เรื่อง : นงนภัส ร่มสุขวนาสันต์
ภาพ : วุฒิชัย เสือใหญ่
ผลงานจากค่ายสารคดี ครั้งที่ 11
งานภาพดีเด่น










เราต้องยอมรับความเปลี่ยนแปลงที่มันเกิดขึ้นทุกที่ทุกเวลา แต่ในความเปลี่ยนแปลง มันต้องมีความหลัง” สันติ ตันติภัณฑรักษ์ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “พี่สันติ หนังคลาสสิค” กล่าว

พี่สันติเปิดร้านขายใบปิดหรือโปสเตอร์ภาพยนตร์อยู่ที่สยามสแควร์มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 เขาได้ชื่อว่าเป็นนักสะสมใบปิดภาพยนตร์ผู้คร่ำหวอดในวงการนักสะสมใบปิดกว่า 20 ปี จนเรียกได้ว่า หากต้องการหาใบปิดหนังไทยเก่าๆสักใบ ถ้าไม่เจอที่ร้านของพี่สันติ ก็ไม่ต้องไปหาที่ไหนแล้ว แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่า ใบปิดที่พี่สันติมี จะเข้าสู่ตลาดใบปิดทุกใบ

ถ้าเราเป็นคนทำธุรกิจร้อยเปอร์เซ็นต์ เราคงขายๆไป ไม่คิดอะไรมาก ขายอะไรก็ได้เงินทั้งนั้น แต่นี่เราเป็นคนเก็บของ โปสเตอร์บางใบที่ไม่เคยเห็นแล้วเรามาเห็นปุ๊บ เราจะคิดเลยว่า โอกาสอีกครั้งที่เราจะเห็นมันวนกลับมาที่เรามันไม่มี เราต้องซื้อเก็บไว้ ในฐานะนักสะสมมันเป็นเรื่องของคุณค่า ไม่ใช่มูลค่า

ใบปิดภาพยนตร์ หรือที่เรียกกันง่ายๆว่า โปสเตอร์หนัง คือภาพขนาดใหญ่ที่ใช้ติดบนผนังหรือกำแพงเพื่อสื่อสารข้อมูลที่เกี่ยวกับภาพยนตร์ ทั้งชื่อเรื่อง นักแสดง และฝ่ายผลิต ซึ่งต้องผ่านกระบวนการที่จะทำให้ใบปิดนั้นดึงดูดใจให้ผู้คนสนใจเกี่ยวกับภาพยนตร์มากที่สุด ใบปิดมีหลายขนาดแล้วแต่เป้าหมายในการโฆษณาในแต่พื้นที่และเวลา ใบปิดภาพยนตร์ในแต่ละยุคสมัยถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาจากผลผลิตของความนิยมของมวลชนในความร่วมสมัย เช่นกันกับการให้คุณค่าต่อใบปิดที่ขึ้นอยู่กับความนิยมของมวลชนในยุคสมัยที่ได้หันกลับมามองย้อนถึงอดีตของใบปิด

 

เริ่มต้นการเดินทางของใบปิด

ในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2471ยังไม่มีผู้สร้างภาพยนตร์กำเนิดขึ้นในประเทศไทย การฉายหนังสักเรื่องก็ต้องนำภาพยนตร์ต่างประเทศเข้ามาจัดฉายโดยโรงภาพยนตร์ แน่นอนว่าการโฆษณาหนังสักเรื่องย่อมเป็นหน้าที่ของโรงภาพยนตร์เอง ภาพยนตร์ที่ฉายอยู่ในประเทศสยามขณะนั้น ยังมีลักษณะเป็น “ภาพยนตร์เงียบ” ทำให้ใบปิดหนังในสมัยนั้นที่มีหน้าที่เพียงบอกชื่อของภาพยนตร์ นักแสดง ฝ่ายผลิตพร้อมกับคำโปรยเพียงเล็กน้อยถูกใช้โฆษณาควบคู่ไปกับใบปลิวหรือสูจิบัตรที่ใช้เล่าเรื่องย่อของภาพยนตร์เรื่องนั้นๆ เพื่อให้ผู้ชมเข้าใจเนื้อหาของหนังแต่ละเรื่อง ทำให้การโฆษณาในระยะนี้ไม่ได้เน้นไปที่เนื้อหาและความสนุกสนานของภาพยนตร์เท่าไรนัก แต่กลับไปเน้นที่สิ่งจูงใจอื่นๆที่จะชักชวนให้ผู้ชมมาชมภาพยนตร์แทน เช่น การจับฉลากรางวัล ความทันสมัยและความสะอาดของโรงภาพยนตร์ เป็นต้น

