเอมาแน่ ๆ เลย ซึ่งผมเคยเจอกับตัวเองมาแล้ว (หัวเราะ) การจะโต้เถียงในเชิงวิทยาศาสตร์จริง ๆ ต้องไล่ไปทีละประเด็น ให้จบไปทีละเรื่อง แต่ตรรกะที่ชอบใช้กัน คือฉีกไปเรื่องอื่น กำลังไล่เหตุผลเรื่องนี้ อ้าว เปลี่ยนเรื่องแล้ว เรื่องก็ขยายต่อไปเรื่อย ๆ ไม่จบ หาตอนจบไม่ได้

ได้ข่าวว่าอาจารย์ไปติดโพสต์อิตให้กำลังใจกรณีนักศึกษากลุ่มดาวดินด้วย ทำไม
ก่อนที่ผมจะไปรับรางวัลของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชน* ตอนนั้นยังไม่ค่อยรู้จักว่ากลุ่มดาวดินคือใคร แต่เริ่มเห็นบทบาทของพวกเขาที่กล้าชูสามนิ้วต่อหน้านายกรัฐมนตรีในเวทีทางอีสาน รู้สึกว่าเด็กพวกนี้กล้ามากเลย แล้ววันที่เราไปรับรางวัล เด็กกลุ่มนี้ก็ได้รับรางวัลเป็นรางวัลของกลุ่ม** ก็ได้รู้ประวัติว่าเขาทำงานด้านสิทธิมนุษยชนในท้องถิ่นค่อนข้างเยอะ แล้วการที่เขาเรียกร้องทางการเมืองก็ตรงกับจริตผม เพราะผมเองก็อยากเรียกร้องทางการเมือง แต่ผมไม่กล้าเท่าเด็กพวกนี้ ผมก็เลยไปให้กำลังใจ ว่าเราเป็นเพื่อนกันนะ สิ่งที่คุณทำผมเห็นด้วย และสิ่งที่คุณถูกกระทำ ไม่น่าถูกกระทำขนาดนั้น นี่เป็นการแสดงออกของสิทธิมนุษยชน ไม่ได้ทำให้คนอื่นเดือดร้อน ไม่ได้ทำร้ายใคร แต่คนที่ไม่เห็นด้วยก็จะคิดตรงกันข้าม คนที่เชียร์ทหารอยู่ก็จะว่าเด็กพวกนี้มันแย่อย่างนั้นอย่างนี้ แถมยังเอาคะแนนของเด็กมาดูอีก บอกว่าน่าเกลียดจังทำไมคะแนนต่ำมาก ออกมาประท้วงได้ไง ถามว่าคนจะเรียกร้องสิทธิของความเป็นมนุษย์ ต้องอยู่ที่คะแนนเรียนด้วยเหรอ ไม่ใช่นะ ผมเรียนจบแค่ ป. ๖ หรือไม่จบอะไรเลย ผมก็มีสิทธิ์เรียกร้องความเป็นมนุษย์ของผมนี่นา

เป็นอีกตรรกะว่าเป็นนักเรียนก็ต้องเรียนอย่างเดียว อย่ามายุ่งการเมือง
ผมว่าตรรกะนี้ผิด เพราะว่าผมก็สนใจการเมืองตั้งแต่เด็ก ๆ คุณพ่อจะเล่าให้ผมฟังเรื่องเดือนตุลาคม เรื่องเหตุการณ์การเมืองต่าง ๆ ช่วงผมอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๔ ปีที่ ๕ เป็นช่วงที่ผมอยากรู้เรื่องพวกนี้มาก แต่หาข้อมูลไม่ค่อยได้ พอเราเรียนปริญญาตรี เกิดพฤษภาทมิฬ (๒๕๓๕) ผมก็ออกไปกับเขาด้วย ผมเห็นว่าการเมืองเป็นสิ่งที่อยู่รอบตัวเราตั้งแต่แรกอยู่แล้ว ผมเลยว่ามันไม่ใช่เรื่องแปลกที่เด็กจะสนใจการเมือง แล้วถามว่ากลุ่มดาวดินเป็นเด็กเรียนอะไร เขาเรียนนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ ก็ยิ่งตรงสาขามากด้วยซ้ำ มีคนที่เรียนเกรดไม่ดีก็จริง แต่หลายคนเกรดดีมากก็มี มันแล้วแต่คน ช่วงที่ปฏิวัติใหม่ ๆ ก็มีเด็กจุฬาฯ ทำกิจกรรมหลายคน ซึ่งผมมีโอกาสได้นั่งคุยได้รู้จัก เป็นเด็กเรียนดี ๆ ทั้งนั้น ทั้งเด็กคณะวิทยาศาสตร์ รัฐศาสตร์ อักษรศาสตร์ ครุศาสตร์ มีทุกคณะ มันอยู่ที่ตัวของเขาเอง ถ้าเด็กกลุ่มหนึ่งได้เรียนรู้มาแบบหนึ่ง เป็นกบฏทางความคิด แล้วช่วยคน ไม่ได้ทำร้ายใคร เขาก็มีสิทธิ์ทำได้

