เรื่อง : ภีมรพี ธุรารัตน์
ภาพ : ทศวรรณ สุขโชติ
ผลงานจากค่ายสารคดี ครั้งที่ 11
งานภาพดีเด่น

[Best_Wordpress_Gallery id=”8″ gal_title=”Hun Bangluang”]

เสียงระนาด ปีใน ล้อไปกับเสียงตะโพนให้จังหวะ ประกอบเป็นเพลงรัวสามลา

ภาพเบื้องหน้าที่ปรากฏแก่ทุกสายตา คือ การออกลีลาแผลงอิทธิฤทธิ์ลิงโลดของหนุมาน และจังหวะท่วงท่าการหลบหลีกอันอ่อนช้อยของนางสุวรรรณมัจฉา ประกอบกับจังหวะเพลงหน้าพาทย์รัวสามลานั้นทำให้ผู้ชมเกิดความรู้สึกสนุกระคนตื่นเต้น

หากแต่ทั้งหนุมานและสุวรรณมัจฉาที่ดึงดูดความสนใจจากสายตาผู้ชมนั้น มิได้เกิดจากการเคลื่อนไหวด้วยชีวิตของตนเอง ภาพถัดลงมาจากตัวหุ่นละครเล็กทั้งสองจึงเป็นเหล่าบรรดานักเชิดหุ่นผู้นุ่งดำ ห่มดำ และปกปิดใบหน้าด้วยหน้ากากสีดำ สามชีวิตประสานกันเป็นหนึ่งจิตวิญญาณของตัวละคร บังคับทิศทางการเคลื่อนไหวของหุ่นให้โลดเล่นเสมือนปุถุชนผู้มีลมหายใจ

ลึกเข้าไปเพียไม่กี่ร้อยเมตรจากต้นซอยจรัญสนิทวงศ์ 3 ถนนจรัญสนิทวงศ์ เป็นที่ซุกซ่อนตัวของชุมชนเก่าแก่ตั้งแต่ปลายสมัยอยุธยา นามว่า “ชุมชนคลองบางหลวง” จากสังคมภายนอกที่วุ่นวายและหมุนไปตามทางเจริญด้านวัตถุของเมืองหลวงอันแสนศิวิไลซ์

สายน้ำแห่งคลองบางหลวงเส้นนี้หล่อเลี้ยงและผูกพันจนเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตชาวบ้านที่นี่มานานนับตั้งแต่บรรพบุรุษจนถึงรุ่นลูกรุ่นหลานในปัจจุบัน บ้านเรือนไม้เก่าริมสองฝั่ง การสัญจรไปมาด้วยเรือยนตร์ บ้างก็มีเรือพายขายของอย่างผัดไทย ก๋วยเตี๋ยวเรือ ชาชง ฉายภาพวิถีชีวิตดั้งเดิมริมน้ำของชุมชนนี้ที่ไม่เปลี่ยนแปลงจากอดีตมากนัก

ห่างจากสะพานข้ามคลองเพียง 100 เมตร เรือนไม้สองชั้นทรงมะนิลา อายุเก่าแก่ร่วม 100 กว่าปี ที่กลมกลืนไปกับบ้านเรือนทั่วไปจนไม่สามารถแยกความต่างจากกันได้ สถานที่แห่งนี้หาใช่แหล่งพำนักอาศัยของมนุษย์อย่างในสมัยก่อน หากแต่เป็นแหล่งเคหาสน์แห่งศิลปะที่ชาวบ้านในละแวกนั้น รวมถึงนักท่องเที่ยวเรียกมันว่า บ้านศิลปิน คลองบางหลวง

จตุพร นิลโท หรือ ตี๋ หนึ่งในศิลปินหุ่นละครเล็ก คณะคำนาย เล่าประวัติความเป็นมาของสถานที่แห่งนี้ให้ฟังว่า เดิมทีเรือนไม้ทรงมะนิลาเลียบคลองบางหลวงหลังนี้เป็นสถานที่พำนักของสกุล รักสำหรวจ เมื่อตัวบ้านทรุดโทรมลงไปตามวันและเวลา ประกอบกับ อาจารย์ชุมพล อักพันธานนท์ ศิลปินแนวหน้าของประเทศ เห็นถึงความสำคัญทางศิลปะและสถาปัตยกรรมของเรือนไม้หลังเก่านี้ จึงได้ซื้อต่อจาก ประไพ รักสำหรวจ ทายาทรุ่นสุดท้ายที่อาศัยในบ้านหลังนี้ เมื่อ 6 ปีที่ผ่านมา

