๔ ธันวาคมของทุกปี เป็นวันสิ่งแวดล้อมไทย

ในปี ๒๐๐๐ World Economic Forum ได้คำนวณดัชนีว่าด้วยความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อแสดงสถานภาพสิ่งแวดล้อมของประเทศต่าง ๆ โดยเลือกจาก ๕๖ ประเทศ ปรากฏว่านอร์เวย์เป็นประเทศที่มีสภาวะสิ่งแวดล้อมดีที่สุด มาเลเซียอยู่ในอันดับ ๓๘ และไทยอยู่ในอันดับ ๔๖

ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างเรื่องราวเล็ก ๆ ที่เกิดขึ้นในบ้านเรา ซึ่งพอจะชี้ให้เห็นได้ว่า ทำไมประเทศไทยจึงอยู่ในอันดับท้าย ๆ ของการจัดอันดับดังกล่าว

๑. หลายปีที่ผ่านมา โรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะโรงงานผลิตสินค้าเพื่อส่งออก พากันว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษามาปรับปรุงการทำงานภายในองค์กร เพื่อขอการรับรองมาตรฐาน ISO ทั้งนี้เพื่อให้สาธารณชนและคู่ค้าเห็นว่า โรงงานของตนมีกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม จะได้ไม่ถูกกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ

แต่ที่ผ่านมา โรงงานหลายแห่งที่ตั้งอยู่สองฝั่งแม่น้ำแม่กลอง ในจังหวัดกาญจนบุรี ทำผิดกฎหมายโดยการปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำ โรงงานเหล่านั้นล้วนได้รับเครื่องหมาย ISO และเป็นโรงงานผลิตเพื่อการส่งออก อาทิ โรงงานน้ำตาล โรงงานเยื่อกระดาษ โรงงานผลิตอาหารกระป๋อง ซึ่งหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสิ่งแวดล้อม มักจะเกรงใจโรงงานเหล่านี้เป็นพิเศษ เพราะกลัวจะกระทบกระเทือนต่อการส่งออกของประเทศ

๒. ในการประชุม earth summit ครั้งล่าสุดที่เมืองโยฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ ไทยเป็นประเทศเดียวที่ได้รับเกียรติ ให้ไปพูดเรื่องวิธีการลดปริมาณสารตะกั่วในอากาศ เพราะหลังจากที่ประเทศไทย บังคับใช้น้ำมันเบนซินไร้สารตะกั่วมา ๑๐ ปี ปรากฏว่าระดับสารตะกั่วในอากาศกรุงเทพฯ ลดลงกว่า ร้อยละ ๙๐ เป็นที่อัศจรรย์ใจแก่นานาประเทศมาก

แต่ห่างไกลออกไปในป่าเมืองกาญจน์ โรงงานแต่งแร่ตะกั่วคลิตี้ ของนักการเมืองชื่อดังคนหนึ่ง ได้ปล่อยตะกั่วปริมาณหลายหมื่นตัน ลงสู่ลำธารคลิตี้เป็นเวลาถึง ๒๐ ปี ลำธารสายนี้ไหลผ่านหมู่บ้านคลิตี้ล่าง ทำให้ชาวกะเหรี่ยง ๓๐ กว่าคนล้มป่วย และเสียชีวิตจากระดับตะกั่วในเลือด สูงกว่าคนปรกติหลายร้อยเท่า ทุกวันนี้ชาวบ้านกว่าครึ่งหมู่บ้าน มีปริมาณตะกั่วในเลือดสูงกว่าคนปรกติในระดับอันตรายมาก

๓. คนไทยทิ้งขยะเฉลี่ยปีละ ๑๔ ล้านตัน รัฐต้องใช้งบประมาณในการทำลายถึง ๑๔,๐๐๐ ล้านบาท ขยะ ๑๔ ล้านตันเป็นขยะบรรจุภัณฑ์และวัสดุเหลือใช้ถึงร้อยละ ๔๐ หรือ ๖ ล้านตัน ดังนั้นกรมควบคุมมลพิษ จึงเสนอให้เก็บภาษีขยะบรรจุภัณฑ์และวัสดุเหลือใช้ ตามหลัก “ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย” แต่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ได้ออกมาคัดค้านอัตราภาษีดังกล่าวว่าราคาสูงเกินไป อาจส่งผลกระทบต่อราคาสินค้า มาตรการเก็บภาษีขยะบรรจุภัณฑ์ จึงยังเป็นเพียงแนวคิดอยู่จนบัดนี้

๔. ในปี ๒๕๓๘ รัฐบาลได้เริ่มโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียสมุทรปราการ ซึ่งถือเป็นโครงการบำบัดน้ำเสียที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ปรากฏว่าตลอดระยะเวลาเกือบ ๑๐ ปี นักวิชาการจำนวนมาก ได้ออกมาคัดค้านโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียแห่งนี้ว่า เป็นโครงการที่ได้ประโยชน์น้อยมาก และเป็นโครงการที่มีหลักฐานการคอร์รัปชันมากที่สุดในประวัติศาสตร์เมืองไทย นับแต่การซื้อที่ดินที่ตั้งโครงการจำนวน๑,๙๐๐ ไร่ จากนักการเมืองระดับเจ้าพ่อคนหนึ่ง ด้วยราคาแพงกว่าปรกติหลายเท่า กลุ่มบริษัทผู้รับเหมาที่ประมูลงานได้ ก็มีหุ้นส่วนเป็นรัฐมนตรีในเวลานั้น จนทำให้มูลค่าโครงการที่ตั้งไว้เพียงหมื่นกว่าล้านในตอนต้น พุ่งสูงถึง ๓ หมื่นกว่าล้านบาท

แม้รัฐบาลนายกฯ ทักษิณที่ประกาศนโยบายปราบปรามการคอร์รัปชันอย่างถึงที่สุด ก็ยังเดินหน้าโครงการนี้ต่อไป โดยไม่สนใจเสียงคัดค้านของนักวิชาการ และสื่อมวลชน แต่เรื่องนี้ก็ไม่น่าแปลกใจอะไร เพราะรัฐมนตรีบางคนในรัฐบาลชุดนี้ มีส่วนได้ส่วนเสียกับบริษัทรับเหมาก่อสร้างโครงการดังกล่าว

นักข่าวอาวุโสคนหนึ่งตั้งข้อสังเกตว่า โครงการบ่อบำบัดน้ำเสียสมุทรปราการ ถือเป็นเรื่องคลาสสิกมาก ไม่ว่านักการเมืองฝ่ายใดจะขึ้นมาเป็นรัฐบาล หรือเป็นฝ่ายค้าน ต่างก็ไม่กล้าออกมาเปิดโปงการทุจริตในอภิโครงการนี้เลย เพราะนักการเมืองทุกพรรคต่างได้ผลประโยชน์อย่างทั่วถึง เม็ดเงินที่แจกจ่ายไปเกือบทุกพรรคนั้น มากพอที่จะทำให้เสียงคัดค้านล่องลอยไปกับสายลม

การคอร์รัปชันในสังคมไทย นอกจากจะเป็นอุปสรรคสำคัญในการพัฒนาประเทศแล้ว ยังเป็นอุปสรรคสำคัญในการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์
vanchait@hotmail.com