 

ใบปิดออกโรง

หลังจากนั้น มีผู้เกิดความคิดในการให้มีเจ้าหน้าที่บรรยายเรื่องอยู่ข้างจอภาพยนตร์ขณะฉายเพื่อบรรยายฉากแต่ละฉากรวมถึงการแปลข้อความตัวอักษรจากภาษาต่างประเทศเป็นภาษาไทยผ่านโทรโข่ง ปรากฏว่าเป็นที่ถูกใจของผู้ชม ทำให้ผู้ชมสามารถเข้าใจเนื้อเรื่องของภาพยนตร์ได้โดยไม่ต้องอ่านเรื่องย่อตามใบปลิวหรือสูจิบัตรมาก่อน ด้วยเหตุนี้เอง ที่ทำให้ใบปิดเริ่มก้าวเข้ามามีบทบาทแทนที่ใบปลิวและสูจิบัตร เพราะไม่ต้องพึ่งการอ่านเนื้อเรื่องย่อก่อนชมภาพยนตร์อีกต่อไป ใบปิดในช่วงแรกๆนี้จะบอกข้อมูลทุกอย่าง ทั้งสถานที่ วันเวลาในการจัดฉาย รวมถึงเล่าเรื่องย่อคร่าวๆด้วยภาพที่สวยงามแทนตัวหนังสือแบบใบปลิวหรือสูจิบัตร

พี่สันติเล่าให้ฟังว่า ใบปิดรุ่นแรกๆ ส่วนใหญ่มีขนาดประมาณเอสอง พิมพ์สีเดียวบ้าง สองสีบ้าง เป็นการพิมพ์แบบใช้บล็อกพิมพ์ ส่วนใหญ่เป็นสีแดงและสีน้ำเงิน แล้วก็จะพิมพ์ปีที่พิมพ์ไว้ที่ใบปิดด้วย โดยเทคนิคการทำใบปิดยุคนี้จะมีลักษณะง่ายๆ คือนำภาพถ่ายมาตัดปะและมีตัวอักษรบรรยาย ซึ่งกลายเป็นเอกลักษณ์ของใบปิดในยุคนี้ไป เพราะการออกแบบนั้นเน้นไปที่ตัวอักษรที่ใช้เสียมากกว่า

 

พลิกวิกฤตสู่โอกาสใบปิดภาพยนตร์ไทย

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ภาพยนตร์ไทยในยุคเริ่มต้นนั้น ถ่ายทำด้วยฟิล์มทั้งขนาด 16 มม. และ 35มม. ทั้งระบบเงียบและระบบเสียงควบคู่กันไป การบุกเบิกถ่ายทำและจัดฉายภาพยนตร์เสียงในฟิล์มตั้งแต่ปี พ.ศ.2474 ได้รับความนิยมแทนที่ภาพยนตร์เงียบ แต่ก็ไม่ได้ทำให้ภาพยนตร์ที่ถ่ายทำในระบบเงียบนั้นหายไปอย่างสิ้นเชิง แม้ภาพยนตร์ที่ถ่ายทำในระบบนี้ ดังที่กล่าวในข้างต้นว่า ในระยะแรกนั้นมีเจ้าหน้าที่บรรยายเรื่องอยู่ข้างๆจอภาพยนตร์ขณะกำลังฉายเพื่อแปลข้อความตัวอักษรภาษาต่างประเทศต่างๆที่ปรากฏในภาพยนตร์ แต่ในระยะต่อมาการพากย์ได้ถูกปรับให้เป็นการพากย์แบบพากย์โขน ทำให้ยิ่งได้รับความนิยมจากผู้ชมระดับที่เรียกว่า ชาวบ้านร้านตลาด เนื่องจากภาพยนตร์ในระบบนี้มักหยิบนิทานพื้นบ้าน วรรณคดี หรือนิยาย มาสร้างเป็นภาพยนตร์ ทำให้เข้าถึงผู้ชมได้อย่างกว้างขวาง