ระบบการศึกษาของเราสวนทางกับการจะทำให้เด็กกล้าคิดกล้าโต้เถียง
ผมว่าการศึกษาไทยเราหลงทางมานานมาก แต่ผมชักสงสัยว่ามันอาจจะเหมาะกับไทยเราก็ได้ คือเราอยู่บนโลกสวย ๆ เดิม ๆ ก็ดีนะ อยู่กับโลกง่าย ๆ ของเรา ปิดประเทศ ใช้ชีวิตตามศีลธรรมจริยธรรมแบบภาพที่เราเสริมสร้างขึ้นมา อยู่อย่างนี้ไปเรื่อย ๆ เรียนหนังสือแบบนี้ไปเรื่อย ๆ แต่ความจริงตอนนี้เราเป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลกแล้ว ตั้งแต่มีโซเชียลมีเดีย เห็นชัดเลยว่าโลกเล็กลง คุณจะปิดกั้นไม่ได้หรอก ขนาด อบต. ชาวบ้านทั่ว ๆ ไป ยังขึ้นเครื่องบินไปดูงานต่างประเทศ คือคนไทยเห็นโลกกันมาหมดแล้ว คุณน่าจะมีความฝันบ้างหรือเปล่าว่าอยากให้ประเทศเราไปในทางไหน ลองนึกย้อนไปในสมัยรัชกาลที่ ๕ ก็ได้ ท่านเสด็จฯ ไปต่างประเทศ กลับมาท่านก็สร้างรถไฟให้เรา มีการไฟฟ้า การประปาเกิดขึ้น แล้วคนยุคปัจจุบันอยากสร้างให้จังหวัดตัวเอง หมู่บ้านตัวเองดีขึ้นบ้างหรือเปล่า ตัวผมไปเห็นการศึกษาต่างประเทศก็อยากเห็นการศึกษาที่ดีขึ้นในบ้านเราสิ ผมเห็นการปกครองที่ดีในต่างประเทศ เพราะไปเรียนอยู่อังกฤษ ไปดูงานที่สหรัฐอเมริกา ก็อยากให้มีในประเทศไทย เพราะฉะนั้นถ้าเราเห็นพ้องร่วมกันว่าสังคมต้องปฏิรูป ก็ต้องมาถามว่าปฏิรูปอะไร คุณจะปฏิรูปเพื่อเป็นคอนเซอร์เวทิฟ หรือเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของประชาคมโลก วันนี้เรากลายเป็นผู้ป่วยของอาเซียนไปแล้ว ห้าปีที่แล้วคำศัพท์นี้ใช้กับฟิลิปปินส์ แต่วันนี้ทุกคนมองไทยแลนด์เป็นตัวถ่วงของอาเซียน อินโดนีเซียประกาศชัดเจนว่าจะไม่มีวันเห็นการปฏิวัติในอินโดนีเซียอีกแล้วหลังจากที่เป็นเผด็จการทหารมาหลายสิบปี สิงคโปร์ไปเป็นระดับญี่ปุ่นแล้ว ตอนนี้ทุกคนเห็นพม่าเนื้อหอม หรือวิ่งเข้าหาเวียดนาม

ในมุมของผม เราต้องปฏิรูปไปในทิศทางที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมโลก ต้องเริ่มจากวิธีการคิด เช่นถ้าเรามองว่าคนในสังคมโลกคิดอย่างไร เราอาจจะต้องปรับการศึกษาเราให้ได้อย่างนั้น ทำไมเราคุ้นเคยกับการเรียนหนังสือที่มีครูสอนแล้วเราก็นั่งเงียบในห้อง เวลาผมสอนหนังสือเองก็ยิ่งเห็นภาพชัด ถามเด็กว่ามีใครสงสัยไหม ใครคิดยังไงบ้างเรื่องนี้ เงียบหมด แล้วไปนินทาลับหลังว่าอาจารย์สอนไม่รู้เรื่อง สอนไม่รู้เรื่องก็ถามสิ แต่ถ้าเราดูในต่างประเทศ เวลาครูถาม เด็กก็เย้ว ๆ อยากตอบ แล้วเป็นเกือบทุกชาติ ยุโรป อเมริกัน เราเห็นภาพแบบนี้แล้วทำไมคนไทยทำไม่ได้ เพราะกระบวนการสอนของเรานำไปสู่วิธีคิดแบบนี้ คือสอนให้เราเงียบ เชื่อแต่อาจารย์ อาจารย์เป็นองค์ความรู้ เราเลยอยู่ในโลกที่รอฟังผู้เชี่ยวชาญ หรือรอท่านผู้นำจะพูดว่าอะไรบ้าง แล้วก็อยู่ไปเรื่อย ๆ ขณะที่โลกอีกฝั่งหนึ่งเขาสอนให้โต้แย้งตั้งแต่แรก ครูเป็นแค่ไกด์ของการค้นหาความรู้ ประมวลความรู้ และหาข้อสรุปร่วมกัน สังคมของเขาประชาชนมีอำนาจต่อรองสูง ผมไปดูงานที่อเมริกายิ่งเห็นชัด เกษตรกรทุกคนบอกว่าเขามีอำนาจต่อรองสูงมาก มีรายได้ดีมาก เขารวมกลุ่มกันเหนียวแน่นมาก เพราะว่าเขารู้สึกตั้งแต่แรกว่าทุกเรื่องเขาพร้อมจะโต้แย้งรัฐบาลได้ พร้อมจะเรียกร้องว่าเรื่องนี้เป็นอะไร ยังไง