หลังจากนั้นได้ปรับปรุงสภาพตัวบ้านให้คงสภาพเดิม และได้เปิดเป็น “บ้านศิลปิน คลองบางหลวง” ต่อมาบ้านศิลปิน คลองบางหลวง ได้รับรางวัลอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรมดีเด่น สาขาเคหสถาน จากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ในปี พ.ศ. 2554

นอกจากความโดดเด่นของตัวบ้านแล้ว จตุพรเล่าว่า ยังมีหลักฐานวัตถุทางประวัติศาสตร์สำคัญที่บอกเล่าความเป็นไปในอดีตของสถานที่แห่งนี้อีกสิ่งหนึ่ง นั่นคือ เจดีย์ย่อยมุมไม้สิบสอง อายุกว่า 300 ปี ที่ตั้งตระหง่านกลางบริเวณบ้านศิลปิน เป็น 1 ใน 4 สิ่งก่อสร้างที่แสดงอาณาบริเวณของวัดกำแพงบางจากที่อยู่ถัดเข้าไปในชุมชนคลองบางหลวง นอกจากนี้แล้วยังเป็นตำแหน่งบอกทิศให้แก่ชุมชมสมัยนั้นด้วย ปัจจุบันเจดีย์ดังกล่าวเหลือเพียงที่นี่องค์เดียวเท่านั้น

จตุพร เล่าต่อว่า สำหรับ “หุ่นละครเล็ก คณะคำนาย” นี้ ถือกำเนิดขึ้นพร้อมกับบ้านศิลปิน คลองบางหลวง ภาพรวมของหุ่นละครเล็ก คณะคำนายนี้ไม่แตกต่างพิสดารไปกว่าหุ่นละครเล็กคณะอื่นต่างอย่างใด แต่ด้วย ลายเส้น หรือเอกลักษณ์ของคณะที่เน้นในเรื่อง สภาวะจิต กล่าวคือ การเข้าใจในสภาพจิตของตน ณ ขณะนั้น ซึ่งเป็นการประยุกต์ใช้หลักทางพระพุทธศาสนาเข้ามาเกี่ยวข้องกับศิลปะการแสดงทั้งผู้เชิดหุ่นและผู้ชมด้วย นอกจากนี้ยังมีการประยุกต์ขนบการเชิดหุ่นละครที่รับกับสมัยนิยมมากขึ้น เพื่อให้เข้ากับพฤติกรรมของผู้ชมในยุคนี้

“แม้ว่าการแสดงโขน การเชิดหุ่นละคร เป็นศิลปะที่เก่าแก่และงดงามของประเทศไทย แต่กว่าจะแสดงกันจบแต่ละฉาก แต่ละตอนใช้เวลานานมาก ไม่อยากให้เกิดความรู้สึกเชื่องช้าและน่าเบื่อจนเกินไป จึงต้องปรับเรื่องให้กระชับ น่าสนใจมากขึ้น แต่คงความงามอย่างไทยไว้เหมือนเดิม” จตุพรแสดงทัศนะ

อีกเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของคณะคำนาย นั่นคือ การสวมหน้ากากสีดำปกปิดใบหน้าผู้เชิดหุ่นตลอดการแสดง นอกเหนือจากการแต่งกายด้วยอาภรณ์สีดำ เป็นกุศโลบายจาก อาจารย์วัชระ ประยูรคำ หัวหน้าคณะหุ่นละครเล็กและปฏิมากรฝีมืออันดับต้นของประเทศ มีความต้องการที่จะลดทอนความเป็นอัตตะ หรือความเป็นมนุษย์ของผู้เชิดลง ประกอบกับต้องการผสมผสานศิลปะการแสดงกับงานปั้นไว้ด้วยกัน จึงปั้นหน้ากากโดยลอกลายมาจากพระพักตร์ของปฏิมากรรมพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย ที่ทอดพระเนตรลงต่ำ เพื่อให้เกิดความรู้สึกสงบ ขลับให้หุ่นละครเล็กดึงดูดความสนใจและสายตาจากผู้ชมยิ่งขึ้นเมื่อออกแสดง