ระหว่างระยะเวลาที่ความนิยมภาพยนตร์ทั้งสองสายนี้กำลังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง กลับเกิดเหตุการณ์ที่พลิกผันหน้าประวัติศาสตร์ใบปิดภาพยนตร์ไทย เหตุการณ์หนึ่งคือ การอุบัติขึ้นของสงครามโลกครั้งที่ 2 ในยุโรปตั้งแต่ปี พ.ศ. 2482 ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนฟิล์มภาพยนตร์ขนาด 35มม. ซึ่งเป็นขนาดมาตรฐานในกระบวนการผลิตภาพยนตร์ที่ต้องนำเข้าจากยุโรปเท่านั้น ผนวกกับกรุงเทพฯถูกทิ้งระเบิดอย่างหนักในช่วงปลายสงคราม (พ.ศ.2486-2488) อีกทั้งระหว่างนั้นก็ได้เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพฯ (พ.ศ.2485) ที่กินเวลากว่า 6 เดือน ทำให้บริษัทภาพยนตร์ไทยหลายๆบริษัทต้องปิดตัวลง เนื่องจากความเสียหายที่เกิดขึ้นกับโรงถ่ายและภาวะขาดแคลนทุนทรัพย์ที่เป็นผลกระทบจากสงครามและอุทกภัย

แม้สงครามโลกครั้งที่ 2 จะสิ้นสุดลง แต่ทั่วโลกก็ตกอยู่ในภาวะสงครามที่เปลี่ยนแปลงรูปแบบไป คือ สภาวะสงครามเย็นระหว่างมหาอำนาจทั้งสองฝ่าย คือ อเมริกาในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยกับสหภาพโซเวียตในระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ที่ต่างฝ่ายต่างดำเนินการช่วงชิงพื้นที่การแผ่ขยายอุดมการณ์ของตนไปทั่วทุกภูมิภาคของโลก ด้วยผลงานของขบวนการเสรีไทยทำให้ประเทศไทยได้รับการสนับสนุนทางด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจจากอเมริกา ที่ส่งผลเร่งรัดให้เกิดการประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 1 ของรัฐบาลไทย อุตสาหกรรมภาพยนตร์จึงได้รับผลพลอยได้จากเหตุการณ์เหล่านี้ไปด้วย

อย่างไรก็ตาม ในระยะการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมต่างๆ รวมถึงอุตสาหกรรมภาพยนตร์ทั้งต่างประเทศและในไทย ทำให้การใช้ฟิล์มขนาด 16 มม.ที่ก่อนหน้านี้เป็นที่นิยมในหมู่นักสร้างภาพยนตร์มือสมัครเล่นนั้น กลับมาเป็นที่นิยมในสายผู้สร้างภาพยนตร์ขึ้นอีกครั้งเพราะเป็นการลดต้นทุนและเทคนิคการผลิตนั้นไม่ยุ่งยากมากเท่าฟิล์มขนาด 35มม. โดยในปี พ.ศ. 2492 ภาพยนตร์ไทยเรื่อง “สุภาพบุรุษเสือไทย” ที่ถ่ายทำด้วยฟิล์ม 16มม. ได้ทำการปลุกกระแสการสร้างภาพยนตร์ไทยพากย์ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เมื่อออกฉายและทำรายได้อย่างถล่มทลาย ส่งผลให้หมู่ผู้สร้างภาพยนตร์เล็งเห็นถึงกำไรที่จะได้รับจากการสร้างภาพยนตร์ที่ลงทุนน้อยอย่างฟิล์ม 16 มม. ทำให้เกิดการแห่มาลงทุนสร้างภาพยนตร์ในระบบการถ่ายทำระบบนี้มากขึ้นอย่างรวดเร็ว เห็นได้จากในปี พ.ศ.2492 มีการสร้างภาพยนตร์ออกมาเพียง 6 เรื่อง แต่กลับเพิ่มขึ้นเป็น 47 เรื่องในปี พ.ศ.2493 และเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆในปีต่อๆมา1

