เรื่อง : ฐิติพันธ์ พัฒนมงคล
อาทิตย์ที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๘ ถือเป็นวันประวัติศาสตร์วันหนึ่งของชาติและวงการจักรยานไทย เมื่อประชาชนนับแสนคนทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดออกมาขี่จักรยานร่วมกันบนท้องถนน พร้อมสวมชุดสีฟ้าซึ่งเป็นสีประจำวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ด้วยจำนวนผู้เข้าร่วมกิจกรรมมากมายเป็นประวัติการณ์ คณะกรรมการกินเนสส์เวิลด์เรกคอร์ดที่เข้าร่วมสังเกตการณ์และบันทึกสถิติจึงประกาศว่ากิจกรรมนี้มีผู้เข้าร่วมขี่จักรยานอย่างพร้อมเพรียงกันมากเป็นสถิติโลก
๑
กิจกรรม “Bike for Mom” หรือ “ปั่นเพื่อแม่” มีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๓ พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๘ และส่งเสริมให้ประชาชนออกกำลังกายเพื่อสุขภาพ โดยจัดกิจกรรมขึ้นในวันอาทิตย์ที่ ๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๘ เวลาประมาณ ๑๕.๐๐ น. พร้อมกันทั่วประเทศ
ที่กรุงเทพฯ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาทรงนำจักรยานสองขบวน ขบวนหลักสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเป็นผู้นำด้วยพระองค์เอง ขบวนถัดมาพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาทรงเป็นผู้นำ โดยเริ่มต้นจากบริเวณลานพระราชวังดุสิตไปตามถนนศรีอยุธยา ผ่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เข้าสู่ถนนวิภาวดีรังสิต ผ่านกรมทหารราบที่ ๑ มหาดเล็กรักษาพระองค์ เลี้ยวขวาเข้ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ออกถนนพหลโยธินเข้าสู่ที่หมาย คือกรมทหารราบที่ ๑๑ รักษาพระองค์ แล้ววนกลับตามเส้นทางเดิม รวมระยะทางทั้งสิ้น ๔๓ กิโลเมตร
ขณะที่ขบวนของประชาชนเริ่มต้นแตกต่างกันตามจุดรายงานตัว เช่น บริเวณแยกผ่านฟ้าฯ สนามกีฬากองทัพบก โรงอาหารกลางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ลานพื้นแข็งในกรมทหารราบที่ ๑๑ รักษาพระองค์ และปั่นตามเส้นทางข้างต้นจนครบระยะ
ด้านต่างจังหวัด ขบวนแถวเริ่มต้นที่ศาลากลางจังหวัด ออกตัวปั่นเป็นขบวนพาเหรดต่อกันจนครบตามเส้นทางที่แต่ละจังหวัดกำหนดไว้
๒
กิจกรรม Bike for Mom กลายเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์ทันทีที่มีการเผยแพร่ข่าว มีผู้สมัครเข้าร่วมกิจกรรมด้วยวิธีลงทะเบียนแบบออนไลน์อย่างคับคั่งจนเว็บไซต์ล่มตั้งแต่วันแรก