เมื่อกล่าวถึงการเชิดหุ่นละครเล็ก จตุพร อธิบายต่อว่า การเชิดหุ่นละครเล็กนั้นเป็นการรวมเอาศาสตร์แห่งศิลปะแขนงต่างๆ ไว้ด้วยกัน ดังนั้นผู้เชิดจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีความชำนาญด้านศิลปะชั้นสูงอย่างโขน และต้องศึกษาศิลปะแขนงนี้อย่างน้อย 6 ปี จึงสามารถศึกษาเฉพาะทางด้านการเชิดหุ่น รวมถึงกลไกการแยกประสาทสัมผัสส่วนต่างๆ เพิ่มอีก 2 ปี จึงจะสามารถออกแสดงได้จริง

สำหรับการเชิดหุ่นละครเล็กนั้นจำเป็นต้องใช้ผู้เชิดถึง 3 ตำแหน่ง ได้แก่ ตำแหน่งแรก เรียกว่า เชิดตัวกลาง ผู้ที่เชิดตัวกลางจะบังคับศีรษะและแขนด้านซ้ายของหุ่น ตำแหน่งต่อมา จะมีหน้าที่บังคับเท้าหุ่น และตำแหน่งสุดท้าย บังคับมืออีกข้างของหุ่น ซึ่งทั้ง 3 ตำแหน่งนี้สามารถที่จะสลับตำแหน่งกันได้เสมอ ดังนั้นทุกตำแหน่งจึงมีความสำคัญต่อการถ่ายทอดจิตวิญญาณด้วยความสมัครสมานสามัคคีจากผู้เชิดทั้งสามคนให้หลอมรวมเป็นหนึ่งหุ่นที่เคลื่อนไหวดุจมีชีวิตเป็นของตนเอง

จตุพร เล่าถึงอีกบทบาทหนึ่ง นอกเหนือจากการเป็นนักเชิดหุ่นแล้ว เขายังเป็น ครูตี๋ ของนักเรียนทุกคนในห้องเรียนเชิงปฏิบัติที่ไม่มีกระดานดำ ไม่มีตำราเรียน ไม่มีผนังห้อง มีแต่เพียงความตั้งใจจากผู้สอนไปสู่ผู้เรียนที่ปรารถนาจะ สืบสาน และส่งต่อลมหายใจให้หุ่นละครเล็กมีชีวิตต่อไปจากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่ง

นอกจากจะเป็นสถานที่แสดงหุ่นละครเล็กแล้ว เรือนไม้ทรงมะนิลาหลังนี้ยังใช้เป็นห้องเรียนสำหรับผู้ที่สนใจศิลปะแขนงการเชิดหุ่นอีกด้วย

ด้วยประสบการณ์ที่สั่งสมจากการปฏิบัติจริงมานานกว่า 20 ปี นับตั้งแต่ในรั้ววิทยาลัยนาฏศิลป์จนถึงการออกแสดงภายนอกทั้งงานราษฎร์และงานหลวง อย่าง การแสดงต่อหน้าพระพักตร์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบรมวงศานุวงศ์ ในการพระราชพิธี พระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ผนวกกับใจที่ปรารถนาต้องการถ่ายทอดความรู้ ทักษะที่ติดตัวให้แก่ผู้ที่สนใจ จตุพรจึงใช้เวลา 16.00 – 18.00 น. ช่วงหลังการแสดงในวันเสาร์และอาทิตย์ สอนการเชิดหุ่นละครเล็กให้กับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป ทั้งภายในและภายนอกชุมชนคลองบางหลวง โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