การเพิ่มขึ้นของจำนวนภาพยนตร์ไทยในช่วงนี้ เรียกได้ว่าสร้างขึ้นอย่างไม่ได้มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเท่าไรนัก กล่าวคือ แก่นเรื่องและการดำเนินเรื่องยังคงซ้ำเดิม ทำให้ความสำคัญของใบปิดยิ่งเพิ่มขึ้น เพราะใบปิดเป็นสิ่งที่จะดึงดูดใจผู้ที่จะเข้ามาชมภาพยนตร์ที่มีแก่นเรื่องเดิมๆ สิ่งนี้เองที่ส่งผลให้รูปแบบของใบปิดเกิดพัฒนาการขึ้นหลายอย่างเพื่อดึงดูดใจผู้ชม เช่น การพิมพ์เพิ่มขึ้นเป็นสี่สี และการจ้างคนวาดภาพแสดงเรื่องราวในภาพยนตร์ในลักษณะบอกเล่าเรื่องราวของภาพยนตร์ แต่ในส่วนของเทคนิคก็ไม่ได้ก้าวหน้าไปกว่าเดิมเท่าไรนักเนื่องด้วยข้อจำกัดทางเทคโนโลยี คือยังมีการนำภาพถ่ายบางฉากและภาพดารานักแสดงมาตัดปะแล้วส่งพิมพ์อยู่เช่นเดิม

 

ใบปิดภาพยนตร์กำหนดชะตา

นอกจากบทบาทในการชักจูงผู้ชมของใบปิดหนังแล้ว อีกบทบาทหนึ่งของใบปิดหนังที่สำคัญต่อการดำเนินการสร้างภาพยนตร์เรื่องหนึ่งคือ ใบปิดหนังในฐานะ นักต่อรอง

“ใบปิดมีไว้สำหรับเจ้าของหนังจะเอาหนังไปขายก่อน แล้วค่อยเอาเงินมาสร้างหนังต่อ ความสำคัญของใบปิดคือแบบนี้ ส่วนมากเจ้าของหนังจะถ่ายหนังจนตังค์หมด พอหนังเข้าแล็บก็เอารูปช่วงถ่ายทำมาทำเป็นใบปิดกันก่อน จะได้มีเงินเอาไปหมุน” อาจารย์ทองดี ภานุมาศ ช่างเขียนใบปิดผู้มีชื่อเสียงเป็นอันดับต้นๆของไทย เล่าไว้ในหนังสือ The inspiration of ตุ๊กแกรักแป้งมาก

การสร้างภาพยนตร์ของผู้อำนวยการสร้างหรือผู้กำกับระหว่างปี พ.ศ.2492-2515 ส่วนใหญ่ต้องอาศัยเงินทุนจากนักลงทุนซึ่งมักเป็นเจ้าของโรงภาพยนตร์หรือสายหนัง การที่นักลงทุนสักคนจะยอมลงทุนกับภาพยนตร์สักเรื่องหนึ่ง ก็ย่อมต้องการการการันตีว่าหนังที่จะลงทุนสักเรื่องจะได้กำไรกลับมา ใบปิดเป็นสิ่งที่จะชักจูงให้นักลงทุนมาลงทุนสร้างภาพยนตร์ เนื่องจากใบปิดที่จะแนบไปกับโครงการนำเสนอขอทุนสร้างนี้เอง ที่จะแสดงถึงความน่าสนใจของเนื้อเรื่องภาพยนตร์ นักแสดง อารมณ์ครบรสของภาพยนตร์ซึ่งเป็นที่นิยมในขณะนั้น ยิ่งทวีคูณการแข่งขันการจูงใจที่นำไปสู่การพัฒนารูปแบบของใบปิดภาพยนตร์ในเวลาต่อมา

 

ใบปิดคืออาจารย์

“ตอนเรียนพี่ใช้ต้นฉบับใบปิดเสือน้อยเป็นแบบฝึกวาดภาพ โปสเตอร์พวกนี้เหมือนเป็นครูระดับบรมครูของเราเลย เราดูทั้งวิธีเขียน ลงสี แสงเงา คอมโพสฯ (การจัดวางองค์ประกอบภาพ) ดูทุกอย่าง ตอนเรียนที่ไทยวิจิตรศิลป์ พี่ก็ลอกแบบโปสเตอร์หนังฝรั่งเรื่อง Convoy มา ตอนนั้นอาจารย์ทองดีเป็นคนเขียนใบปิดภาคภาษาไทยของเรื่องนี้ เราก็เอาแบบที่อาจารย์ทองดีเขียนไว้มารวมกับแบบที่ฝรั่งเขียนไว้แล้วเอามาจัดคอมโพสใหม่ ลดตรงนั้นบ้าง เติมตรงนี้บ้าง แล้วเอาไปส่งประกวดโรงเรียน ได้รางวัล”