วันที่ ๒๕-๒๖ กรกฎาคม ๒๕๕๘ ให้ประชาชนที่ลงทะเบียนไว้ในกรุงเทพฯ เดินทางมารับเสื้อและเข็มกลัดพระราชทานที่สนามกีฬากองทัพบก ถนนวิภาวดีรังสิต วันนั้นแม้จะประชาสัมพันธ์ล่วงหน้าว่ามารับของได้ตั้งแต่ ๐๙.๐๐-๒๐.๐๐ น. แต่ปรากฏว่ามีผู้มารับบัตรคิวตั้งแต่ตี ๔ ตี ๕ บางคนเดินทางมารอตั้งแต่ตี ๑ จนเสื้อพระราชทานจำนวนจำกัดซึ่งตระเตรียมไว้ประมาณ ๑.๕ หมื่นตัวไม่เพียงพอต่อความต้องการ
ถึงวันจัดกิจกรรมมีการปิดถนนตามเส้นทางที่ขบวนจักรยานผ่าน ตั้งแต่เช้านักปั่นทุกช่วงวัยต่างตบเท้าจูงจักรยานเข้ารายงานตัวตามจุดต่างๆ ไม่ทันบ่ายตลอดแนวถนนราชดำเนินทั้งสองฝั่งก็คลาคล่ำด้วยผู้คนสวมชุดสีฟ้า
อภินันท์ วรคุณาลัย พนักงานบริษัทเอกชน เล่าว่า “ปรกติผมก็ขี่จักรยาน เลิกงานก็ขี่ตั้งแต่ทุ่มครึ่งถึง ๓-๔ ทุ่ม ถือเป็นการออกกำลังกายอย่างหนึ่ง ออฟชันไม่ต้องเยอะ เอาที่ตัวเองสบาย เส้นทางประจำคือถนนกรุงเทพฯ-นนทบุรี พระราม ๕ ไป
ออกราชพฤกษ์ ขึ้นสะพานนนทบุรี จะมีกลุ่มสมาชิกนัดรวมตัวกันเกือบทุกคืนครับ อย่างวันนี้ผมก็ขี่จากบ้านที่จังหวัดนนทบุรีมาที่ลานพระบรมรูป ก็ไม่ไกลเท่าไร ปั่นมาเลยแค่ ๑๔ กิโลเมตร วันนี้ต้องปั่นอีก ๔๓ กิโลเมตร สบายมาก”
ก่อนบ่าย ๓ ใกล้เวลาปล่อยตัว นักปั่นเข้าจับจองพื้นที่บนท้องถนน รอคอยอย่างใจจดใจจ่อ
ปิยฉัตร ประชาปรียาภร ผู้ซ้อนจักรยานรอเวลาอยู่หน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บอกว่า “วันนี้ผมมากับครอบครัวครับ สามคนพ่อแม่ลูก ตัวผมเองปรกตินานๆ จึงจะขี่จักรยานสักครั้งหนึ่ง ที่ตัดสินใจเข้าร่วมงานเพราะลูกอยากมา คือน้องปันปันเพิ่งอายุ ๘ ขวบ ไม่เคยขี่สองล้อมาก่อน ได้งานนี้กระตุ้นความพยายามให้เปลี่ยนจากสี่ล้อมาสองล้อได้ ครอบครัวเราไม่ได้ลงทะเบียนไว้ เอาเท่าที่ไปไหว ได้แค่ไหนก็แค่นั้นครับ”
ถนนราชดำเนินนอกดูแคบไปถนัดตาเมื่อรองรับนักปั่นผู้มากับจักรยานคู่ใจ ถึงเวลาปล่อยตัว ภายหลังจากขบวนเคลื่อนออกจากถนนราชดำเนินนอกจนเกลี้ยง ก็ยังมีกลุ่มใหญ่รั้งท้ายอยู่บนถนนราชดำเนินกลางเคลื่อนเข้าแทนที่ กว่าทุกคนจะขี่จักรยานออกจากพื้นที่บริเวณนี้ทั้งหมดก็เป็นเวลาเกือบ ๕ โมง
เมื่อถามถึงการปิดถนนเป็นระยะเวลานานๆ เพื่อให้คนจำนวนมากปั่นจักรยาน อภินันท์ให้ความเห็นว่า “ก็นานาจิตตังครับ สำหรับคนที่เข้าร่วมกิจกรรมและรู้สึกโอเคกับงาน ก็คิดว่าแค่วันเดียวเท่านั้น ผมคิดว่านี่เป็นกิจกรรมครอบครัว ค่อนข้างยากนะครับที่ประชาชนจะได้มาร่วมกิจกรรมแบบนี้ วันที่รวมหลายๆ คนทั้งประเทศ ถ้าเรามองแค่ปลายเหตุว่าปิดถนน คนสัญจรลำบาก ก็อาจจะเป็นอีกแนวคิดหนึ่งก็ได้”