“สังคมในยุคนี้พัฒนาด้านวัตถุและเทคโนโลยีต่างๆ อย่างรวดเร็ว และสิ่งเหล่านี้เข้ามามีบทบาทกับวิถีชีวิตมากขึ้น ทางกลับกันศิลปะรากเหง้าของไทยหลายอย่างกลับถูกลดค่าและสูญหายไปตามเวลา ดังนั้นเมื่อมีคนสนใจอยากเล่นโขน อยากเชิดหุ่น จึงเป็นเรื่องสมควรอย่างยิ่งที่ต้องสอน เขาอาจไม่ต้องมายึดการเชิดหุ่นป็นอาชีพหลักก็ได้ แต่อย่างน้อยที่สุดสิ่งที่จะติดตัวพวกเขาไป นั่นคือ ความสามารถ” จตุพรกล่าว

พิชาภพ ศุภกิจจาธร หรือเรียกกันในหมู่นักเรียนเชิดหุ่นละครเล็กว่า “พี่ที” วัย 38 ปี และ พลายชุมพล อักษรณรงค์ หรือ พลาย วัย 15 ปี สองนักเรียนต่างวัยในห้องเรียนของคณะคำนาย ล้วนแล้วแต่มีความสนใจในศิลปะการเชิดหุ่นละครเล็กเหมือนกัน

พิชาภพ เล่าให้ฟังว่า เดิมทีตนเองมีทักษะด้านการแสดงโขนมาตั้งแต่สมัยเรียน เมื่อมีเวลาว่างจากงานในวันหยุดสุดสัปดาห์ จึงมาขอเรียนการเชิดหุ่นละครที่บ้านศิลปินเพื่อต่อยอดและพัฒนาความรู้ ความสามารถเดิมที่มีอยู่

ส่วน พลายชุมพล เล่าว่า ตนเองมีความสนใจในศิลปะโขนเช่นกัน เมื่อมีโอกาสได้เรียนโขนในช่วงปิดภาคเรียนและผู้ปกครองให้การสนับสนุนด้านนี้มาโดยตลอด จึงตัดสินใจมาเรียนเชิดหุ่นที่นี่ ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมา นอกจากทักษะด้านศิลปะการแสดงหุ่นแล้วที่ได้ติดตัวมาแล้ว ยังเกิดความรู้สึกที่ตกผลึกจากการเอาใจใส่ ทุ่มเท และฝึกซ้อม นั่นคือ ความรักและความปรารถนา ที่จะถ่ายทอดการแสดงหุ่นละครเล็กให้ผู้อื่นได้ชมต่อไป

พิชาภพ เสริมว่า นักเรียนเชิดหุ่นบางคนไม่มีทักษะใดมาก่อนเลย คณะคำนายก็สอนให้ตั้งแต่การเล่นโขนพื้นฐานซึ่งเป็นพื้นฐานของการเชิดหุ่น ครูสอนบ้าง หรือครูให้รุ่นพี่สอนรุ่นน้องกันเองบ้าง ทำให้สนิทสนมกัน ดังนั้นช่องว่างระหว่างอายุจึงไม่มีผลใดภายในห้องเรียนแห่งนี้ นับเป็นกุศโลบายที่ผูกสายใยมิตรภาพระหว่างผู้เรียนแต่ละคนผ่านการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน เกิดเป็นความสามัคคีได้อย่างแยบยล

ด้าน พลายชุมพล ตบท้ายว่า “ขอแค่เข้ามาชมก็พอแล้วครับ ไม่ต้องมาฝึกจริงจังอย่างพวกผมก็ได้”

“ชีวิตเป็นเรื่องไม่แน่นอน ถ้าวันหนึ่งไม่มีเราแล้วมันจะเกิดอะไรขึ้น หุ่นพวกนี้จะต้องตายตามเราด้วยหรือเปล่า สู้เราเอาเวลาตอนนี้ส่งต่อความรู้ทุกอย่างที่เรามี ส่งให้คนที่เขามีใจรัก อยากรู้ อยากสืบต่อ มันคงดีกว่าให้ความรู้ที่ติดตัวมาตายไปกับเรา จริงไหม” จตุพรทิ้งท้ายด้วยคำถาม

