วิชญดา ทองแดง : เรียบเรียง
โอกาสมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเจริญพระชนมพรรษา ๘๐ พรรษา และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๗๕ พรรษา ในปี ๒๕๕๐ มีการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติเกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และคณะกรรมการในการจัดสร้างเครื่องแต่งกายโขนและละคร ตามพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการอนุรักษ์และสืบสานการแสดงโขนไม่ให้สูญหายไปตามกาลเวลา
มูลเหตุแห่งการแสดงโขนนี้สืบเนื่องจากเมื่อครั้งกรมศิลปากรจัดแสดงโขนตอน “นารายณ์ปราบนนทุก” เพื่อน้อมเกล้าฯ ถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ ณ พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ จังหวัดสกลนคร เมื่อปลายปี ๒๕๔๖ พระองค์มีพระราชเสาวนีย์เรื่องเครื่องแต่งกายโขน โดยทรงเป็นห่วงชุดแต่งกายที่แตกต่างไปจากสมัยเดิมมาก จึงได้พระราชทานทรัพย์จำนวน ๓ แสนบาท เพื่อให้กรมศิลปากรนำไปศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลของเดิมและจัดสร้างเครื่องแต่งกายโขนให้มีลวดลายประณีต งดงาม ตามแบบเดิมเมื่อมีการแสดงโขนเฉลิมพระเกียรติขึ้น ยังความปลาบปลื้มให้ผู้ได้รับชมอย่างล้นพ้น การแสดงโขนที่เคยห่างหายและหาชมยากได้หวนกลับมาเป็นที่สนใจและมีเสียงเรียกร้องให้จัดแสดงทุกปี พสกนิกรต่างเฝ้ารอคอย “โขนพระราชทาน” นี้
โขนพระราชทานมีการผสมผสานเทคนิคสมัยใหม่ อาทิ มีตัวโขนขึ้นรอกล่องลอยในอากาศ การใช้ฉากจำนวนมากที่จัดทำขึ้นด้วยเทคนิคพิเศษ แสงสีเสียงดูสมจริงและยิ่งใหญ่ตระการตา โดยไม่ทำลายรูปแบบการแสดงตามแบบแผนประเพณี นับเป็นการแสดงโขนที่งดงามและสมบูรณ์แบบขึ้นทุกปี
การแสดงโขนพระราชทานหรือ “โขนสมเด็จฯ” นี้นำแสดงโดยนาฏศิลปินชั้นนำจากสำนักการสังคีต กรมศิลปากร สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม นักเรียนและนักศึกษาวิทยาลัยนาฏศิลปจากทั่วประเทศ จัดแสดง ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย นับแต่ปี ๒๕๕๐ มีการแสดงโขนพระราชทานสืบมาแล้วหกชุด
- ตีพิมพ์ใน “โขน ดุจสรวจผสานศิลป์” หนังสือเล่มเล็กแถมใน นิตยสาร สารคดี ฉบับที่ 369 พฤศจิกายน 2558