ผมก็หวังว่าที่ผมพยายามทำอะไรในโซเชียลออนไลน์ตอนนี้ จะกระตุ้นให้คนคิดย้อนแย้งเยอะ ๆ

อาจารย์โต้ตอบในโลกออนไลน์มาเป็นปี ตอนนี้เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้าง
แต่ละวันเรื่องที่แชร์ต่อ ๆ กันมา ต้องบอกว่า ๘๐-๙๐ เปอร์เซ็นต์ มันค่อนข้างจะไม่จริง อาจจะโง่ ๆ ด้วยซ้ำ แต่ก็น่าสนใจว่าแค่ประมาณครึ่งปีมานี้ เราค่อนข้างเห็นสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปค่อนข้างเร็วมาก และผมชอบบอกว่ามันเกิดจากทีวีดิจิทัล คือเราเคยอยู่ในโลกของสื่อกระแสหลักมานาน หนังสือพิมพ์ ทีวี ๓ ๕ ๗ ๙ ๑๑ ไทยพีบีเอส ซึ่งที่ผ่านมาจะทำข่าวตามกัน ไม่มีใครกล้าฉีกกฎออกนอกกรอบ คนทำข่าวเกี่ยวกับสิ่งศักดิ์สิทธิ์ จะไม่ค่อยกล้าพูดแย้งไปในข่าว ส่วนใหญ่ก็รายงานว่ามีปรากฏการณ์อย่างนั้นอย่างนี้ หรือพวกที่ขายของซูโดซายน์ก็ตาม แล้วช่องอื่นก็จะพูดเหมือนกันเป๊ะ ไม่มีใครบอกว่ามันไม่จริงเพราะอะไร ไม่มีกระบวนการแย้งกันเองในสังคม

แต่พอทีวีดิจิทัลเกิด เราจะเริ่มเห็นการแข่งขันที่สูงขึ้นมาก โดยเฉพาะการแข่งขันในเชิงคอนเทนต์ ผมรู้สึกมากเลยตอนเรื่องรอยพญานาคที่จุฬาฯ ถ้าเป็นเมื่อก่อนไม่มีสื่อมาตามเท่าไร แต่วันนั้นวันเดียวผมให้สัมภาษณ์ไปห้าหกช่อง ซึ่งเกือบทุกช่องเป็นทีวีดิจิทัล เราเริ่มเห็นเขากระหายที่จะมีข่าวในมุมที่ฉีกออกไป เป็นข่าวที่มาอธิบายว่าความจริงเป็นอย่างไร แล้วภายใน ๒-๓ เดือนนี้เราจะเริ่มเห็นรายการพิเศษแบบสายตรวจโซเชียล หรือเช็กก่อนแชร์ เอาเรื่องในโซเชียลในเฟซบุ๊กมาเช็กว่าเรื่องไหนจริงหรือไม่จริง แล้วพวกเขามีประสิทธิภาพมากกว่าผมเยอะ นักข่าวจะไปไล่สัมภาษณ์ ถ่ายภาพ หรือแม้กระทั่งไปทดลองเองก็มี ผมว่ามันเป็นกระแสที่ดีมากในความเป็นนักวิทยาศาสตร์ เฮ้ย ! คุณรู้จักโต้แย้งเป็นแล้ว และไม่ได้โต้แย้งแบบจะหาเรื่องกัน ขณะเดียวกันคุณจะกลัวการทำข่าวผิดพลาดมากขึ้น เพราะถ้าผิดปุ๊บช่องอื่นเขาจะตีทันที มีการบาลานซ์กันเองที่ดีขึ้นกว่าสมัยก่อน เป็นผลจากการที่มีสื่อมากขึ้น มีช่องทางมากขึ้นที่ประชาชนจะรับสื่อ คนไม่จำเป็นต้องอ่านแต่หนังสือพิมพ์ หรือดูแต่สื่อกระแสหลัก มีมือถือก็อ่านในโซเชียลหรือในเฟซฯ ของตัวเอง แถมโต้แย้งได้อีกว่าข่าวจากในหนังสือพิมพ์ที่มาลงในโซเชียลมันไม่จริง ผมว่าถ้ากระบวนการนี้เข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ และทำต่อเนื่อง จะช่วยให้คนไทยเริ่มตระหนักรู้หลาย ๆ เรื่องมากขึ้น