องค์ประกอบสุดท้ายที่จะรวมกันเป็นวัฏจักรชีวิตของหุ่นละครเล็กได้สมบูรณ์ นั่นคือ การเผยแพร่

การแสดงหุ่นละครเล็ก คณะคำนายนั้นจะเปิดการแสดงทุกวัน เวลา 14.00 น. ที่บริเวณลานกว้างชั้นล่างของตัวบ้านซึ่งติดกับเจดีย์ย่อมุมไม้สิบสอง โดยไม่เรียกเก็บค่าเข้าชมแม้แต่บาทเดียว และการแสดงเชิดหุ่นละครเล็กในวันเสาร์และวันอาทิตย์ จะมีชุดการแสดงพิเศษจากนักเรียนฝึกเชิดหุ่นร่วมด้วย หากมีผู้ชมถูกอกถูกใจกับการแสดงเชิดหุ่นละครเล็ก หรือต้องการตบรางวัลใด สามารถหยอดเงินลงกล่องรับบริจาคตามความประสงค์ ไม่มีการร้องหรือบังคับ จนผู้คนที่เข้ามาชมการแสดงเรียกกันว่าเป็น การแสดงเชิดหุ่นเปิดหมวก

“การเปิดหมวก ไม่ใช่การขอทาน แต่มันคือ การแลกกัน” จตุพรกล่าว “เราเอาความสามารถ ความสนุกสนาน ความบันเทิงมาแลกกับคนที่นั่งดู ถ้าผู้ชมสนุกสนาน รู้สึกพอใจกับการแสดง เพียงแค่ยิ้มหรือหัวเราะ นั่นถือว่าเกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างพวกเรากับคุณแล้ว เรื่องเงินมันเลยไม่ใช่สิ่งสำคัญ”

จตุพร อธิบายต่อว่า รายได้หลักของคณะได้มาจากการว่าจ้างจากภายนอก ดังนั้นจุดประสงค์แท้จริงที่คณะคำนายทำการแสดงเปิดหมวกจึงไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องเงิน หากแต่มุ่งเน้นให้เป็นการเผยแพร่แก่สาธารณะ ด้วยแนวคิด ไม่ว่าจะยากดีมีจน ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตามล้วนสามารถเข้ามาชมการแสดงหุ่นละครเล็กของคณะฯ ได้เสมอกัน

ส่วนเงินทั้งหมดที่ได้มานั้น ทางคณะฯ ได้นำไปใช้เป็นค่าวัสดุสำหรับการทำหุ่นละครเล็กชุดใหม่ๆ ที่จะนำมาแสดงให้ผู้ชมได้รับชมกัน

“อาจพูดได้ว่าหุ่นละครเล็ก คณะคำนาย มีได้เพราะประชาชน ดังนั้นการแสดงให้ประชาชนทุกท่านได้รับชม จึงเป็นอีกหน้าที่หนึ่งที่พวกเราต้องทำ” จตุพรกล่าว

อิสรีย์ ลีรุ่งณาการรัตน์ มัคคุเทศน์จากบริษัทจัดการการท่องเที่ยวเอกชนรายหนึ่ง เล่าถึงพฤติกรรมนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ แต่ต้องยอมรับว่าไม่ใช่นักท่องเที่ยวต่างชาติทุกคนจะชื่นชอบศิลปะไทย และต้องการไปชมวัด หรือชมการร่ายรำต่างๆ แต่การประชาสัมพันธ์ของบ้านศิลปินเอง รวมถึงการให้ความสนใจจากสื่อต่างๆ รวมถึงการเผยแพร่ความประทับใจของผู้ที่เคยมาเยี่ยมชม เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่แสดงตัวตนและความเป็นบ้านศิลปิน คลองบางหลวง เชื้อเชิญให้นักท่องเที่ยวแวะเวียนไปมาอยู่ตลอด มีนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนหนึ่งรู้จักที่นี่ ทั้งด้วยเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ต คำบอกเล่าบนโลกสื่อสังคมออนไลน์ หรือด้วยวิธีอื่นใดก็ตาม ซึ่งทำให้ตนนั้นได้พานักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือนบ้านหลังนี้เดือนละอย่างน้อย 2 – 3 ครั้ง