ใบปิดภาพยนตร์ไทยได้อิทธิพลจากใบปิดภาพยนตร์ต่างประเทศหลายๆเรื่อง พี่สันติเล่าว่า ในสมัยของพี่สันติและก่อนหน้านั้น ไม่ได้มีสื่อการเรียนการสอนศิลปะอย่างเป็นรูปธรรมเหมือนทุกวันนี้ ทำให้การฝึกฝนวาดภาพต่างๆนานานั้น ต้องฝึกจากสื่อสิ่งพิมพ์ที่มีอยู่ในขณะนั้นคือ ใบปิดภาพยนตร์นั่นเอง

ดังที่เห็นได้จากพัฒนาการของวงการภาพยนตร์ที่ภาพยนตร์ไทยนั้นตามหลังภาพยนตร์ต่างประเทศ พัฒนาการของใบปิดก็เช่นกัน ช่างเขียนใบปิดมักใช้ใบปิดภาพยนตร์ต่างประเทศเป็นแม่แบบในการสร้างสรรค์ใบปิดภาพยนตร์ต่างๆทั้งไทยและเทศ จากนั้นจึงนำมาปรับให้เข้ากับรสนิยมการดูภาพยนตร์ของกลุ่มผู้ชม ทำให้เกิดเป็นใบปิดแบบที่เป็นเอกลักษณ์ไทยขึ้นมา

นอกจากการใช้ใบปิดในการฝึกฝนวาดภาพของช่างเขียนใบปิดที่มีชื่อเสียงในยุคนั้นแล้ว การสร้างสรรค์ใบปิดนั้น ไม่ได้เกิดขึ้นจากช่างเขียนคนเดียว คือ ส่วนใหญ่มักทำงานกันเป็นทีม เช่น ผู้ที่มีชื่อเสียงหรือมีฝีมือมากเป็นผู้เขียนตัวละครหลัก รองลงมาเป็นศิษย์หรือลูกน้องที่เขียนตัวละครรองและการออกแบบตัวอักษรให้เข้ากับภาพยนตร์ ซึ่งแบ่งตามความถนัดของสมาชิกในทีม

“สมัยเรียนพี่ชอบไปดูเขาเขียนคัทเอาท์หลังโรงหนังเฉลิมไทย” พี่สันติเล่าให้ฟังในฐานะนักเรียนศิลปะคนหนึ่ง ซึ่งเป็นการตอกย้ำถึงความสำคัญของใบปิดภาพยนตร์ ในฐานะครูทั้งทางตรงและทางอ้อม

 

ใบปิดภาพยนตร์เขียนมือแบบไทย อารมณ์ไหนๆ…ก็ตอบโจทย์

“ฝรั่งชอบโปสเตอร์หนังแบบไทยๆ เขาบอกว่ามันมีรายละเอียด” พี่สันติเล่าถึงประสบการณ์การขายใบปิดภาพยนตร์ไทยให้แก่ชาวต่างชาติ

ใบปิดภาพยนตร์แบบเขียนมือหรือวาดภาพ เริ่มปรากฏตั้งแต่ พ.ศ.2501 เป็นต้นมา เนื่องจากทรรศนะแห่งความสวยงามย่อมเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา การที่ใบปิดหนังเขียนมือเริ่มได้รับความนิยมในช่วงนี้นั้น บ้างก็ว่าใบปิดหนังเขียนมือนั้นมองแล้วได้อารมณ์กว่า อีกทั้งเทคนิคต่างๆในการนำเสนอนั้นขึ้นอยู่กับจินตนาการของศิลปินหรือช่างเขียนได้เต็มที่กว่า

เดิมทีงานสร้างใบปิดหนังนั้นขึ้นอยู่กับฝ่ายศิลปกรรมของบริษัทผลิตภาพยนตร์ แต่เมื่อใบปิดหนังเขียนมือเริ่มได้รับความนิยมขึ้นมา นายทุนก็ยิ่งลงทุนไปกับการโฆษณาโดยใบปิดหนังเขียนมือที่ดึงดูดใจผู้ชมในขณะนั้น ทำให้เกิดเป็นอาชีพจิตรกรวาดใบปิดภาพยนตร์และป้ายโฆษณาต่างๆขึ้นอย่างเรียกได้ว่าเป็นทางการตั้งแต่ช่วงระยะนี้เป็นต้นมา ซึ่งลักษณะของใบปิดหนังเขียนมือในยุคนี้เองที่กลายเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นในความทรงจำของผู้คนที่ทรงคุณค่ามาจนถึงปัจจุบัน