ดูเหมือนอาจารย์จะตอบปัญหาในเฟซฯ แทบทุกเรื่อง บางคนแซวว่าคนเดียวจะรู้ไปทุกเรื่องได้ยังไง
โดนเยอะเลย ผมเพิ่งมาเล่นเฟซบุ๊กเป็นเมื่อ ๒ ปีมานี่เอง มันมีกระแสปากต่อปากค่อนข้างเยอะว่าให้มากดฟอลโลว์ผมไว้ เมื่อเช้าประมาณ ๑๓๐,๐๐๐ ถือว่าค่อนข้างเยอะทีเดียว แล้วแต่ละวันจะมีคำถามมากมายเข้ามาหาผมในอินบ็อกซ์ ผมก็รู้ว่าวันนี้คนกำลังสนใจเรื่องอะไร กำลังแชร์อะไรกันอยู่ ซึ่งมันมีสารพัด เรียกว่าจับฉ่ายดีกว่า คนก็เริ่มด่าว่าอาจารย์เจษฎาจะรู้ไปทุกเรื่องเลยเหรอ ผมไม่ได้รู้ทุกเรื่อง แต่จริง ๆ โดนถามทุกเรื่อง หลายเรื่องก็ตอบสั้น ๆ บางเรื่องเป็นวิทยาศาสตร์ที่เชื่อกันมายาวนานแล้ว แต่อาจจะผิดได้ หรือเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพ เช่น ไขมันหมูหรือไขมันพืชดีกว่ากัน เราก็ต้องอธิบาย จะได้เข้าใจว่าเป็นอย่างไร เรื่องสูตรสมุนไพรที่ไร้สาระก็เยอะ ยาผีบอก จะลองดูก็ได้ ไม่อันตราย แต่บางเรื่องก็ซีเรียส อย่างเรื่องสูตรรักษาไตที่คนชอบแชร์ ซึ่งคนไข้ที่เป็นโรคไตต้องระวังเรื่องอาหารมาก ถ้าไม่ระวังมีโอกาสเกิดไตวาย เราก็ต้องอธิบายว่าอันตรายนะ และบอกด้วยว่าอันตรายเพราะอะไร คือในมุมของนักวิทยาศาสตร์ ผมพยายามอธิบายว่า อย่ามาเชื่อที่ตัวผม แต่เพราะว่ามันมีคำอธิบายอย่างนี้ ๆ

ผมมักจะบอกว่าผมเป็น science communicator ที่พยายามสื่อสารวิทยาศาสตร์แบบง่าย ๆ ให้เข้าใจได้ง่าย ๆ แล้วกระชับ แต่ถ้าอยากลงลึกก็ให้ไปถามคนนั้นคนนี้ ถ้าผมผิดก็บอกว่าผมผิด เราจะได้ช่วยกันแก้ไข มองในอีกด้านเทียบกับเมื่อ ๕-๖ ปีที่แล้ว ตอนนี้การที่สื่อเข้าหานักวิชาการเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นมาก ถ้าอยากรู้เรื่องทะเล มาถามผม ผมก็ตอบได้สั้น ๆ แต่ถามอาจารย์ธรณ์ (ธำรงนาวาสวัสดิ์) อาจารย์ก็จะอธิบายได้ยาว เรามีผู้เชี่ยวชาญที่นักข่าวเริ่มมั่นใจได้ชัดเจนว่าถามคนนี้ดีกว่า

อาจารย์จะให้สูตรอะไรกับคนทั่วไปได้บ้าง ว่าเราจะมีวิธีเสพข่าวหรือโพสต์ต่าง ๆ แล้วไม่ถูกหลอก
คำแนะนำของผมค่อนข้างมองโลกในแง่ร้ายนิดหนึ่ง คือคนไทยต้องเรียนรู้ว่าเรากำลังถูกหลอกอยู่ทุกวัน จงยอมรับความจริงว่า “เราถูกหลอกอยู่ทุกวัน” แล้วถ้าคุณยอมรับก็มาเรียนรู้กันไหมว่า คุณถูกหลอกเพราะอะไร แล้วอะไรบ้างที่คุณยังถูกหลอกอยู่ อะไรบ้างที่คิดว่าตั้งคำถามเองได้

ผมชอบยกเรื่องที่ มาร์ก ทเวน พูดว่า “การหลอกคนนั้นยังง่ายยิ่งกว่าทำให้คนที่ถูกหลอกยอมรับว่าตัวเองถูกหลอก” ถ้าใครถูกหลอกแล้วผมพยายามไปบอกว่าเขาถูกหลอก เขาไม่ค่อยยอมรับหรอก เพราะฉะนั้นการไปหลอกคนง่ายกว่าการทำให้ยอมรับว่าถูกหลอก แต่ถ้าเรารู้ตัวว่า เอ้า เรื่องนี้ก็โดนหลอก เราจะฉลาดขึ้นนะ ถ้าเราเริ่มตั้งข้อสงสัยมากขึ้น เราจะฉลาดขึ้น ถ้าเรากล้าฟังคนอื่น ถ้าเรากล้าแย้งคนอื่น เราจะฉลาดขึ้น