อีกเสียงจาก มนัส หลิมขยัน จากจุดรายงานตัวแยกผ่านฟ้าฯ กล่าวว่า “วันลงทะเบียนผมตื่นตั้งแต่ตี ๓ ไปรอลงทะเบียนที่เขตพระนครตั้งแต่ตี ๔ วันรับเสื้อก็ไปรอที่สนามกีฬากองทัพบก ถึงวันนี้คิดว่าดีมาก ปีหนึ่งจัดสักสองครั้งก็จะดี ทำให้คนได้อยู่ใกล้ๆ กัน จากไม่รู้จักก็ได้คุยกัน ส่วนเรื่องปิดถนนทางเจ้าหน้าที่คงจะดูว่าขบวนสุดท้ายไปแล้ว เขาก็เปิด ไม่ได้ปิดตลอดทั้งวัน ปิดเป็นช่วงเวลา ไม่น่าทำให้ประชาชนเดือดร้อนมากครับ”
อย่างไรก็ตามมีเสียงสะท้อนถึงความเดือดร้อนจากผู้ใช้รถ เช่นเสียงหนึ่งที่เขียนลงเว็บไซต์ชื่อดังตั้งแต่วันซ้อมใหญ่ ๑๙ กรกฎาคมว่า
“เฮ้อ…อยากเห็นหน้าออร์แกไนเซอร์จัง ตั้งแต่เรื่องลงทะเบียน เรื่องเสื้อ นี่มาเรื่องปิดถนนอีก การจัดการว่าแปลกๆ แล้ว นี่ยังทำชาวบ้านเดือดร้อน รู้มั้ยนิ พวกคุณจัดงานได้เงินก็ไปก็จบ เหลือแต่เค้าจะมาด่าพวกจักรยานย้อนหลังอ่ะดิ”
๓
หนึ่งในภาพบรรยากาศสุดท้ายยามค่ำสำหรับกิจกรรม Bike for Mom คือ ลูเซีย ซินิแกกไลซี (Lucia Sinigagliesi) กรรมการตัดสินกินเนสส์เวิลด์เรกคอร์ด ให้การรับรองว่ากิจกรรมนี้มีผู้ร่วมขี่จักรยานพร้อมกันมากที่สุดในโลก ตามข้อกำหนด
การบันทึกสถิติของกินเนสส์เวิลด์เรกคอร์ด เช่น บันทึกสถิติจากจำนวนจักรยานทั่วประเทศที่ออกจากจุดปล่อยตัวพร้อมกันและปั่นต่อเนื่อง ๔ กิโลเมตร อาศัยระบบสแกนบาร์โค้ดในการบันทึกสถิติ ยกตัวอย่างกรุงเทพฯ มีจุดบันทึกสถิติที่หน้าห้องสมุดเพื่อการเรียนรู้ บริเวณซอยราชวิถี ๔ (ซอยพระนาง)
ก่อนนี้สถิติสูงสุดอยู่ที่กรุงไทเป ไต้หวัน ในวาระเฉลิมฉลอง ๑๐๐ ปี การสถาปนาไต้หวัน หรือสาธารณรัฐจีน (Republic of China) ตามแคมเปญ “One Bike One” เมื่อปี ๒๕๕๔ มีผู้ร่วมขี่จักรยาน ๗๒,๙๑๙ คน สถิติครั้งก่อนอยู่ที่เมืองอูดีเน (Udine) ทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศอิตาลี จำนวน ๔๘,๖๑๕ คน
ขณะที่กิจกรรม Bike for Mom แม้ผู้ร่วมปั่นจำนวนมากจะไม่ได้รับการติดตั้งระบบสแกนบาร์โค้ด กินเนสส์เวิลด์เรกคอร์ดยังรับรองที่จำนวน ๑๓๖,๔๑๑ คน ส่งไทยเป็นเจ้าของสถิติโลกรายใหม่ที่ทำลายสถิติเดิมลงอย่างราบคาบ
Bike for Mom นับเป็นกิจกรรมปั่นจักรยานครั้งประวัติศาสตร์ ไม่เคยเกิดขึ้นในเมืองไทย ผลจากการจัดกิจกรรมอาจนำไปขยายผลต่อไปเพื่อสร้างสังคมจักรยานให้เกิดขึ้นจริง •