“ตอนเริ่มดู เราก็ดูว่า ทำไมโปสเตอร์นี้สวย ใครเป็นคนเขียน อาจารย์เปี๊ยก อาจารย์ทองดี อาจารย์ลิ้ม อาจารย์ชวนะ แต่ละคนมีเอกลักษณ์ของตัวเอง” พี่สันติเล่าถึงการวิจักษ์ความงามของใบปิดภาพยนตร์ในมุมมองของเขา

ใบปิดภาพยนตร์ที่เขียนโดยช่างชาวไทยนั้น มีเอกลักษณ์เด่นๆหลายอย่าง ทั้งการใช้สีและตัวอักษรสื่ออารมณ์ของภาพยนตร์ แต่ที่โดดเด่นไปกว่านั้นคือ การจัดวางองค์ประกอบของใบปิดภาพยนตร์ ที่สะท้อนถึงรสนิยมการเสพย์ภาพยนตร์ในสมัยนั้นๆ ได้อย่างดี อย่างเช่น ในช่วงหนึ่งที่การออกแบบใบปิดนั้นมักจะใช้ตัวละครหลักเป็นภาพใหญ่ และใส่ตัวละครที่สำคัญรองลงมาไว้ในขนาดลดหลั่นลงไป รวมถึงการนำเสนอเนื้อหาฉากต่างๆของภาพยนตร์ในหลากหลายฉากหลากหลายอารมณ์ในใบปิดแผ่นเดียว สามารถแสดงถึงความนิยมในตัวดารานักแสดงนำและความนิยมเสพย์ภาพยนตร์แบบครบรส

ในระยะต่อมาการสร้างภาพยนตร์นั้นได้มีพัฒนาการเป็นการสร้างภาพยนตร์แนวใดแนวหนึ่ง ไม่ได้สร้างแบบครบรสเหมือนแต่ก่อน การสร้างสรรค์ใบปิดก็จะออกมาในแนวทางที่สื่ออารมณ์หลักของภาพยนตร์โดยจะสะท้อนผ่านการออกแบบตัวอักษร โทนสีของภาพยนตร์ ฉากและสีหน้าของตัวละครแต่ละตัว เป็นต้น โดยใบปิดจะถูกแต่งเติมตามจินตนาการของช่างเขียน ผนวกกับความนิยมของผู้ชมในขณะนั้นด้วย เช่น อาจมีการใส่รูปโป๊เปลือยเพื่อดึงดูดใจผู้ชม เรียกได้ว่า การปรับตัวเหล่านี้กลายเป็นคุณลักษณะเฉพาะของใบปิดหนังไทยในแต่ละยุคทีเดียว

หากจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพชัดเจนอีกต่อหนึ่ง ก็คงต้องเปรียบเทียบกับใบปิดภาพยนตร์ตะวันตก ที่ให้ความสำคัญกับองค์ประกอบหลักมากกว่า คือ ตัวละครหลักหรือแก่นเรื่องหลัก ทำให้ไม่นิยมวาดรายละเอียดอื่นๆมากในฉากหลังเท่าใบปิดแบบไทย สิ่งนี้เองที่สะท้อนถึงรสนิยมหรือความนิยมในการเสพย์ภาพยนตร์ของแต่ละสังคม

 

ช่างเขียนใบปิด ผู้แต่งเติมเสริมความทรงจำ

“เวลาพิมพ์ออกมาไม่ได้เรื่อง สีไม่สวยเท่าตัวต้นฉบับ 30 ปีแล้วสียังสด” พี่สันติเล่าพร้อมหยิบใบปิดภาพยนตร์ต้นฉบับเรื่องหนึ่งออกมาโชว์ให้ดู

“วันนั้นไปดูหนังที่เพชรรามา เรื่องเสือน้อย โรงนี้มันบ้า เอาต้นฉบับใบปิดแปะไว้ ผมเห็นปุ้บสติแตก ไปดูทุกวัน เลยไปติดต่อเด็กโรงหนัง เขาเรียกเราพันนึง ตอนนั้นแพงมากนะสำหรับนักเรียนอย่างเรา แต่เรายอมจ่าย ดีใจ ภูมิใจมาก” พี่สันติเล่าถึงใบปิดภาพยนตร์ต้นฉบับเรื่องแรกที่ได้มาครอบครอง