สิ่งที่ผมได้เห็นตั้งแต่เริ่มเล่นเฟซบุ๊กจนมาถึงช่วงที่มีคนฟอลโลว์เยอะขึ้น คือคนจะเริ่มบ่นเองว่า พี่ป้าน้าอาส่งไลน์มามีแต่เรื่องหลอกลวงทั้งนั้น ผมก็เริ่มดีใจที่เขามองออก แล้วเขาเองก็อาจพยายามช่วยบอกคนอื่นว่าถูกหลอกยังไงอยู่ แต่คุณจะไปบอกคุณปู่คุณย่าที่เพิ่งเล่นสมาร์ตโฟนเป็น เล่นไลน์เป็นแล้วเริ่มแชร์อะไรผิด ๆ ยังไง ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ผมก็บอกว่าลองแย้ง ๆ ดู ถ้าแย้งไม่ได้ก็ปล่อยท่านไป อย่างน้อยเราได้เรียนรู้ร่วมกันแล้วว่าในสังคมมีเรื่องหลอกกัน ไม่ใช่ทุกอย่างที่พูดอยู่ตอนนี้เป็นเรื่องจริงทั้งหมด

ยิ่งแชร์จากคนใกล้ตัว เราก็ยิ่งเชื่อ ยิ่งแชร์ต่อ
ใช่ เราไม่ได้ตั้งคำถามกับตัวเองว่าเรื่องนั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องจริงหรือเรื่องหลอก คนใกล้ตัวจะหลอกเราหรือเปล่า เราได้รับการอบรมมาว่าเป็นพวกเดียวกัน ครอบครัวเดียวกัน เป็นเพื่อนบ้าน เพื่อนโรงเรียนเดียวกัน ทำงานด้วยกัน ก็ต้องเชื่อพวกเดียว
กัน อย่างที่ ๒ ที่มีการปลูกฝังในสังคมไทย คือเรื่องอาวุโส เราจะเชื่อว่าผู้ที่อาวุโสสูงกว่าเรา ไม่ว่าจะเป็นวัยวุฒิหรือคุณวุฒิก็ตาม สิ่งที่เขาพูดถูกต้องกว่าเรา เราจบมาแค่นี้เอง แต่เขาเป็นดอกเตอร์ เขาต้องพูดถูก อย่างที่ ๓ คือคนไทยเป็นโรคที่มีน้ำใจต่อกัน เรารู้แล้วก็อยากให้คนอื่นรู้บ้าง จริงไม่จริงไม่รู้ แต่อยากให้รู้ คิดว่าเป็นเรื่องดีก็แชร์ต่อ

แต่เราจะบอกว่าไปแก้ให้เขาไม่รักกันในสังคมก็ไม่ได้ใช่ไหม จะแก้ให้เขาไม่เคารพผู้ใหญ่ก็ไม่ถูก จะแก้ให้เขาไม่มีน้ำใจต่อกันก็ไม่ถูก ที่เราแก้ได้คือบอกว่า ตัวคุณเองถูกหลอกอยู่นะ คุณเรียนรู้ไหม ถ้าคุณยอมรับ คุณก็จะเริ่มเรียนรู้ว่าถ้าส่งต่อไป
คุณจะช่วยหลอกเพื่อนคุณอยู่นะ คุณรู้แล้วว่าสูตรแก้โรคไตมันผิด แล้วคุณส่งต่อไป เพื่อนคุณ ญาติคุณ เขาจะได้รับอันตรายนะ ถ้าคุณรู้แล้วก็ไม่ควรส่งต่อ นี่คือคุณมีน้ำใจจริง ๆ นี่คือวิธีการเรียนรู้ร่วมกัน

อย่างที่บอกไปแล้วเรื่องซูโดซายน์กับเรื่องความเชื่อในสังคมไทยใช้หลักการเดียวกัน สร้างคนที่เชื่ออะไรร่วม ๆ กันก่อน ให้กลุ่มความเชื่อนั้นมองคนที่ไม่เชื่อเป็นศัตรู มันก็ทำให้เราไม่อยากมีศัตรูในสังคม เราไม่ได้รับการสอนมาให้โต้แย้ง

ประเด็นเรื่องของ GMO หรือพืชดัดแปลงพันธุกรรม อาจารย์มองการโต้เถียงกันเรื่องนี้อย่างไร
ก่อนอื่นต้องบอกว่าผมเป็นผู้สนับสนุนใช้เทคโนโลยี GMO แต่ผมไม่ใช่ผู้ศรัทธา GMO มันมีกลุ่มที่คัดค้านการใช้ GMO กลุ่มที่แอนตี้แบบพูดอย่างไรก็ไม่เชื่อ กับกลุ่มที่บอกว่ามันดี๊ดี GMO ก็เป็นเทคโนโลยีตัวหนึ่ง มันควรจะเป็นประเด็นที่โต้แย้งกันได้ในทางวิทยาศาสตร์ เพราะถ้าโต้แย้งไม่ได้จะเข้าสู่หมวดซูโดซายน์ แล้วทำให้เรื่องนี้หลงประเด็น ไม่สามารถตัดสินใจได้อย่างเหมาะสม เช่น ถ้ากังวลว่าอาหาร GMO กินเข้าไปแล้วจะทำให้เกิดอันตราย อันนี้เป็นวิทยาศาสตร์ คุณจะใช้เรื่องการตั้งสมมุติฐานที่ว่า กินแล้วเป็น หรือไม่เป็น เป็นแล้วเป็นอะไร ก็เริ่มกระบวนการพิสูจน์ ทดสอบในห้องแล็บว่าเป็นอย่างไร ทดสอบได้ นี่คือวิทยาศาสตร์ แต่ถ้าประเด็นกลายเป็นเรื่องซูโดซายน์ โต้แย้งว่าคนพยายามจะเป็นพระเจ้า play god แบบนี้ไม่สามารถตั้งสมมุติฐานใด ๆ ได้เลย ตัวอย่างหนักมากคือที่แอฟริกาซึ่งหลายประเทศเป็นคริสเตียนแข็งมาก สหประชาชาติจะส่งอาหารไปช่วยเหลือ รัฐบาลไม่ยอมรับ บอกว่าเป็น GMO เอามาใช้จะเป็นการฝืนพระเจ้า ก็เกิดปัญหาทำให้คนในประเทศอดอยาก แก้ไขปัญหาเกษตรกรรมในประเทศไม่ได้ กลายเป็นเรื่องของความเชื่อศรัทธาในพระเจ้า

เรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก็เป็นเรื่องที่โต้เถียงกันได้ โรงไฟฟ้าถ่านหินก็โต้เถียงกันได้ ถ้านำวิทยาศาสตร์มาใช้ชั่งน้ำหนัก ความเสี่ยง ระหว่างประโยชน์ที่จะได้กับปัญหาที่จะเกิดขึ้น อะไรจะมากกว่ากัน ประโยชน์ที่จะได้ ยั่งยืนไหม หรือว่าปัญหาที่เกิดขึ้น จริง ๆ แล้วถาวรไหม หรือมีวิธีการแก้ได้อีก

แต่เวลามีปัญหา ฝ่ายคัดค้านหรือสนับสนุนก็ไม่ได้มาแลกเปลี่ยนกัน
แม้แต่วิธีประชาพิจารณ์ของบ้านเราก็ยังผิดเลย ทุกคนอยู่บนเวทีแล้วพูดว่าจะเอาหรือไม่เอา มันไม่ใช่ two-way หรือ multiple way communication ความจริงต้องเปิดเป็นเวทีย่อย ๆ นั่งคุยเป็นเรื่อง ๆ แลกเปลี่ยนกันแล้วทำรายงานสรุป เราไม่ได้เรียนรู้วิธีการโต้เถียงที่ถูกต้อง ทุกคนจะเรียนรู้แท็กติกว่าทำอย่างไรถึงจะชนะได้เร็วที่สุด ทุกคนอยากชนะ ต้องการให้มีมวลชนสนับสนุน ก็ต้องใช้คำพูด ประโยค หรือวิธีการใด ๆ ก็ตามที่ตรงใจกับมวลชนให้มากที่สุด อย่างเรื่องโรงไฟฟ้าถ่านหินที่กระบี่ กระแสเป็นเรื่องการใช้มวลชนค่อนข้างชัด คนพื้นบ้านจะไม่เอา ขณะเดียวกันคนกรุงก็บอกว่าต้องการไฟฟ้า ใน Change.org มีให้ช่วยกันลงประชามติว่าจะเอาโรงไฟฟ้า มันตลก คุณอยู่กรุงเทพฯ ลงประชามติเพื่อไปกดดัน ทั้งสองฝ่ายไม่ได้ใช้วิธีการทางวิชาการจริง ๆ ในการโต้เถียง

แต่พอดีประเทศไทยวันนี้เรายังหลงทางอยู่ เลยไม่ได้ทำเช่นนั้น ถ้าเราไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ทุกคนมีสิทธิ์โต้แย้งกันได้ แลกเปลี่ยนกันได้ ซึ่งยังไงมันต้องมีใครชนะและแพ้สักคน ไม่มีทางที่สุดท้ายจะเสมอกัน ไม่ใช่ฟุตบอล เขาเลือกพรรคนี้เพราะเขาจะเอาประกันราคาข้าว ถ้าเขาชนะการเลือกตั้ง คุณก็ต้องยอม ส่วนอีกพรรคบอกจำนำข้าว ถ้าเขาชนะ คุณก็ต้องยอม คือมันเป็นการขายนโยบายแข่งกัน แต่คนที่เป็นเผด็จการ พอถึงจะเอาอย่างนี้ก็สั่งโป้งเลย เราก็เลยไม่ได้เรียนรู้การเมืองที่ถูกต้อง เราไม่ได้เรียนรู้วิธีการโต้เถียงกันตั้งแต่ในห้องเรียน สุดท้ายเรื่องต่าง ๆ เราก็ไม่สามารถตัดสินใจได้