กิตติ ธรรมสมบัติ วัย 20 ปี เล่าประสบการณ์เกี่ยวกับบ้านศิลปิน คลองบางหลวงว่า ตนรู้จักบ้านศิลปินนี้มาตั้งแต่สมัยแรกสร้างใหม่ๆ และความประทับใจนี้ไม่เคยสร่างซาหรือจางหายไปแต่งอย่างใด ทั้งบรรยากาสบายริมน้ำที่หาได้ยากในกรุงเทพมหานคร การเปิดโอกาสให้ผู้เยี่ยมชมทั่วไปได้มีโอกาสสัมผัสและรับชมการเชิดหุ่นละครแบบไม่มีค่าใช้จ่าย นับว่าเป็นการใช้เวลาพักผ่อนอีกรูปแบบหนึ่งที่ทำให้เกิดความประทับใจดังที่กล่าวมาและอยากส่งต่อความประทับใจนี้ให้กับคนอื่นที่ตนรู้จัก

มร.แบรนดอน สโตน นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติวัย 27 ปี กล่าวถึงหุ่นละครเล็ก คณะคำนาย ว่า ตนเองรู้ว่ามีการแสดงหุ่นละครแบบไทยที่บ้านศิลปินหลังนี้จากการแนะนำอีกทอดจากเพื่อนชาวไทย ด้วยการเปิดให้เข้าชมฟรี บรรยากาศความเรียบง่ายของสถานที่ และความชื่นชอบศิลปะไทยเป็นทุนเดิม รวมกับกลิ่นอายความร่วมสมัยของบ้านศิลปิน จึงควรค่าแก่การมาเยี่ยมเยียน

“ถ้าถามว่าทุกอย่างที่ทำมันเหนื่อยไหม คงต้องยอมรับว่ามันเหนื่อย แต่เมื่อมองย้อนกลับไปเวลาที่เราเล่น เราเชิด พอเรามองไปที่คนดู เขามีความสุข เราก็มีความสุขด้วย เวลาเราสอน เราเคี่ยวเข็ญ แล้วเขาทำได้ เขาอยากเชิดหุ่นละคร เราก็ภูมิใจ อย่างน้อยถ้าวันหนึ่งไม่มีเรา หุ่นละครเล็กก็ยังอยู่” รอยยิ้มของจตุพรเป็นเครื่องพิมพ์ที่แสดงความสัตย์จริง และความยึดมั่นในอุดมการณ์แห่งการเผยแพร่ศิลปะขนาดเล็กที่ยิ่งใหญ่อย่างครบถ้วนและชัดเจน

เสียงระนาดทอดจังหวะช้าลงเป็นสัญญาณบอกถึงการเคลื่อนไหวสุดท้ายของหนุมานและสุวรรณมัจฉา เมื่อหุ่นละครเล็กทั้งสองหยุดนิ่ง เสียงปรบมือจึงดังขึ้นแทนที่ รอยยิ้ม ความสุข ความประทับใจถูกส่งผ่านจากใบหน้าผู้ชมไปสู่ดวงตาใต้หน้ากากสีดำสนิทของศิลปิน

วัฏจักร อนุรักษ์ – สืบสาน – เผยแพร่ เป็นเหมือนกระบวนการที่ทำให้เกิดสายฝนที่หล่อเลี้ยง ต่อชีวิตให้เหล่าหุ่นละครเล็กของคณะคำนาย ริมคลองบางหลวง เนิ่นนานไปสายธารแห่งศิลปะที่เคยล้นฝั่งอาจแห้งเหือดหายได้ หากขาดหยาดฝนกำลังใจที่ก่อให้เกิดเป็นสายธารใหม่ที่ส่งผ่าน “อุดมการณ์” ของศิลปินดำรงไว้ซึ่งศิลปะ

ศิลปินอยู่เพื่ออะไร             ยืนยงเพื่อจรรโลงสิ่งไหน
ศิลปินจะภาคภูมิในใจ             ที่ได้สร้างเพื่อมนุษย์ธรรม

– ศิลปากรนิยม