การให้คุณค่าของใบปิดภาพยนตร์ที่วาดโดยช่างเขียนชาวไทยและผู้ชมภาพยนตร์ เกิดขึ้นมาจากความผูกผันทั้งกับภาพยนตร์ รวมไปถึงประสบการณ์ของผู้เสพย์ความสุนทรียะเหล่านี้เอง ที่สร้างคุณค่าให้แก่ใบปิดภาพยนตร์ไทยผ่านกาลเวลาและเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ทั้งของแต่ละคนและของแต่ละสังคม ซึ่งความนิยมในแต่ละยุคสมัยก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยไม่หยุดนิ่ง

“ตอนน้ายังเขียนคัทเอาท์ให้โรงหนังอยู่ บางทีบริษัทในกรุงเทพฯเขาส่งต้นฉบับใบปิดมาให้เลย ตอนนั้นก็ไม่ได้คิดหรอกว่ามันจะมีค่าขนาดนี้ ไม่งั้นน้าไม่ปล่อยให้มันขาดมันเปียกแล้วก็หายไปอย่างนี้หรอก น่าเสียดาย เดี๋ยวนี้เขาตามหาตามซื้อใบปิดต้นฉบับกันให้ควั่ก”

สมชาย คงฤทธิ์ หรือช่างชาย ช่างเขียนภาพอิสระที่แต่เดิมยึดอาชีพเป็นช่างเขียนคัทเอาท์ให้โรงภาพยนตร์หลายแห่งในจังหวัดจันทบุรีกว่ายี่สิบปี กล่าวด้วยน้ำเสียงแห่งความเสียดาย

 

ประสบการณ์การเดินทางของใบปิดภาพยนตร์

การเดินทางไม่จำเป็นต้องไปตามลำดับหนึ่งไปสองเช่นใด วิวัฒนาการของใบปิดภาพยนตร์ก็เป็นเช่นนั้น ถึงแม้ใบปิดภาพยนตร์แบบเขียนมือจะได้รับความนิยมมากในระยะก่อนหน้า แต่การใช้เทคนิคเดิมๆในการสร้างสรรค์ใบปิดก็ยังคงถูกใช้อยู่อย่างต่อเนื่อง แต่ในขณะเดียวกันก็มีพัฒนาการทางด้านรูปแบบและเทคนิค ทั้งการพิมพ์ การออกแบบให้หลากหลายและสร้างสรรค์ โดยจะผสมผสานทั้งภาพวาด ภายถ่าย ภาพตัดปะให้มากขึ้นตรงใจทั้งผู้สร้างสรรค์ผลงานและผู้ชม โดยภาพยนตร์บางเรื่องมีการออกแบบใบปิดโฆษณาออกมาหลายแบบด้วยกันเพื่อเลือกใช้ให้เข้ากับตลาดผู้ชมหลายๆกลุ่มเพราะแต่ละคนไม่ได้มีกฏเกณฑ์ในความงามเหมือนกันไปเสียหมด อย่างคนรุ่นเก่าๆอาจนิยมใบปิดเขียนมือ ส่วนคนรุ่นต่อๆมา ก็อาจนิยมใบปิดภาพถ่ายเสียมากกว่า

เป็นที่รู้กันดีว่า ความนิยมต่อสิ่งใดๆนั้นไม่ใช่สิ่งที่จะหยุดอยู่กับที่ เมื่อมีเกิดขึ้นต้องมีดับไป การเข้ามาแทนที่ของใบปิดภาพยนตร์แบบภาพถ่ายในช่วง20ปีให้หลัง (ตั้งแต่พ.ศ.2535เป็นต้นมา) สะท้อนถึงความนิยมในแนวทางการสร้างภาพยนตร์ให้มีความทันสมัยอย่างตะวันตกมากขึ้นด้วยเทคโนโลยีการออกแบบและการพิมพ์ที่เป็นอิทธิพลจากฝั่งตะวันตกสู่ประเทศไทย ซึ่งนับวันยิ่งมีต้นทุนถูกลง ผกผันกับงานเขียนภาพที่ต้องใช้ฝีมือและต้นทุนในการลงทุนว่าจ้างเพื่อการโฆษณาสูงกว่าการโฆษณาโดยเทคโนโลยีใหม่ๆในปัจจุบัน