อาจารย์มีนักวิทยาศาสตร์ที่เป็นไอดอลไหม
ถ้านักวิทยาศาสตร์รุ่นโบราณก็มีสามคน กาลิเลโอ ชาร์ลส์ ดาร์วิน และเมนเดล ทั้งสามคนมีบทบาทต่อชีวิตผม หลายคนน่าจะมีประสบการณ์คล้าย ๆ กัน คือพ่อแม่ให้หนังสือมาตอนเด็ก ๆ หนังสือ ๔๐ นักวิทยาศาสตร์เอกของโลก อ่านตั้งแต่เด็ก ๆ อ่านทุกคน แล้วเราก็ชอบ อย่างกาลิเลโอ โอ้โฮ คนนี้กล้าคิดอะไรที่แย้งโลก แย้งศาสนา และสามารถพิสูจน์ได้ด้วย สุดท้ายต้องทุกข์ทรมานก็จริง แล้วมารู้ว่าเขาเกิดวันเดียวกับผมด้วย (๑๕ กุมภาพันธ์) ฉันเกิดมาใต้ดาวกาลิเลโอ วิญญาณนักวิทยาศาสตร์จับเลย

พอเรียนสูงขึ้นก็มาสนใจชีววิทยา สนใจเรื่องของเมนเดล เขาเป็นบาทหลวงแต่สนใจเรื่องการปลูกถั่ว ศึกษาหาข้อมูล สุดท้ายได้คำตอบ แต่ก็ไม่ดังเลย นานกว่าจะเป็นที่รู้จัก จนเขาตายไปแล้วด้วยซ้ำ พอมาถึงเรื่องของ ชาร์ลส์ ดาร์วิน ยิ่งชัดเลย เป็นคนที่กล้าเปลี่ยนโลกและเปลี่ยนความเชื่อของตัวเองเรื่องศาสนา จากที่นับถือศาสนามาเป็นคนที่คิดอะไรแย้งศาสนาไปหมด ถ้าเขาไม่กล้าพูดวันนั้น ไม่กล้าตัดสินใจวันนั้น แล้ววันนี้เราจะอยู่อย่างไร สิ่งที่เขาทำมันมีผลกระทบมาถึงเราในวันนี้

เปรียบเทียบอะไรระหว่าง ชาร์ลส์ ดาร์วิน กับตัวเราเองได้บ้าง
ถ้าจะให้เทียบก็คงรู้สึกว่าสังคมไทยจะมีนักวิชาการคนไหนอยากแตะเรื่องพญานาคบ้าง แม้ว่าผมจะไม่ได้ยิ่งใหญ่เท่าดาร์วิน ไม่ได้เขียนตำราออกมาอย่างหนังสือ The Origin of Species แต่สิ่งที่เราทำก็มีความคล้ายคลึงกัน เรามาในเส้นทางที่ไม่มีใครกล้าทำ ทำไปแล้วก็เปลี่ยนสังคมไทยได้มุมหนึ่ง ผมเชื่อว่าดาร์วินเองก็ไม่ได้ต้องการให้คนเลิกนับถือพระเจ้า หรือประเทศอังกฤษจะไม่มีคริสเตียนแล้วก็ไม่ใช่ แต่เขาต้องการชี้ให้เห็นวิทยาศาสตร์ที่แท้จริง เราวิวัฒนาการเป็นมนุษย์ขึ้นมาได้อย่างไรบนโลกนี้ หรือสิ่งมีชีวิตเปลี่ยนไปได้อย่างไร ผมก็ไม่ได้บอกให้เลิกนับถือพญานาค หรือความเชื่อใด ๆ มันเป็นความสวยงามของสังคมไทย เพียงจะมองว่าปรากฏการณ์ที่คุณเห็นตอนนี้ ถ้าอธิบายในมุมทางวิทยาศาสตร์แล้วคืออะไร

แล้วนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ที่อาจารย์สนใจ
ริชาร์ด ดอว์กินส์ ผมเพิ่งแปลหนังสือเขาเสร็จ เรื่อง The Selfish Gene เขาเป็นพวกลัทธินิยมดาร์วินเหมือนกัน คือดังมากในแง่ทะเลาะกับชาวบ้าน ดอว์กินส์จะบอกว่าทุกอย่างที่เราเป็นอย่างนี้ก็เพราะยีน ทั้งศีลธรรม จริยธรรม ยีนทำให้เรามีนิสัยอย่างนี้ และเขาพิสูจน์เรื่องซูโดซายน์มาเยอะ เป็นพวกต่อต้านศาสนาค่อนข้างรุนแรงคนหนึ่ง และเขาก็เห็นด้วยกับ GMO เรียกว่าผมกับเขามีอะไรที่เหมือน ๆ กัน

ตอนนี้คนตามอาจารย์เป็นแสน กลัวไหมจะกลายเป็นพระเจ้าอีกองค์ มีสาวกที่เชื่อว่าเราถูกอย่างเดียว
กลัวอย่างยิ่งเลย เราเห็นปฏิกิริยาเร็วมาก พอเราโพสต์ปุ๊บ คนกดไลก์ทันที แต่เฮ้ย ! คิดกันบ้างหรือเปล่าที่กดไลก์หรือกดแชร์ เมื่อก่อนเราจะดีใจว่าโพสต์เราแต่ละอันคนไลก์เป็นพัน บางคนก็ยอมรับว่าเขาเชื่อเราทันที หลายคนบอกก็ไม่เชื่ออาจารย์หรอก แต่ขี้เกียจหา ผมบอกว่าผมจะดีใจกว่านะ ถ้าคุณอย่าเพิ่งเชื่อผม คุณไปหาข้อมูลหน่อยค่อยแชร์ ผมผิดได้นะ ผมก็พยายามออกตัวตลอด ถ้าผมผิดขึ้นมาจริง ๆ ก็เห็นใจกันหน่อย อย่าเพิ่งรุม

ให้อาจารย์ทำตัวเป็นนักพยากรณ์บ้าง ช่วยทำนายหน่อยว่าสังคมไทยจะเป็นอย่างไรต่อ
ยากมาก ประเทศเราเป็นประเทศที่เหนือจริงมาก อะไรที่เราคิดว่าจะไม่เกิดขึ้นก็ยังเกิดขึ้นได้ตลอด ทุกคนเคยคิดว่าปฏิวัติไม่มีทางเกิดแล้ว แต่มันก็เกิดขึ้นถ้าเขาจะทำ ทุกอย่างเกิดขึ้นได้ในประเทศไทยจนไม่สามารถทำนายกันได้ง่าย ๆ มันพร้อมจะพลิกเร็วมาก การที่ผมมีนิสัยคอยสังเกตเรื่องต่าง ๆ แล้วคิดว่ามันเป็นอย่างไร จริง ๆ คืออะไรกันแน่ มีอะไรซ่อนอยู่บ้าง ทำให้โดยส่วนตัวผมพบว่าการคาดคะเนทางการเมืองของผมถูกต้องค่อนข้างสูง เพียงแต่ว่าสังคมจะยอมรับได้หรือเปล่ากับสิ่งที่เราคิด ไม่ต่างอะไรกับเรื่องวิทยาศาสตร์ หรือเรื่องความเชื่อว่า เขายอมรับกับสิ่งที่ผมคิดได้หรือเปล่า อย่างตอนที่มีการชุมนุมนั้นผมก็พยายามบอกหลาย ๆ คนว่า ผมเห็นภาพแล้วว่ามันจะนำไปสู่การปฏิวัติรัฐประหาร ผมก็ตั้งสมมุติฐานไว้ในใจ บางคนบอกอาจารย์จินตนาการมากไป

ถ้าพยากรณ์ ณ วันนี้ (สิงหาคม) ผมพูดตรง ๆ ว่าเราถอยหลังไปมาก เหมือนอยู่ในโลกสมัยเมื่อ ๔๐-๕๐ ปีก่อนที่จอมพลสฤษดิ์ปฏิวัติ แล้วรูปแบบเดียวกันเลย เราจะยิ่งเห็นว่าปฏิวัติไม่ได้ช่วยให้ประเทศดีขึ้น มันคือซูโดซายน์ตั้งแต่แรก การสร้างภาพฝันว่าถ้าเราทำสำเร็จนะ ประเทศจะสวยงามวิจิตรขึ้น ผ่านมาปีกว่าผมไม่เห็นความเปลี่ยนแปลง มีแต่จะแย่ลงเรื่อย ๆ เราจะทำให้คนปรองดองกัน แต่มันยิ่งแตกร้าว

แต่เราจะถอยหลังไปไกลได้ขนาดไหน ก็ต้องรอดูต่อไป เวลาผมสอนหนังสือเด็ก ก็บอกว่า คุณอย่าอยู่แต่ในโลกสวย ๆ ที่คุณถูกหล่อหลอมอยู่ คิดเยอะ ๆ ตั้งคำถามเชิงสร้างจินตภาพของสถานการณ์ในอนาคตเยอะ ๆ ว่าถ้าเป็นแบบนี้หรือแบบนั้นจะเกิดอะไรขึ้น ถ้าประเทศไทยเปลี่ยนแบบนี้จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าเปลี่ยนที่ระดับนั้นระดับนี้จะเกิดอะไรขึ้น ถ้าจะเกิดอย่างนี้แล้วจะรับมืออย่างไร ดีกว่าคุณจะรอช็อกในวันนั้น หรืออยู่ตามกระแสที่หล่อหลอมคุณไป มันมีมายาคติเยอะมากในโลกนี้ เพราะตั้งแต่ก่อนปฏิวัติ คุณใช้แผนล้างสมองให้คนแตกกัน แล้ววันหนึ่งบอกว่าเรามารักกันใหม่ คงไม่มีทางมาคืนดีกันได้ ตอนนี้ใช้วิธีสั่งเอาว่า ห้ามทะเลาะกันแล้วนะ แต่ทุกวันนี้เราอยู่ในยุคโซเชียล ผมว่ามันแรงกว่าสมัยนั้นอีก ก็เลยได้แต่บอกว่า รอดูกันต่อไป (หัวเราะ)

เชิงอรรถ
* คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) มอบรางวัลเกียรติยศ “ผู้อุทิศตนเพื่อสิทธิมนุษยชน” ประจำปี ๒๕๕๖ ให้แก่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ว่าที่ร้อยตรี ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อีกคนที่ได้รับรางวัลในปีเดียวกันคือ ศศิน เฉลิมลาภ

** รางวัลบุคคลและองค์กรที่มีผลานดีเด่นด้านการส่งเสริม ปกป้องและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ประเภทเด็กและเยาวชน