“เพื่อนๆที่เขียนคัทเอาท์ด้วยกันส่วนใหญ่ตอนนี้ไปเปิดร้านรับออกแบบและพิมพ์ป้ายไวนิลกันหมด ส่วนน้าเองก็รับงานเขียนจิตรกรรมฝาผนังให้วัด รับเขียนป้ายโฆษณาบ้าง ส่วนตอนนี้ (พ.ศ.2558) เขียนภาพตบแต่งผนังห้องพักรีสอร์ทที่แหลมเสด็จอยู่ เจ้าของรีสอร์ทเขาอยากได้ฝาผนังเป็นรูปใบปิดสมัยก่อนๆ”

ช่างชายเล่าให้ฟังถึงความต้องการของเจ้าของรีสอร์ทแห่งหนึ่งในหาดแหลมเสด็จ อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี ที่ต้องการให้ช่างชายผู้มีชื่อเสียงใน จ.จันทบุรี ในเรื่องการเขียนคัทเอาท์ภาพยนตร์ในยุคใบปิดเขียนมือเฟื่องฟู มาเขียนตบแต่งห้องให้กลายเป็นห้องที่มีใบปิดภาพยนตร์เรื่องมนต์รักลูกทุ่ง (พ.ศ. 2513) และแผลเก่า (พ.ศ.2520) ขนาดใหญ่ติดไว้

จากเรื่องราวของใบปิดภาพยนตร์ตั้งแต่ยุคเริ่มแรกจนถึงปัจจุบันนั้น แสดงถึงคุณค่าของใบปิดภาพยนตร์ในแต่ละยุคสมัยที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาด้วยเทคนิคและรูปแบบที่แตกต่างกัน ซึ่งก็มีพัฒนาการที่คาบเกี่ยวกันไปในแต่ละยุคสมัย ไม่ได้แยกออกจากกันอย่างสิ้นเชิง ใบปิดภาพยนตร์จากอดีตจนถึงปัจจุบัน ยังคงมีหน้าที่เดิมคือการโฆษณาดึงดูดใจให้ผู้คนเข้ามาชมภาพยนตร์ แต่ในความนิยมที่เฟื่องฟูของใบปิดหนังเขียนมือที่มีพัฒนาการในระยะเวลากว่า 30 ปี กลับโดดเด่นและเป็นที่จดจำอยู่ในความทรงจำทั้งของผู้คนที่อยู่ร่วมสมัยและในปัจจุบัน

“ใบปิดยังมีคุณค่าสำหรับคนหลายๆ รุ่นอยู่ ไม่งั้นเขาจะจัดพิพิธภัณฑ์หรือจัดแสดงงานเกี่ยวกับใบปิดหนังยุคเก่าๆทำไม ทำไมคนยังเล่นของพวกนี้ ทำไมโปสเตอร์เก่าๆถึงแพง หลักพันถึงหลักแสนเขายังซื้อกัน” พี่สันติตั้งคำถามทิ้งไว้ให้คิดถึงคุณค่าของใบปิดภาพยนตร์ในยุคใบปิดเขียนมือ

ใบปิดภาพยนตร์ในยุคเขียนมือที่แม้ปัจจุบันได้หยุดนิ่งไปแล้ว แต่ในความหยุดนิ่งนั้น กลับมีบทบาทอื่นเพิ่มเติมเข้ามา ดังเช่น สิ่งที่ช่างชายกำลังทำให้ใบปิดยุคเขียนมือเฟื่องฟูกลับมาโลดแล่นอยู่บนความทรงจำของผู้คนที่ได้มาสัมผัสรีสอร์ทแห่งนี้อีกครั้งในฐานะสิ่งย้ำเตือนถึงการเดินทางของใบปิดภาพยนตร์ ที่แม้มองผิวเผินอาจเป็นแค่สื่อโฆษณาเก่าๆ แต่แท้จริงแล้วกลับเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ของสังคมไทยที่สะท้อนความนิยมภาพยนตร์และบริบททางสังคมวัฒนธรรมในแต่ละยุคสมัยอันเนื่องจากการเดินทางผ่านทั้งกาลเวลาและความทรงจำทั้งส่วนตัวและส่วนรวม

“เมื่อถึงเวลา..ใบปิดมันก็จะเพิ่มคุณค่าขึ้นมาเอง” พี่สันติทิ้งท้าย

เชิงอรรถ

  1. สกลชนก เผื่อนพงษ์. ศิลปะการออกแบบโปสเตอร์ภาพยนตร์ไทย : พ.ศ. 2515-2535 บทพลิกผันจากแนวประเพณีสู่ความเป็นสากล. หน้าที